Close Menu
    Facebook X (Twitter) YouTube TikTok
    SpecPhone
    • ข่าวล่าสุด
    • รีวิว
    • ค้นหามือถือ
    • วิดีโอ
    • บทความ
    • ติดต่อเรา
    Facebook YouTube TikTok X (Twitter)
    SpecPhone
    Home»Android Platform»[Review] Google Pixel 4 น่าซื้อมั้ย กล้องดีขนาดไหน หลังจากใช้งานมา 1 เดือนกว่า
    Android Platform

    [Review] Google Pixel 4 น่าซื้อมั้ย กล้องดีขนาดไหน หลังจากใช้งานมา 1 เดือนกว่า

    ZeroSystemBy ZeroSystem21 มกราคม 2020Updated:5 สิงหาคม 2020
    Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Tumblr Email
    Share
    Facebook Twitter LinkedIn Pinterest Email

    หากพูดถึงมือถือที่เป็นหัวหอกของฝั่ง Android ชื่อของซีรีส์ Pixel ก็คงเป็นชื่อที่หลาย ๆ คนคิดถึง เนื่องจากเป็นซีรีส์มือถือจากทาง Google เองโดยตรง มีจุดเด่นในด้านของระบบที่เป็นแกนมาแบบเพียว ๆ ไร้ส่วนเติมแต่ง แถมยังมีกล้องที่ให้ภาพสวยด้วยพลังของซอฟต์แวร์และการใช้คลาวด์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยประมวลผลภาพ ซึ่งในปัจจุบันก็ได้ออกมาเป็นรุ่นที่ 4 (นับเฉพาะรุ่นหลัก) ได้แก่ Google Pixel 4 และ Pixel 4 XL ที่ได้เปิดตัว และเริ่มวางจำหน่ายไปตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แน่นอนครับว่าผมที่ใช้งาน Google Pixel 2 XL มาก่อน ก็ย่อมอยากลองเครื่องใหม่ในซีรีส์ Pixel ประกอบกับมีโอกาสที่จะได้เครื่องมาจาก USA ด้วย ก็เลยจัดมา 1 เครื่อง พร้อมกับเขียนรีวิว Google Pixel 4 ให้ทุกท่านได้อ่านกันไปด้วยเลย

    Google Pixel 4

    โดยรุ่นที่เลือกก็เป็น Google Pixel 4 ที่มีขนาดย่อมเยาลงมาหน่อย แต่ในเรื่องของสเปคคร่าว ๆ นั้น ทั้ง Pixel 4 และ 4 XL จะเหมือนกันแทบทุกจุดครับ หลัก ๆ ก็ต่างกันแค่ขนาดหน้าจอ กับปริมาณแบตเตอรี่เท่านั้นเอง ส่วนสีที่เลือกก็เป็นสีส้ม Oh so orange ที่เป็นสีใหม่ประจำรอบนี้


    การหาซื้อ / Google Pixel 4 มีขายที่ไหนบ้าง?

    ที่ผ่านมา มือถือตระกูล Pixel ไม่เคยมีการวางจำหน่ายในประเทศไทยผ่านตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจาก Google อย่างเป็นทางการครับ ดังนั้น ทุกเครื่องที่ขายในไทยก็จะเป็นเครื่องหิ้วทั้งหมด ทำให้รูปแบบของการรับประกันก็จะเป็นแบบประกันร้าน ขึ้นอยู่กับว่านโยบายของแต่ละร้านจะเป็นอย่างไร ส่วนราคาก็จะมีบวกส่วนต่างขึ้นไปจากราคากลางของทาง Google อยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติครับ เรียกว่าใครพอใจราคา นโยบายร้านไหน ก็เลือกซื้อกันได้เลย

    ส่วนเครื่องที่ผมได้มานี้ เป็นเครื่องที่ได้จากการสั่งซื้อบนหน้าเว็บไซต์ Google Store โดยตรง ซึ่งอาศัยญาติที่อยู่ที่ USA เป็นผู้กดสั่งและให้ของไปส่งถึงบ้าน จากนั้นก็ค่อยหิ้วเครื่องมาที่ไทยอีกทีนึงครับ ดังนั้นก็เลยได้ราคาตรงจาก Google เลย โดยรุ่นที่สั่งก็เป็น Google Pixel 4 ความจุ 64 GB ราคา $799 (ประมาณ 24,000 บาท)

    ในการกดสั่ง ก็ต้องเลือกเป็นรุ่น unlocked นะครับ ถึงจะชัวร์ว่าสามารถนำมาใช้งานในไทยได้แบบไม่ติดสัญญากับเครือข่าย Verizon ซึ่งเครื่องที่ได้รับมาก็สามารถนำมาใช้งานในไทยได้แบบไม่มีปัญหา จะติดก็ตรงที่ไม่สามารถใช้งาน VoLTE และ VoWIFI ได้ แม้ว่าตัวซิมจะเปิดใช้งานอยู่แล้วก็ตาม เนื่องจากทางเครือข่ายไม่ได้เปิดการใช้งานให้กับมือถือจาก Google (เพราะไม่มีเครื่องวางจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการ)

    ของที่ให้มาในกล่อง โดยหลักแล้วจะมี

    • อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 5V 3A / 9V 2A รองรับ USB-PD
    • สายชาร์จ USB-C to USB-C
    • หัวแปลง USB-C to USB-A สำหรับใช้ถ่ายโอนข้อมูลจากมือถือเครื่องเก่า หรือต่อ OTG ตามปกติ
    • เอกสารคู่มือการใช้งานเบื้องต้น และการรับประกัน
    • เข็มจิ้มถาดซิม

    แต่ทั้งนี้ อุปกรณ์ที่แถมมาในกล่องของ Pixel 4 ที่ขายในแต่ละประเทศอาจจะมีความแตกต่างกันนะครับ บางประเทศจะมีแถมหูฟังมาด้วย ขาปลั๊กของบางประเทศก็จะแตกต่างกัน อย่างของผมเป็นเครื่องที่สั่งจาก USA ก็จะได้ปลั๊กแบบขาแบน 2 ขา แต่ไม่มีหูฟังมาด้วย


    สเปคของ Google Pixel 4 มีอะไรที่เพิ่มเข้ามาบ้าง?

    สเปคของ Google Pixel 4 ก็ไม่ได้ถือว่าแปลกใหม่ไปจากมือถือสเปคระดับท็อปในตลาดขณะนี้ซักเท่าไหร่ครับ เมื่อนำไปเทียบกับรุ่นก่อนหน้าอย่าง Pixel 3 ก็ถือว่าขยับขึ้นมานิดนึง จะมีที่ต่างกันจริง ๆ ก็เรื่องกล้องเป็นหลักเลย โดยสเปค Google Pixel 4 ที่น่าสนใจมีดังนี้

    • ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 855 ชิปกราฟิก Adreno 640 มาพร้อม Pixel Neural Core
    • แรม 6 GB
    • พื้นที่เก็บข้อมูล มีให้เลือกทั้ง 64 และ 128 GB (ไม่มีช่อง MicroSD)
    • หน้าจอ OLED ขนาด 5.7″ ความละเอียด FHD+ อัตราส่วน 19:9 รองรับ HDR
    • รีเฟรชเรตจอสูงสุด 90 Hz กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 5
    • กล้องหลัง 2 ตัว ซูมออปติคอลสูงสุด 2 เท่า ถ่ายวิดีโอได้ที่ระดับ 4K 30fps
      • กล้องหลัก 16 MP f/2.4 มี OIS/EIS
      • เลนส์เทเล 12.2 MP f/1.7 มี OIS/EIS
    • กล้องหน้า 8 MP f/2.0 fixed focus
    • มีระบบสแกนใบหน้าโดยใช้แสงอินฟราเรด (มีกล้อง NIR 2 ตัว)
    • ใช้งานได้ซิมเดียว + eSIM
    • แบตเตอรี่ 2800 mAh รองรับการชาร์จเร็ว 18W รองรับการชาร์จไร้สาย
    • ลำโพงคู่สเตอริโอ
    • Android 10 รองรับการอัพเดต OS และแพทช์ความปลอดภัยขั้นต่ำ 3 ปี

    รวม ๆ ก็ต้องบอกว่าสเปค Google Pixel 4 ดูค่อนข้างพื้นฐาน แถมบางจุดยังสู้มือถือระดับท็อปรุ่นอื่นไม่ได้ด้วยซ้ำ เช่นแรมที่น้อยกว่า แบตที่จุไม่ถึง 3000 mAh กล้องหลังที่ให้มาแค่สองเลนส์ ยังดีหน่อยที่ให้จอรีเฟรชเรตสูงสุด 90 Hz มาให้ได้ใช้งานบ้าง รวมถึงระบบสแกนใบหน้าที่มีการใช้ฮาร์ดแวร์หลาย ๆ ส่วนช่วยในการทำงาน นอกเหนือจากการใช้กล้องหน้าเพียงอย่างเดียว

    นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ไม่เหมือนใคร นั่นคือ Motion Sense ที่ตัวเครื่องจะปล่อยคลื่นเรดาร์ออกมาจากระบบ Soli เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวบริเวณเหนือหน้าจอ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานได้โดยไม่ต้องจิ้มหน้าจอ ตัวอย่างของการทำงานที่สั่งได้ก็เช่น การเปลี่ยนเพลง เล่นเพลง รับสาย วางสาย เป็นต้น ซึ่งที่จริงแล้ว มือถือหลายรุ่นในอดีตก็สามารถใช้งานพวก air gesture แบบนี้ได้มานานแล้วครับ เช่นในมือถือ Samsung ที่ผมเคยลองทดสอบมาแล้วตั้งแต่หลายปีก่อน

    แต่ถ้าพูดถึงความพิเศษของ Motion Sense ใน Google Pixel 4 ก็คือการนำคลื่นเรดาร์เข้ามาใช้งานแทนการทำงานในรูปแบบเก่า ซึ่งตามทฤษฎีก็ควรจะแม่นยำกว่าแบบเดิม แต่ปัญหาใหญ่เลยก็คือ เจ้าระบบ Motion Sense นี้สามารถเปิดใช้งานได้ในบางประเทศเท่านั้น และแน่นอนว่ามันยังไม่สามารถใช้งานในประเทศไทยได้ (ถ้าไม่ root) แม้กระทั่งในญี่ปุ่นที่มีเครื่องวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ โดยมีสาเหตุมาจากการที่ต้องขออนุญาตเกี่ยวกับการใช้งานคลื่นเรดาร์นี่แหละครับ

    ดังนั้นในรีวิว Google Pixel 4 นี้ ผมเลยไม่ได้ทดสอบฟังก์ชัน Motion Sense นะครับ


    รูปร่างหน้าตา และการใช้งาน Google Pixel 4

    สำหรับคนที่ไม่ชอบรอยบาก ติ่งจอ หรือเจาะแบบเจาะรู ก็น่าจะถูกใจหน้าตาของ Google Pixel 4 และ 4 XL อยู่เหมือนกันครับ เพราะตัวเครื่องหันกลับมาใช้จอแบบมีแถบด้านบน ต่างจากใน Pixel 3 XL ที่มีติ่งจอขนาดใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่ทั้ง Pixel 4 และ 4 XL กลับมาใช้จอแบบมีแถบดำด้านบนก็เนื่องจากต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้งเหล่าเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เช่น ระบบอินฟราเรด เซ็นเซอร์สำหรับใช้ช่วยในการสแกนใบหน้า รวมถึงชิปเรดาร์ของระบบ Soli ตามภาพด้านล่างนี้ที่เป็นภาพจากทาง Google เองครับ

    ในเมื่อเราข้ามเรื่อง Motion Sense ไป ก็มาพูดถึงการสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อกหน้าจอก็แล้วกันครับ ซึ่งถ้าให้เทียบตรง ๆ ก็จะเป็นการใช้เทคโนโลยีคล้ายกับ Face ID ใน iPhone ก็ว่าได้ครับ โดยมีการใช้กล้องอินฟราเรดถึงสองตัวร่วมกับโปรเจกเตอร์ฉายแสงในรูปแบบจุด เพื่อช่วยให้สามารถจับตำแหน่งของอวัยวะบนใบหน้า แล้วนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูล pattern ใบหน้าที่บันทึกไว้ได้เร็วขึ้น

    ส่งผลให้การสแกนใบหน้าของ Pixel 4 ทำได้เร็วมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานกลางแจ้งหรือใช้งานในที่มืดก็ตาม เท่าที่ผมทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นการสแกนขณะนั่งนิ่ง หรือขณะที่กำลังเดินและวิ่งอยู่ Pixel 4 ก็สามารถปลดล็อกได้สบายครับ แต่ในบางครั้งก็เกิดอาการงง ๆ ทั้งที่ผมนั่งอยู่นิ่ง ๆ เครื่องก็วางอยู่ตรงใบหน้า แต่ปรากฏว่าไม่สามารถสแกนได้ก็มีเหมือนกัน เมื่อเทียบกับ iPhone 11 แล้ว พบว่า iPhone 11 ยังทำได้ดีกว่าเล็กน้อย ซึ่งก็ต้องรอทาง Google ปรับจูนผ่านทางซอฟต์แวร์กันต่อไปครับ

    หน้าจอของ Google Pixel 4 ที่ใช้เป็นแบบ OLED ก็ให้สีสันที่กำลังดี ไม่จัดจ้านเกินไป แอบมีซีดนิดนึง แต่ก็สามารถปรับเร่งสีสันขึ้นมาได้อีกหน่อย จุดที่เป็นสีดำก็ดำจริง ๆ ระดับความสว่างก็ถือว่าใช้งานกลางแจ้งได้สบายมาก มุมมองของภาพก็กว้าง โดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มือถือระดับไฮเอนด์ควรทำได้ครับ

    ส่วนฟีเจอร์ที่ใส่เพิ่มเข้ามาก็คือความสามารถในการแสดงภาพได้ที่รีเฟรชเรตสูงสุดถึง 90 Hz ที่ Google ตั้งชื่อให้ว่า Smooth Display ทำให้การเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น การเลื่อนหน้าจอ การขยับของวัตถุบนภาพดูลื่นไหลกว่ามือถือทั่วไปที่มีรีเฟรชเรต 60 Hz อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากการอัพเดตแพทช์ล่าสุดขณะที่เขียนรีวิว (เดือนมกราคม) ตัวเครื่องสามารถแสดงภาพที่ 90 Hz บนแอปหลัก ๆ ได้แทบทุกแอปแล้ว แต่เมื่อปริมาณแบตเหลือน้อย ระบบก็จะปิด แล้วกลับมาแสดงผลที่ 60 Hz โดยอัตโนมัติ ซึ่งภาพที่ได้ต้องยอมรับว่าไหลลื่นดีจริง ๆ ลื่นกว่าภาพบนจอ iPhone แบบรู้สึกได้ทันที (จอ iPhone ยังเป็น 60 Hz อยู่)

    ด้านหลังของ Google Pixel 4 ก็มีจุดเด่นที่แท่นกล้องหลังตรงมุมซ้ายบนที่มีพื้นเป็นกระจกสีดำ ภายในก็มีกล้อง 2 ตัว แฟลช LED เลเซอร์ช่วยโฟกัส รวมถึงไมค์ที่ด้านหลังด้วย ส่วนผิวฝาหลังก็จะมีความแตกต่างกันในบางสีครับ โดยในเครื่องสีดำจะเป็นกระจก Gorilla Glass 5 แบบผิวมันวาว ส่วนเครื่องสีขาวกับสีสัมจะเป็นกระจก Gorilla Glass 5 ที่ทำผิวเป็นแบบซอฟต์ทัช ทำให้ยังสามารถชาร์จไฟแบบไร้สายได้อยู่

    ส่วนขอบเครื่องจะใช้เป็นเฟรมอะลูมินัมที่เคลือบผิวด้านคล้ายกันบนฝาหลังด้วยเช่นกัน

    ด้านล่างของเครื่องก็จะมีช่องลำโพง/ไมค์ และก็ช่อง USB-C (USB 3.1 Gen 1) ส่วนด้านบนมีช่องรับเสียงของไมค์มาให้เพียงช่องเดียว

    ด้านขวาจะเป็นตำแหน่งของปุ่มกด ได้แก่ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และก็ปุ่ม Power ที่มีการทำสีให้โดดเด่นขึ้นมาจากขอบเครื่อง

    ส่วนฝั่งซ้ายจะมีเพียงถาดใส่ซิมเท่านั้น ซึ่งภายในก็สามารถติดตั้งนาโนซิมได้เพียงซิมเดียว ไม่มีช่องใส่ MicroSD ถ้าอยากใช้งานสองซิม ก็ต้องใช้เป็นแบบนาโนซิม + eSIM ซึ่งก็แล้วแต่เครื่องอีกว่ารองรับมั้ย และก็ขึ้นอยู่กับการเข้าไปคุยกับผู้ให้บริการเครือข่ายในบ้านเราครับ ว่าเขาจะยอมทำให้หรือเปล่า เนื่องจาก Google Pixel ไม่ได้อยู่ในรายชื่อรุ่นของมือถือที่รองรับการใช้งาน eSIM ในประเทศไทย

    ในการใช้งานทั่วไป Google Pixel 4 จัดว่าเป็นมือถือที่ค่อนข้างกะทัดรัดสำหรับยุคนี้มาก ๆ ครับ ด้วยตัวเครื่องที่ขนาดไม่ใหญ่มากนัก หน้าจออัตราส่วน 19:9 ก็ทำให้ตัวเครื่องดูผอมเพรียว เมื่อเทียบขนาดแล้วก็ยังเล็กกว่า iPhone 11 อยู่พอสมควร ทำให้สามารถพกใส่กระเป๋ากางเกง กระเป๋าเสื้อได้แบบไม่ลำบากนัก น้ำหนักก็ค่อนข้างเบา ใช้งานด้วยมือเดียวได้สบาย

    ลำโพงให้เสียงที่ดังพอตัว ใช้คุยโทรศัพท์ได้แบบไม่มีปัญหา ส่วนจุดที่ผมขัดใจระหว่างใช้งาน Pixel 4 ก็คือส่วนของกล้องหลังที่ฝุ่นเกาะผิวกระจกได้ง่ายมาก และก็ระบบสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อกจอที่บางครั้งก็ไม่สามารถสแกนได้บ้างก็มี

    หนึ่งในฟังก์ชันด้านซอฟต์แวร์ที่ Google ใส่มาใน Pixel 4 เป็นครั้งแรก แล้วผมมองว่ามันน่าสนใจมากก็คือฟังก์ชันการถอดคำจากเสียงแบบสด ๆ ของแอปบันทึกเสียงในตัวเครื่อง (Recorder) ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกให้ระบบทำการถอดคำแบบสด ๆ ระหว่างการบันทึกเสียงได้เลย แบบไม่จำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ต โดยในตอนนี้ (เดือนมกราคม) ระบบยังรองรับเพียงแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่ง Google ก็ทยอยปล่อยฟังก์ชันนี้ให้เครื่องรุ่นอื่นสามารถใช้งานได้บ้างแล้ว ตัวอย่างการทำงานก็ตามคลิปด้านบนครับ

    จากที่ผมทดสอบดู การถอดคำก็ทำได้ค่อนข้างเร็ว ถ้าเสียงที่เข้ามาเป็นการพูดที่ค่อนข้างชัดถ้อยชัดคำ การถอดคำจะทำได้ค่อนข้างแม่นยำและตามหลังเสียงจริงไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นการพูดเร็ว ๆ รัว ๆ อย่างเช่นในภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง Sherlock อันนี้บอกเลยว่าระบบก็ถอดไม่ไหวเหมือนกันครับ มีอาการหยุดไปนิ่ง ๆ แล้วก็ข้ามคำข้ามประโยคไปพอสมควรเลย

    แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใด สิ่งที่ค่อนข้างเหมือนกันคือ ระบบจะถอดคำแบบติดต่อกันเลย จะมีการขึ้นย่อหน้าใหม่ให้เฉพาะตอนที่เสียงขาดหายไปซักระยะหนึ่งเท่านั้น แต่เพียงเท่านี้ ส่วนตัวผมว่าก็ช่วยให้การทำงานของผมสะดวกขึ้นเยอะแล้ว


    กล้อง Google Pixel 4 ดีสมคำร่ำลือหรือไม่?

    หนึ่งสิ่งที่ช่วยสร้างชื่อให้กับมือถือ Pixel นับตั้งแต่รุ่นแรกคือกล้องที่ให้ภาพสวยด้วยพลังของการประมวลผลภาพที่ Google นำระบบคลาวด์ของตนเองมาช่วยในการทำงาน จนทำให้ที่ผ่านมา แม้ Pixel จะมีกล้องหลังตัวเดียว แต่ก็มีฟังก์ชัน และให้คุณภาพของรูปถ่ายแทบไม่แพ้มือถือที่มีกล้องหลังหลายตัวเลย

    แต่ในระยะหลังมานี้ ก็เกิดกระแสเรียกร้องให้ Google เพิ่มเลนส์เข้ามาเสริมให้กับ Pixel บ้างซักที เช่น การเพิ่มเลนส์เทเลเข้ามาเพื่อช่วยให้สามารถซูมแบบออปติคอลได้ รวมถึงการเพิ่มเลนส์อัลตร้าไวด์ เพื่อให้สามารถถ่ายภาพมุมกว้างกว่าปกติได้ ซึ่งส่วนตัวผมเองก็เห็นด้วยนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลนส์อัลตร้าไวด์ เพราะผมเองชอบถ่ายรูปวิว ถ่ายรูปแบบที่ให้เห็นมุมกว้าง ๆ ประกอบกับรูปที่ทาง Google ปล่อยมาก่อนหน้านี้ก็ทำให้คาดเดาได้ว่า Pixel 4 น่าจะมีกล้องหลังมากกว่า 1 เลนส์แน่ ๆ

    พอถึงเวลาเปิดตัวจริง ปรากฏว่าเป็นการเพิ่มเลนส์เทเลเข้ามา ซึ่งก็ถือว่ายังดีครับ พอใช้เอามาถ่ายวัตถุที่อยู่ไกลได้ดีขึ้น เอามาใช้ช่วยในการถ่าย portrait ได้ดีขึ้น แต่ก็แอบเสียดายที่ถึงยุคนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีเลนส์อัลตร้าไวด์มาให้เหมือนแบรนด์อื่น ๆ ซักที

    จะอย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเพิ่มเลนส์มาให้กล้องหลังแล้ว Google Pixel 4 ยังมีฟีเจอร์ด้านกล้องที่เพิ่มเข้ามาอีกหลายส่วนเหมือนกันครับ ที่น่าสนใจก็ตามนี้เลย

    Dual Exposure

    เป็นฟังก์ชันที่ให้ผู้ใช้สามารถปรับค่าของ highlight กับ shadow ในภาพได้ตั้งแต่ตอนจะถ่ายรูป ซึ่งเป็นการปรับค่าที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสว่างทั้งหมดของภาพโดยตรง แต่จะมีผลตรงส่วนที่มีแสงและเงาในภาพ

    อย่างในภาพชุดด้านบน บนหน้าจอจะมีตัวเลื่อนอยู่ 2 อัน อันบนคือตัวปรับความสว่างโดยรวมทั้งภาพ ส่วนตัวล่างคือตัวปรับ highlight/shadow ครับ ถ้าปรับขึ้นสูงสุด ส่วนที่เป็นเงาก็จะลดลง (highlight เพิ่มขึ้น) ถ้าปรับลงต่ำสุด เงาก็จะเพิ่มขึ้น (highlight ลดลง) ทำให้ผู้ใช้สามารถออกแบบแสงเงาในภาพที่ต้องการได้ตั้งแต่ตอนถ่ายเลย ไม่จำเป็นต้องมาแต่งรูปในแอปอีกต่อไป


    การซูมภาพ

    อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า Google Pixel 4 รองรับการซูมแบบออปติคอลได้สูงสุด 2 เท่า การที่จะซูมตั้งแต่ตอนถ่ายก็ทำได้ทั้งการถ่างจีบนิ้วออก หรือจะแตะหน้าจอสองครั้งติด ๆ กันก็ได้ครับ โดยในวิธีหลังจะเป็นการสลับไปมาระหว่าง 1x กับ 2x ในทันที ทำให้สามารถใช้งานได้ค่อนข้างง่าย สามารถใช้งานได้ในทุกโหมดกล้อง ส่วนถ้าต้องการซูมแบบดิจิตอลต่อก็ใช้การถ่างจีบนิ้ว หรือเลื่อนที่ปุ่มบนแถบซูมก็ได้ สามารถซูมได้สูงสุดเป็น 8 เท่า

    สำหรับการถ่ายในโหมด portrait ถ้าผู้ใช้แตะหน้าจอสองครั้งเพื่อซูม ระบบจะซูมออปติคอลขึ้นมาเป็น 1.3x (เพราะของเดิมมันก็คือการซูมเล็กน้อยอยู่แล้ว)

    ด้านบนก็เป็นผลงานจากการซูมด้วยกล้องหลังของ Google Pixel 4 ครับ ภาพซ้ายสุดเป็นภาพจากเลนส์หลักที่ระยะปกติ ภาพกลางคือภาพที่ได้จากการซูมออปติคอล 2 เท่า ส่วนภาพขวาสุดคือซูมหมดหลอดที่ 8 เท่า รายละเอียดโดยทั่วไปก็จัดว่ายังใช้ได้อยู่ แต่มือก็ต้องนิ่งพอสมควรครับ แม้ว่าตัวเลนส์จะมีระบบกันสั่น OIS ช่วยบ้างก็ตาม

    โหมด Night Sight สำหรับถ่ายกลางคืน

    แม้จะเป็นโหมดที่อยู่ใน Pixel มาซักระยะหนึ่งแล้ว แต่ใน Pixel 4 ก็ได้รับการพัฒนาให้เรื่องของสีสันกับ white balance ดีขึ้นกว่าเดิม จากที่ผมเคยใช้ Pixel 2 XL มา จะพบปัญหาเรื่อง white balance ติดอมฟ้าอยู่บ่อยครั้ง เมื่อใช้โหมด Night Sight แต่พอใน Pixel 4 ก็พบปัญหาน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

    ส่วนในภาพด้านบนก็เป็นการเทียบกันระหว่างภาพซ้ายที่ปิด Night Sight ส่วนภาพขวาเป็นการเปิด Night Sight ครับ ความสว่างต่างกันเยอะเลย

    โหมดถ่ายดาว Astrophotography

    เป็นโหมดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ใน Pixel 4 ครับ ซึ่งอันที่จริงก็จัดว่าเป็นโหมดเสริมให้กับ Night Sight อีกที เพราะมันจะทำงานโดยอัตโนมัติ เมื่อผู้ใช้หันกล้องไปยังที่มืด โดยตัวมือถือเองก็ต้องวางแบบนิ่ง ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ขณะที่ติดตั้งอยู่กับขาตั้งกล้อง

    ส่วนการทำงาน ก็จะเป็นการเปิดหน้ากล้องค้างไว้ ผสมกับประมวลผลภาพเพื่อลด noise และเร่งให้แสงของดาวชัดเจนขึ้น ใช้ระยะเวลาในการถ่ายประมาณ 4 นาที ซึ่งถ้าจะให้ได้ภาพดีที่สุด ควรจะถ่ายในช่วงกลางดึก ในบริเวณที่มีแสงรบกวนจากภายนอก เช่น ไฟถนน ไฟตึกน้อยที่สุด อย่างในภาพด้านบนผมถ่ายเมื่อตอนประมาณสามทุ่ม ในวันที่มีแสงจันทร์ด้วยครับ (ถ้าถ่ายซักตีสอง น่าจะได้ภาพดาวชัดกว่านี้)

    การถ่าย HDR+ แบบ Live HDR

    อีกจุดเด่นของมือถือตระกูล Pixel ก็คือการถ่าย HDR ที่ทำได้เร็ว และได้ผลลัพธ์ที่ดีมาตลอด แต่ใน Pixel 4 ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นไปอีก โดยคราวนี้หน้าจอสามารถแสดงผลภาพที่จะได้จากการถ่าย HDR ตั้งแต่ก่อนกดถ่ายเลย จากที่แต่เดิมต้องไปรอประมวลผลหลังถ่ายเสร็จ ทำให้ผู้ใช้ทราบได้ตั้งแต่ก่อนถ่ายว่าภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

    แต่ทั้งนี้ก็มีจุดที่ Google ตัดออกไปแล้วส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วยก็คือ ตัวเลือกในการเปิด/ปิดโหมด HDR ครับ เพราะคราวนี้กลายเป็นว่าทุกรูปจะเป็นการคำนวณของระบบหมดเลย ว่าจะให้เป็นการถ่าย HDR หรือเปล่า

    อีกจุดที่ Google ตัดออกจากแอปกล้องก็คือตัวเลือกปรับระดับ white balance ของภาพ ที่แต่เดิมจะมีให้ปรับเป็นค่าแบบต่าง ๆ เช่น ค่าเมื่อถ่ายใต้แสงหลอดทังสเตน หลอดฟลูออเรสเซนท์ เป็นต้น ทำให้ถ้าได้ภาพที่ผมไม่ถูกใจ white balance ผมก็ต้องมานั่งปรับในแอปแต่งรูปอีกที เสียเวลากว่าเดิมเข้าไปอีก ยังดีที่ระบบคำนวณ white blance ของ Pixel 4 นั้นทำงานได้ค่อนข้างแม่นในหลายสถานการณ์อยู่


    ส่วนด้านล่างนี้ก็เป็นตัวอย่างของภาพที่ได้จากกล้องหลัง Google Pixel 4 ครับ มีภาพสุดท้ายเป็นโหมด night sight

    ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ด้านล่างนี้ครับ


    ความแรง และแบตเตอรี่ของ Google Pixel 4

    ระดับความแรงของ Google Pixel 4 ก็อยู่ในจุดที่พอจะคาดเดาได้ครับ ด้วยชิปประมวลผลระดับเกือบท็อปสุดของฝั่ง Android จะด้อยกว่านิดหน่อยก็คือแรมที่ให้มา 6 GB ต่างจากมือถือรุ่นท็อปด้วยกันที่ส่วนใหญ่จะให้มา 8 GB แล้ว โดยคะแนนผลการทดสอบก็เป็นไปตามภาพด้านล่างครับ

    จะเห็นว่าคะแนนต่าง ๆ ก็ค่อนข้างดีเลย ส่วนในการใช้งานจริง ลื่นสบายหายห่วง การตอบสนองทำได้รวดเร็ว เปิดปิดแอปทันใจ ระบบไม่ค่อย kill process เท่าไหร่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากแรม 6 GB ที่เพียงพอกับการใช้งานพื้นฐานอยู่แล้ว ด้านของการประมวลผลภาพหลังถ่ายก็ทำได้เร็วกว่าเดิมครับ รวม ๆ แล้ว Pixel 4 ยังคงให้ประสบการณ์ในการใช้งาน Android ที่ดีมาก ๆ เหมือนเช่นเคย

    ส่วนที่ทำได้ดีก็ว่ากันไปแล้ว คราวนี้มาดูส่วนที่ยังต้องมีการปรับปรุงกันบ้าง จุดสำคัญเลยก็คือเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ครับ เพราะจากการใช้งานทั่วไปของผมที่ต่ออินเตอร์เน็ตตลอดเวลา สลับกันระหว่าง WiFi กับ 4G ใช้แอปพื้นฐานเช่น Facebook, Line, Twitter, IG, ถ่ายรูป, เปิด Google Maps บ้างเล็กน้อย และก็ฟังเพลงบ้างในบางช่วง พบว่าแบตเตอรี่อยู่ได้ตั้งแต่เช้าถึงเย็นแบบน่าหวาดเสียวอยู่เหมือนกัน (บางวันเหลือต่ำกว่า 20%) ซึ่งถ้าวันไหนต้องใช้งานหนักกว่าปกติ ก็จำเป็นต้องใช้ powerbank ช่วยระหว่างวันอยู่เหมือนกัน ต่างจาก iPhone 11 ที่รอบนี้ผมสังเกตได้ชัดเลยว่าแบตอึดกว่า Pixel 4 ซะอีก (iPhone 11 แบตเยอะกว่าประมาณ 300 mAh)

    ยังดีที่ตัวเครื่องรองรับการชาร์จเร็วได้สูงสุด 18W ซึ่งผมเองก็มี powerbank และอุปกรณ์ชาร์จที่รองรับ USB-PD อยู่แล้ว เลยนำมาใช้งานได้ทันที ซึ่งก็ชาร์จเร็วทันใจครับ

    สำหรับวิธีการประหยัดแบตเตอรี่ ก็หนีไม่พ้นการปิดฟังก์ชัน ปรับแต่งการทำงานบางส่วนเช่นเคย จุดที่ผมทดลองแล้วเห็นผลชัดเจนก็เช่น

    • ปิดฟังก์ชัน Smooth Display (แสดงผล 90 Hz)
    • ตั้งภาพพื้นหลังหน้าจอเป็นภาพนิ่ง เน้นโทนสีดำ
    • ปิดการเชื่อมต่อที่ไม่จำเป็น
    • ใช้ Dark theme

    เทียบ Google Pixel 4 กับ iPhone 11

    ทีนี้มาเทียบความแตกต่างระหว่างมือถือสองรุ่นที่จัดเป็นสาย pure ของฝั่ง Android และ iOS กันบ้างครับ นั่นคือ Google Pixel 4 กับ iPhone 11 ที่ผมใช้งานอยู่พอดี ช่วงราคาเริ่มต้นก็ค่อนข้างใกล้เคียงกัน

    เริ่มแรกด้วยเรื่องของขนาดเครื่อง จะเห็นว่า Pixel 4 มีขนาดเล็กกว่านิดหน่อย

    ส่วนหน้าจอ iPhone 11 จะใหญ่กว่า กว้างกว่าครับ ด้านของสีสัน ทั้งสองเครื่องมีระบบช่วยปรับโทนสีให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม อย่างใน iPhone ก็จะเป็นระบบ True Tone ส่วนใน Pixel 4 ก็คือ Ambient EQ ซึ่งการทำงานของทั้งสองก็ทำได้ค่อนข้างดีเลย แต่จอของ Pixel 4 จะติดอมฟ้ากว่า iPhone 11 เล็กน้อย

    โดยในภาพด้านบน ตัวกล้องได้พยายามปรับ white balance ให้โดยรวมออกมาเทากลางที่สุด จึงทำให้จอ iPhone ดูอมเหลืองไปนิด แต่ถ้าดูด้วยตาจริง ๆ จะไม่เหลืองขนาดนี้ครับ กลับกันคือจอ Pixel 4 จะอมฟ้ากว่าเล็กน้อยด้วย

    สำหรับด้านสีสัน จอของทั้งคู่ทำได้ดีใกล้เคียงกันเมื่อมองด้วยตาเปล่า แต่ถ้าเป็นจุดสีดำ Pixel 4 จะทำได้ดีกว่าแบบเห็นได้ชัด ทั้งนี้ก็เนื่องจากการใช้จอแบบ OLED ที่สีดำคือการปิดหลอดไฟจริง ๆ เลยให้ความดำได้สนิทกว่า iPhone ที่ใช้จอ IPS

    ความสะดวกในการพกพา อันนี้แน่นอนว่า Pixel 4 กะทัดรัดกว่า พกสะดวกกว่า iPhone 11 ครับ รวมถึงเรื่องน้ำหนักด้วย สำหรับ iPhone 11 นี่ พอใช้ไปซักพักแล้วผมรู้สึกว่ามันหนักข้อมืออยู่พอสมควรเลย

    ความร้อนในการใช้งาน: พอ ๆ กัน

    การสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อก: iPhone 11 ใช้งานสะดวกกว่า แม่นยำกว่าเล็กน้อย

    เสียงของลำโพง: ส่วนตัวผมถูกใจ iPhone 11 มากกว่า

    ส่วนเรื่องกล้องถ่ายรูป ด้านล่างนี้ก็เป็นภาพเปรียบเทียบคร่าว ๆ ครับ

    สำหรับการเทียบภาพถ่ายแบบเต็ม ๆ รอชมกันในบทความแยกอีกทีนะครับ


    สรุป Google Pixel 4 น่าใช้มั้ย น่าหามาลองหรือเปล่า?

    ก็มาถึงส่วนสรุปของรีวิว Google Pixel 4 เครื่องนี้แล้วนะครับ ถ้าให้ผมลงความเห็นว่า Pixel 4 น่าใช้มั้ย อันนี้ก็บอกได้เลยว่า ในงบเดียวกัน ถ้าคุณต้องการมือถือระดับท็อปแบบใช้งานได้สบายใจ แนะนำว่าไปซื้อแบรนด์อื่นที่มีขายในไทยอย่างเป็นทางการจะดีกว่าครับ อย่างน้อยถ้าเครื่องมีปัญหา ก็ยังมีศูนย์บริการให้เข้าไปใช้บริการ จะหาเคส หาอุปกรณ์เสริมก็ค่อนข้างง่ายกว่ามือถือตระกูล Pixel แถมพวกฟังก์ชัน ลูกเล่นก็เยอะกว่า ที่สำคัญคือ จุดเด่นที่ Pixel เคยทำได้เกินหน้าเกินตาแบรนด์อื่นมาตลอด แม้ในปีนี้จะยังทำได้ดีมาก ๆ อยู่เหมือนเดิม แต่มันก็อยู่ในระดับที่ไม่ได้ต่างจากรุ่นอื่นมากนัก จนทำให้แฟน ๆ Pixel รู้สึกไม่ค่อยโอเคกับซีรีส์ 4 ซักเท่าไหร่ (เพราะรุ่นอื่นเขามาโหดกันจริง ๆ)

    ประกอบกับฝั่ง Apple เองก็ดันทำ iPhone 11 ออกมาได้น่าสนใจ ทั้งแง่ของสเปค การใช้งานและราคา ซึ่งก็ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการมือถือระดับไฮเอนด์กล้องดี ๆ มากขึ้นไปอีก

    ส่วนถ้าใครเป็นสาวกของ Pixel อยู่ หากเครื่องที่ใช้ตอนนี้เป็นเครื่องรุ่นเก่าหน่อย เช่น Pixel 1 หรือ Pixel 2 แล้วต้องการซื้อเครื่องใหม่ Pixel 4 ก็ถือว่าน่าสนใจครับ ได้สเปคที่สดใหม่กว่า กล้องที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายภาพในที่มืด ลูกเล่นที่ใช้ได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่คงต้องหมายเหตุเอาไว้หน่อยว่ารอบนี้เครื่องค่อนข้างกินแบตพอตัว ถ้ากังวลเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ อาจจะไปรอดู Pixel 4a ที่น่าจะได้รับการเปิดตัวในช่วงกลางปีนี้

    แต่ใครที่ใช้งาน Pixel 3 หรือ 3a อยู่ การอัพเกรดมาเป็น Pixel 4 อาจจะไม่ได้สร้างความแตกต่างให้กับการใช้งานมากนัก เพราะ Google ก็ทยอยเพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ ใน Pixel 4 ให้เครื่องรุ่นเก่าได้ใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ แนะนำว่าถ้าเครื่องไม่มีปัญหา ก็ใช้งานรอรุ่นใหม่ช่วงปลายปีก็ได้ครับ

    Google Google Pixel 4 Review
    Share. Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Tumblr Email
    ZeroSystem

    Related Posts

    เปรียบเทียบ Samsung Galaxy S25 Edge vs iPhone 17 Air มือถือตัวบางทั้งคู่ ต่างกันแค่ไหนเท่าที่รู้ตอนนี้

    10 พฤษภาคม 2025

    สรุปสเปค Samsung Galaxy S25 Edge มือถือรุ่นบาง พร้อมกล้อง 200MP ก่อนเปิดตัว 13 พ.ค. 2025 นี้

    10 พฤษภาคม 2025

    แนะนำ 20 ซีรี่ย์เกาหลีพากย์ไทย Netflix ล่าสุดปี 2025 สนุกๆ ครบทุกแนว มีเรื่องไหนน่าดูบ้าง

    9 พฤษภาคม 2025

    Comments are closed.

    หัวข้อทั้งหมด

    แนะนำ 3 กลุ่มหลักที่เหมาะกับ iPhone 16e – ถ้าซื้อไปใช้ รับรองว่าคุ้ม!

    13 พฤษภาคม 2025

    เปรียบเทียบ Samsung Galaxy S25 Edge vs iPhone 17 Air มือถือตัวบางทั้งคู่ ต่างกันแค่ไหนเท่าที่รู้ตอนนี้

    10 พฤษภาคม 2025

    สรุปสเปค Samsung Galaxy S25 Edge มือถือรุ่นบาง พร้อมกล้อง 200MP ก่อนเปิดตัว 13 พ.ค. 2025 นี้

    10 พฤษภาคม 2025

    ราคาไอโฟนล่าสุด 2025 ทุกรุ่นทั้งเครื่องเปล่าและติดโปรที่วางขายในตอนนี้ มีรุ่นไหนราคาเท่าไหร่บ้าง อัพเดท พฤษภาคม 2025

    9 พฤษภาคม 2025

    มือถือรุ่นยอดนิยม

    Honor X7

    Honor X7

    6,299 บาท
    Honor X8

    Honor X8

    7,999 บาท
    Honor X9

    Honor X9

    9,299 บาท
    HTC Desire 22 Pro

    HTC Desire 22 Pro

    0 บาท
    Huawei Nova 10 Pro

    Huawei Nova 10 Pro

    24,990 บาท
    ดูมือถือทั้งหมด
    Facebook YouTube TikTok X (Twitter)

    Type above and press Enter to search. Press Esc to cancel.

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

    ยอมรับ
    X