หากพูดถึงมือถือที่เป็นหัวหอกของฝั่ง Android ชื่อของซีรีส์ Pixel ก็คงเป็นชื่อที่หลาย ๆ คนคิดถึง เนื่องจากเป็นซีรีส์มือถือจากทาง Google เองโดยตรง มีจุดเด่นในด้านของระบบที่เป็นแกนมาแบบเพียว ๆ ไร้ส่วนเติมแต่ง แถมยังมีกล้องที่ให้ภาพสวยด้วยพลังของซอฟต์แวร์และการใช้คลาวด์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยประมวลผลภาพ ซึ่งในปัจจุบันก็ได้ออกมาเป็นรุ่นที่ 4 (นับเฉพาะรุ่นหลัก) ได้แก่ Google Pixel 4 และ Pixel 4 XL ที่ได้เปิดตัว และเริ่มวางจำหน่ายไปตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แน่นอนครับว่าผมที่ใช้งาน Google Pixel 2 XL มาก่อน ก็ย่อมอยากลองเครื่องใหม่ในซีรีส์ Pixel ประกอบกับมีโอกาสที่จะได้เครื่องมาจาก USA ด้วย ก็เลยจัดมา 1 เครื่อง พร้อมกับเขียนรีวิว Google Pixel 4 ให้ทุกท่านได้อ่านกันไปด้วยเลย
โดยรุ่นที่เลือกก็เป็น Google Pixel 4 ที่มีขนาดย่อมเยาลงมาหน่อย แต่ในเรื่องของสเปคคร่าว ๆ นั้น ทั้ง Pixel 4 และ 4 XL จะเหมือนกันแทบทุกจุดครับ หลัก ๆ ก็ต่างกันแค่ขนาดหน้าจอ กับปริมาณแบตเตอรี่เท่านั้นเอง ส่วนสีที่เลือกก็เป็นสีส้ม Oh so orange ที่เป็นสีใหม่ประจำรอบนี้
การหาซื้อ / Google Pixel 4 มีขายที่ไหนบ้าง?
ที่ผ่านมา มือถือตระกูล Pixel ไม่เคยมีการวางจำหน่ายในประเทศไทยผ่านตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจาก Google อย่างเป็นทางการครับ ดังนั้น ทุกเครื่องที่ขายในไทยก็จะเป็นเครื่องหิ้วทั้งหมด ทำให้รูปแบบของการรับประกันก็จะเป็นแบบประกันร้าน ขึ้นอยู่กับว่านโยบายของแต่ละร้านจะเป็นอย่างไร ส่วนราคาก็จะมีบวกส่วนต่างขึ้นไปจากราคากลางของทาง Google อยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติครับ เรียกว่าใครพอใจราคา นโยบายร้านไหน ก็เลือกซื้อกันได้เลย
ส่วนเครื่องที่ผมได้มานี้ เป็นเครื่องที่ได้จากการสั่งซื้อบนหน้าเว็บไซต์ Google Store โดยตรง ซึ่งอาศัยญาติที่อยู่ที่ USA เป็นผู้กดสั่งและให้ของไปส่งถึงบ้าน จากนั้นก็ค่อยหิ้วเครื่องมาที่ไทยอีกทีนึงครับ ดังนั้นก็เลยได้ราคาตรงจาก Google เลย โดยรุ่นที่สั่งก็เป็น Google Pixel 4 ความจุ 64 GB ราคา $799 (ประมาณ 24,000 บาท)
ในการกดสั่ง ก็ต้องเลือกเป็นรุ่น unlocked นะครับ ถึงจะชัวร์ว่าสามารถนำมาใช้งานในไทยได้แบบไม่ติดสัญญากับเครือข่าย Verizon ซึ่งเครื่องที่ได้รับมาก็สามารถนำมาใช้งานในไทยได้แบบไม่มีปัญหา จะติดก็ตรงที่ไม่สามารถใช้งาน VoLTE และ VoWIFI ได้ แม้ว่าตัวซิมจะเปิดใช้งานอยู่แล้วก็ตาม เนื่องจากทางเครือข่ายไม่ได้เปิดการใช้งานให้กับมือถือจาก Google (เพราะไม่มีเครื่องวางจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการ)
ของที่ให้มาในกล่อง โดยหลักแล้วจะมี
- อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 5V 3A / 9V 2A รองรับ USB-PD
- สายชาร์จ USB-C to USB-C
- หัวแปลง USB-C to USB-A สำหรับใช้ถ่ายโอนข้อมูลจากมือถือเครื่องเก่า หรือต่อ OTG ตามปกติ
- เอกสารคู่มือการใช้งานเบื้องต้น และการรับประกัน
- เข็มจิ้มถาดซิม
แต่ทั้งนี้ อุปกรณ์ที่แถมมาในกล่องของ Pixel 4 ที่ขายในแต่ละประเทศอาจจะมีความแตกต่างกันนะครับ บางประเทศจะมีแถมหูฟังมาด้วย ขาปลั๊กของบางประเทศก็จะแตกต่างกัน อย่างของผมเป็นเครื่องที่สั่งจาก USA ก็จะได้ปลั๊กแบบขาแบน 2 ขา แต่ไม่มีหูฟังมาด้วย
สเปคของ Google Pixel 4 มีอะไรที่เพิ่มเข้ามาบ้าง?
สเปคของ Google Pixel 4 ก็ไม่ได้ถือว่าแปลกใหม่ไปจากมือถือสเปคระดับท็อปในตลาดขณะนี้ซักเท่าไหร่ครับ เมื่อนำไปเทียบกับรุ่นก่อนหน้าอย่าง Pixel 3 ก็ถือว่าขยับขึ้นมานิดนึง จะมีที่ต่างกันจริง ๆ ก็เรื่องกล้องเป็นหลักเลย โดยสเปค Google Pixel 4 ที่น่าสนใจมีดังนี้
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 855 ชิปกราฟิก Adreno 640 มาพร้อม Pixel Neural Core
- แรม 6 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล มีให้เลือกทั้ง 64 และ 128 GB (ไม่มีช่อง MicroSD)
- หน้าจอ OLED ขนาด 5.7″ ความละเอียด FHD+ อัตราส่วน 19:9 รองรับ HDR
- รีเฟรชเรตจอสูงสุด 90 Hz กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 5
- กล้องหลัง 2 ตัว ซูมออปติคอลสูงสุด 2 เท่า ถ่ายวิดีโอได้ที่ระดับ 4K 30fps
- กล้องหลัก 16 MP f/2.4 มี OIS/EIS
- เลนส์เทเล 12.2 MP f/1.7 มี OIS/EIS
- กล้องหน้า 8 MP f/2.0 fixed focus
- มีระบบสแกนใบหน้าโดยใช้แสงอินฟราเรด (มีกล้อง NIR 2 ตัว)
- ใช้งานได้ซิมเดียว + eSIM
- แบตเตอรี่ 2800 mAh รองรับการชาร์จเร็ว 18W รองรับการชาร์จไร้สาย
- ลำโพงคู่สเตอริโอ
- Android 10 รองรับการอัพเดต OS และแพทช์ความปลอดภัยขั้นต่ำ 3 ปี
รวม ๆ ก็ต้องบอกว่าสเปค Google Pixel 4 ดูค่อนข้างพื้นฐาน แถมบางจุดยังสู้มือถือระดับท็อปรุ่นอื่นไม่ได้ด้วยซ้ำ เช่นแรมที่น้อยกว่า แบตที่จุไม่ถึง 3000 mAh กล้องหลังที่ให้มาแค่สองเลนส์ ยังดีหน่อยที่ให้จอรีเฟรชเรตสูงสุด 90 Hz มาให้ได้ใช้งานบ้าง รวมถึงระบบสแกนใบหน้าที่มีการใช้ฮาร์ดแวร์หลาย ๆ ส่วนช่วยในการทำงาน นอกเหนือจากการใช้กล้องหน้าเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ไม่เหมือนใคร นั่นคือ Motion Sense ที่ตัวเครื่องจะปล่อยคลื่นเรดาร์ออกมาจากระบบ Soli เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวบริเวณเหนือหน้าจอ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานได้โดยไม่ต้องจิ้มหน้าจอ ตัวอย่างของการทำงานที่สั่งได้ก็เช่น การเปลี่ยนเพลง เล่นเพลง รับสาย วางสาย เป็นต้น ซึ่งที่จริงแล้ว มือถือหลายรุ่นในอดีตก็สามารถใช้งานพวก air gesture แบบนี้ได้มานานแล้วครับ เช่นในมือถือ Samsung ที่ผมเคยลองทดสอบมาแล้วตั้งแต่หลายปีก่อน
แต่ถ้าพูดถึงความพิเศษของ Motion Sense ใน Google Pixel 4 ก็คือการนำคลื่นเรดาร์เข้ามาใช้งานแทนการทำงานในรูปแบบเก่า ซึ่งตามทฤษฎีก็ควรจะแม่นยำกว่าแบบเดิม แต่ปัญหาใหญ่เลยก็คือ เจ้าระบบ Motion Sense นี้สามารถเปิดใช้งานได้ในบางประเทศเท่านั้น และแน่นอนว่ามันยังไม่สามารถใช้งานในประเทศไทยได้ (ถ้าไม่ root) แม้กระทั่งในญี่ปุ่นที่มีเครื่องวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ โดยมีสาเหตุมาจากการที่ต้องขออนุญาตเกี่ยวกับการใช้งานคลื่นเรดาร์นี่แหละครับ
ดังนั้นในรีวิว Google Pixel 4 นี้ ผมเลยไม่ได้ทดสอบฟังก์ชัน Motion Sense นะครับ
รูปร่างหน้าตา และการใช้งาน Google Pixel 4
สำหรับคนที่ไม่ชอบรอยบาก ติ่งจอ หรือเจาะแบบเจาะรู ก็น่าจะถูกใจหน้าตาของ Google Pixel 4 และ 4 XL อยู่เหมือนกันครับ เพราะตัวเครื่องหันกลับมาใช้จอแบบมีแถบด้านบน ต่างจากใน Pixel 3 XL ที่มีติ่งจอขนาดใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่ทั้ง Pixel 4 และ 4 XL กลับมาใช้จอแบบมีแถบดำด้านบนก็เนื่องจากต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้งเหล่าเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เช่น ระบบอินฟราเรด เซ็นเซอร์สำหรับใช้ช่วยในการสแกนใบหน้า รวมถึงชิปเรดาร์ของระบบ Soli ตามภาพด้านล่างนี้ที่เป็นภาพจากทาง Google เองครับ
ในเมื่อเราข้ามเรื่อง Motion Sense ไป ก็มาพูดถึงการสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อกหน้าจอก็แล้วกันครับ ซึ่งถ้าให้เทียบตรง ๆ ก็จะเป็นการใช้เทคโนโลยีคล้ายกับ Face ID ใน iPhone ก็ว่าได้ครับ โดยมีการใช้กล้องอินฟราเรดถึงสองตัวร่วมกับโปรเจกเตอร์ฉายแสงในรูปแบบจุด เพื่อช่วยให้สามารถจับตำแหน่งของอวัยวะบนใบหน้า แล้วนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูล pattern ใบหน้าที่บันทึกไว้ได้เร็วขึ้น
ส่งผลให้การสแกนใบหน้าของ Pixel 4 ทำได้เร็วมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานกลางแจ้งหรือใช้งานในที่มืดก็ตาม เท่าที่ผมทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นการสแกนขณะนั่งนิ่ง หรือขณะที่กำลังเดินและวิ่งอยู่ Pixel 4 ก็สามารถปลดล็อกได้สบายครับ แต่ในบางครั้งก็เกิดอาการงง ๆ ทั้งที่ผมนั่งอยู่นิ่ง ๆ เครื่องก็วางอยู่ตรงใบหน้า แต่ปรากฏว่าไม่สามารถสแกนได้ก็มีเหมือนกัน เมื่อเทียบกับ iPhone 11 แล้ว พบว่า iPhone 11 ยังทำได้ดีกว่าเล็กน้อย ซึ่งก็ต้องรอทาง Google ปรับจูนผ่านทางซอฟต์แวร์กันต่อไปครับ
หน้าจอของ Google Pixel 4 ที่ใช้เป็นแบบ OLED ก็ให้สีสันที่กำลังดี ไม่จัดจ้านเกินไป แอบมีซีดนิดนึง แต่ก็สามารถปรับเร่งสีสันขึ้นมาได้อีกหน่อย จุดที่เป็นสีดำก็ดำจริง ๆ ระดับความสว่างก็ถือว่าใช้งานกลางแจ้งได้สบายมาก มุมมองของภาพก็กว้าง โดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มือถือระดับไฮเอนด์ควรทำได้ครับ
ส่วนฟีเจอร์ที่ใส่เพิ่มเข้ามาก็คือความสามารถในการแสดงภาพได้ที่รีเฟรชเรตสูงสุดถึง 90 Hz ที่ Google ตั้งชื่อให้ว่า Smooth Display ทำให้การเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น การเลื่อนหน้าจอ การขยับของวัตถุบนภาพดูลื่นไหลกว่ามือถือทั่วไปที่มีรีเฟรชเรต 60 Hz อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากการอัพเดตแพทช์ล่าสุดขณะที่เขียนรีวิว (เดือนมกราคม) ตัวเครื่องสามารถแสดงภาพที่ 90 Hz บนแอปหลัก ๆ ได้แทบทุกแอปแล้ว แต่เมื่อปริมาณแบตเหลือน้อย ระบบก็จะปิด แล้วกลับมาแสดงผลที่ 60 Hz โดยอัตโนมัติ ซึ่งภาพที่ได้ต้องยอมรับว่าไหลลื่นดีจริง ๆ ลื่นกว่าภาพบนจอ iPhone แบบรู้สึกได้ทันที (จอ iPhone ยังเป็น 60 Hz อยู่)
ด้านหลังของ Google Pixel 4 ก็มีจุดเด่นที่แท่นกล้องหลังตรงมุมซ้ายบนที่มีพื้นเป็นกระจกสีดำ ภายในก็มีกล้อง 2 ตัว แฟลช LED เลเซอร์ช่วยโฟกัส รวมถึงไมค์ที่ด้านหลังด้วย ส่วนผิวฝาหลังก็จะมีความแตกต่างกันในบางสีครับ โดยในเครื่องสีดำจะเป็นกระจก Gorilla Glass 5 แบบผิวมันวาว ส่วนเครื่องสีขาวกับสีสัมจะเป็นกระจก Gorilla Glass 5 ที่ทำผิวเป็นแบบซอฟต์ทัช ทำให้ยังสามารถชาร์จไฟแบบไร้สายได้อยู่
ส่วนขอบเครื่องจะใช้เป็นเฟรมอะลูมินัมที่เคลือบผิวด้านคล้ายกันบนฝาหลังด้วยเช่นกัน
ด้านล่างของเครื่องก็จะมีช่องลำโพง/ไมค์ และก็ช่อง USB-C (USB 3.1 Gen 1) ส่วนด้านบนมีช่องรับเสียงของไมค์มาให้เพียงช่องเดียว
ด้านขวาจะเป็นตำแหน่งของปุ่มกด ได้แก่ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และก็ปุ่ม Power ที่มีการทำสีให้โดดเด่นขึ้นมาจากขอบเครื่อง
ส่วนฝั่งซ้ายจะมีเพียงถาดใส่ซิมเท่านั้น ซึ่งภายในก็สามารถติดตั้งนาโนซิมได้เพียงซิมเดียว ไม่มีช่องใส่ MicroSD ถ้าอยากใช้งานสองซิม ก็ต้องใช้เป็นแบบนาโนซิม + eSIM ซึ่งก็แล้วแต่เครื่องอีกว่ารองรับมั้ย และก็ขึ้นอยู่กับการเข้าไปคุยกับผู้ให้บริการเครือข่ายในบ้านเราครับ ว่าเขาจะยอมทำให้หรือเปล่า เนื่องจาก Google Pixel ไม่ได้อยู่ในรายชื่อรุ่นของมือถือที่รองรับการใช้งาน eSIM ในประเทศไทย
ในการใช้งานทั่วไป Google Pixel 4 จัดว่าเป็นมือถือที่ค่อนข้างกะทัดรัดสำหรับยุคนี้มาก ๆ ครับ ด้วยตัวเครื่องที่ขนาดไม่ใหญ่มากนัก หน้าจออัตราส่วน 19:9 ก็ทำให้ตัวเครื่องดูผอมเพรียว เมื่อเทียบขนาดแล้วก็ยังเล็กกว่า iPhone 11 อยู่พอสมควร ทำให้สามารถพกใส่กระเป๋ากางเกง กระเป๋าเสื้อได้แบบไม่ลำบากนัก น้ำหนักก็ค่อนข้างเบา ใช้งานด้วยมือเดียวได้สบาย
ลำโพงให้เสียงที่ดังพอตัว ใช้คุยโทรศัพท์ได้แบบไม่มีปัญหา ส่วนจุดที่ผมขัดใจระหว่างใช้งาน Pixel 4 ก็คือส่วนของกล้องหลังที่ฝุ่นเกาะผิวกระจกได้ง่ายมาก และก็ระบบสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อกจอที่บางครั้งก็ไม่สามารถสแกนได้บ้างก็มี
หนึ่งในฟังก์ชันด้านซอฟต์แวร์ที่ Google ใส่มาใน Pixel 4 เป็นครั้งแรก แล้วผมมองว่ามันน่าสนใจมากก็คือฟังก์ชันการถอดคำจากเสียงแบบสด ๆ ของแอปบันทึกเสียงในตัวเครื่อง (Recorder) ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกให้ระบบทำการถอดคำแบบสด ๆ ระหว่างการบันทึกเสียงได้เลย แบบไม่จำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ต โดยในตอนนี้ (เดือนมกราคม) ระบบยังรองรับเพียงแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่ง Google ก็ทยอยปล่อยฟังก์ชันนี้ให้เครื่องรุ่นอื่นสามารถใช้งานได้บ้างแล้ว ตัวอย่างการทำงานก็ตามคลิปด้านบนครับ
จากที่ผมทดสอบดู การถอดคำก็ทำได้ค่อนข้างเร็ว ถ้าเสียงที่เข้ามาเป็นการพูดที่ค่อนข้างชัดถ้อยชัดคำ การถอดคำจะทำได้ค่อนข้างแม่นยำและตามหลังเสียงจริงไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นการพูดเร็ว ๆ รัว ๆ อย่างเช่นในภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง Sherlock อันนี้บอกเลยว่าระบบก็ถอดไม่ไหวเหมือนกันครับ มีอาการหยุดไปนิ่ง ๆ แล้วก็ข้ามคำข้ามประโยคไปพอสมควรเลย
แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใด สิ่งที่ค่อนข้างเหมือนกันคือ ระบบจะถอดคำแบบติดต่อกันเลย จะมีการขึ้นย่อหน้าใหม่ให้เฉพาะตอนที่เสียงขาดหายไปซักระยะหนึ่งเท่านั้น แต่เพียงเท่านี้ ส่วนตัวผมว่าก็ช่วยให้การทำงานของผมสะดวกขึ้นเยอะแล้ว
กล้อง Google Pixel 4 ดีสมคำร่ำลือหรือไม่?
หนึ่งสิ่งที่ช่วยสร้างชื่อให้กับมือถือ Pixel นับตั้งแต่รุ่นแรกคือกล้องที่ให้ภาพสวยด้วยพลังของการประมวลผลภาพที่ Google นำระบบคลาวด์ของตนเองมาช่วยในการทำงาน จนทำให้ที่ผ่านมา แม้ Pixel จะมีกล้องหลังตัวเดียว แต่ก็มีฟังก์ชัน และให้คุณภาพของรูปถ่ายแทบไม่แพ้มือถือที่มีกล้องหลังหลายตัวเลย
แต่ในระยะหลังมานี้ ก็เกิดกระแสเรียกร้องให้ Google เพิ่มเลนส์เข้ามาเสริมให้กับ Pixel บ้างซักที เช่น การเพิ่มเลนส์เทเลเข้ามาเพื่อช่วยให้สามารถซูมแบบออปติคอลได้ รวมถึงการเพิ่มเลนส์อัลตร้าไวด์ เพื่อให้สามารถถ่ายภาพมุมกว้างกว่าปกติได้ ซึ่งส่วนตัวผมเองก็เห็นด้วยนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลนส์อัลตร้าไวด์ เพราะผมเองชอบถ่ายรูปวิว ถ่ายรูปแบบที่ให้เห็นมุมกว้าง ๆ ประกอบกับรูปที่ทาง Google ปล่อยมาก่อนหน้านี้ก็ทำให้คาดเดาได้ว่า Pixel 4 น่าจะมีกล้องหลังมากกว่า 1 เลนส์แน่ ๆ
พอถึงเวลาเปิดตัวจริง ปรากฏว่าเป็นการเพิ่มเลนส์เทเลเข้ามา ซึ่งก็ถือว่ายังดีครับ พอใช้เอามาถ่ายวัตถุที่อยู่ไกลได้ดีขึ้น เอามาใช้ช่วยในการถ่าย portrait ได้ดีขึ้น แต่ก็แอบเสียดายที่ถึงยุคนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีเลนส์อัลตร้าไวด์มาให้เหมือนแบรนด์อื่น ๆ ซักที
จะอย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเพิ่มเลนส์มาให้กล้องหลังแล้ว Google Pixel 4 ยังมีฟีเจอร์ด้านกล้องที่เพิ่มเข้ามาอีกหลายส่วนเหมือนกันครับ ที่น่าสนใจก็ตามนี้เลย
Dual Exposure
เป็นฟังก์ชันที่ให้ผู้ใช้สามารถปรับค่าของ highlight กับ shadow ในภาพได้ตั้งแต่ตอนจะถ่ายรูป ซึ่งเป็นการปรับค่าที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสว่างทั้งหมดของภาพโดยตรง แต่จะมีผลตรงส่วนที่มีแสงและเงาในภาพ
อย่างในภาพชุดด้านบน บนหน้าจอจะมีตัวเลื่อนอยู่ 2 อัน อันบนคือตัวปรับความสว่างโดยรวมทั้งภาพ ส่วนตัวล่างคือตัวปรับ highlight/shadow ครับ ถ้าปรับขึ้นสูงสุด ส่วนที่เป็นเงาก็จะลดลง (highlight เพิ่มขึ้น) ถ้าปรับลงต่ำสุด เงาก็จะเพิ่มขึ้น (highlight ลดลง) ทำให้ผู้ใช้สามารถออกแบบแสงเงาในภาพที่ต้องการได้ตั้งแต่ตอนถ่ายเลย ไม่จำเป็นต้องมาแต่งรูปในแอปอีกต่อไป
การซูมภาพ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า Google Pixel 4 รองรับการซูมแบบออปติคอลได้สูงสุด 2 เท่า การที่จะซูมตั้งแต่ตอนถ่ายก็ทำได้ทั้งการถ่างจีบนิ้วออก หรือจะแตะหน้าจอสองครั้งติด ๆ กันก็ได้ครับ โดยในวิธีหลังจะเป็นการสลับไปมาระหว่าง 1x กับ 2x ในทันที ทำให้สามารถใช้งานได้ค่อนข้างง่าย สามารถใช้งานได้ในทุกโหมดกล้อง ส่วนถ้าต้องการซูมแบบดิจิตอลต่อก็ใช้การถ่างจีบนิ้ว หรือเลื่อนที่ปุ่มบนแถบซูมก็ได้ สามารถซูมได้สูงสุดเป็น 8 เท่า
สำหรับการถ่ายในโหมด portrait ถ้าผู้ใช้แตะหน้าจอสองครั้งเพื่อซูม ระบบจะซูมออปติคอลขึ้นมาเป็น 1.3x (เพราะของเดิมมันก็คือการซูมเล็กน้อยอยู่แล้ว)
ด้านบนก็เป็นผลงานจากการซูมด้วยกล้องหลังของ Google Pixel 4 ครับ ภาพซ้ายสุดเป็นภาพจากเลนส์หลักที่ระยะปกติ ภาพกลางคือภาพที่ได้จากการซูมออปติคอล 2 เท่า ส่วนภาพขวาสุดคือซูมหมดหลอดที่ 8 เท่า รายละเอียดโดยทั่วไปก็จัดว่ายังใช้ได้อยู่ แต่มือก็ต้องนิ่งพอสมควรครับ แม้ว่าตัวเลนส์จะมีระบบกันสั่น OIS ช่วยบ้างก็ตาม
โหมด Night Sight สำหรับถ่ายกลางคืน
แม้จะเป็นโหมดที่อยู่ใน Pixel มาซักระยะหนึ่งแล้ว แต่ใน Pixel 4 ก็ได้รับการพัฒนาให้เรื่องของสีสันกับ white balance ดีขึ้นกว่าเดิม จากที่ผมเคยใช้ Pixel 2 XL มา จะพบปัญหาเรื่อง white balance ติดอมฟ้าอยู่บ่อยครั้ง เมื่อใช้โหมด Night Sight แต่พอใน Pixel 4 ก็พบปัญหาน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนในภาพด้านบนก็เป็นการเทียบกันระหว่างภาพซ้ายที่ปิด Night Sight ส่วนภาพขวาเป็นการเปิด Night Sight ครับ ความสว่างต่างกันเยอะเลย
โหมดถ่ายดาว Astrophotography
เป็นโหมดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ใน Pixel 4 ครับ ซึ่งอันที่จริงก็จัดว่าเป็นโหมดเสริมให้กับ Night Sight อีกที เพราะมันจะทำงานโดยอัตโนมัติ เมื่อผู้ใช้หันกล้องไปยังที่มืด โดยตัวมือถือเองก็ต้องวางแบบนิ่ง ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ขณะที่ติดตั้งอยู่กับขาตั้งกล้อง
ส่วนการทำงาน ก็จะเป็นการเปิดหน้ากล้องค้างไว้ ผสมกับประมวลผลภาพเพื่อลด noise และเร่งให้แสงของดาวชัดเจนขึ้น ใช้ระยะเวลาในการถ่ายประมาณ 4 นาที ซึ่งถ้าจะให้ได้ภาพดีที่สุด ควรจะถ่ายในช่วงกลางดึก ในบริเวณที่มีแสงรบกวนจากภายนอก เช่น ไฟถนน ไฟตึกน้อยที่สุด อย่างในภาพด้านบนผมถ่ายเมื่อตอนประมาณสามทุ่ม ในวันที่มีแสงจันทร์ด้วยครับ (ถ้าถ่ายซักตีสอง น่าจะได้ภาพดาวชัดกว่านี้)
การถ่าย HDR+ แบบ Live HDR
อีกจุดเด่นของมือถือตระกูล Pixel ก็คือการถ่าย HDR ที่ทำได้เร็ว และได้ผลลัพธ์ที่ดีมาตลอด แต่ใน Pixel 4 ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นไปอีก โดยคราวนี้หน้าจอสามารถแสดงผลภาพที่จะได้จากการถ่าย HDR ตั้งแต่ก่อนกดถ่ายเลย จากที่แต่เดิมต้องไปรอประมวลผลหลังถ่ายเสร็จ ทำให้ผู้ใช้ทราบได้ตั้งแต่ก่อนถ่ายว่าภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไร
แต่ทั้งนี้ก็มีจุดที่ Google ตัดออกไปแล้วส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วยก็คือ ตัวเลือกในการเปิด/ปิดโหมด HDR ครับ เพราะคราวนี้กลายเป็นว่าทุกรูปจะเป็นการคำนวณของระบบหมดเลย ว่าจะให้เป็นการถ่าย HDR หรือเปล่า
อีกจุดที่ Google ตัดออกจากแอปกล้องก็คือตัวเลือกปรับระดับ white balance ของภาพ ที่แต่เดิมจะมีให้ปรับเป็นค่าแบบต่าง ๆ เช่น ค่าเมื่อถ่ายใต้แสงหลอดทังสเตน หลอดฟลูออเรสเซนท์ เป็นต้น ทำให้ถ้าได้ภาพที่ผมไม่ถูกใจ white balance ผมก็ต้องมานั่งปรับในแอปแต่งรูปอีกที เสียเวลากว่าเดิมเข้าไปอีก ยังดีที่ระบบคำนวณ white blance ของ Pixel 4 นั้นทำงานได้ค่อนข้างแม่นในหลายสถานการณ์อยู่
ส่วนด้านล่างนี้ก็เป็นตัวอย่างของภาพที่ได้จากกล้องหลัง Google Pixel 4 ครับ มีภาพสุดท้ายเป็นโหมด night sight
ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ด้านล่างนี้ครับ
ความแรง และแบตเตอรี่ของ Google Pixel 4
ระดับความแรงของ Google Pixel 4 ก็อยู่ในจุดที่พอจะคาดเดาได้ครับ ด้วยชิปประมวลผลระดับเกือบท็อปสุดของฝั่ง Android จะด้อยกว่านิดหน่อยก็คือแรมที่ให้มา 6 GB ต่างจากมือถือรุ่นท็อปด้วยกันที่ส่วนใหญ่จะให้มา 8 GB แล้ว โดยคะแนนผลการทดสอบก็เป็นไปตามภาพด้านล่างครับ
จะเห็นว่าคะแนนต่าง ๆ ก็ค่อนข้างดีเลย ส่วนในการใช้งานจริง ลื่นสบายหายห่วง การตอบสนองทำได้รวดเร็ว เปิดปิดแอปทันใจ ระบบไม่ค่อย kill process เท่าไหร่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากแรม 6 GB ที่เพียงพอกับการใช้งานพื้นฐานอยู่แล้ว ด้านของการประมวลผลภาพหลังถ่ายก็ทำได้เร็วกว่าเดิมครับ รวม ๆ แล้ว Pixel 4 ยังคงให้ประสบการณ์ในการใช้งาน Android ที่ดีมาก ๆ เหมือนเช่นเคย
ส่วนที่ทำได้ดีก็ว่ากันไปแล้ว คราวนี้มาดูส่วนที่ยังต้องมีการปรับปรุงกันบ้าง จุดสำคัญเลยก็คือเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ครับ เพราะจากการใช้งานทั่วไปของผมที่ต่ออินเตอร์เน็ตตลอดเวลา สลับกันระหว่าง WiFi กับ 4G ใช้แอปพื้นฐานเช่น Facebook, Line, Twitter, IG, ถ่ายรูป, เปิด Google Maps บ้างเล็กน้อย และก็ฟังเพลงบ้างในบางช่วง พบว่าแบตเตอรี่อยู่ได้ตั้งแต่เช้าถึงเย็นแบบน่าหวาดเสียวอยู่เหมือนกัน (บางวันเหลือต่ำกว่า 20%) ซึ่งถ้าวันไหนต้องใช้งานหนักกว่าปกติ ก็จำเป็นต้องใช้ powerbank ช่วยระหว่างวันอยู่เหมือนกัน ต่างจาก iPhone 11 ที่รอบนี้ผมสังเกตได้ชัดเลยว่าแบตอึดกว่า Pixel 4 ซะอีก (iPhone 11 แบตเยอะกว่าประมาณ 300 mAh)
ยังดีที่ตัวเครื่องรองรับการชาร์จเร็วได้สูงสุด 18W ซึ่งผมเองก็มี powerbank และอุปกรณ์ชาร์จที่รองรับ USB-PD อยู่แล้ว เลยนำมาใช้งานได้ทันที ซึ่งก็ชาร์จเร็วทันใจครับ
สำหรับวิธีการประหยัดแบตเตอรี่ ก็หนีไม่พ้นการปิดฟังก์ชัน ปรับแต่งการทำงานบางส่วนเช่นเคย จุดที่ผมทดลองแล้วเห็นผลชัดเจนก็เช่น
- ปิดฟังก์ชัน Smooth Display (แสดงผล 90 Hz)
- ตั้งภาพพื้นหลังหน้าจอเป็นภาพนิ่ง เน้นโทนสีดำ
- ปิดการเชื่อมต่อที่ไม่จำเป็น
- ใช้ Dark theme
เทียบ Google Pixel 4 กับ iPhone 11
ทีนี้มาเทียบความแตกต่างระหว่างมือถือสองรุ่นที่จัดเป็นสาย pure ของฝั่ง Android และ iOS กันบ้างครับ นั่นคือ Google Pixel 4 กับ iPhone 11 ที่ผมใช้งานอยู่พอดี ช่วงราคาเริ่มต้นก็ค่อนข้างใกล้เคียงกัน
เริ่มแรกด้วยเรื่องของขนาดเครื่อง จะเห็นว่า Pixel 4 มีขนาดเล็กกว่านิดหน่อย
ส่วนหน้าจอ iPhone 11 จะใหญ่กว่า กว้างกว่าครับ ด้านของสีสัน ทั้งสองเครื่องมีระบบช่วยปรับโทนสีให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม อย่างใน iPhone ก็จะเป็นระบบ True Tone ส่วนใน Pixel 4 ก็คือ Ambient EQ ซึ่งการทำงานของทั้งสองก็ทำได้ค่อนข้างดีเลย แต่จอของ Pixel 4 จะติดอมฟ้ากว่า iPhone 11 เล็กน้อย
โดยในภาพด้านบน ตัวกล้องได้พยายามปรับ white balance ให้โดยรวมออกมาเทากลางที่สุด จึงทำให้จอ iPhone ดูอมเหลืองไปนิด แต่ถ้าดูด้วยตาจริง ๆ จะไม่เหลืองขนาดนี้ครับ กลับกันคือจอ Pixel 4 จะอมฟ้ากว่าเล็กน้อยด้วย
สำหรับด้านสีสัน จอของทั้งคู่ทำได้ดีใกล้เคียงกันเมื่อมองด้วยตาเปล่า แต่ถ้าเป็นจุดสีดำ Pixel 4 จะทำได้ดีกว่าแบบเห็นได้ชัด ทั้งนี้ก็เนื่องจากการใช้จอแบบ OLED ที่สีดำคือการปิดหลอดไฟจริง ๆ เลยให้ความดำได้สนิทกว่า iPhone ที่ใช้จอ IPS
ความสะดวกในการพกพา อันนี้แน่นอนว่า Pixel 4 กะทัดรัดกว่า พกสะดวกกว่า iPhone 11 ครับ รวมถึงเรื่องน้ำหนักด้วย สำหรับ iPhone 11 นี่ พอใช้ไปซักพักแล้วผมรู้สึกว่ามันหนักข้อมืออยู่พอสมควรเลย
ความร้อนในการใช้งาน: พอ ๆ กัน
การสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อก: iPhone 11 ใช้งานสะดวกกว่า แม่นยำกว่าเล็กน้อย
เสียงของลำโพง: ส่วนตัวผมถูกใจ iPhone 11 มากกว่า
ส่วนเรื่องกล้องถ่ายรูป ด้านล่างนี้ก็เป็นภาพเปรียบเทียบคร่าว ๆ ครับ
สำหรับการเทียบภาพถ่ายแบบเต็ม ๆ รอชมกันในบทความแยกอีกทีนะครับ
สรุป Google Pixel 4 น่าใช้มั้ย น่าหามาลองหรือเปล่า?
ก็มาถึงส่วนสรุปของรีวิว Google Pixel 4 เครื่องนี้แล้วนะครับ ถ้าให้ผมลงความเห็นว่า Pixel 4 น่าใช้มั้ย อันนี้ก็บอกได้เลยว่า ในงบเดียวกัน ถ้าคุณต้องการมือถือระดับท็อปแบบใช้งานได้สบายใจ แนะนำว่าไปซื้อแบรนด์อื่นที่มีขายในไทยอย่างเป็นทางการจะดีกว่าครับ อย่างน้อยถ้าเครื่องมีปัญหา ก็ยังมีศูนย์บริการให้เข้าไปใช้บริการ จะหาเคส หาอุปกรณ์เสริมก็ค่อนข้างง่ายกว่ามือถือตระกูล Pixel แถมพวกฟังก์ชัน ลูกเล่นก็เยอะกว่า ที่สำคัญคือ จุดเด่นที่ Pixel เคยทำได้เกินหน้าเกินตาแบรนด์อื่นมาตลอด แม้ในปีนี้จะยังทำได้ดีมาก ๆ อยู่เหมือนเดิม แต่มันก็อยู่ในระดับที่ไม่ได้ต่างจากรุ่นอื่นมากนัก จนทำให้แฟน ๆ Pixel รู้สึกไม่ค่อยโอเคกับซีรีส์ 4 ซักเท่าไหร่ (เพราะรุ่นอื่นเขามาโหดกันจริง ๆ)
ประกอบกับฝั่ง Apple เองก็ดันทำ iPhone 11 ออกมาได้น่าสนใจ ทั้งแง่ของสเปค การใช้งานและราคา ซึ่งก็ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการมือถือระดับไฮเอนด์กล้องดี ๆ มากขึ้นไปอีก
ส่วนถ้าใครเป็นสาวกของ Pixel อยู่ หากเครื่องที่ใช้ตอนนี้เป็นเครื่องรุ่นเก่าหน่อย เช่น Pixel 1 หรือ Pixel 2 แล้วต้องการซื้อเครื่องใหม่ Pixel 4 ก็ถือว่าน่าสนใจครับ ได้สเปคที่สดใหม่กว่า กล้องที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายภาพในที่มืด ลูกเล่นที่ใช้ได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่คงต้องหมายเหตุเอาไว้หน่อยว่ารอบนี้เครื่องค่อนข้างกินแบตพอตัว ถ้ากังวลเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ อาจจะไปรอดู Pixel 4a ที่น่าจะได้รับการเปิดตัวในช่วงกลางปีนี้
แต่ใครที่ใช้งาน Pixel 3 หรือ 3a อยู่ การอัพเกรดมาเป็น Pixel 4 อาจจะไม่ได้สร้างความแตกต่างให้กับการใช้งานมากนัก เพราะ Google ก็ทยอยเพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ ใน Pixel 4 ให้เครื่องรุ่นเก่าได้ใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ แนะนำว่าถ้าเครื่องไม่มีปัญหา ก็ใช้งานรอรุ่นใหม่ช่วงปลายปีก็ได้ครับ