ด้านของ LG เองก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ออกแบบสมาร์ทโฟนแบบเน้นผสมผสานรวมกันทั้งรูปแบบการใช้งานที่ดีและหน้าตาเครื่องที่สวยงาม ดังที่จะเห็นได้จากเรือธงรุ่นล่าสุดอย่าง LG G2 สมาร์ทโฟนที่มีคอนเซ็ปท์ว่า Learning From You (เรียนรู้จากผู้ใช้) ซึ่งหลายๆ คนคงได้ทราบไปพอสมควรแล้วว่า LG G2 เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นที่มีการออกแบบแหวกแนวไปจากรุ่นอื่นในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ด้วยการย้ายปุ่ม Power และปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงไปไว้ด้านหลังเครื่อง (Rear Key) โดยทางเราได้เคยพรีวิวแบบ hands-on ไปแล้วเมื่อตอนงานเปิดตัว LG G2 ที่ผ่านมา คราวนี้เราจะมาชมรีวิวกันแบบเต็มๆ บ้างครับ
กล่องของ LG G2 จะใช้เป็นกล่องกระดาษรีไซเคิล เนื้อแข็งพอควร อุปกรณ์ที่มีในกล่องก็ตามพื้นฐานครับ ได้แก่
- อะแดปเตอร์
- สาย Micro USB
- เข็มจิ้มถาดซิม ที่ทำเป็นรูปตัว G
- หูฟัง LG QuadBeat 2 เสียงที่ได้จัดว่าดี ยกให้เป็นหนึ่งในหูฟังแถมที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดได้เลย แต่สำหรับใครที่ใส่ไม่พอดี ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้จุกยางขนาดอื่นที่มีแถมมาได้นะครับ
- เอกสารคู่มือและการรับประกัน
สเปค LG G2
- ชิปประมวลผล Snapdragon 800 (MSM8974) Quad-core ความเร็ว 2.26 GHz มาพร้อมชิปกราฟิก Adreno 330
- แรม 2 GB
- หน้าจอ True HD IPS+ ขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080
- พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 32 GB (เครื่องที่เราได้รับมารีวิว ความจุ 16 GB) ไม่สามารถใส่ microSD เพิ่มได้
- Android 4.2.2
- ใช้งาน 3G ได้ทุกเครือข่าย ใช้งานซิมแบบไมโครซิม
- สามารถใช้งาน 4G LTE ของ Truemove H ได้ (ต้องตั้งค่าเพิ่มเล็กน้อย)
- กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมระบบกันสั่น OIS ระดับฮาร์ดแวร์และแฟลช LED รองรับการถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุด 1080p 60fps
- กล้องหน้าความละเอียด 2.1 ล้านพิกเซล
- แบตเตอรี่ Li-polymer ความจุ 3000 mAh
- รองรับ USB-OTG
- ฟังวิทยุได้
- ชิปเสียงรองรับการเล่นไฟล์เสียง 24 bit/192 KHz (ไฟล์เพลงที่เราฟังกันทั่วไปจะอยู่ที่?16 bit/44.1 KHz เท่านั้น)
- ราคา 19,900 บาท
- สเปค LG G2 อย่างละเอียด
ด้านของสเปคนั้น LG G2 ก็จัดว่าอยู่ในระดับท็อปของปัจจุบันได้อย่างสบายๆ ด้วยความแรงของชิป Snapdragon 800 และชิปกราฟิก Adreno 330 ที่รับรองได้เลยว่าสามารถใช้งานแอพและเล่นเกมในปัจจุบันได้แบบไม่มีปัญหา เรื่องของกล้องถ่ายรูปก็น่าสนใจมาก ด้วยการที่ LG G2 มีติดตั้งโมดูลกันสั่น (OIS) แบบฮาร์ดแวร์มาให้ในตัว ผิดไปจากสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นในปัจจุบันที่ถึงจะมีระบบกันสั่นก็จริง แต่เป็นเพียงแค่ระดับซอฟต์แวร์ซึ่งจะใช้เพียงแค่การคำนวณเท่านั้น แต่แบบฮาร์ดแวร์อย่างใน LG G2 จะทำการชดเชยการสั่นได้ดีกว่ามาก เพราะภายในเป็นโมดูลเคลื่อนไหวตามลักษณะการสั่นของเราได้จริง ซึ่งหลักๆ แล้วจะช่วยให้การถ่ายวิดีโอได้ภาพออกมาสั่นไหวน้อยลง ส่วนการถ่ายภาพก็มีผลบ้างครับ แต่คงไม่ชัดเท่าวิดีโอ
จุดต่อมาที่น่าสนใจก็คือแบตเตอรี่ที่ให้ความจุมาสูงถึง 3000 mAh นับว่าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปที่ให้แบตเตอรี่มาเยอะมากตัวหนึ่ง ใครที่อยากได้มือถือแรงๆ ใช้งานแบตต่อวันได้นาน ก็คงจะสนใจไม่น้อยทีเดียว อีกข้อก็คือเรื่องของระบบเสียงภายในของ LG G2 ที่สามารถเล่นและขับเพลงความละเอียดระดับ Audiophile ที่ 24 bit/192 KHz ได้ด้วย ก็น่าจะตอบสนองความต้องการของผู้ที่หลงไหลในเสียงเพลงได้แน่นอน แต่ทั้งนี้ไฟล์ต้นฉบับก็ต้องบันทึกมาในแบบ 24 bit/192 KHz ด้วยนะครับ จะเอาไฟล์ธรรมดามาฟังก็ได้ แต่ก็คงใช้งานส่วนนั้นได้ไม่เต็มที่
ส่วนหน้าของเครื่อง จุดเด่นที่สุดคือหน้าจอที่มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับบอดี้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะขอบจอบางเฉียบ ทำให้สามารถใส่จอขนาดใหญ่ 5.2 นิ้วลงมาในบอดี้ที่เล็กขนาดนี้ได้ ซึ่งเท่าที่ผมลองเทียบ พบว่า LG G2 มีขนาดไม่ต่างจาก Nexus 4 ที่หน้าจอ 4.7 นิ้วเท่าไรเลย ความกว้างเกือบจะเท่ากัน ค LG G2 ยาวกว่าประมาณไม่ถึง 1 เซนติเมตร ทำให้สามารถจับเครื่องได้ถนัดมือ ไม่เหมือนเครื่องจอ 5 นิ้วขึ้นไปรุ่นอื่นๆ ในตลาดที่บอดี้เครื่องก็ใหญ่ตามจอไปด้วย เหตุเพราะขอบจอที่กว้างนั่นเอง ส่วนปุ่มกดสั่งงานต่างๆ ก็ไม่มีครับ เพราะใช้ปุ่มแบบซอฟต์แวร์ของ Android เองทั้งหมด ด้านบนของจอจะเป็นตำแหน่งของกล้องหน้า เซ็นเซอร์วัดแสง/วัดระยะห่าง ลำโพงสนทนาให้เสียงดังดี และมีไฟ LED Notification สำหรับแจ้งเตือนด้วย
โดยส่วนของจอก็มีฟีเจอร์ที่มีชื่อว่า Knock-On ที่ทำให้เราสามารถเคาะหน้าจอสองครั้งติดๆ กันเพื่อล็อคหรือปลดล็อคหน้าจอได้ โดยการล็อคหน้าจอจะต้องกลับมาทำที่หน้าโฮมสกรีนเท่านั้นนะครับ ความไวของการสัมผัสก็ไม่จัดว่าไวจนติดไปซะทุกครั้ง ต้องค่อนข้างตั้งใจพอสมควร เท่าที่ผมลองใช้งานพบว่าการเคาะที่กลางจอจะให้ผลดีที่สุด ตอนใส่ในกระเป๋ากางเกงแบบเอาหน้าจอแนบขาก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ โดยรวมแล้วใช้งานได้สะดวกดี (ผมชอบใช้วิธีนี้มากกว่ากดปุ่ม Rear Key เสียอีก)
หันมาดูด้านหลังของ LG G2 กันต่อ ส่วนที่เด่นสุดก็หนีไม่พ้นแผงปุ่มด้านหลังที่มีชื่อว่า Rear Key ซึ่งอยู่ใต้กล้องถ่ายรูป โดยไล่ลงมาตามลำดับก็จะเป็น
- ปุ่มเพิ่มเสียง ถ้ากดค้างไว้ขณะล็อคหน้าจออยู่ก็จะเป็นการเปิดแอพ Memo สำหรับจดบันทึก
- ปุ่ม Power ใช้สำหรับเปิด ปิด ล็อคหน้าจอเครื่องตามปกติ โดยที่ขอบปุ่มจะมีไฟ LED แสดง Notification คร่าวๆ อยู่ด้วย
- ปุ่มลดเสียง ถ้ากดค้างไว้ขณะล็อคหน้าจออยู่ ก็จะเป็นการเปิดใช้งานกล้องถ่ายรูป ทั้งยังสามารถใช้งานเป็นปุ่มชัตเตอร์สำหรับถ่ายรูปได้
ถ้าสังเกตดีๆ ตรงปุ่ม Power จะมีลักษณะนูนขึ้นมาเล็กน้อย นอกจากจะช่วยให้เราสามารถคลำหาตำแหน่งปุ่มได้ง่ายแล้ว ยังเป็นการยกปุ่ม Power ไม่ให้แตะพื้นโดยตรงเพื่อป้องกันการกดแบบไม่ตั้งใจอีกด้วย ส่วนถ้าใครต้องการจะถ่ายภาพหน้าจอ ก็คงลำบากเล็กน้อยครับ เพราะการถ่ายภาพหน้าจอตามปกติจะใช้การกดปุ่ม Power และปุ่มลดเสียงค้างไว้ แต่ก็มีอีกหนึ่งทางเลือกคือการใช้ Quick Memo ในการถ่ายภาพหน้าจอ เสร็จแล้วก็เซฟภาพเลย แบบไม่ต้องเขียนโน้ตลงไป (LG G2 ไม่มีแถมปากกามาให้นะครับ)
เมื่อใช้งานจริง นิ้วชี้ของเราก็จะมาอยู่บริเวณใกล้ๆ แผงปุ่ม Rear Key พอดี ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ไม่เกะกะนิ้วด้วย เวลาเก็บในกระเป๋ากางเกง ส่วนตัวผมก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์หน้าจอเปิดเองนะครับ แม้ว่าปุ่ม Power จะอยู่ด้านหลังเครื่องก็ตาม
ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้ LG ให้ข้อมูลไว้ว่ามาจากการเรียนรู้จากผู้ใช้งานเอง ตามคอนเซ็ปท์ Learning From You เนื่องจากนิ้วที่มนุษย์เราถนัดในการใช้งานที่สุดคือนิ้วชี้ จึงเหมาะกับการใช้กดปุ่มสั่งงานต่างๆ มากที่สุด ประกอบกับในการถือสมาร์ทโฟนจอใหญ่โดยทั่วไปแล้ว นิ้วชี้ก็จะมาอยู่ตรงตำแหน่งด้านหลังเครื่องพอดี การออกแบบโดยวางปุ่มแบบแผง Rear Key นี้ก็น่าจะทำให้สะดวกและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้มากกว่าการวางปุ่มไว้ด้านข้างตัวเครื่องแบบในอดีต ประกอบกับขอบหลังของเครื่องที่โค้งเว้ารับรูปมือพอดี ทำให้สามารถใช้งานเครื่องได้สบายมือมากๆ ให้ความรู้สึกในการจับที่ดี ตัวเครื่องก็ทำออกมาแน่นหนาสมราคา
หน้าจอของ LG G2 ให้สีสันสวยงามเป็นธรรมชาติมากๆ (รูปในรีวิวนี้ สีจอจะไม่ตรงนะครับ) โทนสีของจอไม่จัดและก็ไม่ซีดเกินไป มุมมองจอกว้างดี สามารถมองจอจากด้านข้างได้โดยที่สีไม่ผิดเพี้ยนไปมากนัก จัดว่า LG G2 เป็นสมาร์ทโฟนที่จอสวยน่าใช้มากรุ่นหนึ่งในตลาดครับ ทางที่ดีแนะนำว่าไปลองเล่นดูตามร้านตัวแทนจำหน่ายของ LG และร้านขายมือถือชั้นนำใกล้บ้านท่านจะเห็นเรื่องจอได้ชัดเจนครับ
ด้านบนของ LG G2 จะมีช่องรับเสียงของไมค์ และช่องขวาเป็นเซ็นเซอร์รับส่งสัญญาณอินฟราเรดสำหรับใช้งานร่วมกับแอพรีโมทในตัวที่มีชื่อว่า QuickRemote
ด้านล่างมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ตรงกลางเป็นช่อง Micro USB ส่วนช่องเจาะทางด้านซ้ายจะเป็นช่องรับเสียงของไมค์สนทนา ช่องขวาจึงจะเป็นช่องของลำโพงนะครับ ไม่ได้เป็นลำโพงทั้งสองช่อง
ด้านขวาของเครื่องไม่มีปุ่มใดๆ เลย เหตุเพราะย้ายปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงไปไว้ด้านหลังแล้ว ส่วนด้านซ้ายของเครื่องมีแต่ถาดใส่ไมโครซิมเท่านั้น และถ้าสังเกตดีๆ ตัวเครื่องจะยกสูงขึ้นมาเล็กน้อย เนื่องจากบริเวณปุ่ม Power บนแผง Rear Key ยกสูงขึ้นมานั่นเอง
QuickRemote
LG ตั้งใจจะให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวกสบายที่สุด จึงได้ใส่แอพรีโมตที่มีชื่อว่า QuickRemote มาให้ด้วย ทำให้เราสามารถควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านได้โดยใช้เพียงแค่ LG G2 เครื่องเดียวผ่านทางสัญญาณอินฟราเรด (ก็หมายความว่าสามารถใช้งานได้กับอุปกรณ์ทุกชนิด ไม่จำกัดว่าจะต้องเชื่อมต่อ WiFi ได้เหมือนพวกแอพรีโมตในอดีต) ซึ่งหลักๆ แล้วในตัวแอพก็จะมีฐานข้อมูลอุปกรณ์อยู่มากพอสมควรอยู่แล้ว มียี่ห้อเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังอยู่หลายตัวเลยทีเดียว แต่เราก็สามารถเพิ่มรีโมตเข้าไปเองได้ด้วยครับ
การเพิ่มข้อมูลรีโมตใหม่ให้กับแอพ QuickRemote สามารถทำได้โดยการนำรีโมตจริงๆ ของอุปกรณ์นั้นมากดเพื่อให้ LG G2 เรียนรู้รูปแบบของสัญญาณ โดยเราก็เพียงแค่เลือกวางปุ่มที่ต้องการลงบนแท่นรีโมตเปล่าๆ จากนั้นก็เลือกปุ่มที่เราต้องการเรียนรู้ เมื่อเลือกแล้วก็หันส่วนที่เป็นตัวรับส่งสัญญาณอินฟราเรดของจากรีโมตจริงกับส่วนของ G2 เข้าหากัน มีระยะห่างกันเล็กน้อย แล้วกดปุ่มบนรีโมตจริงที่ต้องการค้างไว้ 2 วินาทีแล้วปล่อย
เท่าที่ผมลองใช้งาน ก็สามารถใช้งานได้จริงครับ เปิด/ปิดทีวี แอร์ กล่องรับสัญญาณทีวี อาจจะมีปัญหาตอนเรียนรู้ปุ่มนิดหน่อย เช่นสัญญาณไม่ค่อยตรงบ้าง เลยต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ของ G2 ซักนิดนึง
QSlide
เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่หลายคนอาจจะเคยลองใช้งานใน LG รุ่นก่อนหน้ามาบ้างแล้วครับ กับเหล่าแอพกลุ่ม QSlide ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการทำงานได้เป็นอย่างดี โดยเราสามารถกดเลือกแอพเหล่านี้มาได้จากแถบ Notification (ต้องเปิดใช้งาน QSlide ด้วย) ตัวอย่างแอพก็เช่นเครื่องคิดเลข ปฏิทิน สมุดจด เว็บเบราเซอร์ อีเมล เป็นต้น ซึ่งเราสามารถลากออกมาได้สูงสุดได้ 2 แอพด้วยกัน ส่วนแถบเลื่อนด้านบนของแต่ละแอพจะเป็นตัวปรับความโปร่งใสของตัวแอพ ถ้าเราต้องการใช้งานตัวไหนก็ปรับให้แอพแสดงผลชัดๆ ถ้าไม่ต้องการใช้งานก็ปรับให้สีจางลงไปได้
Slide Aside
ฟีเจอร์ Slide Aside นี้ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องใช้งานแอพพร้อมๆ กันหลายแอพ แม้ว่าระบบของ Android จะเอื้อให้กับการทำงานแบบ Multitasking ก็ตาม แต่หลายๆ คนคงไม่ถนัดเท่าไรที่ต้องคอยกดสลับแอพใช้งานบนหน้าจอไปเรื่อยๆ แต่ตัวระบบ Slide Aside จะช่วยสร้างหน้าจอระบบขึ้นมาให้เราสำหรับใช้งานได้ 3 แอพพร้อมๆ กัน วิธีการใช้งานก็คือให้เปิดใช้งานแอพที่ต้องการ จากนั้นก็ใช้ 3 นิ้วปาดจากฝั่งขวาไปซ้ายบนจอ และเมื่อเราต้องการเรียกใช้งานแอพใดก็สามารถกดได้จากแถบ Slide Aside ใน Notification แล้วเลือกแอพที่ต้องการได้เลย โดยแต่ละแอพที่ถูกเก็บไว้นั้นจะยังทำงานอยู่นะครับ ไม่ได้พักการทำงานแต่อย่างใด
กล้องถ่ายรูป
กล้องถ่ายรูปของ LG G2 ก็จัดเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าสนใจ โดยพื้นฐานของตัวแอพกล้องก็มีฟีเจอร์ที่จำเป็นสำหรับการใช้งานทั่วไปครับ เช่นการปรับโหมดสำหรับถ่ายภาพให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การปรับ white balance การปรับ ISO เป็นต้น โดยภาพถ่ายความละเอียดสูงสุดที่รองรับคือ 13 ล้านพิกเซล อัตราส่วนภาพ 4:3 แต่ค่าเริ่มต้นของระบบจะตั้งมาให้แค่ 10 ล้านพิกเซล อัตราส่วนภาพ 16:9 นะครับ ใครอยากถ่ายภาพแบบ 13 ล้านพิกเซลก็ต้องเข้าไปปรับกันเล็กน้อย
ส่วนของโหมดการถ่ายภาพก็จะมีค่าเริ่มต้นมาเป็นแบบ Normal นะครับ ถ้าใครอยากถ่ายแบบง่ายๆ จะปรับเป็นโหมด Intelligent Auto ก็ได้ ระบบค่อนข้างฉลาดพอสมควรทีเดียว อีกโหมดที่น่าสนใจก็คือ Dual camera ที่ช่วยให้เราสามารถถ่ายภาพคนอื่นจากกล้องหลัง และถ่ายภาพตัวเราเองด้วยกล้องหน้าลงไปในภาพได้พร้อมกันด้วย
การถ่ายภาพจริงๆ พบว่าการโฟกัสจะหน่วงๆ บ้างเล็กน้อย บางทีหลังจากแตะเลือกจุดโฟกัสไปแล้วอาจจะต้องรอซักเล็กน้อย
ส่วนการถ่ายวิดีโอ LG G2 ก็สามารถถ่ายได้ที่ความละเอียดระดับ Full HD 60 fps ภาพที่ได้ออกมาไหลลื่นดีมากทีเดียว (สมาร์ทโฟนหลายรุ่นถ่าย Full HD แต่ได้แค่ 30 fps เท่านั้น) โดยตัวอย่างวิดีโอเดี๋ยวจะมีอัพโหลดขึ้นมาเพิ่มเติมให้นะครับ
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจสำหรับการถ่ายวิดีโอก็คือ Audio Zoom ที่ช่วยให้เราสามารถซูมเพื่อโฟกัสการรับเสียงให้ดีขึ้นได้ เช่นระหว่างที่เราถ่ายวิดีโออยู่ แล้วต้องการเน้นเก็บเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงด้านข้าง ก็สามารถซูมไปยังจุดที่เราต้องการเน้นเก็บเสียงได้ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเก็บเสียงที่ต้องการโดยเฉพาะ และตัดความดังของเสียงรอบข้างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง LG G2 (ภาพส่วนใหญ่จะใช้โหมด Normal ที่เป็นค่าเริ่มต้นของ G2 นะครับ)
ภาพท้องฟ้านี้ถ่ายด้วยโหมด HDR
ภาพนี้ก็ถ่ายด้วยโหมด HDR เช่นกันครับ
ชุดด้านล่างนี้ถ่ายในบริเวณที่มีแสงน้อยและเวลากลางคืน
ภาพด้านบนถ่ายด้วยโหมด Normal ส่วนภาพด้านล่างถ่ายด้วยโหมด Auto ครับ
คุณภาพของภาพถ่ายโดยรวมจัดว่าอยู่ในระดับที่ดีเลย โดยเฉพาะการถ่ายในที่มีแสงน้อย ที่เซ็นเซอร์รับภาพสามารถรับแสงสว่างเข้ามาในภาพได้ดี ช่วยให้มองเห็นรายละเอียดของภาพได้ดีขึ้น ภาพค่อนข้างสว่าง แต่ก็แลกมาด้วย noise ในภาพครับ แต่ก็ยังจัดว่าน้อยกว่าในกล้องของสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นอยู่ดี ยิ่งถ้าดูภาพจากจอของ G2 เองอีกก็ยิ่งสวยเข้าไปอีก เพราะจอให้สีสันของภาพที่ดีมากๆ
ตัวอย่างอินเตอร์เฟสหน้าจอของ LG G2
สังเกตได้ว่าแถบปุ่มกดด้านล่าง พื้นหลังจะเป็นแบบกึ่งโปร่งใสคล้ายๆ กับใน Android 4.4 KitKat ที่มีภาพออกมาในขณะนี้อยู่เหมือนกัน แต่ในหน้าจอแอพก็จะยังเป็นพื้นหลังสีดำอยู่เหมือนเดิมนะครับ
LG G2 มาพร้อม Android 4.2.2 ส่วนการอัพเดตเป็นเวอร์ชันใหม่ก็ต้องรอจากทาง LG นะครับ แต่ดูแล้วคงได้อัพเดตแน่นอน เพราะเป็นรุ่นเรือธงประจำปี ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูล สำหรับรุ่น 16 GB จะเหลือพื้นที่ไว้ให้ประมาณ 10 GB ด้วยกัน
การแจ้งเตือนของไฟ LED ทั้งด้านหน้าและด้านหลังก็สามารถปรับได้ว่าจะให้ทำงานหรือไม่ แต่ไม่สามารถปรับสีหรือเพิ่มแอพเข้าไปได้นะครับ ส่วนรูปขวาเป็นรูปของแอพ LG Backup ที่สามารถสำรองข้อมูลภายในเครื่องได้
ส่วนใครที่ไม่ถนัดกับปุ่มกดทั้งสามปุ่มด้านล่าง ก็สามารถปรับรูปแบบของปุ่มตามรูปแบบที่มีมาได้นะครับ อยู่ในเมนู Front touch buttons ที่อยู่ในหมวด Display โดยเราสามารถเพิ่มปุ่มดึงแถบ Notification เข้ามาได้ด้วย ส่วนอีกปุ่มที่อยู่ในสองแบบด้านล่างคือปุ่มสำหรับเรียกใช้งานฟีเจอร์ Quick Memo ที่จะถ่ายภาพหน้าจอแล้วให้เราจดโน้ตลงไปบนภาพได้นั่นเอง
คีย์บอร์ดที่ติดมาในเครื่องรองรับการปาดเพื่อสะกดคำ (swipe) ด้วย ส่วนภาษาไทยจะใช้เป็นการกดย้ำๆ บนปุ่มเพื่อเลือกตัวอักษรครับ ถ้าใครไม่ถนัดก็สามารถดาวน์โหลดคีย์บอร์ดแบบอื่นจาก Play Store มาใช้งานได้เช่นกัน
ผลทดสอบประสิทธิภาพ LG G2
การใช้งานแบตเตอรี่
LG G2 มาพร้อมกับแบตเตอรี่ความจุสูงถึง 3000 mAh นับว่าสูงทีเดียวในบรรดาสมาร์ทโฟนในยุคนี้ ซึ่งก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับ เพราะสามารถใช้งานจริงแบบทั่วไปเกินหนึ่งวันได้สบายๆ ตัวอย่างการใช้งานก็เช่น Facebook, Twitter, LINE, เปิดเว็บ, ถ่ายรูป, ถ่ายวิดีโอ ความสว่างแบบอัตโนมัติ ใช้งานทั้ง 3G (TriNet) และ WiFi แต่ถ้าใช้งานหนักหน่อย อย่างน้อยก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 8 ชั่วโมงได้สบายๆ ใครอยากหามือถือรุ่นท็อปแบตอึดๆ G2 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียว ส่วนตัวผมเองช่วงที่ทดลองใช้ก็แทบไม่ต้องพกแบตสำรองออกไปไหนมาไหนด้วยเลย เพราะแบตตัวเครื่องพอใช้งานได้สบาย
สรุปปิดท้ายรีวิว LG G2
LG G2 ก็นับว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่น่าใช้มากที่สุดรุ่นหนึ่งในปัจจุบัน สำหรับผู้ที่ต้องการมือถือระดับท็อปๆ รูปทรงสวยงาม ซึ่งไม่ใช่แค่สวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ความสวยงามดังกล่าวยังสามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ่ม Rear Key ที่เป็นการย้ายปุ่มกดหลักๆ ไปไว้ด้านหลัง ขอบหน้าจอสุดบางที่ช่วยให้ตัวเครื่องไม่ใหญ่เทอะทะ รูปทรงตัวเครื่องก็ทำออกมาได้พอดีมือ ด้านของซอฟต์แวร์ก็มีหลายตัวที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้จริง ประสิทธิภาพก็ไม่น้อยหน้ารุ่นท็อปของแบรนด์อื่นๆ เลย โดยรวมแล้ว LG G2 เป็นรุ่นที่คุ้มค่าคุ้มราคามากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจุในตัว 32 GB แต่ราคาเปิดมาที่ 19,900 บาทเท่านั้นด้วย ใครที่อยากสัมผัสความรู้สึกการใช้งาน ก็ลองไปหาเล่นเครื่องเดโมที่อยู่ตามร้านตัวแทนจำหน่ายและร้านขายมือถือชั้นนำได้เลยครับ รับรองว่ามีติดใจกันบ้างแน่ๆ
ข้อดี
- จอสวย สีสันสมจริงไม่สดจนเกินไป
- ขอบจอบาง ทำให้ตัวเครื่องเล็กลง ถือได้ถนัดมือยิ่งขึ้น
- ปุ่มกดที่อยู่ด้านหลัง ช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้นจริง ทั้งยังมีตัวเลือกในการปลดล็อคหน้าจออีกแบบคือการเคาะจอสองครั้งติดๆ กัน
- ตัวเครื่องสวย งานประกอบดี รูปทรงพอดีมือ
- กล้องคุณภาพดี ทั้งการถ่ายภาพและการถ่ายวิดีโอ แถมยังมีระบบกันสั่น OIS แบบฮาร์ดแวร์อีกด้วย
- แอพเสริมหลายๆ ตัวช่วยอำนวยความสะดวกได้ดี เช่น QuickRemote, QSlide
- ระบบเสียงรองรับไฟล์เสียงความละเอียดระดับ 24 bit/192 KHz
- ราคาคุ้มค่า เมื่อเทียบสเปคกับรุ่นท็อปแบรนด์อื่นๆ
- แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน
ข้อสังเกต
- ไม่สามารถเพิ่มความจุด้วย microSD ได้
- ระบบการปรับความสว่างจออัตโนมัติทำงานไม่ค่อยทันใจ