[Review] รีวิว Motorola One Vision ราคาไม่ถึงหมื่น ได้จอ 21:9 กล้องแจ่ม เร็วในสไตล์ Android One แบบคลีน ๆ

ชื่อของ Motorola นับเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่อยู่คู่กับวงการโทรศัพท์มือถือมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนมาถึงยุคสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในอยู่เป็นระยะ ๆ ก็ตาม แต่แบรนด์ที่ใช้โลโก้ตัว M ก็ยังออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มาอยู่เรื่อย ๆ อย่างล่าสุดก็ส่ง Motorola One Vision ที่มาพร้อมกับสเปคที่น่าสนใจ ประกอบกับการที่ยังคงเข้าร่วมโครงการ Android One อยู่ ทำให้ Motorola One Vision น่าจะเป็นมือถือที่ตอบโจทย์หลาย ๆ ท่านที่ต้องการมือถือมาใช้งานอยู่เหมือนกัน

Motorola One Vision

และนอกเหนือจากการใช้งาน Android One แล้ว Motorola One Vision ยังมาพร้อมกับสเปคที่น่าสนใจอยู่หลายจุดเหมือนกันครับ

  • ชิปประมวลผล Exynos 9609 มี 8 คอร์ประมวลผล ความเร็ว 2.2 GHz พร้อมชิปกราฟิก Mali G72 MP3
  • แรม 4 GB
  • พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 128 GB รองรับ microSD เพิ่มได้สูงสุด 512 GB
  • หน้าจอ IPS ขนาด 6.3 นิ้ว อัตราส่วนภาพ 21:9 ความละเอียดระดับ FHD+ (2520×1080)
  • Android 9.0 (ในโครงการ Android One)
  • กล้องหลังคู่
    • กล้องหลักเซ็นเซอร์ 48MP f/1.7 มีกันสั่น OIS รองรับฟังก์ชัน Quad Pixel ที่รวมพิกเซลให้ภาพเหลือ 12MP
    • กล้องเลนส์​ depth 5MP
  • กล้องหน้า 25MP f/2.0
  • แบตเตอรี่ 3500 mAh รองรับการชาร์จเร็ว TurboPower 15W
  • พอร์ตชาร์จแบบ USB-C
  • กันละอองน้ำได้ในระดับ IP52
  • มีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มม.
  • ระบบเสียง Dolby Audio
  • รองรับ 2 ซิม โดยถาดซิมเป็นแบบไฮบริด
  • มี NFC
  • ราคา 9,990 บาท

มือถือส่วนใหญ่ในตลาดที่ให้สเปคมาประมาณนี้ มักจะเปิดราคากันที่หมื่นนิด ๆ แต่สำหรับ Motorola One Vision นี้เปิดมาเพียง 9,990 บาทครับ โดยในแง่ของสเปคเองก็ถือว่าตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปได้ดีมาก ชิปเร็วพอตัว แรม 4 GB พื้นที่เก็บข้อมูลให้มาเต็ม ๆ ถึง 128 GB ส่วนหน้าจอก็อาจจะมีอัตราส่วนภาพที่แปลกกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปนิดหน่อย แต่น่าจะตอบโจทย์สายดูหนังได้เป็นอย่างดี

 

ดีไซน์ หน้าตาของ Motorola One Vision

Review Motorola One Vision SpecPhone 2

ของที่ให้มาในกล่อง นอกเหนือจากตัวเครื่องแล้ว ก็จะมีอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ (5V 3A / 9V 2A / 12V 1.5A) สาย USB-C หูฟัง เคสซิลิโคนใส ฟิล์มกันรอยหน้าจอ เข็มจิ้มถาดซิม และก็เอกสารคู่มือทั่วไปครับ

Review Motorola One Vision SpecPhone 8

ตัวเครื่องจะยาวกว่ามือถือทั่วไปเล็กน้อย เนื่องจากหน้าจอมีอัตราส่วนภาพที่ 21:9 ในขณะที่มือถือส่วนใหญ่จะใช้ 16:9 หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 20:9 เท่านั้น ขอบจอทั้งสามด้านคือบน/ซ้าย/ขวาก็หนากำลังพอดี ส่วนขอบล่างจะหนากว่าด้านอื่นเล็กน้อยครับ ขอบกระจกหน้าจอจะเป็นขอบโค้ง 2.5D เข้าหาขอบเครื่อง ให้ความรู้สึกเข้าไปกับส่วนโค้งของเครื่องได้พอดี

ส่วนความรู้สึกในการจับถือก็จัดว่าทำได้ดี ด้วยตัวเครื่องที่มีลักษณะผอมเรียวยาว ทำให้สามารถจับได้ถนัดมือ งานประกอบโดยรวมก็ทำออกมาได้แน่นหนา

Review Motorola One Vision SpecPhone 11 Review Motorola One Vision SpecPhone 10

จุดที่เป็นไฮไลท์ที่สุดของด้านหน้าตัวเครื่อง ก็คือกล้องหน้าแบบเจาะช่องบนหน้าจอ โดยจะอยู่ที่มุมซ้ายบนสุด ที่ในปัจจุบัน หลายท่านอาจจะเริ่มชินตากันไปบ้างแล้ว แต่ของ One Vision จะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่กว่าปกตินิดหน่อยนะครับ ยิ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขนาฬิกา และไอคอนบนแถบด้านบนของจอก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างของขนาดได้อย่างชัดเจนมาก ๆ

Review Motorola One Vision SpecPhone 16 Review Motorola One Vision SpecPhone 14

คุณภาพหน้าจอ CinemaVision ก็ถือว่าทำได้ตามมาตรฐานพาเนล IPS คือให้สีสันสดใส รายละเอียดต่าง ๆ ทำได้ดี และมีมุมมองภาพที่กว้าง สามารถมองจากด้านข้างได้โดยที่มีอาการสีเพี้ยนน้อยมาก และด้วยการเลือกใช้อัตราส่วนภาพแบบ 21:9 ก็ทำให้สามารถรับชมภาพยนตร์ วิดีโอที่ทำภาพมาเป็นอัตราส่วน 21:9 ได้อย่างเต็มจอ (แต่ก็จะติดช่องของกล้องหน้าด้วยนะ)

ส่วนในภาพด้านล่างก็เป็นการเทียบขนาดระหว่าง Google Pixel 2 XL หน้าจอ 6″ 18:9 กับ Motorola One Vision หน้าจอ 6.3″ 21:9 ครับ จะเห็นว่าความสูงของเครื่องนั้นต่างกันไม่มาก เนื่องจาก Moto ใช้การออกแบบให้ใช้หน้าจอเกือบเต็มเครื่อง เลยทำให้ตัวเครื่องมีขนาดไม่เทอะทะจนเกินไป

Review Motorola One Vision SpecPhone 18

พลิกมาด้านหลังกันบ้าง ฝาหลังจะเป็น Gorilla Glass แบบ 3D โดยเนื้อในของฝาหลังจะเป็นสีเหลือบสะท้อนแสง สำหรับเครื่องที่เราได้รับมารีวิวในครั้งนี้เป็นเครื่องสีน้ำเงินครับ ซึ่งเมื่อสะท้อนแสง ก็จะให้ประกายระยิบระยับสวยงาม มุมบนซ้ายเป็นตำแหน่งของกล้องหลังทั้งสองตัวพร้อมแฟลช LED ตรงกลางเป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่มีโลโก้ Motorola อยู่ภายใน ส่วนด้านล่างสุดก็เป็นพวกโลโก้รับรองมาตรฐานต่าง ๆ และโลโก้ Android One

Review Motorola One Vision SpecPhone 24

หากมองจากด้านข้างก็จะเห็นชัดเหมือนกันว่าโมดูลกล้องจะนูนขึ้นมาจากฝาหลังพอสมควร

Review Motorola One Vision SpecPhone 27 Review Motorola One Vision SpecPhone 29

ด้านบนก็จะมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มม. และช่องรับเสียงของไมค์ด้านบน ส่วนด้านล่างก็จะมีช่องลำโพง ช่อง USB-C แล้วก็ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา

Review Motorola One Vision SpecPhone 26 Review Motorola One Vision SpecPhone 28

สำหรับฝั่งซ้ายจะมีเพียงถาดใส่ซิม ส่วนฝั่งขวาจะเป็นปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และก็ปุ่ม Power ตามปกติ

Review Motorola One Vision SpecPhone 4

ประเด็นของถาดใส่ซิม น่าเสียดายที่เลือกใช้ถาดแบบไฮบริด ที่ผู้ใช้ไม่สามารถใส่ microSD ได้ หากใส่นาโนซิมเต็มทั้งสองช่องแล้ว ซึ่งปัจจุบัน มือถือในช่วงราคาใกล้ ๆ กันส่วนใหญ่มักจะให้ถาดซิมแบบ 2 + 1 microSD กันมาแล้วครับ ก็ถือเป็นข้อสังเกตแล้วกัน

Review Motorola One Vision SpecPhone 32 Review Motorola One Vision SpecPhone 31

เคสซิลิโคนที่แถมมาให้ในกล่องทำออกมาได้พอดีตัวเป๊ะ ๆ เนื้อไม่แข็งจนเกินไป มีการป้องกันตามขอบต่าง ๆ ได้ดี เช่น ขอบกระจกปิดเลนส์กล้องหลัง และขอบหน้าจอ

 

ซอฟต์แวร์ของ Motorola One Vision

1 1 1

Motorola One Vision มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 9.0 เวอร์ชัน Android One ที่การันตีการอัพเดตจาก Google ซึ่งแน่นอนว่าตัวระบบจะมาในแบบค่อนข้างคลีน แอปที่ติดตั้งมากับเครื่องก็จะเป็นแอปในกลุ่มของ Google ซะเป็นส่วนใหญ่ มีแอปเพิ่มเติมมาเองก็เช่น Dolby Audio สำหรับช่วยในการปรับระบบเสียง แอป Moto สำหรับเป็นทางลัดเข้าไปปรับลูกเล่นเสริมของตัวเครื่อง เป็นต้น

ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลภายในที่ตามสเปคระบุว่าให้มา 128 GB นั้น เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาใช้งานครั้งแรกจะเหลือให้ใช้จริงราว ๆ 116 GB ครับ สำหรับการใช้งานในด้านความบันเทิงก็หายห่วงเลย เพราะตัวเครื่องได้การรับรองมาตรฐาน Widevine ที่ระดับ L1 ทำให้สามารถสตรีมภาพยนตร์ที่ความละเอียดระดับ HD ได้สบาย

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Motorola One Vision

2 3

ด้วยความที่ Motorola One Vision เป็นเครื่องในโครงการ Android One ทำให้ลูกเล่น ฟีเจอร์ต่าง ๆ อาจจะไม่ได้มาแบบจัดเต็มมากนัก แต่ก็ยังมีทูลชื่อว่า Moto ที่ช่วยให้การปรับแต่งการทำงานต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้น อย่างในหัวข้อ Moto Anctions ก็จะมีตัวเลือกให้สามารถเปิดใช้งานฟังก์ชันแตะสามนิ้วบนจอเพื่อแคปหน้าจอได้ รวมถึงสามารถปรับปุ่ม navigation ด้านล่างได้ด้วย ว่าจะให้เป็นปุ่มโฮมแบบ gesture + ย้อนกลับ ที่เป็นค่าเริ่มต้นของ Android 9.0 หรือจะเป็นปุ่ม gesture เดี่ยว ๆ ไปเลย

ส่วนฝั่งของ Moto Display ก็จะเป็นตัวช่วยสำหรับปรับฟังก์ชันเสริมให้กับจอ เช่น Peek Display ที่ระบบจะแสดงพรีวิวของการแจ้งเตือนบนหน้าจอให้ แม้จะปิดหน้าจออยู่ ส่วนอีกอันก็เป็น Attentive Display ที่จะเปิดหน้าจอไว้ตลอดในขณะที่เรามองจออยู่ ป้องก้นการปิดหน้าจอเองโดยอัตโนมัติ

 

กล้องถ่ายรูปของ Motorola One Vision

Review Motorola One Vision SpecPhone 23

ชุดกล้องหลังก็มาในแบบชุดปกติครับ คือเลนส์หลักคู่กับเลนส์ depth ที่ทำให้การถ่ายฉากหลังเบลอทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งในส่วนของเลนส์หลักจะมาพร้อมเทคโนโลยี Quad Pixel ที่ช่วยในการประมวลผลภาพที่ได้จากเซ็นเซอร์รับภาพความละเอียด 48MP ให้กลายเป็นภาพความละเอียด 12MP แม้ว่าตัวเลขจะดูน้อยลง แต่ภาพที่ได้จะมีความสว่างและสีสันที่ดีขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นหลักการในการรวม 4 พิกเซลเข้าเป็นพิกเซลเดียวที่คุ้นเคยกันนั่นเองครับ

สำหรับความละเอียดของกล้องหลังที่สามารถปรับได้นั้น จะได้สูงสุดแค่ 12MP ไม่สามารถปรับ 48MP เต็ม ๆ ได้นะ นอกจากนี้ยังรองรับการถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW ด้วย (เมื่อถ่ายในโหมด Manual) แต่ภาพไฟล์ RAW นั้นก็จะมีความละเอียดสูงสุดแค่ 12MP เหมือนกัน

Review Motorola One Vision SpecPhone 33

อินเตอร์เฟสของแอปกล้องติดเครื่องก็จะมีความใกล้เคียงกับ Android 9.0 ของ Google เลยครับ แต่มีส่วนของโหมดกล้องเพิ่มเข้ามา โดยโหมดที่มีให้ใช้ก็ได้แก่

  • Portrait
  • Cutout (สำหรับใช้ปรับเปลี่ยนฉากหลัง)
  • Spot color
  • Night vision
  • Cinemagraph (ได้ภาพเป็นไฟล์ GIF)
  • Panorama
  • Live filter

ส่วนของการถ่ายวิดีโอก็รองรับทั้งการถ่ายปกติ ถ่ายสโลว์โมชัน ถ่าย timelapse และก็มีทางลัดสำหรับ live ลง YouTube ได้โดยตรง

ในการใช้งานกล้อง โดยทั่วไปแล้วก็ทำได้ดีครับ แต่จากที่ผมรีวิวมา หากถ่ายรูปติดกันหลาย ๆ รูปหน่อย ตัวระบบจะเริ่มมีการประมวลผลภาพที่นานขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย อันนี้ก็อาจต้องรอการแก้ไขที่เฟิร์มแวร์กันอีกที

night

ภาพด้านบนนี้เป็นภาพเปรียบเทียบกันระหว่างการถ่ายกลางคืนโดยใช้โหมด auto (ซ้าย) กับใช้โหมด Night vision (ขวา) จะเห็นว่าขนาดโหมด auto เองก็ถือว่าทำได้ดีแล้ว แต่เมื่อเปิดโหมด Night vision เพิ่มเข้ามา ภาพก็จะดูสว่างขึ้นไปอีก ช่วยให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ส่วนหลักการทำงานนั้นก็เป็นการเปิดหน้ากล้องนานขึ้นกว่าปกติ แล้วใส่การประมวลผลภาพเข้าไปเพิ่มครับ

IMG 20190528 201519409

แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่าโหมด Night vision นั้นโหดเกินราคาอยู่เหมือนกันนะ

สำหรับตัวอย่างภาพจากกล้องสามารถรับชมได้จากด้านล่างนี้เลย

 

 



























 

ประสิทธิภาพและการเล่นเกมบน Motorola One Vision

3 1

Motorola One Vision มาพร้อมกับสเปคในระดับกลาง ๆ ที่ใช้ทำงานทั่วไปได้สบาย จะเล่นเกมก็เหลือ ๆ ด้วยพลังของชิป Exynos 9609 กับแรม 4 GB ที่ยังพอเพียงสำหรับการใช้งานในปัจจุบัน โดยสามารถรีดคะแนนจากการทดสอบ AnTuTu ไปแตะหลัก 120,000 คะแนน ส่วนการทดสอบกราฟิกด้วย 3DMark ก็ทำได้ในระดับที่น่าพอใจ สามารถใช้เล่นเกมในปัจจุบันได้สบาย

Screenshot 20190526 230205 Screenshot 20190526 225840

ทดสอบการเล่นเกมกันด้วยเกมแรกอย่าง PUBG Mobile ผลที่ได้ก็คือลื่นหัวแตกด้วยการปรับความละเอียดระดับ HD และเฟรมเรตระดับ High ครับ

Screenshot 20190526 231750 Screenshot 20190526 231620

เกมต่อมาก็เป็น RoV เช่นเคย ด้วยการปรับกราฟิกสูงสุดทุกอย่าง ผลที่ได้คือเล่นได้ลื่น ๆ เลย แต่เฟรมเรตที่ได้จะอยู่ที่ 55 fps เท่านั้น ไม่มากและไม่น้อยไปกว่านี้

Screenshot 20190526 233404 Screenshot 20190526 233232

ปิดท้ายด้วยเกม Speed Drifters ก็เล่นได้ลื่น ๆ เช่นกัน ด้วยการปรับความละเอียดระดับสูงสุดทุกอย่าง ดังนั้นหากต้องการซื้อ มาเล่นเกมก็น่าจะไม่ผิดหวังครับ รอมคลีน สเปคแรงเหลือเฟือ

Overall

Review Motorola One Vision SpecPhone 35 โดยสรุปแล้ว Motorola One Vision เป็นมือถือที่ทำออกมาได้ค่อนข้างลงตัว ทั้งในแง่ของสเปค รูปลักษณ์ และราคาที่เปิดมาไม่ถึงหมื่น (ขาดไป 10 บาท) เพราะสิ่งที่ได้นั้นจัดว่าคุ้มค่าตัวอยู่เหมือนกัน จะใช้งานทั่วไป เล่นเน็ต เล่นเกม ดูหนังก็สบาย รองรับการอัพเดตได้อีกยาว ๆ แถมเรื่องกล้อง รอบนี้ก็ทำออกมาได้ดีเกินคาด ทั้งถ่ายกลางวันและกลางคืนก็ทำออกมาได้ดี จะติดก็แค่ลูกเล่นของรอมอาจจะน้อยไปนิดนึง เมื่อเทียบกับมือถือรุ่นอื่นในช่วงราคาใกล้เคียงกัน แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ได้สนใจลูกเล่นมือถือเท่าไหร่ อยากได้เครื่องที่ใช้งานได้เสมอ ไม่ค่อยงอแง มีกล้องที่ไว้ใจได้ Motorola One Vision คือตัวเลือกที่น่าสนใจเลยทีเดียวครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก