หลังจากที่ Nokia ส่ง Lumia 920 ซึ่งเป็นรุ่นเรือธงของ Windows Phone 8 ออกมาสู่ตลาด จากนั้นก็เป็น Lumia 820 และ Lumia 620 ตามๆ ออกมา เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ลงในหลายช่วงตลาด กระแสตอบรับก็จัดว่าดีอยู่ในระดับหนึ่ง สามารถสร้างกระแสความสนใจ Windows Phone ขึ้นมาได้ ถือว่าเป็นหนึ่งในระบบปฏิบัติการทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่อยากใช้งาน iOS และ Android ได้ดีทีเดียว และล่าสุด Nokia ก็ได้ส่งสมาร์ทโฟนลงมาเพิ่มอีกสองรุ่น นั่นคือ Nokia Lumia 520 และ Nokia Lumia 720 เพื่อเปิดตลาดของแต่ละช่วงราคาให้ย่อยลงไปอีก ในบทความนี้เราก็จะมาโชว์ให้ดูกันครับ ว่าทั้งสองรุ่นดังกล่าวเป็นอย่างไร น่าใช้งานขนาดไหน
ก่อนอื่น เรามาดูสเปคของทั้งสองเครื่องกันครับ
สเปค Nokia Lumia 520
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon MSM8227 (Dual-core) ความเร็ว 1 GHz มาพร้อม GPU เป็น Adreno 305
- RAM 512 MB
- ความจุเครื่อง 8 GB รองรับ microSD สูงสุด 64 GB
- จอพาเนล IPS ขนาด 4 นิ้ว ความละเอียด 800 x 480
- กล้องหลังความละเอียด 5 MP ไม่มีแฟลชและกล้องหน้า
- แบตเตอรี่ความจุ 1430 mAh
- น้ำหนัก 124 กรัม
- เครื่องที่ขายในไทยจะมีสองรุ่นได้แก่
- RM-914 : รองรับ 3G คลื่น 900 และ 2100 MHz
- RM-915 : รองรับ 3G คลื่น 850 / 1900 และ 2100 MHz
- ราคา 5,850 บาท
- สเปค Nokia Lumia 520
โดยรวมแล้ว สเปคเครื่องอาจจะไม่จัดว่าสูงมาก อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ที่ราคาใกล้เคียงกัน ซึ่งสำหรับใครที่กลัวว่าสเปคแค่นี้ จะใช้งานระบบได้ไหลลื่นขนาดไหน ตรงส่วนนี้ไม่ต้องเป็นห่วงเลยครับ เพราะตัว Windows Phone เองถูกออกแบบมาให้ไม่กินทรัพยากรเครื่องมากนัก อีกทั้งสเปคดังกล่าวก็ผ่านตามเกณฑ์ของ Microsoft ด้วย ทำให้สบายใจได้เลยว่าถึงจะดูไม่แรง แต่ก็ใช้งานทั่วไปได้สบายๆ
สเปค Nokia Lumia 720
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon MSM8227 (Dual-core) ความเร็ว 1 GHz มาพร้อม GPU เป็น Adreno 305
- RAM 512 MB
- ความจุเครื่อง 8 GB รองรับ microSD สูงสุด 64 GB
- จอพาเนล IPS ขนาด 4.3 นิ้ว ความละเอียด 800 x 480 มาพร้อมเทคโนโลยี ClearBlack เพื่อให้สีดำดูเข้มสมจริง
- กล้องหลังความละเอียด 6.7 MP มาพร้อมแฟลช LED
- กล้องหน้าความละเอียด 1.3 MP
- แบตเตอรี่ความจุ 2000 mAh
- น้ำหนัก 128 กรัม
- รองรับ 3G ทุกเครือข่าย
- ราคา 10,900 บาท
- สเปค Nokia Lumia 720
ส่วน Lumia 720 นั้น พบว่ามีสเปคที่ไม่แตกต่างจาก Lumia 520 เท่าไร จะมีจุดที่ต่างอย่างเห็นได้ชัดก็คือขนาดจอที่ใหญ่กว่า, กล้องที่มีความละเอียดมากกว่า, มีกล้องหน้า และความสามารถในการรองรับ 3G ได้ทุกเครือข่ายมาตั้งแต่แกะกล่อง ซึ่งก็นับว่าไม่หนีไปจากสมาร์ทโฟนจากแบรนด์อื่นๆ ที่มีราคาในช่วงเดียวกันเท่าไรนัก จะมีปัญหาก็เรื่องปริมาณ RAM ที่ปัจจุบันนี้ 512 MB ดูเหมือนจะไม่พอกับการใช้งานบางอย่างซะแล้ว แต่ก็อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น ว่าตัว Windows Phone ได้รับการออกแบบและปรับแต่งมาให้กินทรัพยากรระบบน้อย ดังนั้นการใช้งานปกติจึงไหลลื่น แม้ว่าสเปคจะดูไม่แรงเท่าไร
Nokia Lumia 520
จากในภาพด้านบน ฝั่งซ้ายคือ Lumia 720 สีแดง ส่วนฝั่งขวาคือ Lumia 520 สีขาวนะครับ ดีไซน์และหน้าตานั้นก็มาในทรงที่เป็นเอกลักษณ์ของสมาร์ทโฟนในตระกูล Nokia Lumia ที่ดูไม่ซ้ำแบบกับแบรนด์อื่นๆ ทั้งเรื่องของดีไซน์และสีสันที่ดูสดใสเป็นอย่างมาก
คราวนี้เรามาดูเจาะที่ Nokia Lumia 520 ก่อนแล้วกันครับ
ผิวด้านหน้าของ Lumia 520 เป็นกระจกใสปกติ ซึ่งสามารถสั่งงานได้แม้จะใช้เล็บหรือใส่ถุงมืออยู่ด้วยฟีเจอร์ Super-Sensitive Touch สีสันที่แสดงบนจอดูสดดี เนื่องจากหน้าตาของ Windows Phone เองถูกออกแบบมาให้มีสีสันดูสด ดึงดูดสายตาอยู่แล้ว ด้านของมุมมองภาพนั้นก็สามารถแสดงภาพได้กว้างตามระดับของพาเนล IPS แต่สีเมื่อมองจากด้านข้างก็จะเพี้ยนบ้างเล็กน้อยครับ
ด้านล่างเป็นตำแหน่งของปุ่มสั่งงานแบบ Capacitive ซึ่งจากที่ลองสังเกตดูแล้ว พบว่าภายในปุ่มไม่มีไฟส่องสว่างอยู่ เป็นแค่การสกรีนสีขาวติดไว้เท่านั้น
ฝาหลังของ Lumia 520 เป็นโพลีคาร์บอเนตเนื้อเนียน จับแล้วสบายมือเนื่องจากมีการออกแบบให้มีความโค้งตรงสันเครื่อง รับกับอุ้งมือได้ดี มีกล้องหลังอยู่กึ่งกลางของด้านบนเครื่อง ไม่มีแฟลช LED เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนในช่วงราคาเดียวกัน ส่วนที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมนเล็กๆ นั้นคือช่องลำโพงครับ เสียงที่ออกมาจากลำโพงก็ไม่ถือว่าดีนัก พอฟังได้เท่านั้น
งานประกอบโดยรวมนั้นจัดว่าแน่นหนาดีมาก เกินระดับของมือถือราคาครึ่งหมื่นหลายๆ ตัวในตลาด ซึ่งในด้านนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของ Nokia มานานแล้ว และซีรี่ส์ Lumia ก็ยังทำได้ดีอยู่เช่นเคย
ตัวของ Lumia 520 นี้ สามารถแกะฝาหลังออกได้ (มีฝาหลังขายแยกด้วย สำหรับผู้ที่อยากเปลี่ยนสีฝาหลัง) ซึ่งการแกะฝาหลังนั้นให้ใช้วิธีกดตรงกลางฝาไว้แล้วแงะขอบฝาด้านบนเครื่องขึ้น ฝาหลังก็จะหลุดออกมาอย่างง่ายดาย ภายในมีแบตเตอรี่ Li-ion ความจุ 1430 mAh อยู่ ส่วนสองช่องทางซ้ายนั้น ช่องบนคือช่องเสียบ microSD ช่องล่างคือช่องเสียบไมโครซิม ซึ่งจะต้องดันเข้าไปจากฝั่งแบตเตอรี่ ส่วนการถอดออกจำเป็นจะต้องดึงแบตเตอรี่ออกก่อนด้วย เพราะตัวแบตจะเกยปิดช่องไว้เล็กน้อยครับ
ด้านข้างของตัวเครื่องฝั่งขวาก็มีปุ่มกดด้วยกันสามตำแหน่งไล่จากซ้ายคือปุ่มถ่ายรูป, ปุ่ม Power และปุ่มสำหรับเพิ่ม/ลดเสียง ด้านบนของเครื่องมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ส่วนด้านล่างมีช่อง Micro USB สำหรับชาร์จแบตเตอรี่และเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ครับ การวางตำแหน่งของปุ่มต่างๆ อยู่ในระดับที่สามารถใช้งานได้ง่าย
ตัวของ Windows Phone 8 มาพร้อมกับความสามารถในการใช้งานภาษาไทยได้อย่างครบถ้วนทั้งการแสดงผลและคีย์บอร์ดที่ใช้ในการพิมพ์ครับ แต่ตัวปุ่มอาจจะเล็กไปบ้าง ก็เนื่องมาจากขนาดจอ 4 นิ้วที่ถือว่าเล็กไปแล้วสำหรับในปัจจุบัน
มาดูที่ Nokia Lumia 720 บ้าง ถ้าดูแบบผ่านๆ นั้น พบว่าหน้าตาคล้ายคลึงกับ Nokia Lumia 920 มาก จะต่างก็เพียงแค่ขนาดเครื่องที่เล็กกว่า หน้าจอใช้พาเนลเป็นแบบ IPS เช่นเดียวกับ Lumia 520 แต่จะเหนือว่าตรงที่มีการใส่เทคโนโลยี ClearBlack มาให้ด้วย ทำให้ส่วนที่เป็นสีดำบนจอดูดำสนิท ช่วยขับให้ภาพดูสดใสยิ่งขึ้น เนื่องมาจากตัวของ ClearBlack เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ความเข้ม Contrast ของการแสดงผลสูงขึ้น ซึ่งภาพที่ออกมาก็มีสีสันสดใสดี อีกทั้งสามารถใช้งานกลางแจ้งได้อย่างไม่มีปัญหาอีกด้วย และนอกจากนี้ยังมีจุดเด่นอีกข้อหนึ่งของจอ ก็คือฟีเจอร์ที่มีชื่อว่า Super-Sensitive Touch ที่ช่วยให้สามารถใช้งานเครื่องได้แม้จะใส่ถุงมืออยู่ โดยฟีเจอร์นี้จะมีอยู่ทั้งใน Lumia 520 และ Lumia 720 เลย งานนี้ใครที่จำเป็นต้องใส่ถุงมือบ่อยๆ และต้องใช้มือถือด้วย คงจะสะดวกขึ้นมากทีเดียวด้านล่างของจอก็มีปุ่มแบบ Capacitive สำหรับสั่งงาน 3 ปุ่มเช่นเดิม คือ Back, Home และปุ่มค้นหา โดยแต่ละปุ่มจะมีไฟเรืองแสงอยู่ด้วย ทำให้สามารถใช้งานในที่มืดได้ง่าย
บอดี้ของ Lumia 720 นั้นเป็นแบบ Unibody นั่นคือขึ้นโครงขึ้นมาเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นฝาหลังจึงไม่สามารถแกะออกได้ คล้ายกับตัว Lumia 920 ที่เป็นรุ่นท็อป ด้านบนจะเป็นตำแหน่งของกล้องหลังที่ใช้ชุดเลนส์จาก Carl Zeiss ส่วนด้านล่างที่เป็นจุด 3 จุด นั่นคือขั้วสำหรับเชื่อมต่อกับเคสที่ช่วยให้สามารถใช้งานร่วมกับแท่นชาร์จไร้สายได้ (ตัวเคสเป็นอุปกรณ์เสริมที่ต้องซื้อแยก เช่นเดียวกับแท่นชาร์จไร้สาย) ส่วนบริเวณที่เป็นช่องปรุนั้นคือตำแหน่งของลำโพง ให้เสียงในระดับกลางๆ ครับ
ส่วนของการจัดวางตำแหน่งปุ่มและพอร์ตเชื่อมต่อนั้น ก็เป็นลักษณะเดียวกับ Lumia 520 ด้านบนครับ แต่จะมีส่วนที่เพิ่มขึ้นมาก็คือถาดใส่ไมโครซิมที่อยู่ด้านบนของเครื่อง และถาดใส่ microSD ที่อยู่ฝั่งซ้ายของเครื่อง (รูปล่างขวา)
ตำแหน่งของถาดใส่ไมโครซิมและ microSD ครับ ซึ่งสามารถแกะออกมาได้โดยใช้เข็มจิ้มลงไปในช่องของแต่ละถาด (ในกล่องมีเข็มให้มาด้วย)
ด้านของงานประกอบนั้นก็ทำมาได้แน่นหนา ตัวเครื่องจับกระชับมือดี ให้ความรู้สึกมั่นคงตามจุดเด่นของมือถือจาก Nokia
เมื่อจับ Nokia Lumia 520 มาคู่กับ Lumia 720 จะพบว่าตัวเครื่อง Lumia 520 มีความหนากว่า Lumia 720 อยู่เล็กน้อย อีกทั้งขอบจอด้านนอกจะมีส่วนแหลมตัดลงไปอย่างเห็นได้ชัด
ด้านของการใช้งานจริง ทั้ง Lumia 520 และ 720 สามารถตอบสนองการทำงานได้ดี ทำงานทั่วไปได้รวดเร็ว หรือจะใช้เล่นเกมที่ดาวน์โหลดมาจาก Windows Phone Store ได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งในปัจจุบันจำนวนแอพพลิเคชันของ Windows Phone ก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ และสามารถตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ได้หลากหลายมากกว่าในช่วงแรก แต่บรรดาแอพหลักๆ ก็ยังมีปัญหาอยู่ประปรายครับ เช่น Facebook ที่ยังมีปัญหาตัวเลขการแจ้งเตือนที่ขึ้นบน Live Tiles ไม่ตรงกับในแอพ หรือจะเป็น Line ที่ยังไม่มีสติ๊กเกอร์ให้ซื้อ ซึ่งทั้งสองก็จัดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่นัก แถมยังดูมีแนวโน้มการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นให้เห็นกันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแอพ Facebook Beta ที่ปรับเปลี่ยนหน้าตาให้เหมือนกับบน OS อื่น หรือตัว Line เองก็สามารถแจ้งเตือนได้ดีขึ้น (แต่ยังซื้อสติ๊กเกอร์ไม่ได้เหมือนเดิม) แต่ถ้าพูดถึงตัวระบบเพียวๆ แล้ว ก็จัดว่าน่าใช้งานทีเดียวครับ สำหรับคนที่อยากลองอะไรใหม่ๆ
ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่นั้น ทั้ง Lumia 520 และ Lumia 720 ต่างก็สามารถใช้งานหมดวันได้สบายๆ แถมเผลอๆ จะอยู่ได้เกินวันอีกด้วย เพราะทั้งคู่มาพร้อมกับสเปคที่ไม่กินแบตเตอรี่มากนัก ระบบของ Windows Phone 8 เองก็ถูกสร้างมาให้ปรับลดการใช้พลังงานของอุปกรณ์เมื่อไม่จำเป็นได้ดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว
สรุปปิดท้าย
Nokia Lumia 520 และ Nokia Lumia 720 ต่างก็เป็นสมาร์ทโฟนที่ถูกออกแบบมาให้ลงมาเป็นคู่แข่งกับสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการอื่นๆ ในแต่ละช่วงราคาของตนได้เป็นอย่างดี นั่นคือ Lumia 520 สำหรับช่วงราคาเริ่มต้นของสมาร์ทโฟน และ Lumia 720 สำหรับคนมีงบราวๆ 10,000 บาท เนื่องด้วยทั้งส่วนของดีไซน์ที่ดูสวยงามแปลกตา พร้อมงานประกอบคุณภาพระดับ Nokia ที่แน่นหนา เชื่อถือได้มานาน ส่วนเรื่องการทำงานนั้นก็หายห่วงได้เลย เพราะสามารถทำงานได้อย่างไหลลื่น จะเหลือก็แต่เรื่องแอพพลิเคชันที่อาจยังไม่ถูกใจหลายๆ คน เพราะยังถือว่าน้อยและไม่ครอบคลุมการใช้งานหลายๆ อย่าง แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งถ้าโอเคกับจุดนี้ เชื่อว่า Windows Phone จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกระบบปฏิบัติการบนมือถือที่ดีตัวหนึ่งเลยทีเดียว