ในการจัดตั้งบริษัทขึ้นมา เชื่อว่ามีไม่น้อยทีเดียวที่นโยบายของบริษัทจะดำเนินการหลายๆ รูปแบบเพื่อช่วยในการลดปริมาณภาษีที่ต้องจ่ายใหรัฐฯ โดยวิธีที่เรามักจะพบเห็นกันได้มากก็คือการแยกบริษัทออกเป็นบริษัทลูกย่อยๆ ดูแลจัดการงานแตกต่างกัน เพื่อที่จะได้มีจำนวนเงินได้ลดลง ส่งผลให้เสียภาษีน้อยลงตามมา อีกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมในบริษัทใหญ่ๆ ก็คือการเก็บเงินได้จากการขายผลิตภัณฑ์/บริการไว้ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำหรือไม่มีภาษีเลยในบางกรณี ก็จะเป็นการลดจำนวนภาษีโดยรวมที่บริษัทต้องจ่ายทั้งหมดลงไปได้มากทีเดียว ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Apple, Google และ Amazon ก็เลือกใช้ทั้งสองวิธีนี้ครับ
โดยตัว Apple เองเลือกที่จะทำทั้งสองอย่าง คือการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาหลายบริษัทในประเทศไอร์แลนด์ เช่น Apple Operations International (AOI), Apple Operations Europe, Apple Sales International and Apple Distribution International ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับการวางจำหน่ายและรับรายได้จากยอดขายผลิตภัณฑ์ Apple ทั่วโลก โดยการเลือกมาตั้งที่ไอร์แลนด์ก็เพราะว่า ประเทศไอร์แลนด์มีกฏหมายเรื่องภาษีที่มีช่องโหว่อยู่ คร่าวๆ คือถ้าหากระบุว่าตัวบริษัทเป็นแบบไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐหรือประเทศใดในด้านของการเสียภาษี (stateless) ก็ไม่ต้องเสียภาษีในไอร์แลนด์ เรียกได้ว่า Apple สามารถเก็บเงินจากยอดขายผลิตภัณฑ์ของตนทั่วโลกได้โดยแทบไม่ต้องเสียภาษีเลยซักเหรียญเดียว
ล่าสุดผู้แทนกระทรวงการคลังของไอร์แลนด์แถลงว่า ไอร์แลนด์กำลังจะปรับกฏหมายเรื่องภาษีใหม่ โดยที่ชัดเจนที่สุดก็คือจะคิดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 12.5% มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2015 (อีก 1 ปีกว่าๆ?) ซึ่งจะส่งผลกระทบกับ Apple เต็มๆ แน่นอน
ซึ่งคดีทำนองนี้ Apple เองก็เคยประสบปัญหาในสหรัฐฯ เองด้วยเช่นเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้ สาเหตุเนื่องจาก Apple ถูกกล่าวหาหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีตามจำนวนที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับรายได้ของบริษัท โดย Tim Cook เองก็ได้แถลงว่า Apple จ่ายภาษีในสหรัฐฯ ครบแบบไม่มีขาดตกบกพร่องเลย ซึ่งก็จริงอย่างที่ Tim Cook พูดครับ Apple จ่ายครบจริง แต่เป็นการจ่ายภาษีเงินได้จากยอดขายในสหรัฐฯ เท่านั้น (ในสหรัฐฯ ก็มีบริษัทที่ดูแลจัดการด้านการขายแยกออกมาจากบริษัทลูกในไอร์แลนด์ที่ดูแลทั่วโลก Apple ก็เลยจ่ายอัตราภาษีเงินได้แค่ส่วนยอดขายในสหรัฐฯ เท่านั้น)
ก็ต้องคอยดูต่อไปครับว่า Apple จะดำเนินการโยกย้ายเงินของตนในไอร์แลนด์อย่างไร ซึ่งก็ยังมีหนทางที่จะเลี่ยงภาษีได้อยู่ดี เพราะยังมีอีกหลายประเทศที่มีช่องโหว่เรื่องนี้ ทำให้แทบไม่ต้องเสียภาษีอีกเช่นเดียวกัน เช่น เบอร์มิวดา เป็นต้น
ที่มา: MacRumors, The Verge, International Business Times