ในตลาดสมาร์ทโฟน Android ผู้ผลิตแต่ละรายก็มักจะสรรหาสารพัดฟีเจอร์มาใส่ในผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้าให้สามารถใช้งานเครื่องได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่ก็มีหลายๆ คนที่ไม่ได้อยากได้ฟีเจอร์รวมไปถึงแอพติดเครื่องต่างๆ ที่แถมมาให้ ซึ่งสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ก็จะมีเครื่องในตระกูล Nexus ที่เป็นเครื่องของ Google เอง อย่างในปีนี้ก็เป็นปีของ Nexus 5 ซึ่งทางเราก็ไม่พลาดที่จะรีวิว Nexus 5 ให้ได้ชมกันอีกเช่นเคยครับ โดยก่อนที่จะไปชมรีวิว Nexus 5 กันแบบเต็มๆ เรามารับทราบข้อมูลเบื้องต้นของ Nexus 5 กันซักเล็กน้อยครับ
เกริ่นนำรีวิว Nexus 5
Nexus 5 เป็นสมาร์ทโฟนที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง Google กับ LG โดยฝั่ง Google เป็นผู้กำหนดสเปค จัดการเรื่องซอฟต์แวร์ รวมไปถึงเป็นผู้จัดจำหน่ายเองด้วย ส่วนฝั่ง LG จะรับหน้าที่ในส่วนของการผลิตเครื่องเป็นหลัก เช่นเดียวกับ Nexus 4 ที่ออกมาเมื่อปีก่อน โดยสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตตระกูล Nexus จะมีจุดเด่นก็คือเรื่องความเป็น Pure Google ด้านการอัพเดต Android ก็จะได้รับอัพเดตก่อนทุกรุ่นในตลาด เพราะเสมือนว่าเป็นเครื่องของ Google เอง อีกทั้งยังไม่มีแอพเสริมต่างๆ ติดมาในเครื่องให้วุ่นวายอีกด้วย แต่ก็จะมีข้อเสียคือไม่มีฟีเจอร์เด่นๆ ให้เล่นเลย เช่นพวกฟีเจอร์พิเศษของกล้อง เป็นต้น
จุดเด่นที่น่าดึงดูดใจที่สุดของเครื่องตระกูล Nexus ก็คือราคาขายเครื่อง อย่าง Nexus 5 เองก็เปิดราคาในต่างประเทศ คิดเป็นเงินไทยแค่ราวๆ 11,000 บาทเท่านั้น แต่ราคาที่เข้ามาขายในไทยจะมีบวกเพิ่มไปอีกพอสมควรครับ เพราะ Google ไม่ได้นำเข้ามาขายเอง ประกอบกับเหตุผลด้านการตลาดด้วย
แกะกล่อง Nexus 5
ฝาครอบกล่องของ Nexus 5 จะเน้นไปที่สีฟ้าเป็นหลัก โดยลายบนกล่องของ Nexus 5 สีดำและสีขาวจะแตกต่างกันเล็กน้อย อย่างด้านหน้าของเครื่องสีดำจะมีแต่รูปหน้าจอเครื่องเท่านั้น แต่เครื่องสีขาวจะมีสันข้างเครื่องโผล่มา ทำให้เห็นว่าฝาหลังเป็นสีขาว
ส่วนหลังฝาครอบก็จะมีสีฝาหลังที่แตกต่างกันชัดเจนครับ ช่วยให้แยกได้ง่ายว่า Nexus 5 ที่อยู่ในกล่องเป็นสีดำหรือสีขาว
ภายในกล่อง เมื่อถอดฝาครอบออกก็จะพบกับกล่องกระดาษแข็งสีขาวอยู่ ให้ดึงฝาปิดออกก็จะพบกับตัวเครื่อง Nexus 5 อยู่ด้านบนสุดของกล่อง (มีแผ่นพลาสติกปิดจอมาให้ด้วย) ส่วนอุปกรณ์ภายในก็มีมาแค่ของพื้นฐานครับ ได้แก่ สาย Micro USB, อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 1.2A, เข็มจิ้มถาดซิม, คู่มือและเอกสารการรับประกัน ส่วนหูฟังนั้นไม่มีแถมมาให้นะครับ เช่นเดียวกับ Nexus 4 ที่ไม่มีให้มาในกล่อง
ด้านล่างของกล่องจะมีบาร์โค้ดแสดงพวก serial number และ IMEI อยู่ จะเห็นเลขโมเดลของ Nexus 5 ชัดเจนครับว่าเป็นรุ่นไหน ถ้าเป็นเครื่องศูนย์ไทยจะเป็น LG-D821 ซึ่งรองรับเครือข่ายมือถือทุกคลื่นในไทย รวมไปถึง 4G LTE 2100 MHz ด้วย ส่วนเลขโมเดล LG-D820 จะเป็นเครื่องสำหรับขายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการรองรับคลื่นมือถือจะต่างจากบ้านเราเล็กน้อย
สเปค Nexus 5
- ชิปประมวลผล Snapdragon 800 (MSM8974) ความเร็ว 2.26 GHz Quad-core มาพร้อม GPU เป็น Adreno 330 ความเร็ว 450 MHz
- แรม 2 GB
- หน้าจอพาเนล IPS ขนาด 4.95 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080 Full HD
- กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 3
- พื้นที่เก็บข้อมูลมีให้เลือกทั้ง 16 และ 32 GB โดยเครื่องศูนย์ที่ขายในไทยจะมีแต่ 16 GB
- ไม่มีช่องใส่ MicroSD
- มาพร้อม Android 4.4 Kit Kat
- รองรับ 3G ทุกเครือข่าย สามารถใช้งาน 4G LTE ได้
- ใช้ซิมแบบ Micro SIM
- กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล มาพร้อมระบบกันสั่น OIS แบบฮาร์ดแวร์ใกล้เคียงกับใน LG G2
- กล้องหน้าความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล
- แบตเตอรี่ความจุ 2300 mAh
- น้ำหนัก 130 กรัม
- ติดตั้งเซ็นเซอร์วัดความกดอากาศ? (Barometer) และเซ็นเซอร์วัดการเดินมาในตัว
- รองรับการชาร์จไฟแบบไร้สาย
- ราคา 16,900 บาท
- สเปค Nexus 5
ในด้านของสเปค Nexus 5 เรียกว่าจัดอยู่ในระดับเดียวกับตัวท็อปในตลาดหลายๆ รุ่นเลย โดยเฉพาะชิปประมวลผล แรมและความละเอียดหน้าจอ ยิ่งเปิดมาในราคาที่อยู่ในระดับที่โอเค (แม้จะบวกจากราคาต่างประเทศไปพอสมควรก็ตาม) รวมๆ แล้วก็ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนตัวแรงที่น่าสนใจมากๆ สำหรับคนที่อยากได้มือถือ Android แรงๆ ราคาสมน้ำสมเนื้อ ยิ่งถ้าใครซื้อเครื่องมาจากต่างประเทศหรือได้ราคาดีๆ มาก็ยิ่งคุ้มเข้าไปใหญ่ล่ะครับ
หน้าตา Nexus 5
รูปทรงของ Nexus 5 ก็จะมีลักษณะใกล้เคียงกับ LG G2 (รีวิว LG G2) อยู่ครับ จุดเด่นคือขอบจอด้านข้างที่บาง ทำให้ตัวเครื่องไม่จัดว่าใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นไฮเอนด์ของหลายแบรนด์ที่มักมาพร้อมจอใหญ่และเครื่องก็ใหญ่ตาม แต่ Nexus 5 มีตัวเครื่องที่ไม่จัดว่าใหญ่เกินไปครับ ใครที่ใช้งาน Nexus 4 หรือสมาร์ทโฟนที่จอใหญ่กว่า 4.5 นิ้วมาก่อนก็คงปรับมือให้ชินได้ไม่ยากนัก จะมีปัญหานิดหน่อยก็คือเรื่องขอบเครื่องส่วนที่มาชนกับขอบกระจกจะนูนสูงขึ้นมากว่าตัวแผ่นกระจกปิดหน่อยจอเล็กน้อย ทำให้ดูเหมือนขอบเครื่องมันดูคมเกินไป ต่างจาก Nexus 4 ที่โค้งมนดูเป็นมิตรมากกว่า
หน้าจอของ Nexus 5 ใช้พาเนล IPS ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานของจอสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ซึ่งคราวนี้มาได้สมศักดิ์ศรีความเป็น IPS และสมกับที่เป็นมือถือที่ผลิตโดย LG ยิ่งขึ้นกว่า Nexus 4 อีกครับ เพราะหน้าจอทำออกมาได้สวย เนียนตา มุมมองกว้าง สีสันจัดว่าโอเคเลย อาจจะดูซีดกว่าเจ้าอื่นนิดหน่อย โดยเท่าที่ใช้งานมา ส่วนตัวผมคิดว่าจอ Nexus 5 มีสีที่สดกว่า Sony Xperia Z1 นิดหน่อย แต่ถ้าเทียบกับ LG G2 แล้ว ตัว G2 จะสดกว่ามากๆ ด้านของความสว่างจอ Nexus 5 ก็ทำออกมาได้สว่างพอดีๆ กับการใช้งานกลางแจ้งที่มีแดดพอประมาณ แต่ถ้าไปเจอแดดตอนเที่ยงๆ นี่ก็คงต้องเพ่งกันพอสมควร เพราะสู้แสงจ้าขนาดนั้นไม่ได้ครับ
จากระยะเวลาที่ใช้งานมาประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนตัวผมพบปัญหาเรื่องระดับความสว่างหน้าจอของ Nexus 5 คือเรื่องระบบปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ เนื่องจากพอเวลาใช้งานกลางคืน ปรากฏว่าระบบปรับความสว่างจอให้สว่างมากเกินไปจนแยงตา ทั้งๆ ที่จริงแล้วยังสามารถปรับลดความสว่างลงได้อีก ทำให้ผมต้องไปปรับลดความสว่างด้วยมือเองทุกครั้งเวลาเริ่มใช้งานเครื่องในเวลากลางคืน ซึ่งปัญหานี้ดูแล้วน่าจะเป็นปัญหาที่ซอฟต์แวร์ครับ ก็หวังว่า Google จะออกแพทช์แก้ปัญหานี้ได้ในไม่นานนี้
ด้านบนเหนือจอ Nexus 5 จะมีอุปกรณ์ให้เห็นเหมือนๆ กับสมาร์ทโฟนทั่วไปครับ ซ้ายสุดเป็นกล้องหน้า ตรงกลางเป็นลำโพงสนทนาที่จัดว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นบนตัวเครื่อง Nexus 5 เนื่องจากทำออกมาเป็นรูปวงกลม แตกต่างไปจากมือถือทั่วๆ ไปที่มักเป็นขีดแนวนอนยาวๆ ส่วนริมขวาสุดเป็นเซ็นเซอร์วัดแสงและวัดระยะห่าง (Proximity) โดยจากที่เห็นในภาพจะเห็นว่ารอบๆ กล้อง ช่องลำโพงจะมีวงกลมครอบอยู่ นั่นคือฟิล์มกันรอยของ Focus ที่ dtac แถมมาให้ตอนซื้อเครื่องผ่าน Online Store ครับ เป็นฟิล์มใสปกติ
ด้านล่างของจอไม่มีปุ่มกดใดๆ อยู่เลย เหตุเพราะ Nexus 5 ใช้ปุ่มกดแบบซอฟต์แวร์ของตัว Android เองที่จะเห็นอยู่บนแถบใสทั้งสามปุ่ม และอันที่จริงแล้วตรงแถบดำด้านล่างของจอนี้จะมีไฟ LED Notification สำหรับช่วยในการแจ้งเตือนด้วยครับ อยู่บริเวณกึ่งกลางของแถบดำ ไฟติดเป็นลักษณะเดียวกับใน Nexus 4 เลย?
พลิกมาดูด้านหลังของ Nexus 5 กันบ้าง ลักษณะหน้าตามันจะค่อนข้างคล้ายกับ Nexus 7 (2013) มากครับ ที่เห็นได้ชัดก็คือคำว่า nexus ที่วางตัวในแนวเดียวกับทางยาวของเครื่อง โดยเฉพาะวัสดุที่เป็นแบบเดียวกันเลยก็ว่าได้ นั่นคือพลาสติกที่เคลือบผิวยางแบบซอฟต์ทัช ให้ความรู้สึกนิ่มเล็กน้อย ลื่น จับแล้วสบายมือ แต่อาจจะเป็นรอยขีดข่วนได้ง่ายพอสมควร เท่าที่ลองใช้งานทั้งสีดำและสีขาว พบว่าผิวของเครื่องสีดำจะมีความหนืดมือกว่าสีขาวนิดหน่อย สามารถจับได้กระชับมือทั้งสองสี เพราะตรงริมๆ ของแต่ละด้านจะมีความโค้ง ช่วยให้สามารถถือเครื่องไว้ในอุ้งมือได้สะดวก
ส่วนที่เด่นของฝาหลัง Nexus 5 อีกจุดหนึ่งก็คือกล้องหลังที่มีขนาดโมดูลกล้องค่อนข้างใหญ่ ตัวกระจกปิดเลนส์จะลอยขึ้นมาสูงกว่าระนาบฝาหลังขึ้นมาอีก โดยส่วนขอบของกระจกจะเป็นอะลูมิเนียมนูนสูงขึ้นมา เพื่อป้องกันกระจกสัมผัสกับพื้นโดยตรงเวลาวางเครื่องบนพื้นเรียบแบบหงายหน้าจอขึ้น ซึ่งตรงขอบอะลูมิเนียมนี้ดูเหมือนว่าอาจจะเป็นขอบที่สามารถติดตั้งอุปกรณ์จำพวกเลนส์เสริมเข้าไปกับตัวกล้องแบบเดียวกับกล้อง iPhone ได้ด้วย อันนี้ก็คงต้องดูต่อไปในอนาคตครับว่าจะมีคนทำเลนส์เสริมมาให้ใช้กับ Nexus 5 บ้างหรือเปล่า
ข้างขวาของ Nexus 5 จะมีปุ่ม Power อยู่ ส่วนที่เป็นแถบยาวๆ และมีช่องเล็กๆ อยู่ อันนั้นคือถาดใส่ซิมและช่องสำหรับแทงเข็มจิ้มถาดซิมครับ
ส่วนฝั่งซ้ายจะมีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงอยู่ ซึ่งปุ่มกดทั้งสองด้านของ Nexus 5 ทำมาจากเซรามิค ตัวผิวปุ่มจะค่อนข้างลื่น แต่ขอบปุ่มคมไปหน่อยครับ
ซึ่งส่วนของขอบเครื่องนี้ Nexus 5 รุ่นสีดำจะใช้พื้นผิวเป็นแบบซอฟต์ทัชทั้งหมด แต่สีขาวจะใช้เป็นพลาสติกผิวมันวาว สะท้อนรอยนิ้วมือง่าย แต่ก็ทำให้ตัวเครื่องสีขาวดูแวววาวและหรูหรากว่าสีดำเล็กน้อย ในขณะที่สีดำจะมืดๆ ทึมๆ ไปหน่อยเมื่อเทียบกับเครื่องสีขาว
ด้านบนมีช่องรับเสียงของไมค์ช่วยตัดเสียงรบกวน ส่วนริมขวาคือช่องหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรตามปกติ
ด้านล่างของ Nexus 5 ก็จะมีพอร์ตเชื่อมต่อคือช่อง Micro USB (Google ใช้ชื่อเรียกว่า SlimPort) ส่วนช่องตะแกรงทั้งสองฝั่งนั้น ถ้าหงายจอขึ้นด้านบน ฝั่งซ้ายจะเป็นช่องลำโพงเพียงช่องเดียว ส่วนฝั่งขวาจะเป็นช่องรับเสียงของไมค์สนทนา สรุปคือ Nexus 5 มีลำโพงสำหรับส่งเสียงแจ้งเตือน เสียงริงโทน เสียงเพลงเพียงตัวเดียวครับ แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดีกว่าตอน Nexus 4 ที่วางช่องปล่อยเสียงของลำโพงไว้บนฝาหลัง ทำให้อาจไม่ได้ยินเสียงแจ้งเตือนเวลาวางเครื่องแบบหงายหน้าจอขึ้น แต่ในกรณีของ Nexus 5 นับว่าแก้ปัญหาได้ดีเลยกับการวางลำโพงไว้ด้านล่างที่ไม่น่าจะถูกบังได้ง่ายเหมือนรุ่นเก่า
คุณภาพเสียงของลำโพงก็จัดว่าธรรมดาครับ ไม่ได้มีอะไรพิเศษ
เปรียบเทียบ Nexus 5 กับ Nexus 4
ขนาดตัวเครื่องของ Nexus 5 และ Nexus 4 ดูจะไม่แตกต่างกันมากนัก ด้านกว้างนี้จัดว่าใกล้เคียงกันมากๆ ทำให้ความรู้สึกในการจับ Nexus 5 ไม่แตกต่างจาก Nexus 4 มากนัก จะมีก็เรื่องความยาวหน้าจอที่สูงขึ้นเล็กน้อย สาเหตุที่ขนาดหน้าจอของ Nexus 5 ใหญ่ขึ้น แต่ความกว้างของจอแทบจะเท่าเดิมก็เป็นเพราะอัตราส่วนขนาดจอของ Nexus 4 เดิมเป็น 15:9 พอมาเป็น Nexus 5 ได้เปลี่ยนอัตราส่วนหน้าจอเป็น 16:9 จึงทำให้สามารถคงความกว้างของจอไว้เท่าๆ เดิมได้ แต่เพิ่มส่วนของความยาวเข้าไปให้หน้าจอใหญ่กว่าเดิม
กล้อง Nexus 5
ด้านของกล้องถ่ายรูป ตัว Nexus 5 ก็มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ถ้าในส่วนของฮาร์ดแวร์ก็คือเรื่องขนาดเซ็นเซอร์รับภาพที่ใหญ่ขึ้นกว่า Nexus 4 เล็กน้อย กับอีกส่วนที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการเพิ่มโมดูลชดเชยการสั่นไหล (OIS) แบบฮาร์ดแวร์เหมือนๆ กับใน LG G2 เข้ามาด้วย เพื่อช่วยให้สามารถถ่ายวิดีโอได้ดีขึ้น ช่วยในการโฟกัสระหว่างถ่ายภาพให้สามารถจับโฟกัสได้เร็วขึ้น แม่นยำขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเท่าที่ใช้งานมาก็พบว่าสามารถโฟกัสได้เร็วขึ้นจริงครับ ซึ่งก็มีผลมาจากการปรับปรุงด้านฮาร์ดแวร์ผสมกับด้านซอฟต์แวร์ของ Google เองด้วย
ส่วนของซอฟต์แวร์นั้น Google ได้ปรับแต่งโค้ดโมดูลต่างๆ ของ Android 4.4 Kit Kat ที่เกี่ยวกับกล้องถ่ายรูปไปไม่น้อยเลย แต่ที่เห็นผลชัดสุดก็คือการปรับเปลี่ยนโหมด HDR ไปเป็น HDR+ (HDR+ มีเฉพาะใน Nexus 5) ที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นกว่า HDR ปกติ เช่นความสามารถในการถ่ายภาพแบบ HDR ได้เร็วขึ้น จากเดิมที่กว่าจะถ่ายภาพ HDR ได้ต้องเกร็งมือเกร็งตัวกันเต็มที่เพื่อไม่ให้มือสั่น กล้องสั่น เนื่องจากโหมด HDR ระบบจะถ่ายภาพหลายๆ ช็อตติดกันด้วยการปรับชดเชยความสว่างที่แตกต่างกัน จากนั้นจึงนำทุกภาพที่ถ่ายเก็บไว้มาประมวลผลรวมเป็นภาพเดียว เพื่อให้ได้ภาพที่มี Dynamic Range สูง เห็นรายละเอียดภายในภาพโดยเฉพาะส่วนมืดได้ชัดเจนขึ้นกว่าถ่ายภาพด้วยโหมดปกติ
แต่ในโหมด HDR+ นี้ได้รับการปรับปรุงเรื่องความเร็วขึ้นมาจริงๆ ครับ แต่ก็ยังไม่เร็วเท่ากับ iPhone อยู่ดี คุณภาพของภาพที่ออกมาก็จัดว่าโอเคอยู่ ส่วน UI และโหมดการปรับแต่งก็ยังคงเหมือนเดิม
ตัวอย่างภาพถ่าย Nexus 5 จากกล้องหลัง
โหมด HDR+
สำหรับตัวอย่างภาพถ่ายทั้งหมด พร้อมภาพเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายจาก Nexus 5 กับ Nexus 4 สามารถเข้าไปอ่านต่อได้ที่บทความนี้ครับ
>> ตัวอย่างภาพถ่ายจาก Nexus 5 สดๆ จากกล้องหลัง พร้อมเปรียบเทียบกับ Nexus 4 <<
ตัวอย่างอินเตอร์เฟส Nexus 5
ด้านของอินเตอร์เฟส Nexus 5 นั้น ก็ต้องอิงมาจากตัวของ Android 4.4 Kit Kat นะครับ จุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับรุ่นเก่าลงมาก็คือแถบ Notification และแถบของปุ่มด้านล่างที่เปลี่ยนจากสีดำมาเป็นแบบโปร่งใส ทำให้มองเห็นภาพพื้นหลังได้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะโปร่งใสเฉพาะหน้าโฮมสกรีนและหน้ารวมแอพเท่านั้นครับ ในหน้าจอแอพพลิเคชันต่างๆ ก็จะยังคงใช้พื้นหลังของทั้งสองแถบเป็นสีดำเช่นเดิม
อีกจุดหนึ่งที่สังเกตความแตกต่างได้ก็คือไอคอนที่ปรับเปลี่ยนหน้าตาไป ทั้งยังดูใหญ่ขึ้นกว่าเดิมด้วย
Nexus 5 ติดตั้งมาพร้อมกับ Android 4.4 Kit Kat รหัส KRT16M เปิดเครื่องมาพร้อมใช้งานได้ทันทีครับ ซึ่งตัวของ Android 4.4 เองไม่จัดว่าเป็น major change มากนัก เพราะเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนคอร์ภายในบางส่วนมากกว่า เช่นการปรับระบบให้สามารถทำงานบนเครื่องสเปคไม่สูงมากนักได้ (เริ่มตั้งแต่เครื่องที่มีแรม 512 MB เป็นต้นไป) ทั้งยังมีการเพิ่มชุดคำสั่ง API เข้ามาในระบบอีกหลายอย่างเลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นเรื่องของส่วนนักพัฒนาแอพซะเป็นส่วนมากครับ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Android 4.4 Kit Kat ได้ที่เว็บไซต์เป็นทางการของ Android ได้ครับ (เป็นภาษาอังกฤษ)
สำหรับผู้ใช้ทั่วไปอย่างเราๆ จุดที่เห็นประโยชน์ได้ชัดเจนก็คือความเร็วของระบบที่เร็วขึ้นกว่าเดิม ยิ่งมาพร้อมกับสเปคระดับท็อปอย่าง Nexus 5 ก็ยิ่งทำให้ความเร็วระบบ การตอบสนองการใช้งานออกมาไหลลื่นและเร็วขึ้นกว่าเก่าเสียอีก ซึ่งเครื่องรุ่นเก่าอย่าง Nexus 4 เมื่อได้อัพเดตเป็น Android 4.4 ก็ให้ความเร็วออกมาดีเยี่ยมเช่นเดียวกันครับ
เมื่อเปิดเครื่องใช้งานครั้งแรก Nexus 5 ความจุ 16 GB จะเหลือพื้นที่ให้ใช้งานราวๆ 12 GB กว่าๆ ด้วยกัน ซึ่งค่อนข้างเพียงพอสำหรับคนที่ลงแอพแต่พอใช้ ไม่ได้ดูหนังในเครื่องมากมายครับ แต่ถ้าใครไม่มั่นใจก็ยอมบวกเงินเพิ่มเป็นรุ่น 32 GB (เครื่องหิ้ว) ก็ได้
ถ้าลองดูในหน้ารวมแอพ จะพบว่ารูปแบบตัวอักษรที่แสดงชื่อแอพดูแปลกตาไปซักหน่อยครับ เป็นตัวผอมๆ สูงๆ ส่วนตัวผมชอบแบบเดิมมากกว่านะ
อีกหนึ่งจุดเด่นของ Nexus 5 ก็คือตัว Google Now ที่ผู้ใช้สามารถสั่งงานด้วยเสียงได้โดยไม่ต้องเปิดการทำงานใดๆ ก่อน เพียงแค่เปิดหน้าจอไว้ที่หน้าโฮมสกรีนตามปกติ จากนั้นก็พูดใส่มือถือว่า OK Google เพียงเท่านี้ระบบก็พร้อมจะรับคำสั่งเสียงจากผู้ใช้งานแล้วครับ อย่างในภาพข้างซ้ายบนผมก็ลองสั่งให้มันตั้งนาฬิกาปลุกตอน 9 โมงเช้าของพรุ่งนี้ ส่วนภาพขวาผมสั่งให้ระบบเปิดแอพ Facebook ขึ้นมา ความแม่นยำและการเดาเสียงของระบบจัดว่าดีเยี่ยมเลย สำเนียงไม่จำเป็นว่าต้องเป๊ะตามหลักภาษาอังกฤษ 100% ขอให้ชัดเจนและพอฟังออกว่าเป็นคำว่าอะไรก็พอไหวแล้วครับ ถ้าจะรองรับภาษาไทยในอนาคตก็คงเยี่ยมไปเลย
ด้านของคีย์บอร์ดพื้นฐาน Android ที่ติดตั้งมาให้นั้น หน้าตาก็เหมือนๆ เดิมครับ แต่มีการปรับเปลี่ยน layout จาก Android 4.3 เล็กน้อย ที่ส่งผลกระทบกับตัวผมเองมากที่สุดก็คือการย้ายปุ่ม _ มาไว้แถวล่างสุด และปรับขนาดปุ่ม spacebar ให้เล็กลงในหน้าแป้นตัวเลข แต่ปรับตัวไปซักพักก็ชินไปเองครับ เพราะ layout ปุ่มหลักๆ ยังเหมือนเดิม?ความแม่นยำในการกดก็ทำได้ดีเลย สามารถพิมพ์เร็วๆ ได้สบาย และด้วยหน้าจอที่ไม่กว้างมากนัก ทำให้ยังสามารถพิมพ์ด้วยมือข้างเดียวได้อยู่ ส่วนการลากเป็นคำ (Swipe) ก็ยังรองรับอยู่ครับ แต่เป็นเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น
หน้าตาของแอพโทรศัพท์ใน Android 4.4 มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมชัดเจนครับ โดยจะเป็นการรวมทุกอย่างไว้ในหน้าเดียวหมดเลย ไม่มีการเลื่อนหน้าไปซ้าย-ขวาอีกแล้ว โดยหน้าแรกสุดจะแสดงรายชื่อเพื่อนที่เราเพิ่มไว้ในกลุ่ม favorite ก่อน ถ้าจะดูรายชื่อทั้งหมดต้องกดที่ปุ่ม All contacts ส่วนถ้าจะกดเลขหมายที่ต้องการก็ให้กดที่สัญลักษณ์แป้นปุ่มโทรศัพท์ที่อยู่ด้านล่างกลางจอ แป้นโทรศัพท์จึงจะโผล่ขึ้นมาในหน้าเดียวกัน (ภาพซ้ายบน)?
ส่วนหน้าตาแอพกล้องก็เหมือนๆ เดิมกับใน Android 4.2 ครับ ถ้าใครใช้ Nexus 4 มาก่อนก็คงชินมือกันไปแล้ว การจับโฟกัสก็ใช้การแตะเลือกจุดได้เลย ความไวและความแม่นยำในการโฟกัสก็ดีขึ้นกว่า Nexus 4 นิดๆ ย้ำว่านิดๆ จริงๆ ถ้ามือไม่นิ่งก็มีปัญหาอยู่บ้างเหมือนกัน
ส่วนข้อนี้นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจุดหนึ่งของ Android 4.4 เลย นั่นคือการเพิ่ม runtime แบบ ART ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ และจะเข้ามาแทนแบบ dalvik ที่ใช้กันมาตั้งแต่ Android ยุคแรกเริ่มมาจนถึงปัจจุบัน โดยเจ้า runtime นี้ถ้าให้อธิบายง่ายๆ มันก็คือกระบวนการแปลงและประมวลผลโค้ดโปรแกรมของแอพให้ CPU สามารถทำงานได้ ซึ่งแบบ dalvik ในปัจจุบัน ระบบจะแปลงโค้ดเฉพาะส่วนที่ใช้งานเท่านั้น ถ้าต้องการใช้งานส่วนใดเพิ่ม ระบบก็จะต้องทำการแปลงโค้ดก่อน จึงจะนำโค้ดไปประมวลผลต่อได้
ส่วนแบบ ART ซึ่ง Google พัฒนาขึ้นมาสำหรับ Android โดยเฉพาะนี้ จะใช้การแปลงโค้ดตั้งแต่ตอนติดตั้งแอพพลิเคชันเลย ทำให้ CPU สามารถนำไปประมวลผลได้เร็ว เริ่มใช้งานแอพได้เร็วขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยพื้นที่การติดตั้งแอพที่เพิ่มขึ้นด้วยนิดหน่อย โดยในขณะนี้ ตัว ART ยังจัดว่าอยู่ในขั้นทดสอบเท่านั้นครับ และยังไม่มีกำหนดด้วยว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานได้ 100% เมื่อไร เพราะส่วนหนึ่ง Google ก็ยังต้องปรับ ART อีก รวมถึงผู้พัฒนาแอพพลิเคชันที่ก็ต้องปรับโค้ดของตนเองให้เรียกประสิทธิภาพของ ART ให้ได้มากกว่าในปัจจุบันอีกด้วย จึงจะสามารถใช้งานได้เต็มกำลังอย่างที่ควรจะเป็น
สำหรับใครที่ใช้งาน Android 4.4 ก็สามารถเปลี่ยนมาลองใช้ ART ได้ครับ โดยเข้าไปที่เมนู Developer options (เปิดใช้งานได้โดยเข้าไปที่หน้า About phone แล้วกดย้ำๆ ที่หัวข้อ Build number จนมันบอกว่าคุณได้เป็น developer แล้ว) พอเข้ามาใน Developer tools ก็ให้เลื่อนลงมาดูที่หัวข้อ Select runtime แล้วเลือก Use ART ได้เลย จากนั้นเครื่องจะ reboot ตัวเอง โดยหลังจากเครื่องเปิดขึ้นมาอีกครั้ง ระบบจะทำการปรับแต่ง (optimizing) โค้ดของแอพพลิเคชันเป็นเวลาซักพักใหญ่ๆ ยิ่งถ้าลงแอพในเครื่องไปแล้ว ก็จะยิ่งใช้เวลามากตามไปด้วย
อันนี้เป็นภาพเทียบกันครับระหว่าง Nexus 5 ที่ใช้ runtimes แบบ dalvik ดั้งเดิม (ซ้าย) และเปลี่ยนมาใช้แบบ ART (ขวา) แบบที่ยังไม่ได้ติดตั้งแอพเพิ่มลงไปทั้งคู่ จะเห็นว่าพื้นที่ Available ลดลง และพื้นที่ที่ใช้ในการติดตั้งแอพพื้นฐานในเครื่องเพิ่มจาก 239 MB ไปเป็น 449 MB
โดยเท่าที่ผมใช้งาน ART มา พบว่าแอพส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันก็สามารถใช้งานได้ปกติดีครับ เช่น Facebook, Facebook Messenger, Twitter, LINE, Skype, Instagram, Foursquare, Ingress, Snapseed, AirDroid, AIS BPL. Camera 360 รวมไปถึงแอพจาก Google ทั้งหลายก็ไม่มีปัญหา จะมีก็แต่ Whatsapp เท่านั้นที่ใช้งานไม่ได้เลย อันนี้ถ้าใครพบว่าแอพไหนยังใช้งานบน ART ไม่ได้อีกบ้าง ก็ลองแจ้งกันเข้ามาได้ครับ เผื่อบางตัวผมก็ไม่ได้ใช้งาน สรุปคือแม้ว่าจะเปลี่ยนไปใช้ ART แต่ก็ยังใช้งานแอพเดิมๆ ได้อยู่
ความรู้สึกจากการใช้งาน runtime แบบ ART ส่วนตัวผมว่ามันทำให้ระบบเร็วขึ้นมากจริงๆ ครับ ที่เห็นชัดสุดก็คือการเปิดแอพ การตอบสนองของระบบต่อการสัมผัส อนิเมชันการเลื่อนหน้าจอต่างๆ หลายจุดนั้นเรียกว่าแทบไม่ต่างจาก iOS บน iPhone เลยด้วยซ้ำ ส่วนตัวที่ผมเคยคิดว่า Nexus 4 เร็วแล้ว ตอนนี้ Nexus 5 มันยังเร็วขึ้นไปได้อีกระดับครับ เจ๋งจริงๆ รวมไปถึงตัวของ Nexus 4 ที่เปลี่ยนไปใช้ ART บน Android 4.4 ก็รู้สึกได้ว่าเร็วขึ้นกว่าเดิมจริง ก็รอกันต่อไปว่าตัว ART จะเสร็จสมบูรณ์ 100% และเข้ามาใช้งานใน Android อย่างเต็มตัวเมื่อไรครับ เมื่อนั้นคงเห็นผลต่างจาก dalvik ที่ชัดเจนกว่าในปัจจุบันแน่ๆ
มาดูส่วนของสเปค Nexus 5 จาก CPU-Z กันบ้าง ก็เป็นไปตามข้อมูลข้างต้นครับไม่มีอะไรน่าแปลกใจเท่าไร
แต่ในส่วนของเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งมาในเครื่อง CPU-Z ก็ตรวจพบว่ามีทั้ง Barometer สำหรับวัดความดันอากาศ (ซึ่งประยุกต์ไปใช้วัดความสูงจากระดับน้ำทะเลได้) ซึ่งสามารถหาแอพจำพวก Barometer จากใน Play Store มาใช้งานได้ รวมไปถึงมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับการเดินของผู้ใช้มาในตัว ลักษณะเดียวกับชิปประมวลผล M7 ใน iPhone 5s, iPad Air และ iPad mini with Retina Display ด้วย ทำให้เราสามารถตรวจจับการเดิน นับก้าวเดินได้โดยไม่ต้องพึ่ง GPS อีกต่อไป ช่วยในการประหยัดแบตเตอรี่ได้ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ตัวแอพพลิเคชันก็ต้องออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับตัวเซ็นเซอร์ด้วยนะครับ ซึ่งเท่าที่ผมลองหาและใช้งานดู พบว่าแอพ Runtastic Pedometer สามารถใช้งานได้เกือบสมบูรณ์ 100% เหลือแค่ว่ายังจำเป็นต้องเปิดหน้าจอตลอดเวลาที่ใช้งานเซ็นเซอร์อยู่เท่านั้นเอง ส่วนแอพอื่นๆ ก็น่าจะมีเพิ่มขึ้นมาในอนาคต
ผลทดสอบประสิทธิภาพ Nexus 5
(รันด้วย runtime แบบ ART)
ด้านของการทดสอบประสิทธิภาพนั้น Nexus 5 ก็จัดว่าทำได้ดีครับอยู่ในระดับบนๆ ของตาราง แต่อาจจะได้คะแนนไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นที่สเปคใกล้เคียงกัน หรือจัดว่าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปๆ เหมือนกัน จึงดูเหมือนว่าคะแนนอาจจะน้อยไปหน่อย
ระยะเวลาการใช้งาน Nexus 5
เท่าที่ผมใช้งาน Nexus 5 มาระยะหนึ่ง เรื่องของการใช้งานแบตเตอรี่ก็จัดว่าไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์แต่อย่างใด นั่นคือใช้งานได้ประมาณเกือบวัน ลักษณะการใช้งานก็ทั่วๆ ไป ได้แก่ต่อ 3G, เล่น Facebook, Twitter, LINE, อีเมล, โทรคุยบ้าง, ถ่ายรูป, อัพรูปขึ้นโซเชียล, แชท เป็นต้น
เนื่องจากสเปคเครื่องที่จัดอยู่ในระดับท็อป (Snapdragon 800 + จอ Full HD) กับแบตเตอรี่ที่มีความจุประมาณ 2300 mAh ซึ่งถือว่าน้อยไปแล้วเมื่อเทียบกับสเปคระดับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับเครื่องรุ่นอื่นที่สเปคเทียบเท่ากัน ต่างล้วนก็ให้แบตเตอรี่มาในระดับ 3000 mAh กันแทบทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าใครจำเป็นต้องใช้งาน Nexus 5 นอกสถานที่ทั้งวัน แนะนำว่าควรมี powerbank ติดตัวไว้ซักอันนึงก็จะดีครับ
แต่ก็มีทิปบางส่วนที่น่าจะช่วยประหยัดและยืดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่บน Nexus 5 รวมถึงเครื่องอื่นที่ใช้ Android 4.4 Kit Kat ได้ด้วย ตามในบทความนี้เลย
>> 5 ทิปช่วยประหยัดแบตเตอรี่บน Android 4.4 Kit Kat <<
สรุปรีวิว Nexus 5
ก็มาถึงส่วนสุดท้ายของรีวิว Nexus 5 แล้วนะครับ นั่นคือการสรุปปิดท้ายถึงภาพรวมทั้งหมด ถ้าจะให้กล่าวถึง Nexus 5 สั้นๆ ก็คือมันเหมาะสำหรับการใช้งานจริง ของคนที่ต้องการความไหลลื่น ความเชื่อถือได้ของระบบ ซึ่งจุดนี้จัดว่าเป็นข้อดีหลักๆ ของเครื่องตระกูล Nexus มาอยู่แล้ว การพัฒนาหลายๆ ด้านจากรุ่นเก่าอย่าง Nexus 4 ก็เห็นผลได้จริงๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจอ เรื่องกล้อง ที่ทำมาได้ดีขึ้น แม้จะยังไม่เทียบชั้นกับเครื่องระดับไฮเอนด์หลายๆ รุ่นก็ตาม
ซึ่งในเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก ถ้ามองราคา Nexus 5 เป็นราคาหมื่นต้นๆ ตามที่ขายในหลายๆ ประเทศ ก็จะมองว่า Nexus 5 เป็นมือถือเครื่องที่สเปคคุ้มค่ามากๆ ก็พอจะลบจุดด้อยบางประการไปได้ แต่ถ้ามองราคา Nexus 5 เป็นราคาในไทย ก็อาจจะกลายเป็นว่าสูงไปหน่อย และหลายๆ อย่างน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ตรงนี้ก็แล้วแต่หลายๆ คนจะมองแล้วล่ะครับ แต่ส่วนตัวผมก็มองว่า Nexus 5 มันคุ้มค่ามากแล้วล่ะ กับองค์ประกอบโดยรวมของมัน
ข้อดี
- ราคาจัดว่าคุ้มค่า เมื่อมองจากสเปค ประสิทธิภาพและความลื่นไหลที่ไม่น้อยหน้า iPhone
- ข้อดีของเครื่องตระกูล Nexus (ได้อัพเดตก่อนใคร, ได้อัพเดตไปอีกนาน ข้อดีอื่นๆ อ่านต่อได้ที่นี่)
- กล้อง จอ ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นจากเดิม
- ตัวเครื่องจับได้ถนัดมือ ไม่ใหญ่จนเกินไป น้ำหนักเบา
ข้อสังเกต
- ราคาเครื่องศูนย์ในไทยเปิดมาสูงไปนิด
- ระบบปรับแสงอัตโนมัติของจอยังทำได้ไม่ค่อยดี แต่น่าจะออกแพทช์มาแก้ไขได้ไม่ยาก
- แบตเตอรี่ให้มาน้อยเกินไป เมื่อพิจารณาจากสเปคเครื่อง