[Review] Nokia 3310 3G รุ่นปี 2017 พร้อม 5 เหตุผลที่ทำไมถึงน่าซื้อ

นับตั้งแต่มีข่าวว่าสัญญาความร่วมมือในด้านฮาร์ดแวร์ระหว่างโนเกียและไมโครซอฟต์ใกล้จะสิ้นสุด พร้อมๆ กับสถานการณ์ของระบบปฏิบัติการ Windows Phone ที่มีส่วนแบ่งในตลาดน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้เป็นที่น่าจับตามองว่าอนาคตของโนเกียที่ไร้เงาไมโครซอฟต์จะเป็นอย่างไร ซึ่งผลที่ออกมาก็ทำให้แฟนๆ โนเกียดูมีความหวังขึ้นมาไม่น้อยทีเดียว ด้วยการกลับมาของกลุ่มผู้บริหารโนเกียเก่า ที่มาในนามของบริษัท HMD Global ซึ่งกลับเข้ามาบริหารงานโนเกีย โดยตั้งเป้าว่าจะกลับมาในตลาดสมาร์ทโฟนอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำตามความเรียกร้องของตลาดไปด้วยเช่นกัน กับการปลุกชีวิตมือถือรุ่นที่เป็นอมตะที่สุดของโนเกีย นั่นคือ Nokia 3310 ขึ้นมาอีกครั้งนั่นเอง

โดยการปลุก Nokia 3310 ขึ้นมาในครั้งนี้ นับว่าได้กระแสความสนใจของทั้งโลกไม่น้อยทีเดียว นับตั้งแต่งานเปิดตัวที่โนเกียเองเลือกเอาไว้เปิดตัวเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งนั่นหมายถึงว่ามันคือหนึ่งในไฮไลท์ที่สุดของงาน พอหลังงานจบ ก็มีผู้คนอยากทราบข้อมูลว่า Nokia 3310 รุ่นปี 2017 นี้จะวางขายเมื่อไหร่ จะราคาเท่าใด และจะทำอะไรได้บ้าง จะติดอย่างเดียวก็คือตอนที่เปิดตัวในงาน Nokia 3310 ในงาน MWC 2017 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น มันรองรับแค่เครือข่าย 2G เท่านั้น ทำให้คนมองว่ามันคงเป็นแค่มือถือรุ่นทำมาเพื่อสะสมเป็นหลักซะมากกว่า

แต่ตอนนี้ เจ้า Nokia 3310 รุ่นปี 2017 ได้เริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทยแล้วครับ ที่น่าสนใจคือมันรองรับการเชื่อมต่อเครือข่าย 3G ด้วย ทำให้สามารถใช้งานในไทยได้อยู่ ทางเราก็ไม่พลาด จับมารีวิวให้ทุกท่านชมกันเลยว่า Nokia 3310 3G รุ่นปี 2017 นี้เป็นยังไง ทำอะไรได้บ้าง แต่ในการรีวิวก็จะแตกต่างไปจากรีวิวสมาร์ทโฟนปกติซักหน่อยนะครับ เพราะเจ้านี่คือฟีเจอร์โฟนเท่านั้นเอง ก่อนอื่น มาดูสเปคก่อนแล้วกัน

สเปค Nokia 3310 3G รุ่นปี 2017

  • หน้าจอสีขนาด 2.4 นิ้ว ความละเอียดระดับ QVGA (240 x 320) กระจกโค้ง เคลือบสารที่ทำให้ใช้งานจอกลางแจ้งได้
  • ระบบปฏิบัติการ Feature OS ของ Nokia เอง รองรับการติดตั้งแอปจาว่าเพิ่มได้
  • แบตเตอรี่ BL-4UL ความจุ 1200 mAh สแตนด์บายได้นานสุด 27 วัน คุยโทรศัพท์ติดต่อกันได้นานสุด 6.5 ชั่วโมง ฟังเพลง MP3 ติดต่อกันได้นานสุด 40 ชั่วโมง
  • หน่วยความจำภายใน 32 MB
  • รองรับ MicroSD สูงสุด 32 GB
  • กล้องหลัง fixed-focus ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล ถ่ายวิดีโอได้ พร้อมแฟลช LED ที่ใช้เป็นไฟฉายได้
  • ปุ่มกดพร้อมไฟที่ปุ่ม มีสกรีนภาษาไทยมาให้ รองรับระบบช่วยสะกดคำไทย T9
  • ปุ่มควบคุม navigation 4 ทิศทาง
  • ใช้ซิมแบบไมโครซิม (รุ่นที่ขายในไทยใส่ได้ซิมเดียว)
  • รองรับ 3G/2G ทุกเครือข่ายในไทย เล่นอินเตอร์เน็ตผ่าน 3G ได้ ส่ง SMS/MMS ได้
  • มีระบบบล็อกเบอร์โทรที่ไม่ต้องการ
  • Bluetooth 2.1
  • มีวิทยุ FM และฟังเพลง MP3 ได้ มีลำโพงในตัว
  • เสียงเรียกเข้าแบบทรูโทน สามารถนำเพลงในเครื่องมาทำริงโทนได้
  • มีช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
  • ชาร์จไฟผ่านช่อง Micro USB
  • มีให้เลือก 4 สี ถอดเปลี่ยนหน้ากากไม่ได้
  • เปลี่ยนภาพพื้นหลังได้
  • น้ำหนักเครื่องประมาณ 85 กรัม
  • ราคา 1,790 บาท

ถ้าดูสเปคก็น่าจะทำให้หลายท่านนึกถึงตอนเลือกซื้อฟีเจอร์โฟนในยุคก่อนที่สมาร์ทโฟนจะเกิดเต็มตัวกันบ้างแน่ๆ ซึ่งก็นับว่าเป็นการนำบอดี้ของฟีเจอร์โฟนมาใส่ฟังก์ชันพื้นฐานที่สามารถใช้งานเป็นมือถือในยุคปัจจุบันได้นั่นเองครับ เพราะหน้าตาก็ไม่ได้เหมือนกับ Nokia 3310 รุ่นในตำนานซะทีเดียว ซึ่งส่วนตัวผมเองที่ซื้อ Nokia 3310 3G เครื่องนี้มาก็เพราะว่าต้องการเอามาเป็นมือถือที่ใส่ซิมสำรองไว้ เนื่องจากมันสามารถสแตนด์บายได้นาน ทำให้แทบไม่ต้องกังวลเรื่องการชาร์จแบตมากนัก ฟังก์ชันพื้นฐานก็ค่อนข้างครบ ที่จะใช้เป็นหลักเลยก็แค่ไว้เผื่อกดรหัสส่วนลดต่างๆ รับ SMS หรือใช้คุยโทรศัพท์บ้างบางครั้งเท่านั้นเอง บวกกับความเป็นแบรนด์โนเกียที่ยังคงความน่าเชื่อถือที่ดีอยู่ ซึ่งถ้าใครต้องการมือถือที่ทำงานพื้นฐานได้ราวๆ นี้ Nokia 3310 3G รุ่นปี 2017 อาจจะตอบโจทย์ก็ได้นะครับ

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171014-90

ข้อดี

– ให้ความรู้สึกถึงมือถือแบบฟีเจอร์โฟนที่คุ้นเคย ด้วยคุณภาพในระดับของโนเกีย
– แบตเตอรี่อึด แสตนด์บายและใช้งานได้หลายวัน
– ให้ฟังก์ชันมาอยู่ในระดับที่ใช้เป็นเครื่องสำรองได้ไม่แพ้สมาร์ทโฟนราคาย่อมเยา
– ฝาหลังแข็งแรง งานประกอบตัวเครื่องโดยรวมทำได้ดี เครื่องเล็กกะทัดรัด
– มีเกมงู และสามารถลงเกมจาว่าเก่าๆ เพื่อเล่นให้หายคิดถึงได้
– สามารถเลือกภาษาเมนูได้หลากหลาย
– สามารถใช้งานกับเครือข่าย 3G ในไทยได้ทุกค่าย

ข้อสังเกต

– ตัวเครื่องขนาดเล็กกว่าโนเกีย 3310 จริงพอสมควร แต่ก็กะทัดรัด พกเป็นเครื่องสำรองได้ดี
– รุ่นที่ขายในไทยอย่างเป็นทางการ เป็นรุ่นซิมเดียว รองรับการเชื่อมต่อ 3G/2G เท่านั้น
– ไม่มีฟังก์ชันแต่งเสียงริงโทนมาให้
– กล้องถ่ายรูป ให้ภาพไม่ค่อยคมชัดเท่าที่ควร
– ถ้าจะพิมพ์ไทยแบบไม่ใช่ฟังก์ชันช่วยสะกดคำ ต้องใช้เมนูเครื่องเป็นภาษาไทยเท่านั้น
– สามารถเล่น Facebook Twitter เปิดเว็บได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้เท่าไหร่
– ราคาจัดว่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นราคาประหยัดในตลาด

บทสรุป

การที่โนเกียกลับมาในตลาดในนามของตนเองรอบนี้ นอกเหนือจากการใช้สมาร์ทโฟนเป็นหลักแล้ว ก็ยังเอาใจแฟนๆ โนเกียตัวจริงด้วยการส่ง Nokia 3310 รุ่นปี 2017 มาวางจำหน่าย ซึ่งรุ่นที่มาขายในไทยก็สมกับการรอคอยของผู้ใช้งานชาวไทย ด้วยความสามารถรองรับการเชื่อมต่อเครือข่าย 3G/2G ที่ยังคงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทยอยู่ รวมถึงยังมีการเสริมฟังก์ชันในเครื่องให้เข้ากับการใช้งานมือถือของผู้ใช้ในยุคปัจจุบันอีกด้วย เช่น กล้องหลัง การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต การเชื่อมต่อ Bluetooth เป็นต้น นอกจากนี้ยังคงไว้ซึ่งคุณลักษณะที่เคยเป็นจุดเด่นของมือถือโนเกีย ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน เมนูการทำงานต่างๆ ที่คุ้นเคย ควบคู่กับความเรียบง่ายในการใช้งาน ทำให้ Nokia 3310 3G รุ่นปี 2017 นี้ เหมาะที่จะเป็นหนึ่งในมือถือเครื่องสำรอง หรือเป็นเครื่องที่ใส่เบอร์ไว้สำหรับการโทรศัพท์โดยเฉพาะได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
Editor : ZeroSystem
80
BEST CLASSIC

Design

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171014-79

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171014-81

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171014-82

เมื่อสัมผัสเครื่องครั้งแรก สำหรับคนที่เคยชินกับสมาร์ทโฟนยุคปัจจุบันซะแล้ว ก็จะรู้สึกว่า Nokia 3310 3G 2017 เป็นมือถือทรงบาร์ที่มีขนาดเล็กมากๆ อย่างในภาพด้านขวาที่ตัวเครื่องมีขนาดเล็กกว่าฝ่ามือเสียอีก แถมเล็กกว่า 3310 รุ่นแรกซะอีกด้วย ทำให้เจ้ารุ่นปี 2017 นี้เหมาะกับคนที่ต้องการมือถือเครื่องที่สองสำหรับเป็นเครื่องสำรองมากๆ เพราะตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัด สามารถโยนใส่กระเป๋า หรือโยนใส่ช่องเก็บของในรถได้อย่างง่ายดาย

โดยเลย์เอาท์ด้านหน้าของ Nokia 3310 รุ่นปี 2017 ก็จะแบ่งออกหยาบๆ เป็นสองส่วน ส่วนบนคือหน้าจอสีขนาด 2.4 นิ้ว (ไม่ใช่จอสัมผัสนะครับ อย่าลืม!) โดยจะมีกระจกโค้งครอบหน้าจออยู่ภายนอก ตัวจอเองอยู่ลึกเข้าไปอีก แถบบนสุดจะเป็นแถบแสดงสถานะพื้นฐาน เช่นปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ ขีดสัญญาณที่จับได้ การปิดเสียงเปิดสั่น รวมถึงไอคอน Bluetooth (ถ้าเปิดใช้งานอยู่) ถัดลงมาก็จะเป็นนาฬิกาซึ่งมีบอกวัน วันที่อย่างครบถ้วน ส่วนชื่อเครือข่ายที่ใช้งานจะอยู่ถัดลงมาอีก สำหรับแถบล่างสุดก็เป็นช็อตคัตสำหรับใช้งานฟังก์ชัน โดยค่าพื้นฐานนั้น ถ้ากดปุ่มซ้ายก็จะเปิดดูสมุดรายชื่อ ปุ่มขวาจะเป็นกล้องถ่ายรูป ซึ่งทั้งสองปุ่มสามารถตั้งค่าเป็นฟังก์ชันอื่นได้ตามสะดวก

การปลดล็อกหน้าจอ จะใช้แบบมือถือโนเกียสมัยก่อนเลยครับ คือต้องกดปุ่มกลาง (ที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมุมมน) 1 ครั้ง จากนั้นก็กดปุ่มดอกจัน (*) เพื่อปลดล็อก

ครึ่งล่างเป็นส่วนปุ่มกด ปุ่มควบคุมการทำงานทั้งหมด ซึ่งก็จะให้อารมณ์ของมือถือแบบปุ่มกดมากๆ ไล่จากแถบปุ่มในกรอบสีขาว ฝั่งซ้ายเป็นปุ่มกดเลือกทางซ้ายที่อยู่คู่กับปุ่มโทรออก/รับสาย ตรงกลางคือปุ่มเลือกตรงกลาง ซึ่งมีปุ่มทิศทาง navigation 4 ทิศล้อมรอบอยู่ ส่วนฝั่งขวาก็เป็นปุ่มเลือกทางขวาที่อยู่คู่กับปุ่มวางสาย/ยกเลิก

ส่วนตรงแผงปุ่มตัวเลข แต่ละปุ่มแยกกันอย่างชัดเจน แม้ว่าปุ่มจะมีขนาดเล็กไปซักหน่อย แต่ก็สามารถกดได้แบบไม่ผิดพลาด เนื่องจากมีพื้นที่ว่างระหว่างแต่ละปุ่ม รวมถึงตัวปุ่มมีลักษณะนูนขึ้นมา และมีจุดนูนเล็กๆ ตรงปุ่มเล็ก 5 ด้วย ทำให้สามารถคลำหาปุ่มที่ต้องการได้ง่าย ที่ปุ่มมีการสกรีนพยัญชนะและสระภาษาไทยมาให้ครบถ้วน การพิมพ์ก็จะใช้เป็นการกดย้ำๆ ไปยังแต่ละปุ่มที่ตัวมีตัวอักษรนั้นอยู่ เท่ากับว่าอย่างน้อยผู้ใช้ก็ต้องพอจำได้ว่าตัวอักษรที่ต้องการมันอยู่ในช่วงของปุ่มใดบ้าง หรือจะใช้การสะกดคำ T9 ที่มีมาในเครื่องก็ได้เช่นกัน

แต่เรื่องการพิมพ์ข้อความ หากต้องการพิมพ์ข้อความภาษาไทยแบบไม่ใช้ระบบ T9 (พิมพ์แบบกดย้ำๆ ที่ปุ่ม) อันนี้จำเป็นต้องปรับเมนูในเครื่องให้เป็นภาษาไทยด้วยนะครับ อย่างผมที่ใช้เมนูภาษาอังกฤษแล้วต้องการพิมพ์ภาษาไทย ก็กลายเป็นว่าต้องใช้ผ่านระบบสะกดคำ T9 ซะอย่างนั้น ไม่สามารถเพิ่มคีย์บอร์ดไทยได้เหมือน Android หรือ iOS

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171014-75

จอสีของ Nokia 3310 3G รุ่นปี 2017 นี้ให้ความละเอียดมาเพียง 240 x 320 ซึ่งก็จัดว่าอยู่ในระดับที่โอเคสำหรับฟีเจอร์โฟนแบบมือถือปุ่มกดสมัยก่อน สามารถปรับระดับความสว่างได้ ซึ่งก็พอจะใช้งานกลางแจ้งได้ มุมมองจอไม่กว้างมากนัก สีสันก็สดใสพอประมาณ มีดีที่ตัวอักษรชัดเจน เพราะใช้สีตัวอักษรเป็นสีขาวทั้งหมด ตัดกับพื้นหลังสีดำได้ดีมาก

สำหรับปุ่มกดก็จะมีคีย์ลัดอยู่นิดหน่อย คือถ้าเปิดหน้าจออยู่แล้วกดปุ่มดอกจันข้างไว้ ก็จะเป็นการล็อกหน้าจอไปเลย ส่วนถ้ากดปุ่ม # ค้างไว้ก็จะเป็นการเรียกหน้าจอปรับค่าแบบด่วนขึ้นมา ซึ่งสามารถปรับระดับความสว่างหน้าจอ (เครื่องไม่มีระบบปรับแสงหน้าจออัตโนมัติ), ระดับเสียง, เปิด/ปิด Bluetooth, เปิด/ปิดอินเตอร์เน็ต 3G และตัวเลือกระบบเดาคำอัตโนมัติ

เรื่องการใช้งานฟังก์ชันพื้นฐานก็ไม่ต้องห่วงครับ ใช้คุยโทรศัพท์ได้เป็นอย่างดี เสียงดังฟังชัด

มือถือมีไฟปุ่มกด มีกล้องถ่ายรูป

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171015-102

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171014-85

ด้านหลังของ Nokia 3310 3G รุ่นปี 2017 ก็จะเป็นฝาหลังพลาสติกที่สามารถแกะออกมาได้ครับ มีส่วนสำคัญได้แก่ ไฟแฟลช LED ลงมาเป็นกล้องหลังราบไปกับพื้นผิว จากนั้นก็เป็นโลโก้ Nokia ที่ฝังลึกในเนื้อฝาหลัง ส่วนด้านล่างสุดเป็นช่องตะแกรงลำโพง ให้เสียงดังเกินตัวมากๆ

ถ้าดูเลย์เอาท์ด้านหลังดีๆ จะพบว่ามันแตกต่างไปจากโมเดล 2G ที่โนเกียเปิดตัวเมื่อต้นปีหลายจุดทีเดียว ได้แก่ตำแหน่งของไฟแฟลชที่ย้ายจากด้านซ้ายของกล้องมาอยู่ด้านบน รวมถึงลำโพงที่จากเดิมอยู่ด้านบน กลายมาเป็นว่าอยู่ด้านล่างเครื่องแทน ดังนั้นหากจะสั่งซื้อเคสจากเว็บไซต์ก็ต้องดูดีๆ นะครับว่าช่องต่างๆ ของเคสมันพอดีกับเครื่องในมือหรือเปล่า อย่างที่ผมลองหาในเว็บไซต์ Aliexpress คือยังไม่เจอเคสสำหรับโมเดล 3G (TA-1036) เลย ทำให้ใครที่ซื้อ Nokia 3310 3G ตอนนี้อาจจะต้องใช้แบบไม่ใส่เคสกันไปก่อน

ผิวสัมผัสของฝาหลังและตัวเครื่องโดยรวม (ส่วนที่เป็นสีดำ) ก็เป็นพลาสติกที่ทำพื้นผิวให้มีความเนียน มีความสากเล็กน้อย ไม่สะท้อนแสง ดูเหมือนว่าจะมีการเคลือบสารลดรอยนิ้วมือมาด้วย ทำให้บำรุงรักษา ทำความสะอาดได้ง่าย แต่อาจจะไม่ทนกับการขีดข่วนแรงๆ มากนัก

พอแกะฝาหลังออกมา สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจเลยก็คือความหนาของแผ่นฝาหลัง เพราะมันหนาและแข็งแรงมาก งอได้แค่เล็กน้อยเท่านั้น สมเป็นทายาทของ Nokia 3310 รุ่นต้นตำรับซะจริงๆ เสียดายก็แต่ไม่สามารถถอดเปลี่ยนหน้ากากได้ เปลี่ยนได้แต่ฝาหลังเท่านั้น

ภายในก็จะพบกับแบตเตอรี่ BL-4UL ความจุ 1200 mAh ซึ่งเป็นแบตรุ่นเดียวกันกับมือถือโนเกียรุ่นเก่าอย่าง Asha 225 เท่ากับว่าก็น่าจะพอซื้อหาแบตเตอรี่สำรองได้อยู่ สำหรับช่องใส่ไมโครซิมและการ์ด MicroSD จะอยู่ฝั่งบนขวาของแบตเตอรี่ ดังนั้นถ้าหากจะถอดแบตหรือถอดเมม ก็จำเป็นที่จะต้องถอดแบตเตอรี่ออกมาด้วยครับ โดย Nokia 3310 3G รุ่นในไทยจะรองรับแค่ซิมเดียว

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171015-107

Nokia 3310 3G รุ่นปี 2017 จะมีช่องเชื่อมต่อแค่ 2 ช่องเท่านั้น คือช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรและช่อง Micro USB สำหรับเสียบสายชาร์จ และสายซิงค์กับคอมพิวเตอร์ โดยทั้งสองช่องจะรวมอยู่ด้านบนของเครื่องแต่เพียงฝั่งเดียวเลย ส่วนภายด้านบนก็เป็นการเทียบความหนาของเครื่องระหว่าง Nokia 3310 3G 2017 กับสมาร์ทโฟนในยุคปัจจุบันครับ ซึ่งทำให้เห็นรูปร่างของ 3310 ได้ชัดเจนมากขึ้นว่ามันได้รับการออกแบบให้มีความป่องของตรงกลางตัวเครื่องเล็กน้อย ทำให้เวลาจับจะค่อนข้างกระชับในอุ้งมือได้ดีทีเดียว
กล่องของ Nokia 3310 3G ก็มาในขนาดกะทัดรัด มีตัวเครื่องวางเด่นอยู่ภายใต้ฝาครอบที่เป็นพลาสติกใส ด้านหลังกล่องมีบอกคุณสมบัติไว้ชัดเจนว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น กล้องหลัง 2 ล้านพิกเซล มีเกมงูมาในเครื่อง แบตใช้ได้นานเท่าไหร่ เป็นต้น เมื่อเปิดกล่องเอาตัวเครื่องออกมา ก็จะพบกับอุปกรณ์ที่แถมมาในกล่อง ได้แก่ เอกสารคู่มือการใช้งานเบื้องต้น หูฟังสมอลล์ทอล์ค (ใช่ครับ ถึงราคาแค่นี้ แต่ก็มีหูฟังมาด้วย!) และก็อะแดปเตอร์ชาร์จไฟที่สายถูกติดมากับอะแดปเตอร์เลย เรียกว่าให้อารมณ์ฟีเจอร์โฟนยุคก่อนเลยจริงๆ จะเปลี่ยนก็แค่หัวชาร์จเป็นหัว Micro USB แบบสมัยใหม่เท่านั้นเอง สำหรับอะแดปเตอร์ที่ให้มา สามารถจ่ายไฟได้ 5V 0.55A เท่านั้น แต่สามารถใช้อะแดปเตอร์และสาย Micro USB อื่นๆ ชาร์จได้เช่นกัน

 

ด้านล่างนี้ก็เป็นภาพเพิ่มเติมของ Nokia 3310 3G 2017 อีกนิดหน่อยครับ

Software

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171014-50

ฝั่งซอฟต์แวร์ในเครื่องก็ตามสไตล์ฟีเจอร์โฟน คือเป็นระบบปฏิบัติการของโนเกียเองที่ฝังมาในเครื่องเลย โดยใช้ชื่อเรียกว่า Feature OS ที่ครอบมาด้วยอินเตอร์เฟสหน้าตาแบบเรโทรย้อนยุคเล็กน้อย เน้นการใช้ไอคอนที่ดูง่ายสบายตา ส่วนแอปที่ติดมาในเครื่อง เดี๋ยวจะมีบอกอย่างละเอียดในหัวข้อฟีเจอร์นะครับ1

และถึงแม้จะเป็นฟีเจอร์โฟนที่ไม่ได้ใช้ระบบปฏิบัติการแบบสมาร์ทโฟนสมัยใหม่ก็ตาม แต่มันก็มาพร้อมความสามารถในการติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติมได้บ้างเล็กน้อย โดยเป็นการติดตั้งโปรแกรม/เกมที่เป็นแบบจาว่าเหมือนกับสมัยระบบปฏิบัติการซิมเบี้ยน (Symbian) เลยทีเดียว สำหรับการโหลดและติดตั้งแอปพลิเคชันก็มี 2 วิธีด้วยกัน คือ

  • ติดตั้งจากเมนู Mobile Store ในเครื่อง ซึ่งก็คือหน้าเว็บเบราเซอร์ที่ลิ้งค์ไปยังเว็บรวมไฟล์แอป/เกมจาว่านั่นเอง
  • ดาวน์โหลดจากคอมพิวเตอร์หรือจากอุปกรณ์อื่นๆ แล้วย้ายไฟล์ .jad ที่โหลดมาลงมาใน 3310 จากนั้นก็กดแอป File เพื่อค้นหาไฟล์ดังกล่าว แล้วกดติดตั้งเอง

สำหรับการดาวน์โหลดแอปมาลงเองนั้น ก็ต้องทำใจหน่อยนะครับ เนื่องจากแพลตฟอร์มของแอป/เกมจาว่านั้น แทบจะไม่มีคนพัฒนาขึ้นใหม่มานานแล้ว จึงทำให้แอป/เกมที่ยังเหลือให้ดาวน์โหลดนั้นจะค่อนข้างเก่ามากๆ อย่างเกมที่ผมเจอและคนน่าจะรู้จักกันเยอะหน่อยก็ซีรีส์ Assassin’s Creed ที่มีภาคล่าสุดแค่ภาค 3 เท่านั้น ก็มองว่าเรื่องการลงแอป/เกมจาว่านี้เป็นฟังก์ชันแถมไปก็แล้วกัน ยังดีที่สามารถเลือกติดตั้งลงใน MicroSD ได้ เนื่องจากพื้นที่เก็บข้อมูลของ Nokia 3310 3G เครื่องขายจริงนั้นให้มาแค่ 32 MB เท่านั้นเอง

แกลเลอรี่ด้านบนก็เป็นตัวอย่างฟังก์ชันพื้นฐานที่น่าสนใจครับ ภาพแรกคือหน้าจอปรับตั้งค่าเครื่องแบบเร็ว สามารถเรียกขึ้นมาจากหน้าจอใดก็ได้ด้วยการกดปุ่ม # ค้างไว้ ภาพที่สองเป็นหน้าตาระบบตัวช่วยสะกดคำซึ่งต้องเลือกเปิดใช้งานก่อน ส่วนภาพที่สามก็เป็นการพิมพ์ข้อความแบบธรรมดา

Feature

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171014-2

ส่วนของการรีวิวฟีเจอร์ Nokia 3310 3G 2017 นั้น จะเป็นภาพถ่ายหน้าจอเมนูและแอปต่างๆ ที่มีในเครื่องเกือบทั้งหมดนะครับ เนื่องจากหลายท่านน่าจะคุ้นเคยกับ iOS และ Android กันไปแล้ว ผมเลยเก็บภาพหน้าจอต่างๆ มาให้ชมกันเลยว่ามือถือโนเกียเครื่องนี้ทำอะไรได้บ้าง สำหรับในภาพด้านบนนี้คือหน้าจอหลักของเครื่อง

แกลเลอรี่ด้านบนคือหน้ารวมไอคอนของฟังก์ชันและแอปต่างๆ ที่ติดตั้งในเครื่อง ไล่ตามภาพ ตามแถวดังนี้

ภาพที่ 1

  • ประวัติการโทร / รายชื่อผู้ติดต่อ / แกลเลอรี่ภาพถ่าย
  • เว็บเบราเซอร์ / ข้อความ SMS และ MMS / เกมงู
  • Mobile Store สำหรับดาวน์โหลดแอป / กล้องถ่ายรูป / Facebook

ภาพที่ 2

  • แอปฟังเพลง / Twitter / วิทยุ FM
  • แอปเล่นวิดีโอ / เมนูการตั้งค่าเครื่อง / นาฬิกาปลุก
  • ปฏิทิน / เครื่องคิดเลข / เมนู Extras

ภาพที่ 3

  • แอป Files สำหรับดูไฟล์ในเครื่อง / แอปบันทึกเสียง / แอป Counters สำหรับดูยอดการใช้อินเตอร์เน็ต 3G
  • ไฟฉาย
  • ส่วนไอคอนอื่นๆ คือช็อตคัตของเกมที่ติดตั้งมาในเครื่อง ถ้าต้องการเล่น ต้องดาวน์โหลดไฟล์เพิ่มเติมจาก Mobile Store ก่อน

หน้าจอของหน้าประวัติการโทร และการแสดงรายชื่อผู้ติดต่อ ซึ่งสามารถแสดงภาษาไทยได้แบบไม่มีปัญหา

สำหรับแอปแกลเลอรี่ นอกจากสามารถเรียกดูภาพถ่ายได้แล้ว ยังสามารถตั้งภาพที่ต้องการให้เป็นภาพพื้นหลังได้ รวมถึงสามารถแต่งภาพ เช่น ปรับความสว่าง ปรับสีสัน ใส่ฟิลเตอร์ได้ในเครื่อง รวมถึงสามารถแชร์ไฟล์ภาพผ่าน MMS และ Bluetooth ได้อีกต่างหาก

แกลเลอรี่ด้านบนก็เป็นตัวอย่างภาพหน้าเว็บ SpecPhone ที่แสดงในเว็บเบราเซอร์ Opera ที่ติดมาในเครื่อง ก็พบว่าพออ่านเนื้อหาได้อยู่บ้าง แต่ต้องใช้เวลาในการโหลดและประมวลผลหน้าเว็บซักหน่อย ส่วนภาพที่สองและสามก็เป็นหน้าจอแสดง SMS ครับ

ถัดมาก็พบกับเกมในตำนานอย่างเกมงู (Snake) ที่มีมาให้ในเครื่องเลย แต่ตัวเกมก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเวอร์ชันเดิมในโนเกีย 3310 รุ่นคลาสสิกมากทีเดียว ทั้งภาพที่กลายเป็นภาพสี และระบบการเล่นก็มีความแตกต่างกัน การบังคับใช้เพียงแค่ปุ่มเลข 4 เพื่อให้งูเคลื่อนที่ไปทางซ้าย และปุ่มเลข 6 เพื่อให้งูเคลื่อนที่ไปทางขวา แต่เรื่องของความสนุกและความท้าทายก็ยังมาเต็มเหมือนเดิม (สามารถปรับเปลี่ยนปุ่มที่ใช้ในการควบคุมได้ ขอขอบคุณ คุณ  Panupong Yiemyongwon สำหรับข้อมูลด้วยครับ)

ส่วนภาพที่สามก็เป็นหน้าของ Mobile Store ที่เป็นแหล่งรวมแอปให้ดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้ ซึ่งการทำงานมันก็ไม่ซับซ้อนครับ มันคือการเปิดเว็บเบราเซอร์ในเครื่อง แล้วระบบจะเปิดเว็บที่รวมแอปจาว่าให้เอง ผู้ใช้ก็เลือกแอป/เกมที่ต้องการ แล้วกดดาวน์โหลดเพื่อโหลดและติดตั้งได้เลย (ต้องต่ออินเตอร์เน็ต 3G ด้วยเท่านั้น)

ต่อมาก็คือหน้าจอของแอปกล้องถ่ายรูปในเครื่อง เมนูเรียบง่าย การใช้งานก็ง่ายเช่นกัน วิธีกดถ่ายก็คือกดปุ่มสี่เหลี่ยมตรงกลางปุ่มเดียวจบ พอกดถ่ายแล้ว ก็ต้องรอให้ระบบประมวลผลภาพซักเล็กน้อย จึงจะสามารถถ่ายภาพต่อไปได้

สำหรับโหมดกล้องก็มีด้วยกัน 3 โหมด ได้แก่โหมดถ่ายภาพปกติ โหมดถ่ายภาพแบบนับถอยหลัง (น่าจะเผื่อไว้ถ่ายเซลฟี่ด้วยกล้องหลัง) และก็โหมดถ่ายวิดีโอ ส่วนเมนูการตั้งค่าของกล้องก็มีลูกเล่นอีกนิดหน่อยครับ เช่น การเปิด/ปิดแฟลช การใส่เอฟเฟ็คท์ภาพก่อนถ่าย รวมถึงการตั้งค่าพื้นฐาน เช่น ความสว่าง white balance เป็นต้น



แกลเลอรี่ด้านบนก็จะมีรวมมาหลายแอปหน่อยนะครับ เริ่มจาก Facebook ซึ่งสามารถใช้งานได้จริงๆ หลักการของมันก็คือการเปิดเว็บเบราเซอร์ในเครื่องขึ้นมา แล้วเข้าไปที่เว็บไซต์ Facebook นั่นเอง ทำให้หน้าตาของมันก็คือ Facebook แบบหน้าเว็บ สามารถอ่านโพสต์ ดูรูป อัพรูป อัพสเตตัสได้ (แต่ไม่มีบอกนะว่าโพสจาก 3310) ส่วนของ Twitter ก็ใช้หลักการเดียวกันครับ คือเป็นแบบผ่านหน้าเว็บไซต์เลย เวลาจะเลือกหรือกดอะไร ก็ต้องใช้ปุ่มทิศทางในการเลื่อนเคอร์เซอร์ที่เป็นกรอบรอบบริเวณที่สามารถกดได้ไปเรื่อยๆๆๆ จนกว่าจะถึงจุดที่ต้องการ จากนั้นก็กดปุ่มตรงกลางเพื่อเลือก

ภาพที่สี่คือหน้าจอของแอปฟังเพลง มีฟังก์ชันพื้นฐานทั้งพวกเล่นเพลงซ้ำ สุ่มเพลงตามปกติ ต่อมาคือภาพของแอปฟังวิทยุ FM ซึ่งต้องเสียบสายหูฟังด้วย จึงจะรับคลื่นได้ สุดท้ายก็คือหน้าของแอปดูวิดีโอครับ




ชุดต่อมาก็คือพวกแอปอำนวยความสะดวกให้กับการใช้งานเครื่อง เช่น นาฬิกาปลุก ปฏิทินซึ่งสามารถเพิ่มข้อมูลนัดหมายได้เหมือนกับในสมาร์ทโฟน เครื่องคิดเลข ตัวช่วยแปลงหน่วย นาฬิกาจับเวลา นาฬิกานับถอยหลัง ตัวเรียกดูไฟล์ในเครื่องและ MicroSD แอปบันทึกเสียง แอปเรียกดูสรุปปริมาณอินเตอร์เน็ต 3G ที่ใช้ไป รวมถึงไฟฉายซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งจากไฟแฟลชด้านหลัง และการเปิดหน้าจอให้เป็นสีขาว

ส่วนของเมนูการตั้งค่าต่างๆ ในเครื่องจะใช้เป็นตัวอักษรล้วนๆ ไม่มีไอคอนเลย ซึ่งก็สามารถปรับแต่งการทำงานได้หลากหลาย ทั้งเรื่องการโทรออก การบล็อคเบอร์ที่ไม่ต้องการ ความสว่างหน้าจอ ระยะเวลาที่จะให้จอปิดไปเองหลังไม่ได้ใช้งานเครื่อง เป็นต้น

ต่อมาก็เป็นเมนูการตั้งค่าเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ เช่น โหมดเครื่องบิน การตั้งค่าการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Bluetooth ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับมือถือ หูฟัง ลำโพงรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่มี Bluetooth ได้สบายๆ ส่วนเรื่องการเชื่อมต่อเครือข่ายก็สามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้จับสัญญาณ 3G หรือ 2G ได้

การปรับแต่งสีสัน เมนู และการแสดงผลอื่นๆ ก็มีหลากหลาย เช่น ข้อความต้อนรับเมื่อเปิดเครื่อง ซึ่งไม่มีแล้วในยุคของสมาร์ทโฟน การปรับเสียงริงโทนที่มีเสียงริงโทนโนเกียที่คุ้นเคยมาให้ด้วย รวมถึงยังมีการเปลี่ยนภาพพื้นหลัง ปรับสีธีมในเครื่อง ตั้งค่าปุ่มโทรด่วนให้เป็นเบอร์ต่างๆ ที่ต้องการ

ด้านของภาษาเมนูในเครื่องก็จะเน้นภาษาของประเทศในแถบอาเซียน ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอินโด ภาษามลายู ภาษาตากาล็อก (ฟิลิปปินส์) ภาษาเวียตนาม ภาษาเขมร ภาษาทมิฬ รวมถึงยังมีภาษาจีนมาให้ด้วย เสียดายที่ไม่มีภาษาพม่าครับ

เมื่อใส่การ์ด MicroSD แล้ว ในเมนูที่จัดเก็บ (Storage) ก็จะเปิดให้ผู้ใช้เลือกพื้นที่จัดเก็บข้อมูลหลักของเครื่องได้ว่าจะใช้หน่วยความจำใด ซึ่งถ้าใส่การ์ดแล้ว ก็แนะนำว่าให้เปลี่ยนมาใช้การ์ดความจำเป็นแหล่งเก็บข้อมูลหลักจะดีที่สุดครับ ต่อมาก็เป็นเมนูที่รวมไว้ว่ามีแอปอะไรที่ผู้ใช้ติดตั้งเพิ่มเข้ามาทีหลัง ซึ่งก็จะมีแจ้งเลยว่าแอปเป็นเวอร์ชันใด มีขนาดเท่าไหร่บ้าง

Camera

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171015-104

Nokia 3310 3G รุ่นปี 2017 มีกล้องหลังมาให้ใช้งานด้วยครับ โดยเป็นกล้องความละเอียด 2 ล้านพิกเซล แบบ fixed-focus คือระยะโฟกัสตายตัว ไม่สามารถปรับได้ ก็เท่ากับว่าไม่สามารถเลือกจุดโฟกัสก่อนถ่ายได้เลย ทำให้มันเหมาะกับการใช้ถ่ายรูปวิว ถ่ายภาพที่ต้องการให้เห็นชัดเท่ากันทั้งภาพ นอกจากนี้ยังมีแฟลช LED ดวงเล็กๆ สำหรับถ่ายภาพในที่มีแสงน้อย รวมถึงใช้เป็นไฟนิ่งสำหรับถ่ายวิดีโอได้อีกด้วย (สามารถปิดไฟได้)

สำหรับภาพที่ได้ก็จะมีความละเอียด 1600 x 1200 พิกเซล ขนาดไฟล์อยู่ที่ราวๆ 900 KB – 1.5 MB ดังนั้นหากต้องการถ่ายภาพ ก็แนะนำว่าควรใส่ MicroSD ในเครื่อง แล้วตั้งค่าให้บันทึกไฟล์ลงการ์ดเป็นหลักจะดีที่สุด ส่วนด้านของไฟล์วิดีโอนั้นจะได้เป็นไฟล์นามสกุล .3gp ความละเอียด 352 x 288 หรือประมาณ 0.1 MP เท่านั้น เฟรมเรตก็ราวๆ 8 FPS ครับ ดังนั้นจะมองว่าเป็นฟังก์ชันที่ใส่ให้มาไว้ใช้ขำๆ ก็พอได้อยู่

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง Nokia 3310 3G 2017 ก็คลิกชมได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้เลยครับ เป็นภาพที่ไม่ได้ตกแต่งแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น

Nokia 3310 3G 2017: Camera Rollจากทุกภาพก็จะเห็นว่าเหมือนใส่ฟิลเตอร์เป็นภาพระบายสีน้ำแทบทุกภาพเลย จะมองว่าเป็นภาพอาร์ตก็พอได้อยู่นะ

Performance

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171014-78

แง่ของประสิทธิภาพโดยรวมของ Nokia 3310 3G 2017 ก็จัดว่าเป็นฟีเจอร์โฟนที่ตอบสนองการทำงานพื้นฐานได้ดี กดเรียกฟังก์ชันพื้นฐานอยากพวกการโทรศัพท์ ข้อความ SMS หรือจะเป็นพวกนาฬิกา เครื่องคิดเลขก็สามารถเปิดใช้งานได้เร็วและไหลลื่นดี แต่สำหรับแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่กินพลังประมวลผลมากกว่าระดับปกติ เช่น เกม หรือการเปิดหน้าเว็บจากเว็บเบราเซอร์ อาจจะต้องใจเย็นกันซักเล็กน้อย เนื่องจากตัวเครื่องต้องใช้เวลาในการประมวลผล (ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเว็บไซต์สมัยนี้หนักกว่าสมัยก่อนมากด้วย)

ด้านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต 3G ก็ทำได้ในระดับมาตรฐาน เสียดายที่ไม่สามารถทดสอบความเร็วได้ เพราะเว็บเบราเซอร์ Opera ที่มาในเครื่องมันไม่สามารถเปิดใช้งานระบบทดสอบความเร็วตามเว็บทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ตได้นั่นเอง

แต่เห็นอย่างนี้ ผมทดสอบแล้วพบว่า Nokia 3310 3G เครื่องนี้สามารถดูวิดีโอจาก YouTube ได้ด้วยนะครับ !! วิธีการดูก็คือให้เปิดเว็บเบราเซอร์ แล้วเข้าเว็บ www.youtube.com ตามปกติ แล้วเลือกวิดีโอที่ต้องการรับชม เมื่อเลือกได้แล้วพอกด Watch video ระบบก็จะเปิดแอปวิดีโอในเครื่องขึ้นมา จากนั้นวิดีโอก็จะเริ่มเล่นตามปกติโดยใช้การสตรีมมิ่งสดจาก YouTube แต่ทั้งนี้ ภาพและเสียงก็จะเป็นแบบ low-res มากๆ นะครับ คือภาพแตก และคุณภาพเสียงไม่สูงมากนัก แค่อยู่ในระดับที่พอชมและฟังได้เท่านั้น

แบตเตอรี่

ประเด็นเรื่องแบตเตอรี่น่าจะเป็นสิ่งที่หลายท่านให้ความสนใจ ด้วยทางโนเกียเคลมมาข้างกล่องว่าสามารถสแตนด์บายได้นานสุดถึง 27 วัน แต่ด้วยความที่ผมเองก็เพิ่งได้เครื่องมาไม่กี่วันเท่านั้นเอง เลยยังไม่สามารถตอบในจุดนี้ได้แบบเต็มๆ แต่จากที่ทดสอบมาด้วยรูปแบบการใช้งานที่กินพลังประมวลผลเครื่องพอสมควรอย่างการถ่ายรูปบ้าง เล่นเกมงูบ้าง เน้นสแตนด์บายซะเป็นส่วนใหญ่ ต่ออินเตอร์เน็ต 3G และเปิด Bluetooth ตลอดเวลา พบว่าแบตเหลือราวๆ 40% หลังชาร์จแบตครั้งล่าสุดเป็นเวลา 2 วัน

แต่ก็ด้วยสไตล์มือถือโนเกียสมัยก่อนเลยครับ ยิ่งเกจแบตฟ้องว่าใกล้หมดเท่าไหร่ พบว่าแบตมันยังเหลือให้ใช้งานได้แบบเกินคาดมากๆ แต่ถ้าเป็นช่วงที่เกจแบตเต็มหรือเกือบเต็มนั้น กลับเป็นช่วงที่เกจแบตลดเร็วมากกว่าช่วงใกล้หมดเสียอีก ซึ่งปัญหาข้อนี้ผมพบกับตนเองตอนที่ต้องการจะเผาให้แบตหมดเร็วๆ ครับ กว่าจะใช้จนเครื่องดับไปเองได้ ก็หมดไป 1 คืนเต็มๆ เลยทีเดียว

ส่วนการชาร์จแบตเข้าเครื่องจากที่แบตหมดจนไม่สามารถเปิดเครื่องได้จนเต็ม 100% โดยใช้อะแดปเตอร์ที่แถมมาในกล่อง พบว่าใช้เวลาราวๆ 2 ชั่วโมงครึ่ง

การเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์

Review-Nokia-3310-2017-SpecPhone-20171014-93

Nokia 3310 3G สามารถเชื่อมต่อเพื่อซิงค์ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์ได้ (รวมถึงมือถือที่รองรับ OTG ได้ด้วย) ผ่านทางช่องและสาย Micro USB เลยครับ ซึ่งผมก็ทดลองกับทั้ง Windows 10 และ macOS เวอร์ชันล่าสุด พบว่ามองเห็นพื้นที่เก็บข้อมูลของตัว 3310 ขึ้นมาให้ใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องลงโปรแกรมอื่นเพิ่มเติมเลย โดยตอนที่เสียบสายเข้าเชื่อมระหว่างเครื่องทั้งสองนั้น ที่หน้าจอ 3310 3G จะมีตัวเลือกว่าจะแค่ชาร์จไฟอย่างเดียว หรือจะเชื่อมต่อพื้นที่เก็บข้อมูล Mass storage ด้วย ก็เลือกตามอัธยาศัยได้เลย

สำหรับโฟลเดอร์และไฟล์ข้อมูลที่อยู่ในพื้นที่หน่วยความจำเครื่องก็ตามในภาพแรกของแกลเลอรี่ด้านล่างเลย ทำให้สามารถดึงภาพถ่าย ข้อมูลที่ต้องการออกมาได้อย่างง่ายดาย

5 เหตุผลที่ทำให้ Nokia 3310 3G 2017 น่าซื้อ

1. แบตเตอรี่อึด ใช้งานได้นาน

แม้ว่าโนเกีย 3310 3G รุ่นปี 2017 นี้จะให้แบตเตอรี่มาเพียง 1200 mAh ก็ตาม แต่ด้วยความที่เป็นฟีเจอร์โฟนซึ่งไม่ได้มีโปรเซสหรือแอปพลิเคชันทำงานเบื้องหลังมากนัก ทำให้สามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้ยาวนาน ซึ่งตามสเปคที่โนเกียระบุมาคือสามารถสแตนด์บายได้นานสุดถึง 27 วัน ทำให้โนเกีย 3310 3G เครื่องนี้ เหมาะที่จะไว้ใส่ซิมที่ต้องการเปิดเครื่องสแตนด์บายสำหรับรอรับสาย หรือจะใช้เป็นเครื่องสำหรับคุยโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวได้สบายๆ ซึ่งน่าจะเหมาะกับผู้ที่ต้องคุยโทรศัพท์บ่อยๆ เช่น ผู้ที่เปิดร้านขายของ เป็นต้น เนื่องจากสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องชาร์จแบตทุกวัน

2. น้ำหนักเบา พกพาสะดวก

โดยปกติแล้วคนที่พกมือถือเครื่องสำรอง ก็มักจะใส่เครื่องสำรองไว้ในกระเป๋าเล็กๆ ที่พกติดตัว ใส่เอาไว้ในช่องเก็บของภายในรถ หรือวางไว้ในบริเวณใกล้ๆ ตัว ทำให้ยิ่งตัวเครื่องมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบามากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้การพกพาสะดวกยิ่งขึ้นเท่านั้น ทั้งยังไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการวางเครื่องมากมายนัก ทำให้โนเกีย 3310 3G รุ่นปี 2017 นี้เหมาะที่จะเป็นมือถืออีกเครื่องที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี

3. สามารถปรับเปลี่ยนเมนูได้หลายภาษา

โนเกีย 3310 3G รุ่นที่วางขายอย่างเป็นทางการในไทย มาพร้อมกับภาษาของเมนูต่างๆ ในเครื่องให้เลือกใช้งานค่อนข้างครอบคลุมหลายประเทศในแถบๆ ใกล้บ้านเรา รวมถึงภาษาหลักได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาเวียตนาม ภาษามลายู ภาษาตากาล็อก (ฟิลิปปินส์) ภาษาทมิฬ น่าเสียดายที่ไม่มีภาษาลาวและภาษาพม่าครับ

4. ฟังวิทยุ FM ได้ ฟังเพลง MP3 ก็ได้

นอกเหนือจากการใช้งานในแง่ของการเป็นโทรศัพท์แล้ว โนเกีย 3310 3G ยังรองรับความบันเทิงแบบพื้นฐานอย่างการฟังเพลงอีกด้วย ซึ่งสามารถฟังได้ทั้งวิทยุ FM (จูนคลื่นได้ละเอียดสุดที่ทศนิยม 1 หลัก) รวมถึงการฟังเพลง MP3 ที่ใส่ไว้ในการ์ด MicroSD ได้อีกด้วย โดยสามารถฟังผ่านช่องเชื่อมต่อ AUX 3.5 มิลลิเมตรแบบปกติก็ได้ รวมถึงการเชื่อมต่อกับหูฟัง/ลำโพง Bluetooth ก็ทำได้เช่นกัน

5. มีเกมงูมาในเครื่อง และสามารถลงเกมเก่าๆ เพิ่มเติมเองได้

สิ่งที่ขึ้นชื่อและอยู่คู่กับโนเกีย 3310 รุ่นคลาสสิคมาอย่างยาวนานก็คือเกมสุดเพลินอย่างเกม Snake หรือที่เราติดหูกันว่าเกมงู ก็มีมาลงไว้ในโนเกีย 3310 รุ่นปี 2017 นี้ด้วยเช่นกันครับ โดยมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เช่น ภาพในเกมที่กลายเป็นภาพสี รูปแบบการเล่นที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่ในเรื่องของความสนุกสนานยังจัดว่าทำได้ดี และท้าทายผู้เล่นอยู่เหมือนเดิม นอกจากนี้ยังสามารถหาเกมจาว่าเก่าๆ มาลงในเครื่องได้อีกด้วย ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากทั้ง Mobile Store ที่มีมาในเครื่อง หรือจะไปหาโหลดไฟล์ .jad จากแหล่งอื่นๆ มาก็ได้เช่นกัน แม้ว่าจอจะเล็กไปซักหน่อย แต่ก็คงทำให้หลายๆ ท่านหายคิดถึงเกมจาว่าในสมัยก่อนได้ไม่น้อยทีเดียว

Tags:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก