ที่ผ่านมา เรามักจะเห็นว่าสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของ LG มักจะได้รับการเปิดตัวและวางขายในประเทศไทยค่อนข้างล่าช้า เช่นเดียวกับการเปิดตัว LG G2 ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ในต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ก็ถูกหลายฝ่ายคาดการณ์ว่ากว่าจะเข้าไทยคงอีกหลายเดือนเช่นเคย
แต่มารอบนี้ LG ปรับกลยุทธ์ใหม่หมดเลยครับ ไล่มาตั้งแต่ชื่อที่ตัดคำว่า Optimus ออก รวมถึงงานเปิดตัวเลยทีเดียว โดยในวันนี้ (3 กันยายน) LG ไทยได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว LG G2 อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศกลุ่มแรกๆ ของโลกที่มีการจัดงานเปิดตัว G2 กันเลยทีเดียว ในบทความนี้เราจะมาชมเรื่องราวที่น่าสนใจของ LG G2 รวมไปถึงการพรีวิว LG G2 จากในงานกันด้วย
ตัวของ LG G2 นั้น จะจัดอยู่ในกลุ่มของสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ ที่ไม่ทับไลน์กับ LG Optimus G Pro โดยตัวของ G2 นั้นมาพร้อมกับคอนเซ็ปท์คือ Learning from You ที่แปลงเป็นไทยแบบง่ายๆ ก็คือเป็นสมาร์ทโฟนที่เรียนรู้ และออกแบบจากผู้ใช้อย่างเราๆ นี่ล่ะครับ ทำให้ทุกอย่างมันออกมาลงตัว เหมาะกับการใช้งานจริงที่สุด ไม่มากไม่น้อยไปสำหรับการเป็นสมาร์ทโฟน?
โดยในงานนี้ นอกเหนือจะมีการเปิดตัว LG G2 แล้ว ยังได้ฤกษ์แนะนำผู้บริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ LG ประจำประเทศไทยท่านใหม่ด้วย นั่นคือคุณอนุพันธ์ ภักดีศุภฤทธิ์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง
ส่วนภาพบนนั้น คือ มร.ยอน โฮ (ไมเคิล) เจิง กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ LG ประเทศไทยมากล่าวเปิดงานในครั้งนี้ด้วยครับ
ด้านคุณอนุพันธ์ได้ออกมากล่าวถึงภาพรวมของตลาด รวมไปถึงแนวทางของ LG ประเทศไทยที่จะดำเนินการในขั้นต่อๆ ไป โดยสองภาพบนคือข้อมูลที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในประเทศไทย ถึงความคิดเห็นและภาพลักษณ์ของมือถือ LG ในสายตาผู้บริโภคในไทย พบว่าความเห็นส่วนใหญ่ที่น่าสนใจออกมาดังนี้
- มือถือ LG จัดว่าเป็นแบรนด์ที่มั่นคง เชื่อถือได้ น่าใช้งาน
- LG จัดว่าเป็นแบรนด์ที่ให้ความดูแลใส่ใจลูกค้ามากที่สุด
- จุดอ่อนของ LG คือไม่ค่อยมีเครื่องให้ลองเล่น ช่องทางการจัดโชว์/จำหน่ายสินค้ายังน้อย ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้ยาก หาซื้อไม่สะดวก ทั้งๆ ที่อยากซื้อ
ซึ่งคราวนี้ LG ไทยจะทำการปรับกลยุทธ์การเข้าถึงลูกค้าให้กว้างขวางขึ้น ที่จะเห็นได้ชัดเลยก็คือจะมีการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายและเครื่องตัวอย่างกระจายออกไปตามต่างจังหวัดมากกว่าเดิม คราวนี้เราก็คงน่าจะได้ลองเล่นเครื่องจาก LG กันมากขึ้นแล้วนะครับ
โดยก่อนที่จะกล่าวถึงตัว LG G2 คุณอนุพันธ์ก็ได้พูดถึงความหมายของตัว G ในชื่อด้วย ดังจะเห็นได้ตั้งแต่รุ่นก่อนหน้า ตั้งแต่ Optimus G, Optimus G Pro มาจนถึง G2 ในครั้งนี้ ซึ่งตัว G ที่จริงแล้วมาจากคำว่า Gene ที่หมายถึงยีนในตัวคนเรานี่ล่ะครับ มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์คือเป็นสมาร์ทโฟนที่ออกแบบมาจากการใช้งานร่างกายจริงๆ ของคนเรา โดยเฉพาะนิ้วชี้ที่เป็นนิ้วหลักในการใช้ชีวิตประจำวันเลยทีเดียว
เข้ามาที่เรื่อง LG G2 กันบ้าง โดย G2 เองจะมีด้านเด่ๆ ด้วยกัน 5 ข้อครับ
ข้อแรก คือ Design
ดีไซน์ของ LG G2 ออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้งานจริงมากที่สุด โดยเฉพาะแผงปุ่มกดหลังจอ Rear Key (ที่จะกล่าวในรูปถัดๆ ไป) ส่วนของหน้าจอเองก็มีขนาด 5.2 นิ้ว แต่ตัวเครื่องกลับไม่ใหญ่เกินไป เนื่องจากมีการออกแบบขอบจอให้แคบเพียง 2.65 มิลลิเมตรเท่านั้น
ข้อที่สอง Display
LG เป็นผู้ผลิตจอที่มีชื่อเสียงมากรายหนึ่งของโลก ทั้งจอมอนิเตอร์และจอสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตที่รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่นๆ ด้วย แน่นอนว่า LG ก็ย่อมจะนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใส่ในผลิตภัณฑ์ของตนเอง อย่างเช่นพาเนลจอที่ให้โทนสีไม่สดเกินไป กำลังพอดีๆ สีสันเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ใน LG G2 ยังมีการเพิ่ม GRAM (Graphic RAM) ซึ่งเป็นแรมสำหรับระบบแสดงผลโดยเฉพาะ รองรับเทคโนโลยีใหม่ที่มีชื่อว่า Panel Self Refresh (PSR)
ซึ่ง GRAM นี้ก็คือหน่วยความจำแคชสำรองข้อมูลการแสดงผลภาพออกสู่หน้าจอ เพราะตามปกติแล้ว ไม่ว่าภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว ในปัจจุบัน GPU (ที่อยู่ใน CPU) จำเป็นจะต้องประมวลผลและส่งภาพออกไปสู่จอตลอดเวลา อย่างถ้าใช้การแสดงผลที่เฟรมเรต 60 FPS ก็จะต้องมีภาพถูกประมวลผลและส่งออกไปที่จอถึง 60 ภาพต่อวินาทีตลอดเวลา (ยกเว้นเมื่อปิดจอ) ทำให้ระบบต้องมีการประมวลผลและกินพลังงานอยู่ตลอด แต่ตัว GRAM จะเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยเก็บภาพจากการประมวลผลที่ถูกส่งออกมาเอาไว้สำหรับแสดงผลบนจอ แทนที่จะให้ GPU ส่งภาพไปยังจอโดยตรง ซึ่งในกรณีนี้จะเห็นผลชัดเจนก็เมื่อเป็นการแสดงภาพนิ่ง เช่นเปิดหน้าโฮมทิ้งไว้ เปิดหน้าเว็บ อ่าน ebook ที่เป็นภาพนิ่งๆ ทิ้งไว้อยู่ ระบบก็จะตัดการทำงาน GPU ส่วนที่ประมวลผลภาพใหม่ๆ ออกมา แต่ใช้ข้อมูลที่เก็บไว้ใน GRAM มาแสดงผลแทน ช่วยทำให้ GPU ไม่ต้องกินพลังงานเพื่อประมวลผลภาพนิ่งๆ ใหม่ตลอดเวลา โดย LG ให้ข้อมูลว่าจะช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 26% เลย (สำหรับการแสดงภาพนิ่ง)
แต่ถ้าเป็นภาพเคลื่อนไหว อันนี้อาจจะช่วยไม่ได้มากครับ เพราะระบบก็ต้องพึ่งการประมวลผลของ GPU ตลอดเวลาอยู่ดี
ข้อที่สาม Camera
LG G2 ติดตั้งกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซลที่มาพร้อมระบบกันสั่น OIS ระดับฮาร์ดแวร์ นั่นคือมีการติดมอเตอร์ช่วยชดเชยการสั่นไหวมาให้กับชุดกล้องหลังเลย ผิดจากหลายๆ รุ่นที่แม้จะมี OIS มาให้ แต่ก็เป็นการลดการสั่นจากการประมวลผลด้วยซอฟต์แวร์ แถมยังสามารถถ่ายในที่มีแสงน้อยได้ดีอีกด้วย โดย LG ได้จัดการทดลองส่ง LG G2 ขึ้นบอลลูนขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศของโลก แล้วถ่ายภาพและวิดีโอส่งกลับมา ซึ่งภาพที่เห็นด้านซ้ายล่างคือตัวอย่างจากวิดีโอที่ LG G2 ถ่ายเมื่อลอยสูงขึ้นไปจากผิวโลกกว่า 30 กิโลเมตร อุณหภูมิ -50 องศาเซลเซียส เพื่อรับรองว่า LG G2 สามารถถ่ายภาพและวิดีโอได้ดีจริงๆ (ซึ่งจะจริงหรือไม่ ถ้าทางเราได้รีวิวคงได้เห็นกันครับ)
ส่วนอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ Audio Zoom ที่เราสามารถเลือกซูมเข้าไปหาเป้าหมายของเสียงขณะบันทึกวิดีโอ เพื่อโฟกัสไปที่เสียงของตำแหน่งๆ นั้นเป็นหลักได้ ทำให้สามารถเก็บเสียงที่ต้องการได้ดีขึ้น ลดเสียงรบกวนจากรอบข้างลง
ข้อที่สี่ Sound
LG G2 เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกซึ่งมาพร้อมกับระบบเสียงที่รองรับไฟล์ระดับ 24 bit/192 KHz ซึ่งเป็นไฟล์เสียงระดับแผ่น CD Audiophile (DVD-Audio) กันเลยทีเดียว ข้อดีของไฟล์เสียงระดับ 24 bit ก็คือเป็นไฟล์ที่ให้คุณภาพเสียงที่ดี เพราะมีจำนวนบิทในการเก็บข้อมูลเสียงที่มากกว่าปกติ (ไฟล์เพลงส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะอยู่ที่ 16 bit ถ้าจากแผ่น CD เพลงก็อยู่ที่ 16 bit/44.1 KHz เท่านั้น) ซึ่งไฟล์ระดับนี้จัดว่าเป็นระดับเดียวกับไฟล์ที่ได้จากห้องอัดจริงๆ เลย
แต่ทั้งนี้การจะใช้งานได้อย่างเต็มที่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวไฟล์เป็นหลักครับ สำหรับใครที่เป็นกลุ่มหูทอง มีไฟล์เสียงระดับเทพๆ อยู่แล้ว คงชอบใจกับฟีเจอร์นี้ใน LG G2 กันบ้างแน่ๆ (ว่าแล้วชักอยากลอง)
ข้อที่ห้า UX
UX ย่อมาจาก User Experience ที่กล่าวถึงการออกแบบหน้าตาอินเตอร์เฟสให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ง่าย ได้รับประสบการณ์การทำงานที่ดี โดยในครั้งนี้ LG ได้นำเสนออินเตอร์เฟสด้วยกันสี่ตัว ได้แก่
- Slide Aside ที่ผู้ใช้สามารถปาดเรียกหน้าจออื่นๆ เพื่อสลับการทำงานได้อย่างรวดเร็ว โดยที่แต่ละแอพก็ยัง active อยู่ เช่น เว็บเบราเซอร์ก็ยังโหลดหน้าเว็บอยู่ อีกหน้าหนึ่งก็สามารถเปิดอีเมลไปด้วยได้แบบไม่ได้หยุดการทำงานใดๆ ชั่วคราวเลย สำหรับใครที่ใช้งาน Linux หรือ Mac อยู่แล้วคงจะคุ้นเคยกันดี เพราะมันก็คือการสับเปลี่ยน Workspace นั่นเองครับ
- Plug & Pop สำหรับใครที่ใช้หูฟังบ่อยๆ ตัวนี้น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกได้ดีระดับหนึ่งเลย เพราะเมื่อผู้ใช้เสียบหูฟังเข้าไปแล้ว ก็จะมีป๊อปอัพเด้งขึ้นมาให้เราเลือกว่าจะเปิดใช้งานแอพที่เกี่ยวข้องกับหูฟังแอพใด เช่นแอพฟังเพลง แอพโทรศัพท์ เป็นต้น
- QuickRemote อันนี้หลายๆ ท่านอาจจะคุ้นเคยกันไปเมื่อบทความงานเปิดตัว LG Optimus G Pro ของเราแล้วนะครับ
- Guest Mode เป็นโหมดจำกัดการใช้งาน เพื่อป้องกันลูกหลาน หรือคนอื่นเข้าถึง ใช้งานแอพที่เราไม่ต้องการ หลีกเลี่ยงปัญหาการเข้าถึงข้อมูลลับของเรา รวมไปถึงช่วยป้องกันปัญหาการกดจ่ายเงินแบบ In-App Purchase ที่ไม่ตั้งใจได้ด้วย
ถ่ายรูปหมู่กันหน่อยครับ ในงานนี้ได้คุณชาคริตและคุณวุ้นเส้น วิริฒิพา ภักดีประสงค์ แย้มนาม มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วย
ทีนี้มาถึงการจับตัวเครื่อง LG G2 จริงๆ กันบ้าง เริ่มต้นกันที่สเปคก่อน
สเปค LG G2
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 800 (MSM8974) Quad-core ความเร็ว 2.26 GHz มาพร้อม GPU ตัวแรงอย่าง Adreno 330
- แรม 2 GB
- หน้าจอ Full HD IPS ขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080
- Android 4.2.2
- น่าจะมีให้เลือกทั้งรุ่น 16 และ 32 GB
- กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล รองรับระบบป้องกันการสั่นไหว OIS
- กล้องหน้าความละเอียด 2.1 ล้านพิกเซล
- น้ำหนักเพียง 143 กรัม
- แบตเตอรี่ 3000 mAh
- มีให้เลือกทั้งสีดำและสีขาว
- ราคาเริ่มต้นไม่ถึง 20,000 บาท (รุ่น 16 GB)
- สเปค LG G2 แบบเต็มๆ
แรกสัมผัส LG G2 ได้ความรู้สึกเลยว่ามันเบามือมากๆ ซึ่งปกติผมใช้ Nexus 4 อยู่ (จอเล็กกว่านี้ แต่น้ำหนักน้อยกว่า G2 แค่ 3 กรัม) ขนาดตัวเครื่องก็ไม่ได้กว้างมากนัก ส่วนตัวผมว่ามันเล็กกว่ามือถือจอ 5+ นิ้ว หลายๆ รุ่นเลยนะ ใช้งานมือเดียวได้ไม่ค่อยยากเท่าไร ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ LG G2 ขนาดไม่ใหญ่มาก ก็เนื่องมาจากการออกแบบให้ขอบจอมีความบางกว่าปกตินั่นเอง
หน้าจอของ LG G2 ก็ทำได้ตามที่นำเสนอครับ คือให้สีสันที่ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ ไม่สดเกินไป จัดว่าน่าใช้เลยทีเดียว เรื่องความสว่างก็ไม่แพ้ใครแน่ๆ
ด้านบนของจอก็มีกลุ่มของเซ็นเซอร์รับแสง วัดระยะห่าง กล้องหน้า ลำโพงสนทนาตามปกติ และก็มีไฟ LED สำหรับการแจ้งเตือนอยู่ด้วยครับ ส่วนขอบจอด้านล่างไม่มีปุ่มกดอะไรเลย เพราะใช้ปุ่มของตัว Android ทั้งสามปุ่มเลย คือเมนู โฮม และย้อนกลับ
ฟีเจอร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับจอที่น่าสนใจก็คือ Answer Me ที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกดรับสายเองอีกต่อไป เพียงแค่ยกเครื่องขึ้นมาแนบหูเมื่อมีสายโทรเข้ามา ระบบก็จะรับสายให้อัตโนมัติ ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการใช้งานได้เป็นอย่างดี
ซูมให้เห็นขอบจอ LG G2 ชัดๆ ครับ เห็นว่าขอบข้างจอนั้นบางมาก น่าจะถูกใจคนอยากได้ขอบจอบางๆ กันบ้างล่ะรอบนี้
ด้านหลังของ LG G2 ยังคงใช้เป็นพลาสติกผิวมัน ภายในทำเป็นลายจุดสะท้อนแสงคล้ายๆ กับใน LG Optimus G แต่ที่เป็นพระเอกเด่นจริงๆ ก็คือแถบปุ่มด้านหลังที่ได้ชื่อว่า Rear Key ครับ ซึ่งจะแยกออกเป็น 3 ปุ่มด้วยกัน ได้แก่
- ปุ่มลูกศรชี้ขึ้น ตามปกติแล้วจะใช้เป็นปุ่มเพิ่มเสียง แต่ถ้าในระหว่างปิดหน้าจออยู่ หากกดค้างไว้จะเป็นการเรียกแอพ QuickMemo มาสำหรับจดบันทึก/วาดรูป เพื่อความรวดเร็วในการใช้งาน
- ปุ่มกลาง เป็นปุ่มปิด/เปิด/ปลดล็อกหน้าจอตามปกติ จะเห็นว่ามีไฟ LED สว่างขึ้นมารอบปุ่มด้วย ซึ่งไฟนี้เกิดขึ้นตอนที่ผมกดปิดหน้าจอลงไปครับ ส่วนการทำงานโดยละเอียด คงต้องตอนได้เครื่องมารีวิว ถึงจะได้ลองอย่างเต็มที่อีกที
- ปุ่มลูกศรชี้ลง ตามปกติแล้วจะใช้เป็นปุ่มลดเสียง แต่ถ้าในระหว่างปิดจออยู่ หากกดค้างไว้จะเป็นการเปิดใช้งานกล้องถ่ายรูปครับ สะดวกมากๆ ในการถ่ายรูปอย่างรวดเร็ว และที่จะเห็นประโยชน์ที่สุดก็คือการใช้กดชัตเตอร์ถ่ายรูปตัวเองด้วยกล้องหน้า เพราะสามารถใช้นิ้วชี้กดปุ่ม Rear Key เพื่อถ่ายรูปได้เลย ไม่ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือเอื้อมมากดที่หน้าจอหรือปุ่มข้างเครื่องอีกต่อไป
เรื่องของการใช้งานปุ่ม Rear Key จริงๆ นั้น เท่าที่ได้พรีวิว LG G2 ในงาน คงยังบอกอะไรไม่ได้มากนักครับ เหตุเพราะนิ้วยังชินกับการกดปุ่มปลดล็อกหน้าจอตรงข้างเครื่องอยู่เลย ยังสับสนและลึมไปว่าปุ่มมันย้ายไปอยู่ด้านหลัง
ส่วนด้านบนเหนือ Rear Key ขึ้นไปก็เป็นกล้องหลังที่อยู่ในแนวเดียวกับแฟลช LED ครับ
พอดูด้านข้าง จะเห็นว่าแถบปุ่ม Rear Key จะนูนขึ้นมาเล็กน้อยตรงปุ่ม Power นะครับ ช่วยให้สัมผัสและสังเกตได้ง่ายว่าปุ่มใดอยู่ตรงไหน
และสำหรับการปลดล็อกหน้าจอ นอกจากจะใช้ปุ่ม Power ที่อยู่หลังเครื่องแล้ว ยังสามารถทำได้อีกหนึ่งวิธี นั่นคือการใช้นิ้วเคาะจอ 2 ครั้ง จอก็จะติดขึ้นมาพร้อมให้เราได้ปลดล็อกตามรูปแบบที่ตั้งไว้ได้เลย โดยฟีเจอร์นี้ได้ชื่อว่า Knock On นะครับ
กล้องหลังสามารถถ่ายภาพได้ความละเอียดสูงสุด 13 ล้านพิกเซล และถ่ายวิดีโอได้สูงสุดถึง 1080p ที่ 60 fps เลย
ซ้ายบน – ภาพขอบขวาของเครื่อง ไม่มีปุ่มใดๆ เลย
ขวาบน – ภาพขอบซ้ายของเครื่อง มีแถบสำหรับแงะเปิดฝาหลังอยู่
ซ้ายล่าง – ด้านบนของเครื่อง มีช่องไมค์ตัดเสียงรบกวน ส่วนจุดดำด้านขวานั้น เป็นช่องอินฟราเรดสำหรับใช้เป็นรีโมทสั่งงาน
ขวาล่าง – ด้านล่างของเครื่อง มีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรปกติ และช่องลำโพง
ก็พอหอมปากหอมคอกันไปนะครับ สำหรับการแฮนด์ออน พรีวิว LG G2 จากงานเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย โดยจะขอสรุปประเด็นสำคัญๆ ได้เป็นดังนี้
- LG G2 จะเริ่มวางขายช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้
- เราน่าจะได้เห็น LG G2 วางขายในงาน Thailand Mobile Expo 2013 Showcase ที่จะจัดในวันที่ 3-6 ตุลาคมนี้พอดิบพอดี
- ราคาเริ่มต้นไม่ถึง 20,000 บาท ซึ่งก็น่าจะเป็นรุ่น 16 GB คาดเดาว่าน่าจะ 18,000 – 19,900 บาท ตามระดับของรุ่นไฮเอนด์?
- ส่วนรุ่นความจุ 32 GB น่าจะมีราคาออกมาเกิน 20,000 บาทเล็กน้อย