ASUS ROG Phone 3 มือถือเกมมิ่งขั้นสุดจากทาง Asus ที่ตอนนี้ออกมาเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งได้มีการอัพเกรดสเปคให้เทพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชิป Snapdragon 865+ จอ 144Hz กล้อง 64MP และที่สำคัญ รองรับการชาร์จไฟแบบ PD 3.0 อีกด้วย ซึ่งตอนนี้ Asus ROG Phone 3 ก็ได้มาอยู่ในมือทีมงาน Specphone เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหลังจากที่ได้ลองเอาไปเล่นมาระยะสั้น ๆ เราจะมาบอกเล่าประสบการณ์จากการใช้งานกัน
จุดเด่น
- มีหน้าจอ 144Hz พร้อม Touch-Sampling Rate 270Hz ตอบสนองต่อการสัมผัสได้ไว
- ใช้ชิป Snapdragon 865+
- รองรับ 5G
- ปุ่ม AirTrigger ที่ช่วยให้เล่นเกมง่ายขึ้น
- แบตเตอรี่ 6,000 mAh
จุดสังเกต
- เครื่องค่อนข้างหนัก (240 กรัม)
- ไม่มีเลนส์ Telephoto
- ต้องใช้เวลาปรับตัวถึงจะชินกับปุ่ม AirTrigger
- ถ่ายภาพกลางคืนหรือในที่แสงน้อยลำบาก
สเปค ASUS ROG Phone 3
- หน้าจอ : AMOLED ขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียด 1080 x 2340 พิกเซล รองรับ HDR10+ มี Refresh Rate 144Hz Touch-Sampling Rate 270Hz มีความสว่างสูงสุด 650 nits
- ชิปประมวลผล : Qualcomm Snapdragon 865+
- แรม : 12GB
- หน่วยความจำ : 512GB
- กล้องหลัง : รองรับการบันทึกวีดีโอ 8K 30fps
- กล้อง Wide 64MP f/1.8
- กล้อง Ultrawide 13MP f/2.4 มุมกว้าง 125 องศา
- กล้อง Macro 5MP f/2.0
- กล้องหน้า : 24MP f/2.0 รองรับการบันทึกวีดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 1080p 30fps
- การเชื่อมต่อ : Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/ac/6, Bluetooth 5.1, NFC, USB Type-C 2 ช่อง (ด้านข้าง 3.1, ด้านล่าง 2.0)
- เซ็นเซอร์ : สแกนลายนิ้วมือ, accelerometer, gyro, proximity, compass
- แบตเตอรี่ : 6,000 mAh รองรับชาร์จเร็ว 30W (Power Delivery 3.0, Quick Charge 4.0, 3.0), รองรับ Reverse charging 10W
- ขนาด : 171 x 78 x 9.9 มม.
- น้ำหนัก : 240 กรัม
- อุปกรณ์ในกล่อง : ASUS ROG Phone 3, AeroActive Cooler 3, Aero Case, Adaptor 30W, สายชาร์จ USB Type-C, สาย USB Type-C to 3.5 mm., จุกปิดช่อง USB Type-C ด้านข้าง, เข็มจิ้มซิม, หนังสือคู่มือ และสติกเกอร์ ROG
ดีไซน์
ASUS ROG Phone 3 มาพร้อมดีไซน์แบบ ROG บนโน๊ตบุ๊ต ในสภาพเรียบ ๆ ตกแต่งด้วยโลโก้ ROG แต่ให้ความเรียบหรูในแบบของเกมมิ่ง ด้วยกระจก Gorilla Glass ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งตัวโลโก้นี้เป็นหนึ่งในจุดเด่นของเครื่องเลยก็ว่าได้ เพราะตัวโลโก้นั้นเป็นไฟ RGB ที่จะสว่างขึ้นมาเมื่อมีการใช้งานเครื่อง (ตั้งค่าปิดได้)
สำหรับหน้าจอของ ROG Phone 3 นี้มีขนาดถึง 6.59 นิ้ว เป็นจอ AMOLED ที่มีขอบจอด้านข้างที่บางเอามาก ๆ ทว่าก็ยังมีพื้นที่ด้านบนและล่างอยู่พอสมควรกระจกหน้าจอมีความทนทานด้วยกระจก Gorilla Glass 6 นอกจากนี้ที่บริเวณขอบบนและล่างของหน้าจอยังเป็นลำโพงคู่แบบ Stereo อีกด้วย
ที่ด้านข้างของตัวเครื่องนั้นทางฝั่งซ้ายของตัวเครื่อวจะมีพอร์ต USB Type-C ที่เอาไว้ชาร์จไฟและต่ออุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ได้นอกจากนี้ยังมีช่องใส่ซิมอีกด้วย ซึ่งช่องนี้จะใส่ซิมได้ทั้งหมด 2 ซิม แต่ไม่สามารถใส่ MicroSD ได้ (ให้มาตั้ง 512GB แล้วอะนะ) ส่วนด้านขวาจะมีปุ่มปรับระดับเสียง, ปุ่ม Power และปุ่ม AirTrigger
ที่ด้านบนของตัวเครื่องนั้นจะมีเพียงรูไมโครโฟนเท่านั้น ส่วนด้านล่างจะมีพอร์ต USB Type-C อยู่ที่ริมฝั่งซ้าย และมีรูไมโครโฟนอยู่ที่ริมฝั่งขวา อนึ่งในรุ่นนี้ได้ทำการตัดช่องหูฟัง 3.5 มม. ทิ้งไปเป็นที่เรียบร้อย แล้วให้สาย Type-C to 3.5 mm. มาแทน
ที่ด้านหลังของตัวเครื่องจะเห็นกล้องหลังทั้งหมด 3 ตัว และแฟลช LED อยู่ที่ส่วนบนของตัวเครื่อง ส่วนตรงกลางจะมีโลโก้ ROG ที่สามารถแสดงไฟแบบ RGB ได้(สามารถตั้งค่าเปิด-ปิดได้) สำหรับวัสดุนั้นส่วนด้านหลังเองก็เป็นกระจก Gorilla Glass เช่นกัน แต่เป็น Gorilla Glass 3 ที่กันได้แค่รอยขีดข่วนเท่านั้น ไม่ได้กันกระแทกแบบเดียวกับกระจกหน้า
ประสิทธิภาพและการเล่นเกม
ASUS ROG Phone 3 มาพร้อมชิปประมวลผล Snapdragon 865+ พร้อมด้วยแรมขนาด 12GB และหน่วยความจำขนาด 512GB ทำให้หายห่วยเรื่องหน่วยความจำเต็มไปได้เลย นอกจากนี้ตัวชิปประมวลผลเองก็แรงถึงขนาดที่สามารถรันแอปพร้อม ๆ กันได้ อีกทั้งด้วยแรมขนาด 12GB ยังทำให้สามารถเปิดแอปซ้อนกันได้หลายแอปอีกด้วย ซึ่งเราก็ได้ลองทดสอบความแรงด้วยแอป Geekbench 5, 3DMark และ Androbench ดูแล้ว ซึ่งผลก็ได้ตามคะแนนด้านล่างนี้เลยครับ
ในส่วนของการเล่นเกมนั้นเราได้ทำลองกับหลายเกมอยู่ แต่หลัก ๆ แล้วจะเทสกับเกม PUBG, R4, Alphalt 9, RoV และ Subway Surf (ทำไมถึงมี Subway Surf นั่นก็เพราะเอามาทดสอบเรื่องอัตราการตอบสนองต่อการสัมผัส) ซึ่งทุกเกมได้ทำการตั้งค่าเอาไว้ที่สูงสุดทั้งหมดแล้ว และลองเล่นเป็นระยะเวลานานพอดู
ซึ่งผลก็คือตัวเกมไม่มีอาการกระตุกหรือเฟรมเรทตกแต่อย่างใด ถึงแม้หลาย ๆ เกมจะไม่สามารถดันเฟรมเรทให้ขึ้นไปถึง 144Hz ได้ก็ตาม แต่ทว่าเรื่องความร้อนนี้ที่กลับเป็นปัญหาอยู่เล็กน้อย เพราะตัวความร้อนนั้นค่อนข้างขึ้นเร็วพอสมควร ถึงแม้จะลงเร็วเช่นกัน แต่ก็ทำให้ไม่ค่อยสบายมือเท่าไรหากต้องเล่นเกมที่ 1 แมตช์ที่ต้องใช้เวลานาน ๆ
กล้องถ่ายภาพ
ในส่วนของกล้องถ่ายภาพนั้น ROG Phone 3 มาพร้อมกล้องหลังถึง 3 ตัวที่ประกอบไปด้วยกล้องหลังความละเอียด 64MP, กล้อง Ultrawide ความละเอียด 13MP และกล้อง Macro ความละเอียด 5MP ซึ่งจากที่ได้ลองแล้วต้องยอมรับว่า ROG Phone 3 เป็นมือถือเกมมิ่งที่มีกล้องถ่ายรูปดีไม่ใช่เล่น ๆ แม้จะถ่ายอยู่กลางแดดจ้าก็ตาม ทว่าในการถ่ายภาพแสงน้อยนั้นมองว่ายังทำได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะภาพที่ได้เหมือนพยายามเร่งแสงให้สว่างจนทำให้ภาพออกมาซีด นอกจากนี้ทุกการถ่ายภาพด้วยโหมดกลางคืนจะมีการนับเวลาเสมอ ไม่ได้กดปุ๊บ ถ่ายปั๊บแบบแบรนด์มือถืออื่น ๆ
ในส่วนของกล้องหน้านั้นต้องยอมรับเรื่องการละลายฉากหลังอย่างแรง เพราะถึงแม้จะเป็นโปรแกรมช่วยอีกที แต่ก็สามารถละลายได้หนักจนเกือบจะดูไม่ออกเลยว่าที่ละลายไปนั้นเป็นอย่างไร นอกจากนี้ถึงแม้จะลองเอาไปถ่ายกลางแดดจัด ภาพที่ได้ก็คมชัด สีไม่เพี้ยนเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งตัวกล้องยังสามารถตรวจจับใบหน้าได้ค่อนข้างแม่นยำเลยทีเดียว ขนาดมีใบหน้าเข้ามาในเฟรมภาพไม่มากยังสามารถตรวจจับได้เฉยเลย
ในเรื่องการอัดวีดีโอ ROG Phone 3 ทำได้สูงสุดถึง 8K 30fps แต่ทว่าจากที่ได้ลองมานั้นผมว่าใช้แค่ 4K 60fps จะดีที่สุด เพราะภาพที่ออกมานั้นเรียกได้ว่าซ้อนยับ ซึ่งตัวกล้องนั้นมีฟีเจอร์ Hyper Stedy อยู่ด้วย แต่ทว่าผมไม่ค่อยแนะนำให้เปิดเท่าไร ถึงแม้มันจะทำให้วีดีโอนิ่งสุด ๆ แต่ทว่าความละเอียดที่ทำได้จะเหลือเพียง 1080p 30fps เท่านั้น แถมยังดูแย่กว่าการถ่าบแบบไม่เปิดเสียอีก
ตัวอยากภาพจากกล้องหลัง
ตัวอย่างภาพจากกล้องหน้า
ฟีเจอร์เด่น
หน้าจอ 144Hz พร้อม Touch-Sampling Rate 270Hz
ASUS ROG Phone 3 ได้มาพร้อมกับหน้าจอที่มี Refresh Rate 144Hz และ Touch-Sampling Rate 270Hz รวมถึงมี Touch Latency ที่ต่ำมากกว่าเดิมถึง 25 ms ซึ่งการอัพเกรดนี้จะช่วยให้การเล่นเกมมีความลื่นไหลมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องมาอารมณ์เสียกับการที่ตัวเครื่องตอบสนองไม่ทันนิ้ว
ปุ่ม AirTrigger 3
ปุ่ม AirTrigger ใน ASUS ROG Phone 3 นั้นได้มีการพัฒนามาจนเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว มาพร้อมฟีเจอร์เพิ่มเติมที่ไม่ใช่แค่เอาไว้กดอย่างเดียวแล้ว ซึ่งฟีเจอร์ต่าง ๆ จะมีดังนี้
การกดแบบปกติ
กดบริเวณริมขอบเพื่อใช้เป็น L1/L2 และ R1/R2
สไลด์เพื่อเลื่อนดูเกม
ปัดนิ้วเพื่อเลียนแบบการสัมผัสบนหน้าจอ
กดเซ็นเซอร์แบบเต็มนิ้วเพื่อคลิกหลายครั้ง
พอร์ตชาร์ตที่ 2
พอร์ตชาร์จด้านข้างจะมีทั้งหมด 2 หน้าที่ ซึ่งหน้าที่หลักคือเอาไว้ใขช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้านล่าง และอีกหน้าที่คือเอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่ สำหรับผู้ที่อยากจะชาร์จไปเล่นไปนั่นเอง ซึ่งช่องนี้ภายในกล่องจะมีจุกยางให้มาด้วย หากไม่ได้ใช้สามารถนำจุกยางมาปิดเอาไว้ได้
X Mode
X Mode คือฟีเจอร์ที่จะช่วยปรับแต่งเครื่องให้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ ทั้งการจัดการประสิทธิภาพตัวเครื่อง การควบคุมอัตรารีเฟรช ความไวและความแม่นยำในการสัมผส รวมไปถึงช่วยจัดการความเสถียรของเครือข่ายอีกด้วย (แนะนำให้เปิดเอาไว้ตลอดเลยก็ได้)
Game Genie
Game Genie เป็นฟีเจอร์ที่เป็นตัวช่วยให้การเล่นเกมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นทั้งตัวช่วยเล่นและตัวเช็คสภาพเครื่องได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งฟีเจอร์เร่งประสิทธิภาพ, เปิด-ปิด AirTrigger, คำสั่ง Macro รวมถึงการบันทึกหน้าจอก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
อุปกรณ์เสริม
Aero Case
เป็นเคสโปร่ง ๆ ที่แถมมาให้ในกล่อง เป็นเคยที่ช่วยระบายความร้อนได้ในระดับหนึ่ง วัสดุเป็นพลาสติกบาง ๆ ประดับด้วยลาย ROG ช่วยให้ดูเท่ไม่ใช่น้อย นอกจากนี้ยังมีการเว้นพื้นที่บริเวณโลโก้ ROG ของตัวเครื่องเพื่อแสดงให้เห็นไฟ RGB แบบชัด ๆ ด้วย
ROG Lighting Armor Case
เป็นเคสที่จำเป็นต้องซื้อเพิ่มแยกต่างหาก ซึ่งตัวเคสนี้จะใช้ประโยชน์จากไฟ RGB หลังเครื่องมาแสดงโลโก้ ROG ขนาดใหญ่เต็มเคส ซึ่งเคสตัวนี้จะค่อนข้างหน้ากว่าเคสที่แถมมาในกล่อง นอกจากนี้ยังมีการสลักคำว่า ROG เอาไว้เล็ก ๆ ด้วย
AeroActive Cooler 3
AeroActive Cooler เป็นพัดลมเสริมที่จะมาช่วยระบายความร้อนตัวเครื่องให้เร็วขึ้น ซึ่งใน ROG Phone 3 นี้มีการแถมมาให้ในกล่องด้วยเลย ซึ่งจากที่ลองในช่วง 10 นาที สามารถลดอุณหภูมิไปได้ 7 องศา หลังเลิกใช้ ซึ่งนับว่าลดเร็วมากกว่าการปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นพอสมควร ทำให้สามารถนำกลับมาเล่นต่อได้ไวขึ้นด้วย
นอกจากนี้ที่ AeroActive Cooler ยังมาพร้อมขาตั้ง และช่องชาร์จ Type-C กับช่อง 3.5 มม. อีกด้วย ช่วยให้สามารถชาร์จไปด้วย เสียบหูฟังไปด้วยได้
TwinView Dock 3
TwinView Dock คือหน้าจอแยกที่จะช่วยให้สามารถใช้งาน 2 หน้าจอพร้อมกันได้ ซึ่งช่วยให้สามารถเล่นเกมไปด้วย เล่นแอปอื่นไปด้วยได้ นอกจากนี้ที่ตัว Dock ยังมีช่องชาร์จและช่องหูฟัง 3.5 มม. อยู่ด้วย เรียกได้ว่าสะดวกต่อการใช้งานสุด ๆ นอกจากนี้หากพับหน้าจอลงมาก็จะกลายเป็นเหมือนกระเป๋าที่ช่วยป้องกันตัวเครื่องได้อีกด้วย ทว่าข้อสังเกตุหนึ่งอย่างคือเมื่อต่อ Dock แล้วน้ำหนักจะเพิ่มมากขึ้นพอสมควร ซึ่งอาจจะทำให้ถือนาน ๆ ไม่ได้นั่นเอง
ROG Clip
ROG Clip คืออุปกรณ์ที่ช่วยให้สามารถใช้จอยมาเชื่อมต่อกับตัวเครื่อง ROG Phone 3 เพื่อใช้เล่นเกมได้ ซึ่งตัวต่อนั้นจะมีทั้งหมด 3 แบบคือสำหรับจอย PS4, จอย XBOX และจอบ Stadia ซึ่งในที่นี้เราได้ลองเอามาต่อกับจอย PS4 แล้ว ในบางเกมก็ช่วยให้เล่นได้ง่ายขึ้น แต่บากเกมก็เล่นยากขึ้นเช่นกัน ทว่าปัญหาจริง ๆ ของ ROG Clip คือบาลานส์น้ำหนักที่จะทำให้เกิดอาการปวดมือเวลาถือนาน ๆ เพราะน้ำหนักนั้นเทไปทางด้านหน้า เพราะตัวเครื่องหนักกว่าจอย เลยทำให้มือต้องรับภาระอยู่พอสมควร (ตอนลองไม่ได้จัดแบบในรูปนะ ตอนลองจะปรับให้ตัวเครื่องชิดจอยกว่านี้)
สรุปรีวิว ASUS ROG Phone 3
จากที่ได้ลองมาต้องบอกเลยว่า ASUS ROG Phone 3 นั้นเป็นมือถือเกมมิ่งที่ดีจริง เล่นเกมได้ลื่นแม้จะปรับสุด อีกทั้งยังระบายความร้อนได้ค่อนข้างเร็วอีกด้วย นอกจากนี้ยังเท่อีกต่างหาก สำหรับใครที่เป็นสายเล่นเกมอย่างแท้จริงรวมถึงเหล่าสตรีมเมอร์แล้ว ASUS ROG Phone 3 นับเป็นตัวเลือกที่ดีเลย เพราะสามารถอัดหน้าจอได้โดยไม่มีอาการสะดุด ทว่าหากอยากใช้งานตัวเครื่องได้เต็มที่จริง ๆ อาจจะต้องซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่ม ซึ่งราคาก็น่าจะไม่ใช่น้อย ๆ ซึ่งถ้าจะให้แนะนำแล้ว TwinView Dock 3 คืออุปกรณ์เสริมที่น่าซื้อที่สุดแล้ว