หลังจาก Lenovo ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนล็อตแรกที่จะเข้ามาจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการด้วยกัน 6 รุ่นจาก 4 ซีรี่ส์ (ข่าวงานเปิดตัว) แน่นอนว่ารุ่นที่ได้รับความสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้น Lenovo K900 ที่ถูกวางตำแหน่งไว้ให้เป็นรุ่นเรือธงในการบุกตลาดไทยครั้งนี้ เนื่องด้วยสเปคที่จัดเต็ม รวมไปถึงรูปร่างหน้าตาที่ดูหรูหราไม่แพ้สมาร์ทโฟนตัวท็อปของแต่ละแบรนด์ในปัจจุบัน จึงทำให้ Lenovo K900 ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่แพ้ Lenovo A390 สมาร์ทโฟนรุ่นเล็กราคาคุ้มที่เราได้รีวิวไปก่อนหน้านี้ (รีวิว Lenovo A390)
ทาง SpecPhone เราจึงได้ไปเสาะหา Lenovo K900 มารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกันครับ ไปดูกันเลยดีกว่า
เริ่มแรกที่ตัวกล่อง จะใช้เป็นกล่องกระดาษแข็ง และหุ้มด้วยปลอกกระดาษแข็งอีกชั้นหนึ่ง ข้างบนเขียนชื่อรุ่นไว้ชัดเจนเลยว่า K900 ซึ่งดีไซน์ของตัวกล่องนั้นจะใช้สีสัน ลวดลายและเนื้อกระดาษที่ใกล้เคียงกับกล่องโน้ตบุ๊ก Lenovo ในปัจจุบันเลยทีเดียว
อุปกรณ์ภายในนอกเหนือจากตัวเครื่องก็เหมือนๆ กับสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นๆ ครับ คือ
- อะแดปเตอร์สำหรับชาร์จแบต
- สาย Micro USB
- หูฟังพร้อมไมค์
- เข็มจิ้มถาดใส่ซิมการ์ด
- คู่มือและเอกสารการรับประกัน
คราวนี้ลงไปดูที่ตัวเครื่องกันเลย
หน้าตาของ Lenovo K900 นั้นด้านหน้าดูเรียบๆ เพราะปิดหน้าไว้ด้วยกระจก Gorilla Glass 2 ทั้งแผ่น ซึ่งคุณสมบัติของกระจก Gorilla Glass 2 นั้นคือป้องกันรอยขีดข่วนได้ดีกว่ากระจกปกติ รวมไปถึงยังมีความแข็งแกร่ง ทนทานต่อการแตกหักได้ดีกว่า (แต่ถ้ากระแทกแรงๆ ก็ยังแตกได้อยู่นะ) ส่วนขอบข้างของเครื่องจะเป็นกรอบโลหะสีเงินตัดกับกรอบจอ ทำให้ดูส่วนของจอเด่นขึ้นมา
สเปค Lenovo K900
- ชิปประมวลผล Intel Atom Z2580 Dual-core ความเร็ว 2.0 GHz มาพร้อมฟีเจอร์ Hyper Threading ที่ช่วยจำลองคอร์ประมวลผลให้เสมือนมี 4 คอร์
- มาพร้อมชิปกราฟิก PowerVR SGX544MP2
- RAM 2 GB
- หน้าจอพาเนล IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080 (Full HD)
- พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 16 GB ไม่มีช่องใส่ microSD
- ใช้งานไมโครซิม รองรับ 3G ทุกเครือข่าย
- กล้องหลังใช้เซ็นเซอร์ Exmor BSI จาก Sony ความละเอียด 13 MP ใช้เลนส์มีความกว้างรูรับแสงสูงสุดถึง f/1.8 (กว้างสุดในสมาร์ทโฟนขณะนี้) มาพร้อมแฟลช LED อีก 2 ตัว
- กล้องหน้าความละเอียด 2 MP พร้อมเลนส์ที่รับภาพได้กว้างสุด 88 องศา
- Android 4.2
- แบตเตอรี่ Li-polymer ความจุ 2500 mAh
- ไม่มี NFC
- รองรับ USB OTG
- รองรับการส่งภาพออกจอผ่านเทคโนโลยี WiDi
- ตัวเครื่องใช้โครงสร้างแบบ unibody
- น้ำหนัก 162 กรัม ตัวเครื่องบางเพียง 6.9 มิลลิเมตร
- ราคา 14,990 บาท
- สเปค Lenovo K900 เต็มๆ
ถ้าดูจากสเปคแล้ว จุดที่เรียกได้ว่าเด่นสุดก็คือส่วนของชิปประมวลผล Intel Atom Z2580 ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกในไทยที่มาพร้อมกับชิปตัวนี้เลยทีเดียว และยังเป็นชิปประมวลผลตัวท็อปสุดของ Intel Atom ในปัจจุบัน ต่างจากตัวชิปที่อยู่ในกลุ่มของ FonePad และ Liquid C1 ที่เป็นชิปรุ่นล่างกว่า โดยเรื่องของประสิทธิภาพนั้น เราจะมาพูดกันในช่วงหลังนะครับ ตอนนี้ชมตัวเครื่องกันก่อน
ด้านบนของจอนั้น มีลำโพงสนทนาติดตั้งอยู่ตรงกลาง เยื้องไปด้านซ้ายหน่อยก็จะมีเซ็นเซอร์รับแสง และปิดท้ายด้วยกล้องหน้าความละเอียด 2 MP ที่เลนส์สามารถรับภาพได้มุมกว้างสุดถึง 88 องศา ซึ่งการที่เลนส์รับภาพได้กว้างนี้มีประโยชน์คือช่วยให้สามารถรับภาพได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องหันหน้าให้ตรงกับกลางหน้าเลนส์ตลอดเวลา สามารถเก็บภาพได้กว้างขึ้น ส่วนของลำโพงสนทนานั้น เท่าที่ลองโทรศัพท์ดู เสียงจะอู้ๆ นิดหน่อยครับ
ด้านล่างของจอมีปุ่มสั่งงานด้วยกันสามปุ่ม ไล่จากซ้ายไปขวาได้แก่ เมนู, โฮมและปุ่ม back การจะเรียกหน้า recent app นั้น ให้ใช้การกดปุ่ม back ค้างไว้ ส่วนถ้ากดปุ่มโฮมค้างไว้ จะเป็นการเรียกใช้งาน Google Now ครับ
ซึ่งตัวปุ่มนั้นจะใช้เป็นปุ่มแบบ capacitive ที่มีไฟ LED ส่องสว่างอยู่ใต้ปุ่ม โดยไฟจะติดขึ้นมาตอนที่ใช้งานเครื่องอยู่ ผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ไฟติดอยู่ตลอดเวลาที่ใช้งานเครื่องหรือจะให้ติดเป็นระยะเวลาเท่าไร ไฟของปุ่มนั้นสามารถสู้แสงได้พอสมควร
หน้าจอของ Lenovo K900 ถือว่าทำออกมาได้ดี ทั้งด้านของสีสันและความสว่างจอ ด้วยสีที่ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ อาจจะติดฟ้าบางนิดหน่อย ส่วนตัวผมว่าคุณภาพของจอออกมาใกล้เคียง HTC One เลยทีเดียวทั้งสีสันและความคมชัด ด้านของแสงสว่างนั้นก็ให้มาเหลือเฟือ สามารถสู้แสงแดดตอนกลางวันได้
แถมด้วยขนาดของจอที่ใหญ่ถึง 5.5 นิ้ว ทำให้มีข้อดีอย่างเห็นได้ชัดก็คือสามารถแสดงภาพได้ใหญ่ อ่านตัวหนังสือได้ง่าย ซึ่งในตัวรอมสามารถปรับขนาดสเกลของตัวอักษรได้หลายระดับ น่าจะทำให้ถูกใจคนที่อยากได้สมาร์ทโฟนจอใหญ่ได้ไม่ยากนัก อาจจะมีอาการจับเครื่องไม่ถนัดมือบ้างสำหรับผู้ที่เคยใช้สมาร์ทโฟนหน้าจอเล็กกว่านี้มาก่อน ซึ่งจุดนี้ ถ้าได้ใช้งาน Lenovo K900 ไปซักพักก็น่าจะทำให้ชินมือไปเองได้ไม่ยากนักครับ ซึ่งก็ด้วยขนาดตัวเครื่องที่ใหญ่ ทำให้สามารถกระจายชิ้นส่วนภายในออกไปยังจุดต่างๆ ของตัวเครื่องได้มากกว่ามือถือช่วงจอปกติในปัจจุบัน ส่งผลให้ Lenovo K900 สามารถทำออกมาได้บางเฉียบ และกลายเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งของเครื่องไปเลย
หันมาดูด้านหลังกันบ้าง ฝาหลังของ Lenovo K900 มาในสีเทาแบบเมทัลลิคที่มีบรัชลาย ให้ความรู้สึกเรียบหรู ดูแข็งแกร่ง ทนทาน ส่วนของวัสดุนั้นจะมีดัวยกันสองส่วน คือส่วนของขอบบน-ขอบล่างเครื่องจะใช้วัสดุเป็นโพลีคาร์บอเนต และส่วนฝาหลัง(ที่เป็นชิ้นใหญ่สุด) ที่ทำมาจากสแตนเลสสตีล ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องความแข็งแกร่งและการระบายความร้อนที่ดีกว่าพลาสติก ส่วนเรื่องของไฟดูดนั้นก็มีเปอร์เซ็นต์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจุดที่เสียบปลั๊กนั้นมีการติดตั้งสายดินป้องกันไฟดูดไว้หรือไม่ ซึ่งถ้าพบว่ามีไฟดูดขณะชาร์จ แนะนำให้หาพรมมารองเท้าไว้ หรือใส่รองเท้าแตะเพื่อป้องกันเท้าสัมผัสกับพื้นโดยตรงครับ
ทีนี้มาเจาะไปยังส่วนบนของฝาหลังกันบ้าง จะพบกับกล้องหลัง, แฟลช LED 2 ดวง และช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวนติดตั้งอยู่ โดยตัวกล้องนั้นจะราบลงไปกับฝาหลังเลย ทำให้ไม่มีส่วนนูนใดๆ โผล่ขึ้นมาอย่างในสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่น
ส่วนด้านล่างมีติดตั้งลำโพงอยู่ 1 ตัว สังเกตว่าตรงกลางนั้นจะมีจุดนูนขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งจุดนี้จะช่วยไม่ให้ตัวลำโพงถูกปิดทั้งหมดเมื่อวางเครื่องไว้กับพื้น ที่อาจทำให้เสียงจากลำโพงถูกปิดไปหมด ถึงแม้ว่าช่องว่างที่เกิดขึ้นจะมีไม่มาก แต่ก็ดีกว่าถูกปิดทับไปหมดเลย
ด้านบนของเครื่อง (รูปซ้าย) ไม่มีพอร์ตหรือปุ่มใดๆ ด้านล่างของเครื่อง (รูปขวา) มีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร, ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา และช่อง Micro USB สำหรับชาร์จแบตและเสียบสายซิงค์กับเครื่อง
ฝั่งขวาของเครื่องมีถาดใส่ไมโครซิมอยู่ ซึ่งต้องใช้เข็มแทงลงไปในช่องเพื่อให้ถามซิมเด้งออกมา เลยขึ้นไปด้านบนหน่อยจะเป็นปุ่ม Power ครับ ตำแหน่งพอดีกับนิ้วหัวแม่มือ ตัวปุ่มกดได้ไม่ยากนัก
ส่วนข้างขวามีเพียงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงเท่านั้น ตัวปุ่มจะนูนขึ้นมาจากขอบเครื่องเล็กน้อย
การถือใช้งานจริงนั้น ไม่จัดว่าลำบากนัก เนื่องด้วยตัวเครื่องที่บาง แต่จะมีตอนที่ไม่ถนัดมือบ้างก็เช่นขณะลากแถบ Notification, ตอนพิมพ์คีย์บอร์ด เนื่องด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ถึง 5.5 นิ้ว
ด้านล่างนี้ลองเทียบกับ iPhone 5 ดูครับ ขนาดต่างกันเยอะเลย
ลองดูภาพถ่ายจากกล้องหลังของ Lenovo K900 กันบ้างครับ
ภาพถ่ายที่ได้มานั้น ก็จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเลย อาจจะมีการวัดและชดเชย white balance เพี้ยนบ้างถ้าถ่ายรูปในห้องที่ใช้หลอดฟลูออเรสเซ้นส์ให้แสงสว่าง รวมไปถึงบางจุดของภาพที่ดูมืดไปหน่อย รายละเอียดในส่วนมืดหายไป แต่เรื่องนี้ พอจะแก้ไขได้ด้วยการถ่ายภายในโหมด HDR
ส่วนภาพถ่ายแบบเต็มๆ สามารถไปชมต่อได้ที่นี่
มาดูสเปค Lenovo K900 จากแอพ CPU-Z กันบ้างครับ โดยตัวแอพจะมองเห็นเป็น 4 คอร์ เนื่องจากตัวชิปมาพร้อมกับฟีเจอร์ Hyper Threading ที่ช่วยแบ่งงานสำหรับการประมวลผลให้เสมือนว่าระบบมีจำนวนคอร์ประมวลผลเพิ่มเป็นสองเท่า ซึ่งจากเดิมที่ชิป Intel Atom Z2580 ที่มีสองคอร์ ก็ทำให้ระบบมองว่ามี 4 คอร์ในการทำงาน ทำให้ระบบสามารถกระจายงานให้ช่วยประมวลผลโดยรวมได้เร็วขึ้น
อินเตอร์เฟสของ Lenovo K900
หน้าตาอินเตอร์เฟสโดยรวมนั้นจัดว่าหนีไปจาก Android เดิมๆ ไม่มากนัก แต่เน้นไปที่การปรับตำแหน่งเมนูต่างๆ ให้ดูใช้งานได้ง่ายขึ้น ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือส่วนของ Settings ที่มีแยกออกไปเป็นสองหมวดคือ
Common Settings คือส่วนของการตั้งค่าทั่วๆ ไป เช่น WiFi, Bluetooth, หน้าจอ
Feature Settings คือส่วนของการตั้งค่าฟีเจอร์พิเศษต่างๆ ใน Lenovo K900 เช่น
- Pocket mode สำหรับตั้งค่าให้ระบบเพิ่มความดังเสียงริงโทนโดยอัตโนมัติ ถ้าใส่เครื่องลงไปในกระเป๋า
- Decrease ringtone สำหรับตั้งค่าให้ระบบลดความดังเสียงริงโทนอัตโนมัติเมื่อหยิบเครื่องขึ้นมาแล้ว
- Volume keys function สำหรับตั้งค่าให้สามารถกดปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงเพื่อเปิดหน้าจอขณะที่ล็อคหน้าจอได้
- Shake to lock สำหรับตั้งค่าให้ระบบล็อคหน้าจอเองเมื่อเขย่าเครื่อง
ซอฟต์แวร์จัดการพลังงานของ Lenovo K900
ด้านของระบบการจัดการพลังงานของ Lenovo K900 นั้น จะใช้แอพที่มีชื่อว่า Lenovo Power ซึ่งเรียกได้ว่าสามารถทำงานได้ครอบคลุมทั้งการบอกข้อมูลและช่วยตั้งค่าเพื่อการประหยัดพลังงานตามที่ผู้ใช้ต้องการ โดยจะมีการแบ่งออกเป็นส่วนๆ ดังนี้
- Power สำหรับบอกข้อมูลโดยรวม และใช้สำหรับการเปิด/ปิดการทำงานของส่วนต่างๆ เช่น WiFi, 3G, GPS
- Usage ก็คือส่วนที่บอกอัตราการใช้พลังงานทั้งแบบโดยรวม และแยกตามแอพ ลักษณะจะคล้ายกับเมนู Battery ที่อยู่ใน Settings ของ Android ปกติ
- Charging ใช้บอกข้อมูลการชาร์จไฟ เช่น ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการชาร์จจนกว่าจะเต็มและรูปแบบของการชาร์จ ที่จะแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ Fast Charge สำหรับชาร์จอย่างเร็ว เมื่อใกล้เต็มก็จะเปลี่ยนเป็น Consecutive Charge ที่จะชาร์จไฟเข้าแบบช้าๆ เมื่อแบตเต็มแล้วก็จะไปใช้โหมด Trickle Charge ที่จะเป็นการชาร์จแบบรักษาประจุแบบช้า เพื่อถนอมอายุการใช้งานแบตเตอรี่
- Mode ใช้สำหรับเลือกโหมดการทำงานของ Lenovo Power ออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบการทำงานได้ง่าย รวมทั้งยังบอกระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ได้แบบคร่าวๆ ด้วย
โดยเท่าที่ลองใช้งานจริง ก็พบว่าสามารถใช้งานได้เป็นวันไม่แพ้สมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ อยู่เหมือนกัน รูปแบบการใช้งานก็ทั้งใช้ 3G เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค ใช้โทรศัพท์ ฟังเพลงบ้าง
ด้านของความร้อนขณะใช้งาน ถ้าใช้งานธรรมดาก็จะพบว่าตัวเครื่องส่วนกลางจอค่อนไปทางด้านบนนิดๆ อุ่นขึ้นมาเล็กน้อย แต่ถ้าทำงานหนักๆ เช่นเปิดแอพพร้อมไว้หลายๆ แอพ, เล่นเกม, งานที่ประมวลผลหนักๆ ก็จะร้อนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เนื่องด้วยวัสดุที่เป็นโลหะตรงกลางเครื่อง ซึ่งถึงแม้จะช่วยให้ระบายความร้อนจากภายในได้เร็วก็จริง แต่ก็ส่งผลให้ความร้อนส่งมาถึงมือเราได้ง่ายด้วยเช่นกัน แนะนำให้ตั้งทิ้งไว้ซักพักก็จะคลายความร้อนไปเองครับ เร็วด้วย
ผลทดสอบประสิทธิภาพ
SunSpider (หน่วยเวลาเป็น ms ยิ่งน้อยยิ่งดี)
Sunspider เป็นการทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลชุดคำสั่ง Javascript บนเว็บเบราเซอร์ โดยจะวัดผลออกมาเป็นเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการประมวลผล ซึ่ง Lenovo K900 ใช้เวลาไป 1,299.1 ms ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับทั้งหมด แต่ถ้าเทียบกับชิปประมวลผลในกลุ่มท็อปแล้ว อาจจะดูว่าช้ากว่ากันอยู่นิดหน่อย
Browsermark?(หน่วยเป็นคะแนน ยิ่งมากยิ่งดี)
ส่วน Browsermark นั้นเป็นการทดสอบการประมวลผลชุดสคริปต์ CSS และการเรนเดอร์กราฟิกบนเว็บเบราเซอร์ ซึ่งใช้พลังของ CPU ผลออกมาก็คือ Lenovo K900 สามารถทำคะแนนได้ดีเหนือชิปประมวลผลหลายๆ ตัวในตลาด
GLBenchmark 2.5 On-screen?(หน่วยเป็นเฟรมเรต ยิ่งมากยิ่งดี)
ด้านของการประมวลผลกราฟิกจากแอพ GLBenchmark (เปลี่ยนชื่อเป็น GFXBench) นั้น สำหรับการทดสอบแบบ On-screen?จะเป็นการทดสอบเรนเดอร์ตามความละเอียดของจอ ผลออกมาก็คือ PowerVR SGX544MP2 ใน Lenovo K900 สามารถรันได้เฉลี่ย 30 เฟรมต่อวินาที ซึ่งจัดว่าลื่นมากเมื่อพิจารณาส่วนของความละเอียดจอร่วมด้วย นั่นคือความละเอียดระดับ Full HD โดยคะแนนนั้นแทบจะไม่ต่างจาก Adreno 320 ที่อยู่ในสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปหลายๆ ตัวในช่วงนี้เลยทีเดียว เว้นก็แต่ Galaxy S4 ที่คะแนนสูงโดดมากๆ
GLBenchmark 2.5 Off-screen?(หน่วยเป็นเฟรมเรต ยิ่งมากยิ่งดี)
ส่วนในโหมด Off-screen จะเป็นการเรนเดอร์แบบบังคับความละเอียดภาพตายตัว ซึ่งทุกเครื่องจะถูกบังคับให้ใช้การตั้งค่าในการเรนเดอร์เท่ากันหมด จึงสามารถนำมาเทียบกันได้โดยตรง ผลออกมาก็คือ Lenovo K900 ก็ยังทำได้ดีอยู่ รับรองได้เลยว่าสามารถเล่นเกม Android ในปัจจุบันได้ทุกเกมแน่นอน
3DMark และ GeekBench 2
แปะผลจาก 3DMark และ GeekBench ซักเล็กน้อยครับ
AnTuTu Benchmark
คะแนนของ Lenovo K900 ที่ได้จากการทดสอบของแอพ AnTuTu พบว่าสามารถทำคะแนนได้ถึงเกือบ 27,000 คะแนน นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปหลายๆ ตัวในปัจจุบัน โดยคะแนนที่ได้สูงมากก็คือส่วนการประมวลผลของ CPU ที่เรียกได้ว่าน่าจะสูงสุดในบรรดาชิปสำหรับมือถือ ที่ได้จากการทดสอบของ AnTuTu แล้ว
สรุปท้ายรีวิว Lenovo K900
จากที่ได้ลองใช้งานมา ส่วนตัวผมคิดว่า Lenovo K900 เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปที่น่าสนใจมาก สำหรับผู้ที่อยากได้มือถือแรง หน้าจอใหญ่ๆ ชัดๆ เครื่องบาง ซึ่งนอกเหนือสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นจุดเด่นแล้ว อีกข้อหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือราคาที่เปิดมาเพียง 14,990 บาทเท่านั้น ถือว่าน่าจะเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปที่ราคาน่าคบหาที่สุดในตลาดขณะนี้เลย ติดที่ว่าจะเริ่มวางจำหน่ายได้จริงเมื่อไรก็เท่านั้นเอง โดยเท่าที่สอบถามมา เป็นไปได้ว่าอย่างช้าน่าจะเป็นภายในต้นเดือนหน้า ตามร้านมือถือชื่อดัง เช่น TGFone, Jaymart รวมไปถึงร้านตัวแทนจำหน่ายของ Lenovo ซึ่งบางร้านก็จะจำหน่ายโน้ตบุ๊ก Lenovo อยู่แล้ว เช่น Blueshop เป็นต้น
ส่วนใครที่ห่วงว่าชิปจาก Intel จะร้อน จะกินไฟ ข้อนี้บอกได้เลยครับว่า ปัญหานี้แทบจะไม่เหลืออยู่แล้วกับชิปรุ่นใหม่ๆ เพราะเท่าที่ลองใช้งาน Lenovo K900 มา พบว่ามันแทบจะไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปตระกูล ARM รุ่นอื่นๆ ในตลาดเลย (เทียบกับรุ่นท็อปๆ ด้วยกัน) อีกทั้งแอพพลิเคชันก็สามารถใช้งานได้เกือบทั้งหมด แถมยังใช้งานได้ดีด้วย โดยเฉพาะแอพหลักๆ ที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน เช่นพวก Facebook, LINE, Twitter, Whatsapp, Instagram จะมีบางตัวที่ดูเหมือนจะยังรึดประสิทธิภาพออกมาได้ไม่สุด เช่นพวกแอพสำหรับ Benchmark บางตัว แต่เชื่อว่าการใช้งานทั่วไปของแต่ละท่านคงไม่ได้มานั่ง Benchmark กันทั้งวันอยู่แล้ว ดังนั้นใครที่กำลังมองหามือถือรุ่นท็อปๆ ราคาคุ้มค่าอยู่ Lenovo K900 ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียว
ข้อดี
- ตัวเครื่องบาง วัสดุดี ดูแล้วแข็งแรง
- จอสวย
- กล้องหน้าสามารถถ่ายภาพได้มุมกว้าง เก็บภาพได้เยอะ
- ราคาคุ้มค่า สำหรับกลุ่มสมาร์ทโฟนรุ่นท็อป
- แอพ Lenovo Power สามารถบอกข้อมูลได้ดี
ข้อสังเกต
- รอมในตัวแค่ 16 GB แถมใส่ microSD เพิ่มไม่ได้ ใครที่ลงแอพ ใส่ข้อมูลเยอะๆ อาจจะลำบาก คงต้องหาบริการเก็บข้อมูลประเภท Cloud หรือไม่ก็หาซื้อสาย USB OTG มา แล้วเสียบกับ Flashdrive เอา
- ตัวเครื่องใหญ่ อาจพกใส่กระเป๋ากางเกงลำบาก
- เข้ามาขายช้าไปหน่อย