วิธีเช็ค Facebook Login ว่าใครเข้าของเราอยู่ และวิธีออกจากระบบทั้งหมด
Facebook เป็นหนึ่งแอปฯ ที่ได้รับความนิยมและเป็นอันดับ 1 ของ platform ที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก ซึ่งในประเทศไทยของเรานั้นมีผู้ใช้งาน Facebook ติดอันดับ 5 ของโลกเลย แน่นอนว่าการใช้งาน Facebook นั้นไม่เพียงแต่เป็นการใช้งานแบบส่วนตัวอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของกลุ่ม, แฟนเพจ, การขายของ รวมถึงการโฆษณาสินค้าหรือบริการได้ด้วย เรียกได้ว่าเกือบจะครอบคลุมและเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน และชีวิตประจำวันไปแล้ว (ไม่รวมคนที่ไม่เล่นนะ) ปัญหาอย่างหนึ่งของการเล่น Facebook เลยก็คือการโดนแฮก หรือมีคนเข้ามา Login ใน Facebook ของเราทั้งที่เรายังไม่ได้ไป Login ไว้ที่ไหนเลย เดี๋ยววันนี้ทาง Specphone จะมาบอกวิธีเช็ค Facebook Login ว่ามีใครกำลังเข้าใช้งานเฟสเราอยู่หรือเปล่า พร้อมกับวิธีออกจากระบบ หรือว่ามีคนเอาเฟสเราไปเล่นนั่นเอง แถมวิธีป้องกันการโดนแฮกให้ด้วย ตามไปดูกันเลย
วิธีเช็คว่าใคร Login Facebook ของเราอยู่ และวิธี Log Out เครื่องอื่นออกจากระบบ
สำหรับวิธีเช็คนี้สามารถทำได้ทั้งบนหน้า Browser หรือว่าในมือถือเลยก็ได้ เดี๋ยวเราจะมาบอกวิธีทำของทั้งสอง platform แบบ Step by step เลย พร้อมวิธีออกจากระบบด้วย จะได้จบไปในทีเดียวไม่ต้องมีวิธีขั้นตอนมากมาย แถมทำได้ง่ายมากๆ ขอเริ่มจากวิธีทำบนหน้า Browser ก่อนเลยมีวิธีทำดังนี้
วิธีเช็ค Facebook Login บนคอมฯ
1. เข้าไปที่เว็บ facebook.com ถ้ายังไม่ได้เข้าสู่ระบบให้เข้าสู่ระบบก่อน แต่ถ้าเข้าสู่ระบบไว้อยู่แล้วก็ให้กดไปที่ปุ่มตัวเลือก (ปุ่มสามเหลี่ยมด้านบนชวา) และเลือก การตั้งค่าและความเป็นส่วนตัว -> การตั้งค่า
2. เมื่อเข้ามาแล้วให้เลือกเมนู การรักษาความปลอดภัยและการเข้าสู่ระบบ (Security and Login ) เมื่อกดแล้วจะเห็นได้ว่าทางฝั่งขวานั้น จะมีรายการที่บอกอยู่ว่ามีอุปกรณ์อะไรบ้างบน Facebook Login อยู่ ให้กดที่ปุ่ม ดูเพิ่มเติม เพื่อดูว่ามีเครื่องอื่นนอกจากเราใช้งานอยู่หรือไม่
3. หลังจากนั้นจะเห็นได้ว่าข้อมูลอุปกรณ์ที่เคยเข้าสู่ระบบ หรือว่ามีคนเข้าสู่ระบบของเราอยู่จะขึ้นมาโชว์ทั้งหมดเลย ให้เราดูว่าอุปกรณ์ไหนไม่ใช่ของเราที่ใช้งานอยู่บ้าง ซึ่งบางครั้งระบบจะจัดเก็บข้อมูลการเข้าสู่ระบบทั้งหมดของเรา ไม่ว่าจะเป็นมือถือที่ใช้งานอยู่ หรือว่าเคยใช้งานก็ตาม ถ้าอุปกรณ์ไหนที่ไม่ใช่ของเรา ให้กดที่ปุ่มจุด 3 จุดด้านหลังของข้อมูลอุปกรณ์นั้น และเลือก ออกจากระบบ แต่ถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่มั่นใจ อยากจะกดออกจากระบบทุกอุปกรณ์เลย ก็ให้กดไปที่ปุ่มด้านล่าง ออกจากระบบทุกอุปกรณ์ เพียงเท่านี้ทุกอุปกรณ์บน Facebook ที่ Login เอาไว้ก็จะออกจากระบบทั้งหมดทันที
4. นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าบนปุ่มตัวเลือกด้านบนของการออกจากระบบนั้น จะมีเมนู ไม่ใช่คุณใช่ไหม อยู่ด้วย ซึ่งปุ่มนี้เราสามารถกดเข้าไปตรวจสอบได้เหมือนกันถ้าไม่ใช่เราเอง เมื่อกดเข้าไปแล้วจะมีข้อมูลบอกว่าอุปกรณ์ที่ได้ Login เข้ามาเมื่อไหร่ จากที่ไหน และเข้าไปทำอะไรมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการกดเพิ่มเพื่อน ลบเพื่อน หรือว่าเข้ากลุ่มต่างๆ ก็จะมีบอกไว้หมดเลย ถ้าไม่ใช่เราเอง ก็ให้กด รักษาความปลอดภัยของบัญชี และทำการเปลี่ยน Password ใหม่ทั้งหมด
วิธีเช็ค Facebook Login บนมือถือ
มาถึงวิธีเช็คผ่านแอปฯ facebook บนมือถือกันบ้าง ซึ่งจะมีวิธีทำที่คล้ายกันเลย และยังตรวจสอบข้อมูลได้เหมือนกันด้วย จะขอสรุปเป็นวิธีที่ไม่ยาวมากได้ดังนี้
1. เข้าไปยังแอปฯ ของ Facebook จากนั้นกดเข้าไปที่ปุ่มตัวเลือก (ขีด 3 ขีดด้านขวาสุด) ให้เลื่อนลงไปที่ด้านล่างสุดจากนั้นเลือกเมนู การตั้งค่าและความเป็นส่วนตัว -> การตั้งค่า
2. เมื่อเข้ามาแล้วให้กดไปต่อที่เมนู การรักษาความปลอดภัยและการเข้าสู่ระบบ (Security and Login) ก็จะมีข้อมูลเหมือนกับบน Browser เลยคือข้อมูลของ อุปกรณ์ที่คุณเข้าสู่ระบบอยู่ ให้กดไปต่อที่ ดูทั้งหมด เพื่อดูข้อมูลว่ามีอุปกรณ์อื่นๆ อีกหรือไม่ที่เข้าสู่ระบบ Facebook ของเราอยู่
3. หลังจากนั้นก็ให้เราเลือกอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ของเราโดยการกดปุ่มจุด 3 จุดด้านหลังชื่ออุปกรณ์และ ออกจากระบบ หรือกด รักษาความปลอดภัยบัญชี เพื่อดูว่าอุปกรณ์นั้นเข้าไปทำอะไรมาบ้าง ถ้าไม่ใช่ตัวเราเองก็ให้กดไม่ใช่คุณใช่ไหม เพื่อเปลี่ยนรหัสใหม่ทั้งหมด หรือถ้าไม่มั่นใจว่าไปเข้าเครื่องไหนไว้ตอนไหนบ้าง จะกด ออกจากระบบทุกอุปกรณ์ เลยก็ได้เหมือนกัน แล้วค่อยเข้าสู่ระบบใหม่อีกครั้ง
วิธีป้องกันการโดนแฮก
สำหรับวิธีป้องกันการโดนแฮกนี้ จะเป็นการป้องกันการเข้าสู่ระบบโดยคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา โดยการป้องกันนี้จะเป็นการป้องกันการเข้าสู่ระบบโดยการเตือน หรือเป็นการยืนยันก่อนเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะช่วยให้ Account ของเราปลอดภัยขึ้นอีกขั้น อย่างน้อยก็เป็นป้องกันเอาไว้ก่อน ดีกว่าโดนแฮกทีหลัง ขั้นตอนแรกนั้นให้เข้ายังหน้า การรักษาความปลอดภัยและการเข้าสู่ระบบ ตามวิธีเช็คการเข้าสู่ระบบ Facebook ด้านบนเลย ก็จะมีเมนูรักษาความปลอดภัยขึ้นมา จะมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบหลักๆ คือ
การยืนยันตัวตนแบบสองชั้น
จะเป็นการยืนยันแบบสองชั้นที่สามารถตั้งค่าได้ว่าจะใช้อะไรในการเตือนขั้นที่สองคือใช้ Google Authenticator หรือ Duo Mobile, ส่งข้อความเป็น SMS และใช้คีย์รักษาความปลอดภัย หรือจะเลือกใช้รหัสผ่านก่อนเข้าแอปฯ facebook ก็ได้เหมือนกัน แล้วแต่ว่าเราอยากจะใช้แบบไหนในการยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งาน แนะนำว่าใช้เป็น Google Authenticator ที่มีความปลอดภัยสูงจะดีที่สุด
การตั้งค่าการรักษาความปลอดภัยพิเศษ
วิธีนี้จะเน้นเป็นการแจ้งเตือนก่อนเข้าใช้งานทุกครั้งผ่านทาง SMS หรือทาง Email ที่เราสามารถเลือกได้ทั้งสองแบบ หรืออีกทางก็คือให้เลือกเพื่อน 3 ถึง 5 คนที่สามารถไว้วางใจได้ โดยการตั้งค่านี้จะช่วยในกรณีที่เราไม่สามารถเข้าสู่ระบบ facebook ได้ และเพื่อนเหล่านี้จะเป็นคนช่วยกู้ facebook ของเรากลับมาได้อีกครั้ง (อ่านต่อ.. วิธีกู้ facebook เมื่อเข้าสู่ระบบไม่ได้)
ขั้นสูง
แบบสุดท้ายคือแบบขั้นสูง ที่เราสามารถตั้งค่าได้ว่าจะใช้ Email แจ้งเตือน โดยเราเท่านั้นที่สามารถถอดรหัสนี้ได้ ระบบจะให้ใส่คีย์สาธารณะ OpenPGP ของตัวเอง หรือของ facebook เอาไว้ก็ได้เหมือนกัน ส่วนอีกอันจะเป็นการกู้คืนบัญชีโดยใช้คีย์บัญชีที่บันทึกไว้ จะทำให้เราสามารถเข้า facebook ได้โดยการใช้อีก facebook ในการกู้คืน
นอกจากนี้เรายังสามารถปิดการติดตามของ facebook ได้ด้วย เผื่อในกรณีที่ไม่อยากให้ facebook ติดตามเราไปทุกที่เพราะทาง facebook จะเก็บข้อมูลการเดินทางของเราทั้งหมดเอาไว้ด้วย ขั้นตอนแรกคือให้เข้าที่ facebook.com/history เมื่อเข้ามาแล้วจะเห็นได้ว่า facebook นั้นได้เก็บข้อมูลการเดินทางเอาไว้ด้วยตามวันต่างๆ ถ้าใครไม่อยากโดนติดตามขนาดนั้น ก็ให้กดเข้าไปที่รูปเฟือง และกดลบประวัติตำแหน่งที่ตั้งทั้งหมด จากนั้นจึงเข้าไปที่การตั้งค่า และเข้าที่เมนูตำแหน่งที่ตั้งเพื่อปิดประวัติตำแหน่งที่ตั้ง เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ facebook เลิกติดตามเราได้แล้ว และก็ขอแนะนำว่าให้เปลี่ยน Password อยู่เสมอเพื่อป้องกันการโดนแฮกได้อีกทั้งด้วย และถ้ามีเรื่องไหนน่าสนใจอีก เราก็จะเอามาฝากกันเรื่อยๆ เลยนะครับ