จากบทความ “5 เหตุผลที่ไม่ควรซื้อมือถือ Android ราคาแพง (จนเกินไป)” ที่ทางเราได้นำเสนอว่าทำไมถึงไม่ควรจ่ายเงินซื้อมือถือ Android ที่มีราคาแพง (จนเกินไป) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรจะมีความพอดี อะไรที่สุดโต่งไปก็คงจะไม่ดีนักใช่ไหมครับ? เพราะฉะนั้นเรามาดูกันดีกว่า ว่าทำไมเราจึงไม่ควรซื้อมือถือ Android ที่มีราคาถูก (จนเกินไป) ถ้าไม่ได้มีปัจจัยเรื่องของเงินเป็นประเด็นหลักจริงๆ โดยมีด้วยกัน 5 ข้อดังนี้ครับ
1. ใช้งานได้เหมือนกัน แต่ “ใช้งานได้ดี” ต่างกัน
จริงอยู่ที่ว่าเดี๋ยวนี้ มือถือแอนดรอยราคาไม่แพงมากก็ใช้งานได้พอๆ กับมือถือแอนดรอยราคาแพง เพราะด้วยความเป็นสมาร์ทโฟนที่สามารถโหลดแอพมาใช้งานได้เหมือนกัน และยิ่งแอพพลิเคชันพื้นฐานอย่างพวก Line, Facebook หรือแม้แต่การใช้งานอินเทอร์เน็ตก็ตาม ทำให้มือถือแอนดรอยราคาไม่แพงก็ทำอะไรๆ ได้เหมือนกับรุ่นท็อป แต่มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก ก็คือ “การใช้งานได้ดี” ด้วยสเปคที่ให้มาแค่พอใช้ (พอใช้จริงๆ นะ) ทำให้การใช้งานค่อนข้างมีข้อจำกัด ยกตัวอย่างเช่นการใช้งาน Facebook จริงอยู่ครับว่ามือถือแอนดรอยตอนนี้ล้วนแต่ใช้งาน App Facebook ได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือความลื่นไหลในการใช้งาน เวลาเลื่อนหน้า Feed เร็วๆ นี่เห็นผลเลย
2. ซื้อเครื่องแถมแพ
ถ้าดูจาก Google Nexus จะเห็นว่า Google ประกาศเลยว่า Nexus จะได้รับการสนับสนุนด้าน Software (ได้รับการอัพเดต) อย่างแน่นอน 18 เดือน ซึ่งมาตรฐานของมือถือทั่วไปก็จะประมาณนี้แหละครับ คือซื้อเครื่องมา ในช่วง 18 เดือนนับตั้งแต่มันเปิดตัวเนี่ย ถ้ามี Android เวอร์ชันใหม่ๆ ออกมาส่วนมากก็จะมีการอัพเดตให้ แต่ไม่ใช่สำหรับมือถือ Android ที่มีราคาถูกจนเกินไปครับ เพราะมือถือเหล่านี้เกิดมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการเวอร์ชันไหน ใช้จนเครื่องพังก็ยังคงอยู่ที่ระบบปฏิบัติการเดิม ไม่ค่อยจะได้รับการอัพเดตซักเท่าไหร่ ยกเว้นบางรุ่นที่หลุดมาจริงๆ ก็อาจจะได้ไปต่อ แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากครับ
3. วัสดุและงานประกอบไม่น่าประทับใจ
อันนี้เป็นปัจจัยด้านราคาล้วนๆ เลยครับ แน่นอนว่าราคาที่ถูกลง ก็ย่อมแลกกับอะไรหลายๆ อย่าง และวัสดุรวมถึงงานประกอบก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่แลกมา จะเห็นเลยว่าบรรดามือถือราคาไม่แพงทั้งหลายแหล่ส่วนมากจะใช้วัสดุเป็นพลาสติกด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนการออกแบบก็มักจะไม่โดดเด่น หน้าตาดูบ้านๆ และที่สำคัญคือในบางรุ่น งานประกอบยังไม่น่าประทับใจอีกต่างหาก เวลากดๆ ไปที่ฝาหลังมักจะเจออาการหลังยวบได้ครับ ต่างจากมือถือที่ราคาแพงๆ ถึงวัสดุจะเป็นพลาสติกเหมือนกัน แต่ก็จะเป็นพลาสติกเกรดดีกว่า, ให้สัมผัสที่ดีกว่า หรือบางรุ่นก็อาจใช้โลหะเป็นวัสดุของตัวเครื่องเลยหล่ะ
4.?หน้าจอไม่ค่อยแจ่ม
สมาร์ทโฟนเดี๋ยวนี้เป็นระบบหน้าจอสัมผัสกันหมดแล้ว ทำให้หน้าจอเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และในมือถือ Android ที่มีราคาถูก (จนเกินไป) ก็มักจะพบว่าหน้าจอมันไม่ค่อยแจ่มเอาซะเลย ซึ่งก็เป็นปกติครับ เพราะต้องลดต้นทุนการผลิตลงมาเพื่อให้ขายได้ในราคาถูก ทำให้หน้าจอของมือถือราคาถูก (จนเกินไป) มักจะเป็นหน้าจอประเภท TFT และมีความละเอียดจอต่ำ ซึ่งส่งผลต่อการใช้งานแบบเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหน้าเว็บไม่สบายตา หรือใช้งานกลางแดดจัดๆ หน้าจอสู้แสงไม่ได้ ต้องบอกว่า “มันจ้าซะเหลือเกิน”
5.?กล้องหน้า – หลังมักจะห่วย
กล้องของสมาร์ทโฟนก็เป็นอะไรที่สำคัญไม่แพ้หน้าจอ หรือสเปคเลยครับ แต่สำหรับมือถือที่มีราคาถูก (จนเกินไป) อาจจะพบปัญหาในการใช้งานกล้อง อาทิเช่น ถ่ายกลางคืนไม่สวย, จับโฟกัสยาก หรือบางรุ่นก็ไม่มี Auto Focus ซะงั้น จะถ่ายภาพอาหารใกล้ๆ หรือจะถ่ายหน้าชัด-หลังเบลอมันช่างลำบากยากเย็น เผลอๆ ต้องใช้แอพช่วยอีก โดยเฉพาะกล้องหน้ายิ่งแล้วเลยครับ บางรุ่นก็ไม่ให้กล้องหน้ามาอีก จะถ่าย Selfie ก็ต้องมาคอยเล็งเอาเอง
เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับ 5 เหตุผลที่ไม่ควรซื้อมือถือ Android ราคาถูก (จนเกินไป) มาใช้งาน อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นของบทความว่า “ถ้าเงินไม่ใช่ประเด็นหลัก” ก็เลี่ยงการซื้อมือถือที่มีราคาถูกจนเกินไปเถอะครับ ลองมาดูมือถือที่ราคาต่ำกว่าหมื่น เดี๋ยวนี้มือถือราคาเกิน 4,000 บาทขึ้นไปก็ใช้งานได้สบายๆ แล้ว แต่ช่วงราคาที่แนะนำจะอยู่ที่ไม่เกิน 10,000 บาทครับ จะถือว่ากำลังดี กล่าวคือยังอยู่ในระยะที่ปลอดภัย เปลี่ยนใหม่ก็ไม่เจ็บตัวมาก แต่ก็ยังให้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีอยู่ และนี่คือมือถือที่เราแนะนำครับ ดูได้จากบทความเลย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างควรอยู่บนความพอดี จริงอยู่ที่ไม่ควรซื้อมือถือแอนดรอยที่มีราคาถูกจนเกินไป แต่มือถือแอนดรอยที่มีราคาแพงจนเกินไปก็ไม่น่าซื้อเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นลองเข้าไปดู?5 เหตุผลที่ไม่ควรซื้อมือถือ Android ราคาแพง (จนเกินไป) เพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อมือถือด้วยนะครับ