ทุกวันนี้เราใช้โทรศัพท์กันเยอะมากในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการคุยธุระ, เช็ค E-Mail, เล่นโซเชียล หรือแม้แต่เล่นเกม ทำให้แบตเตอรี่โทรศัพท์มักจะหมดเร็วกว่าปกติ จึงต้องเสียบชาร์จอยู่ตลอดไม่ว่าจะจาก Powerbank หรืออะแดปเตอร์ชาร์จไฟ บางทีชาร์จยังไม่ทันเต็มก็ต้องหยิบออกมาใช้อีกแล้ว ทำให้เราใช้งานได้ไม่นานก็ต้องกลับไปชาร์จอยู่เหมือนเดิม ระบบ Fast Charge หรือการชาร์จเร็วจึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในลักษณะนี้
ระบบ Fast Charge ตอบโจทย์การใช้งานก็เพราะว่าแบตเตอรี่โทรศัพท์สมัยนี้ ถูกออกแบบมาให้มีขนาดที่ใหญ่มากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับการใช้งานโทรศัพท์ในแต่ละวัน โดยสมัยก่อนโทรศัพท์จะมีแบตเตอรี่ประมาณ 2,000 mAh ใช้เวลาในการชาร์จไม่เกิน 2 ชั่วโมงก็เต็ม แต่ในปัจจุบันแบตเตอรี่ในโทรศัพท์นั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น บางรุ่นมีความจุ 3,000- 5,000 mAh เลยทีเดียว ทำให้เวลาในการชาร์จไฟเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวหรือนานกว่า เพราะแบบนี้จึงต้องมีระบบ Fast Charge เพิ่มเข้ามาในโทรศัพท์เพื่อที่จะลดเวลาในการชาร์จแบต
โดยการชาร์จเร็วจะประกอบไปด้วยหลาย ๆ ปัจจัย เช่น CPU, สายไฟ, อะแดปเตอร์ รวมไปถึงตัวโทรศัพท์ที่ต้องรองรับด้วย ถึงจะทำให้การชาร์จเร็วสามารถทำงานออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยระบบการชาร์จเร็วก็จะแบบออกมาเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
- ใช้เทคโนโลยีของผู้ผลิตชิป
- คิดค้นระบบชาร์จเร็วขึ้นมาเอง
1. Quick Charge ของ Qualcomm
Quick Charge เป็นเทคโนโลยีการชาร์จเร็วจากทาง Qualcomm ที่โทรศัพท์ส่วนใหญ่เลือกใช้ เพราะเป็นเหมือนกับมาตรฐานกลางในการชาร์จเร็ว โดยจะต้องใช้อะแดปเตอร์ Quick Charge และโทรศัพท์ที่ใช้ CPU ของ Qualcomm ถึงจะสามารถชาร์จเร็วได้ ในปัจจุบันนั้นมีการพัฒนาออกมาถึง 4 รุ่นดังนี้
- Quick Charge 1.0 รุ่นที่รองรับ Snapdragon 600
- Quick Charge 2.0 รุ่นที่รองรับ Snapdragon 200, 208, 210, 212, 400, 410, 412, 415, 425, 610, 615, 616, 800, 801, 805, 808, 810
- Quick Charge 3.0 รุ่นที่รองรับ Snapdragon 820 , 620 , 618 , 617 และ 430
- Quick Charge 4.0 รุ่นที่รองรับ Snapdragon 630, 660, 835
*โดยจากที่ยกตัวอย่างชิปมา ไม่จำเป็นว่าโทรศัพท์ที่ใช้ชิปทุกตัวจะรองรับ Quick Charge ทุกรุ่น ต้องตรวจสอบสเปคก่อนซื้อกันอีกที
โดยความเร็วในการชาร์จนั้นก็จะเพิ่มขึ้นเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ก็มีการพัฒนาความสามารถอื่น ๆ หรือระบบความปลอดภัยเข้ามาด้วย แต่ละรุ่นก็จะมีแรงดันไฟที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- Quick Charge 1.0 5V 2A
- Quick Charge 2.0 5V,2A / 9V,2A / 12V 1.67A
- Quick Charge 3.0 แรงดันไฟ 3.6V – 20V/ กำลังไฟ 2.5A – 4.6A
- Quick Charge 4.0 ยังไม่มีข้อมูล
อุปกรณ์ที่รองรับ Quick Charge นั้นสามารถใช้งานกันข้ามรุ่นได้ เช่น โทรศัพท์ที่รองรับ Quick Charge 3.0 สามารถใช้งานกับอะแดปเตอร์ Quick Charge 1.0 , 2.0 ได้แต่ความเร็วจะขึ้นอยู่กับตัวอะแดปเตอร์ ส่วนถ้าเอาไปใช้กับ Quick Charge 4.0 ก็จะได้ความเร็วแค่ Quick Charge 3.0 ตามโทรศัพท์
**นอกจากนี้ยังมีรุ่นที่ใช้เทคโนโลยี Quick Charge แต่เอาไปตั้งซื่อเองใหม่ ให้มีความเก๋ ๆ อีกด้วย เช่น**
- Turbo Charger ของ Moto
- Dual Chip Charging ของ Vivo
2. Pump Express Plus ของ MediaTek
Mediatek ก็มีระบบชาร์จเป็นของตัวเอง โดยเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Pump Express Plus มีจุดเด่นตรงที่สามารถชาร์จไฟได้ 0-75% ภายในเวลาแค่ 20 นาที โดยหลักการทำงานนั้นแน่นอนว่าจะต้องใช้กับโทรศัพท์ที่ใช้ CPU ของ Mediatek เช่นตระกูล Helio และต้องใช้หัวชาร์จเฉพาะของ Pump Express Plus ด้วย
โดย Pump Express Plus ก็มีการพัฒนาขึ้นมาแล้วถึง 3 รุ่นด้วยกัน มีการเพิ่มความเร็วในการชาร์จ และปรับปรุงระบบความปลอดภัยให้ดีมากขึ้นด้วย
เทคโนโลยี Pump Express Plus เองก็สามารถปรับค่าความต้านทานไฟได้ตามสายชาร์จที่เราใช้ ซึ่งจะต่างกับ Quick Charge 3.0 ที่ไม่สามารถปรับเองได้
นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตโทรศัพท์อยู่ 1 ค่ายที่ใช้เทคโนโลยีจากทั้ง 2 เจ้านั้นก็คือ Sony เพราะเป็นเจ้าเดียวที่ใช้ทั้งชิป Snapdragon กับ Mediatek ทำให้มีทั้งโทรศัพท์ที่ใช้ Quick Charge และ Pump Express Plus โดยโทรศัพท์รุ่นเรือธงจะเลือกใช้ Quick Charge ส่วนโทรศัพท์ราคากลาง ๆ จะใช้เป็น Pump Express Plus
*Sony จะไม่แถมอะแดปเตอร์แบบชาร์จเร็วมาให้ ต้องซื้อเเยกเองในราคาประมาณ 1,200 บาท
โดย Sony ได้ออกหัวอะแดปเตอร์แบบพิเศษมาก็คือ Sony UCH12W ที่รองรับระบบ Qualcomm Quick Charge 3.0 และ Mediatek Pump Express Plus 2.0 ทำให้สามารถชาร์จเร็วทั้ง 2 ระบบในอะแดปเตอร์ตัวเดียวกันได้ สามารถจ่ายไฟได้สูงสุดที่ 16.2W
นอกจากนี้ Sony ยังมีระบบ Qnovo Adaptive Charging และ Battery Care ที่จะทำให้การชาร์จแบตในโทรศัพท์นั้นเสื่อมช้าลงถึง 2 เท่า ด้วยการเรียนรู้การใช้งานของผู้ใช้ อย่างเวลาที่เราชาร์จมือถือปกติระบบก็จะชาร์จไฟไปจนเต็ม 100% ทิ้งไว้ทั้งคืน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้แบตเสื่อม แต่ระบบ Battery Care ของ Sony จะรู้ว่าเราจะไม่ได้ใช้โทรศัพท์ในเวลานอนจนถึง 7 โมงเช้า ระบบก็จะชาร์จไฟเข้าเครื่องไม่ให้เต็มในเวลาที่เรานอน และจะเริ่มชาร์จต่อจนเต็มเมื่อเราใกล้จะตื่นอีกที ทำให้แบตเตอรี่เสือมช้าลงถึง 2 เท่าเลยทีเดียว ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก ที่นี้
ถัดมาก็จะเป็นระบบชาร์จเร็วที่แบรนด์เอาไปพัฒนาขึ้นมาใช้งานกับสมาร์ทโฟนของตัวเองโดยเฉพาะ จะมีอะไรบ้างก็เลื่อนลงมาอ่านต่อได้เลย
1. VOOC Flash Charge ของ OPPO
OPPO เป็นเจ้าแรกที่ทำเรื่องชาร์จเร็ว โดยนำไปใช้กับ OPPO Find 7 เป็นรุ่นแรก มีจุดเด่นในเรื่องความเร็วในการชาร์จ สามารถชาร์จแบตจาก 0-75 % ได้ภายในเวลา 30 นาที โดยจ่ายไฟได้มากสุดถึง 5V 4A เลยทีเดียว หลักการทำงาน ต้องใช้อะแดปเตอร์และสายไฟเฉพาะ ของ OPPO ถึงจะสามารถใช้งานได้ โดยการที่จ่ายไฟสูงถึง 5V 4A นั้นตัวระบบ VOOC Flash Charge จะมีการปรับกระแสไฟให้เหมาะสมกับการชาร์จด้วย เช่น ชาร์จเร็วมากในระดับแบต 0-75 % จะปล่อยกระแสไฟที่ 5V 4A หลังจากเกิน 75% ไปแล้วระบบจะลดกระแสไฟลงมาอยู่ที่ 5V 2A แทน
ฝั่งซ้ายเป็นหัว USB VOOC Flash Charge ของ OPPO จะเห็นได้ว่ามีจำนวน Pin เยอะกว่า หัว USB แบบธรรมดา เอาไว้รับกระเเสไฟเพิ่มมากกว่าปกติ พอมาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่ามันจะปลอดภัยไหม อันนี้ต้องบอกก่อนว่า VOOC Flash Charge มีระบบป้องกันอันตรายมากมาย ได้แก่
-
ตัวทดสอบแรงดันไฟฟ้าที่ติดตั้งในอะแดปเตอร์
-
ตัวบ่งชี้ VOOC ที่ติดตั้งอยู่ในอะแดปเตอร์
-
ตัวบ่งชี้ VOOC ที่ติดตั้งอยู่ในโทรศัพท์
-
ตัวทดสอบแรงดันไฟฟ้าที่อยู่ในโทรศัพท์
ทำให้เรามั่นใจได้เลยว่าการใช้ VOOC Flash Charge นั้นจะมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน
2. Super Charge ของ Huawei
Super Charge เป็นระบบชาร์จเร็วของ Huawei ใช้กับ Mate 9/9 Pro เป็นรุ่นแรก โดยที่ Huawei ได้มีการออกแบบทาง Hardware และ Software เองทั้งหมด
เรื่องความปลอดภัยนั้น Super Charge ของ Huawei เองก็มีมาให้ถึง 5 จุดเลยดังนี้
- ตัวอะแดปเตอร์
- ช่อง USB-C
- แบตเตอรี่
- ตัววัดกระแสไฟ
- ซิปในการชาร์จไฟ
โดยในแต่ละจุดก็จะมีเซนเซอร์ตรวจวัดจุดละ 3 ตัว เช่น ตัวป้องกันแรงดันไฟฟ้า ต้วป้องกันกระแสไฟ และตัววัดอุณหภูมิ รวมทั้งหมดจะมี 15 ขั้นตอนในการตรวจสอบ ทำให้เรามั่นใจได้เลยว่า Super Charge ของ Huawei มีความปลอดภัยอย่างแน่นอน
โดยที่การชาร์จแบบ Super Charge จะปล่อยกระแสไฟออกมาที่ 5V,2A / 4.5V,5A / 5V 4.5A
นอกจากจะชาร์จเร็วแล้วยังมีอุณหภูมิที่เย็นกว่าอีกด้วยเพราะว่าระบบ Super Charge ใช้ความดันไฟตำ่แต่จ่ายกระแสไฟเท่าเดิมทำให้เครื่องไม่ร้อน รวมถึงตัวอะแดปเตอร์ก็จะมีความร้อนน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
3. Dash charge ของ One Plus
Dash Charge เป็นระบบชาร์จจาก OnePlus ที่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะเช่น สายชาร์จ อะแดปเตอร์ และโทรศัพท์ที่รองรับ โดยที่ OnePlus บอกว่าสามารถชาร์จแบตได้ 60% ภายในเวลาแค่ 30 นาที นอกจากนี้ยังสามารถชาร์จได้เร็วกว่าระบบชาร์จอื่น ๆ ในเวลาที่เรากำลังใช้งานเครื่องพร้อมกับการชาร์จ โดยจ่ายไฟคงที่ที่ 5V 4A
4. Adaptive Fast Charging ของ Samsung
Adaptive Fast Charging ของ Samsung นั้นจะใช้เทคโนโลยีที่คล้าย Quick Charge ของ Qualcomm คือตัวอะแดปเตอร์กับโทรศัพท์นั้นต้องรองรับทั้งคู่ถึงจะใช้งานได้ แต่จริง ๆ แล้วโทรศัพท์ Samsung จะรองรับการใช้งาน Quick Charge ของ Qualcomm ด้วย เพราะว่าโทรศัพท์ Samsung นั้นจะมี CPU 2 รุ่น คือ Qualcomm และ Exynos ทำให้เกิดความสับสนบ้าง (แต่ในไทยจะใช้เป็น Adaptive Fast Charginge ทั้งหมดเพราะใช้ CPU Exynos ) โดยที่มีกำลังไฟในการชาร์จอยู่ที่ 5V.2A และ 9V.1.67A
5. BoostMaster ของ ASUS
Asus นั้นเหมือนจะไม่มีระบบชาร์จเร็วแต่จริง ๆ แล้วมี และถูกใช้กับ ZenFone 2 เป็นรุ่นแรกก็คือ BoostMaster มีจุดเด่นคือสามารถชาร์จเพียง 39 นาทีจะได้แบตถึง 60% บนแบตเตอรี่ความจุ 3000 mAh โดยที่โทรศัพท์และอะแดปเตอร์ที่ใช้ต้องรองรับ BoostMaster ด้วย สามารถปล่อยกระแสไฟออกมาที่ 5V 2A และ 9V 2A นอกจากนี้โทรศัพท์บางรุ่นของ Asus ยังรองรับ Quick Charge อีกด้วย ในรุ่นที่ใช้ชิปเซ็ต Snapdragon
ใช้ระบบชารจ์เร็วไปนาน ๆ แบตเสื่อมจริงไหม?
อันนี้ตอบได้เลยว่าเสื่อมจริง แต่โดยปกติแบตเตอรี่ก็จะเสื่อมโดยอายุของมันเองอยู่ด้วยแล้ว การใช้ระบบชาร์จเร็วอาจจะทำให้แบตเสื่อมเร็วขึ้นด้วยสาเหตุเหล่านี้ ความร้อนในเวลาชาร์จ การใช้แรงดันไฟสูงเป็นเวลานานในการชาร์จ เป็นต้น แต่ว่าไม่ได้ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมแบบทันทีทันใด โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1 – 2 ปีตามลักษณะการใช้งาน บางทีเราอาจจะเปลี่ยนไปใช้โทรศัพท์เครื่องใหม่ก่อนที่แบตจะเสื่อมเสียอีก
จากที่อธิบายมาระบบชาร์จเร็วนั้นดี แต่ก็ต้องใช้ให้ถูกวิธีด้วย เช่น ไม่ใช้อแดปเตอร์หรือสายชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เล่นไปชาร์จไปเพราะจะทำให้เกิดความร้อน เพียงเท่านี้เราก็ใช้ระบบชาร์จเร็วโดยที่ไม่ต้องมากังวลใจกันอีกแล้ว