[Review] Jabra Elite Sport หูฟัง Bluetooth ไร้สาย วัดอัตราการเต้นหัวใจได้ สำหรับคนยุคใหม่ตัวจริง

Review-jabra-elite-sport-SpecPhone-2

สำหรับคนที่ชื่นชอบในการออกกำลังกาย น่าจะเข้าใจความรู้สึกถึงความลำบากเวลาจะเลือกซื้อหูฟังมาไว้ใช้ระหว่างออกกำลังกายอยู่ไม่น้อยทีเดียว เพราะหูฟังแบบมีสายตามปกติ ก็ต้องคอยกังวลว่าสายจะไปพันนู่น เกี่ยวนี่จนทำให้เกะกะระหว่างการวิ่ง การออกกำลังกายหรือเปล่า หรือหากไม่กังวลเรื่องความพะรุงพะรังของสาย ก็ต้องมาหาข้อมูลกันก่อนอีกว่ามันกันเหงื่อ กันความชื้นได้ขนาดไหน จะซื้อแบบ in-ear ดีๆ ไปเลย ก็กลัวว่ามันจะกันเสียงภายนอกเกือบทั้งหมดไม่ให้เราได้ยินเสียงอื่นๆ จนเกินไปอีก ส่วนเรื่องของหูฟังไร้สายนั้น ถ้าแต่ก่อนก็จะเน้นไปในด้านของการใช้สแตนด์บายรับสายสำหรับคุยโทรศัพท์เป็นหลักซะมากกว่า หูฟังไร้สายที่ใส่ออกกำลังกายได้ก็ถูกจำกัดด้วยเรื่องของเทคโนโลยีไร้สายที่ยังไม่สะดวกมากนัก แถมยังมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่และหนักเกินกว่าที่จะสะดวกกับการใช้งานซะอีกด้วย

แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆ ถูกพัฒนามากขึ้น ทำให้เราได้เห็นหูฟังไร้สายคุณภาพดีที่เหมาะกับการใช้ระหว่างออกกำลังกายเข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น พร้อมกับฟีเจอร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นกับหูฟังไร้สายที่เราจะมารีวิวในครั้งนี้อย่าง Jabra Elite Sport ครับ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วมันก็เหมือนกับตัว Jabra Sport Pulse ที่ออกมาก่อนหน้านี้เลย เพียงแต่เจ้า Elite Sport นี้เป็นแบบไร้สาย เพิ่มความสะดวกในการใช้งานได้มากขึ้นจริงๆ นั่นเอง

ก่อนจะไปพบกับรีวิวในส่วนต่างๆ มาชมข้อมูลเชิงเทคนิคของ Jabra Elite Sport กันก่อนครับ

  • สามารถขับเสียงที่ย่านความถี่ 20 Hz – 20000 Hz
  • มีระบบตัดเสียงรบกวนแบบ passive
  • เชื่อมต่อแบบไร้สายผ่าน Bluetooth 4.1
  • สามารถใช้งานได้กับอุปกรณ์ Bluetooth ได้แทบทุกชนิด (มือถือทุก OS, แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์)
  • ทำงานร่วมกับแอป Jabra Sport Life ที่มีอยู่ใน Android และ iOS
  • แบตเตอรี่ในตัวใช้ฟังเพลงได้นานติดต่อกัน 3 ชั่วโมง
  • มาพร้อมตลับเก็บซึ่งสามารถใช้ชาร์จหูฟังได้เต็ม 2 รอบ (เท่ากับเพิ่มระยะเวลาการใช้งานได้อีก 6 ชั่วโมง)
  • ไมค์สนทนาฝังมาในตัว 4 จุด
  • มีรีโมทควบคุมการทำงานอยู่ที่ตัวหูฟัง สามารถใช้งานเพียงข้างเดียวได้
  • มีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบ accelerometer 3 แกน (TrackFit Motion Counting Sensor)
  • กันน้ำได้ลึกสุด 1 เมตร นาน 30 นาที และกันฝุ่นตามมาตรฐาน IP67
  • น้ำหนักเบา
  • ราคา 9,700 บาท

จากสเปคข้างต้น จะเห็นว่า Jabra Elite Sport นี้เหมาะสำหรับใช้ควบคู่กับการออกกำลังกายมากๆ ไม่ว่าจะด้วยเซ็นเซอร์ทั้ง 2 อย่างภายใน ระยะเวลาการใช้งานของแบตเตอรี่ที่กำลังพอดีๆ กันน้ำกันฝุ่นได้ แถมยังมีแอปสำหรับช่วยเก็บข้อมูลการออกกำลังของเราได้อีก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงความสามารถในด้านของการติดต่อสื่อสารได้ด้วย ทีนี้แม้ว่าจะเป็นเวลาที่กำลังเข้าฟิตเนสอยู่ ก็จะไม่พลาดการติดต่อแน่นอนครับ

Review-jabra-elite-sport-SpecPhone-5

เมื่อเปิดกล่องภายนอกออกมา ก็จะพบกับกล่องใส่หูฟังสีดำอยู่ภายในอีกชั้น ขนาดที่สามารถพกพาได้สบาย ต้องบอกเลยว่าทำออกมาได้สมราคาจริงๆ ด้วยวัสดุของกล่องที่ดูแข็งแรง จะออกแรงกดหรือบีบก็ไม่ยุบลงไปแม้แต่น้อย

ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ที่ให้มาในกล่องก็จะเป็นพวก

  • Ear wing (ซิลิโคนรูปปีก ใส่เพื่อให้หูฟังกระชับกับใบหูส่วนใน) : 3 ขนาด
  • จุกยางซิลิโคน : 3 ขนาด
  • จุกโฟม : 3 ขนาด
  • สายชาร์จแบบ Micro USB (ใช้สายชาร์จมือถือตามปกติแทนได้)
  • เอกสาร คู่มือการใช้งาน

Review-jabra-elite-sport-SpecPhone-7

ตัวตลับเก็บหูฟัง เมื่อเปิดฝาขึ้นมาก็จะพบตัวหูฟังวางกระชับอยู่ในช่องของมันพอดิบพอดี และไม่มีช่องเหลือให้ใส่อุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติมแล้ว ทั้งนี้ก็คงเนื่องจากในตัวตลับนี้จะมีทั้งวงจรชาร์จไฟ และก็แบตเตอรี่อยู่ด้วยครับ

1

เมื่อหยิบตัวหูฟังออกมา ก็จะเห็นว่าช่องเก็บหูฟังแต่ละข้างนั้นจะมีขั้วทองเหลืองสำหรับชาร์จไฟเข้าหูฟังอยู่ด้วย ทำให้เวลาเราเก็บหูฟังลงตลับ ก็จะเป็นการชาร์จแบตเตอรี่จากตลับเข้าสู่หูฟังไปด้วยในตัว เหมือนกับ AirPods ซึ่งฟังก์ชันนี้เป็นฟังก์ชันพื้นฐานที่ผมว่ามีประโยชน์ดีครับ เพราะเวลาจะเก็บเราก็ต้องเก็บลงตลับอยู่แล้ว เพื่อป้องกันการสูญหาย

ส่วนจุดที่ใช้ชาร์จไฟเข้าตลับก็จะเป็นช่อง Micro USB อยู่ทางฝั่งขวา ขณะชาร์จไฟเข้าตลับก็จะมีไฟ LED ติดขึ้นมาแสดงสถานะการชาร์จ เช่นเดียวกับเวลาที่ตัวตลับชาร์จไฟเข้าหูฟัง ก็จะมีไฟ LED จุดเล็กๆ ติดขึ้นมาตรงใกล้ๆ กับด้านหน้าของฝาปิดชิ้นบน โดยหากกำลังชาร์จไฟเข้าอยู่ จะเป็นไฟสีแดง ส่วนถ้าแบตเตอรี่เต็มแล้ว ก็จะเป็นไฟสีเขียว เท่าที่ผมใช้งานจริง แบตเตอรี่มันก็อยู่ได้ราวๆ 3 ชั่วโมงจริงเหมือนกัน อาจจะเกินได้อีกนิดหน่อย ด้วยการฟังเพลงติดต่อกัน ปล่อยให้เซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจทำงานไปด้วยตลอดเวลา

Review-jabra-elite-sport-SpecPhone-10

หน้าตาของหูฟัง Jabra Elite Sport เต็มๆ ครับ วัสดุภายนอกก็คือพลาสติกนี่แหละ แต่คุณภาพทำออกมาได้ดี งานประกอบทำได้เยี่ยม ขนาดของตัวหูฟังแต่ละข้างก็จะประมาณนิ้วหัวแม่มือ น้ำหนักเบา ส่วนที่เห็นเป็นเครื่องหมาย + – ของข้างซ้าย และเครื่องหมายจุดทึบกับจุดโปร่งของข้างขวานั้น ก็คือบรรดาปุ่มควบคุมทั้งหลาย ที่สามารถใช้งานได้รวมกันสูงสุดถึง 8 ฟังก์ชันเลย ไว้เดี๋ยวจะรีวิวให้ชมกันว่ามันทำอะไรได้บ้างในส่วนของซอฟต์แวร์นะครับ

การที่ตัวหูฟังมีปุ่มควบคุมมาให้ครอบคลุมขนาดนี้ ทำให้เวลาใช้งานจริง ผมแทบไม่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาสั่งงานเลย จะเปลี่ยนเพลง หยุดเพลง ลดความดังเสียง รวมถึงใช้ควบคุมการทำงานของแอปได้อีก ทำให้มันเหมาะกับสายออกกำลังกายมากๆ เวลาวิ่งนี่สามารถเก็บมือถือลงกระเป๋าข้างเอว หรือใส่ไว้ใน armband ได้สบายๆ เลย

Review-jabra-elite-sport-SpecPhone-11

พลิกมาดูส่วนด้านในบ้าง จะมีการสลักบอกชัดเจนเลยว่าข้างใดเป็นข้างซ้ายหรือขวา รับรองว่าไม่ประสบปัญหาใช้ไปนานๆ แล้วตัวสกรีน L/R จะเลือนหายเลย ใกล้ๆ กันนั้นก็จะเป็นขั้วทองเหลืองสำหรับชาร์จไฟกับตลับที่แถมมา ส่วนของจุกหูฟัง ในตัวอย่างนี้เป็นจุกยางซิลิโคนขนาดเล็กครับ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของจุกส่วนในก็เป็นแบบเดียวกับพวกหูฟัง in-ear ขนาดมาตรฐาน ทำให้สามารถเปลี่ยนไปใช้จุกที่ต้องการ จุกที่คุ้นเคย รวมถึงเปลี่ยนไปใช้จุกโฟมที่แถมมา หรือจะเป็นจุกโฟมคุณภาพสูงที่มีขายตามร้านขายหูฟังชั้นนำก็ได้ หรือหากใครเป็นคนที่รูหูไม่เท่ากันอย่างผม จะผสมขนาดจุกให้ซ้ายเป็นจุกเล็ก ขวาจุกกลางก็ได้ ไม่ว่ากัน ขอให้มันฟิตเข้ากับรูหูได้ดีก็เป็นพอ

ด้านของ ear wing ที่เป็นปีกนั้น ก็สามารถถอดเปลี่ยนได้ไม่ยากนัก ครั้งแรกๆ อาจจะเล็งข้างที่ถูกต้องได้ลำบากหน่อย แต่ก็มีทริคให้ช่วยจำแนกข้างซ้าย/ขวาได้ไม่ยากครับ เพราะ ear wing สำหรับข้างขวานั้น จะมีช่องว่างติดกัน 2 ช่องอยู่ด้านล่าง เนื่องจากต้องเว้นช่องไว้ให้กับเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจนั่นเอง

ตัวหูฟังเองรองรับการกันน้ำกันฝุ่นตามมาตรฐาน IP67 ดังนั้นทำให้สามารถใส่ออกกำลังกายได้แบบไม่ต้องกังวล โดยเฉพาะจากเหงื่อ ขอแค่หลังใช้งานเสร็จ นำมาทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าก็เพียงพอแล้ว

Review-jabra-elite-sport-SpecPhone-8

เมื่อจัดการปรับเปลี่ยนขนาดจุกและ ear wing เรียบร้อย ตัว Jabra Elite Sport ก็พร้อมให้ใช้งานแล้ว สำหรับในการใช้งานจริง ตัวหูฟังมันเองทั้งสองข้างไม่ได้จัดว่าใส่ยากครับ แค่จับเอียงๆ แล้วยัดเข้าไป แต่จะมีปัญหากับข้างขวาซักนิดนึง เพราะถ้าใส่ไม่ถูกมุม ตัวแอปจะฟ้องว่าไม่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ และจะให้ผู้ใช้ขยับหูฟังจนกว่าจะจับอัตราการเต้นหัวใจได้ ถามว่าถ้ามันจับไม่ได้ จะยังใช้งานเป็นหูฟังตามปกติได้มั้ย? อันนี้ก็ตอบได้เลยว่ายังใช้ได้อยู่ครับ แต่มันจะมีเสียงแจ้งเตือนให้เราขยับหูฟัง จนบางครั้งผมต้องนั่งขยับอยู่พักนึง จนกว่ามันจะเข้าที่

ส่วนในการใช้งานจริง ผมลองทั้งใส่เดิน ใส่นั่งทำงาน ใส่วิ่ง ใส่กระโดด พบว่าหูฟังมันยึดติดกับใบหูได้ดีมาก แทบจะไม่ขยับจากจุดเดิมเลย แม้เหงื่อจะท่วมหัวก็ตาม แถมยังใส่สบายไม่รู้สึกปวดรูหูมากนัก แต่กลับมาพบปัญหาหูฟังหล่นก็ตอนที่ลูบผมด้านข้างใกล้ๆ ใบหู ปรากฏว่ามือไปโดนตัวหูฟังข้างซ้ายหล่นไปกลิ้งบนพื้นอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้ก็เนื่องจากตัวหูฟังมันมีลักษณะป้อมๆ ป่องเลยออกมาจากระนาบใบหูเล็กน้อย อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมันเบาจนผมลืมไปเลยว่าใส่หูฟังอยู่ เพราะฉะนั้นหากจะปาดผมหรือเช็ดเหงื่อแถวๆ ใบหูก็อาจจะต้องระมัดระวังซักหน่อยครับ ซึ่งก็นับเป็นเรื่องปกติของหูฟังไร้สายแบบไม่มีสายเชื่อมต่อระหว่างกันอยู่แล้ว ที่ผู้ใช้ต้องระมัดระวังมากกว่าหูฟังแบบมีสาย

แต่ด้วยความที่มันไม่มีสายเชื่อมต่อกันเอง ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานหูฟัง Jabra Elite Sport แบบข้างเดียวก็ได้ แต่ได้เฉพาะข้างขวา โดยตัวหูฟังจะมีระบบตรวจจับอัตโนมัติว่าตอนนี้ใช้งานอยู่ทั้ง 2 ข้างหรือไม่ ถ้ายังเสียบอยู่ที่ใบหูทั้ง 2 ข้างก็จะทำงานเต็มระบบ แต่พอถอดข้างซ้ายออก ระบบก็จะตัดการทำงานของข้างซ้ายทันที เมื่อเอากลับมาเสียบอีกรอบ เสียงก็จะกลับมาดังทั้งสองข้างตามปกติ แต่ถ้าหากถอดข้างขวาออก ข้างซ้ายก็จะหยุดทำงานด้วยทันที (คาดว่าระบบควบคุมหลักทั้งหมดจะอยู่ที่ข้างขวา)

ซึ่งส่วนตัวผมว่าก็เหมาะกับการใช้งานทั่วไปได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น หากระหว่างออกกำลังกายพร้อมกับฟังเพลงไปเพลินๆ แต่ดันมีสายโทรเข้ามา หากต้องการฟังเสียงภายนอกด้วย (หรือกลัวเราจะพูดเสียงดังไป) ก็ถอดหูฟังข้างซ้ายออกแล้วคุยไปตามปกติ พอคุยเสร็จ ก็หยิบหูฟังข้างซ้ายมาใส่ฟังเพลงต่อได้ทันที

Review-jabra-elite-sport-SpecPhone-9

ทีนี้กลับมารีวิวเรื่องพื้นฐานกันบ้าง กับการเชื่อมต่อ Bluetooth 4.1 ซึ่งสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่มีขายตอนนี้มักจะรองรับกันทั้งหมดอยู่แล้ว ทำให้เราสามารถใช้งานร่วมกับหูฟังไร้สาย Jabra Elite Sport ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยจากการที่ผมรีวิว หากเป็นการใช้เดินทั่วไปกลางแจ้ง นั่งทำงานที่โต๊ะในออฟฟิศ การเชื่อมต่อ การฟังเพลงสามารถทำได้ราบรื่นดี เกือบจะเหมือนหูฟังมีสายปกติเลยทีเดียว ส่วนตอนวิ่ง ระหว่างวิ่งผมก็ถือมือถือไว้ในมือด้วย ก็สามารถใช้งานได้ปกติดี จะมีช่วงที่เสียงเพลงกระตุกเล็กน้อย แต่ไปเจอปัญหาจริงๆ ก็ตอนเดินห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ครับ ถ้าใส่มือถือไว้ในกระเป๋ากางเกงนี่ พบว่าฟังเพลงแทบไม่ได้เลย ต้องเอาเครื่องมาถือไว้ในมือถึงจะพอฟังเพลงได้บ้าง

ส่วนแนวเสียงที่ได้นั้น ก็อยู่ในระดับที่ฟังเพลงสนุกพอได้อยู่เหมือนกัน ให้เสียงที่ครบทั้ง 3 ย่านหลักคือ ต่ำ (เบส) / กลาง / สูง แต่ละย่านก็ไม่ออกมามากเกินไป แต่ทั้งนี้มันก็เท่ากับว่าเสียงมันออกมาได้ไม่สุดด้วยเช่นเดียวกันครับ เหมาะกับคนที่ต้องการฟังเพลงแบบเรื่อยๆ ระหว่างทำงาน เดินทาง และออกกำลังกาย ซึ่งส่วนตัวผมว่าดีแล้วนะ จะได้ฟังได้นานโดยไม่ล้าหูเสียก่อน

2

ฝั่งของซอฟต์แวร์นี่ก็สำคัญไม่แพ้กันครับ โดยแอปที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับหูฟังไร้สาย Jabra Elite Sport ก็คือ Jabra Sport Life ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จาก:

iOS

appstore

Android

playstore

แต่ของฝั่ง Android จะต้องโหลด Jabra Service มาด้วยอีกตัวนะครับ

playstore

สำหรับตัวผมเองได้ทำการทดสอบหูฟังด้วยการเชื่อมต่อกับมือถือ Android พบว่าที่ไอคอน Bluetooth ตรงแถบด้านบน มีการแสดงปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ของหูฟังขึ้นมาด้วย

เมื่อเปิดแอปขึ้นมาครั้งแรก ก็จะมีการแนะนำข้อมูล การใช้งานและฟีเจอร์ต่างๆ ให้ได้อ่านกันก่อน รวมถึงให้กรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง วัน/เดือน/ปีเกิด นอกจากนี้จะมีกระบวนการทดสอบการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ทั้งในระหว่างที่ยืนนิ่งๆ และระหว่างวิ่งหรือกระโดดเป็นเวลา 15 วินาทีด้วย เพื่อที่ผู้ใช้จะได้เรียนรู้ตำแหน่งของการใส่หูฟัง (ข้างขวา) ว่าควรใส่ตำแหน่งใด ถึงจะสามารถวัดอัตราการเต้นหัวใจได้

สำหรับการวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่ใบหูนี้ เป็นอีกหนึ่งจุดที่สามารถใช้วัดได้ดี เผลอๆ จะดีกว่าข้อมือด้วยซ้ำ เนื่องจากเนื้อเยื่อส่วนใบหูนั้นมีความบาง ทำให้สามารถจับชีพจรได้ง่ายกว่าข้อมือที่มีความหนากว่า

Screenshot_20170301-191638

ทีนี้มาถึงส่วนการใช้ปุ่มสั่งงานแล้วครับ รูปแบบการใช้งานก็แบ่งตามข้างและปุ่มได้ดังนี้

Screen Shot 2017-03-05 at 4.04.53 PM

การสั่งงานของปุ่มทั้ง 4 จัดว่าครอบคลุมการสั่งการแบบพื้นฐานเมื่อใช้หูฟังได้ดีครับ แทบจะไม่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาระหว่างออกกำลังเลยก็ยังได้ แต่อาจต้องใช้เวลาในการจดจำรูปแบบการสั่งงานซักเล็กน้อย ว่ากดปุ่มนี้ แบบใด ถึงจะได้ตามที่ต้องการ

แกลเลอรี่ด้านบนนี้ก็เป็นหน้าตาของแอป Jabra Sport Life ครับ ไล่การทำงานตามลำดับภาพดังนี้

  1. หน้าแสดงแผนการฝึก (Training Plan) ซึ่งผู้ใช้ต้องไปตั้งค่าก่อนว่าเราต้องการจะฝึกอะไรบ้าง หนักขนาดไหน แล้วแผนที่ตั้งไว้จะแสดงในหน้านี้
  2. เป็นหน้าสำหรับเริ่มเก็บข้อมูลการออกกำลังแบบ realtime ที่สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นการออกกำลังแบบใด ให้เป็นแค่การเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ หรือจะตั้งเป้าก็ได้ตามที่ต้องการ
  3. การฝึกแบบ cross-training เพื่อเสริมความยืดหยุ่นและความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้ ซึ่งมีรูปแบบการฝึกที่หลากหลายมากๆ รวมถึงสามารถเพิ่มเข้าไปเองได้
  4. การทดสอบ VO2max เพื่อวัดสมรรถภาพในการลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายในขณะออกกำลังกาย
  5. ที่จริงแล้วในแท็บที่ 4 นี้จะเป็นหน้าที่รวมการทดสอบสมรรถภาพร่างกายรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจาก VO2max ด้วยครับ เช่น การทดสอบแบบ Cooper การทดสอบวัดอัตราการเต้นหัวใจขณะพักผ่อน แต่ค่าเบื้องต้นของแอปจะตั้งให้เป็นการทดสอบ VO2max มาให้แต่แรก

 

ด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างของข้อมูลที่แอป Jabra Sport Life ซึ่งทำงานร่วมกับหูฟังไร้สาย Jabra Elite Sport เก็บและสรุปมาให้ผมนะครับ ภาพแรกสุดเป็นภาพที่แคปมาในระหว่างการวิ่ง จะเห็นว่ามีการแสดงสถานะของหูฟังเอาไว้ครบถ้วนเลย ทั้งจำนวนข้างที่ใช้งานอยู่, อัตราการเต้นของหัวใจในขณะนั้น, ปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ และก็การเชื่อมต่อ GPS ที่ทำงานอยู่อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ข้อมูลอื่นๆ ก็เป็นข้อมูลแบบ realtime ด้วยเช่นกัน เช่น ระยะทาง เวลารวม โซนของอัตราการเต้นหัวใจ ทั้งหมดนี้ก็ทำให้เราสามารถวางและปรับแผนระหว่างออกกำลังกายได้ทันที อย่างบางท่านที่ต้องการคุมโซนของอัตราการเต้นหัวใจ ก็สามารถตรวจสอบ และปรับได้ทันที

ส่วนหน้าของข้อมูลสรุปหลังออกกำลังเสร็จ ก็จะมีหลายแท็บให้ดูข้อมูลกัน ทั้งการสรุปแบบตัวเลข สรุปแบบกราฟ สรุประยะทางบนแผนที่ แถมยังสามารถแบ่งช่วงการออกกำลังได้ค่อนข้างแม่นด้วย เพราะที่ผมลองทดสอบดู ผมทำการวิ่งสลับกับเดินเป็นช่วงๆ ไป พบว่ามันจะแยกเป็นช่วงให้เห็นด้วยว่าช่วงนั้นมีสถิติเป็นอย่างไรบ้าง (ในหน้า Splits)

อีกหนึ่งปัจจัยที่หลายท่านอาจจะสงสัยก็คือเรื่องตัววัดอัตราการเต้นหัวใจ ว่าแม่นยำขนาดไหน อันนี้จากที่ทดสอบ พบว่าความแม่นยำอยู่ในระดับเดียวกับ Apple Watch ครับ ก็เท่ากับว่าพอใช้สำหรับอ้างอิงเพื่อการออกกำลังกายแบบทั่วไปได้อยู่เหมือนกัน อาจจะมีได้ค่าแตกต่างจากอุปกรณ์ที่ใช้ในทางการแพทย์จริงจังอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก

ด้านของแผนช่วยการฝึก ผู้ใช้จะต้องสร้างแผนด้วยตนเองก่อนครับ โดยสามารถเลือกได้ว่าอยากจะฝึกหนักขนาดไหน ฝึกวันไหนบ้างแบบคร่าวๆ จากนั้นเมื่อเลือกเรียบร้อยแล้ว ระบบจะประมวลผล และสร้างแผนการฝึกที่เหมาะสมกับความต้องการ กับร่างกายของผู้ใช้มาให้ และจะมีการปรับเปลี่ยนแผนโดยอัตโนมัติหลังเราได้ทำการฝึกตามแผนไปแล้ว อิงจากข้อมูล สถิติการฝึกของผู้ใช้จริง เรียกว่าเสมือนมีโค้ชมาช่วยดูแลการฝึกอยู่ตลอดเวลาเลยทีเดียว

ส่วนด้านของการฝึกแบบ cross-training ก็จะมีรูปแบบการฝึกให้หลากหลาย แทบทุกส่วนของร่างกาย เมื่อเราเลือกรูปแบบที่ต้องการแล้ว ในระหว่างการฝึก จะมีรูปภาพมาให้ผู้ใช้ทำท่าตาม นับเป็นจำนวนครั้งไปแล้วแต่รูปแบบการฝึก เรียกว่าสามารถใช้งานได้ใกล้เคียงกับการมีเทรนเนอร์ส่วนตัวอยู่เหมือนกัน

Screenshot_20170301-202703

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ผมว่ามีประโยชน์ก็คือ HearThrough คุณสมบัติของมันก็ตรงๆ ตัวเลย คือทำให้ผู้ใช้ได้ยินเสียงภายนอกทะลุหูฟังเข้ามาได้ จะมีประโยชน์มากเวลาที่เราวิ่ง ออกกำลังกาย หรือกำลังฟังเพลงอยู่ในขณะเดินด้วย แล้วจำเป็นจะต้องฟังเสียงรอบข้าง เช่น เสียงรถ เสียงคนเดิน การเปิดใช้งานก็แค่กดปุ่มจุดโปร่ง (ปุ่มล่าง ของหูฟังข้างขวา) ค้างไว้ เมื่อเปิดใช้งาน ระบบจะให้ไมค์ที่ซ่อนอยู่ภายในหูฟังทั้งสองข้าง รับเสียงภายนอกเข้ามา

ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้จากในเมนูนะครับ ว่าจะให้ได้ยินเฉพาะเสียงภายนอก หรือจะให้เป็นเสียงภายนอก+เสียงเพลงที่กำลังฟังอยู่ (แต่เบาเสียงเพลงลง) นับเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มากๆ และน่าจะแก้ปัญหาคนที่ใส่หูฟัง in-ear ออกกำลัง แล้วไม่ได้ยินเสียงภายนอกเลยได้ดีทีเดียว

Screenshot_20170305-134141

ทีนี้ด้วยความที่ Jabra Elite Sport เป็นหูฟังไร้สายที่ไม่มีสายเชื่อมระหว่างกันด้วย ทำให้อาจจะเกิดการหล่นหาย หรือพลัดหลงจากกันได้ง่าย ตัวของแอป Jabra Sport Life จึงมีฟีเจอร์ Find my heaphones มาให้ด้วยในตัวเลย เมื่อเปิดขึ้นมา ระบบก็จะแสดงให้เห็นเลยว่าหูฟังเราอยู่ตรงไหนในแผนที่ ซึ่งถ้ายังเชื่อมต่อ Bluetooth กันอยู่ ก็จะแสดงตำแหน่ง ณ ปัจจุบันเลย แต่ถ้าหูฟังอยู่กันคนละที่ มันก็จะแสดงตำแหน่งล่าสุดที่ทำการ sync กันให้

ส่วนถ้าบางทีเรารู้ตำแหน่งคร่าวๆ จากบนแผนที่แล้ว แต่ยังหาไม่เจออีก ก็สามารถกดปุ่มตัวโน้ตด้านบน เพื่อให้หูฟังส่งเสียงออกมาได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมว่าหูฟังกับมือถือของเราจะเชื่อมต่อกันผ่าน Bluetooth ที่มีระยะการเชื่อมต่อถึงกันได้ไม่เกิน 50 เมตรเท่านั้น เผลอๆ จะได้น้อยกว่านั้นด้วย เนื่องจากหลายๆ ปัจจัยที่อาจทำให้ระยะการเชื่อมต่อลดลง อันเป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยี Bluetooth อยู่แล้ว

Review-jabra-elite-sport-SpecPhone-15

หูฟังไร้สาย Jabra Elite Sport คือหนึ่งในหูฟังที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้วัยทำงานยุคใหม่ตัวจริงครับ ด้วยความสามารถที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เป็นหูฟังเพลง คุยโทรศัพท์ จะใช้ออกกำลังกายก็หายห่วง เพราะมาพร้อมทั้งเซ็นเซอร์วัดการเต้นหัวใจ ทั้งยังกันน้ำกันฝุ่นได้ มีแอปรองรับที่ทำออกมาได้ดี เมื่อประกอบกับด้านดีไซน์ที่กะทัดรัด น้ำหนักเบา และสามารถสั่งงานฟังก์ชันต่างๆ ได้ในตัวโดยแทบไม่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาเลย ส่วนเรื่องแบตเตอรี่ก็สามารถชาร์จกับตลับเก็บหูฟังได้ทันที

ข้อดี

  • ดีไซน์ดูดี กะทัดรัด น้ำหนักเบา
  • ตลับช่วยให้การเก็บและพกพาทำได้สะดวก แถมยังใช้ชาร์จแบตเตอรี่ให้หูฟังระหว่างเก็บในตลับได้ด้วย
  • ปุ่มควบคุมมีให้มาบนตัวหูฟังครบถ้วน
  • กันน้ำกันฝุ่นได้
  • เซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจทำงานได้ดี
  • การใช้งานจริงทำได้สะดวกมาก จะถอด จะใส่ ระบบก็ทำงานได้แทบจะอัตโนมัติ
  • แอปเสริมอย่าง Jabra Sport Life ทำหน้าที่เสมือนเป็นโค้ชส่วนตัวได้เป็นอย่างดี

ข้อสังเกต

  • แบตเตอรี่ใช้งานติดต่อกันได้ราวๆ 3 ชั่วโมงเท่านั้น
  • ปุ่มควบคุมบนตัวหูฟังกดลำบาก ต้องกดเข้าไปแรงจนบางครั้งทำให้เจ็บหูอยู่บ้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก