ช่วงนี้กลุ่มของมือถือราคาเบาๆ สเปคระดับใช้งานทั่วไปก็มีออกมาให้เลือกหลากหลายรุ่นมากเลยทีเดียวครับ ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นช่วงราคาที่ตัดสินใจซื้อได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะช่วงราคา 3,000 – 5,000 บาทที่มีให้เลือกกันมากมายเลย อย่างในคราวนี้เราก็มีอีกรุ่นมารีวิวแบบสั้นๆ ให้ได้ชมกันครับ นั่นก็คือ OPPO Joy 3 มือถือรุ่นเล็กตัวใหม่ล่าสุดจาก OPPO ซึ่งเน้นจุดเด่นในเรื่องของราคาที่ไม่แพง แต่ได้สเปค ได้ฟีเจอร์ที่ค่อนข้างครบครัน ก่อนอื่นมาดูเรื่องสเปคก่อนละกัน
- ชิปประมวลผล MediaTek MT6582M (4 คอร์) ความเร็ว 1.3 GHz
- แรม 1 GB
- รอม 4 GB รองรับการเพิ่ม MicroSD
- หน้าจอ IPS ขนาด 4.5 นิ้ว ความละเอียด 854 x 480 ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติได้
- กล้องหลัง 5 ล้านพิกเซล fixed focus (แตะเลือกจุดโฟกัสไม่ได้) มีแฟลช LED
- กล้องหน้า 2 ล้านพิกเซล
- ใช้งานได้ 2 ซิม รองรับ 3G ทุกเครือข่าย
- แบตเตอรี่ความจุ 2000 mAh
- รองรับ USB-OTG
- ราคา 3,990 บาท
- สเปค OPPO Joy 3
ถ้ามองที่ราคาเป็นปัจจัยหลัก สเปคของ OPPO Joy 3 ก็ถือว่าออกมาได้ค่อนข้างโอเคอยู่ครับ เพราะมีฮาร์ดแวร์ให้ใช้งานค่อนข้างครบถ้วน ชิป 4 คอร์ แรม 1 GB หน้าจอก็ IPS ความละเอียดพอใช้ได้ แบตระดับ 2000 mAh ใช้ USB-OTG สำหรับถ่ายโอนข้อมูลกับ flashdrive ได้เลย กล้องหน้ากล้องหลังให้มาครบ จะติดก็แค่กล้องหลังเป็นแบบ fixed focus ทำให้เราไม่สามารถแตะเพื่อเลือกจุดโฟกัสก่อนถ่ายได้เหมือนกับสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนะครับ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างปกติสำหรับสมาร์ทโฟนในช่วงราคาเริ่มต้นอยู่แล้ว
หน้าตาของ OPPO Joy 3 ก็ทำออกมาตามมาตรฐานของสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ด้านหน้าก็เน้นที่หน้าจอซึ่งสีสัน ผมว่าทำออกมาดีใช้ได้เลย สีไม่สดและไม่ซีดเกินไป ความคมชัดอาจจะไม่สูงมาก แต่ก็อยู่ในระดับที่ใช้งานได้ลงตัว ด้านล่างก็เป็นปุ่มสั่งงานแบบสัมผัสทั้ง 3 ปุ่ม (ไม่มีไฟ LED นะ) โดยซ้ายสุดก็เป็นปุ่มเมนู เมื่อกดค้างไว้จะเป็นการเปิดดูแอพที่ใช้งานล่าสุด (recent apps) ตรงกลางเป็นปุ่มโฮม กดค้างไว้จะเป็นการเรียกใช้งาน Google Now ส่วนขวาสุดก็เป็นปุ่มย้อนกลับตามปกติ
ส่วนระบบปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติก็ทำได้ดีประมาณนึง แต่ผมว่าเหมือนระบบมันจะปรับให้สว่างกว่าที่ควรจะเป็นไปหน่อย สำหรับใครที่ชอบใช้จอสว่างๆ คงไม่มีปัญหา เผลอๆ จะชอบเลยด้วยซ้ำ
ขนาดตัวเครื่องก็กะทัดรัด จับถือถนัดมือดีครับ ด้วยหน้าจอขนาดแค่ 4.5 นิ้วเท่านั้นเอง ดูแล้วก็น่าจะเหมาะกับซื้อให้ลูกหลานใช้งาน เพราะเครื่องไม่ใหญ่และไม่หนักจนเกินไป
ฝาหลังและตัวเครื่องของ OPPO Joy 3 หลักๆ แล้วก็จะเป็นพลาสติกแทบทั้งหมด แต่เห็นเป็นพลาสติกแบบนี้ บอกเลยว่าตัวเครื่องแข็งแรง แน่นหนากว่าที่คิดมากๆ บีบแล้วไม่รู้สึกว่ามันยุบลงไปเลย ส่วนตรงขอบ จะมีอลูมิเนียมเป็นเส้นขนาบอยู่ระหว่างแถบพลาสติกที่ขอบเครื่อง ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความหรูหราเข้าไปอีก
สำหรับกล้องหลังนั้น จะมีส่วนที่นูนจากผิวฝาหลังขึ้นมาเล็กน้อย แต่ยังดีที่มีขอบอลูมเนียมล้อมรอบเพื่อป้องกันการขีดข่วนและการกระแทกกระจกปิดหน้าเลนส์ตรงๆ อยู่ด้วย ส่วนด้านล่างก็มีช่องลำโพงที่ให้เสียงอยู่ในระดับปกติของลำโพงมือถือ ใกล้ๆ กันนั้นก็จะมีจุดนูนเพื่อป้องกันช่องลำโพงถูกพื้นปิดทับด้วยครับ
แกะฝาหลังออกมาก็จะเจอกับแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ด้านบนมีช่องใส่ MicroSD และก็ช่องใส่ไมโครซิมสองช่อง
ด้านข้างเครื่องก็จะมีพอร์ตและปุ่มกดดังนี้
- ด้านซ้ายมีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง
- ด้านขวามีปุ่ม Power
- ด้านบนมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร
- ด้านล่างมีช่อง Micro USB และช่องรับเสียงของไมค์สนทนา
เรื่องของโหมดกล้องก็ถือว่าเป็นจุดที่น่าประทับใจอยู่เหมือนกันครับ แม้ว่าตัวกล้องหลังจะเป็นแบบแตะเลือกจุดโฟกัส และออโต้โฟกัสไม่ได้ก็ตาม แต่ยังชดเชยมาด้วยโหมดกล้องที่มีให้เล่น ให้ลองหลายตัวเลย เช่น โหมด HDR, โหมดพาโนรามา, โหมดบิวตี้, โหมด double exposure ที่จะเก็บภาพสองครั้ง ใช้สำหรับถ่ายภาพซ้อนกันได้ด้วย ซึ่งพวกนี้ปกติเรามักจะได้เห็นแต่ในมือถือรุ่นราคาสูงๆ กว่านี้ แต่นี้มีให้ใช้ใน OPPO Joy 3 ราคา 3,990 บาทด้วยนะ !!
ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างภาพถ่ายครับ เรื่องการโฟกัสภาพอาจจะกะระยะได้ยากซักหน่อย แต่ใช้ไปซักพักก็น่าจะชินครับ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพวิว ถ่ายภาพที่มีระยะไกลจากตัวกล้องซักหน่อย ไม่เหมาะกับการถ่ายมาโคร ถ่ายวัตถุใกล้ๆ รวมถึงการถ่ายหน้าชัดหลังเบลอ อันนี้บอกเลยว่าไม่ไหวครับ
OPPO Joy 3 ก็ยังคงครอบมาด้วย ColorOS อีกเช่นเคยครับ โดยเป็นเวอร์ชัน 2.0.1i ส่วนแกนหลักของระบบก็เป็น Android 4.4.2 Kitkat อยู่ สำหรับในอนาคตจะได้อัพเดตเป็น Android 5.0 Lollipop หรือเปล่า คงต้องรอดูกันอีกที แต่อย่างน้อยก็น่าจะมีอัพเดตตัว ColorOS อยู่บ้างแหละนะ การใช้งาน เมนู ไอคอนต่างๆ ก็ทำออกมาให้เข้าใจง่าย ใช้งานไม่ลำบากครับ
ด้านของรอม มีให้มาเลยในเครื่อง 4 GB จากในภาพข้างบนนี่เป็นหลังจากผมลงแอพใช้งานพื้นฐานเพิ่มเข้าไปนิดหน่อย ก็เหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ร้อย MB เอง แนะนำว่าหา MicroSD มาใส่ด่วนๆ เลย ไม่งั้นที่จะไม่พอใช้งานเอา ส่วนแรม เท่าที่ผมลองใช้งานมา แรมจาก 1 GB มักจะเหลือว่างประมาณ 300 กว่า MB ครับ ก็พอเปิดแอพได้อีกนิดหน่อย ถ้าคิดจะเล่นเกมก็อาจต้องไล่ปิดแอพที่ไม่ได้ใช้งานลงไปบ้างเหมือนกัน
OPPO Joy 3 ก็มีฟีเจอร์ให้เล่นเหมือนกันนะ ต่างจากพวกมือถือรุ่นราคาเริ่มต้นที่ส่วนใหญ่แทบจะไม่มีอะไรให้ปรับ ให้เล่นเลย ที่น่าสนใจก็เช่น การใช้การวาดนิ้วสั่งงาน (gesture) ทั้งระหว่างจอปิดและจอเปิด โดยค่าเบื้องต้นจะปิดการใช้งานพวกนี้มาให้ครับ แต่ก็สามารถเข้ามาเปิดได้เพียงมาตรงที่ การตั้งค่า > การใช้ท่าทางและการเคลื่อนไหว ซึ่งสามารถเลือกเปิดได้ตามใจชอบเลย ที่น่าสนใจก็เช่น การดับเบิ้ลเคลิกหน้าจอสว่าง (ก็คือแตะจอสองครั้งเพื่อเปิดจอนั่นเอง), การวาดนิ้วเป็นรูปตัว O เพื่อเปิดแอพกล้อง รวมถึงการปัด 3 นิ้วขึ้นหรือลงเพื่อแคปหน้าจอ ทำให้ไม่ต้องไปกดสองปุ่มเพื่อแคปหน้าจออีกต่อไป ก็ถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกได้ดีทีเดียว
ปิดท้ายด้วยผลการทดสอบประสิทธิภาพเล็กน้อยครับ โดย OPPO Joy 3 สามารถทำคะแนนจาก AnTuTu ไปได้ประมาณ 19,000 คะแนน ก็จัดว่าไม่แรงมาก แต่ยังใช้งานทั่วไปได้สบายๆ อยู่ ส่วนถ้าดูจากภาพที่สาม จะเห็นว่าตรงหัวข้อ Rear Camera (กล้องหลัง) อันนี้แอพ AnTuTu จะแสดงว่าได้ความละเอียดที่ 8 ล้านพิกเซล แต่กล้องจริงๆ ที่แอพกล้องมีให้ปรับ จะได้สูงสุดแค่ 5 ล้านพิกเซลนะครับ ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะตัวกล้องจริงๆ ทำได้ แต่รอมมันกั๊กไว้ หรือว่า AnTuTu แสดงข้อมูลผิดเหมือนกัน แต่จากที่ใช้แอพกล้องของมันจริงๆ จะมีให้เลือกแค่ 5 ล้านกับ 2 ล้านเท่านั้นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ OPPO Joy 3 มือถือรุ่นเล็กราคาเบาๆ จาก OPPO ที่ให้สเปคพื้นฐานมาค่อนข้างครบครัน มีฟีเจอร์ให้เล่น ให้ปรับแต่งใช้งานได้ไม่แพ้มือถือรุ่นราคาสูงกว่านี้ ก็เหมาะทั้งกับคนที่อยากหามือถือเป็นเครื่องสำรอง เพราะไม่ต้องเน้นสเปคมากมาย ขอให้สามารถใช้งานพื้นฐานของการเป็นสมาร์ทโฟนได้ หรือจะซื้อให้เด็กๆ ลูกหลานใช้ก็ได้เช่นกัน เนื่องด้วยทั้งฟีเจอร์ที่ครบ ตัวเครื่องไม่ใหญ่และไม่หนักเกินไป แถมงานประกอบ ความแข็งแรงยังจัดอยู่ในกลุ่มที่ดีอีกด้วย เอาเป็นว่าก็ลองดูครับ ผมว่าเป็นมือถือในช่วงราคาไม่ถึง 5,000 บาทที่น่าสนใจตัวนึงเลยล่ะ