กล้องคู่กลายเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่สมาร์ทโฟนตัวท็อป ๆ หลายรุ่นต้องมี เริ่มตั้งแต่ Huawei มาจนถึง iPhone แต่รู้หรือไม่ว่ากล้องคู่ที่มีในท้องตลาดนั้น แต่ละรุ่นแต่ละแบรนด์มีหลักการทำงานกันอย่างไร แบรนด์นั้นก็กล้องคู่ แบรนด์นี้ก็กล้องคู่ แบบนี้เรียกว่าก็อปปี้ได้ไหม?
อันที่จริงแล้วกล้องคู่ในสมาร์ทโฟนเท่าที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด ณ ตอนนี้เนี่ย แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ซึ่งก็มีลักษณะการใช้งาน และฟีเจอร์ที่แตกต่างกันออกไปตามนี้
1. กล้องคู่ ขาวดำ + สี
Huawei เป็นเจ้าแรกที่ทำให้คนเกิดภาพจำถึงกล้องคู่ได้ดีอย่างรุ่น Huawei P9/ P9 Plus ด้วยความร่วมมือกับ Leica นำเอา เซนเซอร์ขาวดำ Monochrome มาทำงานร่วมกับ เซนเซอร์สี RGB ในการถ่ายภาพเมื่อนำรูปที่ได้จาก 2 กล้องมารวมกันจะทำให้เราได้ภาพที่ดูมีมิติมากยิ่งขึ้น เพราะเซนเซอร์ขาวดำนั้นจะเก็บแสงและความคมชัดของภาพได้ดี เมื่อนำมารวมกับภาพ RGB แล้ว ภาพที่ออกมานั้นจะมีมิติ มีความลึก รวมถึง Contrast ที่กว้างกว่ากล้องมือถือทั่วไป นอกนี้กล้องคู่ Huawei ยังใช้สำหรับโหมดการถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลออีกด้วย
- กล้องตัวแรก ใช้ในการถ่ายรูปสี
- กล้องตัวที่สอง ใช้ในการถ่ายรูปขาวดำ
- หลักการทำงาน เอาภาพ เซนเซอร์ขาวดำ และ เซนเซอร์สี (RGB) มารวมกันทำให้รูปที่ได้ออกมามีมิติ
- จุดเด่น ภาพที่ได้จะมี Contrast สูง เก็บแสงและรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดีกว่ากล้องปกติ
- พบในโทรศัพท์รุ่น Huawei P9 , P9 Plus , Mate 9 , Mate 9 pro , P10 , P10 Plus
2. กล้องคู่เลนส์ Zoom
Apple ได้นำเสนอกล้องคู่แบบนี้เป็นรุ่นแรกใน iPhone 7 Plus โดยตัวแรกเป็นเลนส์ระยะปกติใช้ถ่ายรูปทั่วไป ตัวที่ 2 เป็นเลนส์ Tele ใช้สำหรับถ่ายภาพระยะไกล (ระยะประมาณ 50 mm.) ทำให้การ Zoom 2 เท่า เป็นการซูมแบบ Optical Zoom ที่ไม่เสียรายละเอียดของรูป และ Zoom มากสุดถึง 10 เท่า แบบ Digital Zoom แต่ในการใช้งานจริง iPhone 7 Plus ก็ไม่ได้ใช้งานกล้องตัวที่ 2 ในการ Zoom ตลอด เพราะถ้าเราอยู่ในที่แสงน้อย iPhone 7 Plus จะใช้กล้องระยะปกติถ่ายแล้วทำการ Crop รูปแทน เนื่องจากกล้องตัวที่ 2 ที่เป็นเลนส์เทเลโฟโต้นั้น มีค่ารูรับแสงที่ f/2.8 การถ่ายรูปในที่แสงน้อยเลยทำได้ไม่ดีนัก
นอกจากจะมี iPhone 7 Plus แล้วที่ใช้กล้องคู่แบบนี้ก็ยังมี Zenfone Zoom S , OPPO R11 และ OnePlus 5 ที่เพิ่งเปิดตัวกันไปไม่นาน โดยหลักการทำงานนั้นก็จะคล้าย ๆ กับของ iPhone 7 Plus เกือบทั้งหมด
- กล้องตัวแรก ถ่ายรูปในระยะปกติ
- กล้องตัวที่สอง ใช้ในการถ่ายรูประยะไกล
- หลักการทำงาน กล้องตัวแรกเอาไว้ถ่ายรูปปกติ กล้องตัวที่ 2 ใช้ Zoom ภาพ 2-10 เท่า
- จุดเด่น เอาไว้ Zoom ภาพระยะไกลโดยไม่เสียรายละเอียด , ใช้ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอ
- พบในโทรศัพท์รุ่น iPhone 7 Plus , OnePlus 5 , OPPO R11 , Zenfone Zoom S
3. กล้องคู่เลนส์ Wide
สุดท้ายกล้องคู่ของ LG ที่เน้นเลนส์มุมกว้างโดยเลนส์ตัวแรกนั้นเป็นเลนส์ระยะปกติ ส่วน เลนส์ตัวที่สองนั้นเป็นเลนส์มุมกว้าง 135 องศา (Ultra Wide) ซึ่งทำให้เราถ่ายรูปได้กว้างขึ้น แต่ภาพนั้นจะบิดเบี้ยวเล็กน้อยตามสไตล์ของเลนส์ Wide กล้องคู่ของ LG นั้นจึงเหมาะกับคนที่ชอบถ่ายภาพมุมกว้างโดยเฉพาะภาพวิว ไม่เน้นการถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอเหมือนกับสมาร์ทโฟนกล้องคู่รุ่นอื่น ๆ
- กล้องตัวแรก ถ่ายรูปในระยะปกติ
- กล้องตัวที่สอง เลนส์ตัวที่สองนั้นเป็นเลนส์มุมกว้าง 135 องศา
- หลักการทำงาน กล้องตัวแรกเอาไว้ถ่ายรูปปกติ กล้องตัวที่ 2 ใช้ Zoom ภาพ 2 เท่า Zome มากสุดถึง 10 เท่า แต่เป็น Digital Zoom ใช้ซอฟแวร์ช่วยเพิ่มความคมชัด
- จุดเด่น เอาไว้ Zoom ภาพที่เราจะถ่ายโดยไม่เสียรายละเอียด
- พบในโทรศัพท์รุ่น LG G5 , LG V20 , LG G6
ส่วนการถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอบนสมาร์ทโฟนนั้น หลักการก็คือการถ่ายภาพพร้อมกัน 2 ภาพ มาทำการซ้อน จากนั้นก็ใช้ซอฟท์แวร์ช่วยในการละลายฉากหลัง ลักษณะการทำงานเช่นนี้ก็เลยทำให้สมาร์ทโฟนบางรุ่นที่มีการประมวลผลเร็วพอ สามารถถ่ายภาพหน้าชัด – หลังเบลอได้เช่นกัน (Samsung Galaxy S7, Galaxy S8, Sony Xperia XZ เป็นต้น) แต่การที่มีกล้องคู่จะช่วยให้ภาพหน้าชัด – หลังเบลอนั้นเนียนตามากขึ้น และในสมาร์ทโฟนกล้องคู่ของ Huawei ยังทำการ Refocus หรือเลือกจุดโฟกัสหลังถ่าย รวมถึงจำลองค่ารูรับแสงเลือกความเบลอมาก เบลอน้อยได้อีกด้วย แตกต่างจากกล้องคู่ใน iPhone 7 Plus ที่เป็นกล้อง 2 ระยะ เลยทำให้ไม่สามารถ Refocus หลังถ่ายภาพได้นั่นเอง
นอกจากกล้องคู่ 3 ประเภทที่ว่ามาแล้ว ก็ยังมีกล้องคู่แบบปกติมาตรฐาน ที่เป็นการใส่กล้อง 2 ตัว ระยะเดียวกัน แต่ทำไว้เพื่อถ่ายหน้าชัด – หลังเบลอโดยเฉพาะ เช่น Huawei GR5 2017, Huawei Honor 6 Plus และในบางรุ่นก็ใส่กล้องหน้าคู่เอาไว้เพื่อเซลฟี่แบบหน้า – หลังเบลอ และยังทำการ Refocus ได้อีก เช่น Vivo V5 Plus เป็นต้น