นอกเหนือจากด้านของประสิทธิภาพ ความแรง ความสวยของหน้าจอ ความสามารถของกล้องหน้ากล้องหลังแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่คนให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนซักเครื่องมาโดยตลอดก็คือด้านของแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน เพราะถ้าหากเครื่องแรง แต่ใช้ได้ไม่ถึงวัน ก็ต้องมาคอยหาที่ชาร์จ หาแบตสำรองมาเสียบใช้งานให้วุ่น ก็คงอาจจะไม่สะดวกกับการใช้งานซักเท่าไร ประกอบกับฮารด์แวร์ภายในของสมาร์ทโฟนในยุคปัจจุบัน ก็แรงเหลือเฟือที่จะใช้งานเป็นอุปกรณ์สื่อสารในหลายๆ รูปแบบได้อย่างสบายแล้ว ช่วงหลังเราจึงได้เห็นผู้ผลิตค่ายต่างๆ หันมาโฟกัสกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานที่อยากได้มือถือแบตอึดซักเครื่อง ไม่เน้นเร็วแรงมากมาย ในราคาที่เป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ ซึ่งในคราวนี้ SpecPhone เราก็มีอีกรุ่นที่น่าสนใจจะมารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกันครับ กับ Alcatel Pixi 4 Plus Power เครื่องนี้
สำหรับ Alcatel Pixi 4 Plus Power เครื่องนี้ มีจุดเด่นด้วยแบตเตอรี่ภายในความจุสูงถึง 5,000 mAh รองรับการใช้งานพื้นฐานครบครัน ทั้งยังมีแฟลชสำหรับเซลฟี่ด้วยกล้องหน้าอีกด้วย ทำให้เหมาะเป็นอย่างยิ่งกับผู้ที่อยากได้มือถือที่สแตนด์บายรอใช้งานได้แบบไม่ต้องกังวลว่าจะต้องชาร์จทุกวันสองวัน และถ้าหากมือถือเครื่องแบตเตอรี่หมด Pixi 4 Plus Power ยังทำหน้าที่เป็นแบตสำรองชาร์จให้อุปกรณ์อื่นได้อีกด้วย ผ่านการเชื่อมต่อด้วยสาย USB-OTG หรือถ้าหากมือถือเครื่องหลัก ไม่สามารถใช้งานได้จริงๆ ก็สามารถหยิบเอา Alcatel Pixi 4 Plus Power มาใช้งานแทนได้อย่างราบรื่น
เกริ่นมาแล้ว ทีนี้มาทำความรู้จักกับสเปคของ Alcatel Pixi 4 Plus Power กันหน่อยครับ
- ชิปประมวลผล Mediatek MT6580 (4 คอร์) ความเร็ว 1.3 GHz
- แรม 1 GB
- รอม 8 GB รองรับ MicroSD สูงสุด 32 GB
- จอ IPS ขนาด 5.5″ ความละเอียด 1280 x 720 (HD)
- กล้องหลัง 8 ล้านพิกเซล ออโต้โฟกัส แตะเลือกจุดโฟกัสได้ มีแฟลช
- กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล จับใบหน้าอัตโนมัติ มีแฟลชกล้องหน้า
- แบตเตอรี่ความจุ 5,000 mAh สามารถชาร์จแบตให้อุปกรณ์อื่นได้
- รองรับการชาร์จเร็ว (Fast charging)
- มาพร้อมเทคโนโลยี Advanced Audio Optimization จาก Arkamys เพื่อคุณภาพเสียงที่ดียิ่งขึ้น
- รองรับ 2 ซิม (ไมโครซิมทั้งคู่) รองรับการเชื่อมต่อ 3G
- ราคา 3,790 บาท
- สเปค Alcatel Pixi 4 Plus Power แบบเต็ม
ด้านของสเปค จัดว่าอยู่ในระดับเบื้องต้นครับ ใช้งานพื้นฐานได้ในระดับนึง เหมาะสำหรับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมือใหม่ คนที่อยากได้เครื่องสำรอง รวมถึงคนที่ไม่เน้นลงแอพ ไม่ได้เล่นเกมหนักๆ เนื่องด้วยตัวเครื่องมีแรมมา 1 GB ส่วนด้านของพื้นที่เก็บข้อมูล แนะนำว่าหา MicroSD มาใส่เพิ่มด้วยจะเป็นการดี เพราะความจุ 8 GB อาจจะไม่สะดวกถ้าต้องการลงเพลง หรือไฟล์อื่นๆ เพิ่มเติมมากนัก
ข้อดี
ข้อจำกัด
บทสรุป
BEST VALUE PHONE
Design
เริ่มแรกด้วยดีไซน์และรูปลักษณ์ตัวเครื่องของ Alcatel Pixi 4 Plus Power ก่อนเลย โดยรวมก็เป็นไปตามรูปแบบสามัญของสมาร์ทโฟนในยุคนี้เลยครับ ทรงเหลี่ยม มุมมน เลือกใช้ปุ่มแบบสัมผัส (ไม่มีไฟ) แต่ที่เน้นๆ หน่อยก็จะเป็นด้านบนจอ ซึ่งนอกจากจะมีกล้องหน้า และช่องลำโพงสนทนาแล้ว ยังมีแฟลชสำหรับกล้องหน้าให้ใช้งาน รวมถึงมีสกรีนติดมาเลยว่า 5,000 mAh เพื่อเป็นการย้ำนั่นเอง ว่า Alcatel Pixi 4 Plus Power มาพร้อมแบต 5,000 mAh นะ อึดแน่นอน !!
ซึ่งนอกเหนือจากแบตที่รับรองได้ว่าอึดแล้ว ตัวเครื่องโดยรวมก็น่าจะถึกทนด้วยเช่นกัน เนื่องจากงานประกอบโดยรวมจัดว่าแข็งแรง แน่นหนาดี แม้วัสดุภายนอกจะเป็นพลาสติกก็ตาม ส่วนน้ำหนักก็ตามสไตล์ของมือถือที่มาพร้อมแบตความจุตั้ง 5,000 mAh แหละครับ คืออยู่ที่ราวๆ 200 กรัม ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว ก็แทบไม่ได้ต่างจากสมาร์ทโฟนที่เราใช้กันอยู่ทั่วๆ ไปหลังใส่เคสซักเท่าไร ขนาดก็กำลังเหมาะมือ มีขอบมนๆ ทำให้จับถือได้แบบไม่ต้องกลัวขอบเครื่องบาดมือ
แบต 5,000 mAh ราคา 3,790 บาท
ส่วนหน้าจอแสดงผลของ Alcatel Pixi 4 Plus Power มีขนาด 5.5 นิ้ว เลือกใช้พาเนลแบบ IPS ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีในเรื่องของสีสัน ความคมชัด แม้จะมองจากมุมอื่นนอกเหนือจากมุมตรง แต่จากที่ผมได้ใช้งาน Alcatel Pixi 4 Plus Power ส่วนตัวผมว่าเนื้อสี มุมมองจอที่ได้จากตัวพาเนลจัดว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของมือถือจอ IPS ที่ความคมชัดระดับ HD ในราคาไม่แพง แต่ตัวกระจกปิดหน้าจอนั้นจะมีแสงสะท้อนอยู่พอสมควร ทำให้สีสันดรอปลงไปจากที่ควรจะเป็น รวมถึงการใช้งานกลางแจ้ง หรือที่ๆ มีแสงเยอะอาจจะต้องใช้มือป้องหน้าจอเอาไว้ซักหน่อย ระบบปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติก็สามารถทำงานได้ดี (ปกติมือถือราคาระดับนี้ มักไม่ค่อยมีฟีเจอร์ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติมาให้)
ด้านของปุ่มสั่งงานแบบสัมผัสอย่างที่เกริ่นไปข้างต้น ก็จะมีด้วยกัน 3 ปุ่มตามปกติครับ ได้แก่ปุ่มย้อนกลับ ปุ่มโฮมที่สามารถกดค้างเพื่อเรียก Google Now ออกมาได้ คล้ายกับในสมาร์ทโฟน Android ทั่วไป และก็ปุ่มเรียกดูแอพที่ใช้งานล่าสุดย้อนหลัง ซึ่งสามารถกดปุ่มเพื่อเคลียร์แอพเหล่านั้นทั้งหมดได้ด้วย
ฝาหลังของ Alcatel Pixi 4 Plus Power จัดว่ามีเอกลักษณ์พอตัวไม่น้อย ด้วยการเลือกใช้พื้นผิวแบบลายจุด ซึ่งถ้ามองดีๆ ก็จะมีลักษณะเหมือนกลีบดอกไม้ โดยมีวงกลมที่มีโลโก้ Alcatel เป็นกลางดอก ซึ่งพื้นผิวแบบนี้ จะสะดวกต่อการจับเครื่องครับ เพราะทำให้ไม่ลื่นหลุดมือง่ายๆ นอกจากลายจุดแล้ว ยังมีการเล่นสีสันแบบตัดกันด้วย จากการเลือกใช้สีแดงในบางจุด เช่น ตรงขอบโลหะรอบกระจกปิดหน้าเลนส์กล้องหลัง ตะแกรงลำโพงตรงด้านล่างตัวเครื่อง รวมถึงปุ่มกดด้วย มาเป็นสีแดงโทนสดใสโดดขึ้นมาเลยทีเดียว เสียงที่ได้จากลำโพงก็อยู่ในระดับมือถือทั่วๆ ไปครับ
โดยตัวฝาหลังนี้สามารถแกะออกได้ด้วยการใช้ปลายเล็บแงะที่มุมซ้ายล่างของเครื่อง (หันด้านหลังเครื่องเข้าหาตัว) ซึ่งต้องใช้แรงแงะพอสมควร เนื่องจากตัวล็อคมันค่อนข้างแน่นหนา และอีกเรื่องที่ต้องระวังในการแกะฝาหลัง ก็คือตัวแผงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงครับ เพราะมีรอบนึง ระหว่างที่ผมแกะแล้วเผลอไปแงะตรงใกล้ๆ แผงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงเข้า กลายเป็นว่าตัวปุ่มพลิกบิดออกจากร่องเดิมไปนิดหน่อย เลยต้องจัดการบิดออกมา เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ เมื่อเปิดออกมาก็จะพบกับแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่คิดเป็นกว่า 70% ของตัวเครื่อง แต่ตัวแบตเตอรี่จะไม่สามารถแกะออกมาได้นะ ด้านบนก็จะมีช่องใส่ไมโครซิม 2 ช่องแยกกันอยู่คนละฝั่ง โดยซิม 1 จะอยู่ฝั่งขวาพร้อมกับมีช่อง MicroSD ซ้อนอยู่ด้านบน ส่วนซิม 2 จะอยู่ฝั่งซ้าย
ส่วนใครที่ใช้นาโนซิมอยู่ แล้วจะนำมาใช้กับ Alcatel Pixi 4 Plus Power ก็สามารถหาตัวแปลงซิมเป็นไมโครซิมมาใช้งานได้เลย หรือจะเสียบนาโนซิมเข้าไปตรงๆ ก็ได้ครับ อย่างผมเอาไปใช้กับช่องซิม 1 ก็เสียบซิมเข้าไปให้เยื้องไปด้านบนเครื่อง ก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ
ตำแหน่งของปุ่มกดด้านข้างทั้งปุ่ม Power และแผงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ก็อยู่ในตำแหน่งที่สามารถกดด้วยนิ้วหัวแม่มือขวาได้อย่างสะดวก ซึ่งก็ดีแล้วครับ เพราะ Alcatel Pixi 4 Plus Power ไม่ได้ใส่ฟีเจอร์การเคาะเพื่อเปิดหน้าจอเข้ามาด้วย ส่วนด้านอื่นๆ ของตัวเครื่องก็จะมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 mm อยู่ด้านบนเยื้องไปทางซ้าย และมีช่อง Micro USB กับไมค์รับเสียงสำหรับการสนทนาอยู่ที่ด้านล่างเยื้องไปทางขวา
ชมภาพตัวเครื่องเพิ่มเติมได้จากในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
Software
Alcatel Pixi 4 Plus Power ยังคงเลือกใช้หน้าตาเป็นแบบผสมผสาน ระหว่างความสดใสของหน้าโฮม ทั้งจากไอคอน ภาพพื้นหลังที่เป็นในแบบของ Alcatel เอง จุดเด่นอยู่ที่ ไอคอนแสดงปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าในมือถือ Android ปกติมากๆ เหมือนตั้งใจจะเน้นกันไปเลยว่าแบตเยอะจริง! ส่วนด้านของเมนูตั้งค่าต่างๆ ก็จะเป็นในแบบของ Android ครับ โดยในเครื่องนี้มาพร้อม Android 6.0 พื้นที่หน่วยความจำในเครื่อง 8 GB จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- ส่วนของระบบ OS กินไป 3.81 GB
- ส่วนของผู้ใช้งาน มีให้ใช้ทั้งหมด 4.19 GB ซึ่งใช้รวมกันทั้งสำหรับลงแอพ และเก็บไฟล์ข้อมูล
สำหรับส่วนแรก ผู้ใช้งานหมดสิทธิ์เข้าไปยุ่งอยู่แล้วครับ (แถมยังไม่มีพื้นที่ว่างแล้วด้วย) แต่สำหรับส่วนที่สอง จะบอกว่า แค่ผมลงแอพนิดหน่อย พื้นที่ก็เหลือเพียงแค่ 1 GB ซะแล้ว ดังนั้นก็อาจจะต้องหา MicroSD สำหรับเก็บรูปถ่าย ไฟล์เพลง รวมถึงไฟล์อื่นๆ แทนนะครับ และแม้ว่าจะใช้ MicroSD แล้ว แต่พื้นที่การลงแอพก็จะยังจำกัดอยู่ที่ต้องลงในพื้นที่เครื่องเท่านั้น (ที่เหลือประมาณ 1 GB กว่าๆ) ไม่สามารถเลือกให้ไปลงใน MicroSD ได้ รวมถึงยังไม่สามารถย้ายแอพมาลง SD ได้ด้วย อันนี้เป็นข้อจำกัดของตัว Android จาก Google เลย ถ้าอยากย้าย คงต้องหาวิธีอื่นแทน (รวมถึงอาจต้องรูทเครื่อง ซึ่งยากเกินไปละ)
จากส่วนนี้ ตัว Alcatel Pixi 4 Plus Power จึงน่าจะเหมาะกับคนที่มีรูปแบบการใช้มือถือที่ไม่ชอบโหลดแอพเยอะแยะ ใช้แต่แอพหรือฟีเจอร์หลัก อย่างคุยโทรศัพท์ ถ่ายรูปขำๆ เล่น Facebook/Line พอได้ แต่ก็ต้องหมั่นเคลียร์พื้นที่แคชอยู่ดี เน้นสแตนด์บายรับสายนานๆ หรือจะใช้เป็นเครื่องสำรองก็เข้าท่า
ด้านของแรม Alcatel Pixi 4 Plus Power ให้แรมมา 1 GB หลังเปิดเครื่องใหม่ ระบบจะใช้ไปประมาณ 650 MB เหลือว่างประมาณ 300 MB หากต้องกดสลับแอพบ่อยๆ อาจจะมีต้องโหลดแอพใหม่กันบ้าง
Feature
ฟีเจอร์พิเศษที่มีใน Alcatel Pixi 4 Plus Power ก็คือความสามารถในการเปลี่ยนตัวเองเป็นแบตสำรอง ชาร์จไฟให้กับอุปกรณ์อื่นได้ผ่านสาย USB-OTG ที่เสียบกับช่อง Micro USB ของ Alcatel Pixi 4 Plus Power ส่วนปลายอีกข้างก็หาสายชาร์จของเครื่องที่เราอยากชาร์จแบตมาเสียบเพื่อเชื่อมกับเครื่องปลายทาง เพียงเท่านี้ก็สามารถชาร์จได้ละครับ ซึ่งจากข้อมูลด้านบน ที่ผมแคปมาจากหน้าเว็บ Alcatel เอง จะมีบอกว่าสามารถชาร์จแท็บเล็ตที่มีแบตความจุ 2,580 mAh ได้ 1 รอบ หรือชาร์จมือถือที่มีแบตความจุ 2,000 mAh ได้ 1.3 รอบ (ก็ประมาณ 2,600 mAh) ก็น่าจะใช้ต่อชีวิตให้กับอุปกรณ์อื่นได้สบายๆ แถมตัวเครื่องก็ยังเหลือแบตไว้ใช้เองด้วย
Camera
ย้ำกันอีกครั้งว่ากล้องหลังของ Alcatel Pixi 4 Plus Power มีความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ส่วนกล้องหน้าจะอยู่ที่ 5 ล้านพิกเซลนะครับ โดยกล้องหน้าก็จะมีแฟลชให้เลือกใช้งานกันด้วย ตามภาพด้านบนเลย ซึ่งผมเปิดแฟลชโดยเลือกถ่ายวิดีโอด้วยกล้องหน้า แล้วเปิดแฟลชเอาไว้ ดังนั้นหากใครอยากจะอัดวิดีโอด้วยกล้องหน้า แล้วอยากให้หน้าสว่างๆ ก็เปิดแฟลชใช้กันได้ตามสบายเลย
ส่วนภาพที่ได้จากกล้องของ Alcatel Pixi 4 Plus Power ก็ตามในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ได้ ส่วนตัวจากที่ผมใช้งานมา การใช้งาน ฟีเจอร์ต่างๆ ก็จะเป็นการผสมผสานกัน เนื่องจากหน้าปกติของแอพกล้องจะเป็นในสไตล์ Alcatel เอง ที่สามารถปาดเลื่อนหน้าจอเพื่อเปลี่ยนโหมดกล้องได้ (ถ่ายปกติ, โหมดหน้าเนียน, โหมดโพลารอยด์, โหมดพาโนรามา และการสแกน QR Code) ส่วนหน้าตั้งค่าการทำงานของกล้องจะเป็นเมนูเหมือนกับมือถือหลายๆ รุ่นที่ใช้ชิปประมวลผลจาก Mediatek เรื่องการใช้งานจริง เช่น การโฟกัส การถ่ายภาพ ถ้าเป็นที่สว่างๆ เช่นกลางแจ้ง ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ถ้าถ่ายในที่มีแสงน้อยหน่อย ก็จะจับโฟกัสช้าลงพอสมควร
Scene mode ก็มีให้เลือกใช้งานเช่นกัน ซึ่งสามารถกดเปลี่ยนได้ที่ไอคอนที่ 2 ในแอพกล้อง ดังตัวอย่างจากแถบซ้ายมือของรูปบน โดยจะเป็นการกดเพื่อเปลี่ยนทีละครั้งๆ นะครับ ไม่ได้เป็นการกดเพื่อเรียกเมนูมาให้เลือก สำหรับ scene ที่มีให้ใช้ก็เหมือนกล้องทั่วไปเลย เช่น ถ่ายคน ถ่ายวิว ถ่ายพลุ ถ่ายวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวเร็วๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายภาพ HDR ได้ด้วย
ด้านของภาพที่ออกมา ก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องการโฟกัสครับ คือถ้าถ่ายกลางแจ้ง ก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้าถ่ายที่มีแสงน้อยเมื่อไหร่ จะเห็นเลยว่าในภาพมี noise ภาพไม่ค่อยชัด เนื่องจากกล้องจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้า เพื่อพยายามเก็บแสงมาให้มากที่สุด อย่างบางภาพผมโดนไป 0.03 วินาที ซึ่งถือว่านานและถ่ายได้ยากสำหรับกล้องมือถือที่ไม่มีระบบกันสั่นช่วย โดยปกติเลขความเร็วชัตเตอร์จะเป็น 1/x ยิ่งเลขหลังมาก ก็ยิ่งเร็ว ภาพจะไม่ค่อยเบลอ แต่ภาพก็จะมีแสงน้อย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และตัวกล้องเองด้วยนะครับ นอกจากเรื่องภาพไม่ค่อยชัดเมื่อถ่ายในที่มีแสงน้อยแล้ว เรื่อง white balance ก็มีแอบไม่ตรงบ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าถ่ายในที่แสงโหดๆ หน่อย เช่น ถ่ายในอาคาร หรือถ่ายวัตถุที่มีสีตัดกับพื้นหลังแบบคนละขั้ว เช่น ถ่ายใบไม้สีเขียว ตัดกับรั้วสีน้ำตาลแดง ถ่ายป้ายขาว ที่มีไฟส้มเป็นพื้นหลังเยอะๆ เป็นต้น ข้อนี้ก็พอแก้เบื้องต้นก่อนถ่ายด้วยการปรับ white balance จากในเมนูตั้งค่าให้สอดคล้องกับสถานที่ๆ จะถ่ายซะก่อน
Performance
เรื่องประสิทธิภาพ ความแรง คงไม่ใช่จุดเด่นของ Alcatel Pixi 4 Plus Power เนื่องจากจุดเด่นของมันคือแบตเตอรี่ความจุสูง ใช้งานได้ยาวนาน และใช้ชาร์จให้เครื่องอื่นได้ ดังนั้นด้านฮาร์ดแวร์ ก็คงต้องเลือกใช้รุ่นที่ใช้พลังงานน้อย ผลจึงมาลงที่ชิปประมวลผลอย่าง Mediatek MT6580 ที่เป็นชิปแบบ 4 คอร์ ความเร็ว 1.3 GHz นี่ล่ะครับ เรื่องความแรง คงจะเทียบได้กับประมาณชิป Snapdragon 400 ส่วนชิปกราฟิกภายในก็ Mali-400MP ที่พอเล่นเกมง่ายๆ กราฟิกไม่ซับซ้อนได้ ซึ่งเท่าที่ผมลอง สามารถเล่น Pokemon Go ได้ แต่จะไม่สามารถใช้โหมดประหยัดพลังงาน (จอเป็นสีดำเมื่อเดินถือเครื่องข้างลำตัว) รวมถึงไม่สามารถเล่นในโหมด AR ได้ด้วยนะครับ เนื่องจากในตัวเครื่องไม่ได้ใส่เซ็นเซอร์ Gyro มาให้ด้วย ซึ่งก็เป็นปกติอยู่แล้ว สำหรับมือถือ Android ในระดับเริ่มต้น ดังนั้นจึงน่าจะเหมาะกับสายเดินฟักไข่มากกว่า ก่อนเดินก็จัดการลดความสว่างหน้าจอลง ปิดฟีเจอร์ปรับแสงจออัตโนมัติซะ แล้วก็เดินเก็บระยะฟักไข่ได้สบายๆ แบบแทบไม่ต้องกลัวแบตหมดเลย
ส่วนคะแนนทดสอบจากแอพ Antutu ยอดนิยมก็ได้ไป 24,138 คะแนน ตามสไตล์มือถือสเปคเบาๆ อย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้นเนอะ
ด้านของแบตเตอรี่นี่สิครับของจริง จากในรูปขวาสุดด้านบน ผมลองใส่ไว้สองซิม สแตนด์บายไว้ทั้งคู่ เปิด Wi-Fi เชื่อมต่อไว้บ้างบางเวลา จำลองเสมือนว่าเป็นเครื่องสำรอง เปิดไว้รอรับสายอย่างเดียว ผลจากในรูปคือ ถ้ายังใช้แบบเดิมอยู่ จะสามารถสแตนด์บายได้อีก 19 วัน หลังจากที่ผมสแตนด์บายทิ้งไว้มาแล้วเกือบ 6 วัน ถ้าเป็นอย่างนี้ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องสำรองแล้ว ยังสามารถซื้อมาแล้วเก็บในรถ เผื่อสำหรับเป็น GPS หรือจะใช้เพื่อช่วยติดตามตำแหน่งรถก็ยังได้สบายๆ ประมาณว่าครบเดือนนึงก็เอามาชาร์จแบตซักทียังได้เลย
Alcatel Pixi 4 Plus Power ยังมีความสามารถในการชาร์จไฟเข้าตัวเร็ว (Quick charge) อีกด้วยนะ ซึ่งจะชาร์จเร็วกว่าอัตราปกติ 2 เท่า คำนวณหยาบๆ ง่ายๆ ว่าแบต 5,000 mAh แต่ชาร์จเร็วกว่าปกติ 2 เท่า ก็จะกลายเป็นว่าเราจะใช้เวลาชาร์จ Alcatel Pixi 4 Plus Power ใกล้เคียงกับการชาร์จแบตมือถือความจุประมาณ 2,500 mAh ซึ่งก็คือเรตของมือถือทั่วไป ดังนั้นจึงแทบไม่กระทบกับการใช้งานเลย นับว่าครบเครื่องทีเดียว ส่วนตัวผมว่าดีนะ ในเมื่อให้แบตความจุสูงมาแล้ว การชาร์จไฟเข้าเครื่องก็ควรจะต้องเร็วกว่าปกติด้วยเช่นกัน ต่างจากมือถือที่ให้แบตความจุสูงๆ ในบางรุ่น ที่ไม่ได้ใส่ฟีเจอร์การชาร์จเร็วมาให้ด้วย