หลังจากได้ยินชื่อกันมาไม่นาน ตอนนี้สมาร์ทโฟนแบรนด์น้องใหม่ล่าสุดอย่าง Realme ก็เข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้วครับ โดยรุ่นแรกที่นำเข้ามาก็คือ Realme 2 Pro ที่เรียกได้ว่าเปิดมาก็ทำตลาดแตกกันไปเลยทีเดียว ด้วยสเปคระดับหมื่น แต่ขายในราคาระดับพันเท่านั้น แถมช่วงแรกยังจัดโปรโมชันอัดหนักกันอีกด้วย แน่นอนว่า SpecPhone เราก็ไม่พลาดที่จะมารีวิวเจ้า Realme 2 Pro ให้ทุกท่านได้ชมเพื่อตัดสินใจกันอีกเช่นเคย
ซึ่ง Realme 2 Pro ตัวนี้ ถูกวางมาเป็นมือถือสุดคุ้มที่สเปคน่าสนใจมาก ๆ สำหรับคอเกมที่อาจจะไม่อยากได้มือถือราคาระดับไฮเอนด์ ดังนั้น เรามาดูสเปคก่อนเลยแล้วกัน
สเปค Realme 2 Pro
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 660 ที่มี 8 คอร์ พร้อมชิปกราฟิก Adreno 512
- แรม 4 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 64 GB รองรับ MicroSD สูงสุด 256 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 6.3 นิ้ว อัตราส่วน 19.5:9 ความละเอียด 2340 x 1080
- กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 3
- ระบบปฏิบัติการ Android 8.1 Oreo ครอบด้วย Color OS 5.2
- กล้องหลังคู่
- กล้องหลัก 16 ล้านพิกเซล f/1.7 ระบบโฟกัส PDAF
- กล้องรองสำหรับเก็บความลึก ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล
- กล้องหน้า 16 ล้านพิกเซล f/2.0
- ถาดใส่ซิมแบบนาโนซิมคู่ พร้อมช่อง MicroSD แยก
- แบตเตอรี่ 3500 mAh ช่องชาร์จแบบ Micro USB
- Bluetooth 5.0
- มีระบบสแกนใบหน้า
- สามารถจับ WiFi และปล่อย Hotspot ได้ทั้งความถี่ 2.4 / 5 GHz
- ราคา 6,590 บาท
จากสเปคทั้งหมด ตามปกติแล้วเรามักจะพบในมือถือราคาเกือบหมื่นไปจนถึงหมื่นต้น ๆ ซะเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะตัวชิปประมวลผล Snapdragon 660 ที่จัดว่ามีประสิทธิภาพในการใช้งาน การเล่นเกมที่คุ้มค่ามาก แต่กลับเปิดราคาในไทยมาแค่ 6,590 บาทเท่านั้น
กล้องถ่ายรูปของ Realme 2 Pro
เริ่มรีวิวกันที่กล้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเด่น โดยรุ่นนี้จัดเต็มทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ Realme 2 Pro มาพร้อมกับกล้องหลังสองตัว ความละเอียด 16 + 2 ล้านพิกเซล ใช้คอนเซ็ปท์เหมือนกับในมือถือกล้องคู่หลาย ๆ รุ่นในท้องตลาด นั่นคือมีตัวนึงเป็นกล้องหลัก (ตัวบนในภาพด้านบน) อีกตัวเป็นกล้องสำหรับเก็บข้อมูลระยะห่างของวัตถุ เพื่อนำไปใช้งานกับโหมด Portrait ของแอปกล้อง เพื่อให้สามารถถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอได้ง่ายขึ้น
ส่วนกล้องหน้าก็เป็นกล้องเดี่ยวความละเอียด 16 ล้านพิกเซล แบบ fixed focus นั่นคือไม่สามารถปรับระยะโฟกัสได้ โดยจากที่ทดสอบ หากเป็นการถ่ายเซลฟี่ปกติ ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ มีให้ปรับระดับความเนียนของใบหน้า ใส่ AR sticker ได้ด้วย
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า
UI ของแอปกล้องก็ใกล้เคียงกับมือถือส่วนใหญ่ในขณะนี้ครับ มีปุ่มสำหรับตั้งค่าฟังก์ชันต่าง ๆ เช่น แฟลช โหมด HDR ตัวตั้งค่านับเวลาถอยหลัง และก็ตัวปรับ ratio รูปอยู่ที่แถบด้านบนสุด ส่วนแถบด้านล่างสุดก็เป็นตัวเปลี่ยนโหมดกล้อง ซึ่งผู้ใช้สามารถปาดนิ้วตรงส่วนที่พรีวิวภาพไปทางซ้ายหรือขวาเพื่อเปลี่ยนโหมดได้เช่นกัน โดยโหมดที่มีให้ใช้งานก็ได้แก่
- โหมดถ่ายวิดีโอแบบ Timelapse
- โหมดถ่ายวิดีโอปกติ สามารถถ่ายได้สูงสุดที่ระดับ 4K
- โหมด Photo สำหรับถ่ายรูปปกติ
- โหมด Portrait สำหรับถ่ายบุคคล ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอ
- โหมด Sticker สำหรับใส่สติ๊กเกอร์ในรูป
- โหมด Pano สำหรับถ่ายพาโนรามา
- โหมด Expert ที่ให้ผู้ใช้ปรับค่าเองได้ตั้งแต่ก่อนถ่าย
ซึ่งในโหมด Expert จะมีอีกหนึ่งฟังก์ชันกล้องที่ซ่อนอยู่ นั่นคือ Ultra HD ที่สามารถเปิดใช้งานได้จากไอคอนมุมขวาบนสุดที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียงเฉียงกันอยู่ 4 ก้อน โดยฟังก์ชัน Ultra HD ก็คือการเก็บไฟล์ภาพความละเอียดสูงกว่าความละเอียดปกติ ซึ่งจะมีประโยชน์เวลาที่ต้องการซูมภาพเพื่อดูรายละเอียดปลีกย่อย โดยหลักการทำงานคร่าว ๆ ก็คือ ระบบจะการถ่ายภาพในจุดเดียวกันหลาย ๆ ช็อต แล้วนำมาประมวลผลรวมกัน จนได้รายละเอียดของภาพที่ดีขึ้น
หากใช้ฟังก์ชัน Ultra HD ภาพที่ได้จะมีความละเอียดสูงขึ้นกว่าภาพถ่ายปกติประมาณ 4 เท่า ถ้าในเชิงตัวเลข ก็ตามนี้เลย
- ภาพโหมดปกติ : ความละเอียด 4608 x 3456 (15.9 ล้านพิกเซล)
- ภาพโหมด Ultra HD : ความละเอียด 9216 x 6912 (63.7 ล้านพิกเซล)
ส่วนถ้าเทียบจากภาพจริง ก็ตามภาพด้านล่างนี้ครับ
เมื่อลอง crop ภาพเพื่อดูที่จุดเดียวกัน ผลคือภาพจากโหมด Ultra HD จะยังถือว่าอยู่ในระดับที่พอเอาไปใช้งานต่อได้อยู่ แต่ภาพจากโหมด Auto ปกติ จะพบกับ noise รบกวนในภาพอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงสีสันที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เท่ากับในโหมด Ultra HD
ดังนั้น หากมีสถานการณ์ไหนที่ต้องการภาพความละเอียดสูง แนะนำว่าให้ปรับไปใช้โหมด Expert แล้วเปิดฟังก์ชัน Ultra HD รับรองว่าภาพที่ได้จะสามารถนำมาใช้งานได้ยืดหยุ่นกว่าโหมด Auto ปกติแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ภาพมีความละเอียดสูงขึ้น 4 เท่า ก็ย่อมมาพร้อมกับขนาดไฟล์ที่ใหญ่ขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างในภาพตัวอย่างด้านบน ภาพที่ถ่ายด้วยโหมด Auto มีขนาดไฟล์อยู่ที่ 6 MB ส่วนภาพจากฟังก์ชัน Ultra HD ก็อยู่ที่ 16.1 MB เลยทีเดียว
ส่วนด้านล่างนี้ก็เป็นแกลเลอรี่ตัวอย่างภาพถ่ายนะครับ เชิญคลิกรับชมได้เลย
ถ้าให้สรุปคุณภาพของกล้อง ภาพรวมคือทำได้ดี โดยเฉพาะภาพถ่ายในเวลากลางวัน หรือมีแสงเพียงพอ ภาพที่ได้มีความคม สีสันเก็บมาค่อนข้างครบถ้วน ส่วนภาพในเวลากลางคืนก็อาจจะไม่ค่อยคมชัดเท่ากับภาพที่ถ่ายตอนกลางวัน แต่โดยรวมถึอว่าน่าพอใจมาก เมื่อเทียบกับราคาค่าตัว
ดีไซน์ หน้าตา Realme 2 Pro
ตัวเครื่องถือว่าทำออกมาได้กะทัดรัดพอดีมือมาก ๆ ด้วยการเลือกใช้จออัตราส่วน 19.5:9 แบบขอบบางเฉียบ โดยจะมีรอยบาก (ติ่ง) รูปหยดน้ำอยู่ที่ตำแหน่งของกล้องหน้า และเซ็นเซอร์วัดระยะห่างกับเซ็นเซอร์วัดแสงเท่านั้นเอง ซึ่งอาจจะถูกใจหลายท่านที่ไม่ชอบติ่งหน้าจอแบบหนา ๆ ใหญ่ ๆ กันบ้างแน่นอน
ส่วนขอบจอด้านล่างก็จะหนากว่าขอบบน อันเป็นเรื่องปกติสำหรับสมาร์ทโฟนขอบจอบางครับ ซึ่งมันก็มีสาเหตุมาจากการจัดวางตำแหน่งของเซ็นเซอร์รับการสัมผัสของจอ ที่ถ้าหากอยากให้ขอบจอล่างบางกว่านี้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีกนั่นเอง อย่างไรก็ตาม จากที่ผมสัมผัสมือถือมาหลายรุ่น ผมรู้สึกว่าขอบจอล่างนี่จัดว่าบางมากแล้วครับ
ปุ่มสั่งงานทั้ง 3 ได้แก่ปุ่มย้อนกลับ ปุ่มโฮม และปุ่มเรียกดูแอปที่ใช้งานล่าสุด จะใช้เป็นปุ่มแบบซอฟต์แวร์ของตัว Android เอง ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับสลับตำแหน่งระหว่างปุ่มย้อนกลับ กับปุ่มเรียกดูแอปที่ใช้งานล่าสุดได้ ว่าจะให้ปุ่มใดอยู่ฝั่งซ้าย/ขวา รวมถึงยังรองรับการสั่งงานแบบ gesture ด้วยการปาดหน้าจออีกด้วย โดยหลัก ๆ แล้วจะเป็นการปาดจากขอบล่างขอจอขึ้นมา เพื่อเป็นการสั่งงานรูปแบบต่าง ๆ
หน้าจอมีขนาด 6.3 นิ้ว ให้ภาพเต็มตา เต็มเครื่องเลยทีเดียว ใครที่ชอบถ่ายภาพ ดูหนัง เล่นเกม บอกเลยว่าเต็มอิ่มมาก ๆ ส่วนคุณภาพ สีสันของการแสดงผล ก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ดี ภาพคมชัดในทุกมุมมองตามคุณสมบัติของพาเนล IPS สีสันสดใส ความสว่างก็อยู่ในระดับที่ใช้งานกลางแจ้งได้สบาย ส่วนตัวผมจะมีติดนิดหน่อยก็ตรงที่สีของจอที่มาจากโรงงานดูจะอมฟ้านิด ๆ แต่ผู้ใช้สามารถปรับจูนโทนสีของจอให้อุ่นขึ้นได้จากในเมนูการตั้งค่าการแสดงผลในเครื่องครับ พอปรับไปทางโทนอุ่น ภาพก็จะเหลืองขึ้นมาเล็กน้อย ดูแล้วเป็นธรรมชาติมากขึ้น
ส่วนโหมดถนอมสายตาก็มีมาให้ใช้งานด้วยเช่นกันในชื่อว่า Night Shield ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้เปิดใช้งานอัตโนมัติในช่วงเวลาใด รวมถึงสามารถปรับระดับความเหลืองของสีจอได้เช่นกัน
วัสดุหลักของตัวเครื่องจะเป็นพลาสติก โดยมีกระจกเป็นฝาหลังส่วนนอก ส่วนสีหลักของตัวเครื่องจะอยู่ใต้กระจกอีกที โดยเครื่องที่เรารีวิวในครั้งนี้จะเป็นสีฟ้าอ่อน (Ice Lake) ถือแล้วรับรองว่าโดดเด่นแน่นอน สำหรับขอบกระจกฝาหลัง รวมไปถึงกระจกหน้าจอ ไม่ได้เป็นแบบโค้ง 2.5D นะครับ แต่ตรงขอบเครื่องยังเป็นขอบโค้งอยู่ ทำให้จับได้ถนัดมือไม่แพ้พวกกระจกหน้าจอ 2.5D เลย
ตำแหน่งของฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ บนฝาหลังก็เป็นไปตามสไตล์ของสมาร์ทโฟนในยุคปัจจุบันเลย คือมีกล้องคู่อยู่ด้านบนสุด (กล้องหลักอยู่ทางซ้าย) ใกล้ ๆ กันก็เป็นแฟลชแบบ LED ถัดลงมาเล็กน้อยคือเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่อยู่ตรงตำแหน่งปลายนิ้วชี้พอดี แล้วก็ปิดท้ายด้วยโลโก้ Realme ด้านล่าง
อย่างไรก็ตาม กล้องหลังจะนูนขึ้นมาจากฝาหลังพอสมควร หากจะใช้แบบไม่ใส่เคส ก็อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานด้วยนะ
ด้านข้างทั้ง 4 ด้านก็มีพอร์ตและปุ่มสั่งงานดังนี้
- ด้านบน: ช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน
- ด้านล่าง: ลำโพง / ช่อง Micro USB / ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา / ช่องเสียบแจ็คหูฟัง 3.5 mm.
- ด้านซ้าย: ถาดใส่ซิม / ปุ่มเพิ่มและลดเสียง
- ด้านขวา: ปุ่ม Power
เรื่องตำแหน่งการวางปุ่มกด ถือว่าทำออกมาได้พอดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานด้วยมือซ้ายหรือมือขวาก็ตาม ส่วนตัวผมมีติดแค่ตำแหน่งลำโพง เนื่องจากผมมักพบปัญหานิ้วอุดช่องลำโพงเมื่อจับเครื่องในแนวนอน เช่น เวลาเล่นเกม
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง ก็ได้แก่
- อะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟได้มากสุด 5V 2A
- สาย Micro USB
- เคสซิลิโคนแบบใส
- เข็มจิ้มถาดซิม
- เอกสารคู่มือการใช้งานเบื้องต้น
จากอุปกรณ์ที่ให้มา ผมประทับใจเคสซิลิโคนมาก ๆ ครับ เพราะมันหนาและแข็งแรงมาก รวมถึงเมื่อใช้งานแล้ว ขอบเคสจะสูงเกินจอขึ้นมาเล็กน้อย ช่วยปกป้องจอได้ดี ต่างจากเคสแถมทั่ว ๆ ไปที่มักจะเป็นซิลิโคนเนื้อบางและนิ่มเกินไป จุดนี้ถือว่าทำได้ดี น่าเสียดายหน่อยก็ที่ไม่มีหูฟังแถมมาในกล่องด้วยเท่านั้นเอง
ซอฟต์แวร์ของ Realme 2 Pro
Realme 2 Pro มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 8.1 Oreo ซึ่งจัดว่าเป็นเวอร์ชันเกือบจะล่าสุดไม่แพ้มือถือเรือธงบางรุ่นเลยทีเดียว ครอบทับด้วย ColorOS เวอร์ชัน 5.2 ที่หน้าตา UI ต่าง ๆ ทำออกมาได้เข้าใจง่าย แต่จะมีเมนูการตั้งค่าของบางแอปที่เป็นแอประบบ ถูกแยกมาอยู่ในเมนูพิเศษที่อยู่ในหน้าการตั้งค่าด้วย เช่น เมนูการตั้งค่ากล้อง อย่างพวกการเปิด/ปิดเส้นกริด การปิดเสียงชัตเตอร์ตอนถ่ายรูป ต่างจากมือถือ Android ทั่วไปที่มักจับเมนูเหล่านี้รวมอยู่ในแอปกล้องไปเลย
ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลในตัวเครื่อง จากสเปคที่ให้มา 64 GB เมื่อเปิดใช้งานครั้งแรก จะเหลือพื้นที่ให้ใช้งานได้ประมาณ 47 GB ส่วนพวกแอปที่ติดมากับเครื่อง อย่างพวก UC Browser ก็สามารถลบได้นะครับ
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Realme 2 Pro
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจจะอยู่ที่เมนูต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ครับ เช่น ในเมน฿ Smart & Convenient ก็จะมีฟีเจอร์เสริมเช่น การปรับรูปแบบของปุ่ม navigation ด้านล่างสุด โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้เป็นปุ่มกด 3 ปุ่มแบบปกติ (สามารถย้ายตำแหน่งสองปุ่มริมได้) หรือจะใช้เป็นแบบปาดจากขอบจอด้านล่างแทน ซึ่งจากที่ผมลองใช้งานทั้งสองแบบ ส่วนตัวผมมองว่าใช้แบบ 3 ปุ่มจะค่อนข้างสะดวกกว่าเล็กน้อย เพราะการปาดขอบจอ จะต้องอาศัยความแม่น และความจำในการปาดจากขอบล่างด้วย ว่าปาดที่บริเวณไหน จะเป็นการสั่งงานแบบใด
อีกฟีเจอร์ที่น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้ ก็คือ Smart Sidebar ที่ระบบจะเปิดให้ใช้งานทันทีตั้งแต่เปิดเครื่องครั้งแรก โดยจะมีแถบสีเทาบาง ๆ อยู่ตรงขอบจอด้านขวา ถ้าต้องการใช้งานก็เพียงแค่ปาดนิ้วจากตรงแถบสีเทาเข้ามา ซึ่งในแถบ sidebar นี้ ก็จะมีไอคอนแอปบางส่วนปรากฏขึ้นมาให้ผู้ใช้สามารถใช้งาน โดยไอคอนแอปที่มีกรอบหน้าต่างสีเขียวอยู่ตรงมุมซ้ายบน เมื่อเรียกใช้งาน แอปที่เลือกจะปรากฏขึ้นมาเป็นลักษณะของหน้าต่าง popup เล็ก ๆ ขึ้นมาซ้อนหน้าแอปที่ใช้งานอยู่ ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานได้ดี
นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์เสริมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์อีก เช่น การโคลนแอปอย่าง LINE หรือ Facebook ให้สามารถใช้งานได้มากกว่าหนึ่งไอดี ฟีเจอร์ช่วยบล็อก ช่วยกรองเบอร์โทร เป็นต้น
ส่วนฟีเจอร์นี้จะไม่พูดถึงคงไม่ได้ครับ นั่นก็คือ Game Spaces ที่เป็นโฟลเดอร์รวมเกมในเครื่อง ถ้าหากผู้ใช้ตั้งค่าให้ระบบเพิ่มเกมเข้ามาในโฟลเดอร์นี้โดยอัตโนมัติ หรือผู้ใช้สั่งเพิ่มเข้ามาเอง เมื่อเปิดเกมจากในโฟลเดอร์นี้ ระบบจะจัดการเคลียร์แรม รวมถึงปรับการทำงานด้านกราฟิกและการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตให้เหมาะสมกับการเล่นเกมมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์การเล่นเกมที่ดี นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกในการตั้งค่าให้บล็อกการแจ้งเตือนได้ ตั้งค่าล็อกระดับแสงสว่างหน้าจอได้อีกด้วย
โดยการตั้งค่าบล็อกการแจ้งเตือนจะมีให้เลือกด้วยกัน 4 ระดับ ได้แก่
- ปิดการแจ้งเตือนสายโทรเข้า
- ปิดการแจ้งเตือนเฉพาะแถบแบนเนอร์ตรงด้านบนของจอ
- ปิดการแจ้งเตือนทั้งแถบแบนเนอร์ และสายโทรเข้า
- แสดงการแจ้งเตือนของทั้งแถบแบนเนอร์ และสายโทรเข้า
และเมื่อเปิดเกมที่อยู่ในโฟลเดอร์ขึ้นมา ก็จะมีข้อความแจ้งทุกครั้งครับ เพื่อให้มั่นใจว่าฟังก์ชันของ Game Spaces มันทำงานแล้วจริง ๆ
ประสิทธิภาพและการเล่นเกมบน Realme 2 Pro
ขึ้นชื่อว่าเป็นมือถือที่มาพร้อมชิป Snapdragon 660 ก็บอกได้เลยว่าแทบไม่ต้องห่วงเรื่องการเล่นเกมครับ อย่างที่ผมทดสอบด้วยเกมหลัก ๆ อย่าง PUBG, ROV และ Ragnarok M ก็สามารถปรับค่า และเล่นได้ลื่น ๆ ตามการตั้งค่าด้านล่างนี้เลย
สำหรับ PUBG การตั้งค่ากราฟิกที่แนะนำก็อยู่ที่ระดับกลางเพื่อความชัวร์ และไหลลื่นที่สุดระหว่างเล่น ส่วนเกม ROV อันนี้สามารถปรับระดับสูงสุด เปิดโหมดเฟรมเรตสูงได้สบาย เฟรมเรตอยู่ที่ 55-59 fps และอีกเกมหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง Ragnarok M ก็สามารถปรับความละเอียดระดับสูงสุด โดยตั้งค่าให้แสดงผู้เล่นคนอื่นระดับต่ำสุดได้แบบไม่ต้องกังวล สามารถเปิดเล่น เปิดบอทได้สบาย โดยจากที่ผมทดสอบเอง สามารถเล่นได้แทบทั้งวันเลย (มีปิดพักบ้างเล็กน้อยเป็นบางช่วง)
แต่มีอยู่หนึ่งจุดที่น่าเสียดายเล็กน้อยก็คือตำแหน่งของลำโพง เพราะผมมักเผลอเอานิ้วไปปิดช่องปล่อยเสียงของลำโพงบ่อยมาก ถ้าจะให้สะดวกที่สุด คงหนีไม่พ้นการใช้หูฟัง Bluetooth แหละนะ
ปิดท้ายด้วยผลการทดสอบประสิทธิภาพด้วยแอปต่าง ๆ โดยข้อมูลสเปคชิปประมวลผลจากแอป CPU-Z เองยังมีชื่อชิปด้านบนสุดที่ไม่ตรง ที่เหลือจัดว่าโอเคเลย ส่วนผลคะแนนก็จัดว่าอยู่ในระดับกลาง ใช้งานทั่วไปได้ดี เล่นเกมได้สบาย สำหรับการเชื่อมต่อ 4G ในไทย จากที่ผมลอง พบว่าระบบไม่สามารถจับ CA เพื่อรวมแบนด์วิธของคลื่นได้ ที่สังเกตได้ชัดก็คือ สัญลักษณ์ 4G ของ Realme 2 Pro ขึ้นแค่ 4G ปกติ ไม่มีเครื่องหมาย + ใด ๆ ขึ้นมาเลย
ส่วนระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ ถ้าเป็นการใช้งานปกติ ไม่ค่อยได้เล่นเกม บอกเลยว่าเหลือเฟือ รองรับการใช้งานได้ทั้งวันโดยไม่ต้องชาร์จเลยก็ยังได้ ส่วนถ้าเล่นเกมบ่อย ก็ยังถือว่าเล่นได้นานอยู่ดีครับ แต่อาจจะต้องพก powerbank ติดตัวไว้เผื่อก็ดี ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์การเล่นเกมของแต่ละท่าน
หากใครที่กำลังมองหามือถือมาดูภาพยนตร์ ซีรีส์บน Netflix อยู่ ตัวของ Realme 2 Pro รองรับมาตรฐาน DRM Widevine ที่ L3 เท่านั้นนะครับ นั่นคือไม่สามารถรับชมภาพความละเอียดระดับ HD ได้นั่นเอง
Overall
Realme 2 Pro นับเป็นอีกหนึ่งมือถือที่น่าจับตามองมาก ๆ ในช่วงนี้ ด้วยสเปคในระดับมือถือราคาหลักหมื่น แต่ Realme เปิดราคามาที่ 6,590 บาท (โปรพิเศษเฉพาะวันที่ 7 และ 11 พ.ย. นี้ ราคาเหลือแค่ 5,990 บาท) อีกทั้งรูปลักษณ์หน้าตา การใช้งาน ก็ถือว่าน่าดึงดูดใจกว่าคู่แข่งในช่วงราคาเดียวกัน เหมาะกับทั้งคนที่กำลังมองหามือถือเครื่องใหม่มาใช้เป็นเครื่องหลัก คนที่มองหามือถือเครื่องรองแบบที่มีคุณภาพดี ๆ รวมไปถึงสายเล่นเกมที่อยากได้มือถือปล่อยบอทเกม บอกเลยว่า Realme 2 Pro นี่เปิดมาคุ้มจริง ๆ
ส่วนช่องทางจำหน่าย เบื้องต้นจะเป็นการเปิดขายออนไลน์ผ่านทาง Lazada เป็นหลักครับ
ข้อดี
- สเปคดี ราคาเด็ด
- รูปร่างหน้าตา ฟังก์ชันการทำงาน จัดว่าเหนือกว่ามือถือรุ่นอื่นในช่วงราคาใกล้ ๆ กัน
- จอสวย ติ่งรูปหยดน้ำ ไม่ได้ทำให้รู้สึกรำคาญสายตาแต่อย่างใด
- กล้องคุณภาพดี มีโหมดการถ่ายที่หลากหลาย
- ประสิทธิภาพดี ลงตัวกับทุกรูปแบบการใช้งาน พร้อมแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ยาวนาน
- ใส่ได้ 2 ซิม + 1 MicroSD
ข้อสังเกต
- ขณะถือเครื่องในแนวนอน อาจเผลอวางนิ้วไปปิดทับช่องลำโพงได้ง่าย
- จากการทดสอบ พบว่าไม่สามารถทำ CA ได้
- ผ่านการรับรองมาตรฐาน Widevine สำหรับ DRM แค่ L3