จากการที่ Google Galaxy Nexus เปิดสเปกจริงออกมา ทำให้หลายๆคนออกอาการเงิบกันไปเป็นแถบๆ เนื่องด้วยผิดคาดที่ Google เลือกใช้ชิปประมวลผลเป็น TI OMAP 4460 แทนที่จะเป็นชิปตัวแรงในตระกูล Exynos ของทาง Samsung เอง หลังจากใน Nexus S นั้นก็เลือกใช้ชิปตระกูล Hummingbird จาก Samsung เองไปแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังมากนัก ทำให้หลายๆคนเกิดข้อสงสัยว่าทำไม Google จึงหันไปคบกับ TI OMAP แทน
ซึ่งได้มีการวิเคราะห์สาเหตุเอาไว้เป็นประเด็นดังนี้
- Andy Rubin ได้เคยบอกไว้ว่าในส่วนต่างๆของ Nexus นั้น Google จะเป็นผู้เลือกเอง ไม่ขึ้นว่าใช้เครื่องของบริษัทใด แล้วจะต้องใช้ ?ทั้งเครื่อง? ของบริษัทนั้น ซึ่งก็ดูเหมาะสมดี เพราะใน Nexus S นั้น Samsung ก็ได้ผลิตไปเต็มๆแล้ว แล้วใน Galaxy Nexus จะได้ผลิตทั้งเครื่องอีก อาจจะมองได้ว่า Samsung เป็นลูกรักของ Google หรือเปล่า เลยจัดการใช้ชิปหลักเป็นของเจ้าอื่นซะ ตัดปัญหาไป
- อันที่จริง ตัว TI OMAP 4460 นั้นก็มีคอร์ภายในคล้ายคลึงกับ Exynos นั่นคือเป็น Cortex-A9 แบบ dual-core เหมือนกัน แต่ไปต่างกันตรงที่ GPU ที่ในตัว TI OMAP จะเป็น PowerVR SGX540 เหมือนใน Nexus S ที่ออกมาแล้วเกือบปีนู่นเลย แต่มันมีข้อดีคือตัวแพลตฟอร์ม OMAP4 นี้มีชุดคำสั่ง IVA 3 ที่สามารถใช้งาน hardware accelerator ได้อย่างเต็มตัว อันจะส่งผลให้มีความสามารถในการเข้า/ถอดรหัสไฟล์วิดีโอได้ดีกว่า ถึงแม้จอจะเป็นขนาด HD ก็ตาม แต่ก็ยังทำงานได้ดีอยู่
- สถาปัตยกรรมภายในของ OMAP นั้นมีการควบคุม memory controller แบบ dual-channel ซึ่งเอื้อกับระบบการทำงานแบบ multitasking ของ Android ทำให้สามารถทำงานได้ดีกว่าในชิปตัวอื่นๆ (ระบบ dual-channel แบบเดียวกับใน LG Optimus 3D) ซึ่งเหตุผลข้อนี้ดูจะเข้าท่าที่สุดแล้ว
นอกจากนี้ Google ยังจะพัฒนาตัว Android โดยอิงจากบนแพลตฟอร์มของ OMAP ไปอีก 1 ปีเป็นอย่างต่ำ ทำให้ในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้ เราน่าจะได้เห็นมือถือที่ใช้ชิปของ TI OMAP กันมากขึ้น หลังจากที่เคยเป็นยุครุ่งเรืองของ Snapdragon ไปแล้วในช่วงของ Nexus One โดยคราวนี้จะเป็นตาของ TI OMAP ที่เปิดศักราชด้วย TI OMAP 4460 ส่วนรุ่นต่อไปนั้นก็จะเป็น TI OMAP 4470 ที่มาพร้อมด้วยชิปกราฟิกอย่าง PowerVR SGX544 ที่แรงขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้ดูน่าสนใจเลยทีเดียวสำหรับแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งก็ได้ที่ Google ใช้ตัดสินให้เข้าร่วมขบวนการ Nexus
ที่มา : Extremetech