หลังจากผลตัดสินคดีการฟ้องร้องระหว่าง Apple กับ Samsung ในสหรัฐฯ ที่เป็นข่าวสำคัญระดับโลกของวงการไอทีผ่านพ้นไป ด้วยชัยชนะในเชิงคดีของ Apple ที่สามารถเรียกค่าเสียหายจาก Samsung ได้ถึงหลักพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลพอสมควรกับตลาดไอที โดยเฉพาะในกลุ่มของโมบายล์ ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงผลกระทบของหลายๆ ฝ่ายต่อคดีนี้
ก่อนอื่นขอเท้าความเกี่ยวกับคดีนี้ก่อนนะครับ ตัวคดีการฟ้องร้องเรื่องสิทธิบัตรระหว่าง Apple กับ Samsung นี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่ Apple ยื่นฟ้องต่อศาลสิทธิบัตรในกรณีที่ Samsung ละเมิดสิทธิบัตรการออกแบบ 4 ใบ ตั้งแต่สมัย iPhone 3GS และ Samsung Galaxy S ได้แก่
- สิทธิบัตรการออกแบบ iPhone สองใบ
- สิทธิบัตรการออกแบบ iPad หนึ่งใบ
- สิทธิบัตรอินเตอร์เฟสใน iOS หนึ่งใบ
ส่วนทาง Samsung ก็ยื่นฟ้องกลับ Apple ในกรณีที่ Apple ละเมิดสิทธิบัตรเกี่ยวกับ 3G ด้วยกันสองใบ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องเปิดเผยหลักฐานต่างๆ เพื่อแสดงว่าตนเองมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการออกแบบและเป็นเจ้าของสิทธิบัตรนั้นๆ ถึงขั้นที่แต่ละฝ่ายต้องงัดหลักฐานการออกแบบภายในขึ้นมาสู้กันในชั้นศาล ไม่ว่าจะรูปของเครื่องต้นแบบ เอกสารลับภายใน แม้กระทั่งอีเมลที่พูดคุยกันระหว่างพนักงานระดับสูงภายในบริษัทก็ถูกนำมาใช้พิสูจน์กันอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้ามองในแง่ของหลักฐานเอกสารแล้ว Apple ดูมีภาษีเหนือกว่า Samsung อย่างเห็นได้ชัด
แต่ทั้งนี้ คดีความระหว่าง Apple กับ Samsung ที่มีการฟ้องร้องใหญ่โตครั้งนี้ เป็นการยื่นฟ้องต่อศาลสิทธิบัตรในสหรัฐฯ ซึ่งผลที่ได้จากศาลนี้ก็คือฝ่ายที่ชนะข้อกล่าวหาก็จะได้รับค่าเสียหายจากอีกฝ่าย ส่วนการบังคับบทลงโทษก็จะมีผลแค่ในสหรัฐฯ?เท่านั้น เนื่องมาจากตัวสิทธิบัตรจะมีผลเฉพาะประเทศที่จดหรือดำเนินการเท่านั้น ถ้าอยากจะให้มีการแบนหรือลงโทษทั่วโลก คงต้องไปไล่ฟ้องเรียงประเทศเอาเอง (ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ดำเนินการฟ้องกันอยู่เรื่อยๆ) ซึ่งผลก็คือ Samsung ต้องจ่ายค่าเสียหายให้ Apple เป็นเงินพันกว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอการตัดสินอย่างเป็นทางการอีกที เพราะในขั้นตอนที่ผ่านมาเป็นแค่การลงมติของคณะลูกขุนเท่านั้น ยังคงต้องมีขั้นตอนในทางกฎหมายต่อไปอีก เพื่อบังคับคดี รวมไปถึง Samsung ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อได้ด้วย
ผลกระทบต่อ Samsung
เมื่อดูจากคำตัดสินแล้ว จะเหมือนว่า Samsung เป็นฝ่ายได้รับผลกระทบเต็มๆ ทั้งต้องเสียเงิน และเสียผลิตภัณฑ์ที่ถูกตัดสินว่าละเมิดสิทธิบัตร แต่เมื่อลองพิจารณาดูแล้วจะพบว่า Samsung ไม่ได้เสียอะไรมากมายนัก ในเรื่องของตัวเงิน Samsung เองสามารถทำกำไรต่อปีได้เยอะอยู่แล้ว ตัวเงินหลักพันล้านนี้ เชื่อว่าคงไม่มีผลกระทบอะไรต่อ Samsung มากนัก ส่วนสมาร์ทโฟนที่ถูกตัดสินว่าละเมิดสิทธิบัตรก็เป็นรุ่นเก่าที่ส่วนแบ่งในตลาดมีไม่ค่อยมากแล้ว บางรุ่นก็แทบจะไม่มีจำหน่ายอยู่แล้วด้วยซ้ำ จึงทำให้คำตัดสินนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายในสหรัฐฯ? เท่าไร
แถมในช่วงหลังนี้ ชื่อแบรนด์ Samsung ในสหรัฐฯ ก็แข็งแกร่งขึ้นมาก ประกอบกับตัวผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์เป็นของตนเองมากขึ้น ไม่ได้อิงจาก Apple เหมือนในสมัยก่อน ทำให้น่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายไม่มากนัก เพราะคนที่เชื่อใจในแบรนด์ Samsung ว่าเป็นแบรนด์ที่ผลิตสมาร์ทโฟนได้มีความคุ้มค่าในด้านคุณภาพ/ราคาที่ดีและน่าซื้อหามากที่สุดแบรนด์หนึ่ง ส่วนในตลาดโลกนั้นก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เนื่องด้วยจุดเด่นของ Samsung ในหลายๆ ด้าน เช่น การกระจายช่องทางการจำหน่าย การโปรโมต รวมถึงตัวผลิตภัณฑ์ จึงทำให้พอมองการตัดสินคดีในครั้งนี้ในครั้งนี้ได้ว่าเป็นการเปิดช่องให้ Samsung ได้นำเสนอต่อสายตาชาวโลกว่าตัวผลิตภัณฑ์ของเขามีดีมากพอที่จะเทียบเคียง Apple ถึงขั้นที่ Apple ต้องลงทุนฟ้องร้องจนถึงขั้นนี้
ซึ่งเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว เรียกว่า Samsung แทบจะไม่เสียอะไรเลยด้วยซ้ำ
ผลกระทบต่อ Apple
ส่วนฝั่งของ Apple นั้น ได้รับคำตัดสินว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิบัตร 3G ใดๆ อย่างที่ Samsung ยื่นฟ้อง เนื่องจากเรื่องของ 3G กลายเป็นมาตรฐานในเชิงอุตสาหกรรมไปแล้ว จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแต่อย่างใด ส่วนเงินที่น่าจะได้จาก Samsung นั้น เทียบแล้วถือว่าไม่เยอะเมื่อเทียบกับผลกำไรที่ Apple ได้จากการจำหน่าย iPhone ในแต่ละปี จึงเหมือนจะเป็นการขู่ผู้ผลิตรายอื่นอยู่กลายๆ มากกว่า ว่าต่อไปนี้อาจจะต้องระวังตัวไว้หน่อย ส่วนในแง่ของตัวผลิตภัณฑ์ คดีความในครั้งนี้ไม่น่าจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นยอดขาย iPhone มากนัก เพราะคนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์คงมีไม่มากที่จะมองลึกไปถึงเรื่องใครเป็นเจ้าของสิทธิบัตรอะไร ใครถูกใครผิด โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ในตลาดมักจะมองที่ตัวผลิตภัณฑ์และราคาเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าเรื่องเบื้องหลังเบื้องลึกของบริษัท
ซึ่งถ้ามองจากจุดนี้แล้ว พบว่า Samsung กลับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า เนื่องด้วยประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับที่ดี แถมยังมีราคาที่ไม่สูงมากด้วย ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่มีความคิดว่าจะซื้อสินค้าที่แพงกว่าทำไม ในเมื่อมี Samsung ที่มีสินค้าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับ Apple อยู่แล้ว ข้อนี้จึงน่าจะส่งผลกระทบกับ Apple แบบเต็มๆ
เมื่อมองโดยรวม พบว่า Apple แทบจะไม่ได้อะไรเลย เผลอๆ อาจจะกลายเป็นเสียในระยะยาวซะอีกด้วย
อนาคตต่อจากนี้
ในส่วนของอนาคตนั้น เป็นจุดที่น่าสนใจมากกว่าปัจจุบันมากนัก เพราะการฟ้องร้อง Samsung ในครั้งนี้ อาจจะดูเหมือนว่าเป็นการเปิดศึกกับ Samsung ก็จริง แต่เมื่อมองถึงตัวสิทธิบัตรที่ Samsung ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิบัตรแล้ว จะพบว่ามีบางส่วนเป็นฟีเจอร์ที่มีอยู่ใน Android แล้ว อย่างเช่น Pinch-to-Zoom จึงทำให้เป็นที่น่าสนใจว่า Apple จะดำเนินการกับ Android ต่อไปหรือไม่ รวมไปถึงบริษัทมือถือแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นเครือข่าย Android ไม่ว่าจะเป็น Samsung, HTC, Motorola, Sony และอื่นๆ
เราจึงได้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา บรรดาบริษัทมือถือพยายามหาซื้อสิทธิบัตรมาครอบครองเพิ่มเติม เพื่อจะได้มีไว้สำหรับต่อสู่ในอนาคต หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ Google ที่ซื้อกิจการในส่วนของ Motorola Mobility ที่เป็นส่วนงานมือถือของ Motorola มา ทำให้ Google ได้สิทธิ์ครอบครองสิทธิบัตรใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับมือถือหลายรายการ จึงทำให้น่ากลัวเป็นอย่างยิ่งว่าต่อไปสงครามสิทธิบัตรจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ไป อย่างล่าสุดก็เริ่มมีประเด็นการฟ้องร้องของ Google และ Apple ขึ้นมาบ้างแล้ว
ส่วนในรายของ Windows Phone ที่หลายฝ่ายคาดกันว่าน่าจะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์จากกรณีนี้ เนื่องมาจากมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้ผลิตต้องการหนีปัญหา หันไปคบกับ Windows Phone มากขึ้น เพราะ Microsoft และ Apple ทำสัญญาใช้งานสิทธิบัตรร่วมกันในหลายๆ ส่วนไปแล้ว จึงมีโอกาสที่จะมีปัญหาน้อยกว่า Android ซึ่งถ้ามองในแง่นั้นแล้วก็มีความเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับ Microsoft ด้วยว่าจะสามารถทำให้ Windows Phone กลายเป็นที่นิยมในตลาดได้หรือไม่ เพราะถ้าผู้ใช้ไม่มีความนิยมมากพอจริงๆ ยอดขายก็คงไม่ขึ้น ผู้ผลิตก็คงไม่อยากจะทำสมาร์ทโฟน Windows Phone ซักเท่าไร เพราะไม่คุ้มทุนที่จะทำ สู้ไปเสี่ยงกับ Android ที่ทำเงินได้มากจะดีกว่า
กลับมาดูที่คู่กรณีของเรื่องนี้อย่าง Apple และ Samsung กันต่อ แม้ว่า Apple น่าจะชนะในคดีความครั้งนี้ แต่อย่าลืมว่ามันเป็นแค่กรณีในสหรัฐฯ? เท่านั้น ยังเหลือคดีในอีกหลายๆ ประเทศที่ทั้งสองบริษัทยื่นฟ้องกันอยู่ อย่างที่ผ่านไปไม่นานก็ในเกาหลีใต้เอง ที่ทั้ง Samsung และ Apple ต่างก็ถูกตัดสินว่าละเมิดสิทธิบัตรด้วยกันทั้งคู่ จึงทำให้ยังไม่สามารถสรุปตัดสินได้อย่างเต็มที่ว่าระหว่างสองบริษัทนี้ใครมีชัยเหนือใคร
สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่าสิ่งที่ตัวแทนของ Samsung กล่าวไว้หลังได้รับคำวินิจฉัยจากคณะลูกขุนน่าจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุด นั่นคือเรื่องที่สุดท้ายแล้วผู้ที่จะได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ ก็คือผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่ต่อไปอาจจะเหลือตัวเลือกไม่มากนัก เนื่องจากต้องระมัดระวังว่าสินค้าที่จะนำมาจำหน่ายจะไปละเมิดสิทธิบัตรอะไรหรือไม่ รวมไปถึงอาจส่งผลกับการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตอีกด้วย ที่อาจจะถูกปิดกั้นเนื่องด้วยตัวของระบบสิทธิบัตรในปัจจุบัน ส่วนผลของคดีก็ยังคงต้องตามกันต่อไป เชื่อได้ว่าน่าจะมีอีกหลายๆ กรณีตามมาในอีกไม่นานแน่นอน