นับจากปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็น LG G2 กันไป หลายๆ ท่านที่ได้ใช้งานคงได้รับความประทับใจกันไปในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะตัวเครื่องที่เล็ก ขอบจอที่บาง อายุการใช้งานแบตเตอรี่ยาวนาน รวมไปถึงกล้องถ่ายรูปที่ทำออกมาได้ดีน่าพอใจในระดับรุ่นไฮเอนด์ จึงเป็นที่คาดหวังกันว่า?LG G3?ที่ออกมาต่อยอดนี้ น่าจะทำได้ดีกว่ามาตรฐานที่ G2 เคยสร้างไว้ และแน่นอนครับ ว่าทางเรา SpecPhone เราก็ไม่พลาดที่จะหยิบเจ้า LG G3 มารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกัน เนื่องด้วยเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่มีกระแสการตอบรับมากพอสมควร ทั้งการพูดคุยเปรียบเทียบกันในสังคมออนไลน์ และการสั่งจองเครื่องล่วงหน้าที่เต็มโควต้ากันไปก็มี เอาเป็นว่าเรามาชมรีวิว LG G3 กันเลยครับ
สเปค LG G3
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 801 (MSM8974-AC) quad-core ความเร็วสูงสุด 2.5 GHz มาพร้อมชิปกราฟิก Adreno 330
- แรม 2 GB รอม 16 GB (ที่จริงมีรุ่นแรม 3 GB รอม 32 GB ด้วย แต่ไม่น่าจะเข้าไทยแบบเป็นทางการ)
- เพิ่ม MicroSD ได้สูงสุด 128 GB
- หน้าจอ True HD-IPS ความละเอียดระดับ Quad HD (2560 x 1440) ขนาด 5.5 นิ้ว
- กล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล พร้อมแฟลช LED สองดวง มีระบบกันสั่น OIS+ พร้อมมีเลเซอร์ช่วยในการจับโฟกัส
- กล้องหน้า 2.1 ล้านพิกเซล
- รองรับ 3G ทุกเครือข่าย ใช้งาน 4G LTE ในไทยได้ ใช้ไมโครซิม
- Android 4.4.2 KitKat
- ปุ่มกดอยู่ด้านหลัง (Rear Key)
- ลำโพงพลังขับ 1W
- รองรับการชาร์จไฟแบบไร้สาย, มี NFC
- แบตเตอรี่ความจุ 3000 mAh สามารถถอดเปลี่ยนได้
- มีอินฟราเรดในตัว
- ราคา 20,990 บาท
- สเปค LG G3 เต็มๆ
ด้านของสเปค ต้องเรียกได้ว่า LG G3 มากับสเปคที่สมกับเป็นรุ่นท็อปแห่งปีจริงๆ ด้วยทั้งชิปประมวลผลที่เลือกใช้ Snapdragon 801 เบอร์ท็อปสุดในขณะนี้ หน้าจอก็ซัดไปที่ความละเอียดถึงระดับ 2K ในขนาด 5.5 นิ้ว ซึ่งดูเหมือนจะเทอะทะ แต่เอาเข้าจริงกลับใช้งานเครื่องได้ง่ายมาก เพราะ LG G3 มีขอบจอที่บางมากๆ นั่นเอง ส่วนสเปคด้านอื่นๆ ก็อยู่ในระดับของรุ่นท็อปปกติ จะมีจุดสังเกตนิดหน่อยก็คือเรื่องแรมและรอมของเครื่องศูนย์ไทย เนื่องจากทาง LG ประเทศไทยเลือกที่จะนำเข้าแต่รุ่นแรม 2 GB รอม 16 GB มาขายเท่านั้น ไม่ได้นำรุ่นแรม 3 GB รอม 32 GB มาขายเหมือนในหลายๆ ประเทศ ซึ่งในข้อนี้ LG ประเทศไทยก็ให้คำตอบว่า ถ้านำรุ่นสูงกว่ามาขาย ราคาจะกระโดดไปกว่านี้มากพอตัวเลย เราจึงได้เห็นแค่รุ่นเดียวก่อน ก็นับว่าน่าเสียดายนิดหน่อยครับ ส่วนตัวคิดว่าถ้าได้รุ่นแรมกับรอมมากกว่า แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มซัก 2,000 ก็ยังโอเคนะ ราคายังถูกกว่าตัวท็อปของหลายแบรนด์อยู่ด้วยซ้ำ จะว่าไปแล้ว สเปคของ LG G3 ก็แทบจะเรียกว่าเป็นสเปคเดียวกันกับ OPPO Find 7 ที่เรารีวิว (อ่านรีวิว OPPO Find 7) ไปก่อนหน้านี้เลยก็ว่าได้ จะต่างกันก็ตรงที่ LG G3 มีเลเซอร์ช่วยในการโฟกัสภาพให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วน OPPO Find 7 จะเด่นในเรื่องของฟีเจอร์การชาร์จไฟ VOOC ที่ชาร์จเร็วกว่าปกติ 4 เท่า ก็นับเป็นจุดเด่นที่แตกต่างกันไปสำหรับสองรุ่นนี้ครับ คราวนี้เรามาดูรายละเอียดอื่นๆ ในรีวิว LG G3 กันบ้างว่าจะเป็นอย่างไร เริ่มกันด้วยเรื่องดีไซน์ตัวเครื่องก่อนเลย
Design
รูปทรง หน้าตาของ ?LG G3 จะว่าไปแล้วก็มีความใกล้เคียงกับ LG G2 อยู่มากทีเดียว โดยเฉพาะโลโก้ LG ที่อยู่ด้านล่างหน้าจอ รวมไปถึงขอบจอเครื่องที่บางมากๆ ทำให้ยังสามารถจับเครื่องเพื่อใช้งานมือเดียวได้อยู่ ไม่เหมือนกับมือถือจอ 5.5 นิ้วหลายๆ รุ่นที่รูปทรงค่อนข้างใหญ่ตามขนาดหน้าจอ ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องนกเครดิตให้กับทีมดีไซน์ของ LG เลยจริงๆ ที่สามารถออกแบบและจับหน้าจอลงมาใส่ในบอดี้ขนาดนี้ได้ ทำให้การใช้งานค่อนข้างสะดวกมือกว่ารุ่นที่ขนาดหน้าจอใกล้เคียงกันตัวอื่นๆ
กลับมาที่งานดีไซน์กันต่อ ในครั้งนี้ LG เน้นการออกแบบตามคอนเซ็ปท์ที่ว่า “Simple is the New Smart” ก็คือเน้นการออกแบบให้เรียบง่ายที่สุด แต่ก็แฝงไปด้วยความฉลาด เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด เราจึงได้เห็นหน้าตาของ LG G3 ออกมาค่อนข้างเรียบ แต่ก็ไม่ได้คล้ายกับ G2 ไปซะทีเดียว เพราะได้มีการเพิ่มกิมมิคของความหรูหราเข้ามาด้วย เพื่อให้สมกับการเป็นรุ่นไฮเอนด์แห่งปีของ LG ซึ่งสิ่งที่ LG เลือกทำก็คือการออกแบบรายละเอียดหลายๆ จุดให้มีความแวววาว หรูหราในแบบของโลหะ จุดที่เห็นได้ชัดก็นับตั้งแต่ฝากล่อง มาถึงฝาหลังที่ทำลวดลายคล้ายๆ อะลูมิเนียมบรัชเป็นลายทาง ซึ่งเมื่อมองด้วยสายตาเปล่าก็จะนึกว่าเป็นโลหะได้อย่างง่ายดาย พอลองจับก็ให้ความรู้สึกที่คล้ายกับโลหะ แต่จริงๆ แล้ววัสดุที่ใช้เป็นแค่พลาสติกเท่านั้น ก็นับว่าเป็นพลาสติกเกรดดีเลยทีเดียว ซึ่งก็สอดคล้องกับวัสดุหลักของตัวเครื่องที่ใช้เป็นพลาสติกซะเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน
หน้าจอสุดคม?สวยนะ แต่เธอคมเกินไป
หนึ่งในจุดที่เด่นสุดของ LG G3 ก็คือหน้าจอขนาด 5.5 นิ้ว ที่มาพร้อมความละเอียดถึงระดับ Quad HD (2560 x 1440) หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าระดับ 2K ที่ละเอียดเกินระดับของ Full HD ขึ้นไปอีก จากที่แต่ก่อนเราจะได้เห็นความละเอียดหน้าจอระดับนี้ก็แต่ในจอ monitor รุ่นแพงๆ ซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปีนี้เราได้เห็นมันมาอยู่ในมือถือเรียบร้อยแล้ว ซึ่งภาพที่ออกมาจากจอ LG G3 ก็เรียกว่าคมชัดสมตามสเปคจริงๆ ภาพติดเหลืองนิดๆ สีสันสดใส แต่ไม่สดเกินไปตามสไตล์ของ LG ที่ไม่เน้นจอสีสดเกินจริง การไล่เฉดสี การแสดงโทนสีก็ทำออกมาได้ดีจริงๆ จากที่ผมเคยใช้ Nexus 5 มาก่อน พอมาใช้งาน G3 ต้องบอกว่าหน้าจอมันต่างกันมากจริงๆ และด้วยขนาดหน้าจอที่ใหญ่ระดับนี้ ทำให้มันสามารถใช้งานฟีเจอร์ Dual Window ที่ใช้งานสองแอพพร้อมกันบนหน้าจอเดียวกัน เช่นอาจจะอ่านหน้าเว็บไปพร้อมๆ กับการแชต LINE น่าเสียดายที่รองรับกับแอพอยู่ไม่เท่าไรเอง ตัวอย่างแอพที่รองรับก็เช่นแอพจาก Google, LINE, Gallery เป็นต้น โดยรวมดูแล้วก็น่าจะนับว่า LG G3 มาพร้อมหน้าจอที่ยอดเยี่ยม แต่จะมีจุดติดขัดอยู่สามประเด็นครับ
ข้อแรกคือ เรื่องการกินไฟ ที่แน่นอนว่าต้องกินไฟมากกว่าจอ Full HD ปกติแน่นอน ด้วยทั้งตัวฮาร์ดแวร์หน้าจอเองที่ต้องใช้พลังงานเยอะขึ้น และยังมีส่วนของ CPU/GPU ที่ต้องประมวลผลเพื่อเรนเดอร์ภาพให้หนักขึ้นไปอีก
ข้อสองคือ แอพพลิเคชันหลายๆ ตัวยังไม่รองรับการทำงานบนจอความละเอียดสูงถึงระดับ 2K โดยจะมีทั้งส่วนที่ไม่สามารถแสดงผลได้เต็มที่ 100% อย่างที่ควรจะเป็น และส่วนที่ไม่สามารถติดตั้งได้เลย โดยตัวอย่างที่ผมเจอกับตัวเองก็คือแอพ UP ของ Jawbone ที่ใช้ร่วมกับสายรัดข้อมือ Jawbone UP ซึ่งไม่สามารถติดตั้งบน LG G3 ได้เลย พอเข้าไปในหน้า Play Store ได้ ก็มีการแจ้งว่าแอพดังกล่าวไม่รองรับกับเครื่อง จึงไม่สามารถติดตั้งได้ไปเลย ข้อนี้คงต้องรอทางผู้สร้างแอพพลิเคชันจัดการอัพเดตแอพของตนกันไปก่อนล่ะนะ
ส่วนข้อสุดท้ายก็คือ เมื่อมองด้วยสายตา จะพบว่าภาพและตัวอักษรของ LG G3 มีความคมชัดมากเกินไป?(sharpness เยอะเกิน) ซึ่งถ้าใครที่เคยแต่งภาพมาในระดับหนึ่งจะพอทราบว่าถ้าเราเร่งความคมชัด (sharpen) มากๆ จะทำให้ขอบภาพ ขอบตัวอักษรมันดูชัดจนเกินไป ดูไม่เป็นธรรมชาติเหมือนที่สายตามองเห็นจริงๆ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมาจากด้านการปรับแต่งซอฟต์แวร์ของ LG เพราะจากที่ผมรีวิว OPPO Find 7 ที่ใช้หน้าจอ 2K เหมือนกัน ก็ไม่พบปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนความรู้สึกจากการใช้งานจริง มันจะมาสังเกตชัดในบางแอพ เช่นแอพ Gmail ที่จะเห็นตัวหนังสือชัดมาก ชัดเกินปกติ รวมถึงไอคอนแอพด้วย ตรงจุดนี้ก็หวังว่าทาง LG จะออกอัพเดตมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คือภาพมันสวยก็จริงนะ แต่พอบางจุดมันคมเกินไป โดยเฉพาะตัวอักษร มันทำให้อ่านได้ไม่สบายตาเท่าไหร่ ถ้าอยากชมตัวอย่าง ก็ชมจากภาพด้านล่างนี้ได้เลย
โดยตัวอย่างนี้เป็นการเปรียบเทียบความคมชัดระหว่างภาพที่ออกจากจอของ LG G3 (ซ้าย) และ Nexus 5 (ขวา) ซึ่งถ้าชมภาพเต็มๆ จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าไอคอนและตัวอักษรจากจอ LG G3 มันคมเกินไปจริงๆ ยิ่งเห็นด้วยสายตาตัวเองก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างได้ชัดมากๆ ส่วนตัวผมชอบภาพเนียนๆ แบบ Nexus 5 มากกว่านะ ใช้งานได้นาน ไม่ล้าสายตาดี ก็หวังว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขในตัว G3 โดยไวก็แล้วกันเน้อ
พอเทียบเรื่องสีสันกับ Nexus 5 เห็นได้ชัดเลยว่า G3 ให้สีที่กินขาดมากๆ ทั้งเรื่องความสด ความอิ่มของสีสัน แต่เอาจริงๆ จะนำ Nexus 5 มาเทียบก็ไม่ถูกนัก เพราะเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นที่ไม่ได้ทำออกมาแบบเน้นเกรดของฮาร์ดแวร์เท่าไรนัก เอาไว้เป็นว่าถ้ามีโอกาส ทาง SpecPhone เราจะหยิบจอ LG G3 ไปเทียบกับเครื่องรุ่นไฮเอนด์รุ่นอื่นๆ ให้ชมกันนะครับ
พลิกมาดูที่ฝาหลังสุดพรีเมียมของ LG G3 กันบ้าง ธีมการออกแบบนับว่าเปลี่ยนจาก G2 ไปพอสมควรทีเดียว จากที่ใน G2 จะเน้นความฟรุ้งฟริ้งในแบบคาร์บอนไฟเบอร์ แต่พอมาใน G3 คอนเซ็ปท์ได้เปลี่ยนไปเป็นแนวฟรุ้งฟริ้งแบบเมทัลลิคแทน คือเปลี่ยนไปใช้การเคลือบผิวให้ดูเหมือนอะลูมิเนียมบรัช ซึ่งให้ทั้งความแวววาวเวลาสะท้อนแสง ให้ความสะดุดตา ทั้งยังช่วยทำให้มองเห็นรอยนิ้วมือได้ยากด้วย คราวนี้ก็ใช้งานเต็มที่ได้อย่างสบายๆ เพราะนอกจากจะมองรอยนิ้วมือไม่ค่อยเห็นแล้ว ยังทำความสะอาดง่ายอีกด้วย ส่วนผิวที่ดูเหมือนจะเป็นลายนั้น ที่จริงผิวเรียบทั้งแผ่นนะครับ ไม่ได้มีพื้นผิวขึ้นมาแบบอะลูมิเนียมบรัชจริงๆ วัสดุที่ใช้ก็เป็นพลาสติกที่แน่นหนา แข็งแรงพอตัว เหนียวบิดงอได้เล็กน้อย แต่รับรองว่าไม่แตกหักง่ายแน่นอน ข้างหลังก็เรียบๆ มีเพียงโลโก้ LG สกรีนติดอยู่เท่านั้น มีการเว้นช่องว่างไว้ให้โมดูลกล้องและแผงปุ่ม Rear Key แบบพอดีๆ ส่วนแผง NFC ก็ติดไว้กับแผงฝาหลังด้วย เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นที่มี NFC และสามารถถอดฝาหลังได้ เช่น Samsung Galaxy S5
สำหรับตำแหน่งต่างๆ บนฝาหลัง ช่องซ้ายสุดจะเป็นช่องสำหรับยิงแสงเลเซอร์เพื่อช่วยโฟกัสเวลาถ่ายภาพ ซึ่งส่วนนี้จะมาพูดถึงอีกทีในช่วงการรีวิวกล้อง LG G3 แล้วกันนะ ถัดเข้ามาก็เป็นกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซลที่มีโมดูลกันสั่น OIS+ แบบฮาร์ดแวร์ติดตั้งอยู่ด้วย ใกล้ๆ กันนั้นก็คือแฟลช LED สองดวงที่ให้โทนสีไฟแฟลชแตกต่างกัน เหมือนๆ กับใน iPhone 5s และ HTC One M8 ส่วนที่เป็นไฮไลท์สุดก็คงหนีไม่พ้นแผงปุ่ม Rear Key ที่เป็นการย้ายปุ่มกดมาไว้ด้านหลังเครื่อง ที่เคยสร้างความแปลกใหม่ไปแล้วใน LG G2 คราวนี้มันกลับมาอีกครั้งพร้อมการปรับปรุงดีไซน์นิดๆ หน่อยเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ที่สังเกตได้ชัดสุดก็คือปุ่ม Power ตรงกลาง ซึ่งถูกปรับให้แบนลงและกลายเป็นปุ่มวงกลมแทน โดยมีการวางปุ่มเพิ่มและลดเสียงให้มีความนูนแบบลู่เข้าหาปุ่ม Power ส่งผลให้ปุ่ม Power สูงเด่นขึ้นมาจากรอบข้างเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้ว ตัวปุ่มกดก็ยังเรียบเนียนไปกับฝาหลังทั้งแผ่น ต่างจากใน LG G2 ที่ปุ่ม Power จะนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ตรงจุดนี้ก็นับว่าเป็นการปรับเปลี่ยนดีไซน์ที่ทำให้ตัวเครื่องดูปราดเปรียวยิ่งขึ้น ผสานไปกับตัวเครื่องที่ดูบางอยู่แล้วได้เป็นอย่างดี ด้านของช็อตคัตการกดปุ่มขณะปิดหน้าจอก็ยังเป็นเช่นเดิมอยู่ คือสามารถกดปุ่มเพิ่มเสียงค้างไว้เพื่อเรียกแอพ QuickMemo+ มาจดบันทึกได้ ส่วนการกดปุ่มลดเสียงค้างไว้ก็จะเป็นการเปิดแอพกล้อง (และยังใช้เป็นปุ่มชัตเตอร์กดถ่ายรูปได้ด้วยเช่นกัน) ส่วนด้านล่างของตัวเครื่องด้านหลังก็จะมีช่องลำโพง ที่ภายในมีลำโพงกำลังขับ 1W ซ่อนอยู่ เสียงที่ได้ก็จัดว่าอยู่ในระดับทั่วไปของสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ครับ เสียงดังดี โทนเสียงที่ได้นั้นค่อนข้างเน้นไปทางใสๆ โทนกลางมากกว่า ไม่จัดว่าเป็นจุดเด่นของ LG G3 ซักเท่าไร ที่แปลกนิดหน่อยก็คือในส่วนของ Bluetooth จะมีการตั้งค่าให้ใช้งาน G3 เป็นลำโพงให้กับอุปกรณ์เครื่องอื่นผ่านทาง Bluetooth ได้ด้วย
ถอดฝาหลังได้ ก็เอาใจไปเกินครึ่ง
อีกจุดที่นับเป็นจุดแข็งของ LG G3 ก็คือการที่มันสามารถถอดฝาหลังได้ จากที่รุ่นท็อปส่วนใหญ่มักจะมาในโครงสร้างที่ไม่สามารถถอดฝาหลังได้ แต่ G3 กลับเลือกที่จะทำให้ถอดฝาหลังได้ แค่นั้นยังไม่พอ แต่มันยังสามารถถอดแบตเตอรี่ได้อีกด้วย นับว่าเป็นหนึ่งฟังก์ชันที่เริ่มหาได้ยากแล้วในสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ คราวนี้ใครจะหาซื้อแบตเตอรี่มาสำรองเผื่อเปลี่ยนเวลาใช้งานก็สามารถทำได้สบายๆ เลย ส่วนช่องใส่ซิมและ MicroSD ก็จะวางอยู่ในตำแหน่งเดียวกันครับ สามารถถอด MicroSD ได้โดยไม่ต้องถอดแบตเตอรี่ แต่ถ้าหากจะถอดไมโครซิมออก อันนี้จำเป็นต้องถอดแบตก่อนด้วยนะ การแกะฝาหลังก็ไม่ยากนัก เพราะด้านข้างตัวเครื่องจะมีร่องสำหรับแกะฝาหลังให้อยู่แล้ว โดยประโยชน์ของฝาหลังที่ถอดออกได้ นอกจากจะเพื่อใส่การ์ดต่างๆ และเปลี่ยนแบตเตอรี่แล้ว ยังทำให้สามารถเปลี่ยนมาใช้งานเคสฝาพับ QuickCircle ได้อีกด้วย
เนื่องด้วยปุ่มกดทั้งสามย้ายไปอยู่ด้านหลังกันหมด ทำให้ด้านข้างของ G3 ไม่มีปุ่มกดใดๆ อยู่เลยเหมือนกับใน G2 โดยด้านบนก็มีเพียงแค่ช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน ส่วนช่องใหญ่กว่านั้นจะเป็นช่องรับส่งสัญญาณอินฟราเรดเพื่อใช้งานร่วมกับแอพ QuickRemote ที่สามารถใช้งานแทนรีโมตปกติได้เลย ด้านล่างมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรตามปกติ ถัดมาเป็นช่องรับเสียงของไมค์สนทนา, ช่อง Micro USB สำหรับชาร์จไฟ ด้านข้างจะมีก็แต่ด้านขวาเท่านั้นที่มีช่องสำหรับแงะฝาหลังออกจากตัวเครื่อง
สำหรับภาพการแกะกล่องและอุปกรณ์ภายใน จะรวมไว้อยู่ในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้นะครับ โดยอุปกรณ์ที่แถมมาในกล่องก็จะมี
- สาย Micro USB ที่เนื้อสายค่อนข้างแข็งและหนาดีมาก
- อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ ซึ่งสามารถจ่ายได้ได้สูงสุด 5V 1.8A
- หูฟัง Quadbeat 2 ที่เป็นแบบ In-Ear พร้อมจุกยางสำหรับเปลี่ยนภายในห่อ
- เอกสารคู่มือสั้นๆ และเอกสารการรับประกัน
นอกจากนี้ยังมีภาพตัวกล่องของเคส QuickCircle และแท่นชาร์จไร้สายด้วยครับ ซึ่งตัวแท่นชาร์จไร้สาย ในกล่องก็จะมีมาแค่แท่นชาร์จและเอกสารนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ไม่ได้แถมสาย USB และอะแดปเตอร์มาให้ ดังนั้นจึงต้องไปใช้งานอะแดปเตอร์ที่ให้มากับตัวเครื่องแทน
รับชมภาพถ่ายตัวเครื่องแบบเต็มๆ กันได้จากแกลเลอรี่ LG G3 ด้านล่างนี้เลย
Software
ด้านของซอฟต์แวร์ LG G3 ก็มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 4.4.2 KitKat ซึ่งครอบมาด้วยอินเตอร์เฟสดีไซน์ใหม่ของ LG โดยเน้นไปที่ความเรียบง่ายในการออกแบบ ลดทอนส่วนเกินเช่นแสงเงา หรือส่วนที่ดูล้นๆ จากรูปแบบเดิมๆ ออกไป มีการเล่นแสงเงาเล็กน้อยเพื่อให้ไอคอนไม่แบนราบเรียบ เลือกใช้โทนสีอ่อนๆ แบบพาสเทลคล้ายกับใน ZenUI ของ ASUS ผลที่ได้ออกมาก็จัดว่าโอเคเลยทีเดียวครับ อย่างไรก็ตาม ก็แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลอยู่ดีสำหรับเรื่องดีไซน์
ส่วนของฟังก์ชันการทำงานต่างๆ ก็มีมาอย่างครบถ้วนทั้งฟังก์ชันของ Android เอง ซึ่งบางจุดก็มีการปรับแต่งให้ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น อย่างเช่นหน้า Recent Apps ที่มีให้เลือกแสดงผลด้วยกัน 3 ขนาด ทำให้สามารถดูหน้าจอของแอพที่เปิดใช้งานอยู่ได้ง่ายขึ้น ส่วนของไอคอนแอพในหน้ารวมแอพก็จะมีให้เลือกว่าจะแสดงผลเป็น 4 หรือ 5 แถว แต่ที่น่าสนใจคือผู้ใช้งานสามารถเลือกซ่อนไอคอนบางแอพได้ด้วย ถ้าใครไม่อยากใช้งานแอพไหนก็แค่ซ่อนไปเท่านั้นเอง ด้านของแอพต่างๆ ที่ติดตั้งเข้าไปใหม่ก็สามารถย้ายไปเก็บไว้บน MicroSD ได้ด้วย (แต่ได้แค่บางแอพเท่านั้น ทำไม่ได้ทุกแอพ) ต่อมาคือ?Smart Notice ที่แสดงผลในรูปแบบของวิดเจ็ต (ในรูปขวาล่างสุด) ซึ่งเป็นส่วนที่คอยแสดงข้อมูลล่วงหน้าให้กับเรา เช่นถ้ามีข้อมูลพยากรณ์อากาศว่าอาจมีฝนตก Smart Notice ก็จะเตือนให้เราพกร่มออกมาด้วย ถ้าแบตเตอรี่ใกล้หมด มันก็จะเตือนให้เราเปิดใช้งานโหมด Battery Saver เพื่อยืดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น รวมถึงถ้าหากมีเบอร์ใดเบอร์หนึ่งโทรหาเราบ่อยๆ หรือเราโทรไปบ่อยๆ ก็จะแจ้งเตือนให้เราบันทึกเบอร์และชื่อเอาไว้ได้ด้วย ส่วนตัวผมว่ามันก็ฉลาดในระดับหนึ่งนะ พอใช้งานได้อยู่
ฟีเจอร์พื้นฐานที่หลายคนพอทราบกันอยู่แล้วอย่าง Knock-On ที่สามารถแตะหน้าจอติดๆ กันสองครั้งเพื่อเปิดหรือปิดหน้าจอ รวมถึง Knock Code ที่สามารถสร้างรหัสล็อกหน้าจอที่ต้องปลดล็อกโดยการเคาะหน้าจอตามรูปแบบที่ตั้งไว้ก็ยังคงมีให้ใช้งานอยู่ ซึ่งช่วยเพิ่มทั้งความปลอดภัยของข้อมูลและความสะดวกในการใช้งานได้มากทีเดียว โดยผู้ใช้สามารถตั้งรหัสผ่านได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เคาะ 3 ไปจนถึง 8 ตำแหน่งได้เลย ทำให้สามารถสร้างรหัส Knock Code ที่เป็นไปได้มากกว่า 80,000 รูปแบบเลย (ถ้าตั้งแล้วยังมีคนมาเดาถูกได้อีก ก็ให้เครื่องเขาไปเถอะ คนเดาได้คงสุดยอดจริงๆ) ปิดท้ายด้วยส่วนของปุ่มสั่งงานด้านล่างหน้าจอที่ใช้เป็นแบบซอฟต์แวร์ ส่วนนี้ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าได้ครับว่าจะให้มีปุ่มใดบ้าง ตัวเลือกที่มีก็คือปุ่มโฮม, ย้อนกลับ, Recent Apps, ปุ่มดึงแถบ notifications ลงมา, ปุ่มเรียกใช้งาน QuickMemo+, ปุ่มเรียกใช้งานแอพเล็กๆ QSlide (เช่นเปิดแอพเครื่องคิดเลขเป็นหน้าต่างย่อยๆ บนหน้าจอ สามารถเปิดใช้งานพร้อมกันได้มากสุด 2 แอพ) และสุดท้ายคือปุ่ม Dual Window ซึ่งปุ่มทั้งหมดสามารถเรียกมาใช้งานได้พร้อมกัน 5 ปุ่ม สามารถเรียงตำแหน่งสลับกันได้ตามใจชอบ
ฟีเจอร์ต่อมาที่น่าสนใจก็คือ Dual Window ที่สามารถรันสองแอพพร้อมกันบนหน้าจอเดียวกันได้ การเรียกใช้งานก็เพียงแค่กดปุ่มถอยหลังค้างไว้ หรือจะกดปุ่ม Dual Window ที่มีให้ก็ได้ ซึ่งก็สะดวกกับการใช้งานดี ทั้งยังสามารถให้เปิดลิ้งค์ที่แนบมากับอีเมลในรูปแบบของ Dual Window ได้ด้วย แต่น่าเสียดายที่มีแอพรองรับแค่ไม่กี่ตัวเท่านั้น โดยนอกเหนือจากที่เห็นในภาพซ้ายสุดแล้ว ก็จะมีแอพ File Manager และ LINE เท่านั้นที่รองรับ ส่วนในภาพที่ 3 คือแอพ LG Health ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ โดยหน้าที่หลักๆ ก็คือเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหว การออกกำลังกายของผู้ใช้งานเป็นสถิติรายวัน รวมถึงคำนวณแคลอรี่ที่ใช้ไปแบบคร่าวๆ ให้อีกด้วย ทำงานโดยอาศัยเซ็นเซอร์นับก้าวเดินที่มีอยู่ในเครื่องเป็นหลัก สามารถเก็บบันทึกการออกกำลังกายได้หลายรูปแบบ เช่น การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน การปีนเขา รวมไปถึงการเล่นสเกตด้วย นอกจากนี้ยังมีโหมดบันทึกระยะทางและตำแหน่งที่เราออกกำลังโดยผูกกับแผนที่ได้ด้วย แต่จะต้องเปิดใช้งาน GPS แบบ High-Accuracy ที่เรียกใช้งานทั้ง GPS จริงๆ ประกอบกับข้อมูลบอกตำแหน่งของเครือข่ายมือถือที่เราใช้งานด้วย ซึ่งกินแบตเตอรี่มากพอสมควรทีเดียว
อีกหนึ่งแอพที่น่าสนใจก็คือ Smart Cleaning ที่ติดตั้งมาให้กับระบบเลย ตัวแอพสามารถช่วยลบไฟล์ขยะในเครื่องได้อย่างง่ายดาย โดยสามารถลบได้ทั้งไฟล์ขยะ ไฟล์แคชของแอพ ไฟล์ที่ดาวน์โหลดมา รวมถึงแอพที่ไม่ได้ใช้งานเลย ซึ่งถ้าหากเราใช้เครื่องไปซักระยะ ส่วนของ Smart Notice ก็จะเตือนให้เราเข้ามาเคลียร์ไฟล์ขยะซะบ้างอีกด้วย ส่วนของคีย์บอร์ดที่ LG ทำเป็นของตนเองก็คือ Smart Keyboard มีจุดเด่นตรงที่สามารถปรับความสูงของแป้นพิมพ์ตามความถนัดของผู้ใช้ได้ ทั้งตัวคีย์บอร์ดยังมีการเรียนรู้การกดปุ่ม การวางนิ้วของผู้ใช้อีกด้วย เพื่อป้องกันการพิมพ์ผิดในภายหลัง
ปิดท้ายด้วยแอพ QuickRemote ที่คงจะคุ้นเคยกันไปแล้ว เพราะนับเป็นหนึ่งในแอพที่ LG ใส่มาในสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นของตน (แต่ความสามารถด้านฟีเจอร์การทำงานจะลดหลั่นกันไป) สำหรับใน LG G3 นี้ ผู้ใช้สามารถเพิ่มข้อมูลและสร้างรีโมทได้เอง โดยใช้รีโมทจริงยิงสัญญาณอินฟราเรดเข้ามาที่ช่องอินฟราเรดของ G3 เพื่อเพิ่มข้อมูล จากเท่าที่ใช้งาน ก็ไม่แน่ใจว่ารีโมทผมไม่ค่อยดี หรือซอฟต์แวร์ใน G3 ของผมไม่ค่อยดีกันแน่นะครับ เพราะหลังจากสร้างรีโมทเสร็จแล้ว ปรากฏว่ากดใช้งานไม่ค่อยจะได้เท่าไร ต่างจากใน G2 ที่เคยรีวิว ที่ทำครั้งเดียวก็ใช้งานได้สบายๆ เลย ไว้ทีหลังจะลองใหม่อีกรอบนะ
Feature
กลับมาดูส่วนฮาร์ดแวร์กันอีกรอบนะครับ แต่คราวนี้เป็นอุปกรณ์เสริมของ LG G3 ที่ได้มาพร้อมเครื่องนั่นคือเคส QuickCircle และแท่นชาร์จไร้สาย เรามาดูกันที่เคส QuickCircle กันก่อนครับ
ตัวของ QuickCircle จะใช้เป็นลักษณะของฝาหลังเครื่องที่มาฝาปิดหน้าจอด้วย ทำให้การใช้งานจำเป็นจะต้องแกะฝาหลังออกมา แล้วใส่ QuickCircle เข้าไปแทน ส่วนของฝาปิดด้านหน้าจะเป็นเส้นใยไนลอนถัก ผิวสากเล็กน้อย ที่กรอบวงกลมด้านหน้าจะมีขอบพลาสติกใสหุ้มอยู่โดยรอบ ซึ่งนอกจากจะให้ความแวววาวแล้ว ยังเป็นส่วนที่ช่วยเพิ่มความสวยงามเวลาใช้งานด้วย เพราะเมื่อเปิดใช้งานหน้าจอเล็กๆ ขึ้นมา จะมีแสงสว่างไล่มาตามเส้นขอบของช่องวงกลมพอดี ดูสวยงามหรูหรามากๆ ซึ่งอันที่จริงมันก็มีจากแสงสว่างของหน้าจอเองนี่ล่ะครับ ที่ฝา QuickCircle ไม่ได้มีกลไกใดๆ ส่วนด้านในฝั่งที่สัมผัสกับหน้าจอจะใช้เป็นผิวแบบซอฟต์ทัชที่เนียนมือมากๆ ไม่อุ้มน้ำ ด้านหน้าจะมีการเว้นช่องไว้สำหรับแสดงไฟ notification เล็กๆ และช่องลำโพงสนทนา ทำให้เราสามารถคุยโทรศัพท์บน G3 ทั้งๆ ที่ปิดฝา QuickCircle อยู่ได้ด้วย ทั้งนี้ ที่ฝา QuickCircle ไม่มีแม่เหล็กดูดติดกับตัวเครื่องนะครับ
สำหรับการใช้งาน LG G3 ร่วมกับ QuickCircle นั้น ตัวระบบสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้เครื่องล็อคหน้าจอเองเมื่อฝาปิดลงไปแล้วกี่วินาที ทั้งยังสามารถให้เครื่องเปิดหน้าจอเมื่อเปิดฝาเคสขึ้นมาด้วย (ถ้าไม่มีรหัสล็อคเครื่องใดๆ ก็สามารถใช้งานเครื่องได้เลย) เวลาใช้งานเครื่องจริงๆ ก็สามารถพับฝาตลบไปด้านหลังเครื่องได้เลย เพื่อทำให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
จุดที่น่าสนใจก็คือช่องเล็กๆ ของเคส QuickCircle ที่เว้นไว้สำหรับแสดงผลนี่ล่ะครับ โดยการเปิดหน้าจอขึ้นมาทำได้สองแบบคือจะกดที่ปุ่ม Power ที่แผง RearKey ด้านหลังเครื่องก็ได้ หรือจะใช้การเคาะหน้าจอในกรอบวงกลมสองครั้งติดกันก็ได้ด้วย ซึ่งการปิดหน้าจอก็เช่นเดียวกัน เมื่อเปิดหน้าจอเล็กแล้ว เราก็จะพบกับนาฬิกาเป็นอย่างแรกครับ (สามารถเปลี่ยนรูปแบบตามที่ระบบให้มาได้) ถ้าจะเปิดใช้งานแอพอื่นๆ ก็ให้ใช้นิ้วเลื่อนไปทางทิศใดก็ได้เพื่อพลิกนาฬิกาไปด้านหลัง จากนั้นจะพบกับ 6 แอพที่เรียกใช้งานได้ทันทีจากหน้าจอเล็ก ได้แก่
- LG Health ใช้แสดงได้ว่าเดินไปแล้วกี่ก้าว ระยะทางเท่าไร ผลาญไปแล้วกี่แคลอรี่
- แอพฟังเพลง ที่สามารถควบคุมการเล่นเพลงได้
- แอพกล้องถ่ายรูป สามารถถ่ายภาพจากหน้าจอนี้ได้ทันที
- แอพ SMS ใช้อ่านข้อความได้ (ถ้าติดรหัสล็อค จะไม่มีแอพนี้ขึ้นมา รวมถึงถ้าเปลี่ยนแอพ SMS ไปใช้ Hangout ของ Google แอพข้อความของ LG อันนี้ก็จะหายไป)
- แอพโทรศัพท์ (ถ้าติดรหัสล็อค ก็จะไม่มีแอพนี้ขึ้นมาเช่นกัน)
- การตั้งค่า ที่สามารถตั้งค่าเปลี่ยนรูปแบบนาฬิกาได้
ส่วนภาพด้านบนก็เป็นตัวอย่างการทำงานของแต่ละแอพนะครับ ส่วนอีกอันที่น่าสนใจก็คือเมื่อมีคนโทรเข้ามา ก็จะมีข้อมูลขึ้นมาบนหน้าจอเล็กๆ นี้ด้วย คือเบอร์ที่โทรเข้า พร้อมมีปุ่มให้กดรับหรือวางสายได้ เรียกว่าสามารถคุยโทรศัพท์ได้โดยไม่ต้องเปิดฝาขึ้นมาเลย สำหรับการใช้งานจริง พบว่าบางครั้งก็มีอาการหน่วงๆ เปิดไม่ค่อยขึ้นอยู่บ้าง เช่นแอพ LG Health และแอพฟังเพลงที่พบปัญหาเปิดในหน้าจอ QuickCircle ไม่ค่อยขึ้นเป็นบางครั้ง ดูแล้วน่าจะเป็นปัญหาที่ซอฟต์แวร์ และคงแก้ไขได้ไม่ยากนัก
มาดูพื้นผิวของฝาหลัง LG G3 ปกติ (ซ้าย) กับฝาหลังของเคส QuickCircle (ขวา) จะเห็นชัดเลยว่าพื้นผิวแตกต่างกัน สำหรับฝาปกติจะใช้พลาสติกที่ดูเหมือนอะลูมิเนียมบรัชลาย ส่วนฝาของเคส QuickCircle จะใช้เป็นพลาสติกที่มีร่องเป็นลายทางแนวขวางไปทั้งตัว แต่อย่างไรก็ตามฝาหลังทั้งสองแบบเลือกใช้พลาสติกที่หนาและแข็งแรงมากทั้งคู่
ของแถมอีกชิ้นที่ได้มาพร้อมการจองเครื่อง LG G3 ก็คือแท่นชาร์จไฟไร้สายจาก LG ตัวนี้ครับ ซึ่งสามารถพับลงมาในแนวนอนได้ ส่วนในภาพด้านบนจะเป็นการตั้งในโหมดพร้อมใช้งาน โดยมีช่อง Micro USB อยู่ด้านหลัง ตัวแท่นชาร์จโดยรวมมีน้ำหนักเบา สามารถตั้งเครื่องได้อย่างมั่นคงดี ด้านของการใช้งาน ในกล่องมีคำแนะนำว่าควรจะใช้งานแท่นชาร์จร่วมกับอะแดปเตอร์ 1.8A ที่แถมมากับตัวเครื่อง ส่วนตัวผมเองก็ลองเอาแท่นชาร์จมาใช้งานร่วมกับอะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟ 1A ตามปกติดู ผลคือชาร์จแทบไม่ค่อยเข้าเลย เนื่องจากในการชาร์จไฟแบบไร้สาย จะมีการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงไม่สามารถรับไฟได้เต็มที่เหมือนกับการชาร์จแบบมีสาย แล้วพอเอาไปลองชาร์จกับปลั๊กไฟที่มีพอร์ต USB (จ่ายไฟไม่ถึง 1A) อันนี้ถึงกับชาร์จไม่ได้เลย ไอคอนรูปแบตเตอรี่ขึ้นรูปกำลังชาร์จอยู่แค่ 1-2 วินาทีเท่านั้นก็ตัดเลย ส่วนในการใช้งานจริง เมื่อชาร์จไปได้ซักพัก ทั้งตัวเครื่องส่วนบนและแท่นชาร์จ ต่างก็ร้อนด้วยกันทั้งคู่ อัตราการชาร์จก็พอได้อยู่ครับ แต่ไม่ทันใจเท่าใช้สายชาร์จตรงๆ แถมแบตยังใหญ่ถึง 3000 mAh อีก กว่าจะชาร์จเต็มคงนานเอาเรื่องแน่ๆ
Camera
หลังจากที่เคยสร้างความประทับใจด้านกล้องไปแล้วกับ LG G2 มาใน G3 ก็เรียกว่ายังคงยกของเดิมมา แล้วอัพเกรดฮาร์ดแวร์หลายอย่างเข้ามาได้อย่างน่าสนใจทีเดียว ที่ชัดเจนสุดก็คือระบบกันสั่น OIS+ ในระดับฮาร์ดแวร์ที่ทำงานได้ดีขึ้น และระบบการใช้งานเลเซอร์เพื่อช่วยจับจุดโฟกัส (Laser AF)
ตัวระบบช่วยโฟกัสด้วยเลเซอร์ ต้องนับว่า LG G3 เป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกที่มาพร้อมเลเซอร์ช่วยโฟกัส ซึ่งปกติแล้วจะพบเห็นกันได้ในกล้อง DSLR ซะเป็นส่วนใหญ่ ช่วยให้โฟกัสได้เร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทาง LG ให้ข้อมูลว่าด้วยการใช้แสงเลเซอร์จะทำให้ใช้เวลาในการจับโฟกัสเร็วสุดเพียง 0.276 วินาที เร็วกว่ากระพริบตาเสียอีก โดยจะทำงานก็เมื่อเปิดใช้งานกล้องหลังเท่านั้น (แอพไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะแอพกล้องที่ติดมากับเครื่อง) ลักษณะการยิงเลเซอร์จะใช้การยิงถี่ๆ ตลอดเวลา โดยจะมีไฟดวงเล็กมากๆ กระพริบอยู่ในช่องดังที่เห็นในภาพซ้ายบน (ตอนถ่ายต้องถ่ายด้วยโหมดถ่ายภาพรัว ถึงจะถ่ายทัน) ไม่ส่งผลกระทบกับภาพถ่าย ไม่ถึงขั้นมีแสงส่องออกมาจากตัวเครื่อง ไม่ส่งผลกระทบกับสายตาตัวแบบ ดังนั้นวางใจได้เลยครับว่าไม่เป็นอันตรายแน่นอน เพราะความเข้มข้นของแสงเลเซอร์นั้นต่ำมาก ส่วนการใช้งานจริง ก็พบว่ามันช่วยในการจับโฟกัสได้ดี ระบบจับโฟกัสอัตโนมัติทำได้ค่อนข้างรวดเร็ว แม่นยำสมคำร่ำลือ สามารถจับโฟกัสในที่มีแสงน้อยได้ดีกว่ากล้องมือถือปกติอยู่นิดหน่อย รวมๆ แล้วน่าพอใจครับกับระบบการใช้เลเซอร์ช่วยโฟกัส
ส่วนการถ่ายภาพ สามารถกดถ่ายได้หลายแบบ สำหรับค่าเริ่มต้น ผู้ใช้งานสามารถแตะหน้าจอเพื่อเลือกจุดโฟกัสพร้อมถ่ายได้เลย ถ้าต้องการเลือกจุดโฟกัสอย่างเดียว ยังไม่ถ่ายก็ให้แตะที่ปุ่ม … เพียงเท่านี้ก็สามารถแตะเลือกจุดโฟกัสให้พอใจก่อน แล้วค่อยกดถ่ายได้แล้ว รวมถึงยังสามารถเลือกโหมดต่างๆ ได้อีกด้วย ส่วนปุ่ม Rear Key ด้านหลังเครื่องทั้งปุ่มเพิ่มและลดเสียงก็สามารถใช้กดถ่ายรูปได้เช่นกัน
ซอฟต์แวร์กล้องของ LG G3 อันนี้จัดว่าดรอปลงไปจาก G2 พอสมควร ส่วนหนึ่งก็ด้วยคอนเซ็ปท์การออกแบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของ LG ที่ต้องการความเรียบง่าย ใช้งานสะดวก อารมณ์ประมาณว่าแค่แตะจอก็ถ่ายได้เลย ทำให้การปรับแต่งต่างๆ หายไปมาก เช่น White Balance, Exposure ซึ่งใครที่ชอบปรับแต่งค่าต่างๆ ก่อนถ่ายภาพน่าจะขัดใจไม่น้อยเลยล่ะ ยังเหลือให้ปรับก็เพียงแค่ความละเอียดไฟล์ภาพ (ค่าเริ่มต้นจะตั้งมาให้ 10 ล้านพิกเซล 16:9 ถ้าอยากถ่ายเต็มๆ ก็ให้เปลี่ยนเป็น 13 ล้านพิกเซล 4:3) ส่วนวิดีโอก็ตั้งได้สูงสุดที่ระดับ 4K ซึ่งเท่าที่ลองถ่ายและดึงไฟล์ออกมาดู ก็ได้ที่ความละเอียดระดับ 4K เต็มๆ เฟรมเรตประมาณ 30 fps ตัววิดีโอมีความลื่นไหลดี โดยคลิปที่ผมลองถ่ายมีความยาวประมาณ 2 นาที ไฟล์มีขนาด 460 MB โดยประมาณ (439 MiB = 460 MB) เมื่อเทียบกับ OPPO Find 7 แล้ว ดูเหมือนว่าไฟล์ของ OPPO จะมีขนาดใหญ่กว่า G3 แต่ก็มีบิตเรตโดยรวมสูงกว่า G3 ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าถ่ายบ่อยรับรองเมมเต็มแน่ๆ ระหว่างถ่าย ตัวเครื่องก็ไม่ร้อนมากครับ กำลังดี
โหมดการถ่ายภาพก็มีให้มาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ที่น่าสนใจก็เช่นโหมดพาโนรามา, โหมด Dual ที่ทำให้เราสามารถถ่ายภาพจากกล้องหลังและกล้องหน้าพร้อมกันได้ และอีกโหมดก็คือ Magic focus ที่ทำให้สามารถถ่ายภาพแบบให้สามารถมาเลือกตำแหน่งโฟกัสภายหลังได้ โดยระบบจะถ่ายภาพที่หลายๆ ระยะโฟกัส ซึ่งต้องใช้เวลาในการถือเครื่องให้นิ่งซักระยะหนึ่ง ที่จะได้ยินเสียงจำลองเสมือนว่ามอเตอร์หมุนเลนส์ด้วย (ซึ่งมันก็หมุนจริงๆ) ส่วนการเลือกระยะโฟกัส จะต้องทำทันทีหลังถ่ายเสร็จเท่านั้น ต่างจากใน HTC One M8 ที่สามารถเลือกตำแหน่งโฟกัสใหม่เมื่อไรก็ได้ ตัวอย่างของภาพที่ได้จากโหมด Magic focus ก็คือภาพกลางและขวาของแถวล่าง โดยการจะใช้งานโหมดนี้ให้เต็มประสิทธิภาพที่สุด ต้องถ่ายในระยะที่ใกล้วัตถุ และมีพื้นหลังอยู่ไกลพอสมควรเลย ถึงจะเห็นความแตกต่างในการเลือกตำแหน่งโฟกัส
สำหรับความรู้สึกในการถ่ายภาพด้วย LG G3 ก็นับว่าโอเคครับ ถ้าไม่นับว่าการเปิดแอพกล้องค่อนข้างช้า การประมวลผลภาพก็ไม่ค่อยทันใจเท่าไร โดยเฉพาะการย้อนไปดูภาพที่ถ่ายที่ใช้เวลาเปิดค่อนข้างนาน ส่วนภาพที่ได้ พบว่าหลายๆ ภาพ จุดที่เป็นส่วนมืดของภาพ สีจะค่อนข้างจมไปหน่อย ภาพถ่ายในที่มีแสงน้อยก็ค่อนข้างโอเค โดยสามารถรับชมตัวอย่างภาพได้จากด้านล่างนี้เลยครับ ภาพเหล่านี้ไม่ได้ผ่านการปรับแต่งใดๆ ดึงจากมือถือมาแล้วก็โพสเลย
Performance
ประสิทธิภาพของ LG G3 จากการทดสอบด้วยแอพพลิเคชัน benchmark ตัวต่างๆ ผลที่ออกมาต้องบอกว่าไม่ค่อยน่าพอใจซักเท่าไรครับ เพราะคะแนน เฟรมเรตที่ออกมาไม่ค่อยสูงอย่างที่ควรจะเป็น ผลออกมาค่อนข้างแกว่ง คะแนนที่ออกมาส่วนใหญ่จะมีค่าน้อยกว่าคะแนนจาก OPPO Find 7 ที่ใช้สเปคเดียวกัน แถมบางครั้งยังน้อยกว่า LG G2 ซะอีกด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะเนื่องมาจากจอที่ความละเอียดสูงถึง 2K ทำให้ต้องใช้พลังในการประมวลผลมากกว่าปกติ คะแนนเลยไม่สูงมากนักอย่างที่ควรจะเป็น
ส่วนในแง่การใช้งานจริง?อันนี้ล่ะครับที่เป็นปัญหาหนักที่สุด?เพราะจากเท่าที่ลองใช้งานมา ผมเจออาการต่างๆ เหล่านี้ใน LG G3
- การเปิดแอพหลายๆ แอพทำได้ช้า เช่น Facebook (อันนี้เห็นชัดมาก), Gallery, LINE, แอพโทรศัพท์, Facebook Pages Manager, Timely, Twitter
- เวลาเปิดใช้งานแอพไปนานๆ พอกลับมาหน้าโฮม บางครั้ง G3 จะเรนเดอร์วิดเจ็ตและไอคอนแอพต่างๆ ใหม่ ซึ่งในระหว่างเรนเดอร์ หน้าจอจะเหลือแต่ wallpaper อย่างเดียว
- การเลื่อนหน้าจอยังไม่ค่อยไหลลื่นอย่างที่ควรจะเป็น
- เล่น Cookie Run แล้วภาพไม่ไหลลื่น เฟรมเรตตกจนเห็นความแตกต่างจากเครื่องอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
นี่ก็เป็นอาการคร่าวๆ ที่ผมเจอนะครับ ซึ่งถ้าจะโทษเรื่องจอความละเอียด 2K ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ไหลลื่นก็ไม่ใช่แน่ๆ เพราะสเปคเรียกว่าแรงเหลือเฟือกับชิป Snapdragon 801 ที่สำคัญคือ OPPO Find 7 ที่ทางเรารีวิวก่อนหน้านี้ยังสามารถใช้งานได้ไหลลื่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด การเปิดแอพก็ทำได้รวดเร็วกว่า LG G3 แถมจากที่ผมลองไปเล่น G2 เครื่องตัวโชว์หน้าร้าน การเปิดแอพพื้นฐานในเครื่องเช่นแอพโทรศัพท์ หน้าการตั้งค่าต่างๆ ยังจะเร็วซะกว่า G3 ในมือและ G3 เครื่องโชว์หน้าร้านซะอีก อันนี้คงเป็นการบ้านหนักของทาง LG แล้วล่ะนะครับ ที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวนี้อย่างไร และรวดเร็วขนาดไหน เพราะเท่าที่ผมดูจากกลุ่มผู้ใช้งาน LG G3 ในไทย ก็พบว่าหลายคนเจอปัญหานี้เหมือนกัน เพราะมันทำให้ขัดใจในเวลาใช้งาน ยิ่งเทียบกับ Nexus 5 ที่ใช้งานจริงจังก่อนหน้านี้ก็ยิ่งห่างกันไกลเลยทีเดียวในเรื่องของความไหลลื่น ซึ่งก็ไม่แปลกเท่าไร แต่มันดันลื่นไม่เท่า OPPO Find 7 นี่ล่ะครับ ที่เป็นปัญหา (สาเหตุที่ต้องหยิบ OPPO Find 7 มาเทียบบ่อยๆ ก็เพราะเป็นรุ่นที่สเปคเทียบเท่ากันกับ LG G3 ที่สุดในเวลานี้) จะใช้ dalvik หรือใช้ ART ก็ยังมีอาการหน่วงๆ ด้วยกันทั้งคู่
ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่?ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจของ LG G3 เท่าที่ผมลองใช้งานมาในระยะหนึ่ง พบว่าแบตของ G3 ไหลค่อนข้างเร็วเหมือนกัน โดยเฉพาะเวลามีการรับส่งข้อมูล แม้จะเป็นการอัพโหลดรูปผ่าน WiFi ก็ตาม ยิ่งถ้าอัพโหลดผ่าน 3G/LTE คงยิ่งเร็วกว่านี้เข้าไปอีก การใช้งานจริงก็ใช้งานได้เกือบวันครับ แต่ถ้าเล่นหนักๆ ต่อเน็ต ถ่ายรูปบ่อยๆ รับรองว่าอาจไม่ถึงครึ่งวัน การชาร์จไฟก็ต้องให้เวลากับมันซักหน่อย เพราะแบตเตอรี่มีความจุถึง 3,000 mAh แต่ก็หวังว่าน่าจะอึดกว่านี้ซักหน่อยนะ โดยปัจจัยที่น่าจะสำคัญสุดก็คือหน้าจอความละเอียดสูงนี่ล่ะครับ ที่เป็นจุดกินไฟสูงสุดของเครื่อง ซึ่งก็น่าจะพอสรุปได้สองแบบครับในกรณีนี้ คือ ไม่จอ 2K มาเร็วไปก็เป็นเรื่องของแบตเตอรี่ที่พัฒนาไม่ทันสเปคส่วนอื่นๆ ของระบบ ทำให้ปัญหาเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังกันอยู่ในปัจจุบัน สำหรับหนทางแก้ไข ก็คงต้องพก power bank กันไปก่อนล่ะนะครับ หรือจะซื้อแบตเตอรี่ก้อนที่สองมาใช้งานก็ได้ เท่าที่ผมลองสอบถามกับทาง LG พบว่าราคาก้อนละ 650 บาทเท่านั้น
Overall
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับรีวิว LG G3 จากเรา น่าจะตอบโจทย์ในใจหลายๆ ท่านได้ทีเดียวว่า LG G3 เป็นอย่างไร ดีมั้ย มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ซึ่งเท่าที่ใช้งานมา ปัญหาที่พบก็จะเป็นเรื่องของซอฟต์แวร์เป็นหลัก ก็หวังว่าจะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ส่วนเรื่องของฮาร์ดแวร์คงไม่มีอะไรต้องห่วงแล้วกับ LG G3 เพราะมาพร้อมทั้งสเปคสุดแรง หน้าจอสวยคม กล้องก็จัดอยู่ในระดับต้นๆ ของสมาร์ทโฟน ตัวเครื่องโดยรวมก็สวยเพรียว ไม่เทอะทะเหมือนรุ่นอื่นที่หน้าจอใกล้เคียงกัน แถมเปิดมาในราคาที่กำลังโอเคคือ 20,990 บาท ที่จัดว่าไม่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับรุ่นไฮเอนด์ตัวอื่นๆ ในตลาด นับเป็นสมาร์ทโฟนตัวท็อปสุดคุ้มรุ่นหนึ่งในเวลานี้เลยทีเดียวกับ LG G3
ข้อดี
- ตัวเครื่องไม่ใหญ่เทอะทะ ขอบจอบาง ดีไซน์โดยรวมออกมาดี
- สเปคแรง จอสวย
- งานประกอบดี วัสดุแข็งแรง
- กล้องหลังมาพร้อมเลเซอร์ช่วยโฟกัส ซึ่งทำให้โฟกัสได้เร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
- สามารถถอดฝาหลัง เปลี่ยนแบตได้
ขัอสังเกต
- การใช้งานจริงไม่ไหลลื่นอย่างที่ควรจะเป็น
- ถ้าใช้งานหนักๆ แบตเตอรี่หมดเร็วมาก
- การแสดงผลมีความคมชัด (sharpness) มากเกินไป ไม่เป็นธรรมชาติ
ด้านล่างนี้เป็นการเปรียบเทียบ LG G3 กับรุ่นอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันครับ