กระแสข่าวช่วงนี้ที่มาแรงที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีระหว่างสหรัฐอเมริกากับทาง Huawei ที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ทั้งในประเด็นของการระงับความร่วมมือระหว่าง Huawei กับ Google ประเด็นเรื่องการต่อ license ให้ 3 เดือน และยังอาจพ่วงรวมไปถึงบริษัทอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ที่มีความเกึ่ยวข้องกับทาง Huawei อีกด้วย ล่าสุดก็มีพ่วงเข้ามาอีกรายแล้วครับ รอบนี้จัดว่าเป็นข่าวใหญ่ที่น่าสนใจมากทีเดียว นั่นคือกรณีของบริษัท ARM จากในสหราชอาณาจักร (UK)
โดยประเด็นนี้ได้รับการนำเสนอโดยสำนักข่าว BBC ของประเทศอังกฤษอันเป็นต้นกำเนิดของบริษัท ARM เอง ได้รายงานว่า ทางผู้บริหารของ ARM ได้แจ้งกับพนักงานของตนให้ยุติความร่วมมือทางธุรกิจกับ Huawei และบริษัทในเครือในทุกกรณี ทั้งในแง่ของความร่วมมือที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ การสนับสนุน และความร่วมมือที่อยู่ในแผนการดำเนินงานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในเชิงธุรกิจ เชิงเทคนิคก็ตาม ด้วยสาเหตุที่ว่า แม้บริษัทจะมีต้นกำเนิดจากใน UK ก็ตาม แต่เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการออกแบบโครงสร้างชิปประมวลผลของ ARM นั้น เป็นเทคโนโลยีที่มีต้นกำเนิดมาจากสหรัฐอเมริกา จึงส่งผลมาถึง ARM ด้วย
ซึ่งประกาศภายในฉบับนี้ จะส่งผลถึงการพัฒนาชิปประมวลผล HiSilicon Kirin ของ Huawei แบบเต็ม ๆ ครับ โดยอาจจะกระทบกับการพัฒนาชิปประมวลผลรุ่นถัดไป หรืออย่างแย่ที่สุดก็อาจจะกระทบกับชิปรุ่นใหม่ที่คาดว่าจะได้รับการเปิดตัวในช่วงปลายปีนี้ด้วย
ล่าสุด โฆษกของ ARM ได้ให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ Android Authority ว่า “บริษัท ARM จะปฏิบัติตามแนวทาง และระเบียบของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา” ซึ่งเท่ากับว่าถ้าสหรัฐฯ มีทิศทางต่อประเด็นนี้อย่างไร ก็จะส่งผลถึงความร่วมมือระหว่าง ARM กับ Huawei ด้วยโดยตรง
ARM เกี่ยวข้องอย่างไรกับ Huawei
ARM เป็นบริษัทออกแบบโครงสร้างชิปประมวลผล รวมถึงยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรในการออกแบบชิปประมวลผลอีกเป็นจำนวนมาก โดยชิปประมวลผลสำหรับอุปกรณ์พกพาในปัจจุบันเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชิปตระกูล Kirin, Snapdragon, Apple Ax, MediaTek, Exynos ล้วนแล้วแต่เป็นชิปที่พัฒนาต่อยอดมาจากโครงสร้างที่พัฒนาขึ้นโดย ARM ตามสถาปัตยกรรมชุดคำสั่งแบบ RISC ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าลองหาข้อมูลของชิปแต่ละรุ่นดี ๆ ก็จะเห็นข้อมูลของสถาปัตยกรรมคอร์ว่าเป็น ARM Cortex แล้วตามด้วยเลขต่าง ๆ อันเป็นสถาปัตยกรรมคอร์ที่พัฒนาโดยอิงมาจากสิทธิบัตรของ ARM ทั้งหมด
ซึ่งการที่แต่ละบริษัทผู้ผลิตชิปอย่างเช่น Qualcomm, Huawei, Apple จะสามารถผลิตชิปเหล่านี้ได้ จะต้องทำสัญญาเช่าใช้สิทธิบัตรพร้อมจ่ายเงินให้กับ ARM เท่ากับว่า หาก ARM ยุติความร่วมมือกับ Huawei ก็จะส่งผลให้ Huawei ไม่สามารถพัฒนาและผลิตชิป Kirin ในอนาคตได้นั่นเอง
ทางออกของปัญหา
ทางที่ดีที่สุดคือต้องหวังว่า ARM จะประกาศสานต่อความร่วมมือกับ Huawei ต่อไป ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ล้วน ๆ เลย
สำหรับทางแก้หาก Huawei ไม่สามารถพัฒนาชิปด้วยสถาปัตยกรรมของ ARM ได้ อันนี้บอกเลยว่าเป็นเรื่องใหญ่ครับ เพราะอาจส่งผลให้ Huawei ต้องหันไปพัฒนาชิปด้วยสถาปัตยกรรมอื่น เช่น ชิปจากสถาปัตยกรรมอื่นที่ใช้งานชุดคำสั่งแบบ RISC เหมือนกับ ARM ตัวอย่างก็พวก PowerPC ของ IBM และ RISC-V (แต่คงต้องมาจากผู้ผลิตอื่นที่ไม่ได้อยู่ในสหรัฐฯ) หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องย้ายไปใช้สถาปัตยกรรมชุดคำสั่งแบบอื่นไปเลย ซึ่งอันหลังนี้จะเรื่องใหญ่กว่ามาก เพราะเท่ากับต้องยกแผงการพัฒนาใหม่แทบทั้งหมด
#อัพเดตล่าสุดจาก Huawei อย่างเป็นทางการ
สำหรับประเด็นนี้ทาง Huawei ได้มีการชี้แจงจากทางโฆษก แปลออกมาคร่าว ๆ ได้ดังนี้
“เราให้ความสำคัญกับความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างเรากับคู่ค้าเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยความกดดันจากรอบด้านที่แต่ละฝ่ายได้รับมานั้น ได้ส่งผลถึงการตัดสินใจ และทิศทางในการดำเนินงานที่ได้รับผลมาจากนโยบายทางการเมือง โดยทางเราหวังว่าสถานการณ์นี้จะได้รับการคลี่คลายโดยเร็ว ซึ่งเรายังคงมุ่งมั่น และให้ความสำคัญที่จะนำเสนอเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ชั้นยอดของเราไปยังลูกค้าของเราที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลกเป็นอันดับแรก”
ที่มา: Android Authority, BBC, The Verge