OPPO เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมในหลายช่วงราคา ไม่ว่าจะเป็น R Series ที่มีราคาหลักหมื่นบาทขึ้นไป จนถึง A Series ที่เน้นเรื่องราคาย่อมเยา สเปคต่อราคาเน้นความคุ้มค่า อย่างรุ่นที่เพื่อน ๆ จะได้อ่านรีวิวก็เป็น OPPO A Series รุ่นใหม่ล่าสุด OPPO A71 ที่ยังคงคอนเส็ปความเป็นรุ่นเล็กราคาคุ้ม แต่มาในสโลแกน OPPO A71 สปีดแรงทุกการใช้งาน ด้วยจุดเด่นเรื่อง Ram 3 GB + CPU Octa-Core
สเปค OPPO A71
- หน้าจอ TFT ขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียด HD
- ชิปประมวลผล MediaTek MT6750 Octa-Core 64 Bit
- Ram 3 GB
- Rom 16 GB รองรับ MicroSD Card
- กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ระบบโฟกัสแบบ PDAF พร้อมแฟลช LED
- กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
- รองรับ 4G LTE และรองรับการใช้งาน 2 ซิมการ์ด
- ระบบปฏิบัติการ ColorOS 3.1 base on Android 7.1 Nougat
- แบตเตอรี่ความจุ 3,000 mAh
- ราคา 5,990 บาท
ดูจากสเปคของ OPPO A71 และราคาเปิดตัวที่ 5,990 บาท ก็น่าจะเป็นรุ่นที่อยู่ระหว่าง OPPO A37 และ OPPO A57 โดยช่วงนี้ OPPO A71 มีโปรโมชันกับ AIS ลดเหลือ 3,990 บาท เพียงสมัครแพ็กเกจรายเดือนเริ่มต้น 499 บาท จ่ายค่าบริการรายเดือนล่วงหน้า 1,000 บาท
จุดเด่น
– ทุกอย่างอยู่ในจุดสมดุลเมื่อเทียบกับราคา ทั้ง CPU, แรม, หน้าจอ, แบตเตอรี่, กล้อง
– ใช้งาน 4G LTE ได้ และรองรับการใช้งาน 2 ซิม
– ถาดซิมเป็นแบบ 3 Slot ใช้งานได้ 2 ซิม พร้อม MicroSD Card
– ฟีเจอร์กล้องให้มาไม่แพ้รุ่นท็อป
– แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน
ข้อสังเกต
– ความจุภายในตัวให้มาเพียง 16 GB แต่ก็สามารถเพิ่ม MicroSD Card ได้
– รองรับ WiFi แค่ความถี่ 2.4 GHz เท่านั้น
– ไม่มี NFC
บทสรุป
BEST PRICE
Design
OPPO A71 เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นเล็กที่มาพร้อมกับขนาดตัวเครื่องกะทัดรัด ด้วยหน้าจอขนาด 5.2 นิ้ว ใช้งานมือเดียวได้สะดวก ความกว้างของหน้าจอก็เพียงพอสำหรับการรับชมคอนเท้นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์, เล่น Facebook และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ รวมถึงการรับชมวีดีโอ Youtube ความรู้สึกเมื่อเทียบกับหน้าจอ 5.5 นิ้ว ก็ไม่ได้รู้สึกแตกต่างสักเท่าไหร่
หน้าจอ 5.2 นิ้วของ OPPO A71 มีความละเอียดหน้าจอที่ HD กระจกหน้าจอแบบปกติ ไม่ได้โค้งแบบกระจก 2.5D ทำให้การติดฟิล์มกันรอย หรือกระจกกันรอยทำได้อย่างเต็มหน้าจอ และแน่นอนว่า OPPO A71 ก็ได้มีการติดฟิล์มกันรอยตั้งแต่ในกล่องเป็นที่เรียบร้อย เคสก็มีแถมมาให้ จ่ายเงินทีเดียวจบ ได้ทั้งตัวเครื่องและอุปกรณ์เสริม
วัสดุตัวเครื่อง OPPO A71 ใช้วัสดุเป็นพลาสติก แต่ก็มีกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ ที่ช่วยเพิ่มมิติให้กับผิวสัมผัสสวยงาม ตัวเครื่องถ้ามองผ่าน ๆ ทำให้คิดว่าใช้วัสดุเป็นโลหะได้อยู่เหมือนกัน และด้วยความที่ตัวเครื่อง OPPO A71 เป็นดีไซน์แบบไร้รอยต่อ Uni-body เมื่อรวมกับความโค้งมนตามตัวเครื่อง เลยทำให้สมาร์ทโฟนรุ่นนี้มีงานออกแบบที่ลงตัว รวมถึงการจับถือที่สะดวก เข้ามือจากความโค้งของตัวเครื่อง
Software
สิ่งที่น่าสนใจใน OPPO A71 ก็คือระบบปฏิบัติการ ColorOS 3.1 (มีพื้นฐานบน Android 7.1 Nougat) ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟน OPPO รุ่นแรก ๆ ด้วยซ้ำที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการเวอร์ชันนี้ โดย ColorOS 3.1 มีความเปลี่ยนแปลงไปจาก ColorOS เวอร์ชันเก่าพอสมควร
วิธีการใช้งานก็จะแตกต่างจาก ColorOS เวอร์ชันก่อนหน้า ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ Notification Bar กับ Control Center ที่แยกส่วนกัน จากเมื่อก่อนเวลาต้องการเรียก Control Center (ทางลัดต่าง ๆ เช่น เปิด – ปิด WiFi, เปิด Bluetooth ฯลฯ) จะต้องปัดหน้าจอจากบนลงล่างเพื่อเรียก Notification Bar แล้วค่อยปัดไปทางซ้าย จึงจะเรียกหน้า Control Center ได้ แต่ใน ColorOS 3.1 การปัดหน้าจอจากบนลงล่าง จะเป็นการเรียก Notification Bar ส่วนการเรียก Control Center จะเปลี่ยนเป็นการปัดหน้าจอจากล่างขึ้นบนแทน เป็นการลดความซ้ำซ้อน และทำให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น
สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาใน Control Center บน ColorOS 3.1 ก็คือฟีเจอร์ OPPO Share ตัวช่วยในการถ่ายโอนไฟล์ระหว่างสมาร์ทโฟน OPPO ให้สะดวกมากขึ้น และยังสามารถเปิดโหมดถนอมสายตา ที่จะลดแสงสีฟ้าจากหน้าจอสมาร์ทโฟน ทำให้ใช้งานต่อเนื่องได้สบายตามากขึ้นได้จาก Control Center ได้อีกด้วย
ด้วยความที่ ColorOS 3.1 มีพื้นฐานมาจาก Android 7.1 Nougat เลยทำให้ OPPO A71 สามารถใช้ฟีเจอร์การแบ่งหน้าจอได้ด้วย โดยการแบ่งหน้าจอให้เข้าแอปพลิเคชันที่ต้องการเปิดใช้งาน จากนั้นกดปุ่ม Recent App (สัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยม) ค้างไว้ จะเป็นการเข้าโหมด Split Screen แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูด้วยว่าแอปพลิเคชันรองรับการทำงานแบบ Multi-Windows ด้วยหรือไม่ ส่วนมากถ้าเป็นแอปพลิเคชันของทาง Google เอง จะรองรับ Split Screen ทั้งหมด
ข้อดีของการทำ Split Screen ก็คือทำให้สามารถใช้งาน 2 แอปพลิเคชันได้พร้อมกัน เช่น การเปิดอีเมลล์ไปพร้อม ๆ กับรับชม Youtube หรือเวลาเดินทาง ก็สามารถค้นหาข้อมูลผ่านทาง Safari ไปพร้อม ๆ กับการเปิด Google Map เพื่อนำทาง หรือจะแชทกับเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันแชทก็ได้เช่นกัน
นอกจาก Split Screen หรือการใช้งาน 2 แอปพลิเคชันพร้อมกันแล้ว ColorOS 3.1 บน OPPO A71 ยังรองรับการ Clone App หรือการสร้างแอปพลิเคชันซ้ำ ทำให้สามารถลงชื่อเข้าใช้ได้ 2 Account ได้พร้อมกัน แต่ข้อสังเกตคือ Clone App ของ OPPO A71 จะรองรับอยู่ไม่กี่แอปพลิเคชันเท่านั้น (ตอนนี้จะมี Whatapps และ BBM)
ส่วนฟีเจอร์ที่เคยมีใน ColorOS เวอร์ชันก่อน ก็ยังคงใช้งานได้ใน ColorOS 3.1 เช่น ฟีเจอร์ท่าทางหน้าจอปิด, การใช้ 3 นิ้วลากเพื่อจับภาพหน้าจอ เป็นต้น
Camera
ถึงแม้ว่า OPPO A71 จะเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นเล็กราคาคุ้ม แต่ก็ยังคงคอนเส็ปของความเป็น OPPO : Camera Phone เพราะในเรื่องกล้องก็ยังจัดเต็มเหมือนเคย เริ่มจากกล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล เทคโนโลยี Multi-Frame Denoising ที่มาพร้อมเซนเซอร์ใหญ่ขนาด 1/3.06 และพิกเซลขนาด 1.4 um ช่วยลด Noise และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการถ่ายภาพ ให้ได้ภาพสวยคมชัดแม้ในที่แสงน้อย นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยี PDAF ทำให้จับโฟกัสภาพได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รองรับการถ่ายวีดีโอความละเอียดสูงสุด Full HD 1080p
กล้องหน้า OPPO A71 ให้มาที่ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล รองรับการถ่ายวีดีโอความละเอียดสูงสุด Full HD มาพร้อมกับระบบประมวลผลภาพถ่ายอันเลื่องชื่อของ OPPO อย่าง Beautify ให้ทุกภาพเซลฟี่ออกมาสวยงามอย่างเป็นธรรมชาติ และคงไว้ซึ่งรายละเอียดของภาพแม้ในที่แสงน้อย สามารถใช้แสงหน้าจอช่วยตอนถ่ายรูปในที่แสงน้อย ความสว่างของแสงหน้าจอที่ยิงออกมาก็ถือว่าพอชดเชยแฟลชกล้องหน้าได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมด้วยโหมดการถ่ายภาพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Filter Effect, Selfie Panorama และ Bokeh Effect หน้าชัดหลังละลาย
หน้าตาซอฟท์แวร์กล้องของ OPPO A71 จะคล้ายกับซอฟท์แวร์กล้องในสมาร์ทโฟน OPPO รุ่นก่อน ๆ เน้นใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน สามารถเปิดโหมด Pro หรือโหมดผู้เชี่ยวชาญได้ โดยในโหมดผู้เชี่ยวชาญ สามารถปรับแต่งค่าได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ISO (ต่ำสุด 100/ สูงสุด 1600), WhiteBalance, ความเร็วชัตเตอร์ (นานสุด 16 วินาที), การเลือกระยะโฟกัส, การปรับชดเชยแสงได้ 3 จุด และในโหมดผู้เชี่ยวชาญ สามารถถ่ายภาพแบบ Ultra-HD ที่ให้ความละเอียดเทียบเท่า 50 ล้านพิกเซลได้ด้วย
สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างในเมนูกล้อง OPPO A71 คือปุ่มซูมภาพ ที่เลือกได้ระหว่างระยะปกติ กับระยะซูม 2 เท่า เป็นการซูมแบบดิจิทัล แต่ในแง่ของการใช้งานก็ถือว่าทำให้ใช้งานได้สะดวก ภาพรวมก็ยังคงเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้งานง่าย ใช้เวลาเรียนรู้ไม่นานก็สามารถใช้งานได้คล่อง โหมดถ่ายภาพก็มีให้ใช้ครบครัน สำหรับตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้อง OPPO A71 ก็ตาม Gallery ด้านล่างเลยครับ
Performance
“สปีดแรงทุกการใช้งาน” เป็นสโลแกนของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ และ OPPO เองก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ด้วยการอัด Ram มาให้ถึง 3 GB เมื่อจับคู่กับชิปประมวลผล Octa-Core 8 แกน MediaTek MT6750 และหน้าจอความละเอียด HD เลยทำให้การใช้งานลื่นไหล เนื่องจากตัวสเปคที่ให้มามีความสมดุล CPU ไม่ต้องประมวลผลหนักจนเกินไป และต้องชม ColorOS 3.1 ที่รีดประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ได้อย่างเต็มที่
การใช้งานทั่วไปทำได้อย่างลื่นไหล ไม่ว่าจะเป็นการชมวีดีโอ, Youtube, LINE TV และวีดีโอสตรีมมิ่งอื่น ๆ ที่ความละเอียดระดับ HD หรือจะใช้งานโซเชียลมีเดีย รวมถึงการแบ่งใช้งาน 2 หน้าจอ Split Screen ก็ทำได้เป็นอย่างดี
ส่วนการเล่นเกม OPPO A71 สามารถเล่นเกมได้หลายเกม เท่าที่ลองทดสอบกับเกม ROV ปรับตั้งค่าแบบเปิดภาพ HD ปิดพาร์ติเคิล และเลือกการแสดงผลต่ำสุด สามารถเล่นได้ที่ 30 fps มีแกว่งบ้างเล็กน้อยเวลาที่ All 5 vs 5 เฟรมเรทจะตกมาพอสมควร แนะนำให้ปิดภาพ HD จะเล่นได้ลื่นกว่านี้
นอกจาก ROV ก็ได้ลองทดสอบ OPPO A71 กับเกมอื่น ๆ เช่น League of Stickman 2017, Angry Bird Match และ Lineage Revolution ก็สามารถเล่นได้ แต่ต้องมีการปรับแต่งความละเอียดของเกมให้เหมาะสมกับสเปค ส่วนมากก็จะเป็นการปรับตั้งค่าแบบ Mid – Low เพื่อให้เล่นได้อย่างลื่นไหล ที่น่าสนใจคือเกม Asphalt 8 สามารถปรับตั้งค่าแบบ High ก็ยังคงเล่นได้แบบลื่น ๆ
แบตเตอรี่ของ OPPO A71 ให้มาที่ความจุ 3,000 mAh แม้จะไม่รองรับระบบชาร์จเร็ว แต่อะแดปเตอร์ที่ให้มาก็จ่ายไฟได้ 5V: 2A ใช้เวลาชาร์จไม่นานเท่าไหร่ ส่วนระยะเวลาในการใช้งานก็เพียงพอที่จะใช้งานได้หมดวันแบบสบาย ๆ ด้วยตัวสเปคที่สมดุล และ CPU ที่เป็นรุ่นประหยัดพลังงานอย่าง MediaTek MT6750