การแข่งขันกันบนตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันนับว่าเป็นอีกตลาดนึงที่สู้รบกันดุเดือดมาก การเร่งพัฒนาเพื่อหาจุดขายของตัวเอง การฟ้องคู่แข่งเพื่อเตะตัดขา กลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ ล้วนแต่ถูกนำมาใช้ทั้งสิ้น ถ้ามองย้อนกลับไปซักเมื่อห้าหกปีก่อน สมัยที่สมาร์ทโฟนรายใหญ่ของโลกอย่าง Nokia กำลังเรืองอำนาจ ใครจะไปคิดว่าทุกวันนี้ Nokia กลับตกที่นั่งลำบาก และหน้าใหม่อย่าง Apple กลับฉายแสงในปัจจุบัน ส่วนค่ายอื่นๆ ก็มีผลลัพธ์ต่างกันไปแล้วแต่การปรับตัวต่อยุคสมัยสมาร์ทโฟน
เช่นเดียวกับ LG Electronics ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโทรทัศน์ และเครื่องใช้ภายในบ้าน รวมถึงเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ที่ไปไม่ค่อยสวยนักในธุรกิจสมาร์ทโฟน ทั้งการขาดทุนติดต่อกันถึงห้าไตรมาส และผลิตภัณฑ์ที่ออกมาไม่สามารถตีตลาดได้ดี โดยผลงานในครึ่งปีที่ผ่านมาอยู่ในขั้นย่ำแย่ แม้ว่าจะเทียบกับ Nokia ที่ผ่านศึกหนักมาเช่นเดียวกัน
แม้ว่า LG ยังมุ่งมั่นที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในตลาดสมาร์ทโฟน แต่จากผลงานที่ออกมาดูแล้วนักลงทุนคงไม่ค่อยชอบใจนัก โดยนาย Harrison Cho นักวิเคราะห์แห่ง KB Investment & Securities กล่าวถึง LG ว่า “การขายธุรกิจที่ขาดทุน น่าจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการ แม้ว่าการขายส่วนนี้ออกไปจะไม่ได้ทำกำไรมากก็ตาม”
แม้ว่าการขายอาจเป็นทางออกดีที่ อย่างในอดีตเอง LG เคยขายส่วนโทรทัศน์จอแบน และอุปกรณ์โทรคมไป เพื่อกระจายความเสี่ยงแล้วก็ตาม แต่ด้วยในปัจจุบันคงไม่น่าจะมีผู้ผลิตรายไหนที่กล้าเข้ามาเกี่ยวก้อยกับธุรกิจที่กำลังขาดทุนเป็นแน่
LG เองก็ลดเป้ายอดขายรายปีของสมาร์ทโฟนในปีนี้ลงไปอีกร้อยละ 20 เหลือราว 24 ล้านเครื่อง เนื่องมาจากการแข่งขันที่สูง ส่วนสมาร์ทโฟนรุ่น Optimus ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android รุ่นบนๆ ของตลาดอย่าง Optimus 2X และ Optimus 3D มียอดขายที่ใช้ได้ แต่ก็เทียบไม่ได้กับ iPhone หรือ Galaxy S
ยิ่งหนักขึ้นไปอีกเมื่อ Koo Bon-Joon ซีอีโอของ LG ประกาศลดการผลิตมือถือประเภท “ฟีเจอร์โฟน” และเน้นส่วนที่มีกำไรสูงกว่าอย่าง “สมาร์ทโฟน” ให้ความสำคัญกับตลาด 3D ที่ยังไม่มีคู่แข่งชัดเจนในขณะนี้ เมื่อเทียบกับ Nokia ที่เลือกทิ้งไพ่หมดหน้าตัก ไปจับมือกับ Microsoft เพื่อความอยู่รอด และ Motorola ที่ขายตัวเองให้กับ Google เพื่อกลายเป็นผู้ผลิตให้กับยักษ์ใหญ่วงการค้นหาออนไลน์
Jung Kyun-Sik ผู้จัดการกองทุนแห่ง Eugene Asset Management แนะว่าสิ่งที่ LG สามารถทำได้คือพยายามทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ให้ดีที่สุด ด้วยการอัพเกรดฮาร์ดแวร์ให้มีประสิทธิภาพ และสร้างความแตกต่างด้วยการกระจายสมาร์ทโฟนไปใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone ของ Microsoft ด้วย
จากไตรมาสที่ผ่านมา LG มีรายได้จากส่วนโทรศัพท์มือถือราว 3,000 ล้านfดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 90,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 แม้ว่าจะยังขาดทุนอยู่ก็ตาม แต่ก็น้อยลง และคาดการณ์ว่าอาจจะกลับมาเป็นกำไรได้ในปีถัดไป แต่จากการขาดทุนติดต่อกันส่งผลให้ระดับความเชื่อมันตกลงไปมากโขแล้ว ดูได้จากมูลค่าของหุ้นที่ตกลงไปมาก
และเมื่อนับในตลาดสมาร์ทโฟนแล้ว LG นับว่าเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 6 ซึ่งไม่ดีเท่าไรนัก ด้วยยอดขายของธุรกิจโทรศัพท์ที่เป็นเพียง 1 ใน 5 ของยอดขายรวม และมีมูลค่าราว 7,500 ล้านดอลลารสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเล็กมากหากเทียบกับ Nokia, HTC หรือแม้กระทั่งธุรกิจโทรทัศน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของบริษัทเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่อยู่ในระหว่างแผนฟื้นฟูธุรกิจโทรทัศน์ ที่ช่วยพลิกให้ LG กลับมามีกำไรได้ในไตรมาสที่สอง และมีธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเป็นถุงเงินสำหรับใช้จ่าย การตัดส่วนธุรกิจที่ทำกำไรไม่ได้อย่างสมาร์ทโฟนน่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แม้ว่าโดยพื้นฐานของ LG ที่เป็นกลุ่มธุรกิจครอบครัว ได้มีการลงทุนไปกับธุรกิจสมาร์ทโฟนเป็นจำนวนเงินที่มหาศาล และหวังให้เติบโตเป็นเสาหลักของบริษัทก็ตาม
เรียบเรียง และถอดความจาก Analysis: LG on mute as mobile phone losses mount
ความเห็นส่วนตัวผู้เขียน : LG มีฮาร์ดแวร์ และตั้งราคาได้เหมาะสมกับตลาดแล้ว จุดที่ขาดคือ LG ไม่สามารถสร้างจุดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่งได้อย่างชัดเจนในผลิตภัณฑ์ที่ออกมา ส่งผลให้แบรนด์ของ LG ยังคงติดภาพความเป็น ฟีเจอร์โฟน ของสมัยก่อนอยู่ รวมถึงซอฟต์แวร์ที่มีปัญหาทั้งประสิทธิภาพ และประสบการณ์การใช้งาน หน้าตาและความสามารถของ LG Home UI? ที่แม้ว่าจะออกมาทีหลังใครๆ แต่ไม่ได้สร้างความโดดเด่นทั้งในด้านคุณสมบัติ และรูปลักษณ์พอจะเป็นจุดขายของแบรนด์เมื่อเทียบกับเจ้าที่ประสบความสำเร็จอย่าง HTC