[Review] OnePlus One สุดยอดมือถือตัวแรงราคาหมื่นกลางๆ ที่หาซื้อยากสุดในเวลานี้

สำหรับในวงการนักเล่นมือถือตัวคุ้มแบบไม่แคร์ว่าจะเป็นเครื่องศูนย์ไทยหรือเครื่องหิ้ว กระแสในช่วงนี้ก็คงหนีไม่พ้นตัวของ?OnePlus One?ที่กำลังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก ถึงขั้นต้องสั่งจองล่วงหน้ากับตามร้านรับหิ้วกันเลยทีเดียว ด้วยความที่สเปคตัวเครื่องจัดว่าแรงมากๆ ในราคาหมื่นกลางๆ และที่สำคัญคือมันมาพร้อมกับรอม Android ขึ้นชื่อจากทีม CyanogenMod ซึ่งเป็นทีมทำรอมโมของ Android ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน การันตีได้ว่ารอมมีคุณภาพ ใช้งานได้ไหลลื่นแทบไม่แพ้กับรอม Nexus จาก Google กันเลยทีเดียว ทั้งยังมาพร้อมฟีเจอร์การปรับแต่งเครื่องที่ทำได้ยืดหยุ่นกว่ารอมทั่วๆ ไป ทำให้ OnePlus One ตกเป็นที่จับตามองของตลาดนับตั้งแต่เปิดตัวมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันเลยทีเดียว

และแน่นอนครับ ทีมงาน SpecPhone เราก็ไม่พลาดที่จะสรรหาเครื่องมารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกัน เอาเป็นว่ามาชมรีวิว OnePlus One กันเลยดีกว่า ว่าจะเจ๋งอย่างที่ร่ำลือกันมั้ย

Review-OnePlus-One-SpecPhone-041

สเปค OnePlus One

  • ชิปประมวลผล Snapdragon 801 (MSM8974-AC) quad-core ความเร็วสูงสุด 2.5 GHz พร้อมชิปกราฟิก Adreno 330
  • แรม 3 GB
  • รอมมีให้เลือกทั้งรุ่น 16 และ 64 GB ไม่รองรับ MicroSD เพิ่มเติม
  • หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD (1920 x 1080)
  • รอมมีให้เลือกทั้งรอม CyanogenMod (CM11s) ในเครื่องอินเตอร์และรอม ColorOS ในเครื่องจีน
  • เครื่องที่เรารีวิวในครั้งนี้เป็นรอม CM11s ที่มีฐานมาจาก Android 4.4.2 KitKat ความจุ 16 GB
  • กล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล มาพร้อมแฟลช LED คู่ ถ่ายวิดีโอระดับ 4K ได้
  • กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล
  • แบตเตอรี่ 3100 mAh ถอดฝาหลังไม่ได้
  • ใช้งาน 4G LTE ในไทยได้ ใช้ 3G ได้ทุกเครือข่าย รองรับซิมแบบไมโครซิม (ซิมเดียว)
  • รองรับ USB-OTG
  • ตัวเครื่องหนา 8.9 ?มิลลิเมตร หนัก 162 กรัม
  • ราคาเครื่องหิ้วในไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 13,xxx – 15,xxx บาท (16 GB)
  • สเปค OnePlus One เต็มๆ

เป็นอย่างไรบ้างครับกับสเปค OnePlus One ถ้าให้เทียบนี่เรียกว่าอยู่ในระดับเดียวกับเครื่องรุ่นท็อปในตลาดเลยก็ว่าได้ เผลอๆ สเปคยังจะดีกว่าพวกรุ่นราคาเกิน 20,000 บาทซะด้วยซ้ำไป ที่สำคัญคือมาในราคาที่ถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับสเปค ยิ่งถ้าได้ราคาเครื่องขายจริงในต่างประเทศจะยิ่งคุ้มเข้าไปอีก เพราะ OnePlus ตั้งราคาเครื่องมาแค่ $299 หรือแค่ราวๆ 9,500 บาทเท่านั้น !!! ซึ่งสาเหตุที่สามารถตั้งราคาได้ถูก ก็เพราะว่าเป็นการตั้งขายแทบจะราคาทุนเลยนั่นเอง จึงทำให้ OnePlus One ตกเป็นเป้าของผู้ที่อยากได้มือถือแรงๆ ในราคาสุดคุ้มไปแทบจะในทันทีที่เปิดตัว

แต่เนื่องด้วยปัญหาเรื่องกำลังการผลิตไม่เพียงพอ ประกอบกับตอนนี้แทบจะเป็นการขายแบบไม่มีกำไร ทำให้สามารถหาซื้อ OnePlus One ได้ค่อนข้างยาก โดยการจะหาซื้อแบบตรงๆ นั้น ที่จริงจะต้องใช้การรอ invite (คำเชิญ) จากผู้ที่ซื้อไปก่อนหน้านี้ หรือจากการแจกในกิจกรรมต่างๆ เป็นหลักแทบจะเท่านั้น แต่มาในภายหลังก็เริ่มมีเว็บไซต์ในจีนเปิดให้สั่งซื้อได้ เช่นเว็บ Oppomart (ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับ OPPO หรือเปล่านะ) ซึ่งผมก็ลองกดๆ เล่นดูแล้วครับ ปรากฏว่ามันไม่ส่งมาไทยจ้า

ทำให้การจะหาซื้อ OnePlus One ในไทย จำเป็นจะต้องใช้การหาซื้อผ่านร้านที่รับหิ้วเครื่องเข้ามากันแทบทั้งนั้น ซึ่งวิธีนี้ก็สะดวกครับ แต่ก็แลกมาด้วยราคาที่โดนบวกเพิ่มเข้าไป ทำให้ราคาออกมาอยู่ที่ราวๆ 13,xxx – 15,xxx บาท (16 GB) ขึ้นอยู่กับแต่ละร้าน ส่วนเรื่องการรับประกัน อันนี้คงต้องตกลงและปรึกษากับทางร้านที่จะซื้อให้ดีๆ ครับ เพราะถ้ามีปัญหา ต้องส่งเคลมเมืองจีนอย่างเดียวนะ ไม่มีศูนย์ซ่อม ศูนย์รับประกันในไทย ซึ่งก็เป็นปกติของเครื่องหิ้วอยู่แล้วล่ะ

Design

Review-OnePlus-One-SpecPhone 010

“เดี๋ยวนะ นี่ใช่ OPPO Find 7 ปะ”
Review-OnePlus-One-SpecPhone 035

Review-OnePlus-One-SpecPhone 033

เมื่อได้พบหน้าตา OnePlus One หลังเปิดกล่องออกมาครั้งแรก ดูแล้วลักษณะนี่แทบจะถอดแบบมาจาก OPPO Find 7 และ OPPO Find 7a มาเลยก็ว่าได้ ทั้งส่วนของหน้าตา ฟีลลิ่งการสัมผัส แม้แต่ลักษณะการวางเครื่องในกล่องก็ยังแทบจะใกล้เคียงกันเลยก็ว่าได้ ส่วนความรู้สึกเมื่อจับเครื่องครั้งแรกคือมันเบากว่าที่คิดมากๆ จัดเป็นมือถือจอใหญ่ 5.5 นิ้วที่ทำน้ำหนักออกมาได้ดี สามารถถือใช้งานได้แบบไม่เมื่อยข้อมือมากนัก เทียบกับรุ่นอื่นๆ ที่หน้าจอเท่ากันได้อย่างสบายๆ จะแพ้ก็แค่ LG G3 ที่ทำตัวเครื่องออกมาได้เล็กและเบากว่าทุกรุ่นในไซส์เดียวกัน ซึ่งส่วนตัวผมใช้ G3 มาก่อนจะมาจับ OnePlus One เลยรู้สึกว่าตัวเครื่องค่อนข้างจะเทอะทะไปซะหน่อย แต่ได้ข้อดีตรงที่เบามาชดเชย จึงดูโอเคขึ้นมาหน่อย

เรื่องของหน้าจอ OnePlus One ส่วนตัวผมคิดว่าจุดนี้ล่ะที่ทำให้สเปคของ OnePlus One สมดุลตามความต้องการของกลุ่มผู้เน้นสเปคกับความคุ้มค่า เนื่องด้วยสเปคของแต่ละรุ่นตอนนี้มักจะมากันแบบขาดๆ เกินๆ เช่นจอละเอียดไป แรมไม่จัดเต็ม แบตน้อยไปนิดนึง อะไรประมาณนี้ แต่ OnePlus One เลือกใช้จอ Full HD คู่กับชิปตัวแรงแทบจะสุดๆ ในเวลานี้ แรม 3 GB แบต 3100 mAh ทำให้กลายเป็นว่าสเปคมันดูลงตัวที่สุดเลยทีเดียว ซึ่งจอ Full HD ก็ให้ผลออกมาดีพอตัวครับ คือเด่นในเรื่องการกินพลังงานที่อยู่ในระดับใช้งานได้ คมชัดพอดีๆ มุมมองกว้างตามคุณสมบัติของพาเนล IPS จะมีก็แต่เรื่องโทนสี เพราะเครื่องที่ผมได้มานี้จอจะติดสีอมเหลืองและหม่นๆ ไปหน่อย อาจจะไม่ค่อยถูกใจคนชอบจอสีสดๆ เท่าไรนัก ความสว่างหน้าจอก็พอใช้งานกลางแจ้งได้อยู่ การปรับแสงสว่างหน้าจอทำได้เนียนดี ไม่มีอาการความสว่างกระโดดข้ามระดับแต่อย่างใด

จอ FHD / แรม 3 GB / แบต 3100 นี่ล่ะลงตัว !!

นอกจากเรื่องสีที่ค่อนข้างหม่นและไม่ค่อยสดแล้ว จอ OnePlus One ยังมีอีกปัญหาหนึ่งเท่าที่ผมเจอครับ คือมันจับสัมผัสไวไปหน่อย เนื่องจากตัวรอมมีฟีเจอร์ในการเคาะหน้าจอสองครั้งเพื่อเปิดจอขึ้นมา เหมือนกับ Knock On ของมือถือจาก LG ซึ่งในบางครั้งผมพบปัญหาหน้าจอเปิดขึ้นมาเอง ทั้งที่ใส่เครื่องไว้ในกระเป๋ากางเกงแล้วเดินไปเดินมา บางครั้งกลายเป็นว่ามันกดถ่ายรูปให้เองเฉยเลยก็มี (ที่หน้าล็อคสกรีน สามารถตั้งค่าให้ปาดหน้าจอจากริมฝั่งขวาไปทางซ้ายเพื่อเปิดกล้องได้) ซึ่งการแก้ปัญหานี้แบบง่ายที่สุดก็คือการปิดฟีเจอร์นี้ทิ้งไปซะ โดยจะเป็นหัวข้อ Double-tap to Wake ที่อยู่ในเมนูการปรับแต่งการแสดงผลครับ สำหรับการเคาะเพื่อปิดหน้าจอก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยเคาะสองครั้งที่แถบ notifications เท่านั้นเอง แต่ต้องไปเปิดใช้งานที่เมนู Settings > Interface > Status bar > Double-tap to sleep ด้วยนะครับ ส่วนด้านบนสุดใกล้ๆ กล้องหน้าจะมีไฟ LED แจ้งเตือนด้วยนะ

ลงมาดูที่ปุ่มกดกันบ้าง สำหรับปุ่มสั่งงานของ OnePlus One นับเป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าจะโดนใจหลายๆ ท่านแน่นอน เพราะมันเปิดโอกาสให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะใช้ปุ่มจริงๆ ที่เป็นปุ่มสัมผัสบนตัวเครื่อง หรือจะใช้เป็นปุ่มซอฟต์แวร์ของ Android ที่ใช้กดบนหน้าจอ ที่เมื่อเลือกใช้ก็จะปิดการทำงานปุ่มจริงๆ ใต้จอไปเลย ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ตั้งแต่การตั้งค่าใช้งานเครื่องครั้งแรก (สามารถปรับภายหลังได้ด้วย) ซึ่งแต่ละอันก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปครับ

ปุ่มกดจริงๆ

  • ได้ใช้งานจอเต็มๆ เห็นภาพเต็มจอจริงๆ 5.5 นิ้ว
  • มีปุ่มเมนู
  • ไม่มีปุ่ม Recent Apps (ใช้การกดปุ่มเมนูค้างไว้แทน)
  • ไฟปุ่มจางมากๆๆๆๆๆๆ จุดนี้เรียกว่าเหมือนมือถือ OPPO หลายๆ รุ่นเลย
  • ทำให้ใช้งานเครื่องลำบาก เพราะปุ่มจะอยู่ใต้จอลงไปอีก ยิ่งถ้าต้องเอื้อมนิ้วไปลากแถบ Notifications ด้วย ยิ่งลำบากใหญ่เลย

ปุ่มแบบซอฟต์แวร์

  • ใช้งานง่ายกว่า อยู่ในระยะที่สามารถใช้งานจอได้พอดีๆ
  • สามารถปรับแต่งปุ่มได้ ว่าจะให้เป็นปุ่มอะไร
  • มีปุ่ม Recent Apps
  • พื้นที่การแสดงผลหายไป

ใครจะเลือกใช้แบบไหน ก็แล้วแต่ความถนัดเลย

Review-OnePlus-One-SpecPhone 026

Review-OnePlus-One-SpecPhone 027

Review-OnePlus-One-SpecPhone 022

พลิกมาดูฝาหลัง OnePlus One กันต่อ น่าเสียดายที่ตัวเครื่องไม่สามารถแกะฝาหลังออกมาได้ (อันที่จริงสามารถแกะได้ แต่ยากมาก และน่าจะเรียกว่าเป็นการแงะเครื่องซะมากกว่า จึงถือว่าแกะไม่ได้ และอย่าแกะจะดีกว่า) แต่สำหรับใครที่อยากได้ฝาหลังเครืองแบบไม่ซ้ำครับ (และสามารถสั่งซื้อเองได้) OnePlus เองก็มีทำฝาหลังออกมาให้เลือกซื้อกันหลากหลายทั้งหน้าตาและวัสดุเลยด้วย แต่สำหรับโมเดลปกติจะมีให้แค่ 2 สีเท่านั้นครับ คือสีขาว Silk White สำหรับรุ่นรอม 16 GB และสีดำ Sandstone Black สำหรับรุ่นรอม 64 GB และอีกจุดที่จะเป็นข้อแตกต่างเล็กน้อยสำหรับ OnePlus One ที่ขายต่างโซนกันคือโลโก้ CyanogenMod ตรงด้านล่างของฝาหลัง ซึ่งจะมีก็เฉพาะเครื่องที่ส่งขายทั่วโลก ส่วนเครื่องที่ไม่มี เช่นเครื่องในรีวิวนี้ จะเป็นเครื่องที่ผลิตเพื่อขายในประเทศจีนเท่านั้น และมักจะมาพร้อมกับรอม ColorOS ซึ่งเหล่าผู้ขายเครื่องหิ้วก็มักจะรับเครื่องรุ่นนี้ที่ได้รับการแฟลชรอมเป็นรอม CM11S เรียบร้อยแล้วมาขายกัน อย่างเครื่องในรีวิวนี้ก็เช่นเดียวกันครับ แกะกล่องมาก็พบว่าเป็นรอม CM มาให้แล้ว แถมเปิดเครื่องมา ต่อเน็ตครั้งแรกก็มีอัพเดตแบบ OTA มาให้อัพเดตกันเลย แต่ไม่ว่าจะเครื่องโมเดลไหนก็ตาม สเปคภายในจะเหมือนกันนะ ใช้งานได้ไม่แตกต่างกันเลย สบายใจได้ ส่วนตัวผมคิดว่าโลโก้ CyanogenMod มีแล้วมันก็ดู geek ดีนะ แต่พอใส่เคสเข้าไปก็มองไม่เห็นละ หรือโชว์ไปก็ไม่ค่อยได้อะไรเท่าไร (ฮา)

วัสดุของฝาหลังจะใช้เป็นพลาสติกที่ได้รับการเคลือบผิวให้ดูคล้ายกับเซรามิก เหมือนฝาหลังของ ZenFone เลย ผิวค่อนข้างลื่น มีบางครั้งเกือบจะลื่นหลุดจากมือเลยด้วย เรียกว่าลื่นกันทั้งรอมทั้งตัวเครื่องเลยทีเดียว (ฮา) ผิวสัมผัสโดยรวมน่าพอใจ แต่เอาจริงๆ ก็เก็บลายนิ้วมือได้ค่อนข้างง่าย แต่ยังดีที่เป็นสีขาว เลยสะท้อนแสงจนมองไม่ค่อยเห็นรอยนิ้วมือซักเท่าไร รูปร่างของฝาหลังก็จะโค้งรับอุ้งมือเวลาจับเครื่องได้พอดี ประกอบกับขอบเครื่องที่บาง ทำให้สามารถจับถือใช้งานได้ถนัดมือพอสมควร สำหรับโลโก้ OnePlus นั้นจะฝังติดมากับแผ่นฝาหลังเลย รับรองว่าไม่ลอกไม่ล่อนแน่ๆ ส่วนโมดูลกล้องก็จะถูกติดตั้งมากลืนไปกับส่วนนูนของฝาหลัง มีจุดนูนขึ้นมาเล็กน้อย ไม่ส่งผลกระทบกับการใช้งาน จัดว่าเป็นรุ่นที่ทำโมดูลกล้องมาได้ไม่หนามากนัก กะทัดรัดดี

การวางตำแหน่งปุ่มกดและพอร์ตด้านข้างตัวเครื่องก็ทำออกมาเรียบเนียนลงตัว โดยวางให้ปุ่ม Power อยู่ฝั่งขวาบริเวณที่ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดได้พอดี ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงอยู่ที่ฝั่งซ้ายบริเวณที่ใช้นิ้วชี้ขวากดได้พอดี เลื่อนขึ้นไปนิดหน่อยก็จะเป็นถาดใส่ซิมซึ่งต้องใช้เข็มจิ้มในช่องให้ถาดเด้งออกมา เท่าที่ผมลองใช้เข็มของ iPhone ดูปรากฏว่าใช้ไม่ได้นะครับ เข็มมันสั้นเกินไป แนะนำว่าใช้เข็มที่แถมมากับกล่อง OnePlus One จะดีกว่า ช่องเสียบหูฟังอยู่ด้านบน ช่องเสียบ Micro USB อยู่ด้านล่าง ส่วนลำโพงนั้นติดตั้งมาให้สองตัวระบบเสียง stereo เสียงออกทั้งสองช่องเลย เสียงที่ออกมาดังมาก คุณภาพเสียงก็พอได้ครับ อยู่ในระดับสมาร์ทโฟนปกติ

งานประกอบโดยรวมของ OnePlus One ทำออกมาได้ดี แน่นหนา แข็งแรงสมราคา เผลอๆ ทำออกมาได้ดีเกินราคาเลยด้วยซ้ำไป

inbox

หลายท่านน่าจะได้ชมบทความแกะกล่อง OnePlus One ไปแล้ว ในรีวิว OnePlus One ครั้งนี้ก็ขอนำภาพกล่องและอุปกรณ์ภายในมาให้ชมกันอีกครั้งแบบชัดๆ แล้วกันนะครับ โทนสีของกล่องก็จะเน้นที่ขาวกับแดงสดเป็นหลัก ตัวจริงนี่สีสันสดใสมากๆ โดยตัวกล่องจะถูกแยกออกเป็นสองชิ้นคือกล่องที่ใส่เครื่อง+อุปกรณ์อื่นๆ กับกล่องที่ใส่มาแต่อะแดปเตอร์อย่างเดียว ซึ่งทั้งสองกล่องนี้จะถูกบรรจุมาในกล่องใหญ่อีกที ส่งเป็นแพ็คมาด้วยกัน

สำหรับอุปกรณ์ที่แถมมากับ OnePlus One ก็ให้มาในแบบพื้นที่ฐานเลยคือเอกสารคู่มือ, สาย Micro USB ที่คุณภาพสายดีมากๆ ทั้งยังมีแถบยางรัดสายให้มาอีก, เข็มจิ้มถาดซิมที่มีซองยางใส่มาให้ เรียกว่าดูพรีเมียมมากๆ ทุกชิ้น เสียดายที่ไม่แถมหูฟังมาให้ด้วย ส่วนอะแดปเตอร์ที่แถมให้มาก็สามารถจ่ายไฟได้สูงสุด 5V 2A รับรองชาร์จเต็มเร็วแน่นอน รองรับไฟได้ทั่วโลก (100-240V)

สำหรับแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ เป็นภาพตัวเครื่องและอุปกรณ์ที่แถมมาในกล่อง OnePlus One แบบเต็มๆ นะครับ รับชมกันได้เลย

Software

1

ด้านของซอฟต์แวร์ก็จัดเป็นไฮไลท์ของ OnePlus One เลยทีเดียว เนื่องจากมันมาพร้อมกับรอมจากทีม CyanogenMod ซึ่งเป็นทีมที่มีชื่อเสียงในด้านการทำรอมโม Android มายาวนานนับตั้งแต่มือถือ Android เริ่มบุกตลาดจริงจังกันเลยทีเดียว ด้วยคุณสมบัติต่างๆ ของรอม CM เช่นความไหลลื่นการทำงานที่แทบจะเท่าๆ กับรอม Pure Google บนเครื่องตระกูล Nexus หรือ GPE, การปรับแต่งให้กินทรัพยากรเครื่องน้อย รวมไปถึงความสามารถในการปรับแต่งการทำงานต่างๆ ได้อย่างหลากหลายและยืดหยุ่น ทำให้รอม CM ได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในมาตรฐานและแกนนำหลักของพลพรรครอมโมในฝั่ง Android กันไป ทำให้เมื่อทาง OnePlus ประกาศความร่วมมือกันพัฒนารอมกับทีม CyanogenMod จึงเกิดเป็นกระแสกันมากมาย เช่น การยกให้เป็นมือถืออีกรุ่นที่น่าจะเสถียรและแรงที่สุดในตลาด ก็ว่ากันไป

อย่างที่เกริ่นไปในส่วนของฮาร์ดแวร์รีวิวว่า OnePlus One จะมีรอมให้เลือกสองตัว ระหว่างรอม CM กับรอม ColorOS ซึ่งก็ไม่แปลกใจเท่าไรที่คนส่วนใหญ่จะเลือกหาเครื่องที่มาพร้อมรอม CM มาใช้งานกัน เครื่องที่เรารีวิวในครั้งนี้ ก็มาพร้อมกับรอม CM เวอร์ชัน 11S มาให้เรียบร้อยแล้วครับ เมื่อแกะกล่อง เปิดใช้งานเครื่องและต่อเน็ตครั้งแรก ก็มีอัพเดตแบบ OTA เด้งมาให้ดาวน์โหลดและอัพเดตเครื่องเลย ตัวเครื่องสามารถใช้งานเมนูภาษาไทยได้ด้วยนะครับ เหมือนกับมือถือ Android ทั่วๆ ไปเลย

โดยรอม CM11S ตัวนี้ จะใช้ฐานมาจาก Android 4.4.2 KitKat ทำให้หน้าตาและการทำงานต่างๆ แทบไม่แตกต่างกัน แต่จะมีจุดเด่นก็ตรงที่สามารถปรับแต่งได้เยอะกว่ารอมพื้นฐานจาก Google เช่นสามารถเปลี่ยนธีมได้ง่าย สำหรับธีมพื้นฐานที่ติดตั้งมาก็เป็นตามภาพหน้าโฮมที่อยู่ด้านบนนี้เลยครับ หรือใครอยากจะเปลี่ยนธีมแบบง่ายๆ ก็สามารถเลือกซื้อธีมจาก Play Store กันได้เลย ด้วยการคลิกที่แอพ Themes Showcase ที่ติดมาในเครื่อง

ถ้าให้คะแนนรอม เอาไปเลย 9.5 เต็ม 10
การใช้งานจริง เมื่อเปิดเครื่องมาครั้งแรก สำหรับเครื่องความจุ 16 GB จะเหลือพื้นที่ให้ใช้งานราวๆ 12 GB ส่วนแรมนั้น ในระหว่างการใช้งาน จะเหลือว่างถึงกว่า 1.3 – 1.6 GB?รับรองว่าแรมเหลือเฟือสำหรับการใช้งานแน่นอน ถ้ายังใช้หมดอีกก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วล่ะนะ ด้านของความไหลลื่นก็หายห่วง สามารถสลับแอพ เปลี่ยนหน้า เปิดแอพได้อย่างรวดเร็วทันใจสุดๆ ความรู้สึกการใช้งานใกล้เคียงกับ Nexus 5 เลย แต่เท่าที่ผมใช้งานมา พบว่ายังมีปัญหาซอฟต์แวร์อยู่บ้างครับ เช่นบางทีแอพเด้งบ้าง Force close บ้างเป็นบางครั้ง ยังดีที่นานๆ ทีถึงจะเป็น บางครั้งเพลงก็หยุดตัวเองไปบ้างก็มี ตรงจุดนี้เลยทำให้คะแนนความพอใจเรื่องรอมตกไปหน่อยนึง จากเต็ม 10 อาจจะให้ซัก 9.5 อะไรประมาณนี้

Feature

4

ฝั่งฟีเจอร์ต่างๆ ของ OnePlus One จะเน้นไปที่ฟีเจอร์ของซอฟต์แวร์ซะหมด เพราะด้านของฮาร์ดแวร์นั้นไม่ได้มีจุดเด่นอะไรเท่าไหร่ ซึ่งส่วนที่น่าสนใจก็เช่นความสามารถในการปรับเปลี่ยนปุ่มสั่งงานที่สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ปุ่มกดสัมผัสจริงๆ ของตัวเครื่อง หรือจะใช้ปุ่มบนหน้าจอ (on-screen) ก็ได้ตามความถนัด ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ตั้งแต่ตอนตั้งค่าใช้งานครั้งแรกเลย ทั้งยังสามารถเลือกด้วยว่าจะใช้ระบบการเข้ารหัส SMS เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลด้วยหรือไม่ อันนี้ถ้าเราไม่ได้มี SMS ลับๆ อะไรก็ไม่จำเป็นต้องเปิดใช้งานก็ได้นะ

อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจก็คือระบบการปรับแต่งเสียงที่ติดตั้งมาในเครื่องเลย ซึ่งสามารถปรับได้ทั้ง EQ ปรับพลังเบส รวมถึงยังสามารถปรับระดับของเสียงรอบทิศทางให้ได้ดั่งใจ โดยสามารถปรับแยกตามรูปแบบการเชื่อมต่อได้เลย เช่นอาจจะให้หูฟังเป็นเสียงที่แตกต่างจากเสียงที่ออกทางลำโพง อันนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่นักฟังเพลงชอบกันแน่ๆ ครับ เท่าที่ผมลองใช้งานดูก็โอเคนะ เหมือนว่าจำเป็นจะต้องใช้เลยล่ะ เพราะเสียงเดิมๆ จาก OnePlus One นั้นยังไม่ค่อยถูกใจเท่าไร ดูแห้งๆ ไปนิด เติมเบส เติม surround อีกหน่อยก็โอเคละ

ส่วนภาพริมขวาสุด อันนี้จะเป็นการสั่งงานด้วยการวาดนิ้วบนจอ (gesture) ในระหว่างที่ปิดหน้าจออยู่ ซึ่งมันก็คือฟีเจอร์เดียวกับที่อยู่บนมือถือ OPPO หลายๆ รุ่นนั่นเอง โดยเราสามารถวาดนิ้วเป็นวงกลมเพื่อเปิดกล้อง วาดนิ้วเป็นตัว V เพื่อเปิดไฟฉาย ซึ่งก็ช่วยอำนวยความสะดวกได้ดีนะ แต่บางทีอาจจะมีเผลอวาดนิ้วได้รูปพอดี กลายเป็นเผลอเปิดไฟฉาย เผลอเปิดกล้องกันไปเลยก็ได้ แต่ยังดีที่สามารถปิดฟีเจอร์นี้ได้ เลยไม่พบปัญหาดังกล่าวในระหว่างการรีวิวครับ

Camera

Review-OnePlus-One-SpecPhone 036

กล้อง OnePlus One นั้นจัดว่าให้มาความละเอียดระดับสูงทั้งกล้องหลังและกล้องหน้าเลย ไม่ว่าจะกล้องหลัง 13 ล้าน กล้องหน้า 5 ล้าน แต่การที่กล้องจะถ่ายภาพออกมาสวย ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านซอฟต์แวร์และระบบประมวลผลภาพด้วย ซึ่งเท่าที่ทดสอบมา ก็ใช้ได้ในระดับหนึ่งครับ สีภาพจะออกมาซีดๆ หน่อย การถ่ายในที่สภาพแสงไม่ค่อยดี สามารถทำออกมาได้โอเคเลย ถ้าคลิกดูจากแกลเลอรี่ตัวอย่างภาพถ่ายด้านล่าง แล้วลองไปดูภาพบัตร M Gen ที่อยู่ในตู้กระจก จะสังเกตได้ว่ายังคงเห็นรายละเอียดหน้าบัตรอยู่ แต่พอลองถ่ายด้วยกล้องของ LG G3 จะกลายเป็นว่ามืดไปทั้งใบ มองไม่เห็นหน้าบัตรเลย ส่วนหนึ่งก็ด้วยฮาร์ดแวร์กล้อง อย่างชุดเลนส์ f/2.0 เซ็นเซอร์รับภาพจาก Sony ทำให้สามารถถ่ายในที่มีแสงน้อยได้ดี แต่พอถ่ายในเวลากลางวัน กลายเป็นว่าบางจุดดูมืดเกินไป ดำจมไปบ้างก็มี

3

แอพกล้องที่ติดเครื่องมาก็มาพร้อมฟีเจอร์การปรับแต่งขั้นพื้นฐาน เช่น การปรับแต่ง exposure, white balance, ขนาดไฟล์ภาพ, ISO อีกทั้งยังสามารถเลือกโหมดการถ่ายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ค่อนข้างหลากหลาย สำหรับการเลือกโหมดสามารถทำได้ด้วยการเลื่อนนิ้วปาดหน้าจอขึ้น-ลงตามต้องการ ซึ่งเราสามารถเลือกโหมดที่จะเปิดพร้อมสำหรับการเลือกได้จาก option ของแอพ (กดที่ไอคอนรูปวงกลมที่อยู่ด้านข้างของแอพ) สำหรับการถ่ายวิดีโอก็รองรับได้ถึงระดับ 4K แต่จะมีให้เลือกย่อยลงไปอีกสองแบบคือ 4K DCI กับ 4K UHD ซึ่งจากที่ทางเรารีวิวมา ลองถ่ายวิดีโอในช็อตเดียวกัน ความยาว 1 นาทีเท่ากัน ได้ความแตกต่างออกมาดังนี้

Screen Shot 2014-07-24 at 2.27.08 PM

ซึ่งถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว 4K แท้จะต้องเป็นตามมาตรฐาน DCI ครับ คือให้ภาพออกมาขนาดตามมาตรฐานกลางจริงๆ แต่สำหรับการใช้งานจริงของผู้ใช้ทั่วไปจะค่อนข้างลำบาก เพราะต้องเปลี่ยนอัตราส่วนจอที่ใช้ในการผลิตไปเป็นอีกอัตราส่วน แทนที่ 16:9 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น 4K สำหรับการใช้งานทั่วไปจึงใช้แค่ระดับมาตรฐาน UHD เท่านั้น ซึ่งก็เพียงพอแล้ว ทั้งยังได้เฟรมเรตที่ไหลลื่นกว่าด้วย ปล่อยให้ 4K DCI อยู่แต่ในระดับโรงภาพยนตร์เท่านั้นก็เพียงพอ เพราะการรับชมภาพยนตร์ที่เฟรมเรต 24 fps จะดูสบายตากว่าที่เฟรมเรต 30 fps อยู่นิดนึง ส่วนการรับชมบนจอมอนิเตอร์ทั่วไปจะเหมาะกับเฟรมเรต 30 fps มากกว่า

ส่วนการถ่ายวิดีโอด้วย OnePlus One นั้น ถ้าอยากถ่าย 4K จริงๆ แนะนำว่าใช้ที่มาตรฐาน UHD ก็เพียงพอครับ แต่เอาจริงๆ แค่ Full HD (30 fps) ก็เหลือเฟือแล้ว

Performance

2

ประสิทธิภาพของ OnePlus One นับเป็นตัวชูโรงเลยทีเดียว เพราะมันสามารถทำคะแนนทั้งจากแอพทดสอบประสิทธิภาพ และทำคะแนนความพึงพอใจจากการใช้งานจริงได้อย่างยอดเยี่ยม ผลเทสก็แรง ใช้งานจริงก็ลื่น มองว่าเป็น Nexus ที่ผ่านการโม ผ่านการปรับแต่งมาแล้วก็ยังได้เลย เอาเป็นว่าใครอยากได้มือถือแรงๆ เล่นได้ทุกเกม ตอบสนองทันใจ ก็จัดหากันได้เลยกับ OnePlus One ตัวนี้ รับรองจะถูกใจครับ แต่จะเสียก็แค่เรื่องความจุ ที่ไม่สามารถใส่ MicroSD เพิ่มได้ ดังนั้นก็ต้องเลือกซื้อความจุให้เหมาะสมกับการใช้งานของตนเองตั้งแต่แรกเลย 16 GB พอก็ดีไป แต่ถ้าไม่พอ คงต้องยอมเพิ่มเงินแต่แรกเพื่อซื้อรุ่น 64 GB กันไปเลย เจ็บแต่จบนะ

เมื่อเปิดเครื่องใช้งาน ล็อกอินครั้งแรกจะเหลือพื้นที่รอมให้ใช้งานประมาณ 12 GB จากรอมทั้งหมด 16 GB?ส่วนเมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ ตามรูปแบบการใช้งานปกติทั่วๆ ไป พบว่าแรมจะเหลือว่างราวๆ 1.3 GB จากทั้งหมดในเครื่องที่ให้มา 3 GB?จัดว่าเหลือเฟือสบายๆ จะใช้งานอย่างไรก็คงไม่น่าจะหมดง่ายๆ ล่ะนะ

Screenshot_2014-07-19-19-19-47-576x1024

ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่?เรื่องนี้ OnePlus One สามารถทำได้ดี จากการใช้งานของผมตามในภาพด้านบน เริ่มจากแบตเตอรี่ประมาณ? 90 เปอร์เซ็นต์นิดๆ ใช้งานโซเชียลและฟังเพลงแทบทั้งวัน เปิดหน้าจอบ่อยมาก มีโหลดแอพหลายตัวด้วยในช่วงแรกๆ ทั้งผ่าน WiFi และผ่าน 3G/4G LTE (แต่กราฟ WiFi ในรูปมันแสดงผลผิดพลาดนะครับ เพราะตอนเดินทางแทบทั้งวัน ผมปิด WiFi แล้วใช้แต่ cellular อย่างเดียว) ถ่ายรูปประปราย เปิดหน้าเว็บอ่านข้อมูล รวมถึงเปิด GPS ด้วย ผลคือสามารถใช้งานได้ 8 ชั่วโมงกว่า โดยเหลือแบต 13% รับรองว่าถ้าแบตเต็มแต่แรก และไม่ได้ใช้งานโหดๆ คงอยู่เกินวันได้อย่างไม่มีปัญหา

ซึ่งการที่ทำให้ OnePlus One สามารถใช้งานได้ทั้งวันก็เนื่องมาจากทั้งแบตเตอรี่ที่ให้มาความจุสูง ก็ยังเป็นเรื่องของความละเอียดจอที่อยู่ในระดับ Full HD ที่นับว่ากำลังพอดีๆ กับการเป็นมือถือรุ่นท็อปในปัจจุบัน ทำให้ทุกอย่างมันลงตัว และผลคือใช้แบตได้นาน จอก็สวยคมในระดับพอดีๆ ตา เลยกลายเป็นว่าจอ 2K แทบเป็นสิ่งไม่จำเป็นไปเลย

Overall

Review-OnePlus-One-SpecPhone 003

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับรีวิว OnePlus One หนึ่งในสมาร์ทโฟนที่เป็นที่จับตามองที่สุด หาซื้อลำบากสุดในยุคนี้ น่าจะตรงใจหลายๆ คนกันไปแล้วถึงประเด็นที่หลายๆ ท่านอยากทราบ อยากรู้ว่ามันมีดียังไง ถ้าให้สรุปภาพรวมแล้ว OnePlus One เป็นมือถือที่ดีมากๆ คุ้มราคาสุดๆ เครื่องนึงเลยทีเดียว จะมีเสียก็แค่การหาซื้อที่แทบจะหาทั่วไปไม่ได้เลย หาได้ก็ไม่สะดวก เลยต้องใช้บริการตามร้านรับหิ้วมาขายแทน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราเองที่ต้องเสาะหาข้อมูลกันให้ดีๆ ครับ แถมเรียกว่าต้องวัดใจกันเลยด้วย ไหนจะเรื่องการเทสเครื่องก่อนซื้อที่ทำได้ยาก ยังมีเรื่องของการรับประกันที่เราไม่สามารถหาส่งศูนย์เองได้ ต้องคุยกับร้านรับหิ้วที่เราซื้อมาเอง เพราะต้องส่งเคลมที่จีนสถานเดียว เอาเป็นว่าใครที่ไม่ซีเรียสเรื่องนี้ก็หามาใช้งานกันได้เลย รับรองไม่ผิดหวังแน่ๆ ทั้งความแรง ความลื่น ดีไซน์ตัวเครื่องและราคาที่คุ้มสุดๆ กับราคาเกือบหมื่นกลางๆ แต่ได้สเปคเหยียบเครื่องราคา 20,000 อัพได้สบายๆ กับ OnePlus One ตัวนี้

ข้อดี

  • สเปคแรง ไหลลื่น รอม CM ทำออกมารีดประสิทธิภาพเครื่องได้ดี คุ้มมากๆ
  • ทุกอย่างอยู่ในจุดสมดุล ทั้ง CPU, แรม, หน้าจอ, แบตเตอรี่, กล้อง แถมยังใช้งาน 3G/4G LTE ได้อย่างไร้ปัญหา
  • งานประกอบดีเกินราคา อุปกรณ์เสริมที่ให้มาก็ดูพรีเมียมดี
  • ลำโพงเสียงดัง
  • รอม CM มีการอัพเดตเรื่อยๆ ไม่โดนลอยแพโดยเร็วแน่นอน อยู่ได้อย่างต่ำก็ 2 ปี สบายๆ
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน

ข้อสังเกต

  • จอสีอมเหลืองและดูซีดๆ ไปหน่อย รับสัมผัสตอนปิดจอไวเกินไปนิด
  • ยังมีบั๊กบ้างประปราย
  • เพิ่มเมม MicroSD ไม่ได้
  • เท่าที่ใช้งาน พบปัญหา Bluetooth หลุดบ่อย
  • ภาพจากกล้อง จัดอยู่ในระดับมาตรฐานเท่านั้น น่าจะออกมาได้ดีกว่านี้
  • ไฟปุ่มกดตัวเครื่องไม่สว่าง ดูจริงแทบไม่เห็น

เปรียบเทียบกับรุ่นอื่นๆ

Screen Shot 2014-07-24 at 3.23.15 PM

มาถึงการเปรียบเทียบ OnePlus One กับเครื่องรุ่นอื่นๆ ที่น่าสนใจกันบ้าง โดยผมขอยกเฉพาะรุ่นที่ราคาในช่วงหมื่นกว่าๆ ถึงหมื่นกลางๆ มาเทียบก็แล้วกัน ซึ่งช่วงราคานี้จัดว่าเป็นช่วงราคาที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ที่ต้องการมือถือสเปคแรงๆ ราคาคุ้ม จะมีตัวเก่าหน่อยก็ Lenovo Vibe Z กับ Nexus 5 ที่ยังจัดว่าน่าสนใจอยู่ ทั้งสองตัวนี้จะอุ่นใจได้ก็เรื่องของการรับประกัน และการหาซื้อในไทยที่ทำได้ง่ายกว่า OnePlus One อยู่มาก สเปคก็แรงเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไปแล้ว โดยเฉพาะ Nexus 5 ที่หายห่วงในเรื่องความไหลลื่น ทั้งยังได้รับการการันตีอีกด้วยว่าจะได้รับการอัพเดตไปอีกไม่ต่ำกว่าปีสองปีนับจากนี้

OPPO Find 7a นั้นก็มาพร้อมกับสเปคที่แทบจะเหมือนกับ OnePlus One เลย ต่างกันก็แค่ CPU, แรมและแบตเตอรี่ที่เหมือนเป็นการยกมาจาก Find 7 ที่เป็นรุ่นท็อปซะมากกว่า แต่เมื่อมองจากราคา ก็ต้องบอกว่า Find 7a ดูจะใกล้เคียงกับ OnePlus One มากกว่านิดนึง รายละเอียดจิปาถะยิบย่อยก็ใกล้เคียงกัน แต่ Find 7a จะได้เรื่องการหาซื้อที่ง่ายกว่า มีศูนย์บริการ และสามารถใส่ MicroSD ได้

ส่วนคู่ชกคู่สุดท้าย อันนี้ต้องบอกว่าสูสีกันมากๆ นั่นคือ OnePlus One กับ Xiaomi Mi4 ที่เพิ่งเปิดตัวไป และจะได้เริ่มวางขายก็ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ (กว่าจะเข้าไทย อย่างเร็วสุดก็ต้นเดือนสิงหาคม) ด้วยสเปคที่เทียบเท่ากันได้ในทุกๆ ด้าน แต่ OnePlus One จะได้เรื่องของหน้าจอที่ใหญ่กว่า ส่วน Mi4 นั้นจะได้เปรียบยิบย่อยหลายจุดครับ เช่นการที่สามารถถอดฝาหลังได้ (เสียที่ดันเพิ่มเมมไม่ได้) กล้องหน้าที่ละเอียดกว่า จอก็น่าจะสีสันสวยกว่า?ส่วนเรื่องของราคา อันนี้ล่ะครับที่ต้องมาวัดกันอีกทีว่าราคา Xiaomi Mi4 เครื่องหิ้วในไทยจะออกมาที่เท่าไร แต่ดูแล้ว ก็คงน่าจะใกล้เคียงกับ OnePlus One นี่ล่ะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก