นอกเหนือจากการเปิดตัว iPhone 13 series แล้ว อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวมาพร้อมกัน และดูจะได้รับความสนใจมากกว่าเสียด้วยซ้ำก็คือ iPad mini 6 ที่เปิดตัวมาเพื่อทดแทนรุ่นก่อนหน้าที่อยู่ในตลาดมาแล้วกว่า 2 ปีครึ่ง ด้วยการปรับเปลี่ยนดีไซน์ เปลี่ยนพอร์ตเชื่อมต่อ รวมถึงยังอัพเกรดชิปเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดอีกด้วย ในบทความนี้เราจะมารีวิว iPad mini 6 รุ่น Wi-Fi ให้ชมกันครับ ว่าจะน่าใช้งานขนาดไหน น่าอัพเกรดเครื่องมั้ย ในมุมมองของคนที่ใช้งาน iPad mini 5 อยู่
โดยนอกเหนือจากตัวเครื่องแล้ว ก็จะมีเคส Smart Folio จาก Apple ที่ออกแบบมาเพื่อ mini 6 โดยเฉพาะ และก็ Apple Pencil 2 ด้วยนะครับ เรียกว่าเป็นชุดที่ครบสำหรับคนต้องการใช้งานผลิตภัณฑ์จาก Apple ล้วน ๆ เลย
สเปค iPad mini 6 (รุ่น Wi-Fi)
- ชิป A15 Bionic (6 คอร์ พร้อม GPU 5 คอร์ และ Neural Engine 16 คอร์)
- แรม 4 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูลมีให้เลือกสองแบบคือ 64 และ 256 GB
- หน้าจอ LED Liquid Retina ขนาด 8.3″ ความละเอียด 2266 x 1488 60Hz
- รองรับขอบเขตการแสดงสีที่ระดับ P3 รองรับ True Tone
- ความสว่างหน้าจอสูงสุด 500 nits (ไม่รองรับ HDR)
- รองรับ Apple Pencil 2
- กล้องหลัง 12MP f/1.8 มาพร้อมแฟลช LED แบบ True Tone
- ถ่ายวิดีโอได้สูงสุดระดับ 4K 60fps
- กล้องหน้า 12MP f/2.4 รองรับ Center Stage
- มี Touch ID ที่ปุ่ม Power
- ลำโพงคู่สเตอริโอ ไม่มีช่อง 3.5 มม.
- รองรับ Wi-Fi 6 HT80
- ส่วนรุ่น Wi-Fi + Cellular จะรองรับ 5G ในไทยด้วย
- ชาร์จผ่านพอร์ต USB-C รองรับการแสดงภาพผ่าน DisplayPort ด้วย
- แบตเตอรี่ 19.3 Wh (5,124 mAh)
- น้ำหนักรุ่น Wi-Fi = 293 กรัม รุ่น Wi-Fi+Cellular = 297 กรัม
- มีให้เลือก 4 สีคือ เทา ชมพู ม่วง สตาร์ไลท์
- ราคาศูนย์ไทยเริ่มที่ 17,900 บาท
ด้านสเปคของ iPad mini 6 ก็เรียกว่าจัดเต็มอยู่พอสมควรครับ เริ่มจากชิปประมวลผลที่ขยับจาก A12 Bionic ในรุ่นก่อนหน้ามาเป็น A15 Bionic ที่เป็นชิปรุ่นเดียวกับใน iPhone 13 ประจำปีนี้เลย ส่วนหน้าจอก็ปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ที่ฮือฮาที่สุดคงหนีไม่พ้นการนำ Touch ID มาใส่ที่ปุ่ม Power เพื่อให้สามารถปลดล็อกด้วยลายนิ้วมือได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีปุ่มโฮมแบบวงกลมอีกต่อไป อีกเรื่องก็คือการเปลี่ยนพอร์ตชาร์จจาก Lightning มาเป็น USB-C เหมือนกับใน iPad Pro และ iPad Air รุ่นล่าสุดแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้สะดวกกับการใช้งานของหลาย ๆ ท่านที่มีสาย หรืออุปกรณ์ที่เป็น USB-C กันอยู่แล้วได้เป็นอย่างดี
แต่ก็จะมีประเด็นเรื่องของราคาที่ขยับสูงขึ้นจากเดิมพอตัว อย่างในรุ่นความจุ 64GB ที่ขยับจาก 13,900 บาทในรุ่น 5 มาเป็น 17,900 บาทในรุ่น 6 ซึ่งแทบจะใกล้มาชนกับ iPad Air 4 แล้ว แต่ก็จะได้ในเรื่องของฮาร์ดแวร์ที่สดใหม่กว่า ขนาดที่พกพาสะดวกกว่า อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานและการพกพาของแต่ละท่านนะครับ ว่าถนัดแบบไหนมากกว่ากัน
ตัวเครื่อง
ก็ต้องเรียกว่าเป็นไปตามคาดอยู่เหมือนกันครับ สำหรับดีไซน์ของ iPad mini 6 ที่เดินตามรอยของรุ่นก่อนหน้าอย่างซีรีส์ iPad Pro และ iPad Air ที่เป็นขอบแบบตัดเหลี่ยม กรอบจอมุมมน จะมองว่าเป็น iPad Air 4 ร่างย่อส่วนก็ว่าได้
ขอบจอทั้ง 4 ด้านส่วนที่เป็นสีดำมีความกว้างที่เสมอกันทั้งหมด ซึ่งความกว้างของขอบจอนี้ก็จัดว่ากำลังเหมาะสำหรับการวางนิ้วเวลาจับเครื่อง ทำให้สามารถใช้ในการอ่าน ebook หรือใช้จดบันทึกด้วย Apple Pencil 2 ได้อย่างสบาย ๆ ไม่มีปัญหาเรื่องการจับขอบจอ รวมถึงยังทำให้สามารถควบคุมเกมได้สะดวกด้วย
คุณภาพของหน้าจอแสดงผล ก็ถือว่าทำได้ดีในระดับของจอ IPS LED คือได้สีสันที่สดใส แต่ไม่จัดจ้านจนเกินธรรมชาติ มุมมองภาพกว้าง ความสว่างก็อยู่ในระดับที่พอใช้งานกลางแจ้งได้ ส่วนขนาดจอที่ให้มา 8.3″ นั้นก็ลงตัวมาก ๆ สำหรับการถือด้วยมือข้างเดียว จนใช้ดูหนัง เล่นโซเชียล อ่านหนังสือ ไปจนถึงทำงานแก้ไขเอกสาร ทำงานผ่านเว็บได้อยู่เหมือนกัน แต่ขนาดของตัวอักษรก็จะเล็กนิดนึง เมื่อเทียบกับ iPad รุ่นใหญ่กว่า
หนึ่งในฟังก์ชันที่เพิ่มขึ้นมาของจอ iPad mini 6 เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้าก็คือ Quick Note ที่เราสามารถหยิบ Apple Pencil 2 มาวาดบนหน้าจอขณะที่ยังดับอยู่ เพื่อจดบันทึก หรือวาดรูปได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องปลดล็อกแล้วเข้าไปที่แอป Notes ก่อน เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน โดยเฉพาะในตอนที่เกิดไอเดียขึ้นมา แล้วต้องการจดแบบด่วน ๆ ได้ทันที
อีกจุดที่น่าสนใจก็คือจอจะรองรับการแตะจอสองครั้งติดกันเพื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาแล้ว (Tap to wake) ซึ่งก่อนหน้านี้ สำหรับกลุ่ม iPad จะมีให้ใช้ในเฉพาะ iPad Pro 11″ ทุกรุ่น iPad Pro 12.9″ รุ่น 3 ขึ้นไป และก็ใน iPad Air 4 เท่านั้น
แต่ถ้าจับมาเทียบกับ iPad mini 5 ก็ต้องบอกว่าจอของ iPad mini 6 นั้นใหญ่ขึ้นจริง ๆ โดยที่ขนาดตัวเครื่องนั้นเล็กลงกว่าเดิมซะอีก ทั้งนี้ก็เนื่องจากการตัดปุ่มโฮมแบบ Touch ID ในรุ่นเก่าออก ทำให้ได้พื้นที่จอมากขึ้น ส่วนคุณภาพ สีสัน ความสว่าง ส่วนตัวผมว่าไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ถ้าใครชินกับ iPad mini 5 อยู่แล้ว การเปลี่ยนมาใช้ 6 ก็จะได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นมาอีกนิดนึงครับ เพราะตัวเครื่องจะกะทัดรัดขึ้น แต่ได้พื้นที่แสดงภาพที่กว้างขวางกว่าเดิม
เปิดมาด้านหลังของ iPad mini 6 ก็จะเป็นอลูมิเนียมทั้งแผ่น มีกล้องหลังขนาดใหญ่พร้อมแฟลช LED อยู่ตรงมุมซ้ายบน ซึ่งนับเป็น iPad รุ่นที่สองที่มีแฟลชกล้องหลังมาให้ ถัดมาจากซีรีส์ iPad Pro
สำหรับเครื่องที่ทางเราได้รับมารีวิวในครั้งนี้จะเป็น iPad mini 6 สีสตาร์ไลท์ ซึ่งถ้าให้จัดกลุ่มสีแบบง่าย ๆ ก็คือเป็นสีทองแบบอ่อน ๆ ครับ ซึ่งในบางมุม บางสภาพแสงจะดูเป็นสีเทาโลหะที่อมเหลืองเล็กน้อย แต่ถ้าอยู่ในที่มีแสงกำลังดี ก็จะออกเป็นสีทองอ่อน ๆ ได้เลย
เทียบขนาดของกล้องหลังระหว่างรุ่น 6 และ 5 จะเห็นว่ามันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แถมยังมีความนูนขึ้นมาจากฝาหลังอีกด้วย ส่วนในแง่ของความหนาเชิงตัวเลข ตัวเครื่องของ iPad mini 6 จะอยู่ที่ 6.3 มม. ส่วนรุ่น 5 จะอยู่ที่ 6.1 มม. ซึ่งแทบจะสัมผัสความต่างได้ยาก ถ้าไม่จับมาถ่ายรูปเทียบกันจริง ๆ
พลิกมาดูด้านข้างเครื่องกันบ้าง เริ่มจากด้านบนก่อนครับ ไล่จากซ้ายก็จะเป็นแถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ที่จะมีกิมมิคในการใช้งานด้วย ถัดมาเป็นช่องลำโพง แล้วก็มีปุ่ม Power ที่มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ Touch ID ติดตั้งมาให้ด้วย ซึ่งรูปร่างของปุ่มก็จะมีขนาดที่กำลังพอดีสำหรับการทาบนิ้วเพื่อสแกนลายนิ้วมือ
ประสิทธิภาพ ความแม่นยำและความเร็วของการสแกนนิ้วก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของระบบ Touch ID ครับ ในการจะปลดล็อกหน้าจอก็ต้องกดปุ่มลงไปก่อน 1 ครั้ง จากนั้นก็ทาบนิ้วค้างไว้ซักนิดนึงจึงจะสามารถปลดล็อกได้ โดยสามารถเพิ่มลายนิ้วมือเข้าไปในระบบได้สูงสุด 5 นิ้ว
อีกจุดที่น่าสนใจอย่างที่เกริ่นไปข้างต้นก็คือแถบของปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ที่ Apple ใส่ลูกเล่นเพิ่มเข้าไปให้สามารถสลับหน้าที่กันตามรูปแบบของการแสดงผลบนจอได้ ไม่ว่าจะพลิกหมุนจอไปมุมใด ระบบจะล็อกไว้เสมอว่าปุ่มที่อยู่ฝั่งซ้ายมือ หรือปุ่มที่อยู่ด้านล่างจะเป็นการลดเสียง ส่วนปุ่มที่อยู่ฝั่งขวามือ หรือปุ่มที่อยู่ด้านบนของอีกปุ่มนึง จะใช้ในการเพิ่มระดับเสียง
อย่างในภาพด้านบน จะเห็นว่าไม่ว่าจะหมุนจอไปแบบใด ระบบก็ปรับรูปแบบการทำงานของแต่ละปุ่มให้อยู่ในลักษณะเดียวกันเสมอ ช่วยลดความสับสนในระหว่างการใช้งาน สำหรับคนที่ต้องพลิกจอแนวตั้ง-แนวนอนบ่อย ๆ จนบางทีก็กดปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงสลับกัน หรืออาจต้องตั้งสตินิดนึงว่าปุ่มไหนคือปุ่มอะไรบ้าง ซึ่งใน iPad mini 6 นี้ก็ไม่ต้องลำบากแล้วครับ ใช้คลำเอาก็ได้ คลำเจอปุ่มไหนอยู่ขวาหรืออยู่บนตามทิศทางของเครื่อง ปุ่มนั้นก็ใช้เพิ่มเสียง ส่วนอีกปุ่มก็หน้าที่ตรงข้ามกัน แค่นั้นเลย
ด้านล่างก็มีช่องลำโพง และก็ช่อง USB-C ที่รองรับการเชื่อมต่อมาตรฐาน USB 3.1 Gen 1 และยังรองรับการต่อจอด้วยอะแดปเตอร์ผ่านโปรโตคอล DisplayPort ด้วย
ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้ USB-C แทน Lightning ทำให้การใช้งานอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ นั้นง่ายขึ้นมา เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอุปกรณ์ USB-C นั้นเข้าถึงได้ง่ายกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ Lightning มาก ทั้งในแง่ของความหลากหลาย จำนวนในท้องตลาดและราคา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสุดก็คือ flashdrive ครับ ตอนนี้คือสามารถใช้งาน flashdrive ที่เป็น USB-C ทั่วไปในท้องตลาดได้เลย ซึ่งสะดวกมาก ๆ
ฝั่งซ้ายนั้นมาแบบโล่ง ๆ
ส่วนฝั่งขวา หลัก ๆ เลยก็จะมีแถบแม่เหล็กสำหรับใช้งานคู่กับ Apple Pencil 2 ที่ไว้ใช้ทั้งการพกพา และใช้ชาร์จไฟให้กับตัวปากกาได้แบบง่าย ๆ ส่วนในรุ่น Wi-Fi + Cellular ก็จะมีถาดใส่ซิมอยู่ทางฝั่งนี้ด้วย
สำหรับการยึด Apple Pencil 2 กับตัวเครื่องตรงแถบแม่เหล็กนั้นก็ทำออกมาได้ดี คือไม่แน่นและไม่อ่อนเกินไป สามารถดึงออกมาได้ง่าย แต่ก็มีแรงดูดมากพอที่จะยกทั้งเครื่องขึ้นมาได้ แม้จะจับแค่ตัวปากกาก็ตาม เมื่อจับที่ตรงกลาง บริเวณแถบแม่เหล็กพอดี
ด้านของอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องก็จัดว่าครบตามสไตล์ของ iPad ครับ คือมีให้มาทั้งสายชาร์จแบบ USB-C สองฝั่ง และก็อะแดปเตอร์ชาร์จแบบ USB-C เช่นกัน โดยเป็นอะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟได้สูงสุด 20W นอกจากนี้ในกล่องก็จะมีเอกสารคู่มือ การรับประกัน และก็สติกเกอร์โลโก้ Apple มาให้ด้วย 2 ดวง
เคส Smart Folio สำหรับ iPad mini 6 โดยเฉพาะ
อุปกรณ์เสริมที่ Apple ออกมาพร้อมกับ iPad mini 6 ก็คือเคส Smart Folio รุ่นใหม่ที่เป็นแบบ snap on ติดเข้ากับตัวเครื่องโดยอาศัยแรงดึงดูดของแม่เหล็กอ่อน ๆ ซึ่งคุณสมบัติก็ยังเหมือนเดิมครับ คือปกป้องบอดี้ ใช้ยกตัวเครื่องขึ้นมาให้ใช้งานง่ายขึ้น และก็ใช้ในการเปิด/ปิดหน้าจอตามการใช้ฝาพับเคสด้วย สนนราคาหน้าเว็บ Apple ที่ 2,590 บาท มีให้เลือก 5 สี
สำหรับเคส Smart Folio ที่ทางเราได้รับมาพร้อมกับ iPad mini 6 ก็จะเป็นสีขาวที่ขาวสะอาดมาก ๆ ผิวนอกเป็นซิลิโคนแบบซอฟต์ทัชให้สัมผัสเนียนมือ มีการเว้นช่องว่างให้เฉพาะตรงกล้องหลังเท่านั้น ส่วนด้านในเป็นผิวกำมะหยี่สั้น ๆ โดยฝาหน้าจะสามารถพับได้ 3 ท่อน
การติดตั้งก็ง่ายมากครับ เพียงแค่ประกบเข้าไปกับตัวเครื่องให้ถูกด้าน แม่เหล็กก็จะดูดติดให้เอง ซึ่งก็แน่นหนามากจนไม่สามารถหลุดได้ง่าย ๆ แน่นอน แต่ทั้งนี้ เคส Smart Folio จะไม่ครอบคลุมส่วนของขอบเครื่อง 3 ด้านนะครับ ทำให้ดูลักษณะคล้ายกับเป็นปกหนังสือเลย
ตรงบริเวณกล้องหลัง เมื่อใส่เคสแล้วจะกลายเป็นว่าขอบกระจกปิดหน้าเลนส์กล้องจะอยู่ลึกเข้าไปจากผิวเคสเล็กน้อย ก็เป็นการช่วยป้องกันการขูดขีดเมื่อวางเครื่องได้ประมาณหนึ่ง
ส่วนการพับฝาเคสเพื่อตั้งเครื่องจะทำได้ 2 แบบ คือแบบยกจอขึ้นมาประมาณ 60 องศา กับ 10 องศาที่เป็นการยกขึ้นจากพื้นเล็กน้อย
การใช้งานต่าง ๆ
แต่เดิมนั้น iPad mini เป็นแท็บเล็ตที่มีขนาดกำลังเหมาะสำหรับใช้ในการอ่าน ebook ไปจนถึงใช้ในการจดบันทึก วาดรูป แบบที่ผู้ใช้ต้องการความคล่องตัวในการพกพามาก ๆ เพราะสามารถหยิบใส่กระเป๋าได้ง่าย และใช้งานมือเดียวได้สะดวก แม้ว่า iPad mini 6 จะมีหน้าจอที่ใหญ่ขึ้นก็ตาม แต่มิติของตัวเครื่องเองนั้นกลับไม่ได้ขยายจากรุ่นก่อนหน้ามากนัก ทำให้จุดเด่นในด้านการพกพานั้นยังมีอยู่
แต่สำหรับในด้านการรับชมคอนเทนต์ประเภทต่าง ๆ บนจอนั้นกลับทำได้ดีขึ้น ด้วยหน้าจอที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ทำให้การอ่านหนังสือก็ทำได้สะดวก จะใช้จดโน้ต หรือใช้วาดรูปก็ได้พื้นที่ทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ยังสามารถถือมือเดียวได้สบาย
อีกงานที่ผมทำบน iPad mini 5 เป็นประจำก็คือการแต่งรูปจากกล้อง mirrorless ครับ โดยจะเป็นการดึงภาพถ่ายที่เป็นไฟล์ RAW จาก SD card มาเก็บในเครื่อง แล้วแต่งรูปด้วยแอป Lightroom ซึ่งขั้นต่ำก็จะมีรอบละ 30 รูปขึ้นไป จากนั้นจึง export ออกเป็น JPG โดยมีการใส่ sharpen เพิ่มเล็กน้อย และใส่ลายน้ำในทุกรูป ขนาดของแต่ละภาพก็ตาม original เลย ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำบน iPad mini 5 ได้อย่างราบรื่น เพราะประสิทธิภาพของชิป A12 Bionic นั้นยังเหลือเฟือมาก ๆ การปรับแต่งภาพก็สะดวก สามารถใช้ Apple Pencil ในการลากตัวปรับแต่ง ใช้วาดบรัช แถมบางทียังทำงานเร็วกว่าบนคอมด้วยซ้ำ
พอเป็น iPad mini 6 ต้องบอกว่าผมได้รับประสบการณ์การทำงานที่ดีขึ้นไปอีกขั้นเลย ด้วยพลังของชิป A15 Bionic ที่ทำให้การเรนเดอร์ การจัดการกับไฟล์รูปทำได้เร็วขึ้น ซึ่งผมได้ทดสอบกับแต่ละเครื่องที่มีในมือตอนนี้ โดยเป็นการทำภาพไฟล์ RAW จำนวน 67 ภาพตามกระบวนการข้างต้น เวลาที่แต่ละเครื่องใช้ตั้งแต่กระบวนการประมวลผลภาพ การเรนเดอร์ไปจนเสร็จ (มีป๊อปอัพแสดงขึ้นมาว่าต้องการแชร์ไปแบบใด) เรียงลำดับดังนี้
- iPhone 13 Pro ใช้เวลา 2:47 นาที
- iPad mini 6 ใช้เวลา 2:56 นาที
- iPhone 11 ใช้เวลา 4:08 นาที
- iPad mini 5 ใช้เวลา 4:55 นาที
ถ้าเทียบในกลุ่มข้างต้นกันเอง ต้องบอกว่า iPad mini 6 ทำได้เร็วขึ้นรุ่นก่อนหน้าถึง 60% เลยทีเดียว ส่วนที่จะช้ากว่า iPhone 13 Pro เล็กน้อยนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาครับ ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกันอยู่ เพราะใช้ชิป A15 Bionic เหมือนกัน แต่ฝั่งของ iPad mini 6 นั้นถูกปรับแต่งให้มีความเร็วต่ำกว่า iPhone 13 เล็กน้อยนั่นเอง
FYI: ทำงานแบบเดียวกันบนเครื่อง PC (Ryzen 5 2600 + GTX 1070 + SSD NVMe 1TB + RAM 32GB) ใช้เวลาประมาณ 1:12 นาที
อีกงานที่น่าสนใจก็คือการลอง export วิดีโอด้วยแอป iMovie เวอร์ชันล่าสุดบน App Store โดยเป็นการนำหลายวิดีโอและภาพถ่ายมาใส่รวมกันบน timeline จากนั้นก็ใส่ฟิลเตอร์ภาพทั้งคลิป เพิ่มเสียงเอฟเฟกต์ และเสียงเพลงเบื้องหลังเข้าไป ได้วิดีโอความยาว 4:36 ตั้งค่าการ export เป็น 4k 60fps HDR จับเวลาเฉพาะตอน converting (แปลงและเข้ารหัสไฟล์) ก่อนที่จะขึ้นป๊อปอัพให้เลือกว่าจะส่ง AirDrop ไปที่เครื่องไหน
ผลที่ได้นั้นผิดคาดไปซักหน่อยครับ
- iPhone 13 Pro ใช้เวลา 5:49 นาที
- iPad mini 6 และ iPhone 11 ใช้เวลา 5:50 นาที
- iPad mini ใช้เวลา 5:51 นาที
ซึ่งวินาทีที่ต่างกันแค่ 1-2 วินาทีนี้ อาจจะมาจากความคลาดเคลื่อนของการกดปุ่มหยุดเวลาก็ได้ ดังนั้นจะมองว่าแต่ละเครื่องใช้เวลาเท่ากันก็ว่าได้ครับ สำหรับตรงนี้ก็ยังไม่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใด อาจจะมาจากตัวของแอป iMovie ที่มีการจำกัดการใช้พลังประมวลผลไว้ในระดับนึง ทำให้แต่ละเครื่องมีสมรรถนะในการทำงานที่เร็วพอ ๆ กันก็ได้ แต่ที่แน่ ๆ คือการพรีวิวแต่ละช็อตบน iPad mini 6 นั้นทำได้แบบแทบจะไม่มีสะดุดเลย
ในการเล่นเกม ก็ต้องยอมรับว่า iPad mini ยังเป็นแท็บเล็ตขนาดเล็กที่เล่นเกมได้ดีมาก ๆ อยู่เช่นเคย ด้วยหน้าจอที่ใหญ่กำลังดี แต่ก็ไม่หนักเกินเมื่อถือเล่นเกมนาน ๆ แบตที่อึด แถมสเปคยังแรงกระฉูดอีก ส่วนตำแหน่งของพวกปุ่มกดบนหน้าจอในเกมต่าง ๆ ก็ไม่มีปัญหาครับ ด้วยการที่มีขอบจอกั้นอยู่ ทำให้ค่อนข้างยากที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของมือจะไปแตะปุ่มโดยบังเอิญ
กล้องที่ดีขึ้น
แม้ว่าจะมาพร้อมกล้องหลังตัวเดียว แต่ Apple ก็อัพเกรดกล้องให้มีคุณภาพดีขึ้น จาก 8MP f/2.4 ให้เป็น 12MP f/1.8 ส่งผลให้ภาพมีความละเอียดมากขึ้น เก็บแสงสว่างในภาพได้ดีกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีแฟลชมาให้ด้วย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการถ่ายภาพให้สามารถสร้างสรรค์ออกมาได้หลากหลายมากขึ้น
ในขณะที่กล้องหน้า FaceTime HD นั้นก็ใช้เป็นเลนส์อัลตร้าไวด์ที่มุมรับภาพกว้าง มาพร้อมฟีเจอร์ Center Stage ที่ระบบจะช่วยปรับภาพ ให้ตัวผู้ใช้งานอยู่ตรงกลางของเฟรมขณะที่วิดีโอคอลอยู่เสมอ โดยมีทั้งการแพนภาพ และซูมเข้า/ออก ซึ่งจะต้องอาศัยการรับภาพได้กว้างของเลนส์อัลตร้าไวด์ครับ โดยตอนนี้ รุ่นที่สามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้ก็จะมีแค่ iPad Pro รุ่นปัจจุบันทั้งสองขนาด iPad 9 และก็ iPad mini 6 เท่านั้น ซึ่งเท่าที่ผมลองแล้ว สามารถใช้กับการวิดีโอคอลบนแอปอื่นได้ด้วย เช่นใน Facebook Messenger เป็นต้น
อีกคุณสมบัติที่มีเพิ่มเข้ามาก็คือมีปุ่มกดสลับการซูม 1x กับ 2x มาให้แล้ว ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการถ่ายรูปมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นการซูมดิจิทัลอยู่นะครับ โดยยังซูมได้สูงสุด 5 เท่าเหมือนกับในรุ่นก่อนหน้าเลย
ภาพถ่ายที่ได้จากกล้องหลังของ iPad mini 6 นั้นก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบในกลุ่มแท็บเล็ตด้วยกัน ภาพจะเน้นที่ความคมชัด สีสันเป็นธรรมชาติ ค่อนข้างตรงกับที่มองเห็นจริง ซึ่งเป็นสไตล์ภาพที่ Apple เลือกใช้มาตลาดอยู่แล้ว แต่ปีนี้ดูเหมือนจะเน้นความคมขึ้นไปอีก ซึ่งกับใน iPhone 13 Pro ก็เป็นครับ
การถ่ายภาพในที่มีแสงดี ๆ ถ่ายกลางแจ้งนี่สบายมาก การเก็บรายละเอียดทำได้ดี ด้วยความสามารถของระบบ HDR อัจฉริยะ 3
ถ้าเป็นที่มีแสงน้อยลงมานิดนึง แต่เป็นแสงที่มีสีอมเหลืองหน่อย เช่นในห้าง ตัวระบบเองก็ทำการจัดการเรื่อง white balance ได้ดี แม้ว่าจะมีส่วนที่เป็นแสงภายนอกส่องเข้ามาตรงกระจกที่ให้สีโทนฟ้าอยู่ในเฟรมด้วยก็ตาม ซึ่งภาพตรงส่วนด้านบนก็จะอมฟ้านิดนึง แต่ในจุดอื่น ๆ ของภาพนั้นดูเป็นธรรมชาติดี ไม่ได้ดูว่าสีเพี้ยนอะไร
ต่อกันกับในบริเวณที่แสงน้อยอย่างลานจอดรถของห้างบ้าง ก็ถือว่าทำได้โอเค ใช้เก็บภาพในแบบที่นำไปดูต่อภายหลังได้เลย ส่วนที่เป็นป้ายไฟก็จะ over นิดนึง แต่พอจะไปปรับภายหลังให้มองเห็นรายละเอียดบนป้ายได้อยู่
ส่วนด้านล่างนี้ก็เป็นแกลเลอรี่ภาพจากกล้องของ iPad mini 6 นะครับ คลิกชมแต่ละภาพได้เลย
ประสิทธิภาพ และการเล่นเกม
iPad mini 6 มาพร้อมกับ iOS 15 ซึ่งในรีวิวนี้จะเป็นรุ่นความจุ 256GB นะครับ เมื่อเปิดขึ้นมาครั้งแรกจะเหลือให้ใช้งานได้อีกราว 245 GB
ตัวของ Touch ID ก็ยังเหมือนเดิม คือสามารถเพิ่มลายนิ้วมือได้สูงสุด 5 นิ้ว โดยสามารถใช้ในการปลดล็อกหน้าจอ ยืนยันตัวตนในการซื้อแอป ซื้อคอนเทนต์ต่าง ๆ ไปจนถึงใช้ในการยืนยันตัวตนแทนการกรอกรหัสผ่านบริการได้ด้วย (ในกรณีที่บันทึกรหัสผ่านไว้ใน iCloud Keychain)
ส่วนเมนู Apple Pencil ก็จะต่างจากใน iPad mini 5 ที่รองรับ Pencil รุ่นแรกอยู่ในบางจุด ซึ่งก็มาจากความสามารถของรุ่น 2 ที่มากขึ้นนั่นเอง เช่น สามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ทำงานอย่างไร เมื่อ double tap ที่ใกล้ปลายปากกา เช่น อาจจะใช้ในการสลับระหว่างเครื่องมือที่ใช้อยู่ในแอปกับยางลบ หรือจะใช้ในการแสดงถาดสีออกมาก็ได้ ไปจนถึงสามารถปิดฟังก์ชันนี้ไปเลยก็ได้เหมือนกัน ส่วนเมนูอื่น ๆ ก็เหมือนเดิมครับ
แต่สิ่งที่จะสะดวกขึ้นกว่าเดิมแน่นอนก็คือการชาร์จไฟให้กับ Apple Pencil 2 เพราะแค่แปะไว้ตรงตำแหน่งแถบแม่เหล็กข้างเครื่อง มันก็เป็นการชาร์จแล้ว ต่างจากในรุ่นแรกที่ต้องถอดฝาที่หัวปากกาออก แล้วนำไปเสียบกับขั้ว Lightning เท่านั้นจึงจะสามารถชาร์จได้
ทดสอบความแรงของชิป A15 Bionic ดู ก็เป็นไปตามคาดครับ คือยึดหัวตารางได้สบาย แซงกลุ่ม iPhone 12 series ได้ทุกตัว โดยเฉพาะงาน multi-core ที่ทิ้งห่างร่วม 400 คะแนน แต่ก็ยังได้คะแนนต่ำกว่ารุ่นใหม่ในปีเดียวกันอย่าง iPhone 13 Pro อยู่นิดหน่อยเท่านั้น
ส่วนคะแนน AnTuTu ก็ทำไปได้ประมาณ 800,000 คะแนนนิด ๆ ซึ่งพอเทียบได้กับ iPad Pro 11 รุ่น 4 และ iPhone 13 อยู่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าเรื่องความแรงก็หายห่วงครับ ใช้งานไปอีก 3-4 ปียังสบาย ๆ เพราะขนาดชิป A12 Bionic ใน iPad mini 5 ตอนนี้ผมยังรู้สึกว่ามันยังตอบสนองการทำงานได้ดีอยู่เลย
ด้านของแบตเตอรี่ บอกสั้น ๆ ได้เลยว่าอึดมาก เล่นเกมยาว ๆ ได้สบาย เท่าที่ผมลองเล่นเกมแล้วดูว่าแบตลดไปเท่าไหร่บ้าง ได้ผลตามนี้ครับ ทุกเกมปรับกราฟิกสูงสุดเท่าที่ทำได้ เปิดเสียงผ่านลำโพงในตัวเครื่อง เล่นโดยต่อ Wi-Fi และจอปรับระดับความสว่างอัตโนมัติ
- Pokemon Unite เล่นไป 12 นาที แบตลด 2%
- RoV เล่นไป 10 นาที แบตลด 4%
- PUBG เล่นไป 31 นาที แบตลด 10%
- Genshin Impact เล่นไป 30 นาที แบตลด 9%
Genshin Impact สามารถเปิดกราฟิกระดับสูงสุดที่ 60fps เล่นได้แบบสบายมาก ความร้อนระหว่างเล่นก็ไม่สูงนัก แค่อุ่น ๆ มือขึ้นมาเล็กน้อย
PUBG Mobile ยิ่งสบายครับ จอใหญ่เห็นรายละเอียดชัดมาก ปรับกราฟิกสูงสุดก็ยังให้ภาพที่ไหลลื่นอยู่ จบเกมแบบกินไก่ได้แบบชิล ๆ
ส่วน Pokemon Unite กับ RoV นั้น ด้วยรูปแบบของเกมที่เป็น MOBA คล้ายกัน แต่แตกต่างด้านรายละเอียดการเล่น ก็สามารถเล่นบนเครื่องนี้ได้แบบสบาย ๆ เฟรมเรตวิ่งอยู่ที่ 57-60 fps ตลอดเวลา ขนาดและตำแหน่งของปุ่มก็สเกลมาได้ดี สามารถกดได้สะดวก แต่สังเกตว่าภาพจะไม่เต็มจอ โดยยังมีขอบดำที่ฝั่งซ้ายขวานิดหน่อย ต่างจากใน Genshin Impact ที่ภาพเต็มจอกว่า ซึ่งก็ต้องรอให้ตัวเกมอัพเดตตามมาภายหลังครับ แต่ในตอนนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการเล่นนะ
สรุปปิดท้ายรีวิว iPad mini 6
ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สมการรอคอยเลยทีเดียวครับ สำหรับ iPad mini 6 ที่ได้รับการตีบวกขึ้นในหลาย ๆ จุด โดยการนำแนวทางการออกแบบในรุ่นใหญ่มาใส่ในรุ่นเล็ก (ที่หลายอย่างไม่เล็กเลย) ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขนาดหน้าจอโดยที่ได้ตัวเครื่องเล็กลงกว่าเดิม อันเกิดจากการย้ายเซ็นเซอร์ Touch ID ไปรวมไว้กับปุ่ม Power รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้ USB-C ในการชาร์จและเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่น ๆ และการเปลี่ยนมาใช้ Apple Pencil 2 ที่มี UX ในการใช้งานที่ดีกว่ารุ่นแรกมาก ๆๆๆ
ด้านของประสิทธิภาพเอง ถ้าในแง่ของการใช้งานเบา ๆ ทั่วไป เช่น เล่นเน็ต เล่นโซเชียล หรือใช้เป็นเครื่องอ่าน ebook ใช้เป็นสมุดจดต่าง ๆ ก็ต้องบอกว่ามันให้ประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ต่างจาก iPad mini 5 มากนัก อาจจะเนื่องจากชิป A12 Bionic ในรุ่นก่อนหน้านั้นยังมีความแรงที่เพียงพอกับแอปในปัจจุบันอยู่ แต่ถ้าเป็นงานที่เน้นการใช้ประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ อันนี้ถึงจะเห็นความแตกต่างระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้ชัดเจนที่สุด
ด้านของกล้องถ่ายรูป แม้ว่าจะไม่มีฟีเจอร์ใหม่เข้ามามากนัก แต่สิ่งที่ปรับเปลี่ยนนั้นก็ส่งผลต่อประสบการณ์การใช้งาน ให้สามารถใช้งานได้ดั่งใจมากขึ้น เช่น ได้ภาพถ่ายที่ความละเอียดสูงขึ้น ได้ภาพที่คุณภาพสูงกว่าเดิม ทำให้สามารถนำไปใช้งานต่อได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่วนฟีเจอร์ Center Stage นั้นก็น่าจะถูกใจคนที่ชอบวิดีโอคอลอยู่เหมือนกัน
แต่แน่นอนว่าสิ่งที่อาจจะทำให้การตัดสินใจซื้อ iPad mini 6 ของหลายท่านนั้นต้องใช้เวลาซักนิดนึง ก็ด้วยเรื่องของราคาครับ เพราะรุ่นเริ่มต้นก็เปิดมาที่ 17,900 บาทแล้ว (ราคาหน้าเว็บ Apple) โดยที่ได้ความจุมาที่ 64 GB ซึ่งก็จะค่อนข้างจำกัดจำเขี่ยนิดนึง อีกทั้งถ้าต้องการซื้อ Apple Pencil 2 อีก ก็บวกไป 4,490 บาทเลย ดังนั้นถ้าใครถือ iPad mini 5 อยู่ แล้วมองว่ามันก็ยังใช้งานได้ดี แบตไม่เสื่อม ตอบโจทย์การใช้ทั่วไปได้สบาย จะถือเครื่องเก่าต่อไปก่อนก็ยังโอเคครับ ไว้รอ iPad mini 7 ก็น่าจะยังไหวนะ (ถ้า Apple ไม่ลากยาวเหมือนตอนรุ่น 4 ที่ทิ้งไปถึง 5 ปีกว่าจะมีรุ่นใหม่ออกมา)
ส่วนถ้าใครกำลังมองหาแท็บเล็ตเครื่องใหม่ในขนาดกะทัดรัด สเปคแรง เอามาเล่นเกมได้สบาย อยากจ่ายทีเดียวแล้วจบ แทบไม่ต้องกังวลว่าจะหาแอปที่ต้องการไม่ได้ iPad mini รุ่นใหม่ล่าสุดนี้คือตัวเลือกที่น่าสนใจครับ เพราะมันครบเครื่องจริง ๆ ยิ่งถ้าใช้งานกับ Ecosystem ของ Apple เองนั้นยิ่งลงตัวเลย