ถ้าพูดถึงแท็บเล็ตโทรได้ ชื่อของซีรี่ส์ Fonepad จาก ASUS น่าจะเป็นหนึ่งชื่อที่หลายๆ ท่านนึกถึงแน่นอน ด้วยการเป็นผู้เปิดตลาดมาเป็นรายแรกๆ แถมยังทำออกมาได้ค่อนข้างลงตัวทั้งด้านการใช้งานจริง ด้านสเปค รวมถึงราคาที่เปิดมาจนคนที่กำลังจะซื้อสมาร์ทโฟนหลายๆ คนเปลี่ยนใจมาซื้อแท็บเล็ตโทรได้ในซีรี่ส์นี้แทนเลยทีเดียว ด้วยเหตุผลที่ว่า “ในราคาพอกัน แต่ได้จอใหญ่กว่า จะไปเลือกมือถือที่จอเล็กกว่าแท็บเล็ตทำไมล่ะ” จึงทำให้ ASUS Fonepad มีรุ่นต่อออกมาอยู่เรื่อยๆ ด้วยคีย์หลักคือเรื่องความคุ้มค่านี่ล่ะครับ
และล่าสุดก็มีรุ่นใหม่ออกมาอีกแล้ว กับ ASUS Fonepad 7 ในรหัสโมเดล FE171CG ที่เป็นรุ่นต่อยอดจาก FE170CG ของปีที่ผ่านมา แม้ว่าถ้าดูจากเลขโมเดลแล้ว จะเห็นว่ามันขยับแค่นิดเดียว แต่ถ้าได้เห็น และได้สัมผัสตัวจริง จะทราบเลยครับว่ามันแตกต่างกันจริงๆ จะต่างอย่างไร ใช้งานแล้วโอเคมั้ย มาชมกันในรีวิวเลย
สเปค ASUS Fonepad 7 (FE171CG)
- ชิปประมวลผล Intel Atom Z2520 (2 คอร์) ความเร็ว 1.2 GHz
- แรม 1 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 7 นิ้ว ความละเอียด 1024 x 600
- รอม 8 GB รองรับ MicroSD สูงสุด 64 GB
- กล้องหลัง 5 ล้านพิกเซล f/2.41 PixelMaster ออโต้โฟกัส ไม่มีแฟลช
- กล้องหน้า 2 ล้านพิกเซล
- Android 4.4 KitKat
- ใช้งานได้ 2 ซิม
- รองรับ 3G ทุกเครือข่าย
- แบตเตอรี่ 4000 mAh
- ราคา 4,190 บาท
- สเปค ASUS Fonepad 7 (FE171CG)
ถ้าพูดถึงแง่ของสเปค ก็คงต้องบอกว่ามีความแตกต่างจาก Fonepad 7 ในรหัส FE170CG ที่ออกมาตั้งแต่ปีที่แล้วไม่มากนัก ไล่ตั้งแต่ CPU ที่ยังใช้เป็น Atom รุ่นเบาสุดของปีก่อนนู้นอยู่เลย หน้าจอก็เท่าเดิม (ยังดีที่เปลี่ยนมาใช้พาเนล IPS แล้ว) แรมก็ยัง 1 GB อยู่ จุดที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดเน้นๆ ก็จะเป็นกล้องหน้าและกล้องหลังที่ความละเอียดสูงกว่าเดิม จากในรุ่น FE170CG จะให้กล้องหลังมาแค่ 2 ล้าน กล้องหน้า VGA ก็มาเป็นกล้องหลัง 5 ล้าน กับกล้องหน้า 2 ล้านใน FE171CG ทำให้เรื่องของการถ่ายรูปทำออกมาได้ดีกว่าเดิมนิดหน่อย จะมีก็เรื่องบอดี้ที่ปรับปรุงมาเยอะมาก ซึ่งจะขอไว้เล่าต่อในด้านดีไซน์ครับ
แต่อันที่จริงแล้ว ต้องบอกว่าสเปค FE171CG ยังมีรุ่นที่สูงกว่านี้อีก อย่างเช่นเครื่องที่เราได้รับมารีวิวในครั้งนี้ครับ มันมาพร้อมแรม 2 GB กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ก็น่าเสียดาย ถ้า ASUS ประเทศไทยเอาตัวนี้เข้ามาขาย แล้วทำราคา 4,190 บาทได้นะ รับรองมีตลาดแตกเหมือนตอน Zenfone เข้าไทยครั้งแรกแน่ๆ ผลเลยออกมาเป็น FE171CG ตัวนี้ (แรม 1 GB กล้องหลัง 5 ล้าน) ที่สเปคออกมากลางๆ กั๊กๆ ไปหน่อย
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST PHABLET
Design
ด้านของดีไซน์ เป็นจุดเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดสุดของ ASUS Fonepad 7 (FE171CG) ที่ทำให้เห็นข้อแตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าได้อย่างชัดเจนที่สุดแล้วครับ ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นการแสดงให้เห็นชัดในแนวทางที่ ASUS เน้นในปรัชญาการออกแบบของผลิตภัณฑ์ยุคหลังๆ มานี้ได้เป็นอย่างดี นั่นคือการมอบความหรูหรา ความพรีเมียมให้กับลูกค้า ในราคาไม่สูงจนเกินไป ซึ่งเราก็ได้เห็นกันไปตั้งแต่ยุค Zenfone รวมถึงตัวของ MeMO Pad 7 (ME572CL) ที่ปรับหน้าตาตัวเครื่องให้ดูพรีเมียมมากขึ้น (โดยเฉพาะตัว ME572CL นี่ดูรูปร่างเหมือนกระเป๋าถือของผู้หญิงเลย)
มาดู Fonepad 7 (FE171CG) กันบ้างครับ ถ้าดูเฉพาะหน้าจอ ก็จะเห็นว่ามันก็คล้ายๆ เดิมนั่นแหละ แต่ถ้าใครเคยใช้ Fonepad 7 (FE170CG) มาก่อน ก็จะพอสังเกตความแตกต่างได้อยู่เหมือนกัน ตรงจุดที่ภาพดูสวยกว่าเดิม มุมมองของจอก็กว้างขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนมาใช้พาเนลจอแบบ IPS จากเดิมที่ใช้เป็น TFT พ่วงมาด้วยขอบจอที่บางลงกว่าเดิม พร้อมเทคโนโลยี ASUS TruVivid ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต โดยจะมีการเคลือบสารเป็นชั้นบางๆ ช่วยลดความหนาและน้ำหนัก รวมถึงถึงเพิ่มความโปร่งแสงให้มากกว่าหน้าจอทัชสกรีนทั่วไป ซึ่งจากที่ลองใช้งานจริง ผมว่ามันก็ค่อนข้างโอเคนะ สามารถใช้งานในห้อง ในบ้านได้สบายๆ เลย คราบรอยนิ้วมือก็มีอยู่ในระดับปกติ แต่ถ้าไปใช้งานกลางแดดก็ลำบากอยู่พอสมควรครับ เพราะความสว่างหน้าจอไม่สูงมากนัก และที่ดูจะเป็นปัญหาหน่อยก็คือ FE171CG ไม่มีระบบปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ ทำให้ต้องคอยเลื่อนแถบ Quick Settings ลงมา เพื่อปรับความสว่างหน้าจอเองทุกที ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่อะไรนะ แค่มันไม่ค่อยสะดวกในบางครั้งเท่านั้นเอง
อีกจุดที่ทำให้สังเกตและแยกความแตกต่างระหว่าง Fonepad (โทรได้) กับ MeMO Pad (โทรไม่ได้) อย่างง่ายๆ ก็คือลำโพงสนทนาที่อยู่ด้านบนของจอครับ ใน FE171CG ตัวนี้จะใช้เป็นแถบสีเงินสังเกตเห็นได้ง่ายมากๆ ซึ่งลำโพงนี้ก็ใช้เป็นทั้งลำโพงสนทนา และเป็นลำโพงให้เสียงเวลาดูหนังฟังเพลงไปด้วยเลย เท่ากับว่า Fonepad 7 เครื่องนี้มีลำโพงตัวเดียวนะ ส่วนช่องรับเสียงของไมค์จะไปซ่อนอยู่ด้านล่างของเครื่องแทน โดยจากที่รีวิว Fonepad 7 เครื่องนี้มา การพูดคุยโทรศัพท์ก็สามารถทำได้ในระดับที่ดี ได้ยินเสียงชัดเจน ไมค์ก็รับเสียงได้ดีเช่นกัน จะไม่ค่อยชินหน่อยก็ตรงที่เครื่องมันใหญ่กว่ามือถือทั่วไปนี่ล่ะครับ เวลายกมาแนบหูแต่ละที รู้สึกไม่ค่อยคุ้นมือ (ฮา)
อีกจุดที่ Fonepad 7 (FE171CG) ทำได้น่าประทับใจก็คือรูปทรงโดยรวมของตัวเครื่องครับ เพราะมันได้รับการออกแบบในแนวใหม่ ทำให้ตัวเครื่องบางลง จับได้กระชับถนัดมือกว่าเก่า ขอบข้างเครื่องใช้การตัดเหลี่ยมในลักษณะใกล้เคียงกับ Zenfone สื่อให้เห็นถึงการยึดตามคอนเซ็ปท์การออกแบบของ ASUS เองได้ดี ซึ่งดูแล้วก็ถือว่าเป็นจุดดีครับ ที่ผลิตภัณฑ์จากบริษัทเดียวกันจะเลือกใช้การออกแบบในดีไซน์ใกล้เคียงกัน ดูแล้วเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดี สำหรับฝาหลังของ ASUS Fonepad 7 (FE171CG) จะใช้วัสดุหลักเป็นพลาสติกที่ผ่านการเคลือบชั้นมาหลายเลเยอร์อยู่เหมือนกัน ผิวสัมผัสทำออกมาได้ค่อนข้างดี ไม่ลื่นและไม่หนืดมือจนเกินไป ส่วนขอบที่ตัดนั้น ดูเหมือนจะคม แต่ที่จริงแล้วมันไม่คมอย่างที่คิดครับ จับได้สบายๆ มือ ไม่รู้สึกเจ็บเวลากดทับแต่อย่างใด
และด้วยน้ำหนักเพียงแค่ 280 กรัม ซึ่งเผลอๆ จะเบากว่าสมาร์ทโฟนหลายรุ่นด้วยซ้ำไป จึงทำให้การจับถือ Fonepad 7 เพื่อใช้งานไม่เป็นเรื่องลำบากมากนัก สามารถถือใช้งานด้วยมือเดียวก็ยังไหว จะพกเครื่องใส่กระเป๋ากางเกงด้านหลังก็ได้อีกเช่นกัน (กระเป๋าแบบทรงทั่วไปนะ)
ด้วยการที่ออกแบบให้ฝาหลังไม่สามารถแกะออกได้ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนให้ช่องใส่การ์ดต่างๆ มาอยู่ด้านข้างเครื่องทั้งหมด ไล่จากฝั่งซ้ายของจอที่มีช่องใส่ไมโครซิมทั้งสองซิมซ่อนอยู่ใต้ฝาปิด ด้านล่างก็มีช่องใส่ MicroSD อยู่ (ไม่มีฝาปิด) ฝั่งขวาก็มีแถบของปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และปุ่ม Power วางอยู่ในตำแหน่งที่สามารถใช้นิ้วหัวแม่มือขวากด ในขณะที่ถือเครื่องด้วยมือขวาได้แบบไม่ลำบากมากนัก ส่วนช่องเสียบแจ็คหูฟัง กับช่อง Micro USB จะอยู่ที่ด้านบนของเครื่องทั้งหมด ผลเลยออกมาเป็นว่าฝาหลังดูเรียบเนียนไปหมด มีจุดดึงสายตาอยู่ที่กล้องหลังซึ่งติดตั้งไว้ตรงมุมบนสุดเลย ดีที่ตัวกล้องแทบจะไม่นูนขึ้นมาเหนือฝาหลังเลย ทำให้สามารถใช้งานได้สะดวก ไม่ต้องคอยระวังมากนัก
สำหรับสีของ Fonepad 7 (FE171CG) ที่มีให้เลือกก็มีด้วยกัน 4 สี ได้แก่ สีดำ, ทองแชมเปญ, ขาว และแดง ซึ่งในช่วงแรกนี้จะเน้นไปที่สีดำกับสีขาวก่อน ส่วนสีทองกับสีแดงจะมีตามเข้ามาในภายหลัง ซึ่งโทนสีทองอย่างในรีวิวนี้ ก็จะเป็นทองหม่นๆ นิดหน่อย ถ้าอยากเห็นสีจริงๆ ก่อน ก็ลองแวะไปดูตามช็อป ASUS ก็ได้ครับ แล้วดูสีทองจากพวก MeMO Pad ตัวล่าสุดก็ได้ ใช้โทนสีใกล้เคียงกันเลย
ภาพในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ แสดงตัวเครื่อง ASUS Fonepad 7 (FE171CG) เต็มๆ นะครับ ลองชมกันได้
Software
ด้านของซอฟต์แวร์ อันนี้เราคงคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่แล้ว กับอินเตอร์เฟสแบบ Zen UI ที่เน้นความง่าย ทั้งหน้าตาและการใช้งาน จะเรียกว่าเข้าไปใกล้เคียงกับแนวทาง Material Design ของ Google มากๆ ทำให้ดูเหมือนว่ากำลังใช้งาน Android 5.0 Lollipop อยู่เลยล่ะ (ตัวเครื่องจริงๆ เป็น Android 4.4.2 KitKat) ซึ่งถ้าใครที่เคยใช้งาน Zenfone มาก่อนแล้ว ก็สามารถใช้งานต่อบน Fonepad 7 ได้ทันทีครับ เพราะเมนู ไอคอนต่างๆ เหมือนกันแทบจะ 100% เลย ทำให้ไม่เกิดความสับสนระหว่างการใช้งานแน่นอน การวางตำแหน่ง การออกแบบหน้าจอต่างๆ ก็ทำมาได้สะอาดเรียบดี จัดว่าเป็นอินเตอร์เฟสของ Android อีกตัวที่ใช้งานได้ง่ายมากๆ ในยุคนี้เลยทีเดียว
ส่วนฝั่งของฟีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์นั้น ดูจะไม่ค่อยมีอะไรให้เล่นมากเท่าไหร่ครับ มีแต่พวกฟีเจอร์พื้นฐานของ Android เป็นหลัก ยังดีที่เพิ่มระบบจัดการและช่วยประหยัดพลังงานมาให้ โดยผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งได้ด้วยว่าจะให้ประหยัดได้ระดับไหน ซึ่งมันก็คือการปรับให้เลือกเปิด เลือกปิดส่วนที่กินไฟในระหว่างการใช้งานนี่ล่ะครับ เช่น อาจจะปรับให้ปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เมื่อแบตเตอรี่เหลือไม่เยอะมาก เป็นต้น แต่อันที่จริงถ้าเป็นคนมักจะชาร์จแบตแบบวันต่อวันอยู่แล้ว ก็ไม่น่ามีปัญหาในจุดนี้นะ ไม่ต้องเปิดโหมดประหยัดพลังงานก็อยู่ได้สบาย
ทีนี้ เมื่อเปิดเครื่องมาใช้งานครั้งแรก ระบบจะเหลือพื้นที่เก็บข้อมูลไว้ให้ใช้ได้ราวๆ 11.2 GB นะครับ ก็พอไหวอยู่นะกับการใช้งานทั่วไป แบบไม่ได้เน้นอะไรมากมาย แต่ถ้าใครชอบถ่ายรูป แนะนำว่าหา MicroSD มาใส่ แล้วเลือกให้เก็บรูปถ่ายไว้ใน MicroSD จะดีกว่า เพราะรูปถ่ายหนึ่งรูป ก็มีขนาดไฟล์ไม่ต่ำกว่า 2 MB เข้าไปแล้ว
Camera
นอกจากการเพิ่มความละเอียดกล้อง ให้เป็น 5 ล้านในกล้องหลัง และ 2 ล้านพิกเซลในกล้องหน้าแล้ว Fonepad 7 (FE171CG) ยังได้เพิ่มระบบ PixelMaster มาให้อีกด้วย ทำให้สามารถถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ดีขึ้น ทั้งยังมีโหมดกล้องให้ใช้งานได้หลายโหมดอีกด้วย เช่นโหมด HDR, โหมดบิวตี้, โหมดถ่ายหน้าชัดหลังเบลอ (Depth of field) เป็นต้น รวมๆ แล้วก็คือเหมือนใน Zenfone นั่นล่ะครับ เข้าใจตรงกันนะ
มาชมตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังของ ASUS Fonepad 7 (FE171CG) กันครับ โดยตัวอย่างภาพที่ถ่ายในช่วงกลางคืน อยู่ที่สองภาพท้ายสุดในแกลเลอรี่ ภาพแรกคือถ่ายด้วยโหมด auto ธรรมดา ภาพที่สองถ่ายด้วยโหมดท้ายภาพในที่มีแสงน้อย ซึ่งสามารถเห็นภาพได้สว่างมากๆ แต่ noise ก็มากเช่นกัน เหมาะสำหรับการถ่ายแบบแค่ต้องการภาพออกมาเท่านั้น ไม่ได้ต้องการเน้นความละเอียด ความสวยงามของภาพมากนัก แต่ถ้าถ่ายในเวลากลางวัน ก็จัดว่าอยู่ในระดับที่พอใช้งานได้อยู่ แต่ดูเหมือนระบบประมวลผลภาพจะทำการละลายภาพมากไปหน่อย ถ้าดูตัวอย่างในภาพที่สาม จะเห็นว่าพุ่มไม้ด้านหลังดูเละมากเลย ซึ่งส่วนมากจะพบปัญหานี้กับภาพที่ถ่ายในสภาพแสงจ้าๆ ซึ่งก็พบปัญหาเดียวกันนี้ในภาพที่สี่ครับ
Performance
แง่ของประสิทธิภาพ อาจจะไม่ใช่จุดขายของ ASUS Fonepad 7 (FE171CG) เท่าไรนัก เพราะตัวหลักอย่างชิปประมวลผลยังใช้เป็น Intel Atom Z2520 ตัวเดิมอยู่ แรมก็มาแค่ 1 GB เท่านั้น ผลทดสอบประสิทธิภาพจึงออกมาในระดับที่ไม่สูงมากนัก จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ของเครื่องที่เหมาะกับการใช้งานธรรมดาๆ ทั่วไป ส่วนถ้าจะใช้เล่นเกม อันนี้ถ้าเจอเกมกราฟิกหนักๆ ก็อาจมีกระตุกหรือหน่วงเอาบ้างเหมือนกันครับ ส่วนตัวผมลองเล่นเกม Thapster ดู ก็สามารถเล่นได้ไหลลื่น ไม่เจอปัญหาเรื่องการดีเลย์ หรือหน่วงอะไรเลยนะ ถือว่าเป็นเครื่องที่ใช้เล่นเกมมิวสิคได้โอเคเลยล่ะ แถมตัวเครื่องยังค่อนข้างกะทัดรัดด้วย บางรอบ ผมถือมาเล่นด้วยมือ ไม่ต้องวางเครื่องกับโต๊ะยังพอได้เลย (พร้อมสถิติการกดพลาดรัวๆ)
ส่วนเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ ก็ถือว่า ASUS Fonepad 7 (FE171CG) สามารถทำได้ดีอยู่นะ กับการเปิด 3G ตลอดเวลา เล่นบ้าง ใช้งานบ้าง โหลดแอพบ้าง ก็ยังสามารถใช้งานเกิน 1 วันได้สบายๆ ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะสเปคที่ไม่กินไฟมากนัก ทั้งชิปประมวลผลและหน้าจอ ต่างก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่แรงและกินไฟเท่าไหร่