ในทุกวันนี้การชาร์จแบตนับเป็นหนึ่งในกิจวัตรอย่างหนึ่งในชีวิตไปเป็นที่เรียบร้อย เพราะทุกวันนี้อาจบอกได้ว่าคนยุคใหม่ใช้ชีวิตโดยขาดมือถือไปไม่ได้แล้ว และด้วยการใช้งานที่โหดขึ้นตามสเปคที่เพิ่มขึ้นทำให้อย่างน้อยต้องชาร์จวันละครั้ง บางคนอาจชาร์จกันวันละหลาย ๆ ครั้งเลยก็ได้ แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่มีความเชื่อแบบผิด ๆ หลงเหลืออยู่ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุให้เสียเวลา แถมยังอาจทำให้แบตเสื่อมเร็วขึ้นอีกก็ได้
ชาร์ตแบตครั้งแรกต้อง 8 ชั่วโมง
ประโยคที่ว่าก่อนจะใช้มือถือครั้งแรงต้องชาร์ตแบตก่อน 8 ชั่วโมงถึงจะใช้ได้ จนถึงทุกวันนี้ผมยังได้ยินอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งโดยมากแล้วจะมาเป็นคำถามที่ผู้พูดจะเป็นกลุ่มคนที่มีอายุหน่อย แต่ในบางครั้งก็ยังได้ยินประโยคนี้มาจากวัยรุ่นหรือวัยทำงานส่วนน้อยอยู่ ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วการชาร์จแบตครั้งแรก 8 ชั่วโมงนั้นเป็นสิ่งที่อาจจะต้องทำ แต่ก็เป็นเรื่องเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ เพราะสมัยนั้นเทคโนโลยียังพัฒนาไม่มากพอ ในปัจจุบันนี้ไม่ว่าเราจะเสียบชาร์จนานแค่ไหนก็ตาม เมื่อแบตเต็มแล้วตัวเครื่องจะตัดไฟทันที เพื่อเป็นการป้งอกันไฟเกินวิ่งเข้าเครื่อง
ใช้แบตให้หมดแล้วค่อยชาร์จ
เชื่อว่าหลาย ๆ คนยังคงมีความเข้าในผิด ๆ ในเรื่องรอบการชาร์จเพราะแบตเตอรี่สมัยใหม่นี้จะดูความเสื่อมได้จากรอบการชาร์จ ซึ่งหลาย ๆ คนเข้าใจว่าการเสียบชาร์จ 1 ครั้ง = 1 รอบ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการชาร์จ 1 รอบหมายถึงการชาร์จครบ 100% ยกตัวอย่างเช่นเมื่อวานใช้แบตเตอรี่ไป 60% แล้วนำไปชาร์จจนเต็ม ในวันนี้เราใช้ไปอีก 40% แล้วค่อยนำไปชาร์จ รวมแล้วเราใช้ไปจนครบ 100% แบบนี้ถึงจะนับเป็น 1 รอบการชาร์จ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปล่อยให้แบตหมดก่อนถึงค่อยชาร์จ
ห้ามใช้มือถือตอนฝนตก
หากใครเชื่อแบบนี้แสดงว่าคุณนั้นเข้าใจผิดแล้ว เพราะแม้ว่ามือถือจะเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่ก็มีประจุไฟฟ้าไม่มากพอต่อการเป็นสื่อล่อฟ้าได้ หรือแม้แต่สัญญาณมือถือเองก็ไม่สามารถทำให้ประจุไฟฟ้าในอากาศแตกตัวจนเป็นสื่อให้ฟ้าผ่าได้เช่นกัน ทั้งนี้แม้ว่าปรากฏการณ์ฟ้าผ่าจะเกิดขึ้นปีละหลายพันครั้ง แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์จะโดนฟ้าผ่าโดยตรง และหากคุณใช้มือถืออยู่ในตัวเมืองแล้วแทบจะไม่มีทางถูกฟ้าผ่าได้เลย เพราะตึกหรืออาคารต่าง ๆ จะเป็นจุดล่อสายฟ้าแทนเรานั่นเอง
ใช้มือถือนาน ๆ จะทำให้สมองเสื่อม
คงเคยได้ยินใช่ไหมว่าการใช้มือถือที่ดีคือห้ามคุยโทรศัพท์นานเกินไป หรือห้ามวางมือถือข้าง ๆ หัวนอน เพราะคลื่นไฟฟ้าจะไปรบกวนสมอง อาจทำให้สมองเสื่อมหรือเป็นมะเร็งสมองได้ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้เป็นแค่สมมุติฐานที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างเป็นทางการ เพราะไม่มีงานวิจัยมารองรับว่าคลื่นไฟฟ้าจากมือถือนั้นเป็นอันตรายต่อมนุษย์ คลื่นไฟฟ้าจากมือถือเป็นเพียงคลื่นอ่อนไม่มีพลังงานมากพอต่อการเกิดปฏิกิริยาในระดับเซลล์ และไม่มีความร้อนเพียงพอที่จะส่งผลต่ออุณหภูมิในร่างกาย อีกทั้งยังมีงานวิจัยอีกหลายอย่างสนับสนุนว่าคลื่นไฟฟ้าจากมือถือไม่สร้างผลกระทบใด ๆ ต่อสมองมนุษย์อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดกัน
ใช้ที่ชาร์จที่มีกำลังไฟสูง ๆ ช่วยให้ชาร์จเร็วขึ้น
เชื่อว่ายังมีคนที่เข้าใจว่ายิ่งใช้อะแดปเตอร์ชาร์จไฟกำลังสูง ๆ จะช่วยให้สามารถชาร์จได้เร็วขึ้น ยิ่งในปัจจุบันพอร์ตชาร์จเปลี่ยนเป็น USB Type-C กันเกือบหมดแล้ว แม้กระทั่งคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คด้วย ซึ่งอะแดปเตอร์ที่ใช้กับเครื่องพวกนี้จะมีกำลังไฟสูง บางคนอาจจะคิดว่าถ้าใช้อะแดปเตอร์จำพวกนี้มาชาร์จจะทำให้ใช้เวลาชาร์จน้อยลง ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าคุณกำลังเข้าใจผิดไปใหญ่แล้ว เพราะไม่ว่าคุณจะใช้อะแดปเตอร์จ่ายไฟที่มากขนาดไหน แต่ถ้าตัวเครื่องไม่รองรับก็เท่านั้น สมมติว่ามือถือที่ใช้รองรับการชาร์จที่กำลังไฟสูงสุด 18W แล้วคุณเอาอะแดปเตอร์ชาร์จไฟขนาด 60W มาชาร์จ ไฟที่จะเข้ามือถือไปนั้นก็จะมีเพียง 18W เท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้ชาร์จเร็วกว่าปกติแต่อย่างใด เป็นการทำให้เสียเงินโดยใช่เหตุหากคุณไปซื้ออะแดปเตอร์มาเพิ่ม
สำหรับใครที่สงสัยว่าระบบชาร์จเร็วมีกี่แบบ เป็นอย่างไรบ้างสามารถเข้าไปดูได้ที่ เจาะลึกระบบชาร์จเร็วบนมือถือ