ในงานเปิดตัวของ Apple ที่ผ่านมา ต้องบอกว่า Apple Watch ที่คาดกันไว้ว่าคงเป็นพระเอกในงาน ได้ถูกแย่งซีนโดย MacBook รุ่นใหม่หน้าจอ 12 นิ้ว ด้วยความที่มันถูกตัดลดทอนพอร์ตเชื่อมต่อเหลือแค่ช่องเสียบหูฟัง กับ USB-C ที่เป็นของใหม่เท่านั้น ซึ่งเจ้า USB-C นี้ก็เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งพอร์ตเชื่อมต่อที่เราจะได้ใช้งานกันอย่างแน่นอนในอนาคต เนื่องด้วยข้อดีที่เหนือกว่า USB 3.0 ในปัจจุบันอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเรื่องความเร็ว ความกว้างของ bandwidth ในการรับส่งข้อมูล รวมถึงตัวพอร์ตเองก็สามารถเสียบใช้งานด้านใดก็ได้ (ลักษณะเดียวกับ Lightning) นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเทคโนโลยีอื่นอีก เช่น เซ็นเซอร์ Force Touch ที่ใช้ตรวจจับแรงกด เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นที่คาดหมายกันว่าเราคงจะได้เห็นมาอยู่ใน iPhone กับ iPad บ้างซักวัน
ทางเราเลยขอลองวิเคราะห์กึ่งเดาอนาคตของผลิตภัณฑ์ iOS อย่าง iPhone กับ iPad กันหน่อยครับ ว่าต่อไปเราอาจจะได้เห็นแนวโน้มออกมาเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้ขนาดไหน มาลองดูกัน
Lightning ถูกแทนด้วย USB-C
จะว่าไป เราแทบทุกคนจะต้องได้เปลี่ยนพอร์ตมาใช้งาน USB-C เป็นหลักในอนาคตแบบแทบจะ 100% อยู่แล้ว เนื่องด้วยข้อดีที่เหนือกว่า USB ในปัจจุบันหลายๆ ด้านอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว แถมยังมีหลายบริษัทพร้อมช่วยดันให้มาตรฐานนี้เกิดอยู่แล้ว อย่างที่เปิดมาเต็มตัวคือ Apple กับ MacBook รุ่นใหม่ ถึงขนาดตัดพอร์ต Thunderbolt ที่ตนเองชูเป็นจุดเด่นของ MacBook มาตลอดในระยะหลังๆ ไปเลย ซึ่งก็ต้องบอกว่า USB-C มันเหมาะกับอุปกรณ์พกพามากๆ เพราะตัวช่องมีขนาดเล็กกว่า Micro USB ซะอีก
ส่วนความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็น Apple เปลี่ยนพอร์ตอีกครั้ง จาก Lightning มาเป็น USB-C ก็ดูเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน เพื่อเป็นการตั้งมาตรฐานให้กับสินค้าของตน เพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถใช้สายแทนกันได้ ระหว่าง MacBook กับ iPhone/iPad เรียกว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานเต็มๆ ซื้อใจกันไปเลยงานนี้
อีกเหตุผลที่ดูพอเป็นไปได้ที่จะมาเสริมข้อนี้คือ Lightning เองยังคงใช้พื้นฐานการเชื่อมต่อในระดับ USB 2.0 เท่านั้น เมื่อเทียบกับความจุหน่วยความจำของ iPhone ที่ปัจจุบันก็มีสูงสุดถึงระดับ 128 GB เข้าไปแล้ว จะให้โอนถ่ายข้อมูลแค่ระดับ USB 2.0 ก็คงจะช้าเกินไป แถมที่ผ่านมาก็ไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไป USB 3.0 เลยด้วย คงอาจจะถือโอกาสเปลี่ยนมาเป็น USB-C ไปเลยทีเดียวก็เป็นได้
USB-C แล้วไง? ก็ใช้ Lightning ต่อไปนี้แหละ
อันนี้เรียกว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับข้อเมื่อกี้เลยครับ ถ้าเป็นจริง คงเนื่องมาจาก Apple อยากจะให้มีการแยกพอร์ตกันระหว่างพอร์ตของอุปกรณ์ iOS ที่ใช้เป็น Lightning กับพอร์ตของ Mac ที่จะใช้ USB-C เป็นหลักในอนาคต ซึ่งถ้าเป็นจริง เหตุผลหลักก็คงเป็นเรื่องของรายได้จากการขายสายเชื่อมต่อ เพราะถ้าทุกอุปกรณ์ใช้หัวเชื่อมต่อแบบเดียวกันหมด ก็เท่ากับว่าสามารถขายได้สายเดียว ใช้งานกันได้หมด แต่ถ้าแยกประเภทพอร์ตให้ต่างกัน ก็จะไม่สามารถใช้สายแทนกันได้ เวลาสายไหนเสีย ก็ต้องซื้อสายนั้นเส้นใหม่มาใช้งาน เท่ากับยอดขายก็เพิ่มขึ้นไปอีก เผลอๆ แค่เหตุผลนี้ข้อเดียวก็จบแล้วครับ แยกพอร์ตต่อไปแล้วกันนะ
อีกอย่างคือ Lightning เองก็เพิ่งออกมาได้ประมาณ 2 ปีเท่านั้นเอง จะรีบทิ้งกันไปก็กระไรอยู่ (แต่ก็นะ อะไรๆ ก็เป็นไปได้สำหรับ Apple)
การชาร์จแบบไร้สายใน iPhone/iPad
อันนี้น่าจะมีความเป็นไปได้ในอนาคตอันไกลพอสมควรครับ เพราะตอนนี้เทคโนโลยีการชาร์จไร้สาย ยังพัฒนามาอยู่ในระดับที่ยังไม่สามารถใช้งานจริงได้เต็มประสิทธิภาพมากนัก แถมถ้าจะมา ผมว่าน่าจะมาใน MacBook ก่อน แล้วจึงค่อยพัฒนามาลงใน iPhone กับ iPad นะ สังเกตได้จากการตัดพอร์ตเชื่อมต่อใน MacBook 12″ เหลือแค่ช่องเดียว ใช้ร่วมกันทั้งชาร์จไฟและเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่น ดูแล้ว ในอีกปีสองปี เราคงได้เห็น MacBook รองรับการชาร์จแบบไร้สาย จากนั้นจึงค่อยตามมาใน iPhone กับ iPad อีกที และน่าจะมาแบบดูดีด้วย เช่น ไม่จำเป็นว่าต้องวางเครื่องแนบกับแท่นชาร์จถึงจะชาร์จได้ อาจจะเป็นแบบมีระยะห่างได้พอสมควร หรือวางใกล้ๆ กับ MacBook ก็ใช้ MacBook เป็นตัวปล่อยไฟฟ้ามาให้ชาร์จได้เลย (มโนล้วนๆ)
ไม่แน่ ต่อไป iPhone/iPad อาจจะไม่มีช่องเชื่อมต่ออีกเลยก็ได้ ช่องชาร์จไฟก็เปลี่ยนไปชาร์จไร้สาย เชื่อมต่อข้อมูลกับคอมพิวเตอร์แบบไร้สาย หูฟังก็ใช้แบบ Bluetooth ไร้สายเหมือนกัน เผลอๆ ต่อไปเราอาจสามารถชาร์จแบต Apple Watch ตอนระหว่างใช้งาน MacBook อยู่ได้เหมือนกันนะ พอนาฬิกาเข้ามาใกล้ๆ เครื่อง ก็ชาร์จให้อัตโนมัติเลย อะไรประมาณนี้
จอ Force Touch
ข้อนี้ ดูแล้วน่าจะเป็นไปได้มากสุดแล้วครับ แถมเริ่มมีข่าวลือออกมาแล้วด้วย ว่า iPhone 6s และ iPhone 6s Plus ประจำปีนี้ จะมาพร้อมเซ็นเซอร์ Force Touch ติดมาที่จอ เพื่อรับแรงสัมผัสจากการกดของผู้ใช้ ทำให้สามารถกำหนดความหน้กเบาของการสัมผัสได้ ซึ่งจะได้ประโยชน์เต็มๆ กับพวกงานที่ต้องอาศัยความหนักเบาของการสัมผัส เช่น การวาดรูปในแอพวาดรูป เป็นต้น รับรองว่าถ้าใส่มา น่าจะเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ Apple ชูเป็นจุดเด่นในผลิตภัณฑ์ของตนแน่นอน จากที่แท็บเล็ตหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน มักจะใช้การตรวจจับสัมผัสที่ตัวปากกากันซะมากกว่า แต่ Apple คงมาในลักษณะติดไว้ที่จอแทน
ซึ่งถ้ามาจริง รับรองว่านอกจากจะมีประโยชน์กับการวาดรูปแล้ว เชื่อว่าเราน่าจะได้เห็นรูปแบบการใช้นิ้วสั่งงานบน iPhone และ iPad แบบใหม่ๆ แน่นอน
iPad Pro ไม่มีจริง
ก่อนหน้านี้ กระแส iPad Pro จอ 12 นิ้วมีออกมาในโลกออนไลน์หนาหูมากๆ ถึงขั้นมีภาพหลุดพาเนลจอ ฝาหลังตัวเครื่องกันออกมาเลยทีเดียว แต่พอถึงวันเปิดตัวจริงๆ กลับกลายเป็นว่าเราได้พบ MacBook จอ 12 นิ้วแทน (นี่ก็เป็นอีกตัวที่มีข่าวลือมาพอๆ กันกับ iPad Pro ต่างกันแค่มันมาจริง) โดยตัว iPad Pro ที่ลือๆ กันนั้น คาดหมายว่าน่าจะมาจับกลุ่มตลาดที่อยากได้แท็บเล็ตไว้ใช้งานในองค์กร ใช้ทำงานในระดับที่จริงจังขึ้นมากว่า iPad ปกติ แต่ก็ไม่ได้ถึงขึ้นทำงานเต็มสูบอย่าง MacBook อารมณ์ประมาณว่า ซื้อคีย์บอร์ดไร้สายมาต่ออีกตัว ก็สามารถใช้ทำงานเอกสาร หรือใช้แอพเฉพาะขององค์กรทำงานได้แทนคอมในระดับหนึ่งได้เลย
และถ้าเราลองดูฟีเจอร์ และหน้าตาของ MacBook 12″ กันจริงๆ จะเห็นว่ามันก็อยู่กึ่งกลางระหว่าง MacBook ปกติกับ iPad อยู่เหมือนกัน คือมาพร้อมระบบปฏิบัติการ OS X ที่ใช้ทำงานได้จริง ผสมกับความบาง เบา ช่องเชื่อมต่อไม่ต้องเยอะในแบบเดียวกับ iPad แบตเตอรี่ก็อยู่ได้นานเป็นวัน ความแรงโดยรวมก็สามารถทำได้ทั้งงานจริงจัง (แต่ไม่ถึงกับหนัก) หรือจะใช้แค่เล่นเน็ต ดูหนังแบบขำๆ ก็ได้สบาย จุดนี้ทำให้ผมมองว่า MacBook 12″ นี่แหละ คือตัวจริงของ iPad Pro
เรื่องราคา ถ้าวางระดับราคากันจริงๆ แล้ว ก็ยังถือว่าสมเหตุสมผลอยู่ครับ เพราะอยู่ตรงกลางระหว่าง MacBook Pro กับ iPad ส่วนที่สงสัยว่าทำไมถึงมองข้าม MacBook Air ไป อันนี้ส่วนตัวผมคิดว่า ต่อไป MacBook Air น่าจะถูกจัดเป็นกลุ่มของ MacBook ราคาประหยัด ที่เอื้อมถึงได้ง่าย แลกกับการถูกตัดฟีเจอร์นู่นนี่นั่นซะหน่อย ลดความพรีเมียมลง ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องสเปค เช่น แม้ว่าชิปประมวผลจะเริ่มต้นเป็น Intel Core i5 แต่ก็เป็นรุ่นประหยัดพลังงาน ถ้าเทียบแล้วความแรงมันก็ใกล้เคียงกับ Intel Core i3 ตัวเต็มเท่านั้น แรมก็ให้มาแค่ 4 GB ซึ่งยากนักที่จะใช้ได้ลื่นในอนาคต ดังนั้นจึงขอใช้ MacBook Pro เป็นผลิตภัณฑ์หลักของสาย MacBook แทนจะดีกว่า
และที่สำคัญ ฝาหลัง MacBook 12″ ไม่มีไฟที่โลโก้ Apple เหมือนกับใน iPad นับเป็น MacBook รุ่นแรกในช่วงนับสิบๆ ปีนี้เลย ที่ไม่มีไฟตรงโลโก้ Apple ซึ่งก็เหมือนจะสื่อให้รู้ว่า นี่แหละ iPad ประกอบคีย์บอร์ดมาในตัว