รีวิว Jawbone ERA หูฟัง Bluetooth มีดีไซน์ พร้อมระบบตัดเสียงรบกวน NoiseAssassin 4.0

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 012

ช่วงที่ผ่านมา เราเริ่มจะเห็นสินค้าจาก Jawbone มาวางจำหน่ายในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลำโพง, สายรัดข้อมือ, หูฟัง Bluetooth ซึ่งสินค้าจาก Jawbone ก็จะเป็นสินค้าที่มีการผสมผสานได้อย่างลงตัวทั้งประโยชน์การใช้สอย ฟีเจอร์เสริม และเรื่องของดีไซน์ที่โดดเด่น สีสันสะดุดตา เช่นเดียวกับอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่กำลังจะวางขายอย่าง Jawbone ERA?หูฟัง Bluetooth รุ่นใหม่ล่าสุดที่ได้รับการปรับดีไซน์ให้สวยงาม ลงตัวมากยิ่งขึ้น อัดแน่นด้วยฟีเจอร์เด็ดๆ เช่นเคย ในคราวนี้ทางเราก็จัดการรีวิวให้ได้ชมกันอีกเช่นเดิมครับ มาชมกันเลย

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 001

สำหรับแพ็คเกจของ Jawbone ERA นั้น ฝาหน้าใช้เป็นพลาสติกแข็งใส ทำให้เห็นตัวหูฟังได้ชัดเจน ติดชื่อรุ่นว่า ERA เอาไว้ตัวใหญ่ๆ รับรองว่าเลือกซื้อไม่ผิดแน่นอน

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 002

 

ส่วนของถาดที่ใส่อุปกรณ์ทั้งหมดเอาไว้ จะใช้เป็นกระดาษรีไซเคิลนะครับ แข็งแรงในระดับหนึ่ง ด้านหลังมีติดบรรยายคุณสมบัติคคร่าวๆ เอาไว้ โดยมีฟีเจอร์เด่น 3 ข้อ ได้แก่

  • ระบบตัดเสียงรบกวน NoiseAssassin 4.0
  • ระบบเสียง HD Audio
  • Comfort fit มั่นใจได้ว่าใส่ง่าย กระชับหู

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 003

เมื่อแกะกล่องออกมา ก็จะพบกับของที่อยู่ภายใน คือ เอกสารคู่มือเบื้องต้น, ตัวหูฟัง Jawbone ERA, สาย Micro USB และก็จุกหูฟัง 3 ชิ้น

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 004

สำหรับสาย Micro USB ก็จะเอาไว้ใช้สำหรับเสียบชาร์จแบตเตอรี่ให้กับหูฟัง Jawbone ERA รวมถึงใช้ซิงค์กับคอมพิวเตอร์ เพื่อจัดการปรับแต่งการทำงานของตัว Jawbone ERA ซึ่งจะมีอธิบายในช่วงของซอฟต์แวร์ครับ

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 005 Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 006

ตัวจุกหูฟังที่ให้มา ถ้ารวมตัวที่ติดมาให้กับหูฟังแล้วก็จะเป็น 4 ชิ้น แบ่งเป็น

  • ไซส์ S – ขวา
  • ไซส์ M – ซ้าย ขวา
  • ไซส์ L – ขวา

ก็เลือกใช้กันได้ตามสะดวกเลย วัสดุเป็นยางนิ่ม ยืดหยุ่นได้ ใส่สบายครับ รูปร่างถูกออกแบบมาให้เข้ากับร่องหูพอดีๆ ลักษณะของการใส่จะเป็นเหมือนกับหูฟังประเภท Earbud กึ่งๆ In-ear คือเป็นการแปะไปด้านนอกช่องหู แต่มีท่อบางส่วนยื่นเข้าไปในช่องหูด้วย แต่ก็ยื่นเข้าไปไม่มากนัก ทำให้ยังพอได้ยินเสียงข้างนอกอยู่บ้างเล็กน้อย ไม่เหมือนหูฟังแบบ In-ear ที่จะปิดกั้นเสียงข้างนอกไปเลย

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 007

การแกะหูฟัง Jawbone ERA ออกมาจากกล่อง แนะนำว่าให้หมุนกล่องมาด้านหลัง แล้วถอดสลักยึดที่เป็นชิ้นยาวๆ นี้ก่อนจะดีที่สุดครับ

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 008

เมื่อดึงออกมาแล้ว จึงค่อยแกะแท่นพลาสติกออก

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 009

Jawbone ERA ตัวจริงมาแล้วจ้า วัสดุหลักจะแบ่งเป็นสองส่วน ด้านใน (ฝั่งที่อยู่ข้างเดียวกับหูฟัง) จะใช้เป็นพลาสติก ส่วนด้านนอกจะเป็นอะลูมิเนียมสะท้อนแสงนิดๆ ตัดเหลี่ยม ทำให้เวลาส่องสะท้อนกับแสงจะเกิดเป็นประกายคล้ายๆ ส่องเพชรกันเลยทีเดียว ดีไซน์โดยรวมจัดว่าเรียบง่าย แต่ดูหรูหราดี

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 010

ด้านในของ Jawbone ERA จะมีส่วนที่สำคัญอยู่สองตำแหน่งใหญ่ๆ ครับ หนึ่งคือบริเวณที่เป็นวงกลมทางด้านซ้าย ซึ่งเป็นวงหลอดไฟ LED ที่ใช้แสดงสถานะการทำงานของ Jawbone ERA แบ่งออกเป็นดังนี้

  • ไฟสีขาวค้างตอนเริ่มเปิดใช้งาน
  • ไฟสีขาวกระพริบ: ยังไม่ได้เชื่อมต่อกับมือถือ/แท็บเล็ต
  • ไฟสีแดง: แบตเตอรี่ใกล้หมด

ส่วนถ้าเป็นช่วงที่เชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว กำลังใช้งาน ไฟ LED จะดับไป และถ้าสังเกตดีๆ ภายในของวงไฟ LED จะเป็นปุ่มนูนขึ้นมา ซึ่งปุ่มนี้คือเซ็นเซอร์รับสัมผัสการพูดของเรา ซึ่งจะนำไปใช้ในการประมวลผลของระบบ เพื่อจัดการตัดเสียงรบกวน ปรับระดับเสียงพูดให้สามารถพูดคุยได้อย่างสะดวก

ใกล้ๆ กันนั้นก็คือสวิทช์เปิด/ปิด การทำงาน ถ้าดันมาทางไฟ LED ก็จะเป็นการเปิดใช้งาน

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 011

ด้านล่างของ Jwabone ERA เป็นช่องรับเสียงของไมโครโฟนสองช่องครับ ใช้ทั้งรับเสียงที่ผู้ใช้พูดและใช้รับเสียงภายนอก เพื่อนำไปใช้ตัดเสียงรบกวน ซึ่งเป็นฟังก์ชันการทำงานของฟีเจอร์ NoiseAssassin 4.0 นั่นเอง ถ้าอยากรู้ว่า NoiseAssassin ให้ผลดีขนาดไหน ลองรับชมจากคลิปนี้ได้เลย

โดยค่าเริ่มต้นของระบบจะเปิดใช้งาน NoiseAssassin 4.0 มาให้เรียบร้อยแล้ว เรียกว่าแกะกล่องมาก็พร้อมใช้งานได้ทันที

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 012

ผิวด้านนอกเป็นอะลูมิเนียมอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เวลามีมุมสะท้อนแสงจะมีประกายออกมาตามเหลี่ยมมุม ดูพรีเมียมขึ้นมาในทันที

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 013

ด้านบนก็จะมีพอร์ต Micro USB เอาไว้ใช้สำหรับชาร์จไฟให้แบตเตอรี่ภายในตัวของ Jawbone ERA ใกล้ๆ กัน (ส่วนที่เป็นลายทาง) จะเป็นปุ่มกดสั่งงานครับ ซึ่งรูปแบบการกดที่ต่างกัน ก็จะเป็นการสั่งงานที่แตกต่างกันไปด้วย โดยจะมีอธิบายในช่วงของการรีวิวซอฟต์แวร์นะ

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 014

ตอนเปิดใช้งานครับ สังเกตว่าที่สวิทช์จะมีแถบสีฟ้าอยู่ด้านใน ทำให้สังเกตได้ง่ายว่าเปิดทำงานอยู่หรือเปล่า

Review-Jawbone-ERA-SpecPhone 015

การแกะจุกหูฟังออกมาสามารถทำได้ง่าย ดึงออกมาได้เลยไม่ต้องกลัวขาด เพราะตัวจุกทำมาจากยางที่เหนียว ยืดหยุ่นได้ดี

ชุดแบตเตอรี่เสริม Charging Case

Review-Jawbone-ERA-Specphone 001 (1)

 

ส่วนใครที่คิดว่าจะต้องใช้งานหูฟัง Bluetooth Jawbone ERA เป็นระยะเวลานานๆ ก็จะมีตัวเลือกคือชุดหูฟังที่มาพร้อมกับ Charging case ไว้สำหรับชาร์จแบตเตอรี่นอกสถานที่เพื่อเสริมการใช้งานให้สะดวกคล่องตัวขึ้น (ราคาทั้งเซ็ต 4,290 บาท)

Review-Jawbone-ERA-Specphone 002 (1)

หน้าตาของ charging case ครับ จะมาในสีเดียวกับตัวหูฟังเลย

Review-Jawbone-ERA-Specphone 003 (1)

รูปร่างของ charging case สำหรับหูฟัง Jawbone ERA ก็จะมาในดีไซน์เรียบหรู มีสายหนังเป็นหูหิ้วให้ (สามารถถอดออกได้) สังเกตดีๆ จะเห็นจุดเล็กๆ 3 จุดซึ่งใช้สำหรับแสดงปริมาณไฟฟ้าที่คงเหลืออยู่ในแบตเตอรี่ โดยจะแสดงก็ต่อเมื่อเรายกหัวชาร์จขึ้นมาเท่านั้น

Review-Jawbone-ERA-Specphone 004 (1)

การชาร์จไฟมาเก็บไว้ใน charging case จะทำผ่านพอร์ต Micro USB ดังนั้นเราจึงสามารถใช้สายชาร์จสมาร์ทโฟนมาชาร์จไฟได้เลย สะดวกดีมากๆ ครับ

Review-Jawbone-ERA-Specphone 006 (1)

หัวชาร์จสามารถยกขึ้นมาได้ตามที่บอกไปข้างต้น โดยสามารถยกมาได้ 90 องศา และเมื่อยกขึ้นมา ไฟแสดงระดับแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ก็จะติดขึ้นมา

Review-Jawbone-ERA-Specphone 007 (1)

ลองเสียบหูฟัง Jawbone ERA เข้ากับแท่นชาร์จครับ

Review-Jawbone-ERA-Specphone 008 (1)

สามารถชาร์จได้ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง จะชาร์จไปใช้งานไปก็พอไหวนะ (แต่จะหนักเกินไป และคงยึดกับใบหูไม่อยู่) ถ้าแบตเตอรี่ในตัว Jawbone ERA เต็มแล้ว ไฟที่หูฟังก็จะเปลี่ยนเป็นสีขาว

Review-Jawbone-ERA-Specphone 011 (1)

 

ในด้านของการใช้งาน ชุด charging case สามารถใช้ชาร์จไฟให้กับ ERA ได้หนึ่งรอบกว่าๆ ก็เคลมได้ว่าเท่ากับที่โฆษณาคือสามารถใช้ชาร์จเพิ่มระยะเวลาการใช้งานได้ราว 6 ชั่วโมงจริงๆ และเท่าที่ผมลองนำ charging case ไปใช้ชาร์จมือถือ ผลคือไม่สามารถชาร์จได้ครับ น่าจะเนื่องมาจากแรงดันไฟไม่พอสำหรับชาร์จมือถือนั่นเอง

รีวิวซอฟต์แวร์ประกอบ Jawbone ERA

สำหรับตัวของหูฟัง Bluetooth Jawbone ERA ชิ้นนี้ อันที่จริงก็สามารถใช้งานได้ทันทีด้วยการ pair เข้ากับมือถือ/แท็บเล็ตผ่านการเชื่อมต่อ Bluetooth ตามปกติของเครื่องเหมือนอุปกรณ์ Bluetooth ทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้มันดูน่าสนใจขึ้นมาจะไปอยู่ตรงแอพพลิเคชันเสริมที่มีชื่อว่า Jawbone ซึ่งเป็นแอพที่สามารถใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์ของ Jawbone ได้หลายชิ้นอีกด้วย เรียกว่าโหลดมาแอพเดียวใช้กันคุ้มเลย โดยสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ทั้ง iOS และ Android ครับ

เรามาดูหน้าตาของแอพ Jawbone ที่ใช้งานร่วมกับหูฟัง Bluetooth Jawbone ERA เริ่มด้วยจากบน Android ก่อนเลย

1

ถ้าหากทำการเชื่อมต่อและใช้งาน Jawbone ERA อยู่ ก็จะมีหน้าตาขึ้นมาให้พร้อมใช้งานและปรับแต่งเล็กๆ น้อยๆ ตามความสามารถของตัวหูฟัง ส่วนภาพขวาจะเป็นตัวของ notification ที่แจ้งเตือนเราว่าแบตเตอรี่ของ Jawbone ERA เหลืออยู่อีกเท่าไร

2

ถ้าเลื่อนแถบสีขาวด้านล่างขึ้นมา จะเป็นการเปิดดูตารางนัดหมาย (Agenda) ที่ดึงข้อมูลมาจากแอพ Calendar ภายในเครื่อง ช่วยให้สามารถติดตามการนัดหมาย รวมถึงยังใช้แจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงเวลานัดได้อีกด้วย

ส่วน Music ก็เป็นส่วนของการสร้าง playlist เพลงในเครื่องเราครับ หรือจะสร้าง playlist จากบริการ Spotify ก็ได้ แต่น่าเสียดายที่ Spotify ยังไม่สามารถใช้งานในประเทศไทยได้ ดังนั้นถ้าจะสร้าง playlist ในแอพ Jawbone ก็ต้องสร้างมาจากเพลงที่อยู่ในเครื่องแต่เพียงอย่างเดียว

3

กลับมาที่ด้านบนบ้างครับ สำหรับปุ่มซ้ายสุดซึ่งเป็นรูปจุดสามจุด อันนี้เป็นปุ่มสำหรับเรียกดูวิธีการกดปุ่มบน Jawbone ERA ว่าการกดแต่ละรูปแบบจะเป็นการสั่งงานอย่างไรบ้าง เช่นถ้ากดครั้งเดียวจะเป็นการรับสาย, หยุดเพลงที่เล่นอยู่ การกดสามครั้งติดกันจะเป็นการเริ่มเล่นเพลง รวมถึงบางรูปแบบยังสามารถปรับแต่งได้ว่าจะให้ทำหน้าที่อะไร เช่นให้เลือกว่าถ้าเกิดเรากดปุ่มค้างระหว่างคุยโทรศัพท์อยู่ จะให้เป็นการปรับความดังเสียงหรือเป็นการปิดไมโครโฟนของฝั่งเรา เป็นต้น การปรับแต่งรูปแบบการทำงานจัดว่าไม่ค่อยอิสระมากนัก ส่วนตัวผมอยากให้มีการข้ามเพลงได้ด้วยนะ

ปุ่มตรงกลางที่เป็นรูปลูกโป่งข้อความ อันนี้เป็นเมนูที่ใช้สำหรับปรับเปลี่ยนเสียงพูดของ Jawbone ERA ซึ่งจะมีการพูดให้เราฟังในบางครั้ง เช่นเวลา stand by อยู่ แล้วเรากดปุ่มบนหูฟังหนึ่งครั้ง ก็จะมีเสียงบอกเราว่าแบตเตอรี่เหลือใช้งานได้อีกประมาณกี่ชั่วโมง โดยรูปแบบของเสียงพูดก็มีให้เลือกหลากหลายแบบครับ แต่จะไม่มีการติดตั้งมาให้ ถ้าจะติดตั้ง จำเป็นต้องเชื่อมต่อ Jawbone ERA เข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านทางสาย Micro USB แล้วเข้าไปจัดการดาวน์โหลดจากหน้าเว็บไซต์ของ Jawbone

ส่วนปุ่มขวาสุดที่เป็นรูปกระดิ่ง นั่นคือปุ่มไว้ใช้สำหรับค้นหา Jawbone ERA ในกรณีที่เราลืมว่าวางไว้ตรงไหน เมื่อกดแล้วที่ตัวหูฟังจะมีไฟ LED สีแดงกระพริบตลอดเวลา พร้อมทั้งยังส่งเสียงออกมาด้วย เสียงก็ถือว่าดังใช้ได้ครับ ถ้าแค่หายในบ้านรับรองว่าหาตำแหน่งเจอแน่ๆ

4

คราวนี้มาดูหน้าตาแอพ Jawbone บน iOS บ้างครับ เมื่อจัดการ pair เรียบร้อยแล้ว ระบบจะทำการเปิดใช้งาน AirPlay แบบให้เสียงไปออกยังหูฟัง Jawbone ERA โดยอัตโนมัติ ถ้ามีช่วงไหนที่อยากให้เสียงกลับมาออกที่ลำโพงเครื่องตามปกติ ก็สามารถปรับได้ที่ส่วนของ AirPlay จากแถบ Control Center ได้เลยครับ ไม่จำเป็นต้องปิด Bluetooth แต่อย่างใด

5

หน้าเมนูทั่วไปของแอพตอนใช้งานร่วมกับหูฟัง Bluetooth Jawbone ERA ก็จะเหมือนๆ กับใน Android เลย?

6

การเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ทำได้โดยการใช้สาย Micro USB ที่แถมมาในกล่อง หรือจะเป็นสายอื่นเช่นสายชาร์จโทรศัพท์ก็ได้ เมื่อจัดการต่อเรียบร้อยแล้วก็เข้าไปที่เว็บไซต์ jawbone.com ซึ่งจะมีให้เราติดตั้งโปรแกรม Jawbone Updater ลงในคอมพิวเตอร์ของเราด้วย (มีทั้งเวอร์ชันสำหรับ Windows และ Mac)

ส่วนถ้าในแอพ Jawbone เวอร์ชันสำหรับ iOS จะมีหัวข้อ Paired เข้ามาให้ด้วย ซึ่งก็มีตัวเลือก Simultaneous connections (เชื่อมต่อพร้อมกันได้มากกว่า 1 อุปกรณ์) ให้เลือกได้ว่าจะเปิดหรือปิดความสามารถนี้ไป

ต่อไปมาดูหน้าตาของทูลบนเว็บไซต์ Jawbone กันบ้าง

Screen Shot 2014-03-27 at 5.09.52 PM

ถ้าเราเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว ก็จะมี Jawbone ERA ขึ้นมาเป็นตัวเลือกในหัวข้อ My devices ครับ ส่วนอุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ ก็คือผลิตภัณฑ์ของ Jawbone ที่ผมเคยใช้งานมาในระหว่างการรีวิว สาเหตุที่มีขึ้นในนี้ด้วยก็เพราะระบบมีการเก็บข้อมูลรวมไว้ในบัญชีผู้ใช้งานของ Jawbone และตอนจะใช้งานแอพพลิเคชันเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ก็จะมีการล็อกอินด้วยบัญชี Jawbone ทุกครั้งนั่นเอง ระบบจึงมีเก็บไว้หมดเลยว่าเราใช้ผลิตภัณฑ์อะไรอยู่บ้าง

Screen Shot 2014-03-27 at 5.10.38 PM

สำหรับทูลบนหน้าเว็บไซต์ของ Jawbone ก็จะคล้ายๆ กับในแอพมือถือครับ แต่มีบางอย่างเพิ่มเข้ามา เช่นส่วนของ Voices ซึ่งจะมีให้เราเลือกดาวน์โหลดเสียงที่ต้องการใช้เป็นเสียงพูดของหูฟัง การติดตั้งเสียงอื่นๆ เพิ่มเติมก็ต้องเข้ามาทำในเมนูนี้ การติดตั้งก็จะใช้เวลาซักพักหนึ่งครับ ขึ้นอยู่กับความเร็วอินเตอร์เน็ตในการโหลดด้วยส่วนหนึ่ง และอีกตัวที่รวมอยู่ในหมวด Voices ด้วยก็คือสวิทช์เปิด/ปิดการทำงานของฟีเจอร์ HD Audio ที่ช่วยเพิ่มความคมชัดของเสียงให้สูงขึ้น

อีกเมนูที่น่าสนใจก็คือ Caller ID ที่เราสามารถตั้งได้ว่าถ้าหากมีเบอร์ที่เราตั้งไว้โทรมา จะให้ระบบพูดชื่อว่าอะไร โดยสามารถตั้งได้ถึง 20 คนด้วยกัน

การใช้งาน Jawbone ERA โดยทั่วไป สามารถใช้งานได้ง่าย เพียงแค่ pair เข้ากับมือถือของเรา จากนั้นก็เสียบหูใช้งานได้เลย แทบไม่ต้องตั้งค่าอะไรเพิ่มเติมอีกแล้วครับ ตอนสนทนาก็ได้ยินเสียงของอีกฝ่ายชัดเจนดี อีกฝ่ายก็ได้ยินเสียงพูดจากเราในระดับที่โอเคเลย แต่อาจจะมีบางช่วงเสียงเบาไปบ้าง เรื่องของระยะเวลาการใช้งาน ถ้าเป็นการคุยโทรศัพท์ต่อเนื่องหรือฟังเพลงติดต่อกันก็จะได้เกือบๆ 4 ชั่วโมง แต่ถ้าเสียบแบบ stand by ไว้เฉยๆ ก็สามารถใช้งานได้นานกว่า 4 ชั่วโมงได้อย่างสบาย?

ส่วนใครที่สนใจ ก็สามารถหาซื้อหูฟัง Bluetooth Jawbone ERA ได้แล้ว?จากร้านตัวแทนจำหน่ายชั้นนำ ได้แก่iStudio, dot life, iBeat, Jaymart และ Power Buy ?สนนราคาอยู่ที่ 3,490 บาท?หรือถ้าใครต้องการรุ่นที่แบตเตอรี่ความจุสูงพิเศษก็จะมีรุ่นที่มาพร้อมแบตสำรองอีกด้วย ซึ่งจะสามารถใช้งานได้นานกว่า 10 ชั่วโมงด้วยกัน มีให้เลือกสองสีคือสีดำและสีเงิน วางจำหน่ายในราคา 4,290 บาท

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก