อุปกรณ์เก็บข้อมูลประเภท NVMe M.2 SSD มีจุดเด่นเรื่องขนาดเล็ก และให้ความเร็วในการอ่านเขียนที่สูงกว่า SSD แบบ SATA และแน่นอนว่าให้ความเร็วมากกว่าบรรดา Thumb Drive รวมถึง External Harddisk หลายเท่า และด้วยราคาที่ไม่ได้สูงเหมือนเมื่อก่อน ทำให้เหมาะมากสำหรับการซื้อมาทำเป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอก
การที่จะใช้งาน NVMe M.2 SSD เป็น External SSD ได้นั้น จะต้องมีอุปกรณ์เสริมที่เรียกกันบ้าน ๆ ว่ากล่องใส่ SSD หรือ SSD Enclosure โดยอุปกรณ์ที่ผมจะรีวิวเป็นแบรนด์ CHOETECH USB 3.1 Type-C Gen 2 to NVMe M.2 SSD Enclosure ตามสเปคสามารถทำความเร็วในการอ่านเขียนได้สูงถึง 10 Gbps ตามมาตรฐาน USB Type-C 3.1 มีขนาดเล็ก และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่เป็น USB Type-C ผ่านสาย USB Type-C to USB Type-C ครับ
ด้านหน้าและด้านหลังของกล่อง CHOETECH USB 3.1 Type-C Gen 2 to NVMe M.2 SSD Enclosure บ่งบอกสเปคและความสามารถคร่าว ๆ ของ SSD Enclosure รุ่นนี้ ได้แก่
- พอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB-C
- ความเร็ว 10 Gbps
- ไม่ต้องใช้น้อตยึด
- รองรับ M-Key M.2 SSD แบบ PCI-E NVMe ขนาด 2230, 2242, 2260 และ 2280
ในการทดสอบ ผมได้ใส่ NVMe M.2 Intel SSD 6 ความจุ 512 GB เข้ากับกล่อง และใช้สาย USB Type-C 3.1 ในการทดสอบครับ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบประกอบไปด้วย
- MacBook Pro Retina 13 Touch Bar (ThunderBolt 3)
- Samsung Galaxy Note 10+
- Apple iPad Pro 11
Design – การออกแบบ
ตัวกล่อง CHOETECH NVMe M.2 SSD มีขนาดเล็ก เหมาะกับการพกพา วัสดุเป็นอลูมิเนียม มีรูระบายความร้อนบริเวณด้านข้างทั้งสองด้าน ด้านบนเป็นพอร์ตเชื่อมต่อ USB Type-C กับไฟบอกสถานะเชื่อมต่อ ส่วนด้านล่างเป็นสลักสำหรับปลดล็อกตัวกล่อง
ขนาดของกล่องเมื่อเทียบกับลิปสติกขนาดมาตรฐาน และเทียบกับฝ่ามือผู้เขียน
วิธีประกอบ SSD เข้ากับกล่องก็ไม่ยากครับ ให้ดันสลักด้านล่างไปที่รูปปลดล็อก จากนั้นถอดฝาออกจากตัวกล่อง จะพบกับเบ้าสำหรับใส่ SSD ให้สังเกตบริเวณขั้ว แล้วจับ NVMe M.2 SSD ใส่เข้าไป ล็อกด้วยน้อตซิลิโคน จากนั้นปิดฝาเป็นอันเรียบร้อย
การใช้งานต้องมีสาย USB Type-C 3.1 Gen 2 ในการเชื่อมต่อครับ ในกล่องไม่ได้แถมมาให้ ตรงนี้ต้องซื้อแยกต่างหาก เมื่อเสียบสายแล้วก็ใช้งานเหมือนอุปกรณ์เก็บข้อมูลทั่วไปได้เลยทันที
Performance – ประสิทธิภาพ
ผมทดสอบความเร็วการอ่านเขียนบน MacBook Pro Retina 13 Touch Bar ด้วยแอปพลิเคชัน BlackMagic Disk Speed Test ฟอแมต SSD แบบ exFAT ทำความเร็วเฉลี่ยในการอ่านข้อมูล (Read) ได้ที่ 900 MB/s และความเร็วในการเขียนข้อมูล (Write) 860 MB/s ซึ่งถือว่าเร็วมาก ๆ
ทดสอบลากไฟล์ RAW จากกล้อง Canon EOS 6D ที่เป็นกล้องฟลูเฟรม จำนวน 60 รูป ประมาณ 1.4 GB ใช้เวลาในการถ่ายโอนข้อมูลประมาณ 3 วินาทีเท่านั้น และด้วยความเร็วระดับนี้ จึงทำให้สามารถแต่งรูปบน Lightroom ผ่านตัว SSD ได้แบบไม่มีการกระตุกแม้แต่น้อย
หลังจากทดสอบบน MacBook Pro Retina 13 แล้ว ก็ต่อด้วยการทดสอบร่วมกับ Samsung Galaxy Note 10+ ตัวกล่อง CHOETECH NVMe M.2 SSD ไม่จำเป็นต้องต่อไฟเลี้ยงเพิ่มเติม มันสามารถดึงไฟจากสมาร์ตโฟนได้ เพราะฉะนั้นการใช้งานก็จะเหมือนกับเสียบ Thumb Drive ที่เป็น USB Type-C
ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลด้วย CHOETECH NVMe M.2 SSD บน Samsung Galaxy Note 10+ ผมทดสอบด้วยแอปพลิเคชัน AndroBench ทำความเร็วในการอ่านเขียนได้ที่ 230 MB/s และ 190 MB/s ตามลำดับ ตัวเลขดรอปจากตอนที่ทดสอบบน MacBook Pro 13 ไปหลายเท่าตัว แต่ก็ยังถือว่าทำความเร็วได้มากกว่าพวก Thumb Drive หรือ microSD Card ครับ
ปิดท้ายด้วยการทดสอบร่วมกับ iPad Pro 11 256 GB ที่รันด้วย iPad OS 13.2.3 สามารถเชื่อมต่อแบบ Plug and Play ได้ทันที และถ่ายโอนไฟล์ผ่านแอปพลิเคชัน Files ผมใช้ไฟล์ที่ถ่ายโอนมาจาก MacBook Pro 13 (ไฟล์ RAW ขนาดไฟล์เฉลี่ย 25 MB ต่อไฟล์) จับ Import เข้าแอปพลิเคชัน Lightroom สามารถแต่งภาพต่อบน iPad Pro ได้สบาย ๆ ครับ ไม่รู้สึกหน่วงแต่อย่างใด
Overall
โดยรวมสำหรับ CHOETECH NVMe M.2 SSD Enclosure เป็นอีกทางเลือกที่ดีมากสำหรับคนที่ต้องถ่ายโอนข้อมูลเป็นประจำ และต้องการการถ่ายโอนข้อมูลความเร็วสูงสำหรับทำงาน เช่น แต่งภาพ หรือตัดต่อวีดีโอ Full HD บนอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานบน iPad Pro เป็นหลัก อุปกรณ์ชิ้นนี้ทำให้การทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น แต่แนะนำให้ Format เป็น exFAT จะใช้งานกับอุปกรณ์ได้หลากหลายกว่าครับ
สำหรับราคาของ CHOETECH NVMe M.2 SSD อยู่ที่ประมาณ 1,400 บาท แต่ตอนนี้มีโปรลดราคาใน Lazada เหลือเพียง 1,041 บาท ส่งฟรีถึงหน้าบ้าน ใช้เวลาประมาณ 5 – 7 วันครับ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งสินค้าได้ตามลิ้งก์ด้านล่างเลย
ส่วนราคา NVMe M.2 SSD 512 GB ผมสั่งจาก Shopee ประมาณ 2,000 บาทครับ ทำให้ราคาทั้งหมดรวมสาย USB Type-C ด้วย อาจพุ่งไปเกือบ ๆ 4,500 บาทเลยทีเดียว สำหรับความจุ 512GB เป็นราคาที่สูงกว่า SSD External SATA มากทีเดียวครับ
จุดเด่น
- น้ำหนักเบา วัสดุเป็นอลูมิเนียม ระบายความร้อนได้เร็ว
- อ่านเขียนข้อมูลได้เร็วมาก
- ใช้งานง่าย ถอดประกอบชิ้นส่วนง่าย ไม่ต้องใช้น้อตยึด
ข้อสังเกต
- ราคาค่อนข้างสูง หากเทียบกับการซื้อ SSD External SATA ในความจุเท่ากัน
- ไม่มีสาย USB Type-C to Type-C แถมมาให้ในแพ็กเกจ