ทุกวันนี้ แต่ละระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต ต่างก็มีแอพพลิเคชันให้เลือกใช้งานอย่างมากมายนับหมื่น นับแสนแอพ ทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน ซึ่งแอพแต่ละตัวก็มีคุณสมบัติและความต้องการของสเปคเครื่องที่แตกต่างกันไป ประกอบกับปัจจุบันมีเครื่องให้ใช้งานมากมายหลากหลายรุ่น ซึ่งหลายคนก็มีปัญหากับแอพ เช่นใช้ไม่ได้ ทำงานช้า แอพปิดตัวเองตลอด บางคนเอะอะก็โทษผู้ผลิตแอพว่าห่วย ทำแอพออกมากาก เพราะเครื่องของตนใช้งานไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากคอมเม้นท์วิจารณ์ในแต่ละแอพที่มีปัญหาการทำงาน
ซึ่งจากที่ลองสังเกตดู พบว่ามีหลายๆ ปัญหาที่ดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาจากตัวแอพพลิเคชัน น่าจะเป็นปัญหามาจากอุปกรณ์หรือสภาพแวดล้อมของตัวผู้ใช้งานเองซะมากกว่า แต่กลับไปโทษว่าแอพทำออกมาแย่ ดังนั้นก่อนจะเข้าไปวิจารณ์ว่าแอพห่วย แอพกาก เราขอเสนอ 3 ข้อที่ควรพิจารณาก่อนวิจารณ์แอพนั้นๆ ครับ เริ่มจาก
1. เน็ตที่ใช้งานอยู่
แอพหลายตัวในปัจจุบันจำเป็นต้องเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตด้วย จึงจะสามารถใช้งานได้ เช่นแอพโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง Facebook, Twitter และ Line ที่คนใช้กันส่วนใหญ่ ทำให้ปัจจัยเรื่องของอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานของแอพ ไม่ว่าจะทั้งความเร็วและความเสถียรของสัญญาณ โดยเฉพาะเรื่องความเสถียรที่เป็นปัจจัยสำคัญ เช่นถ้าหากสัญญาณเน็ตไม่ค่อยดี บางแอพก็แทบจะทำงานไม่ได้เลย หรือทำงานได้ไม่ถูกต้องไปเลยก็มี ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือการแชทใน Line ซึ่งถ้าหากเน็ตไม่ค่อยดี ก็อาจจะพบปัญหาข้อความไม่ขึ้น ส่งข้อความไม่ได้ หรือถ้าเน็ตช้า บางทีก็จะพบปัญหาโหลดรูปไม่ได้ เป็นต้น ปัญหาทั้งสองปัจจัยนี้ในบ้านเรามักจะเกิดจากการเชื่อมต่อ 3G เหตุเพราะสัญญาณยังไม่ครอบคลุมมากพอในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงความหนาแน่นของการใช้งานอีก จุดไหนที่มีคนใช้งาน 3G เยอะๆ ความเร็วของสัญญาณก็จะถูกแบ่งๆ กันใช้
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นถนนมี 4 เลน ถ้ามีรถ 1 คัน ก็สามารถวิ่งได้สบายๆ ประดุจดั่งถนนนี้เป็นของเรา แต่ถ้ามีรถ 4 คันมาวิ่งบนถนนพร้อมกัน ก็จะต้องเริ่มแบ่งเลนกันใช้ ความกว้างของถนนก็ลดลง เปรียบได้กับความเร็วเน็ต 3G ที่ถ้าหากในบริเวณนั้นเราใช้อยู่คนเดียว แน่นอนว่าเราก็จะสามารถใช้งานได้ความเร็วเต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าเริ่มมีคนมาใช้งานด้วยเมื่อไร ความเร็วก็จะลดลงไปตามลำดับ
หรือเน็ตบางที่อาจจะมีการตั้งค่าพิเศษเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ เช่นอาจจะบล็อกช่องทางการติดต่อของแอพบางตัว บางเว็บไม่ให้คนในวงเครือข่ายสามารถใช้งานได้ อันนี้จะพบได้บ่อยตามออฟฟิศทำงานที่ไม่ต้องการให้พนักงานใช้อู้งานไปเล่นเน็ต ที่อาจรบกวนสมาธิทั้งของตนเองและผู้ร่วมงานได้ ดังนั้นถ้าหากเรานำสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตไปเชื่อมต่อกับ WiFi วงดังกล่าว ก็จะทำให้เราใช้งานแอพหรือหน้าเว็บดังกล่าวไม่ได้ไปด้วยเช่นกัน ตัวอย่างปัญหาก็เช่น เราเล่นแอพ A กับ WiFi ที่บ้านได้ปกติดี เล่น 3G นอกบ้านก็สบาย แต่กลับเล่นด้วย WiFi ในออฟฟิศไม่ได้ อันนี้ปัญหามันอยู่ที่เน็ตแล้วล่ะครับ ไม่ใช่แอพหรือเครื่องคุณแน่ๆ
ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ แอพไม่ผิดนะครับ ปัญหามันอยู่ที่เน็ตล้วนๆ นะ
2. เครื่องในมือของคุณเอง
ปัญหานี้มักจะเกิดกับ Android เป็นหลักครับ ด้วยความที่มีหลากหลายรุ่น หลากหลายสเปคไล่ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นสุด ไปจนถึงท็อปสุดตามระดับราคา ซึ่งการที่ราคามันแตกต่างกันก็เนื่องมาจากสเปคภายในที่ทำงานได้ช้าเร็วไม่เท่ากัน ซึ่งเครื่องที่สเปคสูงๆ หน่อยคงไม่มีปัญหา แต่เครื่องที่สเปคไม่แรงมากนัก อาจจะพบปัญหาแอพหรือเกมไม่สามารถใช้งานได้ ทำงานได้ช้า โดยเฉพาะกับเกมหรือแอพที่มีอนิเมชันสวยงาม หนักๆ เครื่อง ทำให้หลายๆ คนไม่สามารถใช้งานแอพหรือเล่นเกมที่ต้องการได้
ซึ่งปัญหานี้ ก่อนจะไปด่าว่าแอพกาก แนะนำว่าให้ลองตรวจสอบมือถือตนเองก่อนครับ ว่าสเปคมันสูงขนาดไหน น่าจะเล่นได้หรือเปล่า ถ้าเป็นเครื่องในระดับเริ่มต้น ก็ไม่ต้องไปหวังว่ามันจะเล่นได้ทุกอย่าง ด้วยข้อจำกัดด้านสเปคของตัวเครื่อง ซึ่งก็ต้องยอมรับตามความจริงคือ ราคาเครื่องเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดคร่าวๆ เลยทีเดียวว่าสเปคแรงขนาดไหน และจะใช้งานได้ระดับใด เพราะเท่าที่เคยเห็น บางคนเข้าไปด่าว่าเกมกาก เล่นไม่ได้ แต่เครื่องที่ตนใช้กลับเป็นมือถือรุ่นล่างๆ ที่สเปคมันไม่เพียงพอสำหรับการทำงาน (ก็ไม่แปลกล่ะนะที่จะเล่นไม่ได้ ก็มันรันไม่ไหวนี่นา)
3. คอนเซ็ปท์และรูปแบบการใช้งานของแอพ
ข้อนี้เรามักจะเห็นจากการที่ผู้ใช้งานเข้าไปคอมเม้นท์บอกว่า “แอพใช้ยากจัง” “ทำมาให้ใครใช้” “ถ้าทำมาแบบนี้ ให้__เข้าไปทำยังจะดีกว่า” ซึ่งในบางแอพมันก็เป็นเรื่องจริง ที่คนออกแบบทำออกมาได้ไม่ดี แต่บางแอพต้นตอของปัญหามันเกิดมาจากตัวผู้ใช้งานเองครับ ที่ไม่เข้าใจว่าคอนเซ็ปท์ของแอพคืออะไร แอพต้องการอำนวยความสะดวกด้านใดให้กับเรา บางแอพมันอาจจะเกิดมารองรับสำหรับการใช้งานเฉพาะทาง แต่ก็มีผู้ใช้งานทั่วๆ ไปบางท่านไปโหลดมาใช้ เพราะได้ยินคนบอกมาว่าใช้ดี ก็โหลดๆ มา แล้วก็บ่นภายหลังว่าใช้ยาก ตัวหนังสือเต็มไปหมด
สำหรับปัญหาข้อนี้ คงต้องแก้ที่ตัวผู้ใช้งานเองครับ ด้วยการทำความเข้าใจก่อนว่าแอพนั้นใช้สำหรับทำอะไร ออกแบบมาเพื่อใคร ก็น่าจะสามารถลดเสียงบ่นจากประเด็นนี้ลงไปได้พอสมควรเลย
แต่ถ้าพิจารณาทั้งสามข้อแล้ว แอพก็ยังทำงานได้ไม่ดีอีก อันนี้ก็เชิญคอมเม้นท์บอกผู้ผลิตแอพได้ตามสบายเลยครับ โดยการคอมเม้นท์ที่ดี ก็ควรจะแจ้งด้วยว่ามันไม่ดีตรงไหน ควรแก้ไขอะไร เสนอทางแก้ไขที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ว่าไปคอมเม้นท์สั้นๆ เช่น “กาก” “ห่วย” “ไม่ได้เรื่อง” อันนี้ตัวผู้พัฒนาแอพอ่านแล้วก็คงจะงงและไม่เข้าใจหรอกครับ ว่าคุณต้องการอะไร เสียเวลาต้องมานั่งไล่หาปัญหา ทำให้การแก้ไขยิ่งช้าขึ้นไปอีก ดังนั้นทางที่ดีก็ควรจะบอกความต้องการของตนเองลงไปด้วยจะดีที่สุด และที่อยากจะฝากอีกอย่างก็คือเรื่องภาษา ถ้าแอพนั้นเป็นของต่างประเทศ หรือพัฒนาจากนักพัฒนาชาวต่างชาติ ก็ควรจะคอมเม้นท์บอกเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเขาคงอ่านภาษาไทยของเราไม่ออก เผื่อว่าทางผู้พัฒนาจะเข้ามาตรวจสอบข้อบกพร่องเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงแอพของตน จะได้ทำได้ง่ายขึ้นครับ ^^