ชื่อของ Motorola นั้น จัดว่าอยู่คู่กับวงการโทรศัพท์มือถือมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สมัยแรกๆ มาจนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นสมาร์ทโฟน ซึ่งเราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ Motorola มาโดยตลอด นับตั้งแต่ตัวผลิตภัณฑ์ที่สร้างกระแสได้ตลอด แม้กระทั่งตัวแบรนด์เองยังมีการเปลี่ยนผ่านในระดับสูงอยู่บ่อยครั้ง นับว่าเป็นอีกหนึ่งรายที่เปรียบเสมือนเป็นไอคอนสำหรับวงการโทรศัพท์มือถืออย่างแท้จริง รวมถึงในปัจจุบันเอง ตัวผลิตภัณฑ์ก็ยังคงรักษาจุดเด่นของตนเองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น นั่นคือการเป็นสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการแบบคลีนๆ ในสไตล์ Pure Android แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มลูกเล่นต่างๆ เข้าไปให้มีความน่าใช้งานเพิ่มขึ้นไปอีก อย่างในตัวของ Moto X4 ที่รีวิวในครั้งนี้นี่เองครับ
สำหรับ Moto X4 นั้น ก็นับเป็นมือถือ Android ซีรีส์ระดับกลางเกือบสูงของ Moto เน้นเรื่องการใช้งานทั่วไปที่ไหลลื่น ฟังก์ชันครบถ้วน อัดแน่นมาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดีไซน์สวยงาม พร้อมจุดขายหลักคือเป็น Pure Android ซึ่งให้ประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยม ตอบสนองรวดเร็ว แถมในรอบนี้ยังมีลูกเล่นที่น่าสนใจเพิ่มเข้ามาทั้งในส่วนของ gesture ที่ทำให้ใช้งานสะดวกขึ้น กล้องหลังแบบเลนส์คู่ เอาเป็นว่าเรามาดูสเปค Moto X4 ก่อนแล้วกันครับ ว่าน่าสนใจอย่างไรบ้าง
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 630 ความเร็ว 2.2 GHz 8 คอร์ พร้อมชิปกราฟิก Adreno 508
- แรม 4 GB
- รอม 64 GB รองรับการเพิ่มความจุด้วย MicroSD
- หน้าจอ LTPS IPS ขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD 1080p กระจกหน้าจอ Gorilla Glass
- กล้องหลังเลนส์คู่
- เลนส์ปกติ: ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล f/2.0
- เลนส์มุมกว้าง ultra-wide: ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล f/2.2
- กล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล f/2.0 มีไฟแฟลช
- Android 7.1.1
- ชาร์จไฟผ่านช่อง USB-C รองรับการชาร์จเร็วด้วยฟีเจอร์ TurboPower
- แบตเตอรี่ความจุ 3,000 mAh (ถอดแบตเตอรี่ไม่ได้)
- รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth 4.2 (พร้อมรองรับ 5.0 ด้วย หลังอัพเกรดเป็น Android 8.0)
- ใช้งานได้ 2 ซิม รองรับ 4G LTE และการเชื่อมต่อแบบ 3CA
- มีวิทยุ FM และมี NFC
- กันน้ำกันฝุ่นตามมาตรฐาน IP68
- สเปค Moto X4 เต็มๆ
- ราคา 14,900 บาท
ด้วยราคาหมื่นกลางๆ นับว่า Moto X4 ทำสเปคออกมาได้อยู่ในระดับมาตรฐานของสมาร์ทโฟนปี 2017 ครับ ด้วยชิปประมวลผลรุ่นกลางค่อนสูงที่รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างครบครันทัดเทียบชิปรุ่นสูงๆ รวมถึงยังได้แรม 4 GB รอม 64 GB กล้องคู่ NFC ก็มี แถมยังให้วิทยุ FM มาอีก ทั้งยังรองรับการชาร์จเร็ว กันน้ำกันฝุ่น ทำให้ Moto X เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่น่าสนใจสำหรับผู้กำลังมองหามือถือใช้งานลื่นๆ ตอบโจทย์รูปแบบการใช้งานทั่วไป ทั้งยังค่อนข้างมั่นใจได้อีกด้วยว่าจะได้รับการสนับสนุนเรื่องการอัพเดทซอฟต์แวร์กันไปยาวๆ ตามสไตล์ของ Motorola
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST ASSISTANT
Design
Moto X4 ยังคงมาในรูปทรงที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนคุ้นเคยกันดี ด้วยหน้าจอในอัตราส่วน 16:9 ที่มีขอบจอทั้ง 4 ด้านตามปกติ โดยที่กระจกหน้าจอ Gorilla Glass จะเป็นแบบขอบโค้ง 2.5D ที่ให้สัมผัสลื่นไหลเวลาใช้งาน รับกับรูปทรงขอบมุมต่างๆ ของตัวเครื่องอย่างลงตัว สำหรับรูปทรงและสัมผัสของตัวเครื่องนั้น ตอนที่ผมจับครั้งแรกแล้วมันทำให้นึกถึงมือถือรุ่นเก่าอย่าง Google Nexus 4 เลยทีเดียว เพราะ Moto X4 มันจะออกป้อมๆ ป่องข้างกว่าปกติเล็กน้อย แต่เวลาใช้งานจริงก็ไม่ได้แตกต่างจากมือถือรุ่นอื่นๆ เท่าไหร่ครับ
หน้าจอ Moto X4 มาในขนาด 5.2 นิ้ว ซึ่งเป็นจุดที่พอเหมาะมากๆ ทำให้สามารถใช้งานเครื่องด้วยมือเดียวได้แบบไม่ลำบากมากนัก ส่วนความละเอียดจอก็อยู่ที่ 1920 x 1080 เลือกใช้พาเนลแบบ LTPS IPS ที่เป็นพาเนลจอแบบบาง มีโครงสร้างภายในที่แตกต่างจากพาเนล IPS ปกติเล็กน้อย แต่ในแง่ของการแสดงผลสู่สายตาผู้ใช้งาน มันก็คือจอ IPS ตามปกติเลยครับ สีสันสวยงาม ไม่จัดจ้านแต่ก็ไม่ซีดจนเกินไป คมชัดในทุกมุมมอง ความสว่างในการใช้งานกลางแจ้งก็พอดิบพอดี สามารถใช้งานได้แบบไม่สะดุด ระบบการปรับแสงอัตโนมัติก็ตอบสนองต่อสภาพแสงภายนอกได้รวดเร็วและนิ่มนวล ใช้งานนานๆ แล้วไม่รู้สึกว่าความสว่างจอมันกระโดดจนเกินไป
ขอบโค้งมน ไม่สะดุดในทุกสัมผัส
ฝั่งบนของจอก็จะเป็นตำแหน่งของอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ แฟลชกล้องหน้าแบบ LED ลำโพงสนทนา กล้องหน้า เซ็นเซอร์วัดแสง วัดระยะห่าง ตามปกติ แต่สำหรับตัวเซ็นเซอร์วัดระยะห่าง (Proximity Sensor) นี้ มันจะทำงานอยู่ตลอดเวลานะครับ ต่างจากมือถือทั่วไปที่มักจะไม่ทำงานหลังจากปิดหน้าจอลงไป ซึ่งสาเหตุที่ตัวเซ็นเซอร์ทำงานอยู่ตลอดเวลา ก็เนื่องจากมันไปเกี่ยวพันกับหนึ่งในฟีเจอร์พิเศษของ Moto X4 เอง โดยเราจะได้พบกับรายละเอียดแบบเต็มๆ ในช่วงของการรีวิวฟีเจอร์ Moto X4 นะครับ
ต่อมาที่ฝั่งด้านล่างบ้าง ก็ไม่มีอะไรมากครับ เพราะคุณจะได้พบแค่แถบปุ่มโฮมอย่างเดียวล้วนๆ เลย โดยจะเป็นแถบปุ่มโฮมแบบสัมผัสเท่านั้น ไม่สามารถกดลงไปได้ ซึ่งผู้ใช้หลายๆ ท่านก็น่าจะชินกันไปแล้ว หรือไม่ก็ใช้งานแถบปุ่มจากซอฟต์แวร์ของตัว Android เองในจอมือถือกันไปเลย ซึ่งตัว Moto X4 นี้ รองรับได้ทั้งสองแบบครับ คือจะใช้ปุ่มจากหน้าจอก็ได้ รวมถึงสามารถใช้แถบปุ่มโฮมชิ้นเดียวนี้ ในการสั่งงานเสมือนว่ามี 3 ปุ่มครบเหมือนเดิมก็ยังได้อีกด้วย ซึ่งก็อีกเช่นเคยครับ ผมขอยกส่วนนี้ไปอธิบายในส่วนการรีวิวเฉพาะด้านฟีเจอร์แล้วกัน
เมื่อหันมาดูด้านหลังของ Moto X4 คงต้องบอกว่ายิ่งสวยและดูแพงขึ้นไปอีกครับ ด้วยการเลือกใช้วัสดุภายนอกเป็นกระจกขอบโค้ง ที่สะท้อนแสงพอสมควร ทำให้ตัวเครื่องดูเปล่งประกายขึ้นมามากกว่าเดิม ทั้งยังรับกับโลโก้ Motorola ตรงกลาง รวมถึงส่วนของกล้องหลังคู่อีกด้วย โดยตัวดีไซน์ของชุดกล้องหลังคู่จะแยกตัวออกจากฝาหลังอย่างชัดเจน ด้วยการออกแบบให้มีส่วนนูนขึ้นมา มีการเล่นขอบลักษณะคล้ายหน้าปัดนาฬิกาข้อมือ ยกระดับความหรูหราขึ้นมาอีกขั้น ส่วนในเรื่องของความสวยก็คงต้องแล้วแต่นิยามของแต่ละท่านเองแล้วละครับ แต่ที่แน่ๆ คือมันเป็นจุดที่ทำให้ Moto X4 แตกต่างไปจากสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นๆ อย่างแน่นอน
ตัวกล้องหลังนี้ จะมีเลนส์อยู่ 2 ชุด โดยเลนส์ซ้ายในภาพที่มีกระจกเลนส์สีน้ำเงิน จะเป็นเลนส์มุมปกติเหมือนมือถือทั่วไป คือมีความกึ่ง normal กึ่ง wide ส่วนเลนส์ขวาในภาพที่หน้าเลนส์ภายใน (รูรับแสง) แคบกว่าจะเป็นเลนส์ ultra wide ที่มีมุมกว้างพิเศษ ส่วนด้านบนก็เป็นแฟลชแบบไฟสองสี
ส่วนด้านข้างก็จะมีปุ่มและช่องเชื่อมต่อต่างๆ ดังนี้
- ด้านขวา: ปุ่ม Power และแผงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง
- ด้านล่าง: ช่อง USB-C และช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร
- ด้านซ้าย: ไม่มีปุ่มและช่องเชื่อมต่อใดๆ
- ด้านบน: ช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน และถาดใส่ซิมการ์ดแบบไฮบริด ใช้ซิมแบบนาโนซิม
โดยตำแหน่งของปุ่มกดก็จัดว่าอยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้สะดวกสำหรับคนที่ใช้มือขวาจับเครื่อง ส่วนบริเวณที่เป็นเส้นสีเทาอ่อนซึ่งคาดอยู่ตรงสันบนและล่างนั้น คือตำแหน่งที่ช่วยให้เสารับสัญญาณภายในทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
ปิดท้ายส่วนของการรีวิว Moto X4 ในแง่ของดีไซน์ด้วยกล่องและอุปกรณ์ที่ให้มาภายในครับ กล่องภายนอกถูกออกแบบมาให้เน้นสีฟ้าสดใสมากๆ เมื่อเปิดฝาออกมาก็จะพบกับตัวเครื่องก่อน จากนั้นก็จะเป็นช่องสำหรับใส่เอกสารคู่มือต่างๆ รวมถึงเข็มจิ้มถาดใส่ซิมการ์ด ส่วนชั้นด้านล่างสุดก็จะมีอุปกรณ์ดังนี้
- หูฟัง
- สายชาร์จ USB-C
- อะแดปเตอร์ TurboPower ที่สามารถจ่ายไฟสูงสุดได้ 3 ระดับคือ 5V 3A / 9V 1.6A / 12V 1.2A รวมแล้วก็คือชาร์จไฟได้สูงสุดไม่เกิน 15W
ส่วนเคส ฟิล์มหรือกระจกกันรอย อันนี้คงต้องหาซื้อเพิ่มเติมแยกนะครับ เพราะไม่ได้แถมมาให้ในกล่อง
Software
ระบบปฏิบัติการที่ติดเครื่องมาของ Moto X4 ก็เป็น Android เวอร์ชัน 7.1.1 Nougat ที่ไม่มีการครอบ theme ใดๆ มา ทำให้มันเกือบจะเป็น Pure Android 100% เลยทีเดียว ติดที่มีการใส่แอปพลิเคชันอื่นพ่วงมาให้เล็กน้อย เช่น Linkedin รวมถึงแอปจาก Microsoft อย่างตระกูล Microsoft Office ซึ่งคาดว่าน่าจะเนื่องมาจากเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงระหว่าง Microsoft กับ Lenovo ซึ่งถือสิทธิ์ผลิตเครื่อง Motorola อยู่นั่นเอง แต่ในแง่ของการทำงานโดยรวม จะบอกว่า Moto X4 เป็นมือถือ Pure Android ก็พอได้อยู่ครับ
พื้นที่หน่วยความจำในเครื่องของ Moto X4 ตามสเปคคือให้มา 64 GB ส่วนเมื่อเปิดใช้งานครั้งแรก พบว่าตัวระบบและแอปติดเครื่องทั้งหมดกินพื้นที่ไปราวๆ 18 GB กว่าๆ ถ้าหากไม่พอใจก็สามารถใส่ MicroSD เพื่อเพิ่มความจุไว้เก็บไฟล์ได้อีก แต่ก็แลกกับจำนวนซิมการ์ดที่ใช้งานได้จะเหลือเพียง 1 ซิมเท่านั้น เนื่องด้วยถาดใส่ซิมมันเป็นแบบไฮบริดนั่นเอง ส่วนแรม เมื่อเปิดใช้งานเครื่องครั้งแรกแบบยังไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ พบว่าระบบใช้ไปประมาณ 1.6 GB เหลือให้ใช้เต็มๆ อีก 2 GB ซึ่งเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป หรือจะเล่นเกมก็สบายครับ
ฟังก์ชันพื้นฐานของ Moto X4 ที่น่าสนใจ และน่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับหลายๆ ท่านได้คงเป็นสองตัวนี้ครับ อันแรกคือการใช้งานสองแอปพร้อมกันบนหน้าจอเดียว ซึ่งรอบนี้มีติดมาให้ใช้กันตั้งแต่แรกเลย วิธีเรียกใช้งานก็จัดว่าเข้าใจง่ายมาก เพียงแค่กดปุ่ม/เรียกฟังก์ชัน Recent apps ขึ้นมา จากนั้นสังเกตที่ด้านบนจะมีแถบสีขาวจางบอกอยู่ ว่าถ้าต้องการเปิดใช้งานฟังก์ชันแบ่งสองหน้าจอ ก็ให้ใช้นิ้วลากหน้าต่างของแอปที่ต้องการไปวางในแถบสีขาวจางๆ ด้านบน เพียงแค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อย เหมาะกับผู้ที่ต้องการเล่นแอปอื่นไป แชต Line ไปมากๆ
ส่วนอีกฟังก์ชันหนึ่งก็คือการกดไอคอนแอปค้างไว้เพื่อเรียกเมนูลัดของแอปนั้นขึ้นมา หรือที่เราอาจจะคุ้นเคยกันในชื่อ 3D touch ครับ วิธีเรียกใช้งานก็ไม่ยากอีกเช่นกัน เพียงแค่ใช้นิ้วจิ้มไอคอนแอปที่ต้องการค้างไว้ ก็จะมีเมนูลัดของแอปนั้นๆ ขึ้นมา ซึ่งถ้ายังกดไอคอนค้างไว้อยู่ เมนูลัดก็จะหายไป และกลายเป็นการลากไอคอนตามปกติครับ ซึ่งจากที่ผมทดลองใช้ดู พบว่าพวกแอปหลักๆ ยอดนิยม จะสามารถใช้งานเมนูลัดได้แทบทั้งหมด
Feature
ต่อกันที่ส่วนฟีเจอร์ของ Moto X4 ที่น่าสนใจครับ เริ่มจากปุ่มโฮมที่นอกเหนือจากการใช้แตะเพื่อแทนฟังก์ชันการกลับมาหน้าแรกสุดแล้ว หากเปิดใช้งานฟีเจอร์ “One button nav” แล้ว แถมปุ่มโฮมนี้ก็จะใช้สั่งการแทน 3 ปุ่มหลักของ Android ไปเลย ซึ่งรูปแบบการสั่งงานก็จะดูจากปลายนิ้วที่แตะบนปุ่มโฮมเลยครับ ได้แก่
- กดโฮม: แตะลงไปครั้งเดียวสั้นๆ แล้วยกนิ้วขึ้น
- เรียก Google Assistant: แตะปุ่มโฮมค้างไว้
- ปาดนิ้วผ่านปุ่มโฮมไปทางซ้ายหรือขวา: ย้อนกลับ หรือเรียกดูแอปที่ใช้งานล่าสุดย้อนหลัง ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าว่าจะให้ทิศทางไหนแทนฟังก์ชันใด
ซึ่งอย่างผมเองใช้งานมือถือด้วยมือขวาเป็นหลัก และใช้งานการย้อนกลับจากหน้าจอปัจจุบันบ่อยกว่าการเรียกดูแอปล่าสุด ผมเลยตั้งค่าให้การปาดนิ้วบนปุ่มโฮมจากด้านซ้ายของปุ่มไปทางขวา แทนการกดปุ่มย้อนกลับ ซึ่งช่วงแรกๆ ก็อาจมีการสับสนบ้างว่าต้องปาดไปทิศทางไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำเป็นต้องใช้งานเครื่องด้วยมือซ้าย ก็จะสับสนทิศทางอยู่เหมือนกัน เพราะส่วนตัวผมถนัดการปาดนิ้วเข้าหามือข้างเดียวกันมากกว่า แต่หลังจากใช้งานไปซักพัก ก็ชินไปเองครับ
หรือถ้าหากไม่สะดวก จะใช้ปุ่มสั่งงาน 3 ปุ่มแบบพื้นฐานของ Android แบบปกติก็ได้เช่นกัน โดยการไม่ต้องเปิดฟังก์ชัน One button nav เท่านั้นเอง ซึ่งเจ้าฟังก์ชันนี้จะซ่อนเมนูการเปิดใช้งานและการตั้งค่าอยู่ในแอปที่มีชื่อว่า Moto ที่มีไอคอนแสดงอยู่บนหน้าแรกนับตั้งแต่เปิดเครื่องมาเลย
ในแอปนี้ ผู้ใช้สามารถตั้งค่าการใช้งานเครื่องได้หลากหลายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวก gesture และลูกเล่นพิเศษต่างๆ ของ Moto X4 เช่น ฟีเจอร์ในการแคปหน้าจออย่างง่ายด้วยการใช้ 3 นิ้ว การเปิดไฟฉายด้วยการถือเครื่องไว้ในมือ แล้วทำท่าสับติดกัน 2 ครั้ง รวมถึงการเปิดกล้องถ่ายภาพแม้หน้าจอจะล็อคอยู่ด้วยการถือเครื่องไว้ในมือ แล้วบิดข้อมือติดกัน 2 ครั้ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีส่วนการตั้งค่าฟีเจอร์พิเศษของหน้าจออย่าง Moto Display อีกด้วย
ก่อนจะไปกล่าวถึงฟีเจอร์ Moto Display ย้อนกลับมาดูข้อแตกต่างระหว่างการปิดฟังก์ชัน One button nav กับเปิดซักหน่อย ภาพซ้ายคือปิดไว้ จะเห็นได้ว่ามีแถบ 3 ปุ่มปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอ ซึ่งก็จะทำให้พื้นที่แสดงผลของบางแอปลดลงไปเล็กน้อย ส่วนภาพขวาคือหลังเปิดฟังก์ชัน One button nav แล้ว แถบปุ่มกดก็จะหายไป ส่วนการสั่งงานก็จะใช้ที่แถบปุ่มโฮมแต่เพียงอย่างเดียวครับ
กลับมาที่ฟังก์ชัน Moto Display เจ้าฟังก์ชันนี้ก็จะเป็นการเปิดใช้งานความสามารถในการแสดงผลของหน้าจอขณะที่มันล็อคอยู่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานมากขึ้น การทำงานของมันก็คือการแสดงนาฬิกา และไอคอนการแจ้งเตือนจากแอปต่างๆ ที่มีการแจ้งเตือนเข้ามา รวมถึงสามารถอ่านข้อมูลการแจ้งเตือนแบบคร่าวๆ ได้เลย แม้จะล็อคหน้าจออยู่นั่นเอง (ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวด้วย ซึ่งในการทดสอบนี้ ผมเปิดให้มันแสดงข้อมูลได้เต็มที่)
แต่ทั้งนี้ ฟังก์ชัน Moto Display มันก็ไม่ได้แสดงเวลาและข้อมูลตลอดเวลานะครับ เนื่องด้วยการที่ Moto X4 ไม่ได้ใช้หน้าจอประเภท OLED/AMOLED ถ้าหากเปิดให้หน้าจอแสดงภาพตลอดเวลา แม้จะเป็นภาพพื้นหลังสีดำ มันก็จะกินแบตเตอรี่เยอะมากๆ ตัวระบบมันจึงอาศัยการประมวลผลข้อมูลทั้งจากเซ็นเซอร์ในเครื่องและพฤติกรรมของผู้ใช้งาน แล้วดูว่าเวลาใดที่ควรเปิดหน้าจอ Moto Display ขึ้นมา หลังจากแสดงผลได้ซักพักหน้าจอก็จะดับลงไปตามปกติ ทำให้ไม่เปลืองแบตเตอรี่ ซึ่งในระหว่างที่ทดสอบ ผมเปิดใช้งานฟังก์ชันนี้ตลอด และแบตเตอรี่ก็อยู่จนหมดวันได้อย่างสบาย
สำหรับการตรวจจับของฟังก์ชันนี้ว่าจะเปิดหน้าจอเมื่อไหร่ดี เท่าที่ผมสังเกตมา มันจะอิงจาก 2 ส่วนหลักๆ คือ
- เมื่อมีวัตถุเคลื่อนที่ผ่านเซ็นเซอร์วัดระยะ (Proximity Sensor) ที่อยู่ใกล้ๆ กล้องหน้า ซึ่งจะทำงานตลอดเวลา ตัวอย่างของการทำให้มันทำงานก็คือการวาดมือผ่านเครื่องที่วางนิ่งๆ บนโต๊ะ หน้าจอก็จะติดขึ้นมา
- เมื่อมีการยกมือถือขึ้นมา อยู่ในระดับและองศาที่ระบบคาดว่าผู้ใช้หยิบขึ้นมาดูหน้าจอ ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับพวกสมาร์ทวอทช์ในปัจจุบัน ที่หน้าจอจะติดขึ้นมาเอง เมื่อตรวจจับได้ว่าผู้ใช้ยกข้อมือขึ้นมา
ซึ่งฟังก์ชันนี้ก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้ไม่น้อยทีเดียว ทำให้บางครั้งเมื่อมีการแจ้งเตือนเข้ามา ผมก็ไม่ต้องปลดล็อคหน้าจอเพื่อเข้าไปอ่าน เพราะสามารถดูได้เลยว่ามาจากแอปใด รวมถึงสามารถอ่านแบบคร่าวๆ ได้เลยอีกด้วย โดยการอ่านก็ทำได้ง่าย แค่กดที่ไอคอนของแอปที่แจ้งเตือนค้างไว้
สำหรับการอ่านข้อความแจ้งเตือนคร่าวๆ นั้น ในภาพด้านบนก็เป็นตัวอย่างข้อความที่ผมได้รับจากการแชตใน Line ครับ ก็จะมีภาพและข้อความของอีกฝ่ายขึ้นมาให้ดูได้เลย รวมถึงยังสามารถตอบกลับได้อีกด้วย (แต่มันก็จะเป็นการปลดล็อค เพื่อไปตอบใน Line อยู่ดี)
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมพบว่ามันสะดวกมากกับการใช้งานฟังก์ชัน Moto Display ก็คือเวลาได้รับ SMS ประเภท OTP จากการทำธุรกรรมขณะที่หน้าจอปิดอยู่ เพราะผมสามารถดูเลข OTP และนำไปกรอกในอุปกรณ์อื่นได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาปลดล็อคหน้าจออยู่ เป็นต้น
Camera
กล้องหลังของ Moto X4 ที่ให้มาสองเลนส์นั้น ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วในส่วนต้นของรีวิวครับ คือเลนส์หนึ่งเป็นเลนส์ธรรมดา อีกเลนส์จะเป็นเลนส์มุมกว้างพิเศษ (ultra wide) โดยแต่ละเลนส์มีคุณสมบัติดังนี้
- เลนส์ปกติ: ถ่ายภาพได้ความละเอียดสูงสุด 12 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.0 โฟกัสอัตโนมัติ ปรับระยะโฟกัสได้ focal length 3.99
- เลนส์ไวด์: ถ่ายภาพได้ความละเอียดสูงสุด 8 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.2 ไม่สามารถปรับระยะโฟกัสได้ focal length 1.92 องศาการรับภาพ 120 องศา
ดังนั้นก็จะเห็นความแตกต่างของภาพที่จะได้ทั้งสองเลนส์แล้วนะครับ โดยตัวของเลนส์ไวด์จะเก็บภาพได้กว้างกว่าจริง แต่ในแง่ของความละเอียดก็จะลดลงเล็กน้อย อาจถ่ายในที่มีแสงน้อยได้ลำบากกว่าเลนส์ปกตินิดหน่อย และที่สำคัญคือระยะโฟกัสมันตายตัว ไม่สามารถปรับได้ ทำให้การถ่ายวัตถุที่ระยะใกล้กว่าทางยาวโฟกัสของมันทำได้ลำบาก เพราะวัตถุนั้นอาจเบลอไปเลย จึงเหมาะกับการใช้ถ่ายวิวระยะไกลๆ มากกว่า ซึ่งก็จะเห็นได้ชัดจากแกลเลอรี่ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง Moto X4 ซึ่งอยู่ท้ายสุดของส่วนการรีวิวกล้องนะครับ สำหรับภาพที่ถ่ายวัตถุเดียวกัน ภาพแรกจะเป็นจากเลนส์ปกติ ภาพที่สองจะเป็นจากเลนส์ไวด์
นอกเหนือจากการให้มาสองเลนส์แล้ว ก็ยังมีฟีเจอร์เสริมให้ถ่ายรูปได้สนุกๆ อีกด้วย โดยจะถูกแยกออกเป็นโหมดต่างๆ ดังนี้ครับ
- โหมด Photo สำหรับถ่ายภาพทั่วไป
- โหมด Spot Color คือโหมดที่ให้ผู้ใช้จิ้มสีในภาพพรีวิวบนจอก่อนถ่าย เพื่อเลือกให้ภาพที่ออกมา มีแต่สีที่เลือกเท่านั้น เช่นหากภาพที่จะถ่ายเป็นภาพต้นไม้มีใบสีเขียว ถ่ายเราจิ้มสีเขียว ภาพที่ออกมา สีอื่นๆ นอกจากสีเขียวก็จะจางกว่าปกติ แถมยังเลือกระดับความจางของสีอื่นๆ ได้อีกด้วย
- โหมด Panorama ก็สำหรับถ่ายภาพาโนรามา
- โหมด Depth enabled คือโหมดสำหรับการถ่ายภาพแบบชัดลึก หรือที่เข้าใจง่ายๆ คือพวกการถ่ายหน้าชัดหลังเบลอนั่นเอง ซึ่งสามารถเลือกระดับความเบลอได้ทั้งก่อนถ่าย และหลังถ่ายเลย
- โหมด Face Filters คือการใส่หน้ากากให้กับหน้าบุคคลในภาพที่จะถ่าย
- โหมด Professional ก็คือโหมดโปรที่ให้ผู้ใช้ปรับตั้งค่าก่อนถ่ายได้ เช่น ค่าความเร็วชัตเตอร์ ค่า ISO ระยะโฟกัส เป็นต้น
ซึ่งนอกเหนือจากลูกเล่นตั้งแต่ก่อนถ่ายภาพแล้ว หลังถ่ายก็ยังสามารถเอาภาพมาปรับแต่งได้จากในเครื่องอีกด้วย นับตั้งแต่การปรับแต่งแบบพื้นฐานอย่างพวกปรับสีสัน ไปจนถึงการปรับแต่งต่อจากลูกเล่นของแอปกล้อง เช่นถ้าหากถ่ายภาพด้วยโหมด Depth enabled มา ก็จะสามารถนำภาพนั้นมาปรับแต่งเสมือนว่ามีการแบ่งเลเยอร์ภาพระหว่างวัตถุกับฉากหลังเลยทีเดียว ตัวอย่างของการปรับแต่งที่ทำได้ก็เช่น การปรับความเบลอของฉากหลัง การเปลี่ยนจุดเบลอ การเลือกให้ฉากหลังเปลี่ยนเป็นสีขาวดำ โดยที่วัตถุด้านหน้ายังเป็นภาพสีอยู่ รวมถึงยังสามารถตัดฉากหลังออก แล้วเอาภาพอื่นมาเป็นฉากหลังแทนก็ยังได้ อย่างในภาพด้านบนที่แอปทำการตัดฉากหลังออก แล้วผมเอาภาพคีย์บอร์ดมาใช้เป็นฉากหลังแทน
ซึ่งระดับความเนียนของการแยกฉากหลัง และการจัดการวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการแยกระดับความลึกตื้นของภาพ ก็อยู่ในระดับที่พอใช้งานได้ครับ แต่คาดว่าหลังจากนี้ กับการเข้ามามีบทบาทของ AI ก็น่าจะทำให้งานในส่วนนี้ออกมาดีขึ้น เนียนขึ้นกว่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน สำหรับแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ก็จะเป็นภาพตัวอย่างที่ถ่ายจากโหมด Depth enebaled ครับ สำหรับภาพแรกของแต่ละชุดจะเป็นภาพที่ถ่ายจากโหมด Auto ตามปกติเช่นเคย
สำหรับด้านล่างนี้คือแกลเลอรี่ตัวอย่างภาพจากกล้องหลัง Moto X4 ครับ
ส่วนการเซลฟี่จากกล้องหน้า ก็มีโหมดให้เลือกเล่นพอสมควร จะแต่งหน้าเนียนใส ใส่เฟรมเอฟเฟ็คท์ในภาพก็ทำได้เช่นกัน โดยมีจุดเด่นคือให้ภาพความละเอียดสูงสุด 16 ล้านพิกเซล ตัวเซ็นเซอร์รับภาพก็ใช้เม็ดพิกเซลขนาดใหญ่กว่าเซ็นเซอร์กล้องหน้าปกติ ทำให้สามารถรับแสงได้มากขึ้นถึง 300% ช่วยให้การถ่ายเซลฟี่ในที่มีแสงน้อยทำได้ดีมากขึ้น ตัวอย่างภาพก็ตามนี้เลย
Performance
แง่ประสิทธิภาพ Moto X4 ก็ทำคะแนนจากแอปทดสอบประสิทธิภาพได้อยู่ในระดับกลางๆ ด้วยชิปประมวลผลอย่าง Qualcomm Snapdragon 630 ผนวกกับแรม 4 GB ซึ่งจัดว่าเพียงพอสำหรับการเล่นเกม และลื่นไหลมากๆ สำหรับการใช้งานทั่วไป แต่ในช่วงที่ผมทำการทดสอบเจ้า Moto X4 ดูเหมือนว่าแอป CPU-Z จะยังแสดงผลได้ไม่ถูกต้อง เพราะมันแจ้งว่าชิปประมวลผลใน Moto X4 ที่ผมทดสอบนั้นเป็น Snapdragon 835 ซะอย่างนั้น (แต่ตรง GPU มันถูกนะ)
การใช้งานแบตเตอรี่ของ Moto X4 ด้วยรูปแบบการใช้งานแบบธรรมดาทั่วไป ใช้ Line Facebook คุยโทรศัพท์ ถ่ายรูป ต่อ 4G LTE ตลอดเวลา ฟังเพลงผ่านหูฟัง Bluetooth โดยเริ่มถอดสายชาร์จตอนเกือบ 8 โมงเช้า พบว่าพอช่วง 4 โมงเย็น แบตผมเหลืออีกตั้ง 65% (วันนั้นอาจจะเป็นช่วงที่ผมไม่ค่อยได้ใช้งานมือถือระหว่างทำงานมากนัก จึงใช้งานได้ยาวนาน) ส่วนหลังจากนั้นก็มีการใช้งานมากขึ้น เช่น การเล่นเกมในระหว่างการเดินทาง เมื่อถึงเวลาประมาณหนึ่งทุ่มครึ่ง แบตเตอรี่ก็เหลือราวๆ 35%
แต่ถ้าเฉลี่ยในช่วงที่ผมทดสอบและใช้งานจริงนั้น แบตเตอรี่ของ Moto X4 เรียกว่าอยู่ได้หมดวันอย่างสบายๆ แม้บางวันผมจะใช้ปล่อย hotspot ให้คอมพิวเตอร์ ก็ยังเหลือแบตกลับบ้านได้โดยแบบไม่ต้องชาร์จระหว่างวันเลยด้วยซ้ำ ตรงจุดนี้นับว่าเป็นจุดแข็งของมือถือ Moto ในยุคนี้เลยก็ว่าได้ครับ
ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่ ผมเก็บข้อมูลไว้ดังนี้
ในการชาร์จครั้งนี้ ผมใช้สายชาร์จและอะแดปเตอร์ TurboPower ที่แถมมาในกล่องทั้งคู่ ระหว่างชาร์จก็เชื่อมต่อ WiFi และเครือข่ายมือถือตามปกติ เพียงแต่ไม่มีการใช้งานเครื่อง ซึ่งประสิทธิภาพในการชาร์จเร็วก็ไม่ผิดหวังครับ สามารถชาร์จแบตจาก 9% ขึ้นมาเป็น 52% ได้ภายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง โดยไฟที่เข้าเครื่องจากการอ่านด้วยอุปกรณ์วัดกระแสไฟพบว่าอยู่ที่ประมาณ 5.2V 2.8A เกือบตลอดช่วงที่ชาร์จ โดยสามารถชาร์จจนเกือบเต็มได้ในเวลาราวๆ หนึ่งชั่วโมงครึ่ง