ชื่อของ Motorola นับเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่อยู่คู่กับวงการโทรศัพท์มือถือมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนมาถึงยุคสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในอยู่เป็นระยะ ๆ ก็ตาม แต่แบรนด์ที่ใช้โลโก้ตัว M ก็ยังออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มาอยู่เรื่อย ๆ อย่างล่าสุดก็ส่ง Motorola One Vision ที่มาพร้อมกับสเปคที่น่าสนใจ ประกอบกับการที่ยังคงเข้าร่วมโครงการ Android One อยู่ ทำให้ Motorola One Vision น่าจะเป็นมือถือที่ตอบโจทย์หลาย ๆ ท่านที่ต้องการมือถือมาใช้งานอยู่เหมือนกัน
และนอกเหนือจากการใช้งาน Android One แล้ว Motorola One Vision ยังมาพร้อมกับสเปคที่น่าสนใจอยู่หลายจุดเหมือนกันครับ
- ชิปประมวลผล Exynos 9609 มี 8 คอร์ประมวลผล ความเร็ว 2.2 GHz พร้อมชิปกราฟิก Mali G72 MP3
- แรม 4 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 128 GB รองรับ microSD เพิ่มได้สูงสุด 512 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 6.3 นิ้ว อัตราส่วนภาพ 21:9 ความละเอียดระดับ FHD+ (2520×1080)
- Android 9.0 (ในโครงการ Android One)
- กล้องหลังคู่
- กล้องหลักเซ็นเซอร์ 48MP f/1.7 มีกันสั่น OIS รองรับฟังก์ชัน Quad Pixel ที่รวมพิกเซลให้ภาพเหลือ 12MP
- กล้องเลนส์ depth 5MP
- กล้องหน้า 25MP f/2.0
- แบตเตอรี่ 3500 mAh รองรับการชาร์จเร็ว TurboPower 15W
- พอร์ตชาร์จแบบ USB-C
- กันละอองน้ำได้ในระดับ IP52
- มีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มม.
- ระบบเสียง Dolby Audio
- รองรับ 2 ซิม โดยถาดซิมเป็นแบบไฮบริด
- มี NFC
- ราคา 9,990 บาท
มือถือส่วนใหญ่ในตลาดที่ให้สเปคมาประมาณนี้ มักจะเปิดราคากันที่หมื่นนิด ๆ แต่สำหรับ Motorola One Vision นี้เปิดมาเพียง 9,990 บาทครับ โดยในแง่ของสเปคเองก็ถือว่าตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปได้ดีมาก ชิปเร็วพอตัว แรม 4 GB พื้นที่เก็บข้อมูลให้มาเต็ม ๆ ถึง 128 GB ส่วนหน้าจอก็อาจจะมีอัตราส่วนภาพที่แปลกกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปนิดหน่อย แต่น่าจะตอบโจทย์สายดูหนังได้เป็นอย่างดี
ดีไซน์ หน้าตาของ Motorola One Vision
ของที่ให้มาในกล่อง นอกเหนือจากตัวเครื่องแล้ว ก็จะมีอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ (5V 3A / 9V 2A / 12V 1.5A) สาย USB-C หูฟัง เคสซิลิโคนใส ฟิล์มกันรอยหน้าจอ เข็มจิ้มถาดซิม และก็เอกสารคู่มือทั่วไปครับ
ตัวเครื่องจะยาวกว่ามือถือทั่วไปเล็กน้อย เนื่องจากหน้าจอมีอัตราส่วนภาพที่ 21:9 ในขณะที่มือถือส่วนใหญ่จะใช้ 16:9 หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 20:9 เท่านั้น ขอบจอทั้งสามด้านคือบน/ซ้าย/ขวาก็หนากำลังพอดี ส่วนขอบล่างจะหนากว่าด้านอื่นเล็กน้อยครับ ขอบกระจกหน้าจอจะเป็นขอบโค้ง 2.5D เข้าหาขอบเครื่อง ให้ความรู้สึกเข้าไปกับส่วนโค้งของเครื่องได้พอดี
ส่วนความรู้สึกในการจับถือก็จัดว่าทำได้ดี ด้วยตัวเครื่องที่มีลักษณะผอมเรียวยาว ทำให้สามารถจับได้ถนัดมือ งานประกอบโดยรวมก็ทำออกมาได้แน่นหนา
จุดที่เป็นไฮไลท์ที่สุดของด้านหน้าตัวเครื่อง ก็คือกล้องหน้าแบบเจาะช่องบนหน้าจอ โดยจะอยู่ที่มุมซ้ายบนสุด ที่ในปัจจุบัน หลายท่านอาจจะเริ่มชินตากันไปบ้างแล้ว แต่ของ One Vision จะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่กว่าปกตินิดหน่อยนะครับ ยิ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขนาฬิกา และไอคอนบนแถบด้านบนของจอก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างของขนาดได้อย่างชัดเจนมาก ๆ
คุณภาพหน้าจอ CinemaVision ก็ถือว่าทำได้ตามมาตรฐานพาเนล IPS คือให้สีสันสดใส รายละเอียดต่าง ๆ ทำได้ดี และมีมุมมองภาพที่กว้าง สามารถมองจากด้านข้างได้โดยที่มีอาการสีเพี้ยนน้อยมาก และด้วยการเลือกใช้อัตราส่วนภาพแบบ 21:9 ก็ทำให้สามารถรับชมภาพยนตร์ วิดีโอที่ทำภาพมาเป็นอัตราส่วน 21:9 ได้อย่างเต็มจอ (แต่ก็จะติดช่องของกล้องหน้าด้วยนะ)
ส่วนในภาพด้านล่างก็เป็นการเทียบขนาดระหว่าง Google Pixel 2 XL หน้าจอ 6″ 18:9 กับ Motorola One Vision หน้าจอ 6.3″ 21:9 ครับ จะเห็นว่าความสูงของเครื่องนั้นต่างกันไม่มาก เนื่องจาก Moto ใช้การออกแบบให้ใช้หน้าจอเกือบเต็มเครื่อง เลยทำให้ตัวเครื่องมีขนาดไม่เทอะทะจนเกินไป
พลิกมาด้านหลังกันบ้าง ฝาหลังจะเป็น Gorilla Glass แบบ 3D โดยเนื้อในของฝาหลังจะเป็นสีเหลือบสะท้อนแสง สำหรับเครื่องที่เราได้รับมารีวิวในครั้งนี้เป็นเครื่องสีน้ำเงินครับ ซึ่งเมื่อสะท้อนแสง ก็จะให้ประกายระยิบระยับสวยงาม มุมบนซ้ายเป็นตำแหน่งของกล้องหลังทั้งสองตัวพร้อมแฟลช LED ตรงกลางเป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่มีโลโก้ Motorola อยู่ภายใน ส่วนด้านล่างสุดก็เป็นพวกโลโก้รับรองมาตรฐานต่าง ๆ และโลโก้ Android One
หากมองจากด้านข้างก็จะเห็นชัดเหมือนกันว่าโมดูลกล้องจะนูนขึ้นมาจากฝาหลังพอสมควร
ด้านบนก็จะมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มม. และช่องรับเสียงของไมค์ด้านบน ส่วนด้านล่างก็จะมีช่องลำโพง ช่อง USB-C แล้วก็ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา
สำหรับฝั่งซ้ายจะมีเพียงถาดใส่ซิม ส่วนฝั่งขวาจะเป็นปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และก็ปุ่ม Power ตามปกติ
ประเด็นของถาดใส่ซิม น่าเสียดายที่เลือกใช้ถาดแบบไฮบริด ที่ผู้ใช้ไม่สามารถใส่ microSD ได้ หากใส่นาโนซิมเต็มทั้งสองช่องแล้ว ซึ่งปัจจุบัน มือถือในช่วงราคาใกล้ ๆ กันส่วนใหญ่มักจะให้ถาดซิมแบบ 2 + 1 microSD กันมาแล้วครับ ก็ถือเป็นข้อสังเกตแล้วกัน
เคสซิลิโคนที่แถมมาให้ในกล่องทำออกมาได้พอดีตัวเป๊ะ ๆ เนื้อไม่แข็งจนเกินไป มีการป้องกันตามขอบต่าง ๆ ได้ดี เช่น ขอบกระจกปิดเลนส์กล้องหลัง และขอบหน้าจอ
ซอฟต์แวร์ของ Motorola One Vision
Motorola One Vision มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 9.0 เวอร์ชัน Android One ที่การันตีการอัพเดตจาก Google ซึ่งแน่นอนว่าตัวระบบจะมาในแบบค่อนข้างคลีน แอปที่ติดตั้งมากับเครื่องก็จะเป็นแอปในกลุ่มของ Google ซะเป็นส่วนใหญ่ มีแอปเพิ่มเติมมาเองก็เช่น Dolby Audio สำหรับช่วยในการปรับระบบเสียง แอป Moto สำหรับเป็นทางลัดเข้าไปปรับลูกเล่นเสริมของตัวเครื่อง เป็นต้น
ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลภายในที่ตามสเปคระบุว่าให้มา 128 GB นั้น เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาใช้งานครั้งแรกจะเหลือให้ใช้จริงราว ๆ 116 GB ครับ สำหรับการใช้งานในด้านความบันเทิงก็หายห่วงเลย เพราะตัวเครื่องได้การรับรองมาตรฐาน Widevine ที่ระดับ L1 ทำให้สามารถสตรีมภาพยนตร์ที่ความละเอียดระดับ HD ได้สบาย
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Motorola One Vision
ด้วยความที่ Motorola One Vision เป็นเครื่องในโครงการ Android One ทำให้ลูกเล่น ฟีเจอร์ต่าง ๆ อาจจะไม่ได้มาแบบจัดเต็มมากนัก แต่ก็ยังมีทูลชื่อว่า Moto ที่ช่วยให้การปรับแต่งการทำงานต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้น อย่างในหัวข้อ Moto Anctions ก็จะมีตัวเลือกให้สามารถเปิดใช้งานฟังก์ชันแตะสามนิ้วบนจอเพื่อแคปหน้าจอได้ รวมถึงสามารถปรับปุ่ม navigation ด้านล่างได้ด้วย ว่าจะให้เป็นปุ่มโฮมแบบ gesture + ย้อนกลับ ที่เป็นค่าเริ่มต้นของ Android 9.0 หรือจะเป็นปุ่ม gesture เดี่ยว ๆ ไปเลย
ส่วนฝั่งของ Moto Display ก็จะเป็นตัวช่วยสำหรับปรับฟังก์ชันเสริมให้กับจอ เช่น Peek Display ที่ระบบจะแสดงพรีวิวของการแจ้งเตือนบนหน้าจอให้ แม้จะปิดหน้าจออยู่ ส่วนอีกอันก็เป็น Attentive Display ที่จะเปิดหน้าจอไว้ตลอดในขณะที่เรามองจออยู่ ป้องก้นการปิดหน้าจอเองโดยอัตโนมัติ
กล้องถ่ายรูปของ Motorola One Vision
ชุดกล้องหลังก็มาในแบบชุดปกติครับ คือเลนส์หลักคู่กับเลนส์ depth ที่ทำให้การถ่ายฉากหลังเบลอทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งในส่วนของเลนส์หลักจะมาพร้อมเทคโนโลยี Quad Pixel ที่ช่วยในการประมวลผลภาพที่ได้จากเซ็นเซอร์รับภาพความละเอียด 48MP ให้กลายเป็นภาพความละเอียด 12MP แม้ว่าตัวเลขจะดูน้อยลง แต่ภาพที่ได้จะมีความสว่างและสีสันที่ดีขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นหลักการในการรวม 4 พิกเซลเข้าเป็นพิกเซลเดียวที่คุ้นเคยกันนั่นเองครับ
สำหรับความละเอียดของกล้องหลังที่สามารถปรับได้นั้น จะได้สูงสุดแค่ 12MP ไม่สามารถปรับ 48MP เต็ม ๆ ได้นะ นอกจากนี้ยังรองรับการถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW ด้วย (เมื่อถ่ายในโหมด Manual) แต่ภาพไฟล์ RAW นั้นก็จะมีความละเอียดสูงสุดแค่ 12MP เหมือนกัน
อินเตอร์เฟสของแอปกล้องติดเครื่องก็จะมีความใกล้เคียงกับ Android 9.0 ของ Google เลยครับ แต่มีส่วนของโหมดกล้องเพิ่มเข้ามา โดยโหมดที่มีให้ใช้ก็ได้แก่
- Portrait
- Cutout (สำหรับใช้ปรับเปลี่ยนฉากหลัง)
- Spot color
- Night vision
- Cinemagraph (ได้ภาพเป็นไฟล์ GIF)
- Panorama
- Live filter
ส่วนของการถ่ายวิดีโอก็รองรับทั้งการถ่ายปกติ ถ่ายสโลว์โมชัน ถ่าย timelapse และก็มีทางลัดสำหรับ live ลง YouTube ได้โดยตรง
ในการใช้งานกล้อง โดยทั่วไปแล้วก็ทำได้ดีครับ แต่จากที่ผมรีวิวมา หากถ่ายรูปติดกันหลาย ๆ รูปหน่อย ตัวระบบจะเริ่มมีการประมวลผลภาพที่นานขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย อันนี้ก็อาจต้องรอการแก้ไขที่เฟิร์มแวร์กันอีกที
ภาพด้านบนนี้เป็นภาพเปรียบเทียบกันระหว่างการถ่ายกลางคืนโดยใช้โหมด auto (ซ้าย) กับใช้โหมด Night vision (ขวา) จะเห็นว่าขนาดโหมด auto เองก็ถือว่าทำได้ดีแล้ว แต่เมื่อเปิดโหมด Night vision เพิ่มเข้ามา ภาพก็จะดูสว่างขึ้นไปอีก ช่วยให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ส่วนหลักการทำงานนั้นก็เป็นการเปิดหน้ากล้องนานขึ้นกว่าปกติ แล้วใส่การประมวลผลภาพเข้าไปเพิ่มครับ
แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่าโหมด Night vision นั้นโหดเกินราคาอยู่เหมือนกันนะ
สำหรับตัวอย่างภาพจากกล้องสามารถรับชมได้จากด้านล่างนี้เลย
ประสิทธิภาพและการเล่นเกมบน Motorola One Vision
Motorola One Vision มาพร้อมกับสเปคในระดับกลาง ๆ ที่ใช้ทำงานทั่วไปได้สบาย จะเล่นเกมก็เหลือ ๆ ด้วยพลังของชิป Exynos 9609 กับแรม 4 GB ที่ยังพอเพียงสำหรับการใช้งานในปัจจุบัน โดยสามารถรีดคะแนนจากการทดสอบ AnTuTu ไปแตะหลัก 120,000 คะแนน ส่วนการทดสอบกราฟิกด้วย 3DMark ก็ทำได้ในระดับที่น่าพอใจ สามารถใช้เล่นเกมในปัจจุบันได้สบาย
ทดสอบการเล่นเกมกันด้วยเกมแรกอย่าง PUBG Mobile ผลที่ได้ก็คือลื่นหัวแตกด้วยการปรับความละเอียดระดับ HD และเฟรมเรตระดับ High ครับ
เกมต่อมาก็เป็น RoV เช่นเคย ด้วยการปรับกราฟิกสูงสุดทุกอย่าง ผลที่ได้คือเล่นได้ลื่น ๆ เลย แต่เฟรมเรตที่ได้จะอยู่ที่ 55 fps เท่านั้น ไม่มากและไม่น้อยไปกว่านี้
ปิดท้ายด้วยเกม Speed Drifters ก็เล่นได้ลื่น ๆ เช่นกัน ด้วยการปรับความละเอียดระดับสูงสุดทุกอย่าง ดังนั้นหากต้องการซื้อ มาเล่นเกมก็น่าจะไม่ผิดหวังครับ รอมคลีน สเปคแรงเหลือเฟือ