หลังจากที่ Apple เปิดตัว iPhone 7 สิ่งหนึ่งที่โดนตัดทิ้งไปก็คือช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร โดยตัว iPhone 7 เองจะสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์เสียงได้แค่ 2 ช่องทาง ได้แก่ พอร์ท Lightning กับการเชื่อมต่อแบบไร้สาย และการที่ Apple ทำการตัดแจ็ค 3.5 มิลลิเมตรออกไปเช่นนี้ ก็เหมือนเป็นการกำหนดเทรนกลาย ๆ ให้กับสมาร์ทโฟน เหมือนอย่างที่ Macbook Pro เคยตัดไดรฟ์ DVD ออกไปนั่นแหละครับ ปัจจุบันเราก็ไม่ค่อยจะได้เห็นโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ ๆ มาพร้อมกับช่องใส่ซีดีเหมือนก่อนแล้ว
ในปีหน้าจึงมีแนวโน้มสูงว่าสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ อาจจะโดนตัดช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรทิ้งไปด้วย เพราะตัวเทคโนโลยีไร้สายอย่าง Bluetooth เองก็พัฒนาไปจนถึงระดับที่เสถียรในการเชื่อมต่อมากแล้ว แถมยังกินพลังงานน้อยมาก ใน Bluetooth 4.1 โดยหูฟังที่ผมจะมารีวิวให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันในวันนี้ ก็เป็นหูฟัง Bluetooth ราคาเบา ๆ จาก Jabra ผู้ผลิตหูฟังไร้สายชื่อดัง แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ และจุดเด่นที่ผมพบในหูฟังรุ่นนี้ก็คือ มันใส่สบายมาก แถมยังพกติดตัวได้ตลอดเวลา ทุกอิริยาบท คุ้มค่าคุ้มราคา 2,990 บาท แน่นอน
Jabra Halo Smart คือหูฟังที่จะมารีวิวให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันในวันนี้ครับ โดยตัว Jabra Halo Smart เป็นหูฟังแบบ In-Ear หรือแบบสอดหู ที่สามารถคล้องคอได้ แถมยังมาพร้อมกับแม่เหล็ก ช่วยเก็บตัวหูฟังไม่ให้รุงรังอีกต่างหาก มันจึงเป็นหูฟังที่พกติดตัวไปได้ตลอดเวลาจริง ๆ
อุปกรณ์ในกล่องของ Jabra Halo Smart จะมีสาย Micro USB สำหรับชาร์จไฟ และจุกหูฟังให้มาทั้งหมด 3 ขนาด รวมกับที่ใส่มาตั้งแต่แรกก็เป็น 4 แบบ แต่ขนาดของจุกหูฟังจะไม่ได้เหมือนกับหูฟังอินเอียร์ยี่ห้ออื่น ๆ อย่างผมเนี่ย ปกติจะใช้จุกไซส์ S แต่ตอนที่รีวิว Jabra Halo Smart ต้องใส่ไซส์ M แทน เพราะไซส์ S ไม่ค่อยกระชับเท่าไหร่ แนะนำให้ใส่จุกหูฟังทุกไซส์ แล้วลองเปลี่ยนอิริยาบทดูครับ ว่าแบบไหนกระชับที่สุด
วิธีการสวมใส่ Jabra Halo Smart เพียงคล้องก้านหูฟังเข้าที่คอ แล้วก็ใส่ตัวหูฟังอินเอียร์เข้าไป โดยความเจ๋งของ Jabra Halo Smart คือมีแม่เหล็กติดให้ที่บริเวณหูฟังด้วย ทำให้เก็บหูฟังได้ง่าย และสะดวกมาก อย่างเวลาที่เราใส่หูฟัง 2 ข้าง แล้วต้องการคุยกับคนอื่น ก็เพียงแค่ปลดหูฟัง แล้วนำมาติดกับแม่เหล็กบริเวณก้านหูฟัง หรือถ้าไม่ต้องการใส่หูฟังทั้ง 2 ข้าง ก็แค่จับตัวหูฟังมาติดกัน ตัวอย่างก็ตามรูปด้านล่างเลยครับ
ในกรณีที่เราจับหูฟังประกบกัน ถ้ามีสายเรียกเข้า เพียงแค่แยกตัวบอดี้หูฟังออกจากกัน ก็จะเป็นการรับสายโดยอัตโนมัติทันที
รายละเอียดของ Jabra Halo Smart ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ปุ่มควบคุมทั้งหมดอยู่บริเวณก้านหูฟัง ทางด้านขวาประกอบไปด้วยปุ่มเปิด – ปิด (ควบหน้าที่ปุ่ม Play/ Pause และปุ่มรับสาย) กับปุ่มปรับระดับเสียงดัง – เบา (กดค้างคือเลื่อนเพลง)
ด้านซ้ายเป็นปุ่มรูปไมโครโฟน สามารถกดค้างเพื่อเรียก Siri หรือ Google Play ได้ ส่วนไมโครโฟนของตัวเครื่องก็อยู่ทางด้านล่างปุ่มไมค์ ให้เสียงสนทนาที่ชัดเจนไม่แพ้การใช้สมอลทอร์คแบบมีสาย
สายหูฟังเป็นแบบสายแบน เก็บรักษาง่าย ไม่มีปัญหาสายพันกัน
วิธีการเชื่อมต่อ Jabra Halo Smart กับสมาร์ทโฟน เพียงแค่กดปุ่มเปิด – ปิดค้างไว้ 5 วินาที แล้วก็รอให้มีไฟ LED กระพริบเป็นสีน้ำเงิน จากนั้นก็เชื่อมต่อเหมือนอุปกรณ์บลูทูธปกติทั่วไป ไม่จำเป็นต้องลงแอปพลิเคชันเพิ่มเติมก็ใช้งานได้ทันที
อย่างที่ผมได้บอกไปแล้วว่า Jabra Halo Smart เป็นหูฟังที่ใช้งานได้หลายอิริยาบท นอกจากจะใส่คล้องคอปกติทั่วไป ใช้ฟังเพลง, รับสายโทรศัพท์แล้ว ยังสามารถใช้ออกกำลังกายได้ด้วย เนื่องจาก Jabra Halo Smart มาพร้อมกับความสามารถในการกันละอองน้ำในระดับหนึ่ง ใส่วิ่งได้สบาย ๆ เพราะตัว Jabra Halo Smart ก็เป็นหูฟังที่ใส่กระชับดีทีเดียว
ตัวก้านคล้องคอก็มีน้ำหนักเบา สามารถใส่ได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ล้า แถมบริเวณก้านหูฟังยังมีระบบสั่นติดมาให้ด้วย เวลาที่มีสายเรียกเข้า ต่อให้เราไม่ได้ใส่หูฟังเข้าในหู ตัวก้านหูฟังก็จะสั่นเตือนให้ รับรองว่าไม่พลาดทุกการติดต่อ
นอกจากจะใช้งานทั่วไปแล้ว Jabra Halo Smart ยังรองรับการใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน Jabra Assist แอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ใช้งาน Jabra Halo Smart ได้สะดวกมากขึ้น เพราะมีทั้งวิธีการใช้งานเบื้องต้น รวมถึงฟีเจอร์ในการอ่านข้อความเสียง (ไม่รองรับภาษาไทย) และยังมีฟีเจอร์ในการค้นหาหูฟังด้วย แนะนำให้ผู้ใช้ Jabra Halo Smart โหลดติดเครื่องไว้เลย
เสียงของ Jabra Halo Smart ในแง่ของการใช้งานเป็นสมอลทอร์ค ให้เสียงสนทนาที่คมชัด ตัวหูฟังตัดเสียงรบกวนได้ดี ส่วนการฟังเพลง ผมว่า Jabra Halo Smart ให้เสียงเบสที่เบา แล้วก็การแยกชิ้นดนตรียังนัว ๆ ไปหน่อย
Jabra Halo Smart กับราคาค่าตัว 2,990 บาท เหมาะสำหรับคนที่อยากได้หูฟังบลูทูธที่ใส่ติดตัวได้ตลอดเวลา สามารถใช้งานได้ในหลายอิริยาบท อีกทั้งการดีไซน์ที่เป็นกลาง ๆ เหมาะกับการใช้งานในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะใส่เป็นสมอลทอร์ค หรือจะใส่ออกกำลังกายก็ให้ลุคที่ดูสปอร์ต โดยรวมจัดว่าโอเคเลยสำหรับหูฟังบลูทูธราคาไม่เกิน 3,000 บาทรุ่นนี้
จุดเด่น
- ดีไซน์ออกแบบมาให้ใส่ได้ทั้งวัน ได้ทุกอิริยาบท
- เสียงสนทนาชัดเจน ไมโครโฟนมีระบบตัดเสียงรบกวน
- ก้านหูฟังมีแม่เหล็กสำหรับเก็บตัวหูฟัง
- มีฟีเจอร์การสั่นเมื่อมีเสียงเรียกเข้า
ข้อสังเกต
- ฟีเจอร์อ่านออกเสียงไม่รองรับภาษาไทย
- เสียงเบสบางไปหน่อย การแยกชิ้นดนตรีก็ดูนัว ๆ