ด้วยชื่อแบรนด์ของ Alcatel นั้น เป็นที่คุ้นเคยในบ้านเรากันมาก็นานหลายปีอยู่ โดยจะเป็นในส่วนของผลิตภัณฑ์ทางกลุ่มสื่อสาร ซึ่งในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ ก็ได้มีการโฟกัสในส่วนของสมาร์ทโฟนในไทยมากยิ่งขึ้น และ Alcatel ได้มีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่ที่จัดว่าน่าสนใจ และมีกิมมิคจนได้รางวัลจากในงาน MWC 2016 ซี่งเป็นงานรวมนวัตกรรมกลุ่มโมบายล์งานใหญ่ที่สุดของโลกมาแล้วถึง 14 รายการ นั่นก็คือ Alcatel Idol 4 และตอนนี้ มันก็อยู่ในมือของทีม SpecPhone แล้วครับ และเราจะมาดูกันว่า Alcatel Idol 4 มีอะไรน่าสนใจบ้าง
มาดูสเปค Alcatel Idol 4 แบบคร่าวๆ กันก่อนครับ ว่ามีอะไรบ้าง
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 617 มี 8 คอร์ พร้อมชิปกราฟิก Adreno 405
- แรม 3 GB
- รอม 16 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 5.2″ ความละเอียดระดับ Full HD (1920 x 1080)
- กล้องหลัง 13MP โฟกัสแบบ PDAF เร็วสุดใน 0.1 วินาที พร้อมไฟแฟลชแบบ dual tone
- กล้องหน้า 8MP เลนส์มุมกว้าง 84 องศา มีไฟแฟลชด้านหน้า (ใช้เป็นไฟแจ้งเตือนด้วย)
- รองรับ 2 ซิม (นาโนซิมทั้งคู่) รองรับ 4G LTE
- ลำโพงคู่ด้านหน้า พลังขับดอกละ 3.6W พร้อมเทคโนโลยี Waves MaxxAudio ที่ช่วยเพิ่มพลังเสียง และแถมหูฟังสมอลล์ทอล์คของ JBL มาด้วย
- Android 6.0.1
- แบตเตอรี่ 2,610 mAh
- มีให้เลือก 4 สี คือสีเงิน, เทาเข้ม, ทอง และสีชมพู
- ราคา 8,990 บาท
- สเปค Alcatel Idol4 เต็มๆ
ถ้าดูจากสเปค ก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์กลางๆ สำหรับมือถือราคา 8,990 บาท ที่ได้จอ Full HD ชิปประมวลผลระดับกลาง แรม 3-4 GB กล้องความละเอียดสูง แต่ถ้าได้เห็นหน้าตาของ Alcatel Idol 4 ตอนแรก อาจจะคิดว่าค่าตัวต้องหลักหมื่นต้นๆ แน่นอนครับ พูดมาซะขนาดนี้แล้ว มาดูหน้าตา และความสามารถกันเลยดีกว่า ว่า Alcatel Idol 4 จะมีฟีเจอร์อะไรน่าสนใจบ้าง บอกเลยว่ามาเต็มจริงๆ และบางข้อก็ไม่เหมือนใครอีกด้วย
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST Below 9,000฿
Design
Alcatel Idol 4 นับว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่มีความโดดเด่นในด้านของการออกแบบ กับการเน้นความพรีเมียม ด้วยขอบเครื่องสีเงินจากอลูมิเนียม ตัดกับสีดำที่มีความแวววาวจากกระจกที่ปิดด้านหน้าและด้านหลังเครื่องอย่างลงตัว ก็นับว่าเป็นการออกแบบที่ค่อนข้างแตกต่างจากสมาร์ทโฟนในช่วงราคาใกล้เคียงกัน ที่ปัจจุบันหันมาใช้ตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียมกันซะเยอะ น่าจะโดนใจคนที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟนที่มีดีไซน์แตกต่างจากเครื่องอื่นๆ ในตลาดอยู่ไม่น้อย
นอกจากความสวยงามแล้ว ตัวเครื่อง Alcatel Idol 4 ยังมีความบางเพียงแค่ 7.1 มิลลิเมตรเท่านั้น เมื่อรวมกับหน้าจอขนาด 5.2″ เข้าไป ยิ่งทำให้เหมาะกับการพกพา ใช้งานได้สะดวก แม้จะใช้ด้วยมือเดียวก็ตาม
จอของ Alcatel Idol 4 เป็นจอแบบ IPS ความละเอียดระดับ Full HD 1080p ทำให้มีความหนาแน่นพิกเซลที่สูงถึง 424 ppi ภาพจึงออกมาเนียนตา คมชัดในทุกมุมมอง ซึ่งด้วยจอที่สวยงามระดับนี้ ทำให้ Alcatel Idol 4 มาพร้อมกับแอพจำพวก VR ทั้งด้านของการแสดงผล และแหล่งรวม content ทางด้าน VR มาเลยในตัว (และอันที่จริง กล่องของ Idol 4S ที่เป็นรุ่นท็อป จะสามารถใช้เป็นแว่น VR ได้เลยด้วย)
ด้านของการเชื่อมต่อนั้น ตัวเครื่องรองรับ 2 ซิม ซึ่งต้องเป็นนาโนซิมทั้งคู่ แต่ทั้งนี้ ตัวถาดจะเป็นแบบไฮบริดนะครับ คือต้องเลือกระหว่าง ใช้ 2 ซิม หรือจะใช้ 1 ซิม + MicroSD อย่างที่มือถือหลายๆ รุ่นเริ่มหันมาใช้ถาดแบบไฮบริดกัน ดังนั้นก็อาจจะต้องวางแผนการใช้งานซักหน่อย
ทีนี้ถ้าดูจากภาพด้านขวามือ จะเห็นว่ากล้องหน้า มันดันมาอยู่ด้านล่างของจอ ผิดจากมือถือ 99% ในตลาดที่กล้องหน้ามักจะอยู่ด้านบนจอ อันนี้บอกเลยว่ามันเกิดจากฟังก์ชันพิเศษภายในของ Idol 4 ครับ นั่นคือความสามารถในการพลิกจอไปตามทิศทางการถือเครื่อง ดูๆ แล้วก็อาจจะรู้สึกว่าเหมือนมือถือ Android ทั่วไป แต่ที่จริงแล้วมันพิเศษกว่านั้น เพราะตัว Alcatel Idol 4 มันถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานสลับทิศกันได้ครับ เนื่องจากมีลำโพงและไมค์ทั้งสองด้าน (เวลาฟังเพลงก็จะทำหน้าที่เป็นลำโพงสเตอริโอ) ทำให้แม้เราจะถือเครื่องกลับด้าน (กล้องหน้าอยู่ด้านล่าง) แต่ก็ยังสามารถคุยโทรศัพท์ได้ทันที ไม่ต้องกลับเครื่องไปที่ทิศทางปกติ ฟีเจอร์นี้น่าจะเหมาะกับคนที่ต้องรีบๆ แล้วมักจะหยิบมือถือขึ้นมาคุยแบบกลับด้านอยู่พอสมควร หรือจำเป็นต้องคุยโทรศัพท์ขณะที่เสียบสายชาร์จหรือเสียบสายหูฟังอยู่ ซึ่งอาจถูกบังคับด้วยทิศทางของสาย ทำให้ฟีเจอร์นี้น่าจะช่วยลดปัญหาประเภทนี้ได้พอสมควร ต่างจากสมาร์ทโฟนทั่วไป ที่แม้ว่าจะพลิกจอได้ แต่พอจะใช้งานจริงจัง ก็ต้องพลิกกลับมาด้านปกติอยู่ดี
มาพลิกดูด้านหลังกันบ้าง อย่างที่เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่า Alcatel Idol 4 เลือกใช้กระจกปิดหลังเครื่องด้วย เมื่อประกอบกับการออกแบบเนื้อในที่มีลายจุดเป็น texture และมีการเพิ่มความแวววาวด้วยการสะท้อนแสงตามมุมของแสง จึงช่วยส่งให้รูปลักษณ์ดูงดงามมากยิ่งขึ้นไปอีก สมกับชื่อรุ่น Idol
ด้านข้างตัวเครื่องก็มาในแบบของสมาร์ทโฟน Android ทั่วไป โดยด้านบนก็มีช่องหูฟังขนาด 3.5 มม. มีปุ่ม Power อยู่ด้านซ้ายบน (อันนี้ถ้าคนที่ใช้มือขวาอาจจะไม่สะดวกเล็กน้อย เพราะต้องใช้ปลายนิ้วชี้กดปุ่ม) ด้านล่างมีช่อง Micro USB ส่วนฝั่งขวาก็จะมีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงรวมเป็นปุ่มชิ้นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีปุ่มพิเศษที่เรียกว่า BOOM Key อีกด้วย ส่วนนี้ผมขอยกไว้พูดถึงในส่วนของฟีเจอร์ก็แล้วกัน
ส่วนภายในกล่องของ Alcatel Idol 4 ก็ให้อุปกรณ์มาครบครันทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานอย่างอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ สาย Micro USB เข็มจิ้มถาดซิม รวมถึงฟิล์มหน้าจอ และเคสใสแบบบางที่มีขอบมาช่วยป้องกันเครื่องตรงมุมทั้ง 4 ด้านแบบพอดีตัวเครื่องอีกด้วย ก็เรียกว่าแกะกล่องมาพร้อมใช้ได้เลย แทบไม่ต้องหาซื้ออะไรเพิ่มแล้ว ส่วนอุปกรณ์ติดกล่องอีกชิ้นที่ดูน่าสนใจก็คือหูฟังสมอลล์ทอล์คแบบอินเอียร์สายแบนจาก JBL ตัวนี้นับว่าสร้างความสนใจได้ดีทีเดียว ซึ่งจะขอพูดถึงในส่วนถัดไปแล้วกันครับ บอกเลยว่าคุ้มใช้ได้ นับเป็นมือถือราคาไม่ถึงหมื่นที่มีกิมมิคมาในตัวหลายอย่างเลยทีเดียว
ตัวหูฟัง JBL นี้ถึงแม้จะเป็นหูฟังแถมมากับเครื่อง แต่ก็มีคุณภาพใช้ได้เลย โดยราคาของหูฟังที่แถมมาให้นี่ก็มูลค่า 1,400 บาท ให้เสียงออกมาครบทุกโทนเสียง ทั้งสูง กลาง เบส ฟังสนุก เผลอๆ จะดีกว่าหูฟังแถมที่ติดมากับเครื่องรุ่นราคาสูงๆ เลยด้วยซ้ำไป ส่วนไมค์นั้นติดมากับปุ่มรีโมท ติดที่ว่าตัวปุ่มมีอยู่ปุ่มเดียวเท่านั้น คือปุ่ม Play/Pause ไม่มีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงมาในตัว ทำให้หากต้องปรับระดับเสียงอาจจะต้องไปปรับที่ปุ่มข้างเครื่องแทน ส่วนถ้าหากฟังเสียงจากตัวเครื่อง ด้วยลำโพงสเตอริโอที่ให้กำลังขับเสียงสูงถึง 3.6W ต่อตัว ทำงานร่วมกับชิปแอมป์ Smart PA TFA9890 รองรับระบบเสียง Hi-Fi ทำให้เสียงที่ออกมามีระดับความดังที่ดี ควบคู่กับคุณภาพเสียงที่ลงตัว
ภาพตัวเครื่องเพิ่มเติมครับ
Software
Alcatel Idol 4 มาในอินเตอร์เฟสแบบผสมผสาน โดยในส่วนของหน้าโฮม หน้าล็อคสกรีนจะเป็นในสไตล์ของ Alcatel คือเน้นความมีสีสัน สะดุดตาด้วยลูกเล่นแอนิเมชันต่างๆ แต่พอเข้าไปหน้าเมนู หน้าการตั้งค่าทั้งหลาย ก็จะเป็นไปตามสไตล์ของ Android 6.0.1 Marshmallow ซึ่งมีความเรียบง่าย ดูสะอาดตา
ด้านของรอมที่ให้มา 16GB นั้น เหลือให้ใช้งานได้จริงราวๆ 7GB นิดๆ ก็พอใช้งานแบบทั่วไปเท่านั้น ถ้าลงเกมใหญ่ๆ ก็อาจจะเต็มเร็วหน่อย คงต้องใช้ MicroSD เสริมเพื่อเพิ่มพื้นที่หน่วยความจำแทน (ก็เท่ากับว่าจะใช้ได้แค่ซิมเดียว) ส่วนหนึ่งก็เพราะมีแอพติดเครื่องมาพอสมควรด้วย
เวลาใช้งานจริง จากที่ผมลองเปิดเครื่องขึ้นมา พบว่าเหลือแรมว่างให้ใช้ราวๆ 1.2GB จากแรมทั้งหมด 3GB ก็จัดว่าโอเคครับ ปิดเปิดแอพได้ลื่นไหลดี บางทีเล่น Pokemon Go อยู่ แล้วต้องสลับไปแอพอื่น หลังจากผ่านไปนานๆ แล้วกลับมาเปิด Pokemon Go ก็สามารถเล่นต่อได้เลยทันที ไม่ต้องโหลดแอพใหม่
Feature
มาพูดถึงด้านฟีเจอร์กันบ้างครับ กับฟีเจอร์แรกที่เกริ่นไว้แล้วในข้างต้น คือปุ่ม BOOM Key ที่จะมีฟีเจอร์แตกต่างกันไปแล้วแต่แอพพลิเคชันที่กำลังใช้งานอยู่ ได้แก่
- หน้าล็อคจอ: เปิดหน้าจอขึ้นมา (กดสองครั้งเพื่อถ่ายภาพทันที)
- หน้าโฮม: จะแสดงแอนิเมชันสภาพอากาศปัจจุบัน เช่น มีเมฆคลุมทั้งหน้าจอ
- แอพกล้อง: กดถ่ายภาพ
- ขณะฟังเพลง: เพิ่มพลังเสียงให้เต็มอิ่มยิ่งขึ้น
- ขณะเล่นเกม Asphalt Overdrive: ใช้ Nitro เพื่อเร่งความเร็ว
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ BOOM Key ในการถ่ายภาพขณะหน้าจอมือ หรือ Standby Mode, ใช้ในการการถ่าย burst shot เมื่อกดปุ่ม BOOM Key ค้างไว้ หรือการ Capture หน้าจอหรือ Screenshot รวมทั้งยังสามารถตั้งค่าให้เปิดแอพพลิเคชันที่ต้องการได้อีกด้วย แต่ถ้าหากตั้งค่าให้เปิดแอพแล้ว จะไม่สามารถเรียกใช้ฟังก์ชันอื่นๆ ในของแต่ละแอพได้ เพราะจะกลายเป็นการกดปุ่ม BOOM key เพื่อเรียกแอพที่ตั้งค่าไว้แทน
อันนี้ก็เป็นหน้าจอตั้งค่าการทำงานของปุ่ม BOOM key ซึ่งซ่อนอยู่ในเมนูการตั้งค่า (Settings) ของ Android เอง ส่วนภาพริมขวาสุดก็เป็นตัวอย่างการแสดงสภาพอากาศปัจจุบัน หลังจากกดปุ่ม BOOM ที่หน้าโฮมครับ ก็เป็นอีกหนึ่งกิมมิคเก๋ๆ ไม่เหมือนใครดี แต่ตัวปุ่มจะค่อนข้างแข็ง ต้องใช้แรงกดมากกว่าปกตินิดนึง ดังนั้นจึงอาจจะใช้กดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่
ทีนี้มาดูในส่วนของการฟังเพลงกันบ้าง นอกเหนือจากลำโพงคู่แบบสเตอริโอแล้ว ฝั่งของซอฟต์แวร์ก็ได้รับการบรรจุมาเพื่อยกระดับการฟังเพลง รวมถึงการสนุกไปกับเพลงได้ยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย อย่างในสองภาพฝั่งซ้าย ก็จะเป็นฟีเจอร์ Mix ซึ่งเป็นส่วนเสริมในแอพฟังเพลง ONETOUCH Music 2 (ตัวแอพใช้ชื่อใต้ไอคอนว่า Music) ที่ให้เราเป็น DJ มิกซ์เพลงที่อยู่ในเครื่องได้อย่างง่ายดาย เสมือนว่ามี roundtable อยู่กับตัว วิธีใช้ก็ไม่ยากครับ แค่เลือกเพลงมาใส่แทร็กซ้ายและขวา ทีนี้ก็มาจัดการใส่เอฟเฟ็คท์ จะดึงเสียงขึ้นลง หรือดึง tempo ก็ได้ตามสบาย ทั้งยังสามารถเพิ่มเสียงประกอบอื่นๆ เข้าไปได้ เช่น อาจจะใส่พวกเครื่องเคาะต่างๆ ใส่เสียงกลองเข้าไปเสริมอีก ซึ่งอันนี้ก็อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละท่านแล้วล่ะครับ ว่าจะมิกซ์เพลงออกมาได้ยังไง โดยสามารถบันทึกไว้ฟังภายหลังได้ด้วย
ส่วนสองภาพทางขวาก็คือแอพพลิเคชัน WAVES MaxxAudio ที่ออกแบบมาให้เราสามารถปรับแต่งโทนเสียงได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแบบกว้างๆ อย่าง Bass และ Treble หรือจะปรับ equalizer แบบเจาะลึกแต่ละย่านเสียงก็ทำได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังปรับแยกกันระหว่างโทนเสียงในการฟังเพลง และการชมภาพยนตร์ได้อีกด้วย เอาใจคอบันเทิงได้เต็มอารมณ์ทั้งภาพและเสียงจริงๆ
Camera
มาพูดถึงเรื่องกล้องกันบ้าง Alcatel Idol 4 มาพร้อมกล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล ซึ่งเหลือเฟือกับการแชะเพื่อแชร์ลงโซเชียล หรือแม้กระทั่งจะนำไปอัดภาพก็ยังได้สบายๆ ชิ้นเลนส์รูรับแสงกว้าง f/2.0 ทำให้สามารถถ่ายภาพแนวหน้าชัดหลังเบลอได้แบบไม่ยากนัก ขอแค่ตัวแบบ/วัตถุที่จะถ่าย มีระยะทิ้งห่างจากฉากหลังพอสมควรเท่านั้นเอง นอกจากนี้ยังใส่ระบบโฟกัสแบบ Phase Detection (PDAF) ซึ่งปกติแล้วมักจะมีอยู่ในสมาร์ทโฟน และในกล้อง DSLR/Mirrorless รุ่นสูงหน่อยเท่านั้น ทำให้การโฟกัสภาพในภาวะที่แสงดีๆ เช่น กลางแจ้ง ทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งกว่าการโฟกัสแบบปกติ
จากที่ผมนำเครื่องไปใช้จริง ถ่ายจริง ส่วนตัวผมพอใจกล้องของ Alcatel Idol 4 เลยทีเดียว โดยเฉพาะการถ่ายกลางแจ้ง เพราะสามารถโฟกัสได้ไว สีสันสวยงาม ภาพคมชัด อาจมีบางช็อตที่ระบบวัด white balance เพี้ยนบ้าง เช่น ในภาพเฟรนช์ฟรายจากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ เนื่องจากตัวเฟรนช์ฟรายเป็นสีเหลือง ถ่ายในร่มที่ค่อนข้างมืด ทำให้ระบบพยายามชดเชยสีน้ำเงินเข้ามา ส่งผลให้ภาพมีสีเพี้ยนนิดนึง รวมถึงการถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ ถ้าจะให้ดีควรปรับไปใช้กล้องในโหมด manual แล้วเลื่อนแถบเพื่อเลือกระยะโฟกัส หรือค่า white balance ที่ต้องการ โดยสามารถดูพรีวิวแบบสดๆ จากหน้าจอได้เลย ว่าภาพจะออกมาเป็นอย่างไร
ด้านของโหมดกล้อง ที่จริงแล้วก็มีให้ลองเล่นด้วยกันหลากหลายอยู่ครับ นอกจากโหมดออโต้ที่เป็นพื้นฐาน โหมด manual ที่ให้ปรับเอง ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีโหมดพาโนรามา โหมดถ่ายวิดีโอแบบ slo-mo โหมด micro-video ที่มีเอฟเฟคท์ให้ตัดต่อหลังถ่ายมากมาย ส่วนของกล้องหน้า ก็มีให้เลือกระดับความเนียนแบบโหมดบิวตี้ได้ในตัว แถมยังมีไฟแฟลชให้ใช้อีกด้วย !! ไม่ใช่แฟลชจากการเปิดหน้าจอสีขาวนะครับ แต่เป็นไฟแฟลชแบบ LED จริงๆ น่าจะถูกใจคนที่ชอบเซลฟี่ในที่มีแสงน้อยแน่ๆ แหละงานนี้
ด้านล่างนี้ก็เป็นตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังของ Alcatel Idol 4 นะครับ ลองชมกันได้
ทีนี้ยังมีอีกจุดที่ผมลองเล่นแล้วชอบก็คือการทำงานของโหมด HDR ซึ่งในการถ่ายก็จะเป็นการถ่ายภาพรัวหลายๆ ช็อต โดยระบบจะตั้งค่าการชดเชยแสงที่แตกต่างกัน แล้วนำภาพมาประมวลผลออกเป็นภาพเดียว สำหรับใน Alcatel Idol 4 ก็เป็นวิธีการเก็บภาพ HDR แบบปกติ คือระหว่างถ่ายต้องหยุดอยู่นิ่งนิดนึง แล้วก็รอมันประมวลผลภาพออกมา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้น่าพอใจเลยทีเดียว ทำให้สามารถเก็บรายละเอียดจากจุดต่างๆ ในภาพ โดยเฉพาะส่วนที่มืด และสว่างกว่าปกติได้ดีขึ้นมาก คนที่ชอบถ่ายภาพย้อนแสง หรือถ่ายภาพในจุดที่มีความต่างของแสงมากๆ อย่างเช่น ถ่ายดวงอาทิตย์กำลังขึ้นหรือตก น่าจะชอบใจไม่น้อยแน่ๆ
ลองชมตัวอย่างภาพด้านล่างนี้เลยครับ โดยภาพแรกของแต่ละชุด จะเป็นการถ่ายด้วยโหมดออโต้ ภาพที่สองจะเป็นภาพจากโหมด HDR
นอกจากนี้ ในรอมของ Alcatel Idol 4 ยังมีลูกเล่นกล้องเพิ่มมาอีกหนึ่งอัน นั่นคือการถ่ายภาพแบบ 360 องศา ซึ่งมันคือฟีเจอร์ของแอพ Fyuse 3D Photos ที่สมาร์ทโฟนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน Fyuse มาติดตั้ง และถ่ายภาพแบบ 360 องศาได้เช่นกัน แต่สำหรับ Idol 4 จะทำการรวมฟีเจอร์นี้เข้ามาในแอพกล้องด้วยเลยครับ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสร้างสรรค์ภาพใหม่ๆ รวมถึงผู้ที่ต้องการเก็บรายละเอียดสิ่งของแบบ 360 องศา จากที่แต่ก่อน อาจจะต้องถ่าย 6 ภาพ ซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง เพื่อให้ได้ภาพของวัตถุทั้งชิ้น แต่พอใช้ฟีเจอร์นี้ ก็กดถ่ายครั้งเดียวยาวๆ แล้ววนถ่ายไปรอบวัตถุได้เลย แต่ถ้าจะดูภาพแบบนี้ จำเป็นจะต้องติดตั้งแอพ Fyuse ในเครื่องอื่นไว้ด้วยนะครับ
สำหรับวิธีการถ่าย และผลลัพธ์ที่ได้ ลองชมจากในคลิปของผู้พัฒนาแอพนี้ขึ้นมาได้เลย
[youtube_frame id=wKRswvrqFVo]
Performance
แง่ประสิทธิภาพ Alcatel Idol 4 ก็ทำได้ในระดับเดียวกับสมาร์ทโฟนระดับกลางๆ ราคาเกือบหมื่นครับ เล่นเกมอะไรๆ ก็ลื่นสบาย แม้จะเป็นชิป Snapdragon 617 ที่ค่อนข้างเก่าไปหน่อย เพราะในปัจจุบันก็มีชิปตระกูล Snapdragon 625 มาแทนแล้วก็ตาม แต่ก็เหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป รวมถึงการเล่นเกม จะติดนิดนึงก็ตรงเวลาเล่น Pokemon Go บางครั้งจับสัญญาณ GPS ไม่เจอ แต่นานๆ จะเป็นซักที
เวลาใช้งานจริง ด้วยการที่ตัวเครื่องบาง มีกระจกปิดขนาบหน้าหลัง และขอบข้างเป็นโลหะ ทำให้การถ่ายเทความร้อนออกมาที่ขอบข้างซะเยอะ โดยเฉพาะส่วนฝั่งขวาบน ใกล้ๆ กับแผงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ที่จะร้อนขึ้นมาอย่างชัดเจน สำหรับคนที่เล่น Pokemon Go ติดต่อกันนานๆ อาจจะต้องปรับวิธีถือเครื่องซักเล็กน้อยครับ หรือไม่ก็ลองหาเคสที่ปิดขอบเครื่องทั้งหมดเอาไว้ จะได้ลดความร้อนจากตัวเครื่องที่ถ่ายเทจากภายในสู่มือให้ลดลงมานิดนึง
ด้านแบตเตอรี่ ก็อยู่ในระดับปกติครับ ใช้งานได้ประมาณหนึ่งวัน สำหรับรูปแบบการใช้งานปกติ แชทบ้าง เช็ค Facebook บ้าง ถ่ายรูป ฟังเพลง สแตนด์บายระหว่างวัน ใช้งาน 4G LTE ผสมกับ WiFi บางช่วง แบตเตอรี่ 2,610 mAh เอาอยู่ แถมยังรองรับการชาร์จเร็ว (Quick Charge) อีก ทำให้แม้ว่าจะต้องชาร์จเติมพลังระหว่างวัน ก็ทำได้รวดเร็ว ทันความต้องการใช้งานของคุณแน่นอน