
เรื่องกล้อง กลายเป็นหนึ่งปัจจัยหลักสำหรับการเลือกซื้อมือถือไปแล้ว ด้วยความสะดวกในการพกพาที่สามารถหยิบมือถือเครื่องเดียวมาถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอแล้วอัปโหลดลงโซเชียลหรือไลฟ์ได้เลย ประกอบกับระบบกล้องก็มีการพัฒนาไปไกล ทำให้แม้ชุดกล้องจะมีขนาดเล็กเพียงนิดเดียว แต่ก็ทำให้ได้ภาพในระดับที่สามารถลงโซเชียล อัดภาพไว้เป็นความทรงจำ ไปจนถึงขึ้นบิลบอร์ดก็ยังพอไหว ทำให้การเลือกมือถือถ่ายรูปซักเครื่องกลายเป็นสิ่งที่หลายท่านมองว่าจำเป็นขึ้นมา
ในบทความนี้ก็จะมาดูกันว่า 5 สิ่งที่ควรดู ควรพิจารณาในการเลือกซื้อมือถือเน้นกล้องจะมีอะไรบ้าง
1. เลนส์ครบช่วง Wide / Ultrawide / Tele
ข้อแรกก็คือสิ่งที่สามารถดูและเช็คข้อมูลเบื้องต้นได้ง่ายสุด เพราะแต่ละรุ่น แต่ละแบรนด์จะมีการบอกในหน้าสเปคอยู่แล้วว่ามือถือรุ่นนั้น ชุดกล้องหลังประกอบไปด้วยเลนส์อะไรบ้าง ซึ่งการที่มีเลนส์หลากหลายก็จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการถ่ายรูปในแต่ละแบบ สำหรับในปัจจุบันชุดเลนส์ที่ได้รับความนิยมก็จะประกอบด้วย 3 ช่วงหลักดังนี้
- เลนส์ไวด์ปกติ (Normal Wide หรือระบุว่า Wide เฉย ๆ) ใช้เป็นกล้องหลัก ใช้ถ่ายภาพทั่วไป มักให้ระยะทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับเลนส์ 28mm ของกล้องฟูลเฟรม มักจะมีค่ารูรับแสง (f) ที่กว้าง ตัวเลขน้อย ๆ เช่น f/1.6 ทำให้เหมาะกับการถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยด้วย
- เลนส์อัลตร้าไวด์ (Ultrawide) ใช้เก็บภาพมุมกว้างพิเศษ จะให้มิติบริเวณขอบภาพที่โค้ง ๆ และอาจไม่คมชัดเท่ากับบริเวณกลางภาพ มักให้ระยะทางยาวโฟกัสประมาณเทียบเท่า 12-14mm ของกล้องฟูลเฟรม และในหลาย ๆ รุ่นจะใช้เป็นเลนส์สำหรับถ่ายมาโครระยะใกล้มาก ๆ ด้วย
- เลนส์เทเล (Telephoto) ใช้ในการซูมระยะไกลแบบออปติคอล ที่ใช้การซูมจากตัวเลนส์เอง ซึ่งให้ภาพที่คมชัดและดูเป็นธรรมชาติกว่าการซูมดิจิทัล โดยมากแล้วจะมีระยะทางยาวโฟกัสที่สูงกว่า 70mm ขึ้นไป ในบางรุ่นจะเลือกใช้ชุดเลนส์เทเลแบบเพริสโคป เพื่อให้ซูมได้ไกลแต่ตัวเครื่องไม่หนาจนเกินไป หรือบางรุ่นก็มีมาให้ทั้งเลนส์เทเลปกติและแบบเพริสโคปเลย มักจะมีค่ารูรับแสงตั้งแต่ f/2.2 หรือ f/2.4 เป็นต้นไป
สำหรับเหตุผลที่มือถือต้องมีกล้องหลังหลาย ๆ เลนส์ เนื่องจากตัวมือถือจะไม่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ในแบบของกล้องถ่ายรูป SLR, DSLR และ Mirrorless จึงทำให้ผู้ผลิตต้องใส่เลนส์ที่มีระยะทางยาวโฟกัสที่แตกต่างกัน พร้อมด้วยเซ็นเซอร์รับภาพของแต่ละเลนส์ที่ได้รับการปรับจูนมาให้เหมาะกับหน้าที่ของตนเองและลักษณะทางกายภาพของชุดเลนส์ที่แตกต่างกัน เพื่อทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานได้ตามต้องการ
แต่ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบมือถือถ่ายภาพในปัจจุบัน ทำให้แม้ในมือถือบางรุ่นจะให้เลนส์มาไม่ครบช่วง แต่ก็สามารถใช้การออกแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้พอทำงานทดแทนกันได้ในระดับหนึ่ง เช่น iPhone 16 และ vivo V50 Lite (รีวิว) ที่ไม่มีเลนส์เทเล แต่ถ้าหากผู้ใช้อยากถ่ายซูมเข้าไปกว่าระยะปกติ ระบบก็จะสามารถ crop ภาพบางส่วนบนเซ็นเซอร์รับภาพ เพื่อทำให้เสมือนว่าทำการซูม 2 เท่าแบบที่ได้คุณภาพใกล้เคียงกับการซูมแบบออปติคอลได้ เป็นต้น แต่ก็จะมีบางสิ่งที่อาจต้องลองด้วยตนเองก่อนซื้อ เพราะอาจส่งผลกระทบกับการใช้งาน โดยเฉพาะกับงานสายโปรดักชัน สายคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เช่น
- แต่ละเลนส์ ให้ภาพออกมาเป็นโทนสีเดียวกันหรือไม่
- ในขณะถ่ายวิดีโอ การสลับเลนส์เป็นไปได้ราบรื่นขนาดไหน มีระบบล็อกเลนส์ที่ใช้หรือไม่ เพื่อป้องกันการสลับเลนส์โดยไม่ตั้งใจ

ด้านของความกว้างรูรับแสงก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มักได้รับการระบุในหน้าสเปคเช่นกัน โดยมาในรูปแบบของค่า f เช่น f/1.6 ปกติแล้วยิ่งตัวเลขน้อย ก็ยิ่งหมายถึงรูรับแสงเปิดได้กว้าง ทำให้สามารถรับแสงเข้าไปที่เซ็นเซอร์ได้เยอะ ทำให้ภาพสว่าง สามารถถ่ายหน้าชัดหลังเบลอได้ง่าย แต่สำหรับในมือถือ ต้องบอกว่ารูรับแสงไม่ค่อยเป็นปัจจัยหลักที่ต้องนำมาพิจารณาเท่าไหร่ เพราะมือถือเน้นถ่ายรูปส่วนใหญ่มักจะให้มาใกล้เคียงกันหมด ฟังก์ชันการเบลอพื้นหลังก็มักมีการนำซอฟต์แวร์มาช่วยประมวลผลด้วยอยู่แล้ว
และอีกประเด็น การให้เลนส์มาเยอะก็ใช่ว่าจะครอบคลุมการถ่ายภาพได้ทุกแบบเสมอไป เพราะในกลุ่มของมือถือรุ่นที่ราคาไม่แพง มักจะมีการตัดเลนส์อัลตร้าไวด์ออก แล้วใส่เป็นเลนส์อื่นมาแทน เช่น เลนส์ถ่ายมาโคร เลนส์ depth สำหรับเก็บข้อมูลความชัดลึก เพื่อช่วยให้สามารถถ่ายภาพบุคคลได้ เป็นต้น ทำให้เวลาจะเลือกซื้อมือถือก็อาจจะต้องดูสเปคนิดนึง ว่าให้เลนส์อะไรมาบ้าง
ดังนั้นหากต้องการซื้อมือถือเน้นถ่ายภาพซักเครื่อง แน่นอนว่าควรเลือกรุ่นที่ให้เลนส์มาครบช่วงไว้ก่อน มีทั้งไวด์ อัลตร้าไวด์ และเทเล เพราะมันจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการใช้ถ่ายภาพได้มาก และช่วยให้ภาพถ่ายที่ได้มีคุณภาพสูง คมชัด แต่ก็ควรไปลองเล่นเครื่องจริงก่อนตัดสินใจ เพราะในบางจุดก็อาจจะไม่มีการกล่าวถึงในรีวิว หรือไม่ได้มีการลองในคลิปให้ชมได้เหมือนกัน
2. ขนาดเซ็นเซอร์
อีกส่วนสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของภาพถ่ายโดยตรงก็คือเซ็นเซอร์รับภาพ เพราะจะทำหน้าที่ในการรับแสงจากชุดเลนส์ แล้วมาแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลเพื่อสร้างภาพออกมาเป็นไฟล์ ซึ่งโดยปกติแล้ว ยิ่งเซ็นเซอร์รับภาพมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้ภาพมีคุณภาพสูงมากขึ้นเท่านั้น เพราะตัวเซ็นเซอร์จะมีพื้นที่ในการรับแสงที่มากกว่าเซ็นเซอร์ที่มีขนาดเล็ก ทำให้ได้ภาพที่สว่าง คมชัด เก็บรายละเอียดได้มาก คอนทราสต์เหมาะสม ไม่เข้มจัดจนภาพดูมืดไป และไม่น้อยเกินจนทำให้ภาพไม่มีมิติ
และด้วยการที่เซ็นเซอร์มีขนาดใหญ่ รับแสงได้เยอะ ก็ส่งผลถึงขณะถ่ายภาพด้วย เพราะจะสามารถใช้ ISO ต่ำ ทำให้ไม่ต้องเปิดรูรับแสงนาน นั่นคือสามารถใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่สูงได้ เปรียบเสมือนการกระพริบตาเร็ว ๆ ซึ่งยิ่งใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาพสั่นได้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้อาจต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ ISO ความกว้างรูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ที่มีผลกับการถ่ายภาพ ที่อาจจะยาวซักนิดนึง แต่ถ้าให้สรุปง่าย ๆ ก็คือยิ่งเซ็นเซอร์รับภาพมีขนาดใหญ่ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูงขึ้นและมีมิติกว่า
โดยขนาดเซ็นเซอร์รับภาพของกล้องหลัก เลนส์ไวด์ปกติที่มักได้รับความนิยมของกลุ่มมือถือรุ่นเรือธงมักจะอยู่ที่ประมาณ 1/1.3″ (ประมาณ 0.769″) หรือ 1/1.28″ (ประมาณ 0.781″) และสำหรับรุ่นที่เน้นกล้องมากจริง ๆ ก็จะใช้เซ็นเซอร์รับภาพที่มีขนาดใหญ่ถึง 1″ (1-inch type) ซึ่งเท่า ๆ กับกล้องคอมแพคคุณภาพสูงเลยก็มี แน่นอนว่าการใช้เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่ก็จะมีผลดีในเรื่องคุณภาพของภาพถ่ายตามที่กล่าวไปข้างต้น แต่ก็จะมาพร้อมการกินแบตเตอรี่ที่สูงกว่าตามไปด้วย ทำให้มือถือกลุ่มนี้อาจจะต้องมีการใส่แบตเตอรี่ความจุสูง มีระบบจัดการพลังงานและความร้อนที่ดีตามไปด้วย ที่จะส่งผลถึงน้ำหนักตัวเครื่องตามมา ส่วนของเลนส์อัลตร้าไวด์และเลนส์เทเล มักจะไม่ค่อยมีการพูดถึงเซ็นเซอร์รับภาพมากนัก
ส่วนแบรนด์เซ็นเซอร์รับภาพยอดนิยมในวงการสมาร์ตโฟน ก็จะมีหลายแบรนด์ด้วยกัน อาทิ Sony ที่มาในชื่อขึ้นต้นด้วย IMX กับ LYT เซ็นเซอร์จาก Samsung ที่ใช้ชื่อซีรีส์ว่า ISOCELL เซ็นเซอร์จาก OmniVision ที่ใช้ชื่อขึ้นต้นด้วย OV ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะมีรุ่นย่อยให้ผู้ผลิตมือถือนำไปใช้กันมากมาย แบ่งตามคุณภาพ ราคาและความยากง่ายในการปรับจูนระบบให้สามารถรีดประสิทธิภาพจากเซ็นเซอร์และชุดเลนส์ได้สูงสุด ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะต้องอาศัยการดูรีวิวของมือถือแต่ละรุ่นเป็นหลักเลย ว่าได้ภาพที่ถูกใจขนาดไหน
3. ระบบกันสั่นแบบ OIS
ระบบกันสั่นแบบฮาร์ดแวร์อย่าง Optical Image Stabilization หรือย่อว่า OIS เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการเป็นมือถือถ่ายรูป เพราะหน้าที่ของระบบนี้คือจะช่วยชดเชยการสั่นไหวขณะกำลังถ่ายภาพและวิดีโอ ซึ่งจะมีอาการสั่นไหวเล็กน้อยอยู่แล้วจากการใช้มือจับเครื่อง หรือเป็นการถ่ายในขณะที่กำลังเดินอยู่ โดยจะมีการติดตั้งมอเตอร์ขับเคลื่อนตัวเล็ก ๆ ไว้ที่ชุดเลนส์ ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ภายในตัวเครื่อง เพื่อสั่งงานให้มอเตอร์ขยับชุดเลนส์ให้ชดเชยกับทิศทางการสั่นของตัวเครื่อง โดยอาจมีการขยับได้ 2 ทิศทางทั้งตามแกนแนวนอนกับแกนแนวตั้ง ไปจนถึงมี 4 แกน 5 แกน และในบางรุ่นที่ราคาสูงหน่อยก็จะสามารถขยับเซ็นเซอร์ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ภาพที่ไปปรากฏบนเซ็นเซอร์รับภาพยังคงนิ่งอยู่ ตัวอย่างผลของการมีและไม่มี OIS ก็เป็นตามคลิปตัวอย่างด้านล่างนี้
จะเห็นว่าการมี OIS จะช่วยทำให้วิดีโอดูนิ่งกว่า เวลาถ่ายภาพนิ่งก็จะช่วยลดปัญหาภาพสั่นไหวลงได้มาก ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนมากในบริเวณที่มีแสงน้อย เนื่องจากถ้ามีแสงน้อย ระบบก็จะพยายามรับแสงเข้าเซ็นเซอร์ให้ได้มากที่สุดด้วยการเปิดหน้าชัตเตอร์นาน ๆ (ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ) ซึ่งถ้ายิ่งเปิดหน้ากล้องนาน ๆ ก็เท่ากับเซ็นเซอร์รับภาพจะสั่นตามมือไปด้วย ทำให้ภาพที่ออกมาก็จะดูสั่น ๆ เบลอ ๆ ในกรณีนี้ OIS จะเข้ามาช่วยได้มากทีเดียว และก็มีซอฟต์แวร์มาช่วยประมวลผลด้วยอีกขั้น ทำให้ภาพออกมาคมชัด
สำหรับระบบชดเชยการสั่น นอกจากจะมีแบบ OIS ที่เป็นการทำงานของฮาร์ดแวร์แล้ว ก็จะมีแบบ EIS ที่ใช้ซอฟต์แวร์ในการชดเชยการสั่นไหวให้จากเซ็นเซอร์รับภาพ ที่อาจมีการ crop ภาพเข้ามาอีก ซึ่งก็สามารถใช้งานได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าใช้ EIS ล้วน อาจจะทำให้วิดีโอมีภาพที่ดูย้วย ๆ ได้ตามคลิปด้านบน ส่วนถ้าเครื่องไหนมีมาให้ทั้ง OIS และ EIS ระบบก็มักจะใช้ทั้งสองระบบทำงานร่วมกันไปเลย
ทีนี้ ในการเลือกซื้อมือถือถ่ายรูป โดยหลักแล้วก็จะต้องเลือกรุ่นที่มีกันสั่น OIS มาให้ที่เลนส์กล้องหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะใส่มาให้อยู่แล้ว ตั้งแต่เครื่องที่ราคาเกือบ 10,000 บาทขึ้นมา แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรมี OIS มาให้ที่เลนส์เทเลด้วย เนื่องจากปกติแล้วเวลาใช้เลนส์เทเลในการถ่ายภาพ การสั่นของมือเพียงนิดเดียวก็ส่งผลให้ภาพพรีวิวบนจอและภาพที่ถ่ายออกมามีอาการสั่นไหวได้แล้ว ประกอบกับค่ารูรับแสงของเลนส์เทเลก็มักจะให้มาแคบกว่าเลนส์กล้องหลัก ทำให้ยิ่งได้แสงเข้าเลนส์น้อย กล้องก็อาจจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าขึ้น ส่งผลให้ภาพสั่นไหวง่ายขึ้นไปอีก ซึ่ง OIS จะเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้มากทีเดียว ดังนั้นจึงควรเลือกมือถือที่มี OIS ให้ทั้งเลนส์กล้องหลักและเลนส์เทเลไปเลย
4. โหมดกล้องที่มีให้ใช้
มาในส่วนของซอฟต์แวร์กันบ้าง เริ่มด้วยเรื่องของโหมดกล้องที่มีให้ใช้งาน โดยปกติแล้วผู้ผลิตแต่ละรายก็จะให้โหมดหลัก ๆ มา เช่น โหมดถ่ายภาพปกติ โหมดถ่ายบุคคล (portrait) โหมดถ่ายพาโนรามา โหมดถ่ายวิดีโอ ถ่าย timelapse ถ่ายมาโคร โหมดโปรที่เปิดให้ผู้ใช้ปรับค่าบางอย่างได้เอง เป็นต้น แต่สำหรับในมือถือ Android หลาย ๆ รุ่น ผู้ผลิตมักจะใส่โหมดพิเศษ โหมดเน้นจุดขายเพิ่มเข้ามา เช่น
- โหมดถ่ายภาพขาวดำ
- โหมดถ่ายภาพแบบใส่ฟิลเตอร์พิเศษ ที่เกิดจากการจับมือกับดีไซเนอร์ แบรนด์กล้อง
- โหมดถ่ายสตรีทที่จะปรับระยะกล้อง จูนสีมาให้พิเศษ
- โหมดถ่ายเด็ก ถ่ายสัตว์เลี้ยง ถ่ายอาหาร
- โหมดสแกนเอกสาร
ซึ่งในจุดนี้ก็อาจจะต้องพิจารณาจากการใช้งานของตนเองอีกทีว่าน่าจะต้องใช้ถ่ายอะไรบ้าง เพื่อจะได้เลือกมือถือได้ถูกใจ แต่เชื่อว่าหลายท่านเลยทีเดียว ที่สุดท้ายก็ใช้แต่โหมดถ่ายภาพปกติของกล้อง แล้วค่อยมาแต่งภาพเองทีหลัง ในกรณีนี้ก็อาจต้องเลือกมือถือรุ่นที่ให้ภาพออกมากลาง ๆ รองรับการปรับแต่งภาพได้ง่าย และมีระบบอัตโนมัติที่ค่อนข้างฉลาด เช่น ในกรณีที่ถือเข้าไปถ่ายใกล้ ๆ ก็สามารถสลับมาถ่ายมาโครได้อัตโนมัติ สามารถแพนกล้องไปที่ QR code แล้วมีปุ่มมาให้กดเข้าลิงค์ของ QR ได้เลย สามารถสลับไปใช้โหมดถ่ายกลางคืนได้อัตโนมัติเมื่อพบว่ามีแสงน้อย เป็นต้น ซึ่งความสามารถเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกและความง่ายในการใช้กล้องได้มากทีเดียว เพราะบางครั้งการมัวกดสลับโหมดอยู่ ก็อาจจะทำให้พลาดโอกาสในการเก็บภาพไปแล้วก็ได้
ดังนั้นถ้าอยากได้มือถือถ่ายรูปที่ใช้งานจริงได้ดี ก็ควรเลือกรุ่นที่มีโหมดตอบโจทย์การใช้งาน และมีความฉลาดในการสลับโหมดที่เหมาะสมแบบอัตโนมัติได้ดี
5. AI และซอฟต์แวร์
และข้อสุดท้ายก็คือส่วนของการประมวลผลภาพด้วยซอฟต์แวร์ ที่หลายแบรนด์มือถือให้ความสำคัญ ด้วยการไปจับมือกับแบรนด์ผู้ผลิตกล้อง เลนส์ที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน เพื่อมาร่วมกันพัฒนาซอฟต์แวร์การจูนสีสันของภาพให้ออกมามีเอกลักษณ์ และเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ เช่น บางแบรนด์อาจจะเน้นถ่ายภาพบุคคลเป็นพิเศษ บางแบรนด์เน้นโทนสีสื่ออารมณ์ เหมาะกับการถ่ายเน้นคอนทราสต์จัด ๆ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องแล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลเลยว่าถูกใจสายไหนเป็นพิเศษ
ส่วนในมุมอื่น ๆ ของซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพที่น่าสนใจ อาจจะเป็นฟีเจอร์ที่ซ่อนไว้ ไม่ได้ถูกกล่าวถึงเยอะ หรืออาจเป็นการทำงานเบื้องหลังของระบบ ตัวอย่างก็ได้แก่ความสามารถในการแก้ perspective ของภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่สัดส่วนตรง ไม่บิดเบี้ยวตามลักษณะทางกายภาพของเลนส์และมุมในการถ่ายภาพ หรือมีความบิดเบี้ยวน้อยที่สุด ซึ่งจะเหมาะกับการใช้ถ่ายสถาปัตยกรรม ถ่ายตึก ถ่ายบ้าน รวมถึงการใช้งานที่ต้องใช้เลนส์อัลตร้าไวด์บ่อย ๆ เพื่อจะทำให้ได้ภาพที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ง่าย เช่น ใช้ประกอบการขายสถานที่ ใช้ร่วมกับงานออกแบบต่าง ๆ เป็นต้น อีกเรื่องที่มักพบกันบ่อยก็คือการประมวลผลภาพ HDR ที่มือถือเน้นกล้องในปัจจุบันมักจะใส่มาเป็นความสามารถพื้นฐานกันแล้ว ว่ากล้องต้องสามารถถ่าย HDR เพื่อเก็บแสง สีสัน และความคมชัดให้ได้ ‘เหนือกว่า’ ที่ตาเห็น หลักการทำงานของการถ่าย HDR แบบคร่าว ๆ ก็คือกล้องจะต้องถ่ายภาพจำนวนมากอย่างรวดเร็ว โดยแต่ละภาพจะมีการปรับค่าที่แตกต่างกัน เพื่อเก็บความสว่างหลายระดับ จากนั้นก็นำภาพทั้งหมดมาประมวลผลรวมเป็นภาพเดียว พร้อมกับปรับจูนภาพในส่วนต่าง ๆ อีก ซึ่งตรงนี้ก็ต้องอาศัยพลังของส่วนประมวลผลภาพในชิปเซ็ตเป็นหลัก และอาจส่งผลถึงประสิทธิภาพในการใช้งานเครื่องอยู่บ้าง เช่นถ้าเครื่องสเปคไม่สูงมากนัก อาจจะต้องใช้เวลาประมวลผลนานหน่อย จึงจะสามารถดูภาพได้ รวมถึงอาจต้องรอซักนิดนึงจึงจะสามารถกดดถ่ายภาพต่อได้ ซึ่งอาจทำให้พลาดโอกาสในการถ่ายภาพต่อเนื่องได้เหมือนกัน
ต่อมาก็คือการนำ AI มาใช้ช่วยในการถ่ายภาพและแต่งภาพ ตัวอย่างการใช้งานในปัจจุบันก็ได้แก่
- นำ AI มาช่วยคิดก่อนถ่าย ว่าควรเน้นจูนสีโทนไหนเป็นพิเศษแบบอัตโนมัติ เช่น ปรับเป็นโหมดเน้นถ่ายท้องฟ้า โหมดเน้นถ่ายอาหาร
- ให้ AI ช่วยประมวลผลภาพ เพิ่มความคมชัดในกรณีที่มีการซูมไกล ๆ แบบไฮบริดซูม (ออปติคอล+ดิจิตอล)
- ใช้ AI ช่วยลบสิ่งที่ไม่ต้องการออกจากภาพ พร้อมเติมรายละเอียดทดแทนให้ดูเนียนตา สมจริง
- ให้ AI ช่วยคัดบางส่วนของหลาย ๆ ภาพมารวมกันเป็นภาพเดียว เช่น ให้ทุกคนในภาพยิ้มและลืมตาแบบดูเป็นธรรมชาติ
และเมื่อประกอบกับตัวชิปเซ็ตเองก็มีการพัฒนา NPU ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้านซอฟต์แวร์ AI ก็มีโมเดลให้เทรนมากขึ้น ทำให้ภาพที่ออกมามีคุณภาพสูงขึ้นตาม บางภาพเนียนถึงขั้นแยกแทบไม่ออกแล้วว่าเป็นภาพที่ผ่านการประมวลผลและการตกแต่งด้วย AI มา และอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับการใช้ลงโซเชียลแล้ว จึงทำให้หลาย ๆ แบรนด์ชู AI มาเป็นจุดขายให้กับมือถือถ่ายรูปของตนเอง ซึ่งฟังก์ชันหลัก ๆ ที่มีคล้ายกันก็จะเป็นตามตัวอย่างข้างต้น ที่เหลือก็คือต้องไปดูจากรีวิวและลองเครื่องจริงว่าผลออกมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจขนาดไหน เพราะส่วนใหญ่แล้ว AI ที่ใช้ในงานด้านนี้ จะเป็นระบบของทางแบรนด์ผู้ผลิตมือถือเองเป็นหลัก
สำหรับแนวทางในการพิจารณาในด้านของ AI และซอฟต์แวร์ก็คืออาจจะต้องเลือกรุ่นที่มีสเปคสูงนิดนึง มี NPU ประสิทธิภาพสูงเพื่อให้รองรับการประมวลผลภาพได้ดี ส่วนด้านของระบบคงต้องเลือกตามฟังก์ชันที่ต้องการ และผลลัพธ์ที่ได้
สรุป 5 สิ่งที่ควรพิจารณา หากจะซื้อมือถือถ่ายรูป มือถือกล้องสวย
จากทั้ง 5 ข้อข้างต้น จะแบ่งเป็น 3 ข้อที่เป็นเรื่องของฮาร์ดแวร์โดยตรงนั่นคือ เลนส์ที่มี ขนาดเซ็นเซอร์ที่ได้ และระบบกันสั่นแบบ OIS ที่ถ้ามีทั้งในเลนส์ไวด์ปกติและเลนส์เทเลก็จะยิ่งดี ซึ่งทั้งสามข้อนี้คือส่วนที่สามารถตรวจสอบจากสเปคได้ค่อนข้างง่าย ส่วนอีก 2 ข้อจะเป็นด้านของระบบ ได้แก่โหมดกล้องที่มีให้ใช้งาน ความชาญฉลาดของโหมดออโต้ และฝั่งของซอฟต์แวร์กับระบบ AI ที่จะช่วยในการทำให้ภาพออกมาสวยงาม สีสันสดใส มีความสว่างที่เหมาะสม เก็บรายละเอียดได้ดี ไปจนถึงการช่วยในการแต่งภาพ
ซึ่งถ้าหากต้องการซื้อมือถือเน้นถ่ายรูปซักเครื่อง การพิจารณาปัจจัยทั้ง 5 ข้อน่าจะช่วยให้สามารถเลือกเครื่องได้ตรงใจ และได้ภาพถ่ายที่สวยงามตามต้องการแน่นอน