โทรศัพท์มือถือที่เราจะมารีวิวให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันในวันนี้ เป็นโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS และจะเป็นรุ่นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก iPhone 6s ที่พึงเปิดตัวไปหมาดๆ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แน่นอนว่า iPhone 6s ยังไม่มีเครื่องศูนย์ไทยขายอย่างเป็นทางการ และตอนที่ผมกำลังเขียนรีวิว iPhone 6s อยู่นี้ Apple ก็พึ่งจะประกาศเรื่องกลุ่มประเทศที่ 2 ที่จะได้จำหน่าย iPhone 6s ซึ่งไม่มีประเทศไทยอยู่ในลิสดังกล่าว คาดว่า Apple จัดกลุ่มให้ประเทศไทยอยู่ในประเทศกลุ่ม 3 ที่จะได้ขาย iPhone 6s และ iPhone 6s Plus กว่าจะได้ซื้อ iPhone 6s เครื่องศูนย์ไทย อย่างเร็วก็ต้องรอประมาณปลายเดือนตุลาคม
โดยเครื่อง iPhone 6s ที่เราจะมารีวิวให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันนั้น เป็นเครื่องจากฮ่องกงครับ น่าเสียดายที่เราไม่สามารถจอง และซื้อ iPhone 6s สีใหม่ คือสีชมพู Rose Gold ได้ทัน เลยได้เป็นเครื่องสีทองมาแทน แต่สเปค และฟีเจอร์ด้านในนี่หายห่วง แค่ไม่ใช่สีใหม่เท่านั้นเอง สำหรับสเปคของ iPhone 6s ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปจาก iPhone 6 ค่อนข้างเยอะพอสมควร เรียกว่ามีสเปคที่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดดเลยก็ว่าได้
สเปค iPhone 6s
- iPhone 6s หน้าจอขนาด 4.7 นิ้ว ความละเอียด 1334×750 พิกเซล 326 ppi
- หน้าจอแบบ 3D Touch รับรู้แรงกดได้หลายระดับ
- CPU Apple A9 เทคโนโลยีแบบ 64 Bit
- มาพร้อมชิป M9 สามารถวัดความดัน, ความสูงได้
- หน่วยความจำภายใน 16/64/128 GB
- มาพร้อมกับ iOS 9.0 ตัวเต็ม
- กล้องหลังความละเอียด 12 ล้านพิกเซล f/2.2 พร้อม True-Tone Flash
- รองรับการถ่ายวีดีโอ 4K
- กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล f/2.2 พร้อม Retina Flash
- รองรับการใช้งาน 4G LTE
- รองรับ VoLTE สามารถสนทนาโทรศัพท์ผ่านคลื่น LTE ได้เลย
- iPhone 6s หนา 7.1 มิลลิเมตร
- มีด้วยกัน 4 สี ได้แก่ สีเทา, สีเงิน, สีทอง และสี Rose Gold
- สเปคเต็มๆ iPhone 6s
อย่างที่ได้บอกไปว่าสเปคของ iPhone 6s มีการพัฒนาขึ้นไปจากตอน iPhone 6 ค่อนข้างมาก ทั้งตัว CPU รุ่นใหม่ Apple A9 ที่เป็นชิปเซ็ตแบบ Dual Core ความเร็ว 1.84 GHz กับ Ram 2 GB หลังจากที่ Apple ใช้ Ram 1 GB มาตั้งแต่สมัย iPhone 5 (เมื่อ 3 ปีที่แล้ว) ทำให้ในแง่ของการใช้งานจริงแบบเทียบกันจุดต่อจุด iPhone 6s จะทำงานได้่ลื่นไหลกว่า iPhone 6 อย่างเห็นได้ชัด ใครที่ใช้ iPhone 6 หรือ iPhone 6 Plus แล้วยังรู้สึกว่าลื่นอยู่ แนะนำให้ลองเล่น iPhone 6s เลยครับ แล้ว iPhone 6 ในมือคุณจะหน่วงขึ้นมาทันที แอดมินโดนมากับตัวแล้ว เชื่อสิ T-T
ด้านความจุ iPhone 6s ก็มาพร้อมกับความจุเท่าเดิม เหมือนตอน iPhone 6 คือมีให้เลือกตั้งแต่ความจุ 16 GB, 64 GB และ 128 GB ไม่สามารถเพิ่มความจุด้วย MicroSD Card ได้ เพราะฉะนั้นตอนซื้อก็คำนวณให้ดีนะครับ ว่าใช้ความจุมากน้อยแค่ไหน เลือกให้ตรงกับเราที่สุด แต่ถ้าให้แนะนำก็ซื้อ iPhone 6s ความจุ 64 GB ไปเลยครับ คุ้มที่สุดแล้ว ทั้งในแง่ของการใช้งาน ไปจนถึงราคาขายมือสอง ส่วน iPhone 6s ความจุ 16 GB ที่เราซื้อมารีวิวนั้น หลังจากที่ลง iOS 9.0.2 ไปแล้ว จะเหลือเนื้อที่ให้ใช้ประมาณ 10 GB นิดๆ เท่านั้น
กล่องของ iPhone 6s มีขนาดเท่ากับกล่องของ iPhone 6 แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือรูปปลากัดที่อยู่ตรงหน้ากล่อง จากตอน iPhone 6 จะเป็นกล่องขาวโล่งๆ ใน iPhone 6s ก็มีสีสันเพิ่มขึ้น อุปกรณ์ภายในกล่องก็ยังมีให้เท่าเดิม ได้แก่ หูฟัง, อแดปเตอร์ และสาย Lightning (ที่น่าจะขาดง่ายเหมือนเดิม) เนื่องจากเครื่องรีวิว iPhone 6s ของเราเป็นเครื่องหิ้วจากฮ่องกง ตัวอแดปเตอร์เลยมีหน้าตาที่ประหลาดไปหน่อย ส่วน iPhone 6s เครื่องศูนย์ไทยยังไงก็ใช้อแดปเตอร์แบบ 2 ขาเหมือนเดิมครับ
จุดเด่น
– วัสดุแข็งแรงมากขึ้น ไม่ต้องกังวัลเรื่องเครื่องงอ
– หน้าจอความละเอียด Retina Display คมชัด จอสวย
– Touch ID เวอร์ชันใหม่ ตอบสนองได้ดีขึ้นมาก
– หน้าจอ 3D Touch ช่วยให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น
– กล้องหลัง 12 ล้านพิกเซล ใช้งานได้ยืดหยุ่นขึ้น ถ่ายกลางคืนได้ดีขึ้น และมี Live Photos
– แบตเตอรี่ใช้งานได้นานขึ้นมาก เทียบเท่า iPhone 6 Plus
ข้อสังเกต
– ความจุ 16 GB ยังมีขายอยู่
– ใส่เคส iPhone 6 บางรุ่นไม่ได้ เนื่องจากตัวเครื่องหนากว่าเดิมนิดหน่อย
– 3D Touch ยังใช้งานได้ไม่หลากหลายเท่าที่ควร
– กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล อาจชัดเกินไปสำหรับบางคน
บทสรุป
BEST iPHONE
Design
ด้วยความที่เป็น iPhone ในซีรี่ส์ S ที่เน้นเรื่องสเปคภายในและฟีเจอร์เป็นหลัก ทำให้หน้าตาของ iPhone 6s นั้นเหมือนกับ iPhone 6 ทุกประการ จะมีความแตกต่างในเรื่องดีไซน์แค่ 3 จุดหลักๆ เท่านั้น ได้แก่ วัสดุที่ใช้เป็นอลูมิเนียมเกรด 7000 ซึ่งแข็งแรง และทนทานกว่ารุ่นก่อน ป้องกันปัญหาเครื่องงอตอน iPhone 6 ได้เป็นอย่างดี, ขนาดตัวเครื่องที่มีความหนากว่าตอน iPhone 6 เล็กน้อย และน้ำหนักที่มากกว่า 14 กรัม อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยใช่ไหมครับ แต่สำหรับคนที่ใช้งาน iPhone 6 มาก่อน ทุกคนเมื่อลองจับ iPhone 6s แล้วบอกเป็นเสียงเดียวกันหมดเลยว่า “แตกต่าง”
ส่วนความหนาที่เพิ่มขึ้นมาในตอน iPhone 6s นั้น หลายคนอาจจะกังวลว่า แล้วแบบนี้จะสามารถใส่เคส iPhone 6 ได้หรือไม่ คำตอบคือสามารถใส่ด้วยกันได้ครับ แต่มีดอกจันตัวโตๆ ไว้ว่า ไม่ใช่ทุกเคสของ iPhone 6 ที่จะใส่บน iPhone 6s ได้ ถ้าเป็นเคสที่มีขนาดพอดีกับตัวเครื่อง ความหนาที่เพิ่มขึ้นมาจะทำให้ไม่สามารถยัด iPhone 6s ลงไปในเคส iPhone 6 ได้ แต่เคส iPhone 6 ทั่วไปตามท้องตลาดกว่า 80% ผมว่าใช้งานร่วมกับ iPhone 6s ได้แน่นอน ใครที่มีเคส iPhone 6 ก็อาจจะไม่ต้องซื้อเคสใหม่ก็ได้นะ
และเมื่อหน้าตาของ iPhone 6s เหมือนกับ iPhone 6 ซะขนาดนั้น รายละเอียดก็คงเดิมเหมือนตอน iPhone 6 ไม่ว่าจะเป็นปุ่ม Sleep/Wake ที่ย้ายมาอยู่ตรงด้านขวาของตัวเครื่อง ปุ่มปรับระดับเสียงที่อยู่ทางด้านซ้าย และมีปุ่ม Side Switch สำหรับเลือกโปรไฟล์เสียง ว่าจะให้มีเสียงแจ้งเตือน หรือจะให้เป็นการเปิดสั่นอยู่ข้างๆ กับปุ่มปรับระดับเสียง ส่วนช่องเสียบหูฟัง ช่องเสียบสาย Lightning ไมโครโฟนสำหรับสนทนา และลำโพงหลักของตัวเครื่องก็อยู่ทางด้านล่างเช่นเคย โดยลำโพงของ iPhone 6s เท่าที่ลองทดสอบเทียบกับ iPhone 6 ด้วยไฟล์เพลงเดียวกัน เปิดความดังเท่ากัน ไม่พบความแตกต่างครับ
หน้าตาเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความแข็งแรง
แต่สิ่งที่ทำให้เราสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง iPhone 6s กับ iPhone 6 เฉยๆ ได้นั้น นอกจากจะเป็นสีชมพู Rose Gold แล้ว ก็จะมีทางด้านหลังของตัวเครื่อง ซึ่งก็คือตัวอักษร S ใต้คำว่า iPhone เพราะถ้าเป็น iPhone 6 จะไม่มีตัวอักษร S (ก็แน่ล่ะสิ) ที่เหลือก็ต้องอาศัยการจับตัวเครื่อง และลองเล่นฟีเจอร์ข้างในดูล่ะครับ ถึงจะแยกแยะได้ระหว่าง iPhone 6s กับ iPhone 6 เฉยๆ
ด้านหลังของ iPhone 6s ก็จะประกอบไปด้วยกล้องหลังความละเอียด 12 ล้านพิกเซล และแน่นอนว่าเป็นโมเดลเดียวกับ iPhone 6 ทำให้กล้องหลังของ iPhone 6s นูนขึ้นมาจากตัวเครื่อง แต่ถ้าสังเกตตรงเซนเซอร์กล้องดีๆ จะพบว่าเลนส์บน iPhone 6s กับเลนส์บน iPhone 6 มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันเล็กน้อย คือหน้าเลนส์ของ iPhone 6s จะมีสีที่เข้มกว่าครับ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ทางด้านหลังก็มีเหมือนๆ กัน เช่น แฟลชกล้องหลังก็เป็น True-Tone Flash ที่มีสองสี และไมค์ตัดเสียงก็อยู่ทางด้านข้างของกล้องหลังเหมือนเดิม
หน้าจอของ iPhone 6s ยังคงใช้ขนาดเดิมเหมือนตอน iPhone 6 คือหน้าจอขนาด 4.7 นิ้ว และหน้าจอขนาด 5.5 นิ้วเมื่อเป็น iPhone 6s Plus ส่วนความละเอียดนั้น Apple ใช้คำว่าความละเอียดระดับ Retina Display แต่ถ้าพูดถึงตัวเลขของความละเอียดบนหน้าจอ iPhone 6s จะอยู่ที่ 1334 x 750 พิกเซล ก็ความละเอียดประมาณ HD นั่นเอง แต่ในการใช้งานจริง ผมว่าหน้าจอของ iPhone 6s กับความละเอียดที่ 1334 x 750 พิกเซลเป็นความละเอียดที่ลงตัวทีเดียวครับ เพราะในระยะที่เราเล่นมือถือเป็นปกติ ความละเอียดประมาณนี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องยัดกันมาถึง Quad HD หรอกครับ กินพลังประมวลผลโดยใช่เหตุไปซะเปล่าๆ ส่วนเรื่องสีสันหน้าจอก็ตามสไตล์ iPhone ครับ เน้นความสมจริง แล้วก็หน้าจอมีอมเหลืองนิดๆ ด้วยนะ
ภาพรวมในส่วนของการดีไซน์ iPhone 6s สำหรับผมถือว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นครับ ถึงแม้จะมีหน้าตา และรายละเอียดต่างๆ ที่เหมือนเดิมทุกประการก็ตาม แต่ด้วยการเปลี่ยนวัสดุมาใช้เป็นอลูมิเนียมเกรด 7000 ที่ทนต่องานบิดงอมากกว่าเดิม ส่งผลให้ iPhone 6s มีความแข็งแรงกว่าตอน iPhone 6 ที่พบปัญหา Bendgate และจากการทดสอบหลายที่ ก็พบว่าการที่จะงอเครื่อง iPhone 6s นั้นไม่ง่าย ต้องออกแรงช่วยกันถึง 2 คนเพื่อที่จะให้ตัวเครื่อง iPhone 6s งอได้ ผมเชื่อว่าความแข็งแรงของอลูมิเนียมเกรด 7000 แลกกับน้ำหนักตัวเครื่องที่เพิ่มขึ้นมา 14 กรัม ผู้ใช้ยอมรับได้ครับ หนักเพิ่มนิด หนาขึ้นมาอีกหน่อย แต่ความแข็งแรงนี่เพิ่มขึ้นจากตอน iPhone 6 เยอะเลย
Software
iPhone 6s มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ iOS 9 ตั้งแต่แกะกล่อง แต่ตอนที่ผมรีวิว iPhone 6s เครื่องนี้ ก็มีซอฟท์แวร์อัพเดตเป็น iOS 9.0.2 เรียบร้อย เพราะฉะนั้นตอนเทส ผมก็จะอิงจาก iOS 9.0.2 นี่แหละครับ สำหรับหน้าตาของ iOS 9 ก็จะค่อนข้างใกล้เคียงกับตอน iOS 8 ในส่วนของการใช้งานแทบไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย เพราะหลักๆ แล้ว iOS 9 เป็นการปรับปรุงตัวเรื่องความเสถียรมากกว่า จะมีที่แตกต่างจากตอน iOS 8 ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ Font ที่ใช้เป็น Sukhumwit Set แบบเดียวกับใน Apple Watch นั่นแหละครับ
สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาใน iOS 9 ก็คือการปัดหน้าจอจากหน้าโฮม มาทางซ้ายเพื่อเรียกหน้า SIRI Suggestions (แต่เดิมจะเป็นหน้า Sportlight บน iOS 8) ที่เราจะเรียกหน้านี้ได้จากการปัดหน้าจอตรงกลางลงมาข้างล่าง และแน่นอนว่าตอนเป็น iOS 9 คำสั่งนี้ก็ยังคงใช้งานได้อยู่ (แต่จะเป็นหน้า SIRI App Suggestions) โดยสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากหน้าค้นหาเดิมๆ ก็คือจะมีรายชื่อแอปพลิเคชันที่เราเรียกใช้บ่อย รวมถึง Contact หรือรายชื่อที่เราติดต่อครั้งล่าสุดไว้ที่หน้าดังกล่าวด้วย จากการใช้งานจริงก็เป็นอะไรที่สะดวกสบายใช้ได้เลยครับ ส่วนหนึ่งก็เพราะหน้า SIRI Suggestions เข้าถึงได้ง่ายด้วยล่ะ
ส่วนการค้นหาจากแท็บ Sportlight ก็ไม่ได้ค้นหาแค่ใน iPhone เพียงอย่างเดียว เพราะ SIRI จะจัดการค้นหาให้ทุกอย่างในโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็น Contact, App, Music, iTunes Store, App Store ไปจนถึงการค้นหาบนเว็บไซต์ ให้อารมณ์เดียวกับ Google Now เลยครับ แต่กรณีของ Sportlight เราสามารถจำกัดวงการค้นหาได้ด้วย ว่าจะให้ค้นหาที่ App อะไรบ้าง
อีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่เพิ่มขึ้นมาบน iOS 9 ก็คือ iCloud Drive ที่ดูเหมือน Apple จะจริงจังมากขึ้น โดย iCloud Drive จะทำหน้าที่ทั้งการเก็บข้อมูล ไปจนถึงการ Back Up iPhone ก็จะใช้พื้นที่บน iCloud Drive ทั้งหมด การ Sync ทำได้รวดเร็ว อัพจากคอมขึ้นไม่นานก็เปิดดูในมือถือได้ทันที แต่ถ้าใครกังวลว่าจะใช้พื้นที่ iCloud Drive ที่ให้มาตอนแรกไม่พอก็สามารถซื้อเพิ่มได้ สนนราคาก็ 36 บาท สำหรับความจุ 50 GB เป็นราคาที่พอรับได้ครับ ไม่ได้แพงจนเกินไปเมื่อเทียบกับ Cloud Storage เจ้าอื่น (แต่ส่วนมากเจ้าอื่นจะแจกฟรีพร้อมมือถือนะ)
Music เป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจาก Music สมัยก่อน นอกจากสีสันของแอปพลิเคชันที่เปลี่ยนไปใช้พื้นหลังสีขาวแล้ว ยังมาพร้อมกับบริการฟังเพลงแบบ Stream ไม่อั้น Apple Music (ใช้งาน Apple Music ได้ตั้งแต่ iOS 8) ข้อดีของการฟังเพลงแบบสตรีมก็คือไม่กินพื้นที่หน่วยจำภายในของตัวเครื่อง แต่ก็ต้องไปเสีย Data อินเทอร์เน็ตแทน ทำให้ iPhone 6s ความจุ 16 GB พอจะมีพื้นที่ให้หายใจได้บ้าง ตัวแอปพลิเคชัน Music มีความเป็น Social มากขึ้นกว่าเดิม
App Switcher ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากตอน iOS 8 คือแสดงผลแอปพลิเคชันล่าสุดแบบเต็มหน้าจอ สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันก่อนหน้าได้รวดเร็วกว่าตอน iOS รุ่นก่อนๆ เป็นมิตรกับผู้ใช้มากกว่าเดิม แน่นอนว่า App Switcher บน iOS 9 มีหน้าตาที่เหมือนกัน ต่อให้เป็น iPhone 5 ก็จะใช้หน้าตาเช่นนี้ แต่สิ่งที่แตกต่างบน iPhone 6s คือ App Switcher แบบใหม่นี้ ทำงานได้ลื่นไหลกว่า iPhone รุ่นอื่นๆ คือต่อให้เทียบกับ iPhone 6 Plus ก็ยังรู้สึกว่า iOS 9 ทำงานบน iPhone 6s ได้ดีกว่าหลายเท่า
Feature
หนึ่งในฟีเจอร์ที่ใส่มาเฉพาะ iPhone 6s และ iPhone 6s Plus ก็คือกระจกหน้าจอที่รับรู้แรงกดได้ หรือที่ Apple เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า 3D Touch (หรือ Force Touch บนมือถือยี่ห้ออื่น) โดยเทคโนโลยีดังกล่าว Apple ได้นำมาใช้ครั้งแรกบนหน้าจอ Apple Watch ตามมาด้วย Trackpad ของ Macbook Pro Retina รุ่นปี 2015 และในที่สุดมันก็มาอยู่ในหน้าจอของ iPhone 6s และ iPhone 6s Plus ครับ
ในการรีวิว iPhone 6s เรื่อง 3D Touch ผมจะขอแยกรายละเอียดออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ
การ “กด” บนหน้าจอ 3D Touch บนหน้า Home Screen
อย่างที่ผมได้บอกไปว่า 3D Touch เป็นกระจกหน้าจอที่รับรู้แรงกดได้หลายระดับ แน่นอนว่าตามทฤษฎีมันน่าจะทำอะไรว้าวๆ ได้หลายอย่าง แต่สิ่งที่เราทำได้บน iPhone 6s ที่มี 3D Touch ณ ตอนนี้ คือเรื่องของทางลัดเข้าสู่แอปพลิเคชัน (บางแอป) เช่น แอปพลิเคชันกล้อง ถ้าเราแตะ 1 ครั้งจะเป็นการเปิดแอปกล้อง แต่ถ้าเราใช้การ “กด” บนแอปกล้อง จะเกิดทางเลือกขึ้น ว่าจะถ่ายรูปแบบไหน จะถ่ายเซลฟี่, ถ่ายวีดีโอ, ถ่ายวีดีโอ Slo-mo หรือจะถ่ายรูปตามปกติ ซึ่งมันช่วยให้เข้าถึงโหมดกล้องได้ง่ายขึ้น จากเมื่อก่อนที่ต้องกดเข้ากล้อง > เลือกโหมดกล้อง > กดถ่าย แต่ถ้าเป็น iPhone 6s เราแค่ออกแรงกดบนแอปกล้อง > เลือกว่าจะถ่ายรูปโหมดไหน เท่านี้ก็เรียบร้อย
เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่ติดมากับ iOS 9 เช่น Phone, Music, Messages, Clock และอื่นๆ การใช้งาน 3D Touch บนหน้าโฮมจะออกมาในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกแอปพลิเคชันจะรองรับเทคโนโลยี 3D Touch นะครับ ในตอนนี้บรรดา 3rd Party App มีอยู่ไม่กี่แอปเท่านั้นที่รองรับ 3D Touch เช่น Instagram, Pinterset, Dropbox เป็นต้น
การ “กด” บนหน้าจอเพื่อ Preview
นอกจากการออกแรงกดบนไอคอนแอปพลิเคชันเพื่อเข้าสู่โหมดต่างๆ แล้ว 3D Touch ยังมาช่วยในเรื่องของการพรีวิวอีกด้วยครับ ทั้งการพรีวิวรูปภาพที่ถ่ายแบบ Live Photos, การพรีวิวลิ้งทั้งใน Safari หรือการกดพรีวิวอีเมลล์ จากแอปพลิเคชัน Mail ทำให้เราไม่ต้องกดเข้าไปดูเมลล์โดยตรง และแน่นอนว่าการพรีวิว Live Photos ก็ถูกนำมาใช้ในหน้าจอ Lock Screen ด้วย ที่เราเห็นกันในหน้าจอรูปปลากัดนั่นแหละ วิธีการก็คือในหน้า Lock Screen ให้เราทำการกดลงไปที่หน้าจอ ปลากัดก็จะขยับได้ ซึ่งตรงนี้ไม่เหมือนกับ Dynamic Wallpaper นะครับ เพราะ Dynamic Wallpaper จะขยับตลอดเวลา แต่ Live Photos จะขยับก็ต่อเมื่อเรากดลงไปที่หน้าจอเท่านั้น
Camera
กล้องของ iPhone 6s ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีการพัฒนาขึ้นจาก iPhone รุ่นก่อน เรียกว่าเป็นการปลดแอกกล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ที่โดนสาวกแอนดรอยเย้ยหยันมาประมาณ 4 ปี นับตั้งแต่ iPhone 4s กล้องหลัง iPhone ก็เป็นกล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซลมาโดยตลอด จะมีแค่การเพิ่มขนาดเซนเซอร์ให้ใหญ่ขึ้นตอน iPhone 5s แต่ใน iPhone 6s กล้องหลังก็ถูกเพิ่มความละเอียดมากขึ้น เป็น 12 ล้านพิกเซล ถ่าย Live Photos ได้ (ภาพเคลื่อนไหวคล้ายๆ กับในหนังสือพิมพ์เรื่อง Harry Potter) พร้อมกับรองรับการถ่ายวีดีโอแบบ 4K และนี่ก็คือทั้งหมดที่ Apple บอกเราเกี่ยวกับกล้องหลังของ iPhone 6s และ iPhone 6s Plus ครับ
ในการใช้งานจริงแบบถ่ายเทียบกับ iPhone รุ่นก่อนหน้า (iPhone 6 Plus) ถ้าเป็นการถ่ายรูปในที่ๆ มีแสงเพียงพอ บอกเลยว่ามองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างกล้องหลัง iPhone 6s กับกล้องหลัง iPhone 6 Plus แม้แต่น้อย เว้นแต่ว่าจะดูคุณภาพไฟล์ที่การ Crop 100% ก็จะเห็นเลยว่าภาพถ่ายจากกล้องหลัง iPhone 6s ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากไฟล์ภาพละเอียดกว่าที่ 12 ล้านพิกเซล ส่วนการถ่ายรูปแล้วอัพโหลดขึ้นโลก Social นี่ไม่เห็นความแตกต่างเลยครับ
แต่ถ้าเป็นการถ่ายรูปในที่แสงน้อย iPhone 6s จะทำได้ดีกว่า iPhone 6 Plus ประมาณ 1 สเต็ป คือมีการจัดการแสงไฟที่ฟุ้งๆ ได้ดีกว่า รวมถึง Noise ก็มีน้อยกว่า iPhone 6 Plus แต่มีข้อแม้ว่าต้องปิด Live Photos ตอนถ่ายกลางคืนด้วยนะครับ เพราะการเปิด Live Photos มีผลต่อคุณภาพรูปถ่ายตอนกลางคืน ทำให้คุณภาพของรูปถ่ายดรอปลงไปเยอะพอสมควร
ส่วนกล้องหน้าของ iPhone 6s ก็มีการเพิ่มความละเอียดของกล้อง Facetime จากเดิมที่ใช้ความละเอียดประมาณ 1.2 ล้านพิกเซล มาเป็นความละเอียด 5 ล้านพิกเซลแทน แน่นอนว่าในเรื่องของความชัด กล้องหน้า Facetime บน iPhone 6s นี่เข้าขั้นชัดมาก ชัดจนสาวๆ สะพรึงเลยทีเดียว ทั้งรอยสิว, ริ้วรอยเรียกว่ามาเต็มกว่าเดิม คือถ้าใครไม่ชอบถ่ายรูปหน้าสด แนะนำว่าให้เลี่ยงการถ่ายรูปตรงๆ ผ่านกล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล iPhone 6s ได้เลยครับ ถ่ายผ่านแอปแต่งรูปเท่านั้นคือคำตอบ
อีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากตอน iPhone 6 คือ Retina Flash ที่แอปเปิ้ลโม้ในงานเปิดตัวว่าต้องพึ่งพาชิปประมวลผล Apple M9 เท่านั้นในการยิง Retina Flash โดย Retina Flash จะเป็นการยิงแสงไฟจากหน้าจอของ iPhoen 6s เป็นแสงไฟสีนวล เช่นเดียวกับแฟลชกล้อง ซึ่งช่วยในการถ่ายรูปในที่แสงน้อย หรือแทบไม่มีแสงเลยได้ดีมาก จากที่มองไม่เห็น ก็มองเห็นขึ้นมาทันที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Retina Flash ก็จะมีระยะในการยิงแฟลชประมาณหนึ่งช่วงแขน และเท่าที่ทดสอบมาก็เป็นระยะทำการที่ดีที่สุดของ Retina Flash ด้วย คือไม่ทำร้ายหน้าเราตอนถ่าย แล้วก็ยังได้ความสว่าง กับรายละเอียดที่ครบถ้วน
Performance
ประสิทธิภาพของ iPhone 6s กับชิปประมวลผล Apple A9 และ Ram 2 GB บอกเลยว่าไม่ต้องกังวลเรื่องความลื่นไหล เพราะสิ่งที่ต้องกังวลคือถ้าได้ลองเล่น iPhone 6s แล้ว iPhone 6 หรือ iPhone รุ่นก่อนๆ จะอืด ช้าและหน่วงขึ้นมาทันทีเมื่อเทียบกับ iPhone 6s เอาเป็นว่าในบรรดา iDevice ถ้าไม่นับ iPad Pro อุปกรณ์ที่แรงที่สุดของ Apple ณ ตอนนี้ก็จะเป็น iPhone 6s นี่แหละครับ การเล่นเกม 3D ทำได้ลื่นไหลและเข้ากันกับแอปพลิเคชันได้เป็นอย่างดี และบางเกมบน App Store ตอนนี้ก็เริ่มมีการอัพเดตเวอร์ชันให้แสดงผลบน iPhone 6s ได้ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากตัวชิปกราฟฟิคที่เป็นรุ่นใหม่ สามารถแสดงผลเกม 3D ได้ดีกว่าชิปรุ่นก่อน
ส่วนเรื่องการจัดการพลังงานบน iPhone 6s อย่างที่เราทราบกันดีว่า Apple ได้ทำการลดความจุแบตเตอรี่ทั้งบน iPhone 6s และ iPhone 6s Plus ลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรุ่นก่อน แต่ในการใช้งานจริง ตอนที่รีวิว iPhone 6s นั้นผมใช้งานเป็นเครื่องหลัก แทน iPhone 6 Plus เครื่องเก่า ในลักษณะของการใช้งานในชีวิตประจำวันจริงๆ คือใส่ซิม เปิด 4G ไว้ตลอดเวลา มีเล่นเกม Pokemon Shuffle, เล่น Facebook, Line, Instagram, Twitter รวมถึงใช้งาน Safari เพื่อท่องเว็บไซต์ และหยิบ iPhone 6s ขึ้นมาถ่ายรูปบ้าง พบว่าแบตเตอรี่ของ iPhone 6s ที่มีความจุเพียง 1710 mAh (ลดลงจาก iPhone 6 100 mAh) กลับใช้งานได้ยาวนานพอๆ กับแบตเตอรี่ของ iPhone 6 Plus ที่มีความจุมากกว่าเกือบเท่าตัว
คาดว่าชิปเซ็ต Apple M9 ที่พ่วงมากับ Apple A9 น่าจะมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงานได้มาก จากที่แต่ก่อนชิปเซ็ตรหัส M จะใช้ในการประมวลผลเล็กๆ น้อยๆ เช่น ตรวจจับการเคลื่อนไหว เป็นต้น โดยส่วนตัวผมมองว่าชิปเซ็ต M9 ในตอนนี้มีบทบาทในการประมวลผลมากกว่าเดิม คือถูกใช้ในการประมวลผลประเภทที่ไม่ต้องการประสิทธิภาพสูง และด้วยความที่เป็นชิปเซ็ตที่กินไฟน้อยอยู่แล้ว เลยทำให้ iPhone 6s และ iPhone 6s Plus ใช้งานได้นานกว่า iPhone 6 ทั้งๆ ที่มีแบตเตอรี่ความจุน้อยกว่า ถ้าให้เฉลี่ยระยะเวลาในการใช้งาน iPhone 6s ต่อการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง ผมว่า iPhone 6s จะใช้งานได้ราวๆ 7 ชั่วโมง คือไม่ต้องพก Power Bank ก็พอลากได้หมดวันครับ