ก็เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ สำหรับ Samsung Galaxy S6 สมาร์ทโฟนรุ่นท็อป (แต่ยังไม่สุด) ของ Samsung ประจำปีนี้ ก็นับเป็นรุ่นที่ 6 ที่มีออกมาแล้ว ซึ่งรุ่น S ของแต่ละปีนี่ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นรุ่นแห่งการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เจ๋งๆ กันอย่างเต็มที่มาตลอด ในบทความนี้เราเลยจับ Galaxy S ของแต่ละปีมาเทียบสเปค เทียบจุดเด่นให้เห็นกันครับ ว่าแต่ละปี Galaxy S มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่ที่ดีขึ้น และแง่ที่แย่ลง เอาเป็นว่ามาดูจากตารางสรุปสเปคแบบง่ายๆ กันก่อนละกัน
สำหรับสเปคในตารางนี้ จะเน้นรุ่นโมเดลย่อยที่ขายในไทยนะครับ (เช่นพวกการรองรับ 3G/4G)
ส่วนความจุ คือความจุที่มีให้เลือกทั้งหมดของแต่ละรุ่นเลย
หน้าจอ
ถ้าย้อนไปตอนเปิดตัว Samsung Galaxy S ตัวแรก ต้องบอกว่าเป็นรุ่นที่ใช้เปิดตัวเทคโนโลยีจอ Super AMOLED ที่ให้สีสันสวยงาม จุดที่เป็นสีดำก็ดำสมจริงที่สุด (ในสมัยนั้น) และเทคโนโลยีจอ Super AMOLED ของ Samsung เองนี้ ก็ได้มาอยู่ในมือถือหลายๆ รุ่นในภายหลัง ซึ่งมือถือในซีรี่ส์ Galaxy S เองก็ยังคงใช้จอชนิดนี้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน แถมยังมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ อีกด้วย
ส่วนในแง่ของความละเอียดภาพ แน่นอนครับว่าก็ต้องมีการพัฒนามาตามยุคสมัย ซึ่งในแต่ละปี มือถือ Samsung Galaxy S ประจำปีนั้นก็จะเลือกใช้จอที่ความละเอียดสูงกว่า เมื่อเทียบกับรุ่นท็อปจากแบรนด์อื่นๆ อยู่เสมอ จะมาตกม้าตายหน่อยก็ตอน Galaxy S5 ที่ดันเปิดมาแค่จอ Full HD ไม่เป็นจอ QHD (2K) อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ซึ่งก็คาดว่าเหตุผลหนึ่งคือน่าจะกั๊กเอาไว้ให้กับ Note 4 ช่วงปลายปี เลยทำให้ Galaxy S5 เลือกใช้แค่จอ Full HD เท่านั้น (แต่ก็ดีในเรื่องประหยัดพลังงานนะ)
ในปีนี้ กับ Galaxy S6 ได้เลือกใช้จอขนาด 5.1 นิ้วเท่า S5 แต่มาพร้อมความละเอียดถึงระดับ 2K สมกับความเป็นรุ่นท็อปเสียที ส่วนเรื่องประสบการณ์การใช้งานจริงจะทำได้ดีขนาดไหน คงต้องรอดูกันอีกทีครับ
ผล: พัฒนาขึ้น
ชิปประมวลผล
เป็นอีกเรื่องที่ Samsung ทำได้เก่งพอสมควร กับการพัฒนาชิปประมวลผลของตนเองในชื่อ Exynos ที่ Samsung เริ่มนำชื่อนี้เข้ามาในตลาดตอนช่วง Galaxy S2 และก็ใส่มาใน Galaxy S รุ่นต่อๆ มาทุกรุ่น แต่จะว่าไป เมื่อก่อน ชิป Exynos ก็ยังมีจุดด้อยกว่าชิปตระกูล Snapdragon ของ Qualcomm อยู่บ้างก็เช่น เรื่องการรองรับ 4G LTE ที่ Exynos ยังไม่รองรับ ทำให้มือถือตระกูล Galaxy S บางรุ่น จำเป็นต้องมีการเลือกใช้ชิปประมวลผลที่แตกต่างออกไปในบางประเทศ เลยเกิดปัญหาการสับสน ดราม่ากันไปบ้างพอสมควร มาในภายหลัง ชิป Exynos สามารถใช้งาน 4G LTE ได้ในตัวแล้ว จึงตัดปัญหาเรื่องนี้ไปได้ แต่ก็ยังเหลือปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานอีกอยู่ดี เพราะถ้าให้เลือกได้ ส่วนใหญ่ก็อยากจะได้รุ่นที่ใช้ชิป Snapdragon กันมากกว่า Exynos ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ
ส่วนเรื่องจำนวนคอร์ประมวลผลนั้น ก็มีการเพิ่มขึ้นมาทุกๆ ปีเช่นกัน เริ่มจาก 1 มา 2 มา 4 แล้วก็มา 8 ซึ่งเจ้าพวก 8 คอร์นี้ ก็จะแบ่งย่อยออกเป็น 4 คอร์สำหรับงานหนัก กับอีก 4 คอร์สำหรับงานเบา ตามแต่รูปแบบการใช้งานอีก ซึ่งจุดนี้ก็ดูเหมือน Samsung จะพัฒนาได้ดีขึ้นมาเรื่อยๆ เหมือนกัน ด้านของผลเทสประสิทธิภาพคงไม่ต้องบอกล่ะนะครับ เพราะมันต้องแรงขึ้นทุกปีอยู่แล้ว
ผล: พัฒนาขึ้น
แรม
นับว่าผิดคาดเหมือนกันที่ Galaxy S6 มาพร้อมแรมแค่ 3 GB เท่านั้น ซึ่งหลายท่านคงคาดว่าคงจะกั๊กแรม 4 GB ไว้ตอน Note 5 ละมั้ง แต่ความจริงแล้ว อาจจะมีอีกสาเหตุหนึ่งครับ นั่นคือ S6 มันมาพร้อมแรม DDR4 ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของแรมสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเราๆ ซึ่งแรม DDR4 น่าจะเริ่มเห็นใช้งานกันในมือถือรุ่นท็อปหลายๆ ตัวของปีนี้กันแล้วล่ะ (รวมถึงแวดวงคอมพิวเตอร์ด้วย) ส่วนประโยชน์หลักๆ ของมันก็คือ แรงกว่า DDR3 ที่เราใช้กันทั่วไปนั่นเอง
ผล: พัฒนาขึ้น
รอม / MicroSD
ที่ผ่านมา Samsung วางคอนเซ็ปท์ให้มือถือในซีรี่ส์ Galaxy S เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเพิ่ม ปรับ เปลี่ยนอุปกรณ์ในเครื่องได้ เช่นการเพิ่มหน่วยความจำด้วย MicroSD การถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ เป็นต้น เลยทำให้ฝาหลังมันสามารถแกะออกได้มาตลอด และเป็นจุดแข็งที่ผู้ใช้หลายๆ คนชอบมาหลายปี แต่พอมา Galaxy S6 กลับกลายเป็นว่ามันถูกออกแบบมาให้ไม่สามารถแกะฝาหลังได้ ที่หนักไปกว่านั้นคือ มันดันไม่มีช่องใส่ MicroSD ที่หลายๆ คนชอบอีกด้วย เรียกว่าจุดแข็งหายไปหนึ่งข้อเลยทีเดียว (ทีนี้ก็ไปเยาะเย้ยสาวก iPhone ไม่ได้ละสินะ) แต่จากในการเปิดตัว ทาง Samsung เคลมว่า Galaxy S6 เลือกใช้หน่วยความจำแบบ eMMC ที่ให้ความเร็วสูงกว่าเดิม อันนี้คงต้องรอดูกันอีกทีว่าจะเร็วอย่างที่คุยไว้หรือเปล่า
ส่วนเรื่องรอมภายในเครื่อง ก็ยังคงมีทางเลือกให้ผู้ใช้เช่นเดิม ได้แก่ 32, 64 หรือ 128 GB อันนี้ก็คงต้องรอดู Samsung ประเทศไทยกันอีกทีล่ะครับว่าจะเอาความจุไหนมาทำตลาดบ้าง ซึ่งส่วนตัวผมมองว่า 32 GB น่าจะเป็นตัวหลักเลยล่ะ และในแง่ของการใช้งานจริงแล้ว 32 GB ก็จัดว่ากำลังโอเคอยู่นะ น่าจะไม่เต็มง่ายๆ ถ้าไม่ลงหนัง ลงเพลงไว้เยอะเกินไป แต่ก็อย่างว่าล่ะครับ เพิ่ม MicroSD ได้ อุ่นใจกว่าเยอะ
ดังนั้นในจุดนี้ ถือว่าเสมอตัวไปแล้วกันนะ
กล้องหลัง / กล้องหน้า
กล้องหลัง: แม้ว่าเลขความละเอียดของกล้อง Galaxy S6 จะออกมา 16 ล้านเท่ากับ S5 ก็ตาม แต่ในแง่ของฮาร์ดแวร์ต้องบอกว่ามีการพัฒนาขึ้นมาพอสมควรเลยทีเดียว เริ่มจากเลนส์ที่เปลี่ยนมาใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุด f/1.9 ที่ช่วยให้สามารถถ่ายภาพได้ออกมาสว่างกว่าเดิม ถ่ายภาพได้นิ่งกว่าที่ผ่านมา (รูรับแสงกว้าง ทำให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ ได้) แถมยังเพิ่มโมดูลกันสั่น OIS ในแบบฮาร์ดแวร์ของจริงมาด้วย ช่วยให้สามารถถ่ายภาพได้นิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะการถ่ายวิดีโอที่คงได้ภาพสั่นไหวน้อยลงกว่าเดิมลงไปอีก และถือว่าทำออกมาได้สมกับการเป็นมือถือรุ่นท็อปจริงๆ เสียที แถมตอนเปิดตัวก็ยังข่ม iPhone ซะเต็มที่เลยด้วย
กล้องหน้า: นอกจากจะเพิ่มความละเอียดมาเป็น 5 ล้านพิกเซลแล้ว ยังเปลี่ยนมาใช้เลนส์ที่มีค่ารูรับแสงกว้างสุด f/1.9 เท่ากับกล้องหลังด้วย เชื่อได้ว่าภาพถ่ายเซลฟี่คงจะออกมาดีกว่าเดิม สว่างสวยเนียนกว่าเก่าพอสมควรเลย
แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูผลจากเครื่องขายจริงกันอีกทีครับ
ผล: พัฒนาขึ้น
แบตเตอรี่
ข้อนี้ก็อย่างที่พูดถึงไปแล้วในหัวข้อรอมและ MicroSD นะครับ คือมันมาพร้อมข้อที่ด้อยลงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดเลย ตรงที่ไม่สามารถแกะฝาหลังได้ จึงทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่เองได้ด้วย แบตหมด ก็ไม่สามารถเอาแบตก้อนที่สองมาใส่ใช้งานแทนได้ หรือเวลาเครื่องมีปัญหา ก็ไม่สามารถแกะแบตเพื่อปิดเครื่องได้ เป็นต้น จุดนี้น่าจะทำให้เป็นที่ขัดใจคนที่กำลังเล็ง Galaxy S6 อยู่พอสมควร แถมความจุแบตเตอรี่มันยังลดปริมาณลงกว่า Galaxy S4 และ S5 ที่เป็นรุ่นก่อนหน้าลงซะดื้อๆ อีกด้วย ปัญหายิ่งหนักใหญ่เลยคราวนี้ แม้จะเป็นเลขแค่ไม่กี่ร้อย mAh ก็ตาม แต่มันก็ส่งผลต่อการเลือกซื้อของผู้ใช้งานอยู่เหมือนกันนะ แบตน้อย แถมถอดแบตไม่ได้แบบนี้ สู้ไปซื้อรุ่นอื่นที่ให้แบตมาซัก 3000 mAh ขึ้นไปจะดีกว่า ยอมถอดแบตไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
แต่ก็ใช่ว่าจะมีข้อเสียอย่างเดียว เพราะในงานเปิดตัว Samsung Galaxy S6 ได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีการชาร์จแบตเตอรี่ที่สามารถทำได้เร็วมากๆ เพียงแค่ 10 นาที ก็สามารถชาร์จแบตจนใช้โทรศัพท์ได้ 4 ชั่วโมงแล้ว แต่พวกเทคโนโลยีชาร์จเร็วแบบนี้ แน่นอนครับว่ามันก็จะใช้ได้เต็มประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อใช้ร่วมกับอะแดปเตอร์และสายที่แถมมากับเครื่องเป็นหลักซะมากกว่า แต่ที่น่าสนใจกว่าคือมีการนำเสนอด้วยว่ามีการปรับแต่งซอฟต์แวร์ รวมถึงฮาร์ดแวร์ในเครื่องให้กินไฟน้อยลง จึงทำให้สามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้นานขึ้น แม้ความจุแบตจะแค่ 2550 mAh เท่านั้น ตรงจุดนี้คงต้องรอการรีวิวแบบเต็มฉบับอีกทีนะ ว่ามันจะทำได้ดีกว่ารุ่นเก่าหรือเปล่า
ผล: ให้แย่ลง 70% ดีขึ้น 30% ละกัน
ฟีเจอร์พิเศษอื่นๆ
สแกนลายนิ้วมือ: Galaxy S6 ก็ยังคงมาพร้อมเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือเหมือนใน Galaxy S5 อยู่ครับ แต่รอบนี้มาพร้อมการพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก เพราะผู้ใช้งานสามารถสแกนด้วยการแตะนิ้วบนปุ่มเฉยๆ ได้แล้ว !!! (เหมือนใน iPhone นั่นแหละ) จากที่แต่เดิมต้องใช้การรูดนิ้วผ่าน ซึ่งมันไม่สะดวกกับการใช้งานจริงมากๆ ดังนั้นถือว่าในรอบนี้ Samsung พัฒนามาเป็นแบบที่ควรจะเป็นได้เสียที
Samsung Pay: ได้รับการเปิดตัวแบบจริงจังเสียที กับระบบการจ่ายเงินด้วยมือถือของ Samsung ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องใชับัตรเครดิตในการชำระเงินอีกต่อไป เพียงแค่ยื่นมือถือเข้าไปใกล้ๆ เครื่องจ่ายเงิน จากนั้นก็สแกนลายนิ้วมือบนปุ่มโฮม เพียงเท่านี้ก็จ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรูปแบบของระบบและการทำงานก็ต้องบอกว่าเหมือนๆ กับ Apple Pay เลย แต่ระบบนี้ดูท่าว่าอีกนาน กว่าจะได้เห็นการใช้งานในไทยอย่างจริงจังล่ะนะ
ระบบตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ: ยังมีมาให้เหมือนเดิม อันนี้คงต้องรอใช้งานจริงกันอีกทีครับ ว่าจะใช้ง่าย วัดแม่นหรือเปล่า
การกันน้ำ กันฝุ่น: หลังจากที่ Galaxy S5 มาพร้อมการกันน้ำกันฝุ่นที่ก็ทำได้ดีพอสมควร ก็เป็นที่คาดหวังว่า Galaxy S6 จะยังคงกันน้ำได้เหมือนเดิม แต่พอเปิดตัวออกมา ปรากฏว่าคดีพลิก เพราะ Samsung ตัดฟีเจอร์นี้ออกไปซะอย่างนั้น เรียกว่าจุดเด่นหายไปหนึ่งข้อเต็มๆ เลยทีเดียว ซึ่งก็นับว่าน่าแปลกใจมาก เพราะบอดี้ของ Galaxy S6 ที่เป็นแบบยูนิบอดี้ ฝาหลังแกะไม่ได้แบบนี้ ดูจะเหมาะกับการกันน้ำเข้าเครื่องซะมากกว่า Galaxy S5 ที่แกะฝาหลังได้เสียอีก นับว่าน่าแปลกใจมากๆ กับจุดนี้