[Review] ASUS Zenfone C มันก็ตัวเดียวกับ Zenfone 4.5 แหละ แต่แบตอึดขึ้น

Review-ASUS-Zenfone-C-SpecPhone 001

ก่อนหน้านี้ ASUS ได้ส่ง Zenfone 4 ในรหัส A450CG หน้าจอ 4.5 นิ้ว ที่เรามักเรียกกันง่ายๆ ว่าเป็น ASUS Zenfone 4.5 เข้ามาขายในตลาดแล้วพักหนึ่ง ซึ่งก็เป็นร่างผสมที่ค่อนข้างลงตัวของ Zenfone 4 กับ Zenfone 5 แถมราคาที่ออกมาก็จัดว่าอยู่ในระดับที่คุ้มค่า ตัดสินใจซื้อได้ไม่ยากนัก มันจึงได้รับความนิยมไม่แพ้ Zenfone 5 ที่เป็นรุ่นใหญ่กว่าเลย

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ASUS ก็ได้เปิดตัวมือถือรุ่นใหม่ในตระกูล Zenfone ออกมา นั่นก็คือ ASUS Zenfone C และก็เข้ามาขายในไทยได้ร่วมเดือนแล้ว ในคราวนี้เราจะมารีวิวกันแบบคร่าวๆ ครับ ว่าตัว Zenfone C เป็นอย่างไรบ้าง และมันต่างจาก Zenfone 4.5 อย่างไรบ้าง

 

สเปค ASUS Zenfone C

  • ชิปประมวลผล Intel Atom Z2520 (2 คอร์) ความเร็ว 1.2 GHz
  • แรม 1 GB
  • รอม 8 GB มีช่อง MicroSD
  • หน้าจอ IPS ขนาด 4.5 นิ้ว ความละเอียด 854 x 480
  • กล้องหลัง 5 ล้านพิกเซล f/2.0
  • กล้องหน้า VGA f/2.8
  • Android 4.4.2 Kitkat ครอบมาด้วย ZenUI
  • ใช้งาน 3G ได้ทุกเครือข่าย
  • แบตเตอรี่ 2100 mAh
  • น้ำหนัก 150 กรัม
  • ราคา 3,490 บาท
  • สเปค ASUS Zenfone C เต็มๆ

จากสเปค จะเห็นว่ารวมๆ แล้วมันก็เหมือนกับ Zenfone 4.5 แทบทุกประการเลย ไล่ตั้งแต่ชิปประมวลผล แรม หน้าจอ แต่ส่วนที่แตกต่างกันจริงๆ ก็คือแต่ละข้อที่เป็นตัวอักษรหนาครับ ถ้าให้ยกมาเทียบแบบเห็นได้ชัดก็จะเป็นตามตารางนี้เลย

Screen Shot 2015-03-29 at 1.04.06 PM

แค่ตารางนี้ก็น่าจะเห็นความแตกต่างในแง่สเปคระหว่าง Zenfone C กับ Zenfone 4.5 กันแล้วนะครับ เรียกว่าจุดเด่นของ Zenfone C ก็คือแบตที่ให้มามากกว่า ราคาก็ถูกกว่าหน่อยด้วย ส่วนจุดเด่นของ Zenfone 4.5 ก็จะเป็นเรื่องกล้องหลังที่มีความละเอียดสูงกว่า แถมตัวเครื่องก็เบากว่านิดนึงด้วย

 

Review-ASUS-Zenfone-C-SpecPhone 003

ดีไซน์

หน้าตาตัวเครื่อง ASUS Zenfone C ก็มาในบล็อคเดียวกับรุ่นอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ จะเรียกว่าพิมพ์เดียวกับ Zenfone 4.5 เลยก็ไม่ผิดนัก ซึ่งก็เป็นดีไซน์ที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัวทั้งความเรียบ ความหรูหราพรีเมียม กับราคาต้นทุนที่ไม่สูงมาก ไล่จากด้านหน้าที่เลือกใช้เป็นกระจก Gorilla Glass แทบทั้งแผ่น ตัดด้วยส่วนล่างของเครื่องที่ทำเป็นริ้วสะท้อนแสงออกมาเหมือนกับในโน้ตบุ๊คตระกูล Zenbook ของ ASUS เอง ส่วนปุ่มกดแบบสัมผัสที่อยู่ด้านหน้าเครื่องก็ยังคงให้มา 3 ปุ่มตามปกติ ได้แก่ปุ่มย้อนกลับ, ปุ่มโฮม และก็ปุ่ม Recent apps ทั้งนี้ ที่ปุ่มไม่มีไฟ LED ให้แสงสว่างขึ้นมานะครับ หน้าจอสะท้อนแสงสว่างพอสมควร ยังดีที่มีระบบปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติมาให้ด้วย ส่วนมุมมองของภาพก็จัดว่ากว้าง แต่ไม่กว้างเหมือนกับมือถือรุ่นอื่นที่ใช้พาเนล IPS เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะพาเนล IPS ที่ใช้ใน Zenfone C เป็นเกรดที่ไม่สูงมาก เพื่อเป็นการลดต้นทุนซะมากกว่า

Review-ASUS-Zenfone-C-SpecPhone 008

พลิกมาด้านหลังก็จะพบฝาหลังที่ทำจากพลาสติก แต่ใช้การเคลือบผิวให้มีลักษณะคล้ายๆ เซรามิค โค้งรับมือเวลาสัมผัส ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่า ASUS ทำได้ดีมาตั้งแต่ Zenfone ล็อตแรกที่เข้ามาแล้ว ทั้งวัสดุ เนื้องาน รวมถึงการตัดขอบมุมต่างๆ ที่ตัวงานทำออกมาได้ดี แม้ราคาเครื่องจะไม่สูงมากก็ตาม

และแน่นอนว่าฝาหลังมันสามารถแกะได้เหมือนเดิมครับ เมื่อแกะออกก็จะพบกับช่องใส่แบตเตอรี่ขนาดไม่ใหญ่มากอยู่ตรงกลาง โดยแบตเตอรี่นี้สามารถแกะออกได้ตามปกติ ไม่เหมือนใน Zenfone 5 ที่แบตจะฝังไปในเครื่องเลย สำหรับช่องใส่การ์ดต่างๆ ก็จะแบ่งเป็นสองจุด ทางฝั่งซ้ายเป็นช่องใส่ไมโครซิม 1 โดยมีช่องใส่ MicroSD ซ้อนอยู่ด้านบน ส่วนฝั่งขวาจะเป็นช่องใส่ไมโครซิม 2 ซึ่งสามารถสแตนด์บายได้พร้อมกันทั้งสองซิม รับรองว่าไม่พลาดทุกการติดต่อจากทั้งสองซิมแน่นอน

zenfone-c

ปิดท้ายเรื่องของดีไซน์ตัวเครื่องด้วยพอร์ตและปุ่มกดต่างๆ รอบตัวเครื่อง Zenfone C เริ่มด้วยด้านบนจะมีเพียงช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ด้านขวาก็มีปุ่ม Power กับแผงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง อยู่ในบริเวณที่สามารถวางนิ้วกดได้ง่าย ส่วนด้านล่างก็จะมีช่องรับเสียงของไมค์สนทนาและช่อง Micro USB สำหรับชาร์จไฟและเชื่อมต่อซิงค์ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์ตามในภาพด้านบนครับ

ส่วนภาพตัวเครื่องมุมอื่นๆ ของ ASUS Zenfone C ก็ชมได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ได้เลย

zenfone-c-1

ซอฟต์แวร์

อย่างที่กล่าวไปแล้วในส่วนของสเปคว่า ASUS Zenfone C มาพร้อมกับ Android 4.4.2 ที่ครอบมาด้วยอินเตอร์เฟส ZenUI ทำให้หน้าตาของซอฟต์แวร์ที่ขึ้นมาให้เราใช้งาน ยังคงเป็นแบบเดียวกับ Zenfone รุ่นอื่นๆ รวมถึงเหมือนกับใน Fonepad / MeMOPad รุ่นหลังๆ มาด้วย เรียกว่าถ้าใครที่เคยใช้งานเครื่องในซีรี่ส์ต่างๆ ของ ASUS อยู่แล้ว ก็น่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หรือใครที่ยังไม่เคยใช้งาน ZenUI มาก่อนก็ไม่ต้องห่วงเลย เพราะหน้าตา การจัดวางเมนูต่างๆ ไม่ได้หนีไปจาก Android พื้นฐานมากนัก เน้นไปที่การปรับสีสัน ปรับหน้าตาไอคอนให้ดูเรียบง่าย สังเกตได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมซะมากกว่า ส่วนเรื่องความไหลลื่น ก็จัดว่าอยู่ในระดับกำลังดีครับ การหมุน การเปลี่ยนหน้าต่างๆ ก็ทำได้ดี จะมีปัญหาก็เช่นตอนเปิดแอพครั้งแรก การสลับกลับมาหน้าโฮม หลังใช้งานแอพใดแอพหนึ่งนานๆ เพราะดูเหมือนจะมีอาการโหลดค้างนิดหน่อย ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกับที่พบใน Zenfone 4 สันนิษฐานว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากทั้งชิปประมวลผลที่เบาไปนิด และลันเชอร์ที่กินแรมจนเหลือให้ใช้ไม่ค่อยจะคล่องตัวซักเท่าไหร่ครับ

ซึ่งเมื่อลองเปิดดูว่าแรมเหลือให้ใช้งานจริงเท่าไหร่ ก็พบว่า ASUS Zenfone C เหลือแรมให้ใช้หลังเปิดเครื่องใหม่ที่ราวๆ 440 MB จาก 1 GB เท่านั้น ถือว่าไม่ค่อยเยอะมาก ดังนั้นแนะนำว่าระหว่างใช้งาน ก็อาจจะต้องเคลียร์ปิดแอพที่ไม่ได้ใช้งานลงไปบ้างก็จะเป็นการดีครับ ส่วนของพื้นที่เก็บข้อมูลภายในรอมของเครื่อง เมื่อเปิดมาใช้งานครั้งแรก จะเหลือที่ให้ใช้ประมาณเกือบๆ 3 GB ด้วยกัน ก็พอสำหรับใช้ติดตั้งแอพทั่วไปได้อยู่ แต่ถ้าจะลงเพลง ลงเกม แนะนำว่าหา MicroSD มาใส่เพิ่ม แล้วลงในนั้นจะดีกว่านะ

ด้านของฟีเจอร์การทำงาน ก็เช่นเดียวกับ Zenfone รุ่นอื่นๆ ครับ เรียกว่ารอมแทบจะตัวเดียวกันเลยก็ว่าได้ สำหรับฟีเจอร์ที่จะยกมาในครั้งนี้ก็คือ Easy Mode ที่จะปรับอินเตอร์เฟส ไอคอนและตัวหนังสือให้เหมาะกับการใช้งานแบบเรียบง่ายที่สุด คือหน้าจอมีแค่นาฬิกาและไอคอนแอพที่จำเป็นเท่านั้น เหมาะกับให้เด็กหรือผู้สูงอายุใช้งานดีครับ โดยไอคอนที่ขึ้นมาในชุดแรกก็จะเป็นพวกแอพหลักๆ ของระบบ เช่นกล้องถ่ายรูป เครื่องคิดเลข โทรศัพท์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มไอคอนแอพเข้ามาในหน้าอื่นได้ด้วยครับ เอาเป็นว่าใครที่อยากซื้อ Zenfone C ให้ญาติผู้ใหญ่หรือให้ลูกหลานใช้ ก็เปิดใช้งานโหมดนี้ซะ รับรองว่าใช้ง่ายแน่นอน

การเปิดใช้งานโหมด Easy Mode ก็แค่เข้าไปที่ Settings แล้วดูที่เมนู Easy mode ภายใต้หัวข้อ Device เท่านั้นเอง

 

 

กล้องถ่ายรูป

กล้องหลังของ ASUS Zenfone C แม้จะโดนลดความละเอียดลงมาเหลือแค่ 5 ล้านพิกเซล จากที่เคยให้มาใน Zenfone 4.5 ถึง 8 ล้านพิกเซล แต่ยังดีที่ไม่ได้ตัดเทคโนโลยี PixelMaster ที่ช่วยให้ภาพออกมาสวยงามขึ้น โดยเฉพาะในที่มีแสงน้อย ที่ทำให้สามารถถ่ายภาพได้ แม้จะมืดขนาดไหนก็ตาม สำหรับการใช้งานจริง กล้องของ Zenfone C ก็สามารถตอบสนองการใช้งานทั่วไปได้ดีระดับหนึ่ง ในบริเวณที่มีแสงเพียงพอ สว่างๆ หน่อยก็ไม่มีปัญหาครับ แถมมีโหมดให้ได้ลองใช้เยอะแยะเลยด้วย แต่ถ้าถ่ายในที่มืดหน่อย ก็จะใช้เวลาในการจับโฟกัสและการประมวลผลเก็บภาพที่นานขึ้นนิดนึง

จากเท่าที่ลองถ่ายภาพในที่มืดพบว่าถ้าถ่ายด้วยโหมด auto เลย ก็จะได้ภาพที่ค่อนข้างมืดตามปกติ แต่ถ้าลองเปิดโหมดถ่ายกลางคืนโดยเฉพาะดู ก็ช่วยให้สามารถเก็บภาพที่สว่างขึ้นได้จริงๆ ครับ แต่ภาพจะเละหน่อย เพราะซอฟต์แวร์ต้องมาประมวลผลต่างๆ เสริมจากภาพเดิมพอสมควร เอาเป็นว่าลองชมจากในตัวอย่างภาพถ่ายเลยแล้วกัน

 

 

zenfone-c-2

ประสิทธิภาพและแบตเตอรี่

ก็เป็นไปตามที่คาดครับ กับผลการทดสอบประสิทธิภาพของ ASUS Zenfone C ที่ได้ผลคะแนนออกมาไม่ค่อยสูงมากนัก เพราะสเปคในหลายๆ จุดต้องเรียกว่าค่อนข้างเก่าไปหน่อยสำหรับในปีปัจจุบัน โดยเฉพาะชิปประมวลผล Intel Atom Z2520 ที่นับเป็นชิป Atom ตัวเบาสุดของ Intel ในกลุ่มชิปมือถือขณะนี้ไปแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพของมันอยู่ในระดับที่สามารถใช้งานทั่วๆ ไปได้เท่านั้น จะเล่นเกมก็พอไหว แต่ถ้าไปเจอเกมหนักๆ ก็มีเหนื่อยอยู่เหมือนกัน เผลอๆ อาจกระตุกได้นะ ถ้าอยากได้เครื่องที่เล่นเกมได้ด้วย แนะนำว่าขึ้นไปเป็นอย่างต่ำซัก Zenfone 5 จะดีกว่า

ส่วนเรื่องระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ ถือว่าทำได้ดีขึ้นกว่า Zenfone 4.5 พอสมควรเลย ปัจจัยหลักก็มาจากการเพิ่มความจุแบตเตอรี่ขึ้นมาให้เยอะกว่ารุ่นเดิม อันนี้จากเท่าที่ทดลองใช้งาน Zenfone C ระหว่างรีวิว ผมก็สามารถใช้งานทั่วไปได้ครบวันอยู่ครับ เล่น Facebook, LINE, Instagram, Twitter มีถ่ายรูปบ้างประปราย ส่วนเกมไม่ค่อยได้เล่นเท่าไหร่ ก็นับว่าน่าพอใจครับ สำหรับมือถือที่ซื้อมาสำหรับเน้นการใช้งานในแบบที่พกพาได้สะดวกจริงๆ

 

Review-ASUS-Zenfone-C-SpecPhone 009

สรุปปิดท้ายรีวิว

โดยภาพรวมแล้ว ASUS Zenfone C ตัวนี้ น่าจะถือว่าเป็นรุ่นที่ออกมาแทน Zenfone 4 ซะมากกว่า Zenfone C ครับ ด้วยสเปคโดยรวมบางจุดที่ถูกตัดลงมาจาก Zenfone 4.5 พอสมควร โดยเฉพาะด้านของกล้องหลัง ซึ่งก็ถือว่าทำออกมาได้ดีตามสไตล์ ASUS อยู่ คืองานดี เนื้อดี วัสดุโอเค การใช้งานโดยทั่วไปก็ค่อนข้างลงตัว จะมีช้าบ้างก็ตอนเปิดแอพ ซึ่งตรงนี้ถ้าใครที่ไม่ซีเรียส และไม่ได้ชินไปกับการใช้มือถือรุ่นท็อปๆ ไปแล้วคงไม่ใช่ปัญหามากนัก สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานที่น่าจะเหมาะกับ Zenfone C ก็น่าจะเป็นคนที่อยากหามือถือเครื่องสำรองมาใช้งาน หรือคนที่อยากใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องแรก เพราะราคาที่ไม่สูงมากนัก แต่ยังได้คุณภาพของตัวเครื่องที่อยู่ในระดับน่าพอใจอยู่ กับ ASUS Zenfone C ในราคา 3,490 บาท

ข้อดี

  • วัสดุดี งานประกอบโอเคมากสำหรับในราคานี้
  • ตัวเครื่องขนาดกำลังดี พกพาง่าย
  • แบตเตอรี่ความจุสูงกว่า Zenfone 4.5 ใช้งานจริงได้เต็มวัน
  • เทคโนโลยี PixelMater ช่วยให้ภาพถ่ายออกมามีคุณภาพยิ่งขึ้น ถ่ายในที่มีแสงน้อยได้ดี

ข้อสังเกต

  • กล้องหลังถูกลดความละเอียดเหลือแค่ 5 ล้านพิกเซล
  • ตอนใช้งานจริง มีจังหวะรอโหลดอยู่บ้าง ไม่ลื่นเท่ากันตลอด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก