HUAWEI ถือเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยเทคโนโลยี, นวัตกรรม รวมถึงความคุ้มค่า พูดกันตรง ๆ คือ HUAWEI ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ที่ขายของแพง แต่ประเด็นคือด้วยความที่ไม่ได้ขายของแพง อย่างรุ่นเรือธงที่เปิดราคามาไม่ถึง 30,000 บาท ในขณะที่คู่แข่งอัดราคากันไปถึง 40,000 บาทก็มีให้เห็นในตลาด Premium Smartphone แถมยังเป็นสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนอีก แบบนี้เรื่องมาตรฐานของสินค้าจะเป็นอย่างไร มือถือ HUAWEI จะไว้ใจได้ไหมในเรื่องของคุณภาพ?
บทความนี้ผมจะเล่าเรื่องสายงานการผลิตสมาร์ทโฟน HUAWEI จากที่ได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมชมทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสมาร์ทโฟน HUAWEI ที่กรุงปักกิ่ง และสายการผลิตสมาร์ทโฟน HUAWEI ที่สำนักงานใหญ่ HUAWEI ณ กรุงเซิ่นเจิ้น ประเทศจีน ได้ไปเห็นขั้นตอนการผลิต HUAWEI P20 แบบใกล้ชิด เห็นถึงกระบวนการผลิต, การทดสอบคุณภาพของสินค้าก่อนที่จะส่งถึงมือลูกค้าอย่างเรา ๆ
อ่านเพิ่มเติม: Who is HUAWEI? (CBG) หัวเว่ยคือใคร แล้วเจ๋งพอที่จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกได้หรือไม่?
ก่อนที่จะไปชมขั้นตอนการผลิตสมาร์ทโฟน HUAWEI ที่โรงงานเซิ่นเจิ้น ผมจะพาไปชมกระบวนการทดสอบและพัฒนาสมาร์ทโฟน HUAWEI ที่กรุงปักกิ่งก่อน เพราะข้อมูลส่วนนี้ก็ถือเป็นข้อมูลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะส่วนตัวผมเอง หลังจากได้เยี่ยมชมขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก่อนที่จะเปิดสายการผลิตจริง ทำให้พอจะเข้าใจเลยว่า ทำไมสมาร์ทโฟน HUAWEI ถึงได้ Strong ในเรื่องของภาครับสัญญาณเป็นอย่างมาก ใส่ซิมอะไรก็จับคลื่นได้อย่างดีไม่มีปัญหา สมกับที่เป็นแบรนด์ Network ระดับต้น ๆ ของโลกมาก่อน
สถาบันวิจัย HUAWEI ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
สถาบันวิจัยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2016 ห้องวิจัยดังกล่าวตั้งอยู่ในอาคาร Q6 และ Q7 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร มีห้องแล็ปทั้งหมด 23 ห้อง ใน 9 ประเภทการวิจัย อีกทั้งติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทคระดับมืออาชีพมากกว่า 7,000 ชิ้น ทำให้สามารถทดสอบสมาร์ทโฟนได้ 5,000 เครื่องพร้อมกัน หรือเทียบเท่ากับ 40 ล้านเครื่องต่อเดือน นี่คือสิ่งที่ HUAWEI บรีฟให้ผม กับนักข่าวให้ทราบถึงข้อมูลคร่าว ๆ ก่อนที่จะไปเยี่ยมชมจริง
แต่พอไปถึงศูนย์วิจัยจริง ๆ ต้องบอกเลยว่า เป็นศูนย์วิจัยที่ (โคตร) ใหญ่มาก ๆ เลยครับ สำคัญคือใช้เครื่องจักรในการทดสอบเป็นส่วนใหญ่ ในห้องแล็ปจะใช้คนงานน้อยมาก โดย HUAWEI ให้เหตุผลว่าในการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ การใช้เครื่องจักรจะสามารถควบคุมตัวแปร และทดสอบได้แม่นยำมากกว่า อย่างการทดสอบการตกกระแทก จะได้มุม องศา แรงเหวี่ยง หรือแรงกดทับที่เท่ากันในทุกการทดสอบ เป็นต้น
ศูนย์วิจัยของ HUAWEI ที่ผมได้ไปเยี่ยมชม จะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
- Automated End Device Test Center
ห้องวิจัยนี้มีเครื่องทดสอบอัตโนมัติถึง 800 เครื่องสำหรับการทดสอบสมาร์ทโฟน 5,000 เครื่องได้ในเวลาเดียวกัน ห้องวิจัยแห่งนี้เป็นห้องวิจัยที่สนับสนุนการทำงานของแผนกต่าง ๆ ทั้งการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ การทดสอบผลิตภัณฑ์ และฝ่ายบำรุงรักษาระบบปฏิบัติงานต่าง ๆ ช่วยให้ทุกฝ่ายทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ ‘การพัฒนาซอฟต์แวร์’ ที่ไร้ข้อผิดพลาดให้เร็วที่สุด
ระบบอัตโนมัติในห้องวิจัยนี้ทำงานได้เร็วเทียบเท่ากับการทำงานของพนักงาน 10,000 คน ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันซี่งเป็นห้องวิจัยระดับชั้นนำของอุตสาหกรรม สามารถทำการวิจัยได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับห้องวิจัยของกูเกิล
- The Communication Protocol Test Lab
ห้องวิจัยนี้สามารถรองรับมาตรฐานการสื่อสารและคลื่นวิทยุทุกประเภทเพื่อจำลองสภาพเครือข่ายให้หลากหลายมากที่สุด โดยสามารถจำลองเครือข่ายของ 14 ประเทศ 36 เมือง และสถานที่กว่า 100 สถานที่ (เช่น ภูเขา สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต) โดยสามารถจำลองสัญญาณได้มากถึง 50 สัญญาณในเครือข่ายรูปแบบต่าง ๆ ถือเป็นระดับสูงสุดของอุตสาหกรรม
ห้องวิจัยนี้สามารถจำลองมาตรฐานการสื่อสารและคลื่นความถี่ได้ทุกประเภทเพื่อจำลองสภาพเครือข่ายให้ได้หลากหลายรูปแบบมากที่สุด โดยรองรับมากกว่า 1,000 แบบ จากเครือข่ายผู้ให้บริการขนาดใหญ่ได้กว่า 20 ราย ห้องวิจัยนี้สามารถจำลองสภาพการสื่อสารที่หลากหลายทั้งการใช้เสียง การใช้ข้อมูล การค้นหาอินเทอร์เน็ต รวมไปถึง VoWifi, VoLTE, CA และ MIMOนอกจากนี้ ห้องวิจัยนี้ยังเป็นห้องวิจัยเดียวที่ระบบ Wi-Fi มีการผสานการทำงานของทั้ง CDMA และ GUTL เข้าด้วยกัน
ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ HUAWEI ที่ได้ใช้ประโยชน์จากห้องทดสอบนี้เต็ม ๆ ก็คือสมาร์ทโฟนเรือธง Mate Series เลยครับ ที่ในงานเปิดตัวมีการเคลมเลยว่ารับได้แทบจะทุกเครือข่ายในโลก ไม่ได้โมเมว่าแค่ตัวรับสัญญาณครอบคลุม แต่มันผ่านการทดสอบมาแล้วว่า ใช้งานได้ทุกเครือข่ายแบบเต็มประสิทธิภาพจริง ๆ
- Reliability Lab
เป็นห้องวิจัยที่ทดสอบความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ด้วยการจำลองสถานการณ์การใช้งานต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงความทนทานของสมาร์ทโฟนหัวเว่ย ห้องวิจัยนี้สามารถทดสอบระดับความล้าของสมาร์ทโฟน ความคงทนของสมาร์ทโฟน แรงกระทำเชิงกลต่อสมาร์ทโฟน ระดับความทนทานของส่วนประกอบต่าง ๆ ในสมาร์ทโฟน ความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือน ความทนทานต่ออุณหภูมิที่ร้อนจัด รวมทั้งการกระจายความร้อน
ห้องวิจัยความคงทนของผลิตภัณฑ์สามารถทดสอบผลิตภัณฑ์โดยการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เทียบเท่าการใช้งานสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันเป็นเวลานานกว่า 1 ปี ซึ่งขั้นตอนการทดสอบต่าง ๆ จะทำในขั้นต่ำเป็นหลักล้านครั้ง ได้แก่
การทดสอบการตก
เป็นการจำลองการตกหล่นของสมาร์ทโฟนในระดับความสูงและสถานการณ์ต่าง ๆ ในห้องทดสอบจะมีเครื่องจักรหลากหลายแบบ ทั้งแบบทิ้งให้ตกลงแบบดื้อ ๆ หรือการตกแล้วตกอีกในเครื่องทดสอบที่เหมือนเครื่องซักผ้า สมาร์ทโฟนตัวทดสอบจะถูกเหวี่ยงในถังไปเรื่อย ๆ
ทดสอบความทนทานต่อความชื้น, ฝุ่นละออง
ระดับความทนทานต่อความชื้นของสมาร์ทโฟนหัวเว่ยอยู่ในระดับ IPX2 คือทนทานต่อละอองฝน ละอองน้ำจากการสาดหรือหกใส่ หรือของเหลวในลักษณะเทียบเท่า ส่วนระดับความทนทานต่อทรายและฝุ่นนั้นจะอยู่ที่ระดับ 5 หรือ 6 คือป้องกันอุปกรณ์จากฝุ่นที่เกาะตัวหรือฝุ่นทรายที่อาจจะปลิวมากระทบสมาร์ทโฟน
เอาเป็นว่ามาตรฐานเบื้องต้นของสมาร์ทโฟน HUAWEI คือ IP52 หรือ IP62 นั่นเอง แต่ในรุ่นท็อปอย่าง HUAWEI Mate 10 Pro ที่กันน้ำ ก็จะเป็นมาตรฐาน IP67 โน่นเลยครับ
ทดสอบความทนทานต่อแรงสะเทือน
หัวเว่ยยังทดสอบความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนได้ในห้องวิจัยนี้ ซึ่งครอบคลุมถึงการสั่นสะเทือนระดับต่ำในชีวิตประจำวัน ทั้งการใช้งานในยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ เช่น รถยนต์หรือจักรยาน รวมถึงแรงสั่นสะเทือนระหว่างการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
นอกจากนี้ ห้องวิจัยนี้ยังสามารถทำการทดสอบการใช้สมาร์ทโฟนนำทางบนยานพาหนะหรือสถานที่ที่มีการสั่นไหวรุนแรงเป็นเวลาขั้นต่ำ 3 ชั่วโมงด้วย
ทดสอบความทนทานในอุณหภูมิต่าง ๆ
รวมไปถึงจำลองสภาพแวดล้อมที่ระดับน้ำทะเลหรือริมชายหาดเพื่อศึกษาการใช้งาน (เรื่องเกลือ) อีกทั้งยังจำลองอุณหภูมิสูง – ต่ำ หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างเฉียบพลัน (ทดสอบมากกว่า 240 ชั่วโมง) รวมทั้งสภาพเปียกหรือชื้น ซึ่งการทดสอบต่าง ๆ เป็นไปตามมาตรฐานต่างของทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และประเทศอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่
- Antenna Test Lab
ห้องวิจัยนี้สามารถทำการศึกษาหรือทดลองเพื่อปรับปรุงคุณภาพของการสื่อสารทางโทรศัพท์ การเชื่อมต่อข้อมูลที่รวดเร็วและการใช้ GPS ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมให้แก่ผู้ใช้โดยห้องวิจัยเสาสัญญาณนี้ ประกอบด้วย ห้องทดสอบที่ไร้การสะท้อนของคลื่นไมโครเวฟ (microwave anechoic chamber), ห้องทดสอบการสะท้อนกลับของคลื่น (reverberation chamber), และห้องทดสอบที่มีความแม่นยำสูงสุด
- Audio Lab
ห้องวิจัยด้านเสียงของหัวเว่ยมีอุปกรณ์สำหรับพัฒนาอุปกรณ์ด้านเสียง วิจัยอัลกอริธึ่ม และตรวจสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์เสียงกว่า 200 ชิ้น ช่วยให้ผู้ใช้ได้รับฟังเสียงที่ดีที่สุดจากสมาร์ทโฟนโดยห้องวิจัยด้านเสียงของหัวเว่ยเป็นห้องวิจัยด้านเสียงแห่งเดียวในประเทศจีนที่สามารถทำการทดสอบต่าง ๆ ตามเกณฑ์ของกลุ่ม 3GPP, Vodafone และมาตรฐานสากลอื่น ๆ
ห้องวิจัยนี้ช่วยให้หัวเว่ยสามารถทดสอบอุปกรณ์ก่อนวางจำหน่ายร่วมกับผู้ให้บริการชั้นนำอย่าง AT&T, Vodafone, Verizon และอื่น ๆ ได้ จัดเป็นห้องวิจัยในประเทศจีนแรกที่ผ่านเกณฑ์การลดเสียงรบกวน 3PASS noise reduction test system อันเป็นมาตรฐานล่าสุดของสถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมแห่งยุโรป (ETSI) เนื่องจากยังไม่มีห้องวิจัยอื่นใดที่ได้รับการรับรองนี้เพิ่มเติมในปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่าห้องวิจัยด้านเสียงของหัวเว่ยเป็นห้องวิจัยที่มีระบบทดสอบการลดเสียงเสียงรบกวนที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
สภาพของห้องวิจัยด้านเสียงนี่เป็นอะไรที่อะเมซิ่งสำหรับผมมากครับ เพราะตัวห้องจะเป็นห้องเก็บเสียงในห้องเก็บเสียงอีกที เริ่มจากห้องแล็ปที่อยู่ใต้ดิน ใช้วัสดุซับเสียงทั้งห้อง แล้วในห้องทดสอบ หากดูจากภาพที่เป็นห้องหนาม ๆ อันนั้นจะทำให้ไม่สามารถมีเสียงรบกวนเล็ดลอดเข้าไปในห้องได้ ทำให้ผลการทดสอบมีความแม่นยำเป็นอย่างมาก ส่วนการทดสอบก็จะใช้โมเดลที่เหมือนหัวมนุษย์ แล้วก็แนบโทรศัพท์ HUAWEI เข้าไปในลักษณะของการใช้งานจริง
นอกจากนี้ผมยังได้ความรู้จากวิศวกรของ HUAWEI เกี่ยวกับการใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มเติมในเรื่องของเสาสัญญาณ ในสมาร์ทโฟนที่บอดี้เป็นโลหะ จะต้องมีเสาสัญญาณแยกต่างหาก ฉะนั้นในการใช้งาน พยายามเลี่ยงการสัมผัสกับเสาอากาศโดยตรง เพราะจะทำให้ภาครับสัญญาณอ่อนลง รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้เคสโทรศัพท์ที่เป็นโลหะด้วย ถ้าสังเกตดี ๆ เคสโทรศัพท์ที่เป็นรุ่น Official ของ HUAWEI จะไม่ใช้วัสดุที่เป็นโลหะเลยครับ
สายการผลิตสมาร์ทโฟน HUAWEI ณ กรุงเซิ่นเจิ้น ประเทศจีน
พอจะได้เห็นมาตรฐานของ HUAWEI ในการทดสอบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปบ้างแล้ว ก็มาต่อที่สายการผลิตจริงสำหรับสมาร์ทโฟน HUAWEI โดยรุ่นที่ผมได้ไปเยี่ยมชมสายการผลิตเป็นสมาร์ทโฟนเรือธงอย่าง HUAWEI P20 ได้เห็นตั้งแต่อุปกรณ์ยังเป็นชิ้น ๆ จนกระทั่งเป็นเครื่อง และจับแพ็กใส่กล่องกันเลยทีเดียว
ตามนี้ครับ ไปชมทั้งสายการผลิต เขาให้ถ่ายได้แค่รูปนี้แหละ T-T
ความน่าเสียดายอย่างเดียวคือในสายการผลิต (รวมถึงห้องวิจัย) ทาง HUAWEI ไม่อนุญาตให้บันทึกภาพ หรือบันทึกวีดีโอได้นี่ล่ะครับ
สายการผลิตสมาร์ทโฟนจะเริ่มที่ขั้นตอนการเตรียมวัสดุต่าง ๆ ให้พร้อม แล้วเริ่มที่การผลิตเมนบอร์ด ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดก่อน ในสายการผลิตจะเป็นเส้นตรง คือเริ่มจากต้น ไล่ไปเรื่อย ๆ จนถึงปลายสายการผลิต ซึ่งก็คือการแพ็กของใส่กล่อง ตัวเมนบอร์ดของสมาร์ทโฟน HUAWEI ในขั้นตอนการผลิตจะมี Barcode ไม่ซ้ำกัน แล้วพอเข้าสู่ขั้นตอนการประกอบ ก็จะทำการ Sync ตัวเมนบอร์ดเข้ากับ Serial Number ของสมาร์ทโฟนอีกที
ในขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนเมนบอร์ด สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ถึงคุณภาพเลยคือมีการตรวจสอบอยู่ตลอด และมีทำการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการถัดไป (Double check) การตรวจสอบมาตรฐานจะใช้ทั้งเครื่องจักร และมนุษย์ร่วมกัน
เมนบอร์ดของสมาร์ทโฟน HUAWEI จะมีการทำ Shielding Cover ทุกชิ้นส่วน เพื่อป้องกันการช้อต ส่วนสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับคุณสมบัติกันน้ำ ก็จะมีการเคลือบสารกันน้ำที่เมนบอร์ดเข้าไปอีกด้วย
ในกระบวนการบางส่วนที่ต้องใช้ความร้อน เช่น การติดกาว ชิ้นส่วนก็จะถูกพักให้มีอุณหภูมิปกติ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการถัดไป ไม่ใช่ว่ายิงกาวร้อน ๆ มาแล้วก็เอาไปประกอบกับตัวเครื่องเลยทันที แบบนี้ไม่ถูกต้องครับ
หลังจากที่ได้เมนบอร์ดสมาร์ทโฟนแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการลำเลียงเมนบอร์ด ส่งต่อเพื่อประกอบเข้ากับตัวเครื่อง และชิ้นส่วนอื่น ๆ ในการลำเลียงชิ้นส่วนไม่ได้ใช้คนนะครับ HUAWEI ใช้หุ่นยนต์ในการส่ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดระหว่างการส่งชิ้นส่วน ทั้งที่เป็นระยะทางสั้น ๆ ประมาณ 2 – 3 ก้าวเท่านั้น ยอมใจเลย = =a
หุ่นยนต์จะขนของจะหน้าตาประมาณนี้
พอประกอบเมนบอร์ดกับชิ้นส่วนต่าง ๆ จนพอเห็นเป็นตัวเครื่อง HUAWEI P20 แล้ว ตัวเครื่องก็จะถูกจับยัดเข้ากับกรอบที่เหมือนเคสกันกระแทกแบบ Bumper เพื่อป้องกันริ้วรอย และเข้าสู่กระบวนการ Double check ด้วยแรงงานมนุษย์ + เครื่องจักร คือตอนเป็นเมนบอร์ดก็ทดสอบมาแล้ว ยังทดสอบซ้ำตอนประกอบเสร็จในหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น
- การทดสอบเซ็นเซอร์ต่าง ๆ
- ทดสอบพอร์ตเชื่อมต่อ, การชาร์จไฟ
- ทดสอบความทนทาน 11 ชั่วโมง
- จำนวนการทดสอบจะอยู่ที่ประมาณ 1,600 ครั้ง
- มีการควบคุมอุณหภูมิในการทดสอบด้วยพัดลม
- ทดสอบหน้าจอ
- ทดสอบกล้อง
- ทดสอบด้านเสียง จะเป็นห้องเก็บเสียง มีพนักงานนั่งอยู่ในห้อง เสียบหูฟังในการฟังเสียง รวมถึงทดสอบเสียงลำโพงว่าดังตามมาตรฐานหรือไม่
- ทดสอบแบตเตอรี่
- ทดสอบเรื่องการรับสัญญาณ
สมาร์ทโฟนที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบทั้งจากเครื่องจักร และการ recheck ด้วยมนุษย์ ก็จะเข้าสู่กระบวนการแต่งจตัว ก่อนที่จะถูกยัดลงกล่อง ได้แก่ การปั๊ม Logo รวมถึงรายละเอียด, ระบุ IMEI, แปะ Barcode และทำการซีลพลาสติก ขั้นตอนพวกนี้แทบจะใช้เครื่องจักรในการผลิตทั้งหมด
ในสายการผลิตสมาร์ทโฟน HUAWEI ต่อ 1 สายการผลิตเนี่ย ใช้แรงงานมนุษย์ประมาณ 20 คนเท่านั้นเองครับ ส่วนที่เหลือคือเป็นเครื่องจักรทั้งหมด แม้แต่การขนเครื่องที่ผลิตเสร็จแล้วเข้าโกดังเพื่อเตรียมส่งสินค้าไปยังที่ต่าง ๆ ก็ยังใช้หุ่นยนต์ในการขนส่ง ส่วนปริมาณในการผลิตสมาร์ทโฟน เท่าที่ได้สอบถามกับทางพนักงานที่ดูแลสายการผลิต HUAWEI P20 มีอัตราการผลิตอยู่ที่ 28.5 วินาทีต่อเครื่อง คือทุก ๆ 28.5 วินาที จะมี HUAWEI P20 ที่พร้อมส่งถึงมือลูกค้า 1 เครื่องนั่นเอง
ทั้งหมดนี้ก็คือภาพรวมของสายการผลิต รวมถึงกระบวนการวิจัยและพัฒนาสมาร์ทโฟน HUAWEI ที่ผมได้ไปเยี่ยมชมทั้งศูนย์วิจัย และสายการผลิตมาด้วยตาตัวเอง ยอมรับเลยว่า HUAWEI เป็นแบรนด์ที่จริงจังมากในด้านมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ทั้งการทดสอบที่คุมตัวแปรได้เป็นอย่างดี, การผลิตที่ดูแล้วโอกาสผิดพลาดแทบจะเป็นศูนย์ และกระบวนการควบคุมคุณภาพที่ตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีก สมกับที่เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนระดับโลกล่ะครับ