วนกลับมาถึงกันอีกเช่นเคย กับการเปิดตัว iPhone รุ่นหลักประจำปี ที่ในปีนี้เป็นคิวของ iPhone 13 ทั้งรุ่นปกติ รุ่น mini ที่ในรอบนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนหน้าเล็กน้อย ส่วนฝั่งของรุ่น Pro และ Pro Max ต้องบอกว่ามีการเพิ่มฟีเจอร์ที่น่าสนใจเข้ามาหลายส่วนอยู่เหมือนกัน ซึ่งในบทความนี้ก็จะเป็นการหยิบ iPhone 13 Pro มารีวิว โดยพูดถึงประสบการณ์การใช้งานที่เพิ่มเข้ามา เทียบกับ iPhone 11 ที่เป็นมือถือเครื่องหลักที่ผมใช้งานล่าสุด ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น iPhone 13 Pro เครื่องนี้ครับ
โดยเครื่องที่รีวิวนี้ เป็นเครื่องที่ผมสั่งเป็นเครื่องศูนย์ไทยมาใช้งานเองนะครับ เป็น iPhone 13 Pro สีฟ้า Sierra Blue ความจุ 128 GB ซึ่งน่าจะเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในไทยเลย สังเกตจากจำนวนเครื่องที่หมดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากร้านตัวแทนต่าง ๆ เปิดให้จองช่วงคืนวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
สเปค iPhone 13 Pro
- ชิปประมวลผล Apple A15 Bionic (CPU 6 คอร์ GPU 5 คอร์)
- แรม 6 GB
- ความจุที่มีให้เลือก: 128GB / 256GB / 512GB / 1TB
- หน้าจอ OLED Super Retina XDR ขนาด 6.1″ ความละเอียด 2532 x 1170
- มาพร้อมฟีเจอร์ ProMotion ให้รีเฟรชเรตอยู่ในช่วง 10Hz – 120Hz
- แสดงสีได้ระดับ Display P3 รองรับ True Tone
- ความสว่างจอสูงสุด 1,000 nits และในระดับ HDR สูงสุดที่ 1,200 nits
- รองรับ 5G ในไทย แต่ยังไม่รองรับ mmWave
- ใช้งานได้พร้อมกันสูงสุด 2 ซิม (1 นาโนซิม + 1 eSIM)
- กล้องหลัง 3 เลนส์
- กล้องหลัก 12MP f/1.5
- กล้องอัลตร้าไวด์ 12MP f/1.8 รองรับการถ่ายมาโคร
- กล้องเทเลโฟโต้ 12MP f/2.8
- ซูมออปติคอลสูงสุด 6 เท่า (เข้า 3x ออก 2x) ซูมดิจิทัลสูงสุด 15 เท่า
- มีเซ็นเซอร์ LiDAR
- รองรับการถ่ายภาพเป็นไฟล์ Apple ProRAW
- เพิ่ม Photographic Styles เข้ามา
- เพิ่มโหมดถ่ายวิดีโอ Cinematic เข้ามาใหม่
- ถ่ายวิดีโอเป็นไฟล์ ProRes ได้สูงสุด 4K 30fps
- กล้องหน้า TrueDepth 12MP f/2.2
- Wi-Fi 6 80HE
- มี UWB
- ลำโพงคู่ให้เสียงแบบ Stereo รองรับ Dolby Atmos
- แบตเตอรี่ 3095 mAh รองรับการชาร์จเร็ว
- พอร์ตชาร์จแบบ Lightning
- รองรับการชาร์จไร้สายแบบ MagSafe สูงสุด 15W และแบบ Qi สูงสุด 7.5W
- กันน้ำกันฝุ่นที่มาตรฐาน IP68
หลัก ๆ แล้ว iPhone 13 Pro ก็จะมีจุดที่อัพเกรดขึ้นมาจาก 12 Pro ในบางส่วนครับ เช่นชิปที่ใหม่กว่า แรงกว่า หน้าจอที่มี ProMotion มาให้ โหมดกล้องที่เพิ่มเข้ามาใหม่ รวมถึงความจุแบตที่เพิ่มเข้ามาเป็นเกิน 3,000 mAh ส่งผลให้รวม ๆ แล้วระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ควรจะยาวนานขึ้นกว่าเดิม
แต่ทั้งนี้ในตัวรุ่น 13 Pro และ Pro Max จะมีข้อจำกัดอันมาจากเรื่องสเปคนิดนึงคือ ในรุ่นความจุ 128GB จะรองรับการถ่ายวิดีโอเป็นไฟล์ ProRes ที่ 1080p 30fps เท่านั้น ถ้าอยากถ่ายระดับ 4K ต้องซื้อรุ่นความจุ 256GB ขึ้นไป ซึ่งก็โอเคแล้วครับ เพราะจากที่ผมลองถ่าย ProRes 1080p 30fps ความยาว 30 วินาที ก็ได้ไฟล์วิดีโอขนาดใหญ่ถึง 841 MB แล้ว
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าในรีวิวนี้จะเป็นการพูดถึงความรู้สึกที่ผมได้หลังเปลี่ยนจาก iPhone 11 เครื่องเก่ามาเป็น iPhone 13 Pro ว่าได้อะไรเพิ่มเข้ามาบ้าง ซึ่งหลาย ๆ คนน่าจะกำลังสนใจรุ่น Pro อยู่ เนื่องจากดูเป็นรุ่นที่สมน้ำสมเนื้อกับการเปลี่ยนมือถือใหม่มากกว่า iPhone 13 รุ่นธรรมดา ด้วยฟีเจอร์ที่ใส่เข้ามาเพิ่ม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานได้มากกว่า เอาเป็นว่ามาดูกันเลยดีกว่าครับว่ามีอะไรบ้าง
1) หน้าจอ OLED Super Retina XDR พร้อม ProMotion 120Hz
เรื่องหน้าจอ แม้ว่า iPhone 13 Pro จะยังคงใช้เป็นจอ OLED แบบ Super Retina XDR ขนาด 6.1″ เท่าเดิมอยู่ก็ตาม แต่สิ่งที่สังเกตได้เลยก็คือบริเวณ notch (ติ่งจอ) ด้านบนนั้นมีขนาดเล็กลงกว่าทุกรุ่นที่ผ่านมา ซึ่งทาง Apple ก็เคลมว่าเล็กลงกว่าเดิมถึง 20% ทำให้หน้าจอมีพื้นที่แสดงผลด้านบนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย
จับเทียบกันให้เห็นชัด ๆ ไปเลยครับ เครื่องบนสุดคือ iPhone 11 ส่วนเครื่องกลางคือ iPhone 13 และเครื่องล่างสุดคือ iPhone 13 Pro ซึ่งทั้งสองรุ่นหลังนี้จะมีติ่งจอ หน้าจอขนาดเท่ากัน
จะสังเกตเห็นว่าพื้นที่จอตรงส่วนที่แสดงเวลานั้นกว้างกว่าเดิมอย่างชัดเจน
แม้ว่าพื้นที่ติ่งจอจะเล็กลง แต่เหล่ากล้องหน้าและเซ็นเซอร์ต่าง ๆ สำหรับช่วยปรับความสว่างหน้าจอและระบบ Face ID ก็ยังให้มาอย่างครบถ้วนตามเดิม เรียกว่าอัดกันมาแน่นทีเดียว ซึ่งตัว Face ID นั้นก็ยังเหมือนเดิมครับ ไม่ได้มีการอัพเกรดในส่วนนี้เข้ามา จะเสียดายก็ที่ยังไม่ใส่ Touch ID กลับมาให้ซักที
ด้านของคุณภาพหน้าจอ ก็ต้องบอกว่า Apple ยังทำมาได้ตามมาตรฐานของตนเองเช่นเคย คือมีการแสดงสีสันที่เป็นธรรมชาติ ความสว่างสู้แสงได้ดี ค่าคอนทราสต์ การแสดงสีดำก็ยังทำได้ยอดเยี่ยมตามคุณสมบัติของจอประเภท OLED ส่วนกระจกหน้าจอก็ยังคงใช้เป็น Ceramic Shield ตามเดิม
การรับชมภาพยนตร์ HDR Dolby Vision ก็ทำได้แบบสบาย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานในบริเวณที่มีแสงสว่าง เนื่องจากหน้าจอสามารถเร่งความสว่างได้สูงสุดถึงระดับ 1,200 nits สำหรับการแสดงคอนเทนต์แบบ HDR
มาถึงฟีเจอร์เด่นของจอ iPhone 13 Pro แล้วครับ นั่นคือ ProMotion ที่ทำให้หน้าจอปรับรีเฟรชเรตให้เหมาะสมกับเนื้อหาบนหน้าจอได้ เช่นถ้าเป็นการแสดงหน้าจอนิ่ง ๆ ไม่ได้มีการเคลื่อนไหว ก็จะปรับรีเฟรชเรตลงมาให้ต่ำเพื่อลดการใช้พลังงานลง ส่วนระดับสูงสุดก็ทำได้ถึง 120Hz ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของภาพบนจอดูราบรื่นขึ้น ลื่นตากว่าที่เคย เช่น การเลื่อนหน้าเมนู การเลื่อนหน้าแอป โดยใน iPhone 13 Pro และ Pro Max นี้ ได้รับการออกแบบให้ปรับระดับรีเฟรชเรตเองได้ถึง 12 ระดับ ได้แก่ 120Hz, 80Hz, 60Hz, 48Hz, 40Hz, 30Hz, 24Hz, 20Hz, 16Hz, 15Hz, 12Hz และ 10Hz อ้างอิงมาจากเอกสารของทาง Apple เอง ในขณะที่บน iPad Pro นั้นสามารถปรับได้แค่ 5 ระดับเท่านั้น
ซึ่งที่จริงก็ไม่จัดว่าเป็นฟีเจอร์ใหม่มากนักครับ เพราะฝั่ง Android นี่ทะลุกันไป 144Hz แล้ว แต่พอจับลงมาใส่ใน iPhone ก็ต้องบอกว่า Apple ทำการบ้านออกมาได้ค่อนข้างดี เพราะความไหลลื่นของการใช้งานนั้นทำได้ดีมาก ถ้าตัวของแอปพลิเคชันนั้นรองรับ และยิ่งเมื่อเทียบกับเครื่องรุ่นก่อนหน้าในมืออย่าง iPhone 11 ก็ยิ่งเห็นความแตกต่างได้ชัดเลย จากการเลื่อนหน้าเมนู เลื่อนฟีดในแอปโซเชียลต่าง ๆ
พูดถึงแอปพลิเคชันที่รองรับ ในระหว่างที่เขียนรีวิวนี้ เกมยอดนิยมอย่าง Genshin Impact ก็เพิ่งปล่อยอัพเดตให้ตัวเกมรองรับการแสดงผลที่ 120 FPS ออกมาพอดี โดยในเบื้องต้นนี้จะรองรับเฉพาะกับบน iPhone 13 Pro, iPhone 13 Pro Max และก็ iPad Pro ที่รองรับ ProMotion เท่านั้น (ส่วนฝั่ง Android ยังไม่มีออกมา)
ซึ่งจากที่ผมทดสอบการเล่นแบบ 120 FPS มา ต้องบอกว่าการเคลื่อนไหว การหมุนมุมกล้องนั้นลื่นตาขึ้นกว่า 60 FPS แบบสัมผัสได้ ทำให้เกมดูสนุกขึ้นอีกระดับ แต่หลังจากเล่นไปซักพัก จะเจอกับปัญหาเฟรมเรตตกลงมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจเกิดจากความร้อนสะสมภายในก็เป็นไปได้ ดังนั้นถ้าอยากจะเล่นแบบยาว ๆ แนะนำว่า 60 FPS ก็พอครับ
หลายท่านอาจสงสัยว่า ProMotion 120Hz นี้ จะกินแบตหนักมั้ย แบตลดเร็วขนาดไหน อันนี้จากที่ผมใช้งานมา ไม่พบปัญหาดังกล่าวเลย สามารถใช้งานได้ตลอดวันตามมาตรฐานของ iPhone ในยุค 2-3 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องจากความสามารถในการปรับรีเฟรชเรตหน้าจอให้เหมาะสมกับเนื้อหา เพื่อลดสิ้นเปลืองพลังงานที่ไม่จำเป็น แต่อย่างไรก็ตาม Apple ไม่มีตัวเลือกในการบังคับเปิด/ปิด ProMotion มาให้นะครับ ถ้าต้องการลดรีเฟรชเรตเพื่อหวังเซฟแบต ก็ให้ไปเปิดโหมด Low Power แทน ซึ่งจากที่ผมลองดู พบว่าหน้าจอลื่นน้อยลงนิดนึง จึงคาดว่าระบบน่าจะปรับลดรีเฟรชเรตจอลงไม่ให้วิ่งขึ้นสูงสุดที่ 120Hz เพื่อลดการใช้พลังงานลง
2) แบตเตอรี่ ประสิทธิภาพและ 5G
หลังจากที่มีผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อยให้ความเห็นว่า iPhone 12 series นั้นแบตไหล แบตหมดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปิดใช้งาน 5G พอมาในรุ่นใหม่อย่าง iPhone 13 series นี้ ทาง Apple ก็จัดคอมโบมาใหม่เลย คือปรับให้ทุกรุ่นมีความจุแบตเพิ่มขึ้น เปลี่ยนชิปเป็น A15 Bionic ที่มีประสิทธิภาพต่อการใช้พลังงานที่ดีขึ้นจนใช้แบตน้อยลง รวมถึงเปลี่ยนชิปโมเด็มจาก Snapdragon X55 มาเป็น X60 ที่มีการจัดการกับการรับสัญญาณ 5G ได้ดีขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง ประกอบกับการวางเครือข่าย 5G ในไทยเองที่ก็มีการขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ส่งผลให้ระยะเวลาการใช้งานแบตของกลุ่ม iPhone 13 series น่าจะสามารถทำได้ดีกว่าเดิม
ซึ่งจากที่ผมลองใช้งาน iPhone 13 Pro แบบเต็มวันดู โดยบังคับให้เครื่องจับ 5G ตลอดเวลาเท่าที่เป็นไปได้ ก็พบว่าสามารถใช้งานจนหมดวันได้เหมือนกับตอนได้ iPhone 11 มาใหม่ ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องชาร์จแบตระหว่างวันเลย หรือถ้าต้องการชาร์จระหว่างวัน ก็เอาไปวางแปะไว้บนแท่นชาร์จไร้สาย หรือแท่น MagSafe ได้แบบสบาย ๆ
การชาร์จแบต จัดว่าน่าเสียดายที่ช่องทางหลักยังคงใช้พอร์ต Lightning อยู่ ต่างจาก iPad mini 6 ที่เปิดตัวมาพร้อมกัน แต่ได้เปลี่ยนมาเป็น USB-C แล้ว ซึ่งก็คงต้องรอกันต่อไป สำหรับระยะเวลาในการชาร์จก็จัดว่าเร็วมาก ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอะแดปเตอร์จ่ายไฟว่าสามารถจ่ายได้เท่าไหร่ โดยบนหน้าเว็บ Apple ระบุว่าจะชาร์จเร็วเมื่ออะแดปเตอร์จ่ายไฟตั้งแต่ 20W ขึ้นไป หรือถ้าจะชาร์จแบบไร้สายก็ทำได้ทั้งใช้แท่นชาร์จ MagSafe และแท่นชาร์จ Qi ทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่า MagSafe จะให้ความเร็วในการชาร์จที่สูงกว่าเป็นเท่าตัวเลย
ในตอนที่ทดสอบ ผมใช้เป็น iPhone 13 Pro 128GB ที่อัพเดตเป็น iOS 15.1 รุ่นทดสอบในระดับ public beta นะครับ เมื่อเปิดเครื่องมาครั้งแรกจะเหลือความจุว่างให้ใช้งานประมาณ 112 GB
ในแง่ของประสิทธิภาพ ความแรง แน่นอนว่า iPhone 13 Pro ที่มาพร้อมชิป A15 Bionic นั้นคือระดับท็อป ๆ ของตารางอุปกรณ์ iOS / iPadOS เลย อาจจะแพ้พวกกลุ่ม iPad อยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ส่วนถ้าวัดที่ตัวชิปอย่างเดียวด้วย GeekBench ก็แน่นอนครับ ว่าชนะรุ่นเก่าแบบค่อนข้างขาดลอย ทั้งแบบ single core และ multi core
ส่วนถ้าพูดถึงในแง่การใช้งานทั่วไป ต้องบอกว่า iPhone 13 Pro ทำได้ไม่ต่างจาก iPhone รุ่นก่อนหน้ามากนัก คือลื่นเหมือนเดิม แต่ที่สังเกตได้ชัดคือการ boot ระบบจากการกดเปิดเครื่องที่ทำได้เร็วมาก ๆ
ด้านของการเล่นเกม อันนี้ต้องยอมรับว่าฝั่ง iOS มักจะทำได้ดีมาอยู่เสมอ เช่นเดียวกับใน iPhone 13 Pro ที่สามารถปรับระดับสูงสุดเท่าที่จะสามารถปรับได้ในทุกเกมเลย ภาพที่ได้ก็แทบไม่มีอาการกระตุก ส่วนความร้อนสะสม เท่าที่ผมทดลองดู ผมรู้สึกว่ารอบนี้เครื่องร้อนน้อยลงกว่า iPhone 12 series จริง ๆ แม้ว่าจะเล่นมาได้ซักพักแล้ว ตัวเครื่องก็แค่อุ่นขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ถึงขั้นร้อนเหมือนในรุ่นก่อน ๆ
ส่วนแบตเตอรี่ที่ใช้ในการเล่นแต่ละเกมนั้น ผลทดสอบออกมาได้ตามนี้ครับ (ความสว่างจอแบบปรับอัตโนมัติ เปิดเสียงออกลำโพง เล่นโดยต่อ WiFi)
- PUBG 14 นาที ใช้แบตไป 4%
- Pokemon Unite 10 นาที ใช้แบตไป 3%
- RoV 13 นาที ใช้แบตไป 3%
- Genshin Impact (120FPS) 30 นาที ใช้แบตไป 18%
การใช้งาน 5G บน iPhone 13 Pro ก็ทำได้ราบรื่นดี ทั้งยังกินแบตน้อยกว่าใน iPhone 12 series ด้วย ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่รองรับ และสัญญาณดี ๆ สามารถทำความเร็วดาวน์โหลดแตะหลัก 1,000 Mbps ได้เลย น่าเสียดายที่ตอนนี้ยังคงรองรับแต่ 5G แบบ NSA เท่านั้น ส่วน 5G SA ที่เป็นการใช้ทั้ง voice และ data บนโครงข่าย 5G ล้วน จะยังไม่สามารถใช้งานบน iPhone แบบ official support ได้นะครับ ต้องรอการอัพเดตเฟิร์มแวร์ก่อน แม้ว่าบางเครือข่ายในไทยจะเปิดใช้งาน 5G SA แล้วก็ตาม
ซึ่ง 5G SA นี้จะมีข้อดีหลัก ๆ ก็เช่น
- ในบางพื้นที่ อาจทำความเร็วในการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น
- การโทรทำได้เร็วขึ้น เสียงคมชัด
- ลดการใช้แบตเตอรี่ลง เนื่องจากตัวเครื่องจับแต่คลื่น 5G ล้วน ๆ ไม่ต้องแยกจับ 5G data กับ 4G voice อีกต่อไป
ก็หวังว่าจะมีการอัพเดตให้ iPhone ใช้งาน 5G SA ในไทยได้เร็ว ๆ นะครับ เพราะฝั่ง Android เองก็เริ่มมีหลายรุ่นแล้วเหมือนกัน
3) กล้อง และโหมดกล้องใหม่ ๆ
อีกสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย สำหรับจุดที่ผมได้เพิ่มขึ้นมา จากการอัพเกรด iPhone 11 มาเป็น iPhone 13 Pro ก็คือเรื่องกล้อง แบบที่เห็นได้ชัดสุดเลยก็คือการมีเลนส์เทเลเพิ่มเข้ามา ทำให้ผมสามารถถ่ายซูมได้ภาพที่ดีขึ้น ถ่ายภาพโหมด Portrait ได้ดูเป็นธรรมชาติ เนียนตาขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น แต่ถ้ามองลึกลงไปกว่านั้น ก็คือใน iPhone 13 Pro จะมาพร้อมเซ็นเซอร์รับภาพของกล้องที่ใหญ่ขึ้น ร่วมกับเลนส์ไวด์ที่รูรับแสงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ทำให้สามารถรับแสงได้ดีขึ้น ได้ภาพที่ดูสว่าง คมชัด แม้จะเป็นการถ่ายในที่มีแสงน้อยก็ตาม
โดยตำแหน่งการเรียงของเลนส์ ถ้าอิงจากภาพด้านบน เลนส์ด้านบนซ้ายคือเลนส์เทเล เลนส์บนขวาที่อยู่ใต้แฟลชคือเลนส์อัลตร้าไวด์ ส่วนอีกเลนส์ที่เหลือก็คือเลนส์ไวด์ปกติ
พูดถึงการซูม ในรอบนี้จะเริ่มซูมออปติคอลด้วยเลนส์เทเลที่ 3x ขึ้นไปนะครับ ต่างจากใน 12 Pro ที่เริ่มจาก 2x ทำให้ภาพดูใกล้ขึ้นกว่าที่เคย โดยจากที่ผมลองถ่ายซูมดู พบว่าตัวเครื่องจะมีการปรับใช้เลนส์ในการถ่ายซูมให้เหมาะสมกับในแต่ละสถานการณ์แบบอัตโนมัติ เช่น ถ้าเลือกซูม 3x เพื่อถ่ายตัวแบบในระยะตั้งแต่ประมาณ 80-90 cm. ขึ้นไป ระบบจะสลับไปใช้เลนส์เทเลให้ แต่ถ้าใกล้กว่านั้น ระบบจะใช้เลนส์ไวด์ปกติถ่าย แล้วใช้การซูมดิจิทัลแทน ส่งผลให้ภาพอาจจะดูไม่เนียนเท่าการใช้เลนส์เทเลถ่ายแบบไม่มีการซูม ดังนั้น ก่อนจะกดถ่าย อาจต้องเช็คระยะกันซักนิดนึงนะ
ส่วนอีกประเด็นที่เกี่ยวกับระยะเลนส์ก็คือ iPhone 13 Pro และ 13 Pro Max จะรองรับการถ่ายระยะใกล้แบบมาโครด้วยเลนส์อัลตร้าไวด์ ซึ่งเป็นครั้งแรกเลยที่สามารถถ่ายมาโครจากกล้อง iPhone ได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือแอปเสริม โดยในเรื่องนี้ เราจะมาพูดถึงกันอีกทีในช่วงของการถ่ายภาพมาโครครับ
Photographic Styles
อีกฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือ Photographic Styles ซึ่งเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือเป็นระบบพรีเซ็ตที่สามารถตั้งค่าไว้ให้สะดวกกับการถ่ายรูป ให้ได้ตามโทนสีที่ต้องการ เพื่อความสะดวกในการแต่งรูปในภายหลัง ซึ่งคนที่ชอบถ่ายภาพน่าจะให้ความสนใจกับฟีเจอร์นี้พอสมควรเลยครับ เพราะถ้าใช้ดี ๆ มันจะช่วยลดเวลาในการแต่งรูปได้เหมือนกัน โดยหลัก ๆ จะมีมาให้ 5 แบบ ได้แก่
- Standard – ค่ามาตรฐาน ตามสไตล์กล้อง iPhone
- Rich Contrast – ให้ภาพที่มีคอนทราสต์สูงขึ้น โทนเข้มขึ้น น่าจะเหมาะกับภาพสไตล์ silhouette
- Vibrant – ให้ภาพที่สีสันสด ดูสว่าง คอนทราสต์น้อย
- Warm – ให้ภาพที่ดูโทนสีอุ่นขึ้น
- Cool – ให้ภาพที่ดูโทนสีเย็นลง อมฟ้านิด ๆ
ทั้งนี้ แต่ละพรีเซ็ตเองก็จะมี 2 ค่าให้สามารถปรับแต่งเองได้อีก คือค่า Tone (ปรับความเข้ม contrast) และค่า Warmth (ปรับความอุ่นของโทนสี) ซึ่งหลังจากปรับแล้ว ระบบก็จะบันทึกค่าไว้ให้ใช้ในภายหลังได้ด้วย
ด้านบนนี้ก็เป็นภาพตัวอย่างจากการใช้ Photographic Styles ที่แตกต่างกันเรียงตามลำดับครับ จะสังเกตได้ว่าโทนของแต่ละภาพจะมีความต่างกันเล็กน้อย อย่างภาพที่ 2 ส่วนที่เป็นเงาจะเข้มขึ้น ภาพที่ 3 ก็ตรงข้ามกัน คือภาพดูสว่างกว่า ส่วนภาพที่ 4 และ 5 ก็จะเป็นขั้วตรงข้ามกัน คือภาพโทนสีอุ่นกับโทนสีเย็น
โดยตัวของ Photographic Styles จะมีให้ปรับได้ทั้งจากในหน้า Settings และก็ที่ไอคอนในหน้าแอปกล้องเลย
พูดถึงในหน้า Settings ของกล้อง ก็จะมีบางหัวข้อที่น่าสนใจด้วยนะครับ เช่น Auto Macro ที่ Apple ใส่เข้ามาใน iOS 15.1 beta (และน่าจะมาใน iOS 15.1 ตัวเต็มเร็ว ๆ นี้) โดยตัวของ Auto Macro นี้เป็นตัวเปิด/ปิดความสามารถในการสลับไปใช้โหมดมาโครอัตโนมัติของแอปกล้อง ที่ในขณะที่รีวิวนี้ ยอมรับเลยว่ายังเป็นปัญหาที่สร้างความไม่สะดวกในการใช้งานอยู่บ้างเหมือนกัน
Cinematic VDO
สิ่งใหม่ที่ Apple พูดถึงในงานเปิดตัวก็คือโหมด Cinematic ที่ทำให้ iPhone 13 ทุกรุ่นสามารถถ่ายวิดีโอให้ออกมาดูคล้ายกับภาพยนตร์มากขึ้น โดยอาศัยความสามารถของระบบในการจับจุดโฟกัสที่เหมาะสมแบบอัตโนมัติ โดยตัว AI จะประมวลผลให้เองว่าในขณะนั้นควรจะโฟกัสที่อะไร เช่น ใบหน้าของคนที่เดินเข้ามาในเฟรม เป็นต้น โดยสามารถใช้ได้ทั้งเลนส์ไวด์ (1x) และเลนส์เทเล (3x) แต่จะมีข้อจำกัดคือสามารถถ่ายได้ที่ระดับ 1080p 30fps เท่านั้น
ส่วนหลักการทำงานของ Cinamatic Mode นั้น ที่จริงแล้วก็คล้ายกับเป็นการนำโหมด Portrait ของภาพนิ่งมาใช้กับการถ่ายวิดีโอครับ คือใช้การเบลอส่วนที่ระบบมองว่าไม่ใช่วัตถุเด่นในเฟรม แต่จะปรับให้การเบลอนั้นดูเป็นธรรมชาติ รวมถึง transition ในช่วงที่กำลังเบลอนั้นก็จะเป็นแบบเนียน ๆ คล้ายกับการหมุนวงแหวนซูมที่เลนส์จริงยิ่งขึ้น แต่ถ้าใครที่สังเกตดี ๆ หรือดูหนังบ่อย ๆ ก็จะพอจับสังเกตได้ว่าระบบยังทำได้ไม่ค่อยเนียนในบางสถานการณ์อยู่เหมือนกัน
ซึ่งจากที่ผมลองถ่ายมาจริง ๆ พบว่าในบางสถานการณ์ ระบบก็ยังจับจุดโฟกัสให้ไม่โดนใจเท่าไหร่ หรือบางทีก็ถึงขั้นไม่จับเลยเหมือนกัน เลยมองว่าโหมด Cinematic นี้อาจจะยังเป็นของเล่นที่ช่วยเพิ่มความสนุกในการถ่ายวิดีโอในระดับสมัครเล่นอยู่ อาจจะยังไม่ถึงระดับงานโปรดักชั่นจริงจังนัก
การถ่ายมาโคร
นับเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ทำให้กล้อง iPhone 13 Pro นั้นครบเครื่องในทันที กับความสามารถในการถ่ายภาพระยะใกล้ในระดับมาโคร ซึ่งหลักการทำงานนั้นก็เป็นวิธีที่คุ้นเคยครับ คือใช้เลนส์อัลตร้าไวด์ในการถ่าย ซึ่งมือถือฝั่ง Android หลายรุ่นที่ไม่ได้ใส่เลนส์มาโครแยกเฉพาะมาให้ก็เลือกใช้งานวิธีนี้กัน แต่สิ่งที่ทำให้มาโครของ iPhone แตกต่างออกไปก็คือวิธีในการเรียกใช้งาน เพราะในหน้าแอปกล้องจะไม่มีปุ่มเปิด/ปิดโหมดมาโครมาให้เลย แต่ระบบจะจัดการสับเปลี่ยนไปใช้เลนส์อัลตร้าไวด์ให้อัตโนมัติ เมื่อพบว่ากำลังแพนไปที่วัตถุในระยะใกล้มาก ๆ (ประมาณ 10 cm.)
ซึ่งจะมองว่าง่ายก็ง่ายครับ เพราะแค่แพนกล้องไปยังจุดที่ต้องการ จากนั้นก็กดถ่ายได้เลย ภาพที่ออกมาก็เช่นภาพแมลงด้านบน และในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้
แต่พอใช้งานจริง ในบางสถานการณ์อาจจะเจอปัญหาว่าระบบสลับเลนส์ไปมา เมื่อต้องการถ่ายภาพวัตถุ/ตัวแบบที่อยู่ในระยะเลนส์ไวด์ ผ่านกรอบหรือวัตถุที่ขวางหน้าอยู่ ที่อยู่ในระยะมาโครของเลนส์อัลตร้าไวด์ ทำให้ระบบจะสลับเลนส์ไปมาจนไม่สามารถถ่ายได้เลย
โดยแนวทางการแก้ปัญหาในตอนนี้ของ Apple ก็คือการเปิดสวิตช์ Auto Macro ในหน้า Settings ของแอปกล้องตามในภาพด้านบน ซึ่งถ้าปิดฟังก์ชันนี้ไป ผู้ใช้จะสามารถถ่ายมาโครได้โดยต้องสลับไปใช้เลนส์อัลตร้าไวด์ก่อน แล้วจึงค่อยแพนกล้องถ่าย ก็ลดความสะดวกลงไปนิดนึง แลกกับการกำจัดปัญหากล้องสลับเลนส์ไปมา
ส่วนคลิปด้านล่างนี้ เป็นวิดีโอที่รวม 3 คลิปไว้ด้วยกันนะครับ ได้แก่ ตัวอย่างของคลิปที่ถ่ายด้วยโหมด Cinematic ถัดมาเป็นตัวอย่างของคลิปที่ถ่ายแบบมาโคร และคลิปสุดท้ายเป็นวิดีโอแคปหน้าจอของตอนที่พบปัญหาระบบสลับเลนส์ไปมา
ด้านล่างนี้ก็เป็นคลิปตัวอย่างของวิดีโอ 4K 60fps ในโหมดปกติของ iPhone 13 Pro นะครับ
กลับมาที่การถ่ายรูปทั่วไปบ้าง สำหรับ iPhone 13 Pro ก็ยังคงเดิมครับ คือเป็นมือถือที่ถ่ายรูปได้สนุก ภาพออกมาในระดับที่หวังผลได้ ในเรื่องของความคมชัด แสงสีและความสว่าง เน้นการใช้งานที่ง่าย กดแล้วได้รูปค่อนข้างแน่นอน
ภาพด้านบนนี้เป็นภาพจากเลนส์อัลตร้าไวด์ครับ ต้องบอกว่าออกมาค่อนข้างดีเลย กับการเก็บรายละเอียด ความสว่าง สีสัน โดยส่วนขอบภาพก็จะเบลอ ๆ หน่อย ซึ่งเป็นข้อจำกัดของเลนส์อัลตร้าไวด์อยู่แล้ว ทั้งยังรองรับ Night mode ที่จะเปิดชัตเตอร์นานขึ้น เพื่อช่วยให้เก็บแสงเข้ามาได้มากขึ้นด้วย จะเสียดายก็ตรงที่เลนส์อัลตร้าไวด์ยังคงไม่รองรับระบบชดเชยการสั่นไหว OIS เหมือนเลนส์ไวด์และเทเล นอกจากนี้ส่วนของเลนส์ไวด์เองก็พิเศษขึ้นไปอีก เพราะยังมีระบบชดเชยการสั่นแบบ Sensor-shift ที่ใช้การขยับตำแหน่งของเซ็นเซอร์รับภาพมาให้อีกด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ Apple นำจากรุ่นก่อนหน้ามาใช้งานต่อ และก็ยังทำได้ดีเช่นเคย ทั้งสำหรับการถ่ายภาพนิ่งและการถ่ายวิดีโอ
ในการซูมภาพ ก็ยังทำได้ง่ายเช่นกัน โดยในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ แต่ละชุดจะเป็นการถ่ายจากจุดเดียวกัน แต่เลือกซูมในระยะที่แตกต่างกัน ภาพแรกสุดจะเป็นระยะ 1x ปกติ ถัดไปจะเป็นอัลตร้าไวด์ 0.5x และหลังจากนั้นในชุดเดียวกันก็จะเป็นการซูม โดยสามารถซูมได้มากสุดที่ 15x
ส่วนโหมด Portrait ก็ยังคงเดิมเช่นกัน คือต้องมีระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวแบบพอสมควร สำหรับการเบลอฉากหลัง อันนี้ในบางสถานการณ์ก็ยังทำได้ไม่ดีนัก เช่น หลอดในแก้วกาแฟ ที่บางครั้งก็เบลอไปเลย หรือบางครั้งก็ตัดเบลอให้แบบค่อนข้างแม่น อันนี้ก็ยังคงต้องปรับกันต่อไปล่ะนะ ส่วนการถ่ายจะทำได้ทั้งเลนส์เทเลที่ 3x และเลนส์ไวด์ที่ 1x เลย
ด้านล่างนี้เป็นแกลเลอรี่ของภาพที่ถ่ายจากโหมด Portrait นะครับ รวมถึงยังมีภาพ Portrait จากกล้องหน้าด้วย
ภาพถ่ายในที่มีแสงน้อยก็ยังคงทำได้ง่ายเช่นกัน โดยสามารถถ่ายได้จากทั้ง 3 เลนส์ โดยเซ็นเซอร์ LiDAR ก็ช่วยให้สามารถโฟกัสในที่มีแสงน้อยได้ง่ายและเร็วขึ้น
ด้วยความสามารถด้านฮาร์ดแวร์ที่เพิ่มขึ้น จากการใช้เลนส์ไวด์ f/1.5 และเซ็นเซอร์รับภาพที่ใหญ่ขึ้น ทำให้กล้องของ iPhone 13 Pro สามารถรับแสงได้ดีขึ้น ทำให้ในบางสถานการณ์นั้นระบบไม่จำเป็นต้องเปิด Night mode เพื่อเปิดชัตเตอร์ให้นานขึ้นเลย แต่ยังได้ภาพที่เก็บรายละเอียดได้ดี อย่างในภาพด้านบนนี้ จะเห็นว่าแม้โทนภาพโดยรวมจะดูมืดไปนิด แต่ส่วนที่เป็นรายละเอียดนั้นให้มาค่อนข้างดี และถ้าถ่ายเป็นไฟล์ ProRAW ก็คือสามารถนำไปแต่งต่อได้อีก เพราะรายละเอียดหลาย ๆ จุดในภาพยังไม่หายไป ต่างจากใน iPhone 11 ที่ผมถ่ายในจุดเดียวกัน พบว่าภาพนั้นสว่างกว่าก็จริง แต่รายละเอียดหายไปเยอะมาก ซึ่งจะนำมาเทียบกันในหัวข้อต่อไปครับ
ด้านล่างนี้เป็นแกลเลอรี่ของภาพที่ถ่ายจาก iPhone 13 Pro ในที่มีแสงน้อย
ส่วนด้านล่างนี้ เป็นแกลเลอรี่ภาพแบบรวม ๆ ครับ โดยรวมแล้วจะให้ภาพที่เน้นความคมชัดมากขึ้น เก็บรายละเอียดในจุดที่สว่างและมืดได้ครบถ้วนกว่าเดิม ในขณะที่สีสันยังค่อนข้างเป็นโทนสบายตา เป็นธรรมชาติเหมือนเดิม
เทียบภาพกับกล้อง iPhone 11
* ทางผมไม่มี iPhone 12 series นะครับ เลยเทียบได้กับแค่ iPhone 11
ในสถานการณ์ที่มีแสงเพียงพอ ต้องบอกว่าทั้งสองเครื่องทำได้ดีพอกัน แต่จะมีความแตกต่างเล็กน้อย คือ iPhone 13 Pro สามารถดึงรายละเอียดในส่วนมืดได้ดีกว่ากันนิดนึง สังเกตได้จากส่วนมืดของเสาไฟ
ต่อมาเป็นเลนส์อัลตร้าไวด์กันบ้างครับ โทนสีของ 13 Pro จะดูตรงกับวัตถุจริงมากกว่า ทั้งยังคมชัดกว่าด้วย และที่สำคัญคือตัวกล้องมีระบบแก้ภาพเบี้ยวแบบ distortion มาให้ ทำให้ขอบภาพดูไม่เบี้ยว สังเกตได้จากบริเวณขอบหน้าต่างตรงมุมซ้ายบน ซึ่งที่จริงระบบนี้มีมาตั้งแต่ใน iPhone 12 แล้ว
ลองความสามารถของการถ่าย HDR ด้วยการถ่ายวัตถุบ้าง ผลก็ตามภาพครับ แถมยังได้มิติการเบลอหลังที่ดีกว่าด้วย อันเนื่องมาจากการใช้เลนส์ f/1.5 นั่นเอง (iPhone 11 ใช้เลนส์ f/1.8)
ส่วนโหมด Portrait ถ้าเทียบในสถานการณ์เดียวกัน ก็ต้องปรับให้ iPhone 13 Pro ถ่ายที่ระยะ 1x ด้วย (ภาพซ้ายสุด) ซึ่งความสามารถในการเบลอนั้นก็ใกล้เคียงกันครับ แต่จะต่างกันในเรื่องความสว่างของภาพ ส่วนถ้าถ่ายที่ระยะ 3x ก็กินขาดแน่นอน
ชุดนี้ก็โหมด Portrait เหมือนกัน แต่เป็นการถ่ายในที่มีแสงน้อยหน่อย และมีดวงไฟเป็นลักษณะโบเก้ด้านหลัง ภาพซ้ายสุดจะเป็นระยะ 3x แต่จัดให้ระยะของภาพเท่ากับ 1x นะครับ
มาที่ภาพกลางคืนกันบ้าง อย่างที่เกริ่นไปด้านบนว่า iPhone 13 Pro จะจัดการเรื่องการเก็บรายละเอียดได้เหนือกว่า iPhone 11 อย่างเห็นได้ชัด จุดที่เห็นได้ชัดสุดคือตัวเลขราคาน้ำมันจากป้ายหน้าปั๊ม แม้ว่าโทนภาพโดยรวมจะดูมืดลงไปนิดนึง แต่ก็เหมาะที่จะนำมาปรับแต่งทีหลังมากกว่า ทั้งยังค่อนข้างตรงกับสถานการณ์จริงที่มองจากสายตามากกว่าด้วย
ทดสอบการถ่ายในที่มีแสงน้อยด้วยเลนส์อัลตร้าไวด์บ้าง แน่นอนว่าการเก็บแสง และความคมชัดนั้น iPhone 13 Pro ทำได้ดีกว่า
ปิดท้ายด้วยภาพถ่ายจากกล้องหน้าครับ ภาพซ้ายของแต่ละเครื่องคือโหมดธรรมดา ส่วนภาพขวาเป็นโหมด Portrait
รวม ๆ แล้ว กล้องของ iPhone 13 Pro นั้นมีการพัฒนาคุณภาพขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าอยู่หลายจุดเหมือนกัน ทั้งยังให้ความยืดหยุ่นที่เหมาะสำหรับการแต่งภาพต่อในภายหลังได้ดี ส่วนด้านของวิดีโอ จุดที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ก็ยังทำได้ดีอยู่เช่นเดิม แต่มีการเพิ่มโหมดใหม่ ๆ มาให้ใช้งานในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้สนุกยิ่งขึ้น จนถึงขั้นที่ใช้เสริมในงานโปรดักชั่นเบื้องต้นได้อยู่เหมือนกัน
เรียกว่าถ้าอยากได้มือถือรุ่นท็อปที่ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอได้สนุก เน้นใช้ง่ายไม่ต้องคิดมาก iPhone 13 รุ่น Pro จัดว่าตอบโจทย์ได้ดีเลย
แถมในส่วนของตัวเครื่องกันอีกซักนิด เริ่มจากหน้ากล่องจะมีภาพของฝาหลัง iPhone ตามสีของเครื่องในกล่องเลย สำหรับสีพื้นกล่องนั้น ถ้าเป็นรุ่น Pro จะเป็นสีดำ ส่วนถ้าเป็นรุ่นธรรมดากับรุ่น mini จะใช้เป็นสีขาว ซึ่งเป็นรูปแบบที่ Apple ใช้มาในช่วงหลายปีหลังมานี้อยู่แล้ว
แต่จุดที่เปลี่ยนไปในปีนี้ก็คือ Apple ตัดฟิล์มพลาสติกใสที่หุ้มด้านนอกกล่องออก โดยระบุในงานเปิดตัวว่าเป็นหนึ่งในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้กล่องของ iPhone เครื่องใหม่ทุกรุ่นนับจากนี้จะไม่มีพลาสติกซีลมาให้แล้ว แต่จะเปลี่ยนการซีลกล่องมาใช้เป็นแผ่นสติกเกอร์ปิดหัว/ท้ายกล่องตามแบบในภาพด้านบนแทน ซึ่งสามารถแกะออกได้ง่ายมาก โดยอาศัยการดึงตามลูกศร แต่ถ้าเห็นว่ากล่องมีสติกเกอร์ซีลมาแบบนี้ ก็ใช่ว่าจะมั่นใจได้ 100% นะครับว่าในกล่องจะเป็นเครื่องใหม่ที่ไม่เคยแกะมาก่อน เพราะตอนนี้ก็มีคนทำสติกเกอร์เทียบในแบบเดียวกันออกมาแล้ว ดังนั้นในตอนซื้อ ก็ควรตรวจสอบเครื่องและกล่องดี ๆ เช่นเดิม
ส่วนรายละเอียดด้านหลังกล่องก็จะคล้าย ๆ เดิมครับ คือมีชื่อรุ่น ความจุ สีเครื่อง รหัสโมเดล ไปจนถึงอุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง ซึ่งสำหรับเครื่องศูนย์ไทยจะมีระบุมาว่ารองรับ 5G แค่ระดับ sub-6 GHz เท่านั้น ทำให้จะไม่สามารถนำไปใช้งานกับคลื่นความถี่ในช่วง mmWave ที่เริ่มเปิดให้ใช้งานบ้างแล้วในบางประเทศเช่น สหรัฐฯ ได้
อุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่องก็มีเพียงแค่สายชาร์จ Lightning to USB-C เข็มจิ้มถาดใส่ซิม เอกสารคู่มือและการรับประกันเบื้องต้น รวมถึงสติกเกอร์โลโก้ Apple อีก 1 ดวงเท่านั้น
ตัวเครื่องของ iPhone 13 Pro นั้นมีมิติที่เท่า ๆ กันกับ iPhone 13 รุ่นปกติ ส่วนถ้าเทียบกับ iPhone 11 ที่ผมใช้งานอยู่นั้น ก็แน่นอนว่าตัว 13 Pro จะเล็กกว่ากันนิดนึง ส่วนในเรื่องน้ำหนัก อันนี้ยอมรับเลยว่าหนักมือขึ้นจริง แต่ก็มาพร้อมความรู้สึกว่ามันหนาแน่นมาก ๆ
ฝาหลังสีฟ้า Sierra Blue ที่เป็นสีใหม่ของรุ่น Pro ประจำปีนี้ โทนสีเป็นสีฟ้าอ่อน ๆ ที่จะเปลี่ยนความเข้มเล็กน้อยตามแสงที่อยู่โดยรอบ โดยสีของฝาหลังนั้นจะดูคล้ายผิวโลหะพ่นสี แต่ที่จริงแล้วจะเป็นกระจกผิวด้านนะครับ
ขอบข้างเป็นสแตนเลสผิวแวววาว ซึ่งก็จะมีการแซมโทนสีแบบเดียวกับสีของฝาหลังเข้าไปด้วย ทำให้ดีไซน์ของตัวเครื่องดูกลมกลืนกัน
พอร์ตเชื่อมต่อก็ยังคงเป็น Lightning อยู่ โดยมีช่องลำโพงอยู่ฝั่งขวาของพอร์ต ส่วนไมโครโฟนจะมีอยู่ทั้งสองด้านขนาบพอร์ต Lightning รวมถึงยังมีอยู่ที่ช่องลำโพงสนทนาตรงเหนือจอด้วย ฝั่งขวามีปุ่ม Power ส่วนฝั่งซ้ายจะมีสวิตช์เปิด/ปิดเสียง ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และก็ถาดใส่ซิม
จากภาพทั้ง 4 มุม จะเห็นว่าส่วนของกล้องหลังนั้นนูนหนาขึ้นมาจากฝาหลังอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะไปขูด หรือกระแทกกับพื้นผิวต่าง ๆ ได้ง่ายในขณะใช้งาน ดังนั้นถ้าจะเลือกเคส ก็ควรเลือกเคสที่มีขอบนูนสูงกว่าส่วนที่นูนที่สุดของเลนส์กล้องหลังด้วยก็จะดี
อย่างเคสซิลิโคน MagSafe ของ Apple เองก็จะมีขอบพลาสติกแข็งล้อมรอบโมดูลกล้องไว้ให้ โดยในรูปนี้จะเป็นเคสสีแดง PRODUCT (RED) ที่ผิวนอกเป็นซิลิโคนซอฟต์ทัชให้สัมผัสนิ่มมือมาก ๆ ส่วนภายในเป็นผ้ากำมะหยี่ มีการเว้นช่องของพอร์ต Lightning ช่องลำโพงและช่องไมค์มาให้เรียบร้อย
พอดีผมมีโอกาสได้ iPhone 13 ผ่านมือมาเครื่องนึง เลยจับมาถ่ายเทียบกับรุ่น Pro ดูซักนิดนึงครับ จะเห็นว่ารูปทรงของตัวเครื่องนั้นเท่า ๆ กันเลย ด้วยหน้าจอขนาด 6.1″ เท่ากัน ทำให้ถ้ามองจากภาพนิ่งด้านหน้านั้นแทบจะแยกรายละเอียดไม่ออกอยู่เหมือนกัน แต่จะไปต่างแบบชัดเจนที่ด้านหลัง เนื่องจากรุ่นปกติจะมีกล้องหลังแค่ 2 เลนส์ วางไว้ในแนวทะแยงมุม ซึ่ง Apple ก็ให้เหตุผลว่าเพื่อให้สามารถบรรจุเซ็นเซอร์รับภาพที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้
เทียบด้านข้างเครื่องระหว่างรุ่น Pro, รุ่นธรรมดา และก็ iPhone 11 นะครับ โดยขอบเครื่องของรุ่น Pro จะเป็นสแตนเลสสตีล ในขณะที่อีกสองรุ่นนั้นเป็นอลูมิเนียมผิวด้าน
เทียบขนาดโมดูลกล้องหลังของทั้ง 3 รุ่น ก็จะเห็นได้ชัดว่าโมดูลกล้องหลังของ iPhone 13 นั้นใหญ่กว่า iPhone 11 อย่างเห็นได้ชัด ส่วนที่ใหญ่สุดก็หนีไม่พ้นรุ่น Pro ซึ่งที่ใหญ่กว่าก็เพราะเลนส์และเซ็นเซอร์ LiDAR ที่เพิ่มเข้ามา ประกอบกับแต่ละเลนส์นั้นยังมีขนาดที่ใหญ่กว่าด้วย
คราวนี้ลองเทียบสีแดงของผลิตภัณฑ์ PRODUCT (RED) ทั้ง 3 ชิ้นดูบ้าง จะเห็นว่าสีของเคสซิลิโคนดูจางสุดเลย ส่วนโทนสีแดงของ iPhone 13 กับ iPhone 11 นั้นก็ต่างกันด้วย โดยใน 13 จะดูเข้มขึ้น ส่วนใน 11 จะดูสว่างกว่า สดใสกว่า
จัดว่าสมการรอคอยอยู่เหมือนกันครับกับ iPhone 13 Pro ในมุมของคนที่ใช้ iPhone 11 มา 2 ปีเต็ม ด้วยฟีเจอร์หลาย ๆ ด้านที่ดึงดูดใจสำหรับการอัพเกรด ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอ ProMotion 120Hz กล้องหลังที่รองรับการถ่ายได้หลายระยะ แบตเตอรี่ที่ใช้ได้นานตลอดวันเหมือนเดิม ไปจนถึงประสิทธิภาพระดับท็อปที่รองรับการใช้งานระยะยาวได้สบาย ทำให้โดยรวมแล้วเป็น iPhone ที่ใช้งานได้สนุก ไม่ว่าจะสายโซเชียล สายถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ไปจนถึงเกมเมอร์ก็น่าจะสะใจกับมือถือเครื่องนี้แน่นอน
ด้านของข้อจำกัดที่เคยมีมาใน iPhone รุ่นก่อนหน้า โดยเฉพาะ iPhone 12 series อย่างเรื่องแบตเตอรี่ พอมาเป็นในรุ่น 13 ก็ได้รับการแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้นานเหมือนเดิมแล้ว ด้วยการปรับเปลี่ยนในหลายจุดผสมผสานกัน นับตั้งแต่ชิปโมเด็ม แบตเตอรี่ที่ความจุเยอะขึ้นเล็กน้อย รวมถึงตัวชิป A15 Bionic ที่อาจจะมองเหมือนว่าไม่ได้ก้าวกระโดดมากนัก แต่ก็มีการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น โดยใช้พลังงานที่ต่ำลงกว่าเดิม ทั้ง ๆ ที่จอมีรีเฟรชเรตสูงสุด 120Hz อันนี้ก็ต้องถือว่า Apple ทำการบ้านแก้ไขข้อจำกัดในรุ่นก่อนหน้าได้ดีอยู่เหมือนกัน
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางจุดที่ยังดูเหมือนขาดไปซักนิดนึง เช่น พอร์ตเชื่อมต่อที่ยังไม่เปลี่ยนเป็น USB-C ตามที่คนเรียกร้องกันซักที การที่ยังไม่ใส่ Touch ID มาให้ ทั้งที่สามารถใส่ในปุ่ม Power ของ iPad ได้ ด้วยข้อจำกัดของระบบ Face ID ในช่วงที่ทุกคนยังต้องใส่หน้ากากกันอยู่ รวมถึงประเด็นของติ่งหน้าจอที่ถึงแม้จะลดขนาดลงแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่าความคาดหวังของคนส่วนใหญ่คืออยากให้ Apple สามารถใส่เซ็นเซอร์และกล้องต่าง ๆ ลงไปใต้จอได้อย่างสมบูรณ์ซักที ซึ่งอันนี้ ส่วนตัวผมไม่ติดอะไร เพราะตอนใช้งานจริงก็ไม่ได้รู้สึกว่าติ่งจอมันเกะกะ เพราะสายตาเราอยู่ที่ส่วนพื้นที่แสดงผลหลักของจอซะมากกว่า
ส่วนโหมดกล้องที่ให้มา ก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะเป็นการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วทั้งของตนเอง และของในท้องตลาดมาประยุกต์ให้น่าใช้งาน และใช้ง่ายยิ่งขึ้น ความสามารถในบางจุดก็ทำออกมาเพื่อเอาใจผู้ใช้งานในสายโปรดักชั่น และสายคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ดี แต่ก็อาจจะยังมีข้อจำกัดในการทำงานอยู่บ้าง อันเนื่องมาจากการอาศัยความสามารถของซอฟต์แวร์ในการทำงานแบบอัตโนมัติ ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะได้ผลลัพธ์ไม่ตรงใจ แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีการอัพเกรดความสามารถของระบบต่าง ๆ เหล่านี้ให้ดีขึ้นในอนาคตครับ
รวม ๆ แล้ว iPhone 13 Pro เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก สำหรับคนที่ต้องการ iPhone มาใช้เป็นเครื่องหลักที่ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบอย่างต่ำซัก 2 ปีขึ้นไป ด้วยความสามารถที่ครบครัน แม้ว่าราคาในปีนี้จะเปิดมาสูงกว่าปีก่อนซักนิดนึงก็ตาม แต่ถ้ามองว่าใช้งานได้ยาว ๆ บวกกับราคาขายต่อที่สูง การลงทุนกับ iPhone รุ่น Pro ในปีนี้ ดูอาจจะคุ้มกว่ารุ่นธรรมดาอยู่เหมือนกัน หากสนใจ ลองเข้าไปเช็คราคากลางจากหน้าเว็บ Apple ก่อนได้เลยครับ