Apple ได้ยื่นจดสิทธิบัตรสำหรับเซ็นเซอร์ภาพรุ่นใหม่ที่อาจทำให้อุปกรณ์ในอนาคตอย่าง iPhone และอุปกรณ์อื่นๆ ของ Apple สามารถถ่ายภาพและวิดีโอด้วยไดนามิกเรนจ์ที่ใกล้เคียงกับสายตามนุษย์มากยิ่งขึ้น
รายละเอียดสิทธิบัตรจาก Apple

สิทธิบัตรนี้มีชื่อว่า “Image Sensor With Stacked Pixels Having High Dynamic Range And Low Noise” ซึ่งถูกค้นพบโดย Y.M.Cinema Magazine โดยเนื้อหากล่าวถึงสถาปัตยกรรมเซ็นเซอร์ขั้นสูงที่ผสานเทคโนโลยีซิลิคอนซ้อนชั้น การรับแสงหลายระดับ และกลไกการลดสัญญาณรบกวนในตัวชิป เพื่อให้ได้ไดนามิกเรนจ์สูงสุดถึง 20 สต็อป
เพื่อเปรียบเทียบ ไดนามิกเรนจ์ของสายตามนุษย์นั้น ถูกประเมินว่าอยู่ที่ประมาณ 20 ถึง 30 สต็อป ขึ้นอยู่กับการปรับขนาดรูม่านตา และการประมวลผลแสงในแต่ละช่วงเวลา ขณะที่กล้องสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบันรองรับไดนามิกเรนจ์ระหว่าง 10 ถึง 13 สต็อป หากเซ็นเซอร์ที่ Apple ขอยื่นไปนั้นสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ก็จะไม่เพียงแต่เหนือกว่า iPhone รุ่นปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังอาจแซงหน้ากล้องถ่ายภาพยนตร์ระดับมืออาชีพอย่าง ARRI ALEXA 35 อีกด้วย
รายละเอียดในสิทธิบัตรระบุว่า เซ็นเซอร์แบบซ้อนชั้นนี้ประกอบด้วยสองเลเยอร์ เลเยอร์บนสุดหรือ Sensor die ทำหน้าที่รับแสง ขณะที่เลเยอร์ด้านล่างหรือ Logic die รับผิดชอบการประมวลผล เช่น การลดสัญญาณรบกวนและการควบคุมการรับแสง ปัจจุบันทาง Apple ใช้เซ็นเซอร์จาก Sony ใน iPhone ทุกรุ่น ซึ่งก็เป็นดีไซน์แบบสองเลเยอร์เช่นกัน แต่เวอร์ชันของ Apple จะมีฟีเจอร์เฉพาะตัวและใช้พื้นที่น้อยกว่า
หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการออกแบบเซ็นเซอร์นี้คือระบบที่เรียกว่า Lateral Overflow Integration Capacitor (LOFIC) ซึ่งช่วยให้แต่ละพิกเซลในเซ็นเซอร์สามารถเก็บแสงได้ในปริมาณที่แตกต่างกันตามความสว่างของฉากในภาพเดียวกัน นั่นหมายความว่าเซ็นเซอร์นี้จะสามารถจัดการกับความแตกต่างของแสงที่กว้างมาก ๆ ได้ เช่น การถ่ายภาพบุคคลที่ยืนอยู่หน้าหน้าต่างที่สว่างจ้า โดยไม่สูญเสียรายละเอียดทั้งในส่วนมืดและสว่าง
อีกจุดเด่นหนึ่งคือการลดสัญญาณรบกวนและเกรนภาพ โดยแต่ละพิกเซลจะมีวงจรหน่วยความจำในตัวสำหรับวัด และลบสัญญาณรบกวนที่เกิดจากความร้อนแบบเรียลไทม์ ซึ่งกระบวนการนี้เกิดขึ้นบนชิป ก่อนที่ภาพจะถูกบันทึกหรือแก้ไขด้วยซอฟต์แวร์ อย่างไรก็ตาม การยื่นจดสิทธิบัตรไม่ได้หมายความว่า Apple จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในทันที แต่เป็นสัญญาณถึงเส้นทางการวิจัยและความสนใจของบริษัท รวมถึงสิ่งที่อาจจะถูกพัฒนาในอุปกรณ์รุ่นถัดไปก็เป็นได้
ที่มา: macrumors