เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องที่เป็นประเด็นมากที่สุดคงหนีไม่พ้น กรณี Google ประกาศยกเลิกการทำธุรกิจกับ Huawei ส่งผลให้สมาร์ทโฟน Huawei ในอนาคตอาจไม่สามารถใช้งาน Android ได้ รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงบริการหลักของ Google ไม่ว่าจะเป็น Play Store, Gmail, YouTube, Google Map รวมถึงแอปพลิเคชันบางตัวที่เรียกใช้ Service ของ Google
และเมื่อข่าวออกมาในลักษณะนี้ ทำให้ผู้ใช้งาน Huawei ในปัจจุบันตื่นตระหนกว่าจะส่งผลกระทบต่อสมาร์ทโฟนเครื่องที่ใช้อยู่หรือไม่ คือถ้าพูดถึงเฉพาะแค่เครื่องที่ Huawei เปิดตัวแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในช้อป หรือคุณซื้อมาใช้แล้วก็ตาม ข้อมูลที่ผมได้รับการยืนยันจากทางแบรนด์ รวมถึงข้อมูลที่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการจาก Android น่าจะทำให้ผู้ใช้ Huawei สบายใจได้ครับ
ลูกค้า Huawei ยังใช้งาน Android และ Google Service ทุกตัวได้ตามปกติ
มือถือ Huawei จะใช้ต่อไม่ได้ ต้องขายทิ้งแล้วแบบนี้, ต่อไปจะค้นหาใน Google ไม่ได้แล้วนะ, จะใช้ Gmail ไม่ได้ แล้วต้องทำยังไง เปลี่ยนไปใช้ Yahoo แทนใช่ไหม เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเข้าใจผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครับ และผมกล้ายืนยันด้วยว่า “ไม่เป็นความจริง” อันดับแรกที่ทุกคนต้องเข้าใจคือ การที่สหรัฐอเมริกาใส่ชื่อ Huawei และบริษัทลูกอีกราว ๆ 70 บริษัทลงใน Entity List ห้ามทำธุรกิจร่วมกันนั้น ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทุกผลิตภัณฑ์ Huawei ที่ผลิตก่อนหน้าประกาศฉบับดังกล่าว (15 พฤษภาคม 2019)
Huawei P30, P30 Pro, Huawei Mate 20 Series, Huawei Y9, Y5 และอีกหลายรุ่นที่เปิดตัวแล้ว วางจำหน่ายแล้ว หรือยังอยู่ในสต็อก จะไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ Google ยกเลิกทำธุรกิจกับ Huawei สมมุติวันนี้คุณอ่านบทความนี้จบ แล้วเดินไปซื้อ Huawei P30 Pro มาใช้งาน สมาร์ทโฟนเครื่องนั้นก็ใช้งานได้ตามปกติ เข้า Google ได้ ล็อกอิน Gmail ได้ แล้วก็ยังสามารถซูมได้ไกลสุด 50 เท่าเหมือนเดิมแน่นอน
ทาง Huawei เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีประกาศอย่างเป็นทางการออกมาแล้ว ใจความประมาณว่า Huawei ต้องการเน้นย้ำให้ลูกค้ามั่นใจว่า Huawei จะไม่ทอดทิ้งลูกค้า โดยจะยังคงให้บริการอัพเดทซอฟท์แวร์ด้านความปลอดภัยและบริการหลังการขายแก่ผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของ Huawei ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดต่อไป ครอบคลุมถึงโมเดลที่ได้จำหน่ายออกไปแล้วและที่ยังรอการจัดจำหน่ายอยู่ในสต็อกทั่วโลก
นอกจาก Huawei ที่ออกมายืนยัน โอเปอร์เรเตอร์ในไทย AIS, TrueMove H, dtac ก็ได้ข้อสรุปจากทาง Huawei และออกแถลงการณ์ยืนยันเช่นเดียวกันว่า สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต Huawei ยังคงใช้งานได้ตามปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าของวันที่ผมเขียนบทความนี้ (23 พฤษภาคม 2019) Huawei ก็เพิ่มความมั่นใจเรื่องบริการหลังการขาย และสนับสนุนด้านซอฟท์แวร์ด้วยการปล่อยเฟิร์มแวร์อัพเดต Android 9.0 Pie ให้กับ Huawei Y9 2019 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป นอกจาก Huawei Y9 2019 ก็ยังมีเฟิร์มแวร์อัพเดตให้กับ Huawei Mate 20 Pro, P10, P10 Plus เป็น EMUI 9.1 อีกด้วย
กล้า? บ้า? หรือไม่มีทางเลือก? ทำไม Google ยอมเฉือนเนื้อตัวเอง เลิกทำธุรกิจกับ Huawei ที่ครองอันดับ 2 ตลาดสมาร์ทโฟนโลก
จากกรณีที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนมีคำถามว่าทำไม Google จึงยกเลิกสัมพันธ์ทางการค้ากับ Huawei ทำไม Google จึงยอมตัดลูกค้ารายใหญ่อย่าง Huawei ที่เป็นผู้นำอันดับต้น ๆ ของโลกในตลาดสมาร์ทโฟนออกจากธุรกิจ เพราะเท่าที่ผมสังเกตในงานเปิดตัวสมาร์ทโฟน Huawei รุ่นใหม่ ๆ ก็มักจะมี Session ที่คนของ Google ขึ้นเวทีด้วยแทบจะทุกครั้ง และมักจะกล่าวในแง่ของการเป็นพาร์ทเนอร์ ร่วมพัฒนาระบบปฏิบัติการ Android ด้วยกัน มีการแชร์เทคโนโลยีซึ่งกันและกัน
หากมองในภาพรวม ผู้ใช้ Huawei ก็คือผู้ใช้ Android ซึ่งพ่วง Google Service ทั้งหมดไว้ในสมาร์ทโฟน การที่ Google โบกมือลา Huawei ก็เท่ากับว่าทิ้งผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของโลก ในทางธุรกิจไม่ควรจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น นี่จึงไม่ใช่ทั้งความกล้า และความบ้า แต่น่าจะเพราะ Google “ไม่มีทางเลือก” เนื่องจาก Google เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่ต้องดำเนินการตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐอเมริกานั่นเอง
คงต้องเท้าความกลับไปว่า สหรัฐอเมริกากับจีนเป็นคู่ปรับทางด้านเศรษฐกิจกันมานาน แล้วสองประเทศนี้ก็ถือเป็นมหาอำนาจอันดับต้น ๆ ของโลก มีความต้องการที่จะเป็นอันดับ 1 ทางด้านเศรษฐกิจ และหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าหลาย ๆ บริษัทในจีนได้พัฒนานวัตกรรมจนเป็นที่ยอมรับระดับโลก จากที่เมื่อก่อนเทคโนโลยีจากฝั่งจีน อาจเป็นการลอกเลียนจากของเดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไป จากที่จีนเดินตามโลกฝั่งตะวันตก ในตอนนี้จีนได้ต่อยอดเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย พร้อมทั้งก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีลำดับต้น ๆ ที่ทั่วโลกต่างยอมรับ และ Huawei เป็นหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะเรื่อง 5G ที่ Huawei มีส่วนอย่างมากในการสร้างมาตรฐานเทคโนโลยีดังกล่าวขึ้นมา
หรือเพราะ Huawei โตเร็วจนเกินไป…สหรัฐอเมริกาไม่ถูกใจสิ่งนี้
เหตุผลที่สหรัฐอเมริกาออกคำสั่งแบน Huawei และบริษัทในเครือ อ้างถึงความเสี่ยงของการก่อวินาศกรรมต่อการสื่อสาร ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทั่วไป และความเสี่ยงต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล แต่มันก็ดูขัดแย้งกับสิ่งที่ Huawei ได้กระทำไปก่อนหน้า โดย Huawei ได้ประกาศว่ายินดีที่จะลงนามในข้อตกลงที่ว่าจะไม่มีการสอดแนม หรือการให้ใครก็ตามเข้าถึงข้อมูลได้ กับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ
สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกากล่าวหาเกี่ยวกับการคุกคามด้านความปลอดภัยของ Huawei ก็ยังไม่มีหลักฐานมารองรับข้อกล่าวหาเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง
ทำให้อีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่ทำให้ Huawei โดนสหรัฐอเมริกาไล่บี้หนักขนาดนี้ ก็น่าจะเป็นการที่ Huawei โตเร็วแบบก้าวกระโดดในช่วงปีหลัง ๆ ก็เป็นได้ และถ้าลงประเด็นให้ลึกเข้าไปอีกสักหน่อย ว่าทำไมต้องเป็น Huawei ที่โดนหนัก อาจเพราะธุรกิจหลักของ Huawei ไม่ว่าจะ 5G หรือสมาร์ทโฟน ล้วนเป็นสิ่งที่กำลังเป็นที่ต้องการของโลกทั้งนั้น
ในอนาคตอันใกล้ 5G และ IoT จะมาพลิกโฉมการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกในด้านต่าง ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นอาวุธสำคัญในการพัฒนาประเทศ หาก Huawei พัฒนา 5G แซงหน้าบริษัทอื่น ๆ ก็จะกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลก และนั่นอาจทำให้สหรัฐอเมริกาที่เคยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเริ่มไม่ถูกใจสิ่งนี้เสียแล้ว
การแบน Huawei = Make America Great Again?
ว่ากันตามตรง เหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำ Huawei และบริษัทในเครือ มันเป็นหนึ่งในผลพวงจาก Trade War ระหว่างจีน กับสหรัฐอเมริกา โดยความน่าสนใจอยู่ที่ว่าทำไมสหรัฐอเมริกาดูจะมุ่งเน้นไปที่ Huawei เป็นหลัก และถ้าเทียบกับเหตุการณ์เมื่อปีก่อนก็มีแบรนด์เทคโนโลยีจีนที่โดนสหรัฐใส่ชื่อลงใน Entity List เช่นกัน จุดที่ทั้งสองบริษัทเหมือนกัน นอกจากเป็นบริษัทสัญชาติจีน ก็คงเป็นเรื่องธุรกิจหลักของทั้งคู่ ที่เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีระบบการสื่อสารและโทรคมนาคม ภาพรวมของ Huawei ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างที่หลายคนเข้าใจนะครับ
หนึ่งในเทคโนโลยีที่ Huawei เป็นผู้นำในตอนนี้ ก็คือ 5G เทคโนโลยีที่ว่ากันว่าจะเปลี่ยนโลก เป็นการปฏิวัติทุกอุตสาหกรรม บางคนบอกว่า 5G เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เลยก็ว่าได้ และถ้ามองจากสิ่งที่ Huawei มีในตอนนี้ ก็ดูจะใกล้เคียงกับคำว่า Huawei เป็นบริษัทเดียวในโลกที่มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ 5G ครบทั้ง Ecosystem มีอุปกรณ์โครงข่าย 5G จำหน่ายแบบครบวงจรทั้งชิปเซ็ต อุปกรณ์ ระบบคลาวด์ และอุปกรณ์เครือข่ายต่าง ๆ
ส่วนตัวผมมีโอกาสได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับ 5G ของ Huawei เมื่อตอนที่ไปเยี่ยมชม Huawei Campus ที่เสินเจิ้น รวมถึงได้มาอัพเดตข้อมูล 5G อีกครั้งตอนที่ Huawei ประเทศไทยเชิญไปสัมผัส Huawei Mate X สมาร์ทโฟนจอพับ 5G ที่ใช้โมเด็ม Balong 5000 ตอนต้น Session ก็ได้มีการกล่าวถึงเทคโนโลยี 5G กับ Huawei ว่าเอาจริงกับทางนี้มากถึงขนาดที่ว่ามีวิศวกรที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาด้าน 5G จำนวน 5,700 คน ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการรับส่งข้อมูลแบบ 5G จำนวน 500 คน และมีศูนย์ R&D ด้าน 5G รวม 9 แห่งทั่วโลก เมื่อปีที่แล้ว Huawei ใช้งบประมาณลงทุนด้าน 5G กว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อทำการพัฒนานวัตกรรม 5G อย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน Huawei มีการเซ็นสัญญาการให้บริการเน็ตเวิร์ค 5G กับลูกค้าทั่วโลกกว่า 40 ฉบับ
ความเอาจริงเอาจังเรื่อง 5G ของ Huawei ไม่ได้พึ่งจะมาเริ่มทำเมื่อปีหรือสองปีที่แล้วนะครับ แต่เริ่มต้นการวิจัยและพัฒนาด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2009 มาจนถึงตอนนี้ก็ครบ 10 ปีพอดี จึงไม่แปลกที่ Huawei จะเป็นผู้นำในด้าน 5G มีอุปกรณ์โครงข่าย 5G จำหน่ายแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ย้อนกลับมาด้านสมาร์ทโฟน เมื่อปีที่ผ่านมา Huawei เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมียอดจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกโตถึง 33.6% รวม 206 ล้านเครื่อง ในขณะที่คู่แข่งหลายรายตัวเลขลดลง และ Huawei ยังสามารถแซงหน้าขึ้นมายืนอันดับ 2 ในตลาดสมาร์ทโฟนโดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดของโลกได้ในไตรมาส 2 และ 3 ต่อเนื่อง แต่เป้าหมายที่แท้จริงของ Huawei คือการก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟนโลก
นั่นทำให้ Huawei อาจกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีของโลก ไม่ต่างจากบริษัทในสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปเลยก็ว่าได้ แล้วแบบนี้ใครจะอยากเสียตำแหน่ง No.1 ไปล่ะครับ
จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้อีก?
เรื่องราวระหว่างสหรัฐอเมริกากับ Huawei จะดำเนินต่อไปอย่างไร ความขัดแย้งคราวนี้จะไปจบที่ตรงไหนก็ยังไม่มีใครทราบครับ มันอาจจะยืดเยื้อ หรือมันอาจจะจบในวันนี้พรุ่งนี้ก็เป็นได้ โดยสถานการณ์ในตอนนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ออกใบอนุญาตชั่วคราว 90 วันให้หัวเว่ยสามารถสั่งซื้อสินค้าชิ้นส่วนจากบริษัทของสหรัฐได้ เพื่อให้สามารถดูแล สนับสนุน บำรุงรักษา สินค้าปัจจุบันที่หัวเว่ยจำหน่ายอยู่ต่อไปได้
ส่วนเรื่อง 5G เหริน เจิ้งเฟย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Huawei ก็ออกมาประกาศว่า 5G ของ Huawei ไม่มีทางสะดุดด้วยเรื่องนี้ เพราะพัฒนาการด้าน 5G ของหัวเว่ยไปไกล ถึงขนาดที่ว่าภายในระยะเวลา 2 ถึง 3 ปีนี้ ไม่มีทางที่ใครจะตาม Huawei ทัน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า Huawei จะนำระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นเองชื่อ Hong Meng OS มาใช้ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ หลังจากนี้
“ถ้าแสงไฟดับลงในโลกตะวันตก โลกตะวันออกก็จะยังคงส่องสว่าง และหากซีกโลกเหนือมืดมิด ก็ยังคงมีซีกโลกใต้ อเมริกาไม่ใช่ทั้งโลก อเมริกาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลก”
เหริน เจิ้งเฟย: ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Huawei
ให้สัมภาษณ์กับ BBC เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019