แนวโน้มของสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน นอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพของกล้องถ่ายภาพให้ดีขึ้นแล้ว ปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ เริ่มหาลูกเล่นมาใส่ในผลิตภัณฑ์ของตนเองมากขึ้น ซึ่งลูกเล่นยอดนิยมก็หนีไม่พ้นการเพิ่มจำนวนกล้องจาก 1 ให้กลายเป็น 2 ซึ่งแต่ละค่ายก็จะมีการปรับแต่งให้มีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น การใช้ความแตกต่างของทางยาวโฟกัสแต่ละเลนส์ ทำให้ถ่ายภาพแบบชัดตื้น-ชัดลึก (หน้าชัดหลังเบลอ) ได้ดูมีมิติขึ้น หรือจะเป็นการเลือกใช้เซ็นเซอร์รับภาพที่เป็นแบบสี RGB กับเซ็นเซอร์ขาว-ดำ เพื่อเพิ่ม dynamic range ของภาพให้สวยงามขึ้น แต่เท่าที่ผ่านมา เราจะพบลูกเล่นการใช้ 2 กล้องก็เฉพาะในส่วนของกล้องหลังซะเป็นส่วนใหญ่
แต่พอมาในครึ่งปีหลังนี้ เราเริ่มได้เห็นการเพิ่มกล้องที่สองสำหรับกล้องหน้า และก็แน่นอนว่าเจ้าแห่งมือถือกล้องหน้าอย่าง OPPO ก็ไม่ยอมเสียส่วนแบ่งในตลาดนี้อย่างแน่นอน OPPO R9s Pro จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ OPPO R9 ที่ประสบความสำเร็จในไทยเป็นอย่างดีในปีนี้นี่เอง
ก่อนที่จะชมรีวิว OPPO R9s Pro เต็มๆ เรามาทำความรู้จักกับสเปค R9s Pro ก่อนแล้วกันครับ
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 653 (MSM8976 Pro) มี 8 คอร์ประมวลผล มาพร้อมชิปกราฟิก Adreno 510
- แรม 4 GB รอม 64 GB รองรับ MicroSD ได้สูงสุด 256 GB
- จอแสดงผล IPS ขนาด 6 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080 Full HD กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 5
- กล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/1.7 ระบบโฟกัส Dual PDAF มีกันสั่น OIS เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX398
- กล้องหน้าความละเอียด 16 และ 8 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.0
- รองรับการใช้งานได้ 2 นาโนซิม (ถาดซิมแบบไฮบริด)
- Android 6.0 ครอบด้วย ColorOS 3.0
- มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ปุ่มโฮม
- แบตเตอรี่ 4000 mAh รองรับการชาร์จเร็วมาตรฐาน VOOC ผ่านช่อง Micro USB
- น้ำหนัก 185 กรัม
ถ้าดูจากหน้าสเปคของ OPPO R9s Pro แล้ว พบว่ามันก็คือสเปคเดียวกับ OPPO R9s Plus ที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันเลยครับ แต่จะมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย ได้แก่
- แรม: R9s Plus แรม 6 GB แต่ R9s Pro แรม 4 GB
- กล้องหน้า: R9s Plus กล้องหน้าตัวเดียว แต่ R9s Pro กล้องหน้าสองตัว
ซึ่งเมื่อ R9s Pro วางขายในไทย ก็เท่ากับว่าจะมีสองตัวเลือกให้ลูกค้า ระหว่างอยากได้จอใหญ่แรมเยอะ (R9s Plus) หรือจะเป็นจอใหญ่ กล้องหน้าคู่ (R9s Pro) เลยแหละ
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
SELFIE EXPERT
Camera
จุดเด่นของ OPPO R9s Pro ก็คือกล้องหน้าแบบคู่ ซึ่งหลักการทำงานไม่ซับซ้อนเลยครับ เพราะมันแยกการทำงานแบบ 100% เลย โดยกล้องตัวนึงจะเป็นเลนส์ไวด์ระยะปกติ (ขอเรียกว่าเลนส์ปกติ) ส่วนกล้องอีกตัวจะเป็นเลนส์ไวด์ที่มุมกว้างขึ้นมาอีก (ขอเรียกว่าเลนส์ไวด์พิเศษ) เก็บภาพได้มุมกว้างสุด 120 องศา วิธีสลับการใช้งานก็ง่ายๆ ครับ เพราะเมื่อเปิดใช้งานกล้องหน้า จะมีไอคอนขึ้นมาให้เห็นเลยว่าตอนนี้ใช้กล้องตัวไหนอยู่ โดยแทนด้วยรูปคนในเฟรมกล้องถ่ายรูป ถ้าเป็นรูปคนเดียว ก็คือใช้เลนส์ปกติ ถ้าเป็นรูปกลุ่มคน ก็คือใช้เลนส์ไวด์พิเศษ ซึ่งมันก็ทำมาตอบโจทย์ของการถ่ายเซลฟี่แบบกลุ่มนั่นเอง หรือ Groupfie นั่นเอง
ทีนี้ลองตรวจสอบข้อมูลของภาพกันบ้าง ฝั่งซ้ายคือจากภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์กล้องหน้าปกติ ส่วนภาพขวาคือข้อมูลจากภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ไวด์พิเศษครับ ข้อมูลที่น่าสนใจก็เช่น
- เลนส์ปกติ รูรับแสง f/2.0 ส่วนเลนส์ไวด์พิเศษ รูรับแสงอยู่ที่ f/2.4
- ด้วยความที่เลนส์ไวด์พิเศษนั้นมาพร้อมรูรับแสงที่แคบกว่า (f/2.4) ทำให้ระบบจำเป็นต้องชดเชยค่าอื่นๆ อย่างความเร็วชัตเตอร์ให้นานขึ้นและ ISO ให้สูงขึ้น จึงจะได้ภาพที่มีความสว่างใกล้เคียงกับเลนส์ปกติ ซึ่งถ้าเป็นการถ่ายในที่มีแสงน้อย ก็อาจทำให้ภาพที่ถ่ายจากเลนส์ไวด์พิเศษมีคุณภาพโดยรวมด้อยกว่าเล็กน้อย เช่น มี noise เยอะกว่า หรือภาพสั่นไหวเยอะกว่า
- ทางยาวโฟกัสของเลนส์ปกติอยู่ที่ 3.57 mm ถ้าเทียบกับเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม ก็จะอยู่ที่ 21 mm
- ทางยาวโฟกัสของเลนส์ไวด์พิเศษอยู่ที่ 1.78 mm ถ้าเทียบกับเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม ก็จะอยู่ที่ราวๆ 10 mm เท่านั้น มุมภาพจึงออกมากว้างมากๆ
ลูกเล่นของกล้องหลังและกล้องหน้าของ OPPO R9s Pro ก็อยู่ในระดับกลางๆ ครับ เน้นหยิบสิ่งที่ผู้ใช้ทั่วไปชอบใช้งานมาใส่ไว้ให้ค่อนข้างพร้อม เช่นการใส่ฟิลเตอร์ภาพ การถ่ายภาพ GIF รวมถึงการซ้อนภาพแบบ Double Exposure ก็ให้มาทั้งกล้องหลังและกล้องหน้าเลย แต่ในส่วนของกล้องหลังจะมีโหมด Expert เพิ่มมาให้ด้วย ซึ่งก็คือโหมด Pro หรือโหมด M ที่หลายท่านคุ้นเคยนั่นเอง ทำให้ผู้ใช้สามารถปรับค่ากล้องได้ตั้งแต่ก่อนถ่ายเลย เช่น การปรับ white balance, ปรับ ISO, ปรับความเร็วชัตเตอร์ ซึ่งสามารถเลือกได้ตั้งแต่ 1-16 วินาที รวมถึงสามารถปรับระยะโฟกัสได้ด้วย
สำหรับกล้องหน้า ก็จะมีเมนูการถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอมาให้ ภายใต้ชื่อว่า Bokeh effect นะครับ
ด้านบนนี้เป็นตัวอย่างของภาพจากโหมด Expert โดยตั้งให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1 วินาที ISO 100 ถ่ายช่วงราวๆ หกโมงเย็น ก็ทำให้พอเห็นไฟลากแบบ long trail แล้ว ถ้าถ่ายในช่วงค่ำๆ พร้อมมีขาตั้งกล้อง ก็น่าจะได้สวยกว่านี้ขึ้นไปอีก
ตัวอย่างภาพ GIF จากลูกเล่นกล้องหลังของ OPPO R9s Pro ครับ
ส่วนด้านล่างนี้ก็เป็นตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังของ OPPO R9s Pro คลิกชมแต่ละภาพกันได้เลย
Design
นอกเหนือจากสเปคของ OPPO R9s Pro นั้นแทบจะเหมือนกับ R9s Plus แล้ว รูปร่างหน้าตาก็แทบจะเป็นพิมพ์เดียวกันเลยครับ แต่มีจุดที่ทำให้สังเกตได้ง่ายเลยก็คือบริเวณของกล้องหน้า ซึ่ง R9s Pro จะมาพร้อมกล้องหน้าสองตัววางคู่กัน ห่างกันประมาณครึ่งเซนติเมตร ในขณะที่ R9s Plus จะมีกล้องหน้าแค่ตัวเดียว
สำหรับเครื่องที่ทางเราได้รับมารีวิว เป็นเครื่องฝาหลังสีทอง ด้านหน้าสีขาว ซึ่งสีทองจะเป็นโทนเข้มๆ ดูมีความหรูหรา แต่ในบางมุมก็จะดูคล้ายๆ สีชมพูแบบ Rose Gold อยู่นิดนึง ส่วนด้านหน้าที่เป็นสีขาวนั้น ก็จะถูกปิดทับด้วยกระจก Gorilla Glass 5 ซึ่งมีความแข็งแกร่ง ทนทานต่อรอยขีดข่วนได้ดี ดีไซน์ดูเรียบๆ ขอบจอบางพอตัว เมื่อเทียบขนาดเครื่องแล้วก็แทบจะเท่าๆ กับ iPhone 7 Plus เลยทีเดียว แต่อย่าลืมว่า OPPO R9s Pro นั้นเป็นมือถือจอ 6 นิ้วนะครับ ในขณะที่ iPhone 7 Plus มีหน้าจอเพียง 5.5 นิ้วเท่านั้น
ด้านหน้าของ OPPO R9s Pro ก็จะมีอุปกรณ์มาตรฐานมาให้ ได้แก่พวกกล้องหน้า ลำโพงสนทนา เซ็นเซอร์วัดความสว่าง วัดระยะ ส่วนด้านล่างก็จะเป็นปุ่มโฮมแบบสัมผัส ซึ่งมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือติดตั้งมาในตัว เวลาใช้งานจริงก็สามารถแตะนิ้วที่ปุ่ม เพื่อปลดล็อกและใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องกดปุ่มใดๆ ส่วนด้านข้างซ้ายของปุ่มโฮมก็เป็นตำแหน่งของปุ่มเรียกดูแอปล่าสุดย้อนหลัง (Recent apps) ส่วนฝั่งขวาก็จะเป็นปุ่มย้อนกลับ ซึ่งในขณะที่หน้าจอเปิด และมีการใช้งานอยู่ ก็จะมีไฟแสดงตำแหน่งของแต่ละปุ่มด้วย
ส่วนความรู้สึกในการใช้งานจริง แนะนำว่าควรจะใช้แบบสองมือครับ เพราะตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ อาจทำให้การปาดนิ้วด้านบนด้วยมือที่จับเครื่องเพียงข้างเดียวเพื่อเรียกแถบแจ้งเตือนทำได้ไม่ถนัดนัก ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติสำหรับมือถือจอใหญ่เกิน 5.5 นิ้วอยู่แล้ว แต่ก็ทดแทนมาด้วยจอขนาดใหญ่ ทำให้การอ่านเนื้อหาต่างๆ การเล่นเกมหรือรับชมภาพยนตร์ ทำได้อย่างเต็มตาเต็มอารมณ์มากจริงๆ
ด้านหลังของ OPPO R9s Pro ก็อย่างที่เกริ่นไปในข้างต้นครับ ว่าเป็นสีทอง โดยวัสดุที่ใช้ก็จะเป็นอลูมิเนียมคุณภาพสูง ผ่านการขึ้นรูปแบบยูนิบอดี้เป็นชิ้นเดียว พ่นและเคลือบสีอย่างพิถีพิถันในระดับงานละเอียด ทำให้ผิวสัมผัสมีความลื่นมือ สอดคล้องกับการออกแบบที่มีความโค้งมนตรงขอบเครื่อง ซึ่งตอนใช้จริง หากไม่ได้ใส่เคสไว้ ก็อาจต้องระวังเครื่องลื่นหลุดมืออยู่บ้างเหมือนกัน สำหรับเคส ก็จะมีเคสพลาสติกแบบพอดีตัวแถมให้ในกล่องเหมือนกับใน R9s Plus เลย
จากด้านบนก็จะพบกับกล้องหลังซึ่งนูนขึ้นมาจากผิวฝาหลังเล็กน้อย ใกล้ๆ กันก็เป็นตำแหน่งของแฟลชแบบ Dual LED ที่ช่วยให้ภาพถ่ายเมื่อใช้แฟลช มีสีสันเป็นธรรมชาติกว่าการใช้แฟลชแสงสีเดียว ถัดลงมาเล็กน้อยก็จะพบกับเส้นเสาอากาศรับสัญญาณ Wi-Fi ที่ทาง OPPO พัฒนาขึ้นมา และเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในมือถือซีรีส์ R9
โดยเสาอากาศเหล่านี้จะมีอยู่ทั้งฝั่งบนและล่างของฝาหลัง มีทั้งหมด 6 เส้น (บน 3 ล่าง 3) แต่ละเส้นมีความบางเพียงแค่ 0.3 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งประโยชน์ของมันก็คือทำให้การเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลผ่าน Wi-Fi ทำได้อย่างราบรื่น
ด้วยหน้าจอใหญ่ถึง 6 นิ้ว ทำให้ตัวเครื่องของ OPPO R9s Pro มีขนาดใหญ่ และค่อนข้างหนักมือกว่ามือถือทั่วไปในตลาดซักเล็กน้อย แต่ก็ชดเชยด้วยความบางของเครื่องที่แทบจะไม่ต่างจากมือถือรุ่นอื่นๆ เลย ทำให้จับถือโดยใช้มือเดียวได้แบบไม่เทอะทะมากนัก จะมีไม่สะดวกบ้างก็ตอนที่ต้องเอื้อมมือขึ้นไปลากแถบแจ้งเตือนลงมา อย่างที่กล่าวไว้ในช่วงต้น ซึ่งก็เท่ากับเป็นการบังคับว่าการใช้ OPPO R9s Pro แบบสองมือ น่าจะสะดวกที่สุดครับ ส่วนเวลาพกพา ก็ยังสามารถใส่ในกระเป๋ากางเกงยีนส์ ขึ้น-ลงบันได ซ้อนมอเตอร์ไซค์ได้สบายๆ แต่สำหรับผู้ที่ชอบเอามือถือใส่กระเป๋าหลังของกางเกงก็อาจจะไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ เพราะตัวเครื่องจะใหญ่เลยขอบกระเป๋าขึ้นมา อาจจะสะดุดตาโจรได้
ส่วนด้านข้างก็จะมีตำแหน่งของปุ่มกด และอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
- ด้านบน: ช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน
- ด้านซ้าย: ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง
- ด้านขวา: ถาดใส่ซิมแบบไฮบริด และปุ่ม Power
- ด้านล่าง: ลำโพง, ช่อง Micro USB, ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา และช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร
Software
OPPO R9s Pro ยังคงมาพร้อมกับ Android 6.0 Marshmallow ที่ครอบทับด้วย UI ของ OPPO เองอย่าง ColorOS 3.0 เฉกเช่นเดียวกับ R9s และ R9s Plus ครับ ซึ่งก็คาดว่าน่าจะได้รับการอัพเกรดเวอร์ชันแน่ๆ เพราะขนาดรุ่นเล็กกว่าอย่าง OPPO A71 ยังมาพร้อม Android 7.0 Nougat ที่ครอบด้วย ColorOS 3.1 เลย ซึ่งน่าจะมาช่วยเสริมประสิทธิภาพ และเพิ่มลูกเล่นการใช้งานให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นผู้ที่ซื้อรุ่นนี้ก็น่าจะหมดห่วงเรื่องการอัพเกรดซอฟต์แวร์ไปได้พอสมควรครับ อย่างน้อยก็น่าจะได้อัพแบบข้ามเวอร์ชั่นอย่างต่ำรอบนึงแน่ๆ
ในหน้าเมนู About Phone (เกี่ยวกับมือถือ) ก็จะบอกข้อมูลสำคัญของตัวเครื่องค่อนข้างครบถ้วนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันซอฟต์แวร์ ชิปประมวลผล แรม รอม ก็น่าจะเป็นจุดที่ให้ผู้ซื้อสามารถเช็คสเปคเครื่องแบบคร่าวๆ หน้าร้านก่อนซื้อได้ง่ายขึ้น แบบไม่จำเป็นต้องลงแอปเสริม ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูล (รอม) ที่ให้มา 64 GB นั้น พอเปิดเครื่องมาครั้งแรก จะเหลือให้ใช้งานได้จริงราว 52 GB ด้วยกัน ซึ่งก็อยู่ในระดับมาตรฐานสมาร์ทโฟนรุ่นกลาง-สูงของยุคนี้เลย คือให้พื้นที่มาเพียงพอแบบไม่ต้องใส่ MicroSD ก็สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ จะโหลดแอป โหลดเกม โหลดเพลงจากแอปฟังเพลงอย่าง Spotify/Joox รวมถึงถ่ายรูปเยอะๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่สำหรับคนที่ถ่ายรูปเยอะจริงๆ ก็น่าจะหา MicroSD มาใส่เพิ่ม หรือจะใช้การย้ายข้อมูลไปเก็บที่อื่นบ้างก็จะดีครับ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเมมเครื่องเต็มก่อน
ส่วนการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต Cellular ตัว OPPO R9s Pro รองรับนาโนซิม 2 ใบพร้อมกัน โดยซิมนึงจะเชื่อมต่อ 4G LTE ส่วนอีกซิมจะรองรับได้สูงสุดระดับ 3G UMTS ทำให้ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะใช้งานบางซิมไม่ได้ ซึ่งสาเหตุยอดนิยมที่โทรศัพท์บางเครื่องเมื่อใช้ 2 ซิมแล้ว พบว่าซิมรองไม่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายได้ ก็เนื่องมาจากข้อจำกัดของมือถือเครื่องนั้นที่ซิมรองจะเชื่อมต่อแบบ 2G ได้เท่านั้น ประกอบกับทางผู้ให้บริการเครือข่ายบางส่วนเริ่มทยอยปิดการใช้งาน 2G ในบางพื้นที่ไปแล้ว จึงทำให้มือถือบางเครื่องไม่สามารถใช้งาน 2G ที่ซิมรองได้นั่นเอง
แต่สำหรับ OPPO R9s Pro นี้ไม่ต้องห่วงเลยครับ เพราะซิมรองสามารถใช้งาน 3G ได้นั่นเอง รับประกันได้เลยว่าถ้าบริเวณนั้นไม่อับสัญญาณจริงๆ ก็สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายได้ทั้งสองซิมแน่นอน ส่วนเรื่องการทดสอบการเชื่อมต่อมากกว่า 1 คลื่นความถี่ (CA) นั้น ทางเรายังไม่ได้ทดสอบนะครับ แต่ถ้าตามสเปค OPPO R9s Pro จะรองรับแบบ 2CA ในไทยด้วย
Feature
ส่วนของฟีเจอร์เสริมของ OPPO R9s Pro เอาจริงๆ จะเป็นเรื่องของกล้องหน้าคู่ แต่ผมขอยกไปพูดในส่วนของรีวิวกล้องจะดีกว่า ดังนั้นตรงนี้จะขอเป็นเรื่องฟีเจอร์อื่นๆ แล้วกันนะครับ
Real Soundtrack Technology
เป็นลูกเล่นที่มาช่วยเติมเต็มด้านเสียงให้กับ OPPO R9s Pro ซึ่งเมื่อเปิดใช้งาน ระบบจะช่วยปรับแต่งคุณภาพเสียงให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของดีเทลในเนื้อเสียง รวมถึงช่วยเพิ่มมิติเสียงสเตอริโอให้เด่นชัดขึ้นกว่าปกติ และถ้าหากต้องการปรับโทนเสียงเบส กลาง สูง ก็สามารถเลือกใช้งานจริงชุด preset ที่ระบบให้มา หรือจะปรับด้วยตนเองก็ได้เช่นกัน แต่ฟีเจอร์นี้จะใช้ได้เฉพาะกับการเชื่อมต่อหูฟัง/ลำโพงผ่านช่องเสียบแจ็ค 3.5 มิลลิเมตรเท่านั้น ไม่สามารถใช้งานผ่านการเชื่อมต่อแบบ Bluetooth ได้นะครับ
Screen-off Gestures
ก็เป็นลูกเล่นที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี กับการปาดหรือเคาะนิ้วบนหน้าจอขณะที่ปิดอยู่ เพื่อสั่งงานเครื่อง ซึ่งผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ทำงานอย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่นฟีเจอร์การเคาะหน้าจอ 2 ครั้งติดกันเพื่อเปิดจอขึ้นมา ซึ่งอันที่จริง OPPO R9s Pro ก็รองรับเช่นกัน แต่ค่าเริ่มต้นมันจะถูกปิดไว้อยู่ ก็ต้องมาเปิดใช้งานจากในเมนูนี้ก่อน
O-Cloud
เป็นฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้สามารถสำรองข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อและ SMS ไปเก็บไว้บน Cloud ของ OPPO เองได้ ทำให้เวลาซื้อมือถือ OPPO เครื่องต่อไป ผู้ใช้สามารถซิงค์ข้อมูลทั้งสองอย่างกลับลงมาในเครื่องใหม่ได้อย่างง่ายดาย
Simple Mode
หรืออาจจะเรียกว่าหน้าจอใหญ่ๆ แบบใช้งานง่ายก็ได้ครับ เพราะเมื่อเปิดใช้งาน หน้าจอหลักของเครื่องก็จะเปลี่ยนไปเป็นการแสดงเฉพาะฟังก์ชันที่จำเป็นสำหรับมือถือเท่านั้น เช่น การโทรศัพท์ การดูรูปถ่าย การส่ง SMS รวมถึงมีรายชื่อและรูปของคนที่เราตั้งค่าไว้ แสดงให้ดูแบบใหญ่เต็มตามากๆ ซึ่งจุดประสงค์ของฟีเจอร์นี้ก็คือออกแบบมาให้เด็กๆ หรือผู้สูงอายุสามารถใช้งานมือถือได้ง่ายขึ้น ด้วยการตัดเมนูและแอปที่ดูซับซ้อนออกไป เหลือไว้แต่สิ่งจำเป็นเท่านั้น ยิ่งประกอบกับ OPPO R9s Pro เป็นมือถือจอใหญ่ถึง 6 นิ้วด้วยอีก ก็อาจจะเหมาะกับการซื้อให้ญาติผู้ใหญ่ใช้อยู่เหมือนกันนะครับ ด้วยความที่มันจอใหญ่ เมนูใหญ่ ใช้งาน แถมแบตอึดอีกด้วย
Performance
ปิดท้ายกันด้วยผลทดสอบประสิทธิภาพ OPPO R9s Pro กันซักเล็กน้อย โดยเมื่อใช้ CPU-Z ทดสอบ พบว่าตัวแอปมองชิปประมวลผลเป็น Snapdragon 652 (MSM8976) ไปซะ คาดว่าคงต้อรอให้แอปมีการอัพเดตก่อน ถึงจะแสดงผลได้ถูกต้องนะครับ ส่วนการทดสอบด้วยแอปยอดนิยมอย่าง AnTuTu ก็เก็บไปได้ 91,xxx คะแนน จัดว่าอยู่ในกลุ่มมือถือระดับกลางๆ เพียงพอกับการใช้งานทั่วไปในยุคนี้ได้แบบไม่ติดขัดอะไร ที่เห็นชัดเลยคือแรม 4 GB ที่ทำให้ระบบแทบไม่ต้องโหลดแอปใหม่เมื่อกดปุ่มสลับแอปเลย ช่วยทำให้การใช้งานเป็นไปได้อย่างไหลลื่นและน่าพอใจมาก
ส่วนการทดสอบด้วยแอปทดสอบประสิทธิภาพชิปเก็บข้อมูลยอดนิยมอย่าง AndroBench ก็พบว่ามีความเร็วการอ่านข้อมูลแบบ sequential อยู่ในระดับของ eMMC ซึ่งก็เทียบเท่ากับสมาร์ทโฟนกลุ่มใหญ่ที่มีวางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน
ผมทดสอบการเล่นเกมด้วยเกม Linage 2 Revolution ในมือถือครับ การปรับ effect ต่างๆ ก็เป็นแบบที่ระบบตั้งค่ามาให้เลย พบว่าเล่นได้ไหลลื่นดีบนจอ Full HD ของ R9s Pro แต่ตัวเครื่องก็จะอุ่นๆ หน่อย แนะนำว่าควรเล่นในห้องแอร์นะ
ด้านการใช้งานแบตเตอรี่ OPPO R9s Pro มาพร้อมแบตเตอรี่ความจุสูงถึง 4000 mAh ตอบโจทย์คนที่ต้องการใช้งานมือถือทั้งวันได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้ารูปแบบการใช้งานมือถือของคุณไม่ได้เป็นคนเล่นมือถือตลอดเวลา รับรองเลยว่าสามารถใช้งาน OPPO R9s Pro จนหมดวันได้แบบไม่ต้องเสียบสายชาร์จระหว่างวันเลยทีเดียว ส่วนที่ผมได้ทดสอบกับการใช้งานในแบบชีวิตประจำวันจริงๆ โดยเริ่มถอดสายชาร์จราวๆ 11 โมง ระหว่างวันก็ใช้งานทั่วไปทั้ง LINE, Facebook, ถ่ายรูป ต่อเน็ต 4G ตลอดเวลา ใช้งาน 2 ซิม ต่อ Bluetooth กับ Pebble ตลอดเวลา ปล่อยให้ระบบปรับความสว่างจออัตโนมัติ และมีการใช้ GPS เป็นช่วงๆ ไปจนถึงช่วงตีสาม ผลคือแบตเตอรี่ยังเหลืออีกราว 30% รวมเวลาก็ประมาณ 16 ชั่วโมงด้วยกัน
ส่วนการชาร์จ อันที่จริง OPPO R9s Pro รองรับการชาร์จเร็วแบบ VOOC ที่เป็นของ OPPO เอง ซึ่งสามารถชาร์จไฟเข้าเครื่องได้เร็วมากๆ โดยที่เครื่องไม่ร้อน และมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมีชิปควบคุมการชาร์จทั้งทางฝั่งตัวเครื่องและอะแดปเตอร์ รวมถึงสายและช่องชาร์จยังถูกออกแบบมาเป็นพิเศษอีกด้วย แต่น่าเสียดายที่ตัวเครื่องรีวิวไม่ได้มีอะแดปเตอร์มาด้วย เลยไม่ได้ทดสอบในจุดนี้ครับ แต่ถ้าอ้างอิงจากรีวิว OPPO R9s Plus ที่สเปคเครื่องเหมือนกับ R9s Pro แทบจะทั้งหมด ก็น่าจะสามารถชาร์จแบตจาก 11% จนเต็มได้ภายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น