หลังจากที่เราได้รีวิว Lenovo K900, Lenovo A390 และ Lenovo A706 ไปแล้ว ก็มาถึงอีกหนึ่งรุ่นที่มีขายในท้องตลาดแล้วบ้าง อย่าง Lenovo S920 ที่ได้รับความสนใจพอสมควรในตอนนี้ ด้วยความที่เป็นสมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่กว่า 5 นิ้ว แต่ราคาไม่ถึงหมื่น ซึ่งค่อนข้างตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันได้ดี ทางเราจึงไม่พลาดที่จะนำมารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกันครับ
ถ่ายคู่กับ Lenovo A706 ครับ
หน้าตาของ Lenovo S920 จะดูเรียบๆ ผิวหน้าเป็นกระจกติดคลุมส่วนของหน้าจอและปุ่มกดสั่งงานทั้งสามปุ่ม โดยมีขอบอะลูมิเนียมล้อมรอบกระจกเอาไว้ ทำให้ดูแวววาวสวยงาม และช่วยขับให้จอดูเด่นขึ้นมา ส่วนแถบสีขาวด้านล่างนั้นจะเป็นโพลีคาร์บอเนตเนื้อมันวาว
สเปค Lenovo S920
- ชิปประมวลผล MediaTek MTK6589 Quad-core ความเร็ว 1.2 GHz มาพร้อมชิปกราฟิก PowerVR SGX544
- RAM 1 GB
- หน้าจอพาเนล IPS ขนาด 5.3 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 720
- พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 4 GB รองรับ microSD สูงสุด 32 GB
- รองรับ 2 ซิม (ซิม 1 ใช้ 3G 900/2100 ได้ ส่วนซิม 2 ใช้ได้เฉพาะ 2G)
- กล้องหลังความละเอียด 8 MP ความกว้างรูรับแสงสูงสุด f/2.0 พร้อมแฟลช LED
- กล้องหน้าความละเอียด 2 MP
- Android 4.2 Jelly Bean
- น้ำหนักเครื่อง 159 กรัม ตัวเครื่องหนาเพียง 7.9 มิลลิเมตร
- ฟังวิทยุ FM ได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียบหูฟัง/ลำโพง
- แบตเตอรี่ความจุ 2250 mAh
- ราคา 9,900 บาท
- สเปค Lenovo S920
สเปคของ Lenovo S920 นั้น จัดว่าอยู่ในระดับเดียวกับสมาร์ทโฟนเฮ้าส์แบรนด์หรือแบรนด์ OEM บางรุ่นในตลาด เช่น i-mobile IQ X, i-mobile IQ9 ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก สำหรับช่วงราคาไม่เกินหมื่น จึงจัดว่าอยู่ในกลุ่มคุ้มค่าสำหรับสมาร์ทโฟนระดับกลางได้สบายๆ
![]() |
![]() |
ภายในกล่องของ Lenovo S920 นั้น ก็มาพร้อมอุปกรณ์พื้นฐานอย่างอะแดปเตอร์สำหรับชาร์จไฟ, สาย Micro USB, หูฟังแบบ In-ear และจุกยางขนาดต่างๆ สำหรับเปลี่ยนในกรณีที่จุกเดิมไม่พอดีกับหูของเรา รวมไปถึงเอกสารคู่มือต่างๆ ตามปกติ
จอของ Lenovo S920 ให้สีที่ค่อนข้างสบายตา ไม่สดหรือฉูดฉาดเกินไป โทนสีค่อนข้างอุ่นเล็กน้อย สามารถใช้งานได้แบบไม่ล้าสายตามากนัก ส่วนเรื่องแสงสว่างนั้น จัดว่าสว่างมากทีเดียว สามารถใช้งานกลางแจ้งได้อย่างสบายๆ มุมมองของจอกว้างดีมาก เนื่องมาจากคุณสมบัติของจอ IPS ที่ให้มุมมองของจอที่กว้างอยู่แล้ว เรียกได้ว่า Lenovo S920 เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นราคาไม่เกินหมื่นที่จอสวยรุ่นหนึ่งเลยก็ว่าได้
![]() |
![]() |
มาเริ่มดูตัวเครื่องกันบ้าง ด้านบนของจอก็จะมีแถบเซ็นเซอร์วัดแสง, ลำโพงสนทนาและกล้องหน้าเรียงตามลำดับเหมือนสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไป แต่จะมีไฟ LED Notification ดวงเล็กๆ มาเพื่อบ่งบอกสถานะและการแจ้งเตือนด้วย เช่น แจ้งเตือนว่าแบตใกล้หมด, เตือนว่ากำลังชาร์จแบตอยู่, เตือนว่ามี notification ขึ้นมา เป็นต้น โดยผู้ใช้สามารถเปลี่ยนสีไฟแจ้งเตือนได้ด้วยการติดตั้งแอพ Light Flow ครับ (ดาวน์โหลดเวอร์ชันฟรีได้จาก Play Store)
![]() |
![]() |
ส่วนด้านล่างก็จะเป็นแถบของปุ่มสั่งงานเครื่องครับ ได้แก่ปุ่มเมนู, โฮมและปุ่ม back โดยภายในจะมีไฟ LED ช่วยส่องสว่างให้อยู่ใต้ปุ่ม ซึ่งต้องกดปุ่ม ไฟถึงจะติดขึ้นมา ถ้าจะใช้งาน Recent Apps เพื่อดูแอพที่เปิดค้างไว้นั้น ให้กดปุ่มเมนูค้างเอาไว้ครับ ส่วนถ้ากดปุ่มโฮมค้างไว้ จะเป็นการเรียกใช้งาน Google Now
ตรงแถบโพลีคาร์บอเนตสีขาวนั้น จะมีช่องรับเสียงของไมค์สนทนาอยู่เล็กๆ ด้านของการคุยโทรศัพท์นั้นก็สามารถทำได้ดีตามมาตรฐาน เสียงค่อนข้างคมชัด
![]() |
![]() |
พลิกมาดูที่ฝาหลังกันบ้าง วัสดุของฝาหลังก็ยังคงเป็นโพลีคาร์บอเนตเช่นเคย แต่เนื้อจะบางเบาและยืดหยุ่นได้คล้ายๆ กับฝาหลังของพวก Galaxy S4 ซึ่งมีข้อดีคือมีน้ำหนักที่เบา และเกิดการแตกหักได้ยาก แม้บิดโค้งงอได้ดี แต่ก็สามารถคืนตัวกลับมารูปร่างเดิมได้ง่ายเช่นกัน ตัวพื้นผิวจะมันวาว มีความหนืดเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่ว่าเมื่อใช้งานไปนานๆ จะเหลืองหรือไม่ อันนี้ยังไม่แน่ชัดครับ แต่คาดว่าน่าจะเหลืองบ้างแน่ๆ ตามปกติของวัสดุที่มีสีขาว
ด้านบนของฝาหลังจะติดตั้งกล้องถ่ายรูปเอาไว้ โดยตัวกล้องและชุดเลนส์จะนูนขึ้นมาเหนือฝาหลังอย่างชัดเจน ซึ่งสาเหตุที่จำเป็นต้องนูนขึ้นมาก็เนื่องด้วยข้อจำกัดของชุดเลนส์ที่มีค่ารูรับแสงเปิดได้กว้างสุดถึง f/2.0 บวกกับต้องการให้ดีไซน์ตัวเครื่องรวมๆ ดูบาง โดยถ้าค่ารูรับแสงยิ่งกว้าง (เลขยิ่งน้อย) ก็จะช่วยให้ตัวเซ็นเซอร์รับภาพยิ่งรับแสงเข้ามาก่อนเก็บภาพได้มาก ส่งผลให้ภาพออกมาสว่างขึ้นกว่ามือถือที่มีค่า f แคบกว่า (เลขตัวหลังมากกว่า 2.0 เช่น f/2.8, f/5.6) ช่วยให้ถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ดี และที่เห็นผลได้ชัดที่สุดก็คือระยะชัดตื้นของภาพ หรือที่เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ สามารถถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอได้ดีกว่าเลนส์ที่ f แคบกว่านั่นเองครับ
ส่วนด้านล่างก็จะมีช่องลำโพงอยู่ เสียงที่ได้จากตัวเครื่องนั้นก็ธรรมดาๆ ครับ ถ้าจะฟังเพลง แนะนำให้ต่อลำโพงหรือเสียบหูฟังจะดีกว่า
![]() |
![]() |
ทีนี้ลองถอดฝาหลังออกมาบ้าง การแกะฝาหลังสามารถทำได้ง่าย คือแงะตรงบริเวณร่องที่อยู่มุมขวาล่างของจอ แต่อาจจะต้องระวังฝาหลังบ้าง เพราะมันสามารถโค้งงอได้ง่าย เมื่อเปิดออกมาแล้วก็จะพบกับแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ และช่องเสียบซิม 1 (รองรับ 3G/2G), ช่องเสียบซิม 2 (รองรับ 2G) ปิดท้ายด้วยช่องเสียบ microSD ครับ โดยซิมที่ใช้จะเป็นซิมขนาดปกติ (มินิซิม) สำหรับใครที่ใช้งานไมโครซิมอยู่ แนะนำให้หาซื้อตัวแปลงจากไมโครซิมเป็นซิมขนาดปกติก็จะดี ส่วนช่องเล็กๆ ทางด้านซ้ายของกล้องนั้น เป็นช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน เพื่อช่วยให้อีกฝ่ายได้ยินเสียงพูดของเราชัดขึ้น เวลาคุยโทรศัพท์กัน
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ส่วนของด้านข้างเครื่องนั้น เริ่มจากด้านขวาของจอก่อนเลย จะพบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงที่ออกแบบมาเป็นพลาสติกชิ้นเดียว แต่แยกบน/ล่างเอาไว้ ส่วนด้านซ้ายของจอนั้นไม่มีปุ่มหรือพอร์ตใดๆ อยู่เลย
ด้านบนของ Lenovo S920 จะมีพอร์ต Micro USB ที่อยู่ใต้ฝาปิดพอร์ต, ปุ่ม Power และช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรเรียงอยู่ด้านบนทั้งหมด ซึ่งการออกแบบให้พอร์ตเชื่อมต่อมาอยู่ด้านใดด้านหนึ่งทั้งหมดก็น่าจะสะดวกสำหรับหลายๆ คนที่ต้องการฟังเพลงไปด้วย ชาร์จแบตมือถือไปด้วย เช่นบางคนต้องออกไปนอกบ้าน ชอบฟังเพลงจากมือถือ แต่ก็จำเป็นต้องชาร์จไฟจากแบตเตอรี่เสริม การจัดให้พอร์ตมาอยู่ด้านใดด้านหนึ่งทำให้สะดวกต่อการจัดเก็บตัวเครื่อง เพราะไม่ต้องกังวลว่าสายจะหักงอเวลาเก็บใส่กระเป๋ากางเกง สามารถจัดให้สายทั้งหมดอยู่ด้านบนได้เลย อาจจะมีปัญหาสายพันกันบ้าง แต่ก็ดีกว่าสายหักงอแน่นอน
ด้านล่างของเครื่องไม่มีอะไรเลยครับ นอกจากร่องสำหรับแงะฝาหลังออก ซึ่งอยู่ทางมุมขวาล่างของจอ
จับเทียบกับ Nexus 4 ที่หน้าจอขนาด 4.7 นิ้ว
ในการใช้งานจริงนั้น Lenovo S920 สามารถตอบสนองการทำงานได้ดี ด้วยพลังของชิปประมวลผล quad-core ซึ่งแรงเหลือเฟือสำหรับการทำงานทั่วไปในปัจจุบัน จะเล่นเกมก็สามารถทำได้สบายๆ ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการใช้งานก็มีอยู่บ้างตามปกติครับ ส่วนเรื่องหน้าจอที่ค่อนข้างใหญ่นั้น อาจจะมีปัญหาในช่วงที่ยังไม่ชินบ้าง โดยเฉพาะการเอานิ้วขึ้นไปลากแถบ notifications ด้านบนลงมา ซึ่งถ้าได้ใช้งานไปซักพักก็น่าจะชินกับการวางมือเพื่อใช้งานได้เอง ?ส่วนที่ทำให้รู้สึกดีอย่างเห็นได้ชัดก็คือบอดี้ตัวเครื่องที่บางเฉียบ ทำให้พกพาได้ง่าย น้ำหนักเครื่องก็ไม่มากเกินไป แต่จุดที่ต้องระมัดระวังในการพกพาก็จะเป็นส่วนของกล้องหลังที่นูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด อาจจะต้องระวังการกระแทกและการขีดข่วนที่อาจเกิดขึ้นได้ครับ
?![]() |
|
?![]() |
?![]() |
เรื่องของแบตเตอรี่นั้น Lenovo S920 เองก็จะใช้แอพพลิเคชันที่มีชื่อว่า Lenovo Power ในการจัดการทั้งหมด ซึ่งจะครอบคลุมทั้งส่วนของการแสดงระยะเวลาที่ใช้งานแบตเตอรี่ได้, การคำนวณคร่าวๆ ว่าจะสามารถใช้งานแต่ละรูปแบบได้อีกนานเท่าไร, การแสดงอัตราส่วนการใช้พลังงานของแอพ/ฮาร์ดแวร์ รวมไปถึงยังสามารถ calibrate แบตเตอรี่เพื่อให้แสดงปริมาณแบตเตอรี่ได้ถูกต้องอีกด้วย นับว่าเป็นทูลที่มีประโยชน์มากทีเดียว (มีอยู่ในสมาร์ทโฟนของ Lenovo รุ่นอื่นๆ ด้วย ที่น่าสนใจก็คือรูปซ้ายล่างที่เป็นการแสดงระยะเวลาเป็นชั่วโมงโดยประมาณที่ยังใช้งานได้ ตามรูปแบบการใช้งานต่างๆ ไล่จากซ้ายไปขวาก็จะมี
- โทรศัพท์
- ฟังเพลง
- ดูวิดีโอ
- ใช้งาน WiFi
- ใช้งาน 3G
ส่วนระยะเวลาการใช้งาน ถ้าให้ประมาณ ก็น่าจะสามารถใช้งานได้เกินหนึ่งวันครับ เพราะตอนที่ใช้งาน ผมใช้ได้เพียงแค่ EDGE เท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมต่อ 3G ได้ (Lenovo S920 รองรับ 3G เฉพาะความถี่ 900 กับ 2100 MHz ส่วนผมใช้ 850 MHz อยู่) ซึ่ง EDGE นั้นปกติจะกินแบตน้อยกว่า 3G อยู่แล้ว
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
สำหรับใครที่ชอบฟังวิทยุ คงถูกใจแน่ครับ เพราะ Lenovo S920 สามารถฟังวิทยุได้แม้ไม่ได้เสียบหูฟัง
ต่อไปเป็นตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังของ Lenovo S920?
ภาพที่ได้ออกมา จัดว่าโอเคเลยทีเดียว โดยเฉพาะภาพที่ถ่ายในเวลากลางวันซึ่งมีแสงสว่างเพียงพอ (ทุกรูปตั้งค่าแบบ auto ทั้งหมด) แต่ถ้าส่วนไหนที่เป็นที่มืด จะเห็นว่าสีดำของข้างจม และมองแทบไม่เห็นรายละเอียดของบริเวณนั้นๆ เลย ซึ่งพอจะแก้ไขได้ด้วยการถ่ายรูปในโหมด HDR อีกส่วนที่น่าประทับใจก็คือระยะชัดตื้นของภาพ (ความเบลอของพื้นหลังเมื่อถ่ายวัตถุ) ที่ในตัวอย่างคือภาพแก้วใส่พริกป่นทั้งสองภาพ ซึ่งสามารถโฟกัสส่วนของแก้วได้คมชัด กับพื้นหลังที่เบลอ ดูสวยงามสำหรับคนที่ชอบถ่ายภาพวัตถุ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเลนส์ที่สามารถเปิดรูรับแสงได้กว้างสุดถึง f/2.0
ซึ่งนอกเหนือจาก f/2.0 จะช่วยละลายพื้นหลังให้ภาพดูสวยขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์ในเรื่องการรับแสงภายนอกเข้าสู่ตัวเซ็นเซอร์รับภาพด้วย เพราะการเปิดรูรับแสงที่กว้าง ก็ช่วยให้แสงเข้าไปยังเซ็นเซอร์ได้มาก ภาพก็จะออกมาสว่าง ส่งผลให้ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการเปิดม่านชัตเตอร์ที่นาน และด้วยความที่ระยะเวลาการเปิด/ปิดม่านชัตเตอร์เร็ว ทำให้ระยะเวลาในการเก็บภาพสั้น จึงช่วยลดปัญหาภาพถ่ายออกมาเบลอได้เยอะทีเดียว แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแสงภายนอกด้วยนะครับ เพราะถ้าแสงน้อย กล้องก็ต้องใช้เวลาในการเปิด/ปิดม่านชัตเตอร์ช้าลง ภาพก็อาจจะสั่นหรือเบลอได้อยู่ดี และเรื่องความสว่างที่กล่าวมา ยังจะไปสัมพันธ์กับค่าความไวในการรับแสงของเซ็นเซอร์ หรือที่เรียกว่าค่า ISO อีก ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือยิ่งสภาพแวดล้อมสว่างมาก เซ็นเซอร์สามารถรับแสงได้มากอยู่แล้ว ก็ควรใช้ ISO ต่ำ และถ้า ISO ต่ำ จุดรบกวน (noise) ในภาพก็จะน้อยลงไปด้วย ซึ่งถ้าถ่ายภาพด้วยค่าอัตโนมัติ ระบบก็จะทำการปรับชดเชยให้เองครับ
ผลทดสอบประสิทธิภาพ
ผลทดสอบ Sunspider ของ Lenovo S920 นั้น สามารถทำได้ดีกว่าบรรดาสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิป quad-core ของ Qualcomm เช่น Nexus 4 ที่ใช้ชิป APQ8064 อยู่เล็กน้อย ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะชิปของ Qualcomm มักจะทดสอบกับ Sunspider แล้วผลออกมาไม่ค่อยดีเท่าไรด้วยเป็นทุนเดิม
ส่วนการทดสอบการเรนเดอร์ด้วย Browsermark นั้น คะแนนที่ Lenovo S920 ทำได้จัดว่าอยู่ในระดับที่ไม่เด่นนักครับ
ด้านของการทดสอบการประมวลผลกราฟิกด้วย GFXBench ผลของชุดทดสอบเวอร์ชัน 2.5) ผลออกมาก็คือสามารถรีดเฟรมเรตออกมาได้ไม่สูงนัก เนื่องด้วย GPU ที่ใช้เป็น PowerVR SGX544 ซึ่งมีคอร์สำหรับประมวลผลกราฟิกแค่คอร์เดียวเท่านั้น เฟรมเรตที่ออกมาจึงไม่ค่อยสูงมากนัก
เมื่อเปลี่ยนโหมดมาทดสอบในแบบ off-screen (บังคับให้เรนเดอร์ที่ความละเอียด 1080p) ผลออกมาก็สอดคล้องกับโหมด on-screen ครับ คือเฟรมเรตไม่สูงมาก ต่างจากใน Lenovo K900 ที่ใช้ GPU เป็น PowerVR SGX544MP2 ซึ่งเป็นชิปตระกูลเดียวกัน แต่มีคอร์ประมวลผลกราฟิก 2 คอร์
แต่ทั้งนี้ ประสิทธิภาพโดยรวมของ Lenovo S920 ก็ยังอยู่ในระดับที่ใช้งานปัจจุบันได้สบายๆ ไม่ว่าจะแชท, Facebook, LINE, Instagram, เล่นเกมทั่วๆ ไป
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ส่วนใครที่อยากชมผลเทสจากแอพอื่นๆ ก็ตามด้านบนเลยครับ
บนซ้าย – 3DMark
บนขวา – GFXBench 2.5 และ 2.7
ล่างซ้าย – Geekbench
ล่างขวา – AnTuTu Benchmark
สรุปปิดท้ายรีวิว Lenovo S920
Lenovo S920 จัดว่าเป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนช่วงราคาไม่เกิน 10,000 บาท ที่มีจุดน่าสนใจในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสเปคกำลังคุ้มค่า, หน้าจอสวย สีสันไม่สดเกินจริง, กล้องถ่ายรูปที่มีคุณภาพดีสำหรับในช่วงราคานี้ รวมไปถึงดีไซน์ที่ออกแบบมาเน้นความบางเบาแบบมีสไตล์ ทำให้โดยรวมแล้ว Lenovo S920 เป็นสมาร์ทโฟนที่น่าจับตามองในตลาดเมืองไทยพอสมควรเลยทีเดียว และในขณะนี้ก็เริ่มมีวางจำหน่ายแล้วด้วยครับ น่าจะสามารถหาซื้อได้แล้วตามร้านมือถือใหญ่ๆ หน่อย
ข้อดี
- ดีไซน์ตัวเครื่องบางเบา สามารถพกพาได้สะดวก
- หน้าจอคมชัด สีสวย ไม่สดเกินจริง
- กล้องถ่ายรูปมีคุณภาพ ใช้เลนส์รูรับแสงกว้างถึง f/2.0 ถือว่าเด่นมากสำหรับสมาร์ทโฟนในช่วงราคาไม่เกิน 10,000 บาท
- สามารถใช้งานได้ 2 ซิม
ข้อสังเกต
- สามารถใช้งาน 3G ได้เฉพาะคลื่นความถี่ 900 (AIS) และ 2100 (ทุกเครือข่ายในอนาคต) เท่านั้น
- ตัวกล้องนูนขึ้นมาจากฝาหลัง ทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งาน