Sony Xperia XZ2 Premium นับเป็นมือถือตัวท็อปอีกรุ่นที่เข้ามายังตลาดไทยในช่วงนี้ ด้วยความโดดเด่นจากแบรนด์อื่นๆ ทั้งในด้านของดีไซน์ที่ไม่ได้ตามกระแสจอแหว่ง ด้านของซอฟต์แวร์ที่ยังคงรวบรวมความโดดเด่นจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ของตนเองเอาไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการฟังเพลงของ Walkman ด้านการเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นเกม PlayStation 4 เป็นต้น และในรอบนี้ยังเลือกใช้กล้องหลังคู่เพื่อเพิ่มลูกเล่นให้กับตนเองอีกด้วย ทำให้ Sony Xperia XZ2 Premium เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปที่มีความแตกต่างไปจากแบรนด์อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
ในรีวิวนี้ จะมาดูกันครับว่ามันมีฟีเจอร์อะไรที่น่าสนใจ และแตกต่างไปจากเดิมบ้าง
สเปค Sony Xperia XZ2 Premium
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 845
- แรม 6 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 64 GB แบบ UFS รองรับ MicroSD เพิ่มได้สูงสุด 400 GB
- หน้าจอขนาด 5.8 นิ้ว อัตราส่วน 16:9 ความละเอียดระดับ 4K (3840 x 2160) รองรับการแสดงผล HDR มาพร้อมเทคโนโลยี TRILUMINOS และ X-Reality for mobile
- กระจกจอ Gorilla Glass 5
- กล้องหล้งคู่ Motion Eye พร้อมเทคโนโลยีประมวลผลในการรวมภาพถ่าย (AUBE) ถ่ายวิดีโอ Super Slow motion 960fps ได้ และรองรับการถ่ายวิดีโอ 4K HDR
- กล้องหลัก 19 ล้านพิกเซล f/1.8 เซ็นเซอร์รับภาพขนาด 1/2.3″
- กล้องขาวดำ 12 ล้านพิกเซล f/1.6
- กล้องหน้า 13 ล้านพิกเซล f/2.0
- ถาดซิมแบบไฮบริด รองรับ 4G LTE รวมถึง VoLTE ได้ทั้งสองซิม
- Android 8.0 (Oreo)
- ระบบสั่น Dynamic Vibration
- แบตเตอรี่ 3540 mAh รองรับการชาร์จเร็ว Quick Charge 3.0 และการชาร์จแบบไร้สาย
- ไม่มีช่อง 3.5 mm (มีสาย USB-C เป็น 3.5 mm ให้ในกล่อง)
- ลำโพงสเตอริโอ บน-ล่าง
- น้ำหนักเฉพาะตัวเครื่อง 236 กรัม
- กันน้ำกันฝุ่นตามมาตรฐาน IP65/68
- ราคา 27,990 บาท
- สเปค Sony Xperia XZ2 Premium
สเปคแน่นอนว่าเป็นระดับท็อปประจำปีนี้ได้สบายๆ ด้วยชิปประมวลผลตัวแรงสุดของ Qualcomm สำหรับการใช้งานบนสมาร์ทโฟน ที่เชื่อใจได้ทั้งด้านการทำงานและการเล่นเกม ว่าจะสามารถเล่นได้อย่างลื่นไหลแบบไม่ต้องลุ้น แรมที่ให้มา 6 GB ก็จัดว่าเหลือกินเหลือใช้ กล้องคู่ที่มีมาเป็นครั้งแรกก็ถือว่าน่าสนใจว่า Sony จะใช้กระบวนการใดในการรีดประสิทธิภาพออกมา สำหรับจุดเด่นที่สุดคงเห็นจะเป็นเรื่องจอที่มาพร้อมกับความละเอียดระดับ 4K รองรับการแสดงผลภาพแบบ HDR ที่ให้สีสันสวยงาม เก็บครบในทุกรายละเอียด ทำให้ยังคงเป็นมือถือรุ่นท็อปที่น่าจับตามองอยู่เช่นเคย
ดีไซน์ หน้าตา Sony Xperia XZ2 Premium
ดีไซน์โดยรวมจะมีความใกล้เคียงกับ Xperia XZ2 ที่ออกมาเมื่อช่วงต้นปี แต่หน้าจอของ XZ2 Premium จะใหญ่กว่ากันเล็กน้อย รวมถึงมีการเสริมฟังก์ชันเข้าไปซะมากกว่า
หน้าจอของ XZ2 Premium มีความละเอียดระดับ 4K ซึ่งสามารถทำได้ดีในการใช้งานทั่วไป สีสันสวยงาม ไม่ซีดและไม่จัดจ้านจนเกินไป คมชัดแม้จะมองจากมุมด้านข้าง รวมถึงยังสามารถใช้งานกลางแจ้งไดัแบบไม่มีปัญหา นอกจากนี้ยังมีจุดที่ทำให้จอของ XZ2 Premium ดูแตกต่างไปจาก XZ2 ก็คืออัตราส่วนที่เปลี่ยนกลับมาใช้เป็น 16:9 อันเป็นอัตราส่วนจอที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ชินตามากกว่า ทำให้การรับชมวิดีโอโดยเฉพาะบน YouTube ดูเป็นธรรมชาติกว่ามือถือจอ 18:9 หรืออัตราส่วนอื่นๆ ตรงที่ไม่มีขอบดำมากวนใจ ส่วนการแสดงผลแบบ HDR นั้น จะสามารถใช้งานได้ก็ต่อเมื่อเปิดวิดีโอที่มีตัวเลือกในการรับชมแบบ HDR เท่านั้น เช่นจาก Netflix และ Amazon Prime ส่วนวิดีโอบน YouTube บางคลิปก็รองรับเช่นกันครับ โดยสามารถพิมพ์ 4K HDR เพื่อค้นหาได้จากในช่องค้นหาได้เลย
ฝั่งบนของหน้าจอก็จะเป็นตำแหน่งของไฟ LED notification ที่เป็นจุดเล็กๆ ทางซ้ายมือสุด ถัดเข้ามาเป็นเซ็นเซอร์วัดแสง วัดระยะทั้งหลาย จากนั้นจึงเป็นแถบลำโพงสนทนา และก็กล้องหน้าที่อยู่เยื้องไปทางด้านขวา
ขอบล่างของจอก็มีแต่โลโก้ Sony เท่านั้น เนื่องจากไม่มีปุ่มสั่งงานทั้งสามปุ่มตามสไตล์ของ Sony โดยถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าขอบกระจกจอจะเป็นมุมโค้งแบบ 2.5D ลงไปเชื่อมกับสันขอบเครื่องพอดี ทำให้การจับถือเครื่องทำได้สะดวก ไม่มีขอบเหลี่ยมๆ บาดมือเลย จะติดก็แค่ขอบบนและขอบล่างของจอที่มันดูหนาไปหน่อยเท่านั้นเอง ซึ่งตรงจุดนี้ ผมมองว่าสาเหตุส่วนหนึ่งก็คือเราอาจจะชินกับมือถือที่ขอบบนกับขอบล่างบางเฉียบกันไปแล้วก็เป็นได้ ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่า Sony จะขยับตามเทรนด์ไปด้วยหรือเปล่า
แต่ใช่ว่าการที่ขอบบนกับขอบล่างหนาจะไม่มีข้อดีซะเลย หนึ่งจุดที่ผมสัมผัสได้คือการมีขอบบนขอบล่างในลักษณะนี้ มันช่วยให้สะดวกกับการเล่นเกมมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องกังวลตอนจับเครื่องในแนวนอนว่ามือจะไปบังปุ่ม หรือเผลอไปกดปุ่มสั่งงานตรงขอบจอโดยไม่ตั้งใจ
พลิกมาดูด้านหลังกันบ้างครับ ผิวนอกของฝาหลังของ XZ2 Premium เป็นกระจกที่มีความแวววาวมากๆ แน่นอนว่ามันสวย โดดเด่น แต่ก็มาพร้อมกับคราบรอยนิ้วมือที่ติดบนฝาหลังง่ายมากเช่นกัน
ส่วนที่สำคัญซึ่งอยู่บนฝาหลังของ XZ2 Premium ไล่จากบนลงล่างก็จะเป็น เซ็นเซอร์ที่ช่วยในการคำนวณ white balance ถัดลงมาเป็นแฟลช LED ตามมาด้วยโมดูลเลเซอร์ช่วยโฟกัส จากนั้นจึงเป็นกล้องหลัก กล้องรอง (ขาว/ดำ) และก็เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือครับ ซึ่งแน่นอนว่ามันยังคงอยู่ในตำแหน่งกลางฝาหลัง ตรงกลางเครื่องเช่นเดิม
หากใครที่เคยลองใช้งานหรือสัมผัสกับ Sony Xperia XZ2 ที่มีการวางตำแหน่งเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือไว้ตรงนี้มาก่อนแล้ว จะทราบเลยว่ามันเป็นตำแหน่งที่ไม่ค่อยคุ้นเคยสำหรับการใช้งานทั่วไปซักเท่าไหร่ เนื่องจากมือถือส่วนใหญ่ที่วางเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือไว้ด้านหลัง ตำแหน่งของมันมักจะถูกวางไว้เยื้องไปทางซีกบนของเครื่องกว่านี้ ทำให้สามารถแปะปลายนิ้วชี้เพื่อปลดล็อคเครื่องได้ทันที แต่ใน XZ2 Premium ที่วางไว้กลางเครื่อง อันนี้ทาง Sony ก็ระบุว่ามันจะเป็นตำแหน่งที่ลงตัวเวลาหยิบเครื่องออกมาจากในกระเป๋า ปลายนิ้วของผู้ใช้จะไปแตะบนเซ็นเซอร์พอดีโดยไม่ต้องขยับมือขยับเครื่อง (ด้วยความที่ตัวเครื่องค่อนข้างใหญ่)
แต่เท่าที่ผมใช้งานติดต่อกันมาประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนตัวผมเองก็ยังไม่เจอจุดที่ทำให้ปลายนิ้วไปสัมผัสกับเซ็นเซอร์พอดีซักเท่าไหร่เลย ยังคงเผลอเอาปลายนิ้วไปแตะกล้องตัวรองแทนในบางครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่าผมไปเจอจุดลงตัวอีกแบบแทน …นั่นคือการใช้ข้อนิ้วชี้ในการปลดล็อคหน้าจอแทนปลายนิ้วครับ ตำแหน่งมันพอดีมากจริงๆ
ถ้าหากใครที่ใช้ XZ2 Premium รวมถึง XZ2 แล้วพบปัญหานี้ อาจจะลองปรับให้สแกนข้อนิ้วแทนก็ได้นะครับ ผมลองแล้ว เวรี่กู้ดเลย
สำหรับปุ่มและช่องเชื่อมต่อก็มีตามนี้
- ด้านบน: ถาดใส่ซิม/MicroSD ที่สามารถใช้ปลายเล็บดึงออกมาได้ และช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน
- ด้านล่าง: ช่อง USB-C และช่องรับเสียงของไมค์สนทนา
- ด้านขวา: ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ปุ่ม Power และปุ่มชัตเตอร์กล้อง
- ด้านซ้าย: ไม่มีปุ่มใดๆ
จะเห็นได้ว่า XZ2 Premium ไม่มีช่องเสียบแจ็ค 3.5mm แล้วนะครับ หากอยากใช้หูฟังก็จะต้องใช้สายแปลงจาก USB-C เป็น 3.5mm ซึ่งมีมาให้ในกล่อง หรือใช้หูฟัง USB-C หรือจะเปลี่ยนไปใช้หูฟัง Bluetooth เลยก็ดี ส่วนอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง รอบนี้ Sony เลือกแถมอะแดปเตอร์ fast charge (UCH-12) มาให้แล้วจ้าาา ไม่ต้องไปซื้อแยกอีกแล้ว
จากการที่ผมได้เครื่องมาใช้งานเพื่อรีวิวเป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยรวมแล้วเป็นมือถือที่ตอบโจทย์ความเป็นมือถือได้ดีเลยครับ การทำงานทั่วไปไม่ได้มีจุดที่สะดุดจนขัดใจ งานประกอบดีงามสมเป็นมือถือรุ่นท็อป แต่มีจุดหนึ่งที่น่าเป็นห่วงหน่อยก็คือน้ำหนักตัวเครื่อง ที่แค่เครื่องเปล่าๆ ก็เริ่มต้นที่ 2 ขีดกว่าๆ แล้ว ถ้าเป็นการใช้งานทั่วไป ไม่ได้ถือนานนักก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากถือเครื่องเพื่อแชทนานๆ หรือเล่นเกมรอบละ 20-30 นาที อันนี้ผมว่ามีเมื่อยข้อมือกันไปข้างแน่นอน (มือถือทั่วไป รวมเคสแล้ว น้ำหนักส่วนมากจะไม่ถึง 2 ขีด)
ซอฟต์แวร์
แต่ไหนแต่ไรมา Sony มักจะเป็นแบรนด์ที่จูนซอฟต์แวร์ให้เข้ากับ Android ได้ดี ทำให้เครื่องลื่น เร็วอยู่เสมอ ซึ่งข้อดีในจุดนี้ก็ยังคงมีอยู่ครับ โดยมันมาพร้อมกับ Android 8.0 (Oreo) ที่รองรับการอัพเกรดเป็น Android 9.0 (Pie) แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนอินเตอร์เฟสก็ยังคงเป็นสไตล์เดิม หากใครที่เคยใช้งานมือถือ Sony มาก่อน ก็สามารถใช้งาน XZ2 Premium ได้แบบไม่ต้องเรียนรู้รูปแบบการใช้งานใหม่เลย
ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลภายในเครื่องที่ให้มา 64 GB นั้น เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาครั้งแรก จะเหลือพื้นที่ให้ใช้งานราวๆ 59 GB ถามว่าเพียงพอกับการใช้งานหรือเปล่า ส่วนตัวผมมองว่ามันก้ำกึ่งระหว่างพอ กับความอึดอัดอยู่เหมือนกันนะ เนื่องจากกล้องของ XZ2 Premium มีความละเอียดค่อนข้างสูง ทั้งยังมีฟังก์ชัน Predictive Capture ที่จะถ่ายภาพช็อตก่อนหน้าที่ผู้ใช้กดชัตเตอร์ ทำให้ยิ่งต้องใช้พื้นที่เก็บข้อมูลเยอะขึ้นไปอีก หากใครที่ชอบถ่ายรูป อาจจะต้องมองหาทางเลือกในการเก็บข้อมูล เก็บไฟล์ภาพจาก XZ2 Premium ไว้บ้างเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น
- หา MicroSD ความเร็วสูง ความจุสูงมาใส่ (แต่ก็แลกกับการใส่ซิมได้ช่องเดียว)
- ใช้บริการ Cloud storage เช่น Google Photos
- หมั่นถ่ายโอนไฟล์รูปลงคอม
พอมองย้อนกลับไปที่ความจุ 64 GB ที่ให้มา กับราคาเครื่องที่ 27,990 บาท แล้วพอไปเทียบกับคู่แข่งในตลาด กลับกลายเป็นว่าคุณสามารถหาซื้อเครื่องความจุ 128 GB ได้เลยด้วยซ้ำไป จุดนี้ก็เลยอาจจะทำให้ Sony เหนื่อยหน่อยนะครับ โดยเฉพาะกับการดึงดูดลูกค้าใหม่
ส่วนความสามารถในด้านการเชื่อมต่อเครือข่าย Sony Xperia XZ2 Premium ยังคงจัดว่าเป็นแถวหน้าเช่นเคย ด้วยความสามารถในการรองรับ 4G พร้อมกันทั้งสองซิม ทั้งยังเป็น Dual VoLTE และ Dual VoWIFI อีกด้วย ความสามารถในการทำ CA ก็ได้ 3CA แบบสบายๆ ด้วย (ผมทดสอบด้วย AIS)
ส่วนการรับชมวิดีโอแบบ HDR บน YouTube ก็ตามที่รีวิวไว้ในส่วนของจอนะครับ ถ้าเป็นคลิปที่อัพโหลดมาเป็นแบบ HDR ในช่องตัวเลือกคุณภาพของวิดีโอ ก็จะมีคำว่า HDR ต่อท้าย อย่างในภาพด้านบน ผมเลือกดูวิดีโอที่เป็น 4K HDR ซึ่งให้ภาพที่สว่างกว่า สีสันครบถ้วนกว่าการแสดงภาพแบบปกติอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถ้าวิดีโอเป็นแบบ HDR ระบบจะปรับการแสดงผลให้โดยอัตโนมัติ สีสันภาพบนจอจะดูสดใสขึ้นด้วย ส่วนในการใช้งานทั่วไป ภาพจะไม่ได้เป็น HDR นะครับ
ฟีเจอร์เด่นของ Sony Xperia XZ2 Premium
โดยภาพรวมแล้ว Sony Xperia XZ2 Premium จะค่อนข้างมีความใกล้เคียงกับ XZ2 ที่ออกมาเมื่อต้นปีเลย แต่มีฟีเจอร์หนึ่งที่เพิ่มเข้ามาก็คือ Dynamic Vibration ที่ระบบจะประมวลผลจากสื่อที่เล่นอยู่ เช่น เพลง เสียงจากภาพยนตร์ รวมถึงเกม แล้วสั่นเครื่องตามจังหวะเพื่อให้ผู้ใช้สนุกไปกับเสียงเหล่านั้นมากขึ้น อารมณ์เดียวกับจอยสั่นในเครื่องเกมคอนโซลเลยครับ เท่าที่ผมใช้งานมาก็จะเจอสั่นตามช่วงของเพลงที่มีเสียงเบส เสียงกลอง รวมถึงเสียงปืนภายในเกม
โดยระบบ Dynamic Vibration นี้ อนุญาตให้ผู้ใช้ปรับระดับแยกตามแอปพลิเคชันได้เลย อย่างในภาพด้านบนก็จะระบุไว้ชัดเจนเลยว่าเป็นการตั้งค่าสำหรับ Joox เท่านั้น ซึ่งสามารถปรับระดับการสั่นได้ตั้งแต่ ปิด / เบา / ปานกลาง / แรง ส่วนตัวผมแนะนำว่า ถ้าเป็นแอปฟังเพลง อาจจะปิดไปน่าจะดีกว่า แล้วค่อยเลือกเปิดในแอปเกม
กล้องของ Sony Xperia XZ2 Premium
Sony Xperia XZ2 Premium นับเป็นมือถือรุ่นแรกของ Sony ที่มาพร้อมกล้องคู่ ซึ่งคอนเซปท์กล่องคู่ของ Sony ถ้าให้ผมสรุปก็คือ จะเป็นการจับภาพจากกล้องทั้งสองตัวมาประมวลผลรวมกัน เพื่อให้ได้ภาพที่สว่างขึ้นครับ โดยจะแบ่งเป็นกล้องหลักซึ่งถ่ายภาพสีตามปกติ กับกล้องรองที่เป็นกล้องขาว/ดำ ใช้สำหรับรับแสงโดยเฉพาะ ดังจะเห็นได้จากสเปคกล้องตัวรองที่ให้รูรับแสงกว้างกว่ากล้องหลัก ทำให้ XZ2 Premium เป็นมือถือที่ Sony ชูจุดเด่นในเรื่องการถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ดีขึ้น โดยที่มี noise ลดลงนั่นเอง
สำหรับการทำงานของกล้องรองนั้น ค่าเริ่มต้นของระบบคือให้ทำงานอัตโนมัติเมื่อจับได้ว่ามีแสงน้อย ส่วนถ้าไม่อยากให้ทำงาน ผู้ใช้ก็สามารถตั้งค่าได้จากเมนู Dual camera switch ที่อยู่ในการตั้งค่ากล้องครับ ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งก็คือการถ่ายรูปในโหมด manual ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกสลับการใช้งานกล้องหลักกล้องรองได้เอง ส่วนในการถ่ายวิดีโอ ระบบก็ออกแบบมาให้สามารถสลับการใช้งานทั้งสองกล้องได้เช่นกัน แต่จะมีข้อแม้คือระยะห่างระหว่างตัวเครื่องและวัตถุ จะต้องไม่น้อยกว่า 1 เมตร เพื่อให้การรวมภาพของทั้งสองกล้องทำได้อย่างสมบูรณ์ มิฉะนั้นอาจจะพบอาการสีเหลื่อม หรือมุมภาพเปลี่ยน อันเกิดจากการสลับกล้องไปมาได้
โดยถ้าหากเป็นการถ่ายภาพในโหมด auto หากเป็นการถ่ายในที่มีแสงน้อย ระบบจะนำการทำงานของกล้องรองเข้ามาช่วยทันที ดังจะเห็นจากในภาพขวาบนสุดที่มีคำว่า Ultra-high sensitivity ขึ้นมา
สำหรับอาการสีเหลื่อมอันเกิดจากการใช้กล้องรองถ่ายภาพวัตถุที่อยู่ใกล้กว่า 1 เมตรก็ตามภาพเปรียบเทียบชุดบนเลยครับ ภาพซ้ายคือการใช้กล้องหลัง ส่วนภาพขวาคือการใช้กล้องรอง ซึ่งผมเลือกสลับการทำงานได้โดยการถ่ายภาพในโหมด manual
สังเกตที่มือ นิ้ว และปุ่มคีย์บอร์ดสีแดงของภาพขวา จะเห็นได้ชัดเลยว่ามีอาการสีเหลื่อมอันเกิดจากการรวมภาพที่ไม่สมบูรณ์ อันเนื่องมาจากวัตถุอยู่ใกล้กล้องมากเกินไป (น้อยกว่า 1 เมตร)
ภาพด้านบนนี้จะเห็นอาการสีเหลื่อมเล็กน้อยครับ สังเกตจากปลายนิ้วมือ
ส่วนความแตกต่างของมุมภาพระหว่างกล้องหลักและกล้องรองในการถ่ายภาพแนวนอน ก็จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยในภาพด้านบนผมได้ลากเส้นตรงสีฟ้าเพื่อให้เห็นว่าตำแหน่งต่างๆ ในภาพมีความต่างกัน
ทีนี้พอลองถ่ายวิวในเวลากลางคืนเทียบกันบ้าง จะเห็นว่าภาพจากเลนส์ปกติจะดูลงตัวกว่า ส่วนที่สว่างก็ไม่สว่างเกินไป ส่วนภาพด้านขวาจะเน้นที่ความสว่างล้วนๆ เลย ทำให้มองไม่เห็นรายละเอียดจากป้ายร้านค้าเลย
ส่วนถ้าเป็นการถ่ายในที่มืดสนิท โดยมีแสงสีแดงเล็กๆ อยู่ตรงกลางภาพกันบ้าง จะพบว่าภาพจากการถ่ายปกติ แทบจะมองไม่เห็นเลย แต่พอเป็นภาพขวา ปรากฏว่าเราเห็นรายละเอียดมากขึ้น ภาพสว่างขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลย
ปิดท้ายการเทียบความสว่างของภาพที่ได้ด้วยภาพชุดบนนี้ครับ โดยเป็นภาพที่ได้มาจากชุดกล่องทดสอบการถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยของ Sony เอง โดยลักษณะของมันจะเป็นกล่องทึบ มีช่องให้แสงเข้านิดเดียวจากทางด้านบนลงล่าง ส่วนด้านข้างกล่องก็เป็นกระจกสะท้อนแสง วิธีการใช้งานก็คือให้สอดมือถือเข้าไปในช่องด้านหน้ากล่อง แล้วถ่ายภาพ เพื่อวัดประสิทธิภาพกันไปเลยว่ากล้องของมือถือเครื่องนั้นๆ สามารถถ่ายภาพในที่มืดโดยไม่ใช้แฟลชได้อย่างไรบ้าง
ผลก็คือตามภาพด้านบนเลยครับ Sony Xperia XZ2 Premium ให้ภาพที่สว่างกว่า และรายละเอียดดีกว่าภาพจาก Pixel 2 XL ที่ผมใช้อยู่มากๆ ตรงนี้ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับกล้องรอง และระบบ AUBE สำหรับประมวลผลเพื่อรวมภาพจากทั้งสองกล้อง ที่ช่วยให้การถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยทำได้ดีขึ้นจริงๆ
นอกเหนือจากกล้องคู่ใน Sony Xperia XZ2 Premium จะช่วยให้การถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยดีขึ้นแล้ว ยังมีโหมด Bokeh ขึ้นมาให้เลือกใช้งานได้ด้วย โดยการใช้งานโหมด Bokeh ใน XZ2 Premium วัตถุหลักจะต้องอยู่ห่างจากตัวเครื่องพอสมควร อย่างน้อยคือไม่ต่ำกว่า 1 ช่วงแขนแน่ๆ ทำให้การใช้งานจะยังไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ ก็คงต้องรอให้ Sony พัฒนา algorithm ในส่วนนี้ให้ลงตัวขึ้นอีกซักหน่อย
ส่วนภาพที่ได้ออกมาก็ตามด้านบนเลยครับ มีการเบลอพื้นหลังพอสมควร
อีกโหมดที่เพิ่มเข้ามาให้ก็คือโหมดถ่ายภาพขาวดำ (Mono) ที่เป็นการใช้งานกล้องตัวรองล้วนๆ เลย
สำหรับตัวอย่างภาพถ่ายจาก Sony Xperia XZ2 Premium ก็สามารถคลิกเพื่อรับชมจากในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
คุณภาพของภาพถ่ายจาก Sony Xperia XZ2 Premium โดยทั่วไปแล้วก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี การโฟกัสทำได้เร็วและแม่นยำ สีสัน ความคมชัดอยู่ในระดับที่เทียบกับคู่แข่งได้ รวมถึงยังมีการพัฒนากระบวนการลบ noise ในภาพถ่ายได้ดีขึ้นกว่ารุ่นที่ผ่านมาด้วย
ประสิทธิภาพทั่วไปและแบตเตอรี่ของ Sony Xperia XZ2 Premium
แง่ของประสิทธิภาพ ความแรงของ Sony Xperia XZ2 Premium คงไม่เป็นที่กังขาแน่นอน ด้วยฮาร์ดแวร์ระดับท็อปที่ Sony เลือกใช้ ทั้งในส่วนของคะแนนจากแอปทดสอบประสิทธิภาพที่แตะระดับหัวแถว และในการใช้งานจริง แถมด้านของชิปเก็บข้อมูลที่ Sony ใช้เป็นชิปแบบ UFS ก็ยิ่งช่วยให้การทำงานโดยรวมยิ่งเร็วขึ้นไปอีก (เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนๆๆ) ซึ่งทำให้การใช้งานทั่วไป การถ่ายรูป การบันทึกรูป การเล่นเกมบน Sony Xperia XZ2 Premium เป็นไปได้อย่างราบรื่นมากๆ สมเป็นมือถือรุ่นท็อป
แต่มีอยู่จุดหนึ่งที่ผมพบแล้วรู้สึกแปลกใจก็คือกระบวนการเคลียร์แอปออกจากแรมของ XZ2 Premium ที่ดูเหมือนระบบจะสั่งเคลียร์เร็วกว่าที่ควรจะเป็น บางทีแค่สลับไปใช้งานแอปอื่นได้ซักพัก พอกลับมาใช้งานแอปเดิม ก็กลายเป็นว่าต้องโหลดแอปใหม่อีกแล้ว ตัวอย่างเช่น Facebook ที่ผมพบว่ามันต้องมาโหลดแอปใหม่บ่อยไปหน่อย ทั้งๆ ที่แรมก็เหลือว่างพอสมควร และเมื่อเทียบกับเครื่องอื่นด้วยการใช้งานในลักษณะเดียวกัน กลับเป็นว่าเครื่องนั้นมันยังไม่เคลียร์แอปออกจากแรมเลย ทั้งๆ ที่มีแรมน้อยกว่า XZ2 Premium ด้วยซ้ำไป แต่คิดว่าจุดนี้น่าจะปรับกันได้ไม่ยากครับ
ส่วนการใช้งานแบตเตอรี่ของ Sony Xperia XZ2 Premium ยังถือว่าเป็นสิ่งที่ไว้ใจได้เช่นเคย สามารถใช้งานจนหมดวันได้สบายมากกับรูปแบบการใช้งานปกติ เช่น LINE, Facebook, Twitter, คุยโทรศัพท์ ฟังเพลงจาก Spotify หรือ Joox มีถ่ายรูปบ้างเล็กน้อย และถ้าอยากยืดระยะเวลาการใช้งานแบตก็สามารถเปิดโหมด STAMINA ที่ให้ระบบปรับการทำงานของแอปเบื้องหลัง และเซอร์วิสต่างๆ ให้น้อยลง หรือถ้าหากยังไม่พอ ก็มีโหมด Ultra STAMINA ให้ใช้อีก คราวนี้รับรองว่าอยู่ได้นานแน่นอน เพราะระบบจะปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในทุกช่องทาง มีเฉพาะการเชื่อมต่อเครือข่ายมือถือเพื่อการโทรศัพท์และ SMS เท่านั้น รวมถึงยังจำกัดให้มีเฉพาะแอปหลักของระบบที่สามารถทำงานได้ด้วย
อย่างในภาพด้านบน ด้วยแบตที่เหลือ 38% ถ้าใช้ในโหมดปกติ ระบบคำนวณว่าจะสามารถใช้ได้อีกราวๆ 5 ชั่วโมง 20 นาที แต่ถ้าผมใช้งานโหมด Ultra STAMINA ก็จะใช้งานได้อีกถึง 12 ชั่วโมงครึ่งเลย
ส่วนฟังก์ชันเสริมเกี่ยวกับแบตเตอรี่ของ Sony Xperia XZ2 Premium ก็ยังมีทั้ง Qnovo Adaptive Charging ที่ระบบจะปรับการชาร์จไฟเข้าให้เหมาะสมกับแบตเตอรี่ เพื่อถนอมอายุการใช้งานให้ตัวแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพที่ดีอยู่เสมอ ซึ่งระบบจะชาร์จแบตขึ้นไปถึง 90% จากนั้นจะหยุดการชาร์จ แล้วไปชาร์จให้ครบ 100% ตอนช่วงก่อนเวลาที่ผู้ใช้จะตื่นพอดี
Overall
Sony Xperia XZ2 Premium นับเป็นมือถือรุ่นท็อปอีกรุ่นที่น่าสนใจในช่วงนี้ ด้วยแง่ของดีไซน์ที่โดดเด่น ไม่เหมือนใคร แง่ของสเปคเครื่องที่แรงเหลือเฟือ ตอบทุกโจทย์การใช้งาน กล้องที่มีการพัฒนาขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจน เชื่อว่าจะเป็นมือถือรุ่นที่ออกมาตรงใจสาวกอารยธรรม Sony หลายๆ คนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะถ้าคุณมี PlayStation 4 อยู่แล้ว เพราะเท่ากับว่าคุณสามารถเล่นเกม PS4 เกมโปรดได้โดยไม่ต้องนั่งอยู่หน้าจอทีวีเลยก็ยังได้
แต่อย่างไรก็ตาม จุดที่อาจจะทำให้ Sony Xperia XZ2 Premium เข้าไปจับลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ยากก็ยังมีอยู่เช่นกัน ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือสเปคบางจุดที่อาจจะยังสู้กับคู่แข่งในตลาดได้ยาก เช่น พื้นที่เก็บข้อมูลที่ให้มา 64 GB แต่บางรุ่นในตลาดให้มาถึง 128 GB (บางรุ่นให้มา 256 GB ด้วยซ้ำ) ในราคาที่ใกล้เคียงกันหรือถูกกว่า ส่วนอีกจุดหนึ่งก็คือน้ำหนักตัวเครื่องที่หนักกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปพอสมควร โดยเฉพาะข้อหลังซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เลยอาจจะทำให้ Sony เหนื่อยซักหน่อย กับการนำ XZ2 Premium ไปหากลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ในยุคนี้