
7 วิธีแก้เมื่อโทรศัพท์ตกน้ำ โทรศัพท์เปียกน้ำทำยังไงดีในปี 2025 อะไรที่ควรและไม่ควรทำบ้าง
โทรศัพท์เปียกน้ำเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น หรืออยู่ในช่วงของวันสงกรานต์ และโดนสาดน้ำหรือโทรศัพท์เปียกน้ำขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่โทรศัพท์มือถือ กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในห้องน้ำ ระหว่างเดินทาง หรือแม้แต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากโทรศัพท์โดนน้ำหรือเปียกน้ำ สิ่งสำคัญที่สุดคือ อย่าพึ่งใจร้อนหรือตกใจเกินไป แนะนำว่าให้ลองดำเนินการแก้ไขอย่างถูกวิธี เดี๋ยววันนี้ทาง Specphone จะพาไปดู 7 วิธีแก้ไขเมื่อโทรศัพท์ตกน้ำ หรือโทรศัพท์เปียกน้ำ รวมถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรทำ เพื่อช่วยให้โทรศัพท์ของเรากลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมในปี 2025
อะไรบ้างที่ไม่ควรทำหากโทรศัพท์เปียกน้ำ หรือตกน้ำ
มือถือรุ่นใหม่ๆ ที่กันน้ำได้ IP54, IP67, IP68, IP69 ต้องกังวลไหม หากมือถือตกน้ำหรือเปียกน้ำ?
ถึงแม้ว่ามือถือรุ่นใหม่ที่มีมาตรฐานกันน้ำ เช่น IP54, IP67, IP68 และ IP69 หรืออื่นๆ ที่มีความสามารถในการป้องกันน้ำในระดับต่างๆ แต่การใช้งานในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำยังต้องระมัดระวัง แม้จะมีคุณสมบัติกันน้ำก็ตาม เพราะมาตรฐานเหล่านี้มีข้อจำกัดอยู่ด้วย เช่น
- IP54: ป้องกันฝุ่นบางส่วนและละอองน้ำจากทุกทิศทาง แต่ไม่สามารถทนต่อการแช่ในน้ำได้
- IP67: ป้องกันฝุ่นได้สมบูรณ์และสามารถแช่น้ำลึกสูงสุด 1 เมตร เป็นเวลา 30 นาที เช่น การตกน้ำในอ่างล้างมือหรือสระตื้น
- IP68: ป้องกันฝุ่นอย่างสมบูรณ์และสามารถแช่น้ำลึกกว่า 1.5 เมตร เป็นเวลา 30 นาที เช่น สระว่ายน้ำ
- IP69: ทนต่อแรงดันน้ำสูงและอุณหภูมิสูง รวมถึงการฉีดน้ำแรงดันสูงจากหลายมุม เช่น งานภาคสนามหรืออุตสาหกรรม และกิจกรรมแอดเวนเจอร์
ข้อควรระวังเมื่อเกิดเหตุโทรศัพท์ตกน้ำ
- ความลึกและระยะเวลา: แม้ว่า IP68 จะรองรับการแช่น้ำลึกถึง 1.5 เมตร แต่การใช้งานเกินเวลาที่กำหนดอาจทำให้เครื่องเสียหายได้
- ประเภทของน้ำ: น้ำเค็มหรือมีสารเคมี เช่น น้ำทะเล อาจทำให้เกิดการกัดกร่อน แม้จะมีมาตรฐานกันน้ำ ควรล้างด้วยน้ำจืดทันทีหลังสัมผัส
- ความเสียหายทางกายภาพ: รอยแตกหรือชิปรอบตัวเครื่องสามารถลดประสิทธิภาพของมาตรฐานกันน้ำลงได้
- แรงดันน้ำ: แม้ IP69 จะรองรับแรงดันสูง แต่ไม่ควรนำไปใช้ในสถานการณ์ที่เกินขอบเขต
7 วิธีแก้เมื่อโทรศัพท์ตกน้ำ โทรศัพท์เปียกน้ำทำยังไงดีในปี 2025

1. รีบนำโทรศัพท์ขึ้นจากน้ำ หรือเอาออกจากกระเป๋าหากเปียกน้ำ
เมื่อโทรศัพท์ตกน้ำหรือเปียกน้ำ สิ่งแรกที่ต้องทำคือรีบหยิบโทรศัพท์ออกจากน้ำทันที เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าสู่ตัวเครื่องมากขึ้น หากโทรศัพท์อยู่ในกระเป๋าที่เปียกน้ำ ควรรีบนำออกมาโดยเร็วที่สุด ยิ่งปล่อยให้อยู่ในสภาพแช่น้ำนาน ความเสียหายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นได้ แม้โทรศัพท์บางรุ่นจะมีคุณสมบัติกันน้ำ แต่การแช่น้ำเกินเวลาที่กำหนดก็อาจทำให้วงจรภายในเสียหายได้ การรีบดำเนินการในขั้นตอนนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

2. หาผ้าแห้งเช็ดด่วน
หลังจากนำโทรศัพท์ออกจากน้ำแล้ว ให้ใช้ผ้าแห้งหรือกระดาษทิชชู่ซับน้ำ ในบริเวณตัวเครื่องอย่างรวดเร็ว หรือถ้าเป็นไปได้ก็ให้เช็ดในช่องต่างๆ ด้วยทิชชู่ได้ โดยให้ความสำคัญกับบริเวณพอร์ตต่างๆ เช่น ช่องชาร์จ ลำโพง และช่องใส่ซิมการ์ด การเช็ดน้ำออกให้มากที่สุดจะช่วยลดโอกาสที่น้ำจะซึมเข้าสู่ภายในตัวเครื่อง หากไม่มีผ้าแห้ง สามารถใช้เสื้อผ้าแห้งหรือวัสดุอื่นที่สะอาดแทนได้ แต่ต้องระวังอย่าใช้วัสดุที่มีขนหรือฝุ่น เพราะอาจทำให้เกิดปัญหามากกว่าเดิมได้
3. ปิดเครื่องทันที
หลังจากเช็ดน้ำออกเบื้องต้น สิ่งสำคัญคือการปิดเครื่องทันที หากเครื่องยังเปิดอยู่ ซึ่งการปิดเครื่องจะช่วยป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และลดความเสียหายต่อวงจรภายในได้ ที่สำคัญคือห้ามกดปุ่มใดๆ บนตัวเครื่องเด็ดขาด เพราะอาจทำให้น้ำซึมลึกเข้าไปในระบบมากขึ้น หากเครื่องดับไปแล้ว อย่าพยายามเปิดเครื่องจนกว่าจะแน่ใจว่าแห้งสนิท การปิดเครื่องอย่างรวดเร็วนั้น เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยรักษาโทรศัพท์ไว้ได้
4. ถอดส่วนประกอบออก เท่าที่จะทำได้
การถอดส่วนประกอบที่สามารถถอดได้ เช่น ซิมการ์ด เมมโมรี่การ์ด หรือแบตเตอรี่ (สำหรับรุ่นที่สามารถถอดแบตเตอรี่ได้) เพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม ใช้ผ้าแห้งซับน้ำออกจากส่วนประกอบเหล่านี้ และเช็ดบริเวณช่องใส่ซิมหรือช่องเสียบต่างๆ ให้แห้งสนิท การถอดส่วนประกอบพวกนี้ ก็จะช่วยลดโอกาสที่น้ำจะสะสมอยู่ภายใน และส่งผลต่อการทำงานของระบบได้นั่นเอง

5. เป่าลมให้แห้ง ห้ามใช้ลมร้อน
หลังจากถอดส่วนประกอบแล้ว ให้ใช้ลมเย็น เช่น พัดลมหรือเครื่องเป่าลมแบบเย็น เป่าให้ทั่วบริเวณที่เปียก โดยเฉพาะช่องเสียบต่างๆ ห้ามใช้ลมร้อนเด็ดขาด เช่น ไดร์เป่าผมหรืออุปกรณ์ให้ความร้อน หรือนำไปตากแดด เพราะอาจทำให้วงจรภายในเสียหาย กาวละลาย หรือพลาสติกบางส่วนละลายได้เลยทีเดียว การเป่าลมเย็นเป็นวิธีปลอดภัยที่ช่วยเร่งการทำให้โทรศัพท์แห้งได้ดีกว่า

6. ใช้ซิลิก้าเจลเพื่อดูดความชื้น (ถ้ามี) ถ้าไม่มีให้วางผึ่งลมไว้เฉยๆ
นำโทรศัพท์และส่วนประกอบทั้งหมดใส่ลงในถุงพลาสติก หรือกล่องที่มีซิลิก้าเจล ซึ่งสามารถช่วยดูดความชื้นออกจากตัวเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่พอจะหาได้ในขณะนั้น แต่ถ้าหากไม่มีซิลิก้าเจล สามารถวางโทรศัพท์ไว้ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เช่น บริเวณหน้าพัดลม หรือในห้องที่ไม่อับชื้น ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าความชื้นถูกกำจัดออกไปหมดแล้ว

7. หากเปิดเครื่องได้แล้ว ใช้แอพไล่น้ำออกจากลำโพงช่วยเสริมได้
เมื่อมั่นใจว่าโทรศัพท์แห้งสนิทแล้ว ลองเปิดเครื่องเพื่อตรวจสอบการทำงาน หากพบว่าน้ำยังค้างอยู่ในระบบเสียง เช่น ลำโพง ให้ใช้แอพ Tone Generator หรือแอพไล่น้ำออกจากลำโพง โดยเปิดเสียงความถี่ต่ำถึงสูงเพื่อช่วยให้แรงสั่นของเสียงดันน้ำออก วิธีนี้เป็นวิธีเสริมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเสียงผิดปกติ หลังจากโทรศัพท์เปียกน้ำได้ดีเลย
- Android: Sound Wave Tone Generator
- iOS: Sonic | Tone Generator
น้ำเข้าลำโพงไอโฟน ลำโพงไม่ดังไม่ต้องตกใจ มาดูวิธีไล่น้ำออกจากลำโพง iPhone ด้วยตัวเองง่ายๆ ฟรี!
อะไรที่ไม่ควรทำบ้าง เมื่อโทรศัพท์เปียกน้ำ หรือตกน้ำ
- อย่าเสียบสายชาร์จขณะเปียกน้ำ
- การเสียบสายชาร์จในขณะที่โทรศัพท์ยังเปียกอยู่ อาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ไฟไหม้ หรือเกิดเหตุร้ายแรงได้
- อย่าเขย่าหรือเคาะโทรศัพท์แรงๆ
- การเขย่าแรงๆ อาจทำให้น้ำกระจายเข้าสู่ส่วนอื่นของวงจรภายในได้ ซึ่งจะเพิ่มความเสียหายมากขึ้น
- อย่าใช้ไดร์เป่าผมลมร้อน หรือใช้ความร้อนเด็ดขาด
- ความร้อนจากไดร์เป่าผม หรือลมร้อนต่างๆ สามารถทำลายวงจรภายใน กาว และส่วนประกอบพลาสติกของโทรศัพท์ได้
- อย่ารีบเปิดเครื่องหรือกดปุ่มใดๆ
- การเปิดเครื่องก่อนที่โทรศัพท์จะแห้งสนิท อาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และสร้างความเสียหายถาวรต่อวงจรภายใน
- อย่าใช้ข้าวสารในการดูดความชื้น หรือแช่ถังข้าวสาร
- ความเชื่อผิดๆ แต่ปางก่อน ที่หลายคนเข้าใจผิด แม้ว่าข้าวสารจะเป็นวิธีที่เคยได้รับความนิยม แต่เมล็ดข้าวที่แตกละเอียด หรือว่าฝุ่นจากข้าวนั้น สามารถเข้าไปติดในพอร์ตต่างๆ รวมถึงวงจรภายใน และสร้างปัญหาเพิ่มเติม ไปจนถึงความชื้นสะสมภายในได้เลย ควรเลือกใช้ซิลิก้าเจลแทนเพราะมีประสิทธิภาพมากกว่าและปลอดภัยกว่าด้วย (ดูเพิ่มเติม)

คำถามที่คนมักค้นหา (FAQ)
- โทรศัพท์ตกน้ำ ต้องปิดเครื่องทันทีหรือไม่?
- ควรปิดเครื่องทันทีเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
- ใช้ข้าวสารดูดความชื้นได้ผลจริงหรือไม่?
- อาจได้ในสมัยก่อนสำหรับมือถือรุ่นถึกๆ แต่สมัยใหม่ไม่ควรแล้ว เพราะอาจมีฝุ่นเข้าไปในวงจรได้ รวมถึงความชื้นสะสมด้วย
- ถ้าโทรศัพท์เปียกน้ำเค็ม ควรทำอย่างไร?
- ควรล้างด้วยน้ำจืดเบาๆ เพื่อลดผลกระทบจากเกลือ จากนั้นเช็ดให้แห้งและดำเนินการตามขั้นตอนปกติ
- โทรศัพท์เปียกน้ำแล้วเปิดไม่ติด ซ่อมได้หรือไม่?
- ซ่อมได้ในบางกรณี หากวงจรภายในไม่ได้เสียหายหนัก ควรนำโทรศัพท์ไปที่ศูนย์บริการหรือร้านซ่อมที่เชื่อถือได้เพื่อตรวจสอบและแก้ไข
- แอพไล่น้ำออกจากลำโพงช่วยได้จริงหรือไม่?
- แอพไล่น้ำ เช่น Tone Generator สามารถช่วยผลักน้ำออกจากลำโพงได้โดยใช้คลื่นเสียงความถี่ได้จริง
เมื่อโทรศัพท์ตกน้ำ การตั้งสติและแก้ไขอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การรีบนำโทรศัพท์ออกจากน้ำ ปิดเครื่อง และใช้วิธีดูดความชื้น เช่น ซิลิก้าเจล จะช่วยลดความเสียหายได้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการใช้วิธีที่ผิด เช่น การเป่าลมร้อนหรือแช่ข้าวสาร หากแก้ไขเบื้องต้นแล้วยังพบปัญหา ควรส่งศูนย์บริการเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อรักษาโทรศัพท์ให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานต่อไป