More than Metal เป็นสโลแกนของมือถือที่ผมจะมารีวิวให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน โดยมือถือรุ่นดังกล่าวก็คือ Flash Plus 2 มือถือที่ดูจากสเปคตอนแรกนี่ผมขยี้ตาก่อนเลย เพราะชิปเซ็ต MediaTek Helio P10 พอไปอยู่ในมือถือบางรุ่นเนี่ย ราคาดีดไปหมื่นกว่าบาทเลยก็มี แต่พออยู่ใน Flash Plus 2 พร้อมแรม 2 GB กลับมีราคาเพียง 4,990 บาท ส่วนตัว Ram 3 GB ก็มีราคาอยู่ที่ 5,990 บาทเท่านั้น ไหนจะฟีเจอร์อื่น ๆ เช่น เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ, วัสดุตัวเครื่องที่ทำจากโลหะ, หน้าจอ 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD MiraVision, แถมยังมี DAC ในตัว ด้วยชิปเสียง AKM 4375 พร้อม PowerAMP NXP980 ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นในมือถือราคาประมาณนี้หรอกครับ
สเปค Flash Plus 2
- หน้าจอ OGS ความละเอียด Full HD ขนาด 5.5 นิ้ว
- Chipset Mediatek MT6755 Helio P10 Quad-core 1.8 GHz
- GPU Mali-T860MP2
- รุ่นหน่วยความจำภายในตัวเครื่อง 16GB/Ram 2GB, รุ่นหน่วยความจำภายในตัวเครื่อง 32GB/ Ram 3GB
- รองรับ Micro SD Card สูงสุด 128GB
- กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง 2.0 พร้อมไฟแฟลช 2 ดวง เซ็นเซอร์กล้องขนาด 1/3 นิ้ว, 1.12 µm pixel size และโฟกัสด้วยระบบ PDAF
- กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซลพร้อมไฟแฟลช LED
- Fingerprint Scanner (เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ)
- ชิปเสียง AKM4375 (Hi-Fi)
- ลำโพง NXP980 สามารถขยายเสียงไปในตัวทำให้ลำโพงดังได้ถึง 3.6W
- รองรับการใช้งาน 2 ซิม (ช่องใส่คนละช่องกับ Micro SD Card)
- รองรับการใช้งาน 4G LTE
- Fast Charging
- แบตเตอรี่ขนาด 3,000mAh
- ราคา 4,990 บาท สำหรับรุ่น 16/2GB และ ราคา 5,990 บาท สำหรับรุ่น 32/3GB
Flash Plus 2 จะขายแบบ Exclusive เฉพาะที่ Lazada เท่านั้นครับ เท่ากับว่าไม่มีเครื่องให้ลองเล่นที่หน้าร้าน ต้องสั่ง Online ผ่านทาง Lazada อย่างเดียว และการที่ขายผ่านทาง Lazada นี่แหละครับ เลยทำให้ Flash Plus 2 สามารถจำหน่ายในราคาที่เป็นมิตรได้ขนาดนี้ เพราะไม่ต้องไปเสียค่าหน้าร้าน, ค่าพนักงานเพิ่มเติม ผลดีก็ตกอยู่กับผู้บริโภคแบบเรา ๆ นี่แหละครับ ได้ของดี ราคาประหยัดเฉยเลย โดย Flash Plus 2 เปิดขายวันแรกวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ เวลา 12.00-14.00 น. จำนวนจำกัด มาร่วมเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้สัมผัสมือถือสุด exclusive ได้ที่ : http://www.lazada.co.th/flash-plus-2/
จุดเด่น
– ทุกอย่างอยู่ในจุดสมดุล ทั้ง CPU, แรม, หน้าจอ, แบตเตอรี่, กล้อง
– รองรับ 4G LTE และรองรับ 2 ซิม
– งานประกอบดีเกินราคา วัสดุตัวเครื่องเป็นโลหะ ดีไซน์สวย
– หน้าจอแสดงผลคมชัด มีโหมดหน้าจอให้เลือกหลากหลาย
– แบตเตอรี่ 3000 mAh ใช้งานได้นาน พร้อมฟีเจอร์ชาร์จเร็ว
ข้อสังเกต
– เท่าที่ใช้งานเครื่องรีวิว พบปัญหาเชื่อมต่อ LTE ไม่ติดในบางครั้ง
– โหมด Beauty ใช้ยาก ตรวจหาหน้าไม่ค่อยเจอ แถมฟุ้งด้วย
– ภาพจากกล้องหลังยังไม่ประทับใจเท่าไหร่ ถ่ายในที่แสงน้อยมี Noise พอสมควร
บทสรุป
BEST PRICE
Design
ผมได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ Flash Plus 2 ครั้งแรกเมื่อตอนที่ SpecPhone เข้าไปคุยเรื่องการทำตลาด Flash Plus 2 ในประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นผมเองก็ไม่ได้เข้าไปคุยเองหรอกครับ แต่ส่งน้องทีมงานอีกคนไปแทน ก็เลยรู้จัก Flash Plus 2 ผ่านทางคำบอกเล่าของน้องทีมงาน ตอนแรกก็คิดว่าน้องมันโม้หรือเปล่า มือถือบอดี้โลหะ, Ram 2 GB ชิป Helio P10, มีสแกนนิ้วจะขายในราคาไม่เกิน 5,000 บาท
สารภาพตามตรง ตอนแรกผมยังบอกน้องอยู่เลยว่า โดนหลอกแล้ว ราคาน่าจะเปิดมาที่ 6 พันกว่าบาทโน่นนนน
เจอราคาเปิดตัว Flash Plus 2 เข้าไป ผมนี่มีหงายหลังเลยทีเดียว เพราะพี่แกเล่นขายในราคาเพียง 4,990 บาท เจอแค่วัสดุตัวเครื่องครั้งแรกนี่ก็อึ้งแล้ว เพราะวัสดุฝาหลังเป็นโลหะ สัมผัสที่ให้นี่แบบเดียวกับมือถือราคา 8 พันกว่าบาทเลยล่ะ ตัวฝาหลังนี่มาในแนวโลหะขัดลาย การเก็บขอบเก็บมุมทำได้ดีมาก
ที่สำคัญคือฝาหลังของ Flash Plus 2 สามารถถอดได้ซะด้วย ที่ผมบอกว่าถอดได้นี่คือถอดได้ทั้งฝา เพราะฉะนั้นเวลาใช้ ๆ ไปแล้วรู้สึกเบื่อสีเดิมก็สามารถไปหาซื้อฝาหลังอีกสีมาเปลี่ยนได้ โดย Flash Plus 2 จะมีขายด้วยกัน 2 สี ได้แก่ สีเงิน กับสีทอง แต่วิธีการแกะฝาหลังอาจยากไปหน่อย เพราะต้องใช้เล็บแงะบริเวณมุมขวาล่างของตัวเครื่อง มันจะมีร่องสำหรับแงะฝาหลัง
เมื่อแกะฝาหลังออก จะพบกับช่องใส่ซิมจำนวน 2 ช่อง (รองรับ Micro Sim ทั้ง 2 ซิม) ช่องใส่ MicroSD Card (รองรับความจุสูงสุดที่ 128 GB) ส่วนแบตเตอรี่ความจุ 3000 mAh ของ Flash Plus 2 นั้นไม่สามารถถอดเปลี่ยนเองได้นะครับ
ข้อสังเกตของ Flash Plus 2 ในส่วนของการดีไซน์ ที่ผมพบระหว่างที่เขียนรีวิว Flash Plus 2 นั้นจะมีอยู่ 2 จุดใหญ่ ๆ คือการวางตำแหน่งปุ่ม Power (หรือที่บางคนเรียกว่าปุ่ม Sleep/ Wake) ที่อยู่ทางด้านขวาของตัวเครื่อง คือมือถือปกติทั่วไป ส่วนมากจะวางปุ่ม Power ไว้ใต้ปุ่มปรับระดับเสียง แต่ไม่ใช่กับ Flash Plus 2 ครับ เพราะมือถือรุ่นนี้วางปุ่ม Power ไว้ด้านบนซะอย่างนั้น เวลาผมใช้งานจะกดผิดประจำ
ส่วนอีกปุ่มที่รู้สึกว่าแปลกก็จะเป็นปุ่ม Navigation ที่อยู่ทางด้านล่างของหน้าจอแสดงผล คือตามปกติเขาจะวางตำแหน่งปุ่ม Recent App ไว้ทางด้านซ้าย ส่วนด้านขวาจะเป็นปุ่มย้อนกลับ แต่ใน Flash Plus 2 จะสลับกันครับ คืออิงกับทาง Google Nexus เอาปุ่ม Recent App ไว้ทางขวา ตรงกลางเป็นปุ่มโฮมที่ติดสแกนลายนิ้วมือเอาไว้ ส่วนทางซ้ายมือจะเป็นปุ่มย้อนกลับ แน่นอนว่าผมก็กดผิดเป็นประจำตอนที่รีวิว Flash Plus 2
วกกลับไปที่ด้านหลังของ Flash Plus 2 กันหน่อย สำหรับรายละเอียดด้านหลังของ Flash Plus 2 ก็จะประกอบไปด้วยกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมแฟลช Dual LED อยู่ข้าง ๆ ตามมาด้วยโลโก้ Flash ตรงกลางหลัง (ไม่พบโลโก้ Alcatel ที่ตัวเครื่องเลย) และด้านล่างของฝาหลังจะพบกับลำโพงหลักของตัวเครื่อง ซึ่งมันให้เสียงที่ดัง และฟังเพลงได้สนุกทีเดียว เป็นอีกจุดเด่นของ Flash Plus 2 เลยก็ว่าได้
ส่วนใครที่กังวลว่าลำโพงอยู่ทางด้านหลัง เวลาวางเครื่องบนพื้นมันจะทำให้เสียงไม่ออกหรือเปล่า อันนี้ไม่ต้องกังวลไป เพราะ Flash Plus 2 จะมีการยกตัวเครื่องให้นูนจากพื้นเล็กน้อย ต่อให้วางเครื่องไว้บนพื้น เสียงลำโพงจาก Flash Plus 2 ก็ยังคงดังเหมือนเดิม เผลอ ๆ มันจะเล่นเพลงได้เสียงดีกว่าตอนถือลอย ๆ ด้วยซ้ำ เพราะมีพื้นช่วยในการสะท้อนเสียงให้แน่นเข้าไปอีก
Flash Plus 2 มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD ตัวกระจกหน้าจอเป็นกระจกนิรภัย Dragon Trail (ที่เคยเป็นคู่แข่งของ Gorilla Glass) และใช้เทคโนโลยีช่วยแสดงผล MiraVision ทั้งยังรองรับระบบสัมผัสแบบมัลติทัชได้สูงสุด 5 จุด ซึ่งมันก็เพียงพอสำหรับมือถือหน้าจอ 5.5 นิ้วแล้วล่ะครับ คงไม่มีใครจิ้มมือถือทีเดียว 10 นิ้วหรอกเนอะ
หน้าจอแสดงผลของ Flash Plus 2 ก็ถือว่าคมชัดสำหรับมือถือหน้าจอ 5.5 นิ้ว ด้วยความละเอียดระดับ Full HD ก็จะได้ค่าความหนาแน่นของเม็ดพิกเซลที่ 401 ppi ซึ่งละเอียดเกินกว่าที่ตาคนปกติทั่วไปจะมองเห็นเม็ดพิกเซล พร้อมด้วยเทคโนโลยีในการช่วยแสดงผล MiraVision (คล้าย ๆ กับพวก Bravia Engine ของมือถือ Sony) ที่มีโหมดให้เลือกด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ Standard, Vivid และโหมดที่ให้เราเข้าไปปรับค่าสีของหน้าจอ Flash Plus 2 ได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการโหมดถนอมสายตา (BluLight Defender) ที่จะลดการปล่อยแสงสีฟ้า เวลาเปิดโหมดนี้ สีสันหน้าจอจะเปลี่ยนเป็นโทนอมเหลือง เหมาะสำหรับการใช้งานในที่แสงน้อย หรือใครที่ใช้โทรศัพท์มือถือนาน ๆ แล้วปวดตา
ภาพรวมในด้าน Design ของ Flash Plus 2 ส่วนตัวผมคิดว่ามันมาสุดทางมาก สำหรับการเป็นโทรศัพท์มือถือราคา 4,990 บาท ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่สวยงาม ตัวเครื่องจับถือถนัดมือ น้ำหนักเครื่องกำลังพอดี วัสดุตัวเครื่องก็ทำจากโลหะจริง ๆ ไม่ใช่พลาสติกทาสี หรือพลาสติกเคลือบโลหะ หน้าจอก็คมชัดระดับ Full HD มีโหมดปรับหน้าจอให้เลือกใช้หลากหลายแบบ ถ้าไม่นับการวางปุ่ม Power กับปุ่ม Navigation ที่ดูแปลกไปจากมือถือแอนดรอยรุ่นอื่น (แต่เหมือนกับ Nexus) Flash Plus 2 เป็นมือถือที่ให้อะไรมาครบครันสุด ๆ จนบางทีก็ไม่อยากเชื่อว่ามือถือราคา 4,990 บาท จะให้อะไรมาเต็มขนาดนี้
Software
Flash Plus 2 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 6.0 Marshmallow ตั้งแต่แกะออกจากกล่อง และความเจ๋งของซอฟท์แวร์ Flash Plus 2 ก็คือมันแทบจะไม่โดนปรับแต่งอะไรเพิ่มเติม คือ UI นี่เกือบ ๆ จะเป็น Pure Android แล้วล่ะครับ มีเพียงการลงแอปพลิเคชัน (Bloatware) เพิ่มเข้าไปใน Stock Rom กับปรับแต่งแอปพลิเคชันบางตัว เช่น แอปพลิเคชันกล้อง, หน้า Setting เป็นต้น
แอปพลิเคชันที่เพิ่มขึ้นมาจาก Stock Rom และน่าสนใจก็คือ Music ครับ ตามที่ผมได้เกริ่นไปแล้วว่า Flash Plus 2 มาพร้อมกับ DAC และ Amp ในตัว คือมือถือรุ่นนี้ ราคา 4,990 บาท ดันใส่ชิปเสียง AKM 4375 มาให้ด้วย เพราะฉะนั้นแอปพลิเคชัน Music ที่ติดมาให้ในเครื่อง นอกจากจะใช้ฟังเพลงได้แล้ว ยังมีฟีเจอร์ในการ Mix เสียง แบบ DJ ได้ด้วย ร้ายกาจจริง ๆ มือถือรุ่นนี้
ส่วนตัวผมมองว่าการที่ Flash Plus 2 เลือกที่จะปรับแต่งรอมให้น้อยที่สุด ให้มันใกล้เคียงกับ Pure Android มากที่สุด เป็นทางออกที่ Win-Win ทั้งสองฝ่าย ทั้งฝั่งผู้ผลิต และฝั่งผู้ใช้เอง เพราะจะได้ลดต้นทุนเรื่องการพัฒนาซอฟท์แวร์ การออกแบบ UI/ UX เนื่องจากรอม Android 6.0 Marshmallow ก็มีหน้าตาที่สวยงามอยู่แล้ว การใช้งาน หรือฟีเจอร์เองก็เพียงพอต่อการใช้งาน ความลื่นนี่ไม่ต้องพูดถึง สเปคระดับนี้ เจอกับ Android 6.0 Marshmallow ที่เน้นเรื่อง Performance เป็นหลัก แบบนี้ผู้ใช้อย่างเรา ๆ นี่ยิ้มเลยครับ
ส่วนใครที่เบื่อหน้าตาเดิม ๆ อยากได้ UI สวย ๆ ก็สามารถไปดาวน์โหลด Launcher มาลงเพิ่มเติมทีหลังได้ ใน Google Play มี Launcher ให้เลือกดาวน์โหลดเพียบ
Feature
ถึงแม้ว่าฟีเจอร์ของ Flash Plus 2 จะไม่ได้มีเยอะแยะมากมายเหมือนมือถือยี่ห้ออื่น ๆ ด้วยข้อจำกัดทางด้านราคา และตัวรอมของ Flash Plus 2 ที่เกือบจะเป็น Pure Android ตามที่ผมได้อธิบายไปในรีวิว Flash Plus 2 หัวข้อ Software เพราะฉะนั้นฟีเจอร์ของ Flash Plus 2 จึงไม่ได้หวือหวาเท่าไหร่ ถ้าหวังว่าจะเจอฟีเจอร์ประเภทวาดหน้าจออะไรพวกนี้ก็ควรมองข้าม Flash Plus 2 ไปครับ
โดยส่วนตัวแล้ว ผมกลับชอบฟีเจอร์ที่มีใน Flash Plus 2 มากกว่า เพราะมันเป็นฟีเจอร์ที่เมื่อเปิดใช้งานแล้วได้ใช้งานจริง ๆ อย่างการเคาะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อปลุกเครื่อง (อันที่จริงใช้การกดปุ่ม Home สะดวกกว่า) และเราก็สามารถเคาะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อทำการปิดหน้าจอได้เช่นกัน ซึ่งผมว่ามันสะดวกมาก เนื่องจากปุ่ม Power ของ Flash Plus 2 วางอยู่ในตำแหน่งที่กดยากกว่าปกติ
เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือของ Flash Plus 2 ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าประทับใจในมือถือรุ่นนี้ เพราะนอกจากจะสแกนนิ้วได้รวดเร็ว (พอ ๆ กับเจ้าอื่น) ยังมีลูกเล่นที่ตัวสแกนลายนิ้วมือ โดย Flash Plus 2 สามารถเก็บลายนิ้วมือได้มากสุดที่ 5 นิ้ว และเราสามารถตั้งค่าให้แอปพลิเคชันทำงานเมื่อใช้ปุ่มสแกนนิ้วได้ เช่น ตั้งให้นิ้วโป้งขวา = ปลดล็อกตัวเครื่อง, นิ้วโป้งซ้าย = เปิดกล้อง, นิ้วชี้ขวา = เปิดแอป Facebook เป็นต้น
ระบบรักษาความปลอดภัยของ Flash Plus 2 จัดว่าอยู่ในระดับดีมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่ใช้ซอฟท์แวร์เป็น Android 6.0 Marshmallow จะมีการขอ Permission ทุกครั้ง เมื่อเราใช้งานแอปพลิเคชันที่โหลดใหม่เป็นครั้งแรก และเมื่อเราตั้งรหัสล็อกเครื่องเอาไว้ ระบบจะทำการถามรหัสทุกครั้งที่มีการ Restart เครื่อง หรือเปิดเครื่องใหม่ แต่การถามรหัสของ Flash Plus 2 จะแปลกกว่ามือถือแอนดรอยยี่ห้ออื่น คือมันจะถามรหัสก่อนที่จะบูทเครื่องเสร็จ แล้วพอบูทเครื่องเสร็จก็จะต้องใส่รหัสเดิมอีกครั้งหนึ่ง (รอบสองใช้สแกนนิ้วได้)
Camera
สเปคของฮาร์ดแวร์กล้อง Flash Plus 2 ถ้าดูจากตัวเลขความละเอียดที่ให้มาก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติทั่วไป กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมแฟลช Dual LED อัตราส่วนของภาพที่ความละเอียดสูงสุดเป็นแบบ 4:3 ซึ่งเป็นอัตราส่วนมาตรฐานสำหรับกล้องมือถือ ส่วนกล้องหน้าให้มาที่ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล พร้อมแฟลช LED อัตราส่วนภาพที่ความละเอียดสูงสุดอยู่ที่ 4:3 แต่ถ้าต้องการถ่ายภาพที่อัตราส่วนแบบ 16:9 ก็ต้องลดความละเอียดกล้องหน้าลงมาเหลือ 5 ล้านพิกเซล
สำหรับการถ่ายวีดีโอ กล้องหลังของ Flash Plus 2 สามารถถ่ายวีดีโอได้ที่ความละเอียดสูงสุด Full HD แต่ถ้าเป็นกล้องหน้าจะถ่ายวีดีโอได้ที่ความละเอียดสูงสุดที่ระดับ HD เท่านั้น แต่ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน VDO Call หรือจะใช้ทำ Facebook Live/ BIGO Live แล้วล่ะครับ
สิ่งที่ผมชอบในกล้องของ Flash Plus 2 ก็คือ ไม่ให้โหมดถ่ายรูปมาเยอะจนเกินใช้ อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่าซอฟท์แวร์ของ Flash Plus 2 เป็นเกือบ ๆ Pure Android เพราะฉะนั้นเมนูกล้องจึงไม่มีลูกเล่น หรือโหมด (ที่ปกติเราก็ไม่ค่อยได้ใช้) มากมาย โดยโหมดกล้องของ Flash Plus 2 จะมีแค่ 3 โหมดหลัก ๆ ได้แก่
- Normal (โหมดออโต้)
- Panorama
- PIP – เป็นการถ่ายรูปด้วยกันทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง
การตั้งค่ากล้องก็ปรับได้ละเอียดประมาณหนึ่ง สามารถเลือกความละเอียดของภาพที่จะถ่ายได้ รวมถึงเลือกเปิดฟีเจอร์การถ่ายกลางคืน, HDR และการหน่วงเวลา (สำหรับกล้องหน้า) ส่วนโหมดหน้าสวย หรือ Beauty ในกล้องหน้า Flash Plus 2 ก็มีติดมาให้เช่นกัน แต่ส่วนตัวผมว่ามันยังไม่สุดเท่าไหร่ อารมณ์โหมด Beauty เมื่อก่อนอะครับ คือจะขาว ๆ ฟุ้ง ๆ ไปหมด และมีอีกโหมดที่น่าสนใจก็คือโหมดถ่ายรูปเด็ก คือตัวกล้องจะทำการส่งเสียงเพื่อให้เด็กสนใจ จะได้มองที่กล้องขณะถ่ายรูปด้วยครับ
คุณภาพของรูปถ่ายจากกล้องหลังของ Flash Plus 2 ส่วนตัวผมไม่ประทับใจเท่าไหร่ ตอนที่รีวิวนี่พบปัญหาเรื่อง White Balance ประจำ แต่การเปิดกล้องทำได้รวดเร็ว การจับภาพก็เร็วดี คุณภาพของรูปถ่ายถ้ามีแสงเพียงพอก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเจอที่แสงน้อยเข้าไปก็ Noise เพียบครับ แต่พอย้อนกลับมาดูราคาค่าตัวที่ 4,990 บาท ผมว่ามันก็ไม่ได้แย่อะไรนะ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง Flash Plus 2 (ไฟล์ผ่านการย่อรูปเพื่อลงเว็บไซต์)
ส่วนคุณภาพรูปถ่ายจากกล้องหน้าก็อย่างที่ได้บอกไปว่า โหมด Beauty ยังไม่ปังเท่าที่ควร แต่ปัญหาที่พบมากกว่าคือการถ่ายในที่แสงน้อยครับ ซอฟท์แวร์กล้องจะพยายามทำให้ภาพจากกล้องหน้าสว่าง ซึ่งมันไปแก้ปัญหาที่การเพิ่ม Speed Shutter ทีนี้ถ้าเราถือกล้องไม่นิ่งพอก็จะเกิดภาพเบลอได้ครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า Flash Plus 2 (ไฟล์ผ่านการย่อรูปเพื่อลงเว็บไซต์)
Performance
ประสิทธิภาพของ Flash Plus 2 จัดว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ ขับเคลื่อนด้วยชิปเซ็ต MediaTek Helio P10 (MT6755) Octa-Core ความเร็ว 1.8 GHz ความแรงเมื่อเทียบกับชิปของ Qualcomm จะเทียบได้กับ Snapdragon 615 แต่ MediaTek Helio P10 จะมีคะแนนเหนือกว่าเล็กน้อย พูดง่าย ๆ คือมันแรงกว่า Snapdragon 615 แต่ยังสู้ Snapdragon 650 ไม่ได้นั่นเองครับ
Flash Plus 2 เครื่องที่ผมได้มารีวิวนั้นเป็นรุ่น Ram 2 GB ครับ ในการใช้งานผมไม่รู้สึกติดขัดเรื่องความลื่นแต่อย่างใด ด้วยรอม Android 6.0 Marshmallow ที่เกือบจะเป็น Pure Android ความลื่นนั้นหายห่วงอยู่แล้ว การใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ ทำได้อย่างลื่นไหล หรือจะใช้เล่นเกมก็ไม่ใช่ปัญหาอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากให้สุดจริง ๆ ผมแนะนำให้ซื้อ Flash Plus 2 Ram 3 GB ราคา 5,990 บาทจะดีกว่าครับ
แบตเตอรี่ของ Flash Plus 2 ให้มาที่ความจุ 3,000 mAh ถือว่าเป็นแบตเตอรี่ความจุมาตรฐานสำหรับมือถือแอนดรอยจอใหญ่อยู่แล้ว ระยะเวลาในการใช้งาน ทดสอบด้วยการเปิด Cellular + Wifi เอาไว้ตลอด (ใส่ซิม Truemove-H 4G) ปรับแสงหน้าจอแบบ Auto มีหยิบขึ้นมาถ่ายรูป, เช็คโซเชียล Facebook, Line, Twitter, Instagram และมีเล่นเกมบ้างเล็กน้อย พบว่าแบตเตอรี่สามารถอยู่ได้ข้ามวันแบบสบาย ๆ แต่ถ้าใช้งานแบบหนัก ๆ หยิบมาเล่นบ่อยหน่อยอันนี้ผมว่าก็น่าพอลากไปได้หมดวันพอดี
แต่ถ้าใช้ไม่พอจริง ๆ Flash Plus 2 ก็มาพร้อมกับฟีเจอร์ชาร์จเร็ว ซึ่งมันชาร์จเร็วจริงครับ ผมทดสอบชาร์จไฟตอนแบตเตอรี่เหลือ 30% พบว่าใช้เวลาเพียง 40 นาทีก็เติมไฟได้เต็ม 100% แล้ว โดยการชาร์จไฟช่วง 30 – 70% นี่ทำได้เร็วมาก แต่หลังจากนั้นเหมือนอแดปเตอร์จะปล่อยไฟช้าลงเรื่อย ๆ เพื่อช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้นานขึ้น ส่วนความร้อนระหว่างชาร์จไฟก็เอาเรื่องเหมือนกัน ตัวเครื่องจะร้อนขึ้นมาแบบรู้สึกได้เลยครับ ไม่แนะนำให้เล่นไปชาร์จไปนะ